ประวัติและวัตถุมงคลหลวงปู่พัน วัดบ้านสร้าง อยุธยา พระเกจิยุคเก่าที่เก่งกาจของอยุธยา
หลวงพ่อพัน วัดบ้านสร้าง อยุธยา |
หลวงปู่พัน วัดบ้านสร้าง หรือ พระครูนิเทศน์ธรรมกถา อดีตเจ้าอาวาสวัดบ้านสร้าง ตำบลบ้านสร้าง อำเภอบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา หลวงปู่ท่านมีนามเดิมว่าพัน นัยผ่องศรี เกิดเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๐๐ ซึ่งตรงกับรัชกาลที่ ๔ ณ บ้านคลองควาย ตำบลบ้านกรด อำเภอบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โยมบิดาชื่อนายแป้น นัยผ่องศรี โยมมารดาชื่อนางสาด นัยผ่องศรี
ปี พ.ศ. ๒๔๒๑ หลวงปู่พัน ท่านมีอายุได้ ๒๐ ปีบริบูรณ์ ท่านจึงได้เข้ารับการอุปสมบท ณ พัทธสีมาวัดขนอนเหนือ ตำบลบ้านกรด อำเภอบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ได้รับฉายาว่า "ธัมมโชติ" โดยมี
เจ้าอธิการด้วง วัดขนอนเหนือ เป็นพระอุปัชฌาย์
พระครูสิทธิจเรวัฒน์ (แจ้ง) วัดขนอนใต้ เป็นพระกรรมวาจาจารย์
พระอาจารย์ธูป วัดขนอนใต้ เป็นพระอนุสาวฌาจารย์
หลังจากที่หลวงปู่พันได้อุปสมบทแล้ว ท่านได้อยู่จำพรรษาที่วัดขนอนเหนือ เป็นเวลาถึง ๕ พรรษา เพื่อศึกษาวิทยาคม ซึ่งวัดขนอนเหนือและวัดขนอนใต้ในสมัยนั้น เป็นสำนักเรียนที่มีชื่อเสียงเป็นแหล่งศึกษา ทรงไว้ซึ่งวิทยาอาคมหลากหลาย
ปี พ.ศ. ๒๔๒๗ หลวงปู่พันก็ได้ย้ายมาจำพรรษาอยู่ที่วัดบ้านสร้าง ตำบลบ้านสร้าง อำเภอบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
ปี พ.ศ. ๒๔๒๗ หลวงปู่โพธิ์เจ้าอาวาสวัดบ้านสร้างได้มรณะภาพลง ชาวบ้านและคณะกรรมการวัดจึงได้เดินทางไปที่วัดขนอนเหนือ เพื่อนิมนต์หลวงปู่พันซึ่งขณะนั้นบวชได้ ๗ พรรษาให้มาดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดบ้านสร้างที่ว่างลง
หลังจากที่หลวงปู่พันได้เป็นเจ้าอาวาส ท่านได้พัฒนาวัดอย่างสุดความสามารถ ทั้งการสร้างเสนาสนะต่างๆ รวมทั้งการสร้างถาวรวัตถุต่างๆ จนวัดเจริญรุ่งเรืองขึ้นตามลำดับ
นอกจากนี้ท่านยังเป็นที่พึ่งของชาวบ้านสร้างในเรื่องต่างๆ และยังเป็นส่งเสริมให้ชาวบ้านอยู่ในศีลในธรรม ประกอบสัมมาอาชีพสุจริตอีกด้วย
ปี พ.ศ. ๒๔๔๙ ด้วยคุณงามความดีของหลวงปู่พัน ท่านจึงได้เลื่อนขั้นเป็นพระครูพัน ดำรงตำแหน่งเจ้าคณะแขวงอุทัยน้อย(วังน้อย)
ปี พ.ศ. ๒๕๕๑ หลวงปู่พันได้รับการเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระครูชั้นสัญญาบัตร ที่"พระครูนิเทศธรรมกถา"
ปี พ.ศ. ๒๔๕๓ หลวงปู่พัน ท่านได้สร้างอุโบสถหลังใหม่ แทนอุโบสถหลังเก่าที่ชำรุดทรุดโทรม บนพื้นที่เดิมจนแล้วเสร็จ
ในกาลต่อมาสมเด็จพระเจ้าบรมวงค์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้อัญเชิญพระประธานมาเปลี่ยนให้แทนพระประธานองค์เก่า
เป็นพระพุทธรูปปางสมาธิหล่อด้วยเนื้อสัมฤทธิ์ ด้านข้างรอบองค์พระจารึึก อักษรแบบ "ปาละวะ" ซึ่งเป็นภาษาอินเดียโบราณ โดยถวายพระนามว่า "พระพุทธกำแพงแก้ว"
โดยในครั้งที่เปลี่ยนพระประธานนั้น ได้พบพระพิมพ์จำนวนมากใต้ฐานชุกชี เป็นพระพิมพ์โลหะเนื้อชินเงิน คล้ายพระพิมพ์ที่พบในกรุวัดราชบูรณะ
ส่วนพระประธานองค์เก่า ยังคงประดิษฐ์ฐานอยู่ในพระอุโบสถ นอกจากนี้ทางวัดยังแบ่งที่ดินบางส่วนไปสร้างอาคารเรียน เป็นโรงเรียนระดับประถมศึกษาอีกด้วย
วัดบ้านสร้าง สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ในอดีตนั้นมีแต่ทุ่งนา ถึงหน้าน้ำจะถูกน้ำท่วมทุกปี เพราะหน้าวัดติดคลองและอยู่ในเขตชุมชนที่มีผู้คนอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก วัดบ้านสร้างแห่งนี้สร้างขึ้นสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลายประมาณปี พ.ศ. ๒๓๐๐
ไม่มีประวัติชัดเจนว่าผู้สร้างเป็นใคร แต่สันนิษฐานได้ว่าวัดบ้านสร้างในอดีตน่าจะมีความสำคัญพอสมควร เนื่องจากเป็นวัดขนาดใหญ่ตั้งอยู่ในที่ราบลุ่ม
ที่สำคัญชื่อของวัดใช้ชื่อเดียวกับหมู่บ้านก็คือหมู่บ้านสร้าง ทำให้สรุปได้ว่า หลังจากชาวบ้านอพยพมาปักหลักถิ่นฐานกันแล้ว น่าจะร่วมแรงร่วมใจสร้างวัดแห่งนี้ขึ้นมา เพื่อเป็นศูนย์รวมความศรัทธาและเป็นสถานที่ปฏิบัติธรรมและทำบุญร่วมกัน
สำหรับเจ้าอาวาสวัดบ้านสร้าง ที่มีบันทึกปรากฏหลักฐานมาแต่อดีตมีรายนามดังต่อไปนี้
๑. หลวงปู่โพธิ์ ไม่ปรากฏข้อมูลชัดเจนว่าปกครองวัดในสมัยใด มีเพียงตำนานอภินิหารและคำบอกเล่าของชาวบ้านคนเก่าแก่สมัยก่อนเท่านั้น
๒. พระครูนิเทศธรรมกถา (หลวงปู่พัน ธัมมโชติ) เจ้าอาวาสวัดบ้านสร้าง ระหว่างปี พ.ศ. ๒๔๒๗ - ๒๔๘๖
ภายหลังหลวงปู่พันได้มรณภาพลง ทางวัดได้ร้างตำแหน่งเจ้าอาวาส แต่ก็มีพระลูกวัดช่วยกันดูแลวัดสืบต่อมา ๓ รูป ๑. พระอาจารย์เปลี่ยน อิสรปัญโญ ๒. พระอาจารย์เจิม ยสธโร ๓. พระอาจารย์จวน เวโรจโน
๓. พระครูปิยะธรรมโมชิด (พระญาณรังสี) เปรียญธรรม ๙ ประโยค อดีตเจ้าคณะอำเภอบางปะอิน และเจ้าอาวาสวัดชุมพลนิกายาราม เจ้าอาวาสระหว่างปี พ.ศ. ๒๕๐๒ - ๒๕๑๖
๔. พระครูวิโรจน์ธรรมรัตน์ (หลวงพ่อจวน เวโรจโน) ภายหลังได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดบ้านสร้างอย่างเป็นทางการ ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๑๗ - ๒๕๔๑
๕. พระครูสุวรรณจันทโรภาส ได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๔๒ - ปัจจุบัน
หลวงปู่พัน น้้นท่านเป็นพระเกจิเถราจารย์ที่รักษาพระวินัยอย่างเคร่งครัด เป็นที่เคารพศรัทธาของลูกศิษย์ลูกหามากมาย ลูกศิษย์ที่เคยมาศึกษากับหลวงปู่พัน มีดังนี้
๑. พระครูสันทัดธรรมคุณ(หลวงพ่อออด) วัดบ้านช้าง
๒. พระครูจันทรสิทธิคุณ(หลวงพ่อภักดิ์) วัดศิวาราม
๓. พระครูถาวรธรรมสาร(หลวงพ่อแสวง) วัดลาดทราย
๔. พระครูวิโรจน์ธรรมรัตน์(หลวงพ่อจวน) วัดบ้านสร้าง
๕. พระครูสรกิจพิจารย์(หลวงพ่อผัน) วัดราษร์เจริญ
๖. พระสุนทรธรรมนุวัตร์(หลวงพ่อสวัสดิ์) วัดศาลาปูน
หลวงปู่พัน ท่านปกครองวัดเรื่อยมาจนถึงแก่มรณะภาพลงด้วยโรคชราเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๘๖ นับรวมสิริอายุได้ ๘๕ ปี ๖๔ พรรษา
วัตถุมงคลของหลวงปู่พัน วัดบ้านสร้าง
เหรียญหลวงปู่พัน วัดบ้านสร้าง รุ่นแรก
สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๖๗ เพื่อแจกให้กับผู้ที่บริจาคทรัพย์บูรณะวัดมณฑลประสิทธิ์ซึ่งเป็นวัดบ้านเกิดของท่าน ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มทรงเสมาข้างเลื่อยแบบมีหูในตัว มีการสร้างเนื้อทองแดงและทองแดงกะไหล่ทองเท่านั้น จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้
เหรียญหลวงพ่อพัน วัดบ้านสร้าง รุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๔๖๗ เนื้อทองแดงกระไหล่ทอง ของคุณวายุ สมานคุณ |
ด้านหน้า เป็นรูปจำลองของหลวงปู่พันครึ่งองค์ห่มจีวรลดไหล่ พาดผ้าสังฆาฏิ ใต้รูปมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "พระครูนิเทศธรรมกถา"
ด้านหลัง เรียบ ไม่ปรากฏอักขระใดๆ
เหรียญหลวงปู่พัน วัดบ้านสร้าง รุ่น ๒
สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๗๔ โดยกำนันแปลก ไวยบุญญา เพื่อแจกให้กับผู้ที่บริจาคทรัพย์ให้กับทางวัด และแจกเป็นที่ระลึกถึงหลวงปู่พัน เพราะท่านได้หายตัวไปนานและไม่ทราบข่าวคราว ซึ่งอยู่ในช่วงที่หลวงปู่พัน ร่วมกับพระพิมลธรรม (เฮง เขมจารีมหาเถร) ออกตรวจการคณะสงฆ์มลฑลอยุธยา จึงสันนิฐานว่า ท่านอาจจะมรณะภาพระหว่างตรวจการ กำนันแปลกและลูกศิษย์ลูกหาที่เคารพนับถือในตัวหลวงพ่อ เลยร่วมกันสร้างเหรียญนี้ขึ้น ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มรูปไข่แบบมีหูในตัว มีการสร้างเนื้อเงิน และเนื้อทองแดงเท่านั้น จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้
เหรียญหลวงพ่อพัน วัดบ้านสร้าง รุ่น ๒ ปี พ.ศ. ๒๔๗๔ เนื้อเงิน |
เหรียญหลวงพ่อพัน วัดบ้านสร้าง รุ่น ๒ ปี พ.ศ. ๒๔๗๔ เนื้อทองแดง ของคุณเพชร ท่าพระจันทร์ |
เหรียญหลวงพ่อพัน วัดบ้านสร้าง รุ่น ๒ ปี พ.ศ. ๒๔๗๔ เนื้อทองแดงกระไหล่เงิน |
ด้านหลัง มีอักขระยันต์ตรีนิสิงเห
เหรียญหลวงปู่พัน วัดบ้านสร้าง รุ่น ๓
สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๘๔ เพื่อแจกในงานฉลองพัดยศของหลวงพ่อ ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มทรงพุ่มข้าวบิณฑ์แบบมีหูในตัว มีการสร้างเนื้อทองแดงเพียงชนิดเดียวเท่านั้น จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้
เหรียญหลวงพ่อพัน วัดบ้านสร้าง รุ่น ๓ ปี พ.ศ. ๒๔๘๔ เนื้อทองแดง |
ด้านหน้า เป็นรูปจำลองของหลวงปู่พันครึ่งองค์ห่มจีวรคลุมไหล่ มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "ฉลองพัดยศ พระครูนิเทศธรรมกถา"
ด้านหลัง มีอักขระยันต์ ใต้อักขระยันต์มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "พ.ศ. ๒๔๘๔"
หมายเหตุ : เหรียญของท่านรุ่นแรก บางข้อมูลว่าออก ๓ วาระ มี ๓ แบบ ซึ่งยังมีความไม่ชัดเจนในหลายๆเรื่องจึงขอนำเสนอแต่เพียงที่สากลเท่านั้น นอกจากนี้บางคนยังเชื่อว่าเหรียญรุ่นแรกสร้างในปี พ.ศ. ๒๔๕๖ ซึ่งยังไม่มีหลักฐานยืนยันที่ชัดเจน มีแต่ข้อสันนิษฐานเท่านั้น รวมทั้งศิลปของเหรียญรุ่นแรกก็ไม่น่าก่อนยุค ๒๔๖๐อย่างแน่นอน
โดย : สารานุกรมพระเกจิแห่งแดนสยาม
บทความที่เกี่ยวข้อง
ไม่มีความคิดเห็น