ประวัติและวัตถุมงคลพระอุปัชฌาย์ถัน วัดเครือวัลย์ เจ้าของเหรียญเก่าของชลบุรี
หลวงพ่อถัน วัดเครือวัลย์ ชลบุรี |
หลวงพ่อถัน วัดเครือวัลย์ หรือ พระอุปัชฌาย์ถัน อดีตเจ้าอาวาสวัดเครือวัลย์ ตำบลมะขามหย่ง อำเภอเมือง จังหวัดชลบุรี ท่านเกิดเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๑๐ เดิมท่านมีชื่อนายถัน เกิดที่บ้านศาลาคู่ ตำบลบ้านสวน อำเภอเมือง จังหวัดชลบุรี แต่ไม่ปรากฏหลักฐานบันทึกว่าโยมบิดาและโยมมารดาของท่านชื่อว่าอะไร
ปี พ.ศ. ๒๔๓๑ หลวงพ่อถัน ท่านมีอายุครบ ๒๑ ปี ท่านจึงได้เข้ารับการอุปสมบท ณ พัทธสีมาวัดเครือวัลย์ ตำบลมะขามหย่ง อำเภอเมือง จังหวัดชลบุรี ได้รับฉายาว่า "จันทโชโต" แต่เป็นที่น่าเสียดายที่ไม่มีจดบันทึกว่าพระอุปัชฌาย์ของท่านคือใคร
หลังจากที่หลวงพ่อถันได้อุปสมบทแล้ว ท่านได้อยู่จำพรรษาที่วัดเครือวัลย์เรื่อยมา เพื่อศึกษาวิชาต่างๆ นอกจากนี้ท่านยังได้ไปฝากตัวเพื่อวิชาความรู้จากหลายๆอาจารย์
รวมถึงการธุดงค์ไปในที่ต่างถิ่น เช่น พม่า ลาว จนท่านมีความสามารถ ในด้านวิชาต่างๆ ภายหลังได้กลับมายังวัดเครือวัลย์
ต่อมาหลวงพ่อแจ่ม วัดเครือวัลย์ ได้มรภาพลงชาวบ้านและคณะกรรมการวัดจึงได้นิมนต์หลวงพ่อถันขึ้นเป็นเจ้าอาวาสวัดเครือวัลย์แทนตำแหน่งที่ว่างลง
หลังจากที่ท่านได้รับตำแหน่งเจ้าอาวาส ท่านได้พัฒนาวัดอย่างสุดความสามารถ ทั้งยังเป็นผู้ที่ริเริ่มสร้างหอสวดมนต์ สร้างศาลาการเปรียญ และสร้างพระอุโบสถวัดเครือวัลย์ขึ้นใหม่ทดแทนของเก่าที่ชำรุดทรุดโทรมไปตามกาลเวลา
หลวงพ่อถัน ท่านเป็นพระที่สันโดษ ไม่ยึดติดในลาภยศชื่อเสียงใดๆ และระวังในเรื่องเพศพรหมจรรย์เป็นอย่างมาก ท่านจะไม่ใคร่รับแขกที่เป็นสตรีเพศ หากมีความจำเป็นจริงท่านจะให้ลูกศิษย์อยู่ด้วยเสมอ
หลวงพ่อถัน ท่านยังเป็นพระที่มีเมตตาธรรมสูง เป็นผุ้ชำนาญวิชาแพทย์แผนโบราณและโหราจารย์ ท่านดูแลชาวบ้านรักษาทั้งร่างกาย และจิตใจของชาวบ้าน นอกจากนี้ท่านยังเป็นพระผู้เชี่ยวชาญในเวทมนต์คาถาอาคมอย่างสูง
จนท่านเป็นพระที่มือชื่อเสียงด้านคาถาอาคม ร่วมสมัยกับหลวงพ่อเจียม วัดกำแพงผู้สร้างพระปิดตาชื่อดังของจังหวัดชลบุรีอีกด้วย
ปี พ.ศ.๒๔๕๙ หลวงพ่อถัน ท่านได้รับการแต่งตั้งให้เป็นกรรมการสงฆ์ตำแหน่ง "พระวินัยธรถัน" เจ้าคณะหมวดบางปลาสร้อย ปกครองคณะสงฆ์ แขวงเมืองชลบุรี ร่วมสมัยกับพระวินัยธรถมยา เจ้าคณะหมวด วัดกลาง เจ้าอธิการคง คณะหมวด วัดเนินสุทธาวาส พระปลัดฮง วัดราษฎร์บำรุง และพระวินัยธรแดง วัดใหญ่อินทาราม
หลวงพ่อถัน ท่านยังได้สร้างพระปิดตาเนื้อผงคลุกรักออกมาแจกให้แก่ลูกศิษย์ด้วย ซึ่งพระปิดตาของท่านนั้น ส่วนมากจะคล้ายคลึงกับหลวงพ่อแก้ว เซียนส่วนใหญ่จะเล่นเป็นของหลวงพ่อแก้วกันมาก นอกจากลูกศิษย์วัด หรือ คนในพื้นที่เท่านั้นที่จะรู้ต่างก็หวงแหนกันมากปัจจุบันหาชมได้ยาก
ภาพถ่ายงานศพหลวงพ่อถัน วัดเครือวัลย์ ชลบุรี |
และด้วยความที่ท่านเป็นพระที่เก่งกล้า มีลูกศิษย์ลูกหามากมาย ดังจะเห็นได้จากงานศพของท่านที่มีพระคณาจารย์ที่มีชื่อเสียง ของจังหวัดชลบุรีในขณะนั้นมาร่วมงานคับคั่ง อาทิ หลวงพ่ออี๋ วัดสัตหีบ, หลวงพ่อแดง วัดใหญ่, หลวงพ่อบ๊วย วัดเครือวัลย์ เป็นต้น ดังปรากฏในหลักฐานเป็นภาพถ่ายประวัติศาสตร์ที่หาชมยากที่สุดภาพหนึ่งเลยทีเดียว
หลวงพ่อถัน ปกครองวัดเรื่อยมาจนถึงแก่มรณะภาพลงเมื่อวันที่ ๓๐ เมษายน พ.ศ. ๒๔๖๘ นับรวมสิริอายุได้ ๕๗ ปี ๓๗ พรรษา.
วัตถุมงคลของพระอุปัชฌาย์ถัน วัดเครือวัลย์
เหรียญพระอุปัชฌาย์ถัน วัดเครือวัลย์ รุ่นแรก
สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๖๘ เพื่อแจกให้กับผู้ที่มาร่วมในงานศพของหลวงพ่อ ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มรูปเสมาย่อมุมข้างเลื่อย แบบเจาะหูในตัว ปลุกเสกโดยหลวงพ่ออี๋ วัดสัตหีบ, หลวงพ่อแดง วัดใหญ่ และหลวงพ่อบ๊วย วัดเครือวัลย์ มีการสร้างด้วยเนื้อเงิน เนื้อทองแดงกระไหล่ทอง และเนื้อทองแดง จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้
เหรียญพระอุปัชฌาย์ถัน วัดเครือวัลย์ รุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๔๖๘ เนื้อเงิน |
เหรียญพระอุปัชฌาย์ถัน วัดเครือวัลย์ รุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๔๖๘ เนื้อทองแดงกะหลั่ยทอง |
ด้านหน้า เป็นรูปจำลองของหลวงพ่อถันครึ่งองค์ห่มจีวรลดไหล่ พาดผ้าสังฆาฏิ มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "ที่ระลึก ในงานศพพระอุปัชฌาถัน"
ด้านหลัง ตรงกลางเหรียญมีอักขระยันต์ ใต้อักขระยันต์มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "พ.ศ. ๒๔๖๘" ที่พื้นเหรียญไม่มีกลาก
เหรียญพระอุปัชฌาย์ถัน วัดเครือวัลย์ รุ่นสอง (โค้ดดาว)
สร้างขึ้นหลังปี พ.ศ. ๒๔๖๙ ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มรูปเสมาย่อมุมข้างเลื่อย แบบเจาะหูในตัว โดยใช้บล็อกด้านหน้าของเหรียญรุ่นแรก ส่วนบล็อกด้านหลังแกะใหม่ มี ๒ บล็อก เหรียญทั้งหมดจะตอกโค้ดดาว มีการสร้างด้วยเนื้อเงิน เนื้อทองแดง และเนื้อทองแดงกระไหล่ทอง จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้
เหรียญพระอุปัชฌาย์ถัน วัดเครือวัลย์ รุ่น ๒ (โค้ดดาว) หลังปี พ.ศ. ๒๔๖๘ เนื้อเงิน |
เหรียญพระอุปัชฌาย์ถัน วัดเครือวัลย์ รุ่น ๒ (โค้ดดาว) หลังปี พ.ศ. ๒๔๖๘ เนื้อทองแดงกระไหล่ทอง |
เหรียญพระอุปัชฌาย์ถัน วัดเครือวัลย์ รุ่น ๒ (โค้ดดาว) หลังปี พ.ศ. ๒๔๖๘ เนื้อทองแดงกระไหล่ทอง |
ด้านหน้า เป็นรูปจำลองของหลวงพ่อถันครึ่งองค์ห่มจีวรลดไหล่ พาดผ้าสังฆาฏิ มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "ที่ระลึก ในงานศพพระอุปัชฌาถัน" ที่พื้นเหรียญมีกลาก
ด้านหลัง ตรงกลางเหรียญมีอักขระยันต์ ใต้อักขระยันต์มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "พ.ศ. ๒๔๖๘" มีการตอกโค้ด "รูปดาว" ที่พื้นเหรียญ
โดย : สารานุกรมพระเกจิแห่งแดนสยาม
บทความที่เกี่ยวข้อง
***-[เป็นกำลังใจและสนับสนุนให้เราเขียนบทความดีๆ ด้วยการกดดูโฆษณาด้านล่างนะคะ]-***
ไม่มีความคิดเห็น