โฆษณาแนวนอน728*90

บทความใหม่

ประวัติและวัตถุมงคลหลวงพ่อบรรณ วัดด่าน เจ้าของเหรียญแพงของเมืองระนอง

ภาพถ่ายหลวงพ่อบรรณ วัดด่าน ระนอง
หลวงพ่อบรรณ วัดด่าน ระนอง

          หลวงพ่อบรรณ วัดด่าน หรือ พระครูศีลพงษ์คณารักษ์ (หลวงพ่อบรรณ พุทธสโร) อดีตเจ้าอาวาสวัดด่าน ตำบลเขานิเวศน์ อำเภอเมืองระนอง จังหวัดระนอง ท่านเกิดเมื่อประมาณราวปี พ.ศ. ๒๓๘๔ แต่เป็นที่น่าเสียดายที่ไม่มีการบันทึกถึงโยมบิดาและโยมมารดาของท่านว่าคือใคร

         ปี พ.ศ. ๒๔๑๘ หลวงพ่อบรรณท่านได้เข้ารับการอุปสมบท เดิมทีท่านเป็นชาวเมืองไชยา (ปัจจุบันคือ อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี) จึงคาดว่าท่านจะอุปสมบทที่เมืองไชยา ได้รับฉายาว่า "พุทธสโร" แต่เป็นที่น่าเสียดายที่ไม่มีการจดบันทึกถึงพระอุปัชฌาย์ของท่านไว้เลย

         ปี พ.ศ. ๒๔๒๘ หลวงพ่อบรรณ บวชได้ประมาณ ๑๐ พรรษา ท่านได้ออกจาริกธุดงค์จากเมืองไชยา ผ่านเมืองหลังสวน (ปัจจุบันคือ อำเภอหลังสวน จังหวัดชุมพร) เข้าสู่เมืองระนอง โดยได้ปักกลดอยู่ในป่าช้าของหมู่บ้านท่าด่าน

         ชาวบ้านในสมัยนั้นได้นำของไปถวายและสนทนาธรรม คนเฒ่าคนแก่สมัยนั้นเห็นว่าหลวงพ่อบรรณเป็นพระเก่งกล้า มีความรู้เรื่องเวทมนตร์และอาคมดี จึงเกิดความเลื่อมใสศรัทธา แล้วจึงได้นิมนต์ให้อยู่สร้างวัดด่าน

         ซึ่งสมัยนั้นยังเป็นป่าช้าและสำนักสงฆ์ จนแล้วเสร็จและได้ขึ้นทะเบียนกับกรมการศาสนา เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๓๐ จนได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเจ้าอาวาสรูปแรกของวัดด่าน และเป็นเจ้าคณะจังหวัดรูปแรกของจังหวัดระนองด้วย

         วัดอุปนันทาราม หรือ วัดด่าน เป็นวัดราษฎร์  สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ถือเป็นวัดสำคัญวัดหนึ่งในระนอง ที่มีอายุการก่อสร้างวัดตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๓๖ หรือปลายสมัยรัชกาลที่ ๕ ถือได้ว่าเป็นวัดแรกๆของเมืองระนองในสมัยนั้น

         โดยมีนายบ่าเซ่ง เศรษฐีไทยเชื่อสายพม่าได้ชักชวนพุทธศาสนิกชนทั้งชาวไทย ชาวจีน และชาวพม่า ร่วมกันก่อสร้างขึ้นเพื่อเป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวพุทธ เพราะในสมัยนั้นการทำบุญซักครั้งหนึ่งทำได้ยากยิ่ง 

         เพราะว่าเมืองระนองมีเพียงวัดสุวรรณคีรีอาราม หรือ วัดหน้าเมือง (ภายหลังได้รับพระราชทานชื่อจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อครั้งเสด็จประภาสหัวเมืองมลายูว่า วัดสุวรรณคีรีวิหาร)

         จึงได้เริ่มหาสถานที่สร้างวัด โดยกำหนดเอาเนินสูงที่สุดในบริเวณนั้นเป็นที่สร้าง เพราะสภาพที่ตั้งของวัดที่ตรงกลางเป็นเนินเขาเล็กๆ ล้อมรอบด้วยพื้นที่ราบที่เป็นสวนธรรมชาติล้อมรอบด้วยย่านชุมชน ซึ่งประชาชนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทางการประมง เหมืองแร่ และค้าขาย

         วัดอุปนันทาราม หรือที่ชาวบ้านเรียกกันอย่างง่ายๆ อีกชื่อหนึ่งคือ วัดด่าน เพราะตั้งบริเวณบ้านท่าด่านเป็นพื้นที่ที่อยู่สุดเขตแดนติดต่อกับประเทศสหภาพพม่า 

         ซึ่งในอดีตมีลักษณะเป็นท่าด่านปากคลองสำหรับเรือสัญจรที่จะเข้าสู่เมืองระนอง ทั้งเรือโดยสาร เรือขุดแร่ หรือเรือประมง เพราะในสมัยนั้นการสัญจรทางน้ำถือว่าสะดวกที่สุด การสร้างวัดในระยะแรกนั้นได้สร้างเป็นเรือนไม้ทรงปั้นหยาตามแบบศิลปะของภาคใต้ 

          และได้อาราธนานิมนต์  "หลวงพ่อบรรณ พุทฺธสโร" (ภายหลังได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ที่พระครูศีลพงษ์คณารักษ์ เจ้าอาวาสรูปแรก) ซึ่งเป็นพระธุดงค์มาจากจังหวัดไชยา (อำเภอไชยา สุราษฎร์ธานี)ให้ช่วยอยู่จำพรรษา

         ด้วยความเมตตาหลวงพ่อจึงรับนิมนต์และอยู่จนได้ก่อร่างสร้างวัดบูรณะพัฒนาวัดมาอย่างต่อเนื่อง จนได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อวันที่ ๒๕ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๖๒  ได้รับคัดเลือกให้เป็นวัดพัฒนาตัวอย่างเมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๐ และปี พ.ศ. ๒๕๑๙ ได้ผูกพัทธสีมาเมื่อวันที่ ๓ เมษายน พ.ศ. ๒๕๒๐

         ความสำคัญ เป็นวัดในจังหวัดระนองที่ถวายผงธูปบูชาพระพุทธรูปคานสมอ สมัยเจ้าอ้ายยี่เพื่อเป็นมวลสารแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในการสร้างพระพุทธนวราชบพิตรและพระสมเด็จจิตรลดา 

         วัดด่าน นั้นมีเจ้าอาวาสสืบต่อกันมา ที่มีบันทึกไว้ดังนี้

         ๑. พระครูศีลพงษ์คณารักษ์ (บรรณ พุทฺธสโร)  ปี พ.ศ.๒๔๓๖ - พ.ศ.๒๔๖๓

         ๒. พระครูศีลพงษ์คณารักษ์ (ผุด สุทธางกูร) ปี พ.ศ.๒๔๖๓ - พ.ศ.๒๔๗๒

         ๓. พระระณังควินัยมุนีวงศ์ (พลอย ธมฺมโชโต รัตนดิลก ณ ภูเก็ต) ปี พ.ศ.๒๔๗๒-พ.ศ.๒๕๑๗

         ๔. พระระณังควินัยมุนี (บุญให้ สีลวฑฺฒโน) จังหวัดระนอง ปี พ.ศ.๒๕๑๗-พ.ศ.๒๕๓๕

         ๕. พระครูอุปนันทโสภณ" (โสภณ โสภโณ ชุ่มชื่น) ปี พ.ศ.๒๕๓๖ - ปัจจุบัน

         และยังเป็นที่บรรพชาของ "สามเณรปั่น เสน่ห์เจริญ" ภายหลังเป็น พระพรหมมังคลาจารย์ (หลวงพ่อปัญญานันทะ) ท่านมักปรารภเสมอเมื่อมาระนองว่า "ที่นี่เป็นที่เกิดของฉัน ถ้าไม่มีวัดนี้ป่านนี้ชีวิตฉันไม่รู้จะเป็นอย่างไร"

ภาพถ่ายหลวงพ่อบรรณ วัดด่าน ระนอง
หลวงพ่อบรรณ วัดด่าน ระนอง

         สำหรับความอภินิหารและวาจาสิทธิ์ของหลวงพ่อบรรณมีอยู่หลายครั้ง เช่น เคยมีคนเข้าไปขโมยมะพร้าวในสวนของวัดตอนกลางคืน ทำให้คนขโมยออกจากสวนมะพร้าวไม่ได้เดินวนเวียนหาบมะพร้าวจนรุ่งสาง

         หลวงพ่อบรรณไปพบเข้าท่านจึงพูดขึ้นเป็นสำเนียงภาษาใต้ว่า "มึงวางต้า" หมายถึงให้วางลง คนที่ขโมยมะพร้าวเมื่อได้ยินก็วางหาบมะพร้าวลงแล้วเดินออกจากสวนมะพร้าวของวัดไปได้

         อีกเรื่องคือ เกิดไฟไหม้ชุมชนตลาดเก่า เมื่อหลวงพ่อบรรณทราบข่าวว่าไฟไหม้บ้านของชาวบ้าน จึงรีบเดินทางไปที่เพลิงกำลังลุกไหม้อยู่ เมื่อไปถึงหลวงพ่อบรรณได้กำทรายขึ้นมาเสกแล้วเป่า พร้อมด้วยการหว่านทราย ทำให้ไฟที่กำลังไหม้ดับมอดลงทันตาเห็น ไม่ลุกลามไปบ้านหลังอื่น

         หลวงพ่อบรรณ ถือเป็นพระเถระคู่เมืองของชาวระนองมายาวนาน วัดด่านได้สร้างรูปเหมือนไว้ในศาลาหลวงพ่อบรรณ โดยมีผู้คนไปกราบไหว้บูชา บนบานขอสิ่งต่างๆ ทุกวันมิได้ขาดสาย เช่น คนที่มีบุตรยากไปอธิษฐานก็จะสมหวัง บางคนอธิษฐานขอเรื่องการเรียน การสอบเข้าทำงาน ให้หายเจ็บไข้ไม่สบาย หรือการเดินทางให้แคล้วคลาด หรือแม้กระทั่งของหาย เมื่ออธิษฐานก็ยังได้กลับคืน 

         นอกจากนี้ มีเรื่องเล่าขานเมื่อประมาณ ๑๐ ปีก่อน มีไต้ก๋งเรือประมงคนหนึ่งห้อยเหรียญหลวงพ่อบรรณติดตัว ถูกคลื่นซัดจนเรือล่ม ต้องลอยคออยู่ในทะเลอันดามัน มีปลาฉลามว่ายน้ำกำลังจะเข้ามางับ จึงได้บนบานถึงหลวงพ่อบรรณ 

         ปรากฏว่าปลาฉลามได้แต่ว่ายน้ำวนเวียนโดยรอบไม่สามารถเข้าไปใกล้ได้ ในที่สุดมีเรือประมงเข้ามาพบช่วยเหลือไว้ได้จนปลอดภัย เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้ชาวเรือประมงจำนวนมากเลื่อมใสศรัทธาเช่าเหรียญหลวงพ่อบรรณรุ่นต่างๆ ไปบูชาจำนวนมาก

         และเมื่อได้ในสิ่งที่ขอแล้ว จะต้องแก้บนด้วยหมากพลูตำ บุหรี่มวนใหญ่ ยาเส้นใบตอง ข้าว แกงเผ็ดเนื้อ น้ำพริกกะปิเผา เป็นต้น พร้อมคำบูชา "พุทธัง อาราธนานัง ธัมมัง อาราธนานัง สังฆัง อาราธนานัง พุทธานุภาเวนะ ธัมมานุภาเวนะ สังฆานุภาเวนะ มังรักขะ ตุมหาลาภา วันตุเม"

         นอกจากนี้ ยังมีสิ่งอัศจรรย์เกิดขึ้นอีกอย่างหนึ่ง คือที่ตั้งของวัดด่านซึ่งอยู่บนเนินเขาเตี้ย ซึ่งใต้แผ่นดินบริเวณดังกล่าวเป็นแหล่งแร่ดีบุกจำนวนมาก ถึงขนาดที่ผู้สัมปทานเหมืองแร่ในสมัยนั้นเสนอให้หลวงพ่อบรรณย้ายวัด แล้วจะสร้างวัดให้ใหม่ 

         แต่หลวงพ่อบรรณไม่ยอมย้าย เรือขุดแร่พยายามขุดหาแร่เข้าไปบริเวณวัดแต่ก็ไม่เคยสำเร็จ เมื่อเรือขุดแร่เข้าใกล้เขตวัด เครื่องยนต์จะดับโดยไม่ทราบสาเหตุทุกครั้ง จนในที่สุดก็ต้องถอยกลับไปเอง ทำให้วัดด่านอยู่ที่เดิมคู่เมืองระนองมาจนตราบถึงทุกวันนี้

         หลวงพ่อบรรณ พุทธสโร หรือ พระครูศีลพงษ์คณารักษ์ เป็นเจ้าอาวาสรูปแรกของวัดอุปนันทาราม หรือวัดด่าน อ.เมือง จ.ระนอง และเป็นเจ้าคณะจังหวัดระนองรูปแรก เป็นพระเกจิอาจารย์ชื่อดังที่มีชีวิตร่วมสมัยเดียวกับหลวงพ่อแช่ม วัดฉลอง จังหวัดภูเก็ต

         ปี พ.ศ.๒๔๖๓ หลวงพ่อบรรณ มีอายุ ๗๙ ปี ทั้งนี้ก่อนมรณภาพมีผู้เล่าว่าขณะที่หลวงพ่อบรรณได้นั่งบนหลังช้างเพื่อพาพระใบฎีกาพลอย ธัมมโชโต (ซึ่งต่อมาได้เป็นเจ้าคณะจังหวัดระนองรูปที่ ๓) ไปเทศนาให้กับญาติโยมที่ วัดหาดส้มแป้น ตำบลหาดส้มแป้น อำเภอเมือง จังหวัดระนอง แต่ในระหว่างเดินทางหลวงพ่อบรรณได้เกิดเป็นลม แล้วมรณภาพบนหลังช้างอย่างสงบ

       พระครูศีลพงษ์คณารักษ์(หลวงพ่อบรรณ พุทธสโร) ปกครองวัดเรื่อยมาจนถึงแก่มรณะภาพลงเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๖๓ นับรวมสิริอายุได้ ๗๙ ปี ๔๕ พรรษา.

วัตถุมงคลของหลวงพ่อบรรณ วัดด่าน

         เหรียญหลวงพ่อบรรณ วัดด่าน รุ่นแรก

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๙๗ ในสมัยพระอธิการพลอยเป็นเจ้าอาวาส ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มรูปไข่มีหูในตัว มีการสร้างด้วยเนื้อทองแดงเพียงชนิดเดียวเท่านั้น จัดเป็นเหรียญหลักและมีราคาแพงของเมืองระนองจำนวนการสร้างประมาณ ๕๐๐ เหรียญ

เหรียญหลวงพ่อบรรณ วัดด่าน ระนอง รุ่นแรก 2497 ทองแดง
เหรียญหลวงพ่อบรรณ วัดด่าน ระนอง รุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๔๙๗ เนื้อทองแดง

เหรียญหลวงพ่อบรรณ วัดด่าน ระนอง รุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๔๙๗ เนื้อทองแดง
เหรียญหลวงพ่อบรรณ วัดด่าน ระนอง รุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๔๙๗ เนื้อทองแดง

         ด้านหน้า เป็นรูปเหมือนหลวงพ่อบรรณครึ่งองค์ห่มจีวรลดไหล่ พาดผ้าสังฆาฏิ ใต้รูปหลวงพ่อมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "หลวงพ่อบรรณ วัดด่านระนอง"

         ด้านหลัง ไม่มีขอบตรงกลางเหรียญมีอักขระยันต์อ่านได้ว่า "นะ โม พุท ธา ยะ" ใต้อักขระยันต์มีเลขไทยเขียนว่า "๒๔๙๗" ซึ่งคือปีที่สร้างเหรียญ

         รูปเหมือนปั๊มเตารีดหลวงพ่อบรรณ วัดด่าน รุ่นแรก(ออกวัดป่าช้า)

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๐๕ ในสมัยพระอธิการพลอยเป็นเจ้าอาวาส เพื่อแจกให้กับผู้ที่บริจาคทรัพย์ให้กับทางวัดป่าช้า ลักษณะเป็นรูปเหมือนปั๊มตัดขาดทรงเตารีด อุดกริ่ง มีการสร้างด้วยเนื้อทองผสมเพียงชนิดเดียวเท่านั้น จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

รูปเหมือนปั๊มเตารีดหลวงพ่อบรรณ วัดด่าน ระนอง รุ่นแรก 2505 ทองผสม
รูปเหมือนปั๊มเตารีดหลวงพ่อบรรณ วัดด่าน ระนอง รุ่นแรก(ออกวัดป่าช้า)  ปี พ.ศ. ๒๕๐๕ เนื้อทองผสม

         ด้านหน้า เป็นรูปเหมือนหลวงพ่อบรรณนั่งสมาธิเต็มองค์บนฐานเขียง องค์หลวงพ่อห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฏิ ที่ฐานเขียงมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "วัดมัชฌิมเจริญธรรม"

         ด้านหลัง มีอักขระยันต์ ใต้อักขระยันต์มีอักขระยันต์อ่านได้ว่า "หลวงพ่อบรรณ์ ๒๕๐๕" ซึ่งคืออปีที่สร้าง ใต้ฐานเรียบมีรอยอุดกริ่ง

         เหรียญหลวงพ่อบรรณ วัดด่าน รุ่นสอง

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๑๑ ในสมัยพระอธิการพลอยเป็นเจ้าอาวาส เพื่อแจกให้กับผู้ที่บริจาคทรัพย์ให้กับทางวัด ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มรูปหยดน้ำแบบมีหูในตัว มีการสร้างด้วยเนื้ออัลปาก้าเพียงชนิดเดียวเท่านั้น จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

เหรียญหลวงพ่อบรรณ วัดด่าน ระนอง รุ่น 2 2511 อัลปาก้า
เหรียญหลวงพ่อบรรณ วัดด่าน ระนอง รุ่นสอง ปี พ.ศ. ๒๕๑๑ เนื้ออัลปาก้า

         ด้านหน้า เป็นรูปเหมือนหลวงพ่อบรรณนั่งสมาธิเต็มองค์บนอาสนะ องค์หลวงพ่อห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฏิ ขอบเหรียญมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "หลวงพ่อบรรณ วัดอุปนันทาราม"

         ด้านหลัง ตรงกลางเหรียญปรากฏอักขระยันต์ ใต้อักขระยันต์มีอักขระเลขไทยเขียนว่า "๒๕๑๑" ซึ่งคือปีที่สร้าง ใต้ฐานเรียบมีรอยอุดกริ่ง

         รูปเหมือนปั๊มหลวงพ่อบรรณ วัดด่าน รุ่นแรก

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๑๑ ในสมัยพระอธิการพลอยเป็นเจ้าอาวาส เพื่อแจกให้กับผู้ที่บริจาคทรัพย์ให้กับทางวัด ลักษณะเป็นรูปเหมือนปั๊มตัดขาดลอยองค์ มีการสร้างด้วยเนื้อทองเหลืองเพียงชนิดเดียวเท่านั้น จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

รูปเหมือนปั๊มหลวงพ่อบรรณ วัดด่าน ระนอง รุ่นแรก 2511 ทองเหลือง
รูปเหมือนปั๊มหลวงพ่อบรรณ วัดด่าน ระนอง รุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๕๑๑ เนื้อทองเหลือง

         ด้านหน้า เป็นรูปเหมือนหลวงพ่อบรรณนั่งสมาธิเต็มองค์บนฐานเขียง องค์หลวงพ่อห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฏิ ที่ฐานเขียงมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "หลวงพ่อบรรณ"

         ด้านหลัง ไม่ปรากฏอักขระยันต์ใด ที่ฐานเขียงมีอักขระเลขไทยเขียนว่า "๒๕๑๑" ซึ่งคือปีที่สร้าง ใต้ฐานเรียบมีรอยอุดกริ่ง

         รูปหล่อโบราณหลวงพ่อบรรณ วัดด่าน รุ่นแรก

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๑๑ ในสมัยพระอธิการพลอยเป็นเจ้าอาวาส เพื่อแจกให้กับผู้ที่บริจาคทรัพย์ให้กับทางวัด ลักษณะเป็นรูปหล่อโบราณลอยองค์ มีการสร้างด้วยเนื้อทองเหลืองเพียงชนิดเดียวเท่านั้น จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

รูปหล่อโบราณหลวงพ่อบรรณ วัดด่าน ระนอง รุ่นแรก 2511 ทองเหลือง
รูปหล่อโบราณหลวงพ่อบรรณ วัดด่าน ระนอง รุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๕๑๑ เนื้อทองเหลือง

         ด้านหน้า เป็นรูปเหมือนหลวงพ่อบรรณนั่งสมาธิเต็มองค์บนฐานเขียง องค์หลวงพ่อห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฏิ ที่ฐานเขียงมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "หลวงพ่อบรรณ"

         ด้านหลัง ไม่ปรากฏอักขระยันต์ใด ที่ฐานเขียงมีอักขระเลขไทยเขียนว่า "๒๕๑๑" ซึ่งคือปีที่สร้าง ใต้ฐานเรียบมีรอยอุดกริ่ง



 โดย : สารานุกรมพระเกจิแห่งแดนสยาม

บทความที่เกี่ยวข้อง

***-[เป็นกำลังใจและสนับสนุน​ให้เราเขียนบทความดีๆ ด้วยการกดดูโฆษณาด้านล่างนะคะ]-***


ไม่มีความคิดเห็น