ประวัติและวัตถุมงคลหลวงปู่บุญมี วัดอุดมผลหนองไผ่ กาฬสินธุ์
หลวงพ่อบุญมี วัดอุดมผลหนองไผ่ กาฬสินธุ์ |
หลวงปู่บุญมี วัดอุดมผลหนองไผ่ หรือ พระครูสุนทรวิริยคุณ อดีตเจ้าอาวาสวัดอุดมผลหนองไผ่ ตำบลโนนสูง อำเภอยางตลาด จังหวัดกาฬสินธุ์ หลวงปู่ท่านเกิดเมื่อวันที่ ๑๗ กันยายน พ.ศ. ๒๔๖๖ ท่านมีนามเดิมว่าบุญมี เสียสี
ถิ่นกำเนิดท่านเป็นคนหมู่บ้านดอนขี ตำบลอิตื้อ อำเภอยางตลาด จังหวัดกาฬสินธุ์ โยมบิดาชื่อนายที เสียสี โยมมารดาชื่อนางจวน เสียสี ครอบครัวท่านมีอาชีพทำไร่ทำนา โดยท่านเป็นบุตรคนที่ ๒ ในจำนวนพี่น้องทั้งหมด ๕ คน
ในวัยเยาว์ หลวงปู่บุญมีท่านได้เข้าเรียนโรงเรียนประชาบาลที่โรงเรียนยางคำวิทยา ตำบลอิตื้อ อำเภอยางตลาด จังหวัดกาฬสินธุ์ จนสำเร็จการศึกษาชั้นประถมศึกษาปีที่ ๔ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๗๘
หลังเรียนจบ ท่านต้องช่วยครอบครัวทำไรทำนาตามแบบวิถีชีวิตของชาวอีสานทั่วๆไป ด้วยอุปนิสัยค่อนข้างที่จะเป็นเสือนักเลง จึงมักพูดจาโผงผาง ตรงไปตรงมาไม่อ้อมค้อม เป็นคนตรงๆ เป็นที่รู้จักชื่อเสียงเรียงนามของคนในยุคสมัยนั้นในนามเสือนักเลง ด้วยมูลเหตุเป็นเสือนักเลงจึงทำให้ท่านต้องแสวงศึกษาวิชาอาคมตั่งแต่ยังเล็ก
ปี พ.ศ. ๒๔๘๖ ท่านมีอายุครบบวชพอดี ท่านจึึงตัดสินใจหันหลังจากทางโลก มุ่งสู่ทางธรรมตามแนวพระตถาคต ได้เข้าพิธีอุปสมบท ณ พัทธสีมาวัดสวนพร้าวดงบัง ตำบลหัวนาคำ อำเภอยางตลาด จังหวัดกาฬสินธุ์ เมื่อวันที่ ๓๐ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๘๖ ได้รับฉายาทางธรรมว่า "สุธัมโม" โดยมี
พระครูญาณกิจวิชัย(หลวงปู่สน) วัดสวนพร้าวดงบัง เป็นพระอุปัชฌาย์
พระอธิการญาครูจูม อินทโชโต วัดสว่างหัวนาคำ เป็นพระกรรมวาจาจารย์
พระอธิการญาครูมาก ธัมจักโก วัดสระบัวโพนสิม เป็นพระอนุสาวนาจารย์
หลังการที่หลวงปู่บูญมี ท่านได้อุปสมบทแล้ว ท่านได้อยู่จำพรรษาที่วัดสวนพร้าวดงบัง เพื่อศึกษากัมมัฏฐาน ข้อวัตรปฏิบัติกับพระอุปัชฌาย์ของท่านอยู่ระยะหนึ่ง
หลังจากนั้นท่านได้เดินทางไปร่ำเรียนสรรพวิชาคาถาอาคมต่างๆกับหลายครูบาอาจารย์ทั้งพระสงฆ์และฆราวาส อาทิ พ่อธรรมใหญ่จันทบาล แห่งบ้านนาดี ตำบลอีตื้อ (ปัจจุบัน ตำบลหัวนาคำ อำเภอยางตลาด จังหวัดกาฬสินธุ์) ซึ่งหมอธรรมใหญ่ ท่านนี้เป็นผู้เฒ่าที่มีความขมังเวทในสมัยนั้น ผู้เป็นบรมครูสายวิชาธรรมเก้าโกฏิ
รวมถึงไปขอร่ำเรียนวิชาอาคมจากหลวงปู่ศรีธรรมศาสน์ วัดใต้โกสุม แห่งเมืองมหาสารคาม จากนั้นก็เดินธุดงค์เพื่อแสวงหาครูบาอาจารย์อีกหลายท่านไปจนถึงภูลังกา ภูเขาควาย ในประเทศลาว จนได้สืบทอดสัพวิทยาสายหลวงปู่สมเด็จลุน แห่งเมืองจำปาสัก จากลูกศิษย์ท่านที่ได้เรียนมาจากเมืองอุบลราชธานี
ทำให้หลวงปู่บุญมี ท่านเชี่ยวชาญอักขระเลขยันต์ตัวอักษรธรรมลาว ตัวอักษรธรรมขอมเป็นอย่างดี รวมไปถึงท่านก็พอจะชำนาญสรรพวิชาอาคมและอักขระเลขยันต์มาแต่ครั้งเก่าก่อน ก่อนท่านจะออกบวชมาพอสมควรอยู่แล้ว
ปี พ.ศ. ๒๔๙๐ ท่านได้ย้ายมาจำพรรษาอยู่ที่วัดบ้านดอนขี ซึ่งเป็นบ้านเกิดของท่าน จนได้รับตำแหน่งเป็นเจ้าอาวาส ซึ่งขณะนั้นท่านบวชได้ ๕ พรรษา
ในสมัยที่ท่านเป็นสมภารวัดบ้านดอนขีนั้น ท่านก็ได้สำเร็จในวิชามนต์ตัน จนปืนแตก (เป็นมนต์ที่ลงของ เสกของ อักขระเลขยันต์เป็นมหาอุดนักเลง)
ปี พ.ศ. ๒๔๙๑ หลังจากเป็นเจ้าอาวาสวัดบ้านดอนขีนั้น ทางหมู่บ้านหนองไผ่ ได้มาขอนิมนต์ท่านไปดำรงณ์ตำแหน่ง เจ้าอาวาสวัดอุดมผลหนองไผ่ หลังจากสมภารเดิมได้ลาสิกขาไป ท่านจึงรับนิมนต์มาเป็นเจ้าอาวาสแทน
ปี พ.ศ. ๒๕๐๔ เป็นเจ้าคณะตำบลอิตื้อเขต ๑ อำเภอยางตลาด จังหวัดกาฬสินธุ์
ปี พ.ศ. ๒๕๐๙ เป็นพระอุปัชฌาย์
ปี พ.ศ. ๒๕๑๐ ได้รับการแต่งตั้งเป็นพระธรรมทูตประจำอำเภอยางตลาด
ปี พ.ศ. ๒๕๑๑ ได้รับพระราชทานสมศักดิ์พระครูสัญญาบัตรเจ้าคณะตำบลชั้นตรีในพระราชทินนามที่ พระครูสุนทรวิริยคุณ
ปี พ.ศ. ๒๕๑๔ ได้รับการแต่งตั้งเป็นครูสอนพระปริยัติธรรม
ปี พ.ศ. ๒๕๑๖ ได้รับพระราชทานเลื่อนสมศักดิ์พระครูสัญญาบัตรเจ้าคณะตำบลชั้นโทในพระราชทินนามเดิม
ปี พ.ศ. ๒๕๒๓ ท่านได้บูรณะพระอุโบสถเก่าที่ชำรุดทรุดโทรมบูรณะจนแล้วเสร็จ สร้างศาลาการเปรียญแบบก่อปูนแทนหลังเดิมเป็นหลังไม้ที่ทรุดโทรมขึ้นใหม่ ด้วยความสามัคคีของชุมชนร่วมกับพระเณรที่จำพรรษาในวัดหลายสิบรูป
รวมทั้งสร้างกุฏิเพิ่มอีก ๒ หลัง ห้องน้ำห้องสวม รองรับพระเณรที่มาศึกษาในสำนักเรียนบาลี ที่ตั้งขึ้นตั่งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๗๓ สมัยพระอธิการชู ธิตธัมโม
ปี พ.ศ. ๒๕๓๘ ได้สร้างเมรุและหอระฆัง และะหว่างวันที่ ๑๐-๒๐ กุมภาพันธ์ ท่านได้ร่วมเดินทางไปกิจการพระพุทธศาสนาที่ประเทศอินเดียนำโดยท่านเจ้าคุณพระกิตติญาณโสภณ หัวหน้าคณะ มีพระภิษุ ๑๘ รูป คฤหัสถ์ ๒๐ คน
เดินทางไปนมัสการสังเวชนียสถานทั้ง ๔ แห่งพร้อมสถานที่สำคัญๆหลายหัวเมือง ได้ร่วมกับชาวพุทธประเทศต่างๆทั่วโลกนมัสการเวียนเทียนในวันมาฆบูชา ณ สถานที่ตรัสรู้พุทธคยาได้ประกอบพิธีอยู่ ๒ คืน
ปี พ.ศ. ๒๕๓๙ ระหว่างวันที่ ๒๓-๒๗ มิถุนายน เดินทางไปทัศนศึกษาดูงานกิจกรรม ด้านพระพุทธศาสนาสายมหายานและสถานที่สำคัญๆทางประวัติศาสตร์ ณ มหานครปักกิ่ง ประเทศสาธารณประชาชนจีน
ซึ่งหัวหน้าคณะนำโดยพระกิตติญาณโสภณ (บัวผัน ปคุณธมฺโม) รองเจ้าคณะจังหวัดขอนแก่น วัดศรีนวล จังหวัดขอนแก่น (ท่านให้ความนับถือกันมาก)
ปี พ.ศ. ๒๕๔๒ ได้รับพระราชทานเลื่อนสมศักดิ์พระครูสัญญาบัตรเจ้าคณะตำบลชั้นเอกในพระราชทินนามเดิม
หลวงปู่บุญมี ท่านโด่งดังชำนาญเรื่องวิทยาคมมากคือ ธรรมเก้าโกฎิ ที่เรียนมาจากพ่อธรรมใหญ่จันทบาล แห่งบ้านนาดี หมอธรรมผู้เฒ่าอันมีความขมังเวชที่ทรงวิทยาคมในยุคนั้น วิชาที่ขับไล่ผี ปอบเป้าโพรง ผีเข้า กันบ้านกันเมือง แก้คุณผีคุณคน ต่อกระดูก รดน้ำมนต์ดูเลิกยาม
โดยลูกศิษย์ที่สืบทอดต่อจากท่านมี พ่อธรรมเอก บ้านสร้างมิ่ง พระครูสิริประภัทรสร วัดสวนพร้าวดงบัง พระครูประสุตธรรมสุนทร วัดดอนยานาง ญาครูเคน วัดบ้านดอนขี เป็นต้น
ในสมัยที่ท่านรับนิมนต์ไปช่วยชาวบ้านต่างจังหวัด ผู้ที่เคยติดตามท่านคือ พ.ต.อ.เรืองยศ ภูพานเพชร อดีตผู้กำกับการสถาณีตำรวจภูธรท่าคันโท จังหวัดกาฬสินธุ์
โยมอุปฐากที่ใกล้ชิด ได้เล่าประสบการณ์สมัยก่อนเป็นสามเณรที่มีโอกาสติดตามองค์หลวงปู่ ไปทำพิธีขับไหล่ผี ในสมัยนั้นเส้นทางสัญจรไปมายังไม่สะดวกไม่ค่อยมีรถลามากนัก ต้องอาศัยเดินเท้าเข้าหมู่บ้านเป็นหลักต้องผ่านป่าโคก
พอเดินจะถึงหมู่บ้านข้างทางมีต้นไม้ชุมเกิดสิ่งประหลาดมีต้นไม้สันไหวอย่างแรงเหมือนโดนลมพายุพัดต้นไม้สั่นนั้นไม่หยุด เหมือนกับมีอะไรกระโดดไปมาสั่นต้นนั้นต้นนี้ หลวงปู่คงรู้ว่าเป็นอะไรเลยนำเอาดาบคายธรรม ท่านขึ้นมาแล้วเปาคาถาแกว่งดาบแค่นั้น ต้นไม้เหมือนโดนพายุกระหน่ำได้หยุดเหมือนไม่เคยเกิดอะไรขึ้น
อีกเหตุการณ์หนึ่งมีคนถูกผีเข้า หลวงปู่ได้รับนิมนต์ไปขับไล่คนที่ถูกผีเข้าพอได้ยินแค่ชื่อหลวงปู่ก็กลัวจนตัวสั่น ร้องเสียงดังเหมือนคนสะติแตกจวนจะขาดใจ (ผีที่สิงในร่างคนผู้นั้นเอ่ยปากออกมาว่า บักได๋มากูบ่ย้านดอก กูย้านแต่เฒ่าอันนี้ละ)
คนที่มาหาหลวงปู่ส่วนมากผีเข้าป่วยไม่มีสาเหตุรักษาที่ไหนก็ไม่หายพอมาหาหลวงปู่ท่านแก้รักษาก็หายดี และเด็กที่นอนร้องไม่หยุดนอนผวาพามาให้หลวงปู่เป่าศีรษะผูกแขนก็หยุดร้องทันทีเป็นที่น่าอัศจรรย์ รวมทั้งด้านคงกระพันชาตรีแล้วนั้นหลวงปู่ปื๋อสำเร็จมนต์ ตันปืนแตก ตั้งแต่สมัยท่านพรรษาที่ ๕ ขณะเป็นเจ้าอาวาสวัดบ้านดอนขี เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๙๑
ท่านได้สร้างวัตถุมงคลไว้หลายรุ่น ก็จะเป็นตระกรุดแผ่นทองและตระกรุดหลอดยาสีฟัน ตระกรุดประหลอดห้อยคอ กบตายคารู (คนอีสานจะเรียกกบตายคาไง หรือ กบจำศีล) นี้เป็นที่สุดยอดสร้างน้อยไม่เกิน ๑๐๐ องค์ เป็นที่สรรหากันมาก
เหรียญภาพล็อกเกด ฝ้ายผูกแขน แหวนกันภัย ภาพถ่าย ผ้ายันต์ ชาญหมาก วัตถุมงคลทั้งหลายนั้น หลวงปู่ทำแจกด้วยเจตนาการจัดสร้างที่บริสุทธิ์ วัตถุของท่านจึงสุดยอดเข้มขลังคงมีด คงปืน คงศาสตราอาวุธ เขี้ยวงา ของแหลม ของมีคม เหนียวขนาดแมลงวันไม่ได้กินเลือด และมีพุทธคุณรอบด้าน
ตระกรุดในยุคต้นเป็นเชือกถักลงรักลงแผ่นทอง และหลอดยาสีฟัน (นำหลอดยาสีฟันที่พระเณรในวัดใช้หมดแล้วนำมาตัดขัดเป็นแผ่นโลหะให้สวยงามแทนแผ่นทองที่ไม่ต้องได้ซื้อ)
แต่ยุคหลังเป็นแผ่นทองมีสายยางหุ้มถักแทนเชือกบางเส้นจะมีกบตายคารูห้อยด้วยถักด้วยทองแดงหุ้มครั่ง (มีน้อย ส่วนมากจะได้เฉพาะคนใกล้ชิดท่าน) เป็นที่หายาก
หลวงปู่บุญมี ปกครองวัดเรื่อยมาจนถึงแก่มรณภาพลงเมื่อ ๑๑ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๔๔ นับรวมสิริอายุได้ ๗๘ ปี ๕๘ พรรษา.
วัตถุมงคลของหลวงปู่บุญมี วัดอุดมผลหนองไผ่
ล็อกเก็ตหลวงปู่บุญมี วัดอุดมผลหนองไผ่ รุ่นแรก
สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๑๕ เพื่อแจกให้กับผู้ที่บริจาคทรัพย์ให้กับทางวัด ลักษณะเป็นล็อกเก็ตดีบุกแบบมีหูในตัว โดยมีการประกอบพิธีพุทธาภิเษกอยู่ ๗ วัน ๗ คืน ที่พระอุโบสถวัดอุดมผลหนองไผ่ โดยมีพระเกจิอาจารย์ชื่อดังนั่งปรกหลายรูป อาทิ หลวงปู่ผาง วัดอุดมคงคาคีรีเขต หลวงปู่ทิพย์ วัดบ้านดอนขี สร้างน้อยมากหายาก จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้
ล้อกเก็ตหลวงพ่อบุญมี วัดอุดมผลหนองไผ่ รุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๕๑๕ |
ด้านหน้า เป็นรูปจำลองของหลวงปู่บุญมีครึ่งองค์ห่มจีวรลดไหล่ พาดผ้าสังฆาฏิ ใต้รูปมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "พระครูสุนทรวิริยคุณ"
ด้านหลัง ตรงกลางเหรียญมีอักขระยันต์อ่านได้ว่า "มะ อะ อุ" ใต้ยันต์มีตัว นะ ลาว
เหรียญหลวงปู่บุญมี วัดอุดมผลหนองไผ่ รุ่นแรก
สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๑๕ โดยมีการแจกหลายวาระทั้งการแจกให้คณะศิษย์ยานุศิษย์ รวมทั้งแจกให้กับพุทธศาสนิกชนที่นำกฐินและผ้าป่ามาทอดถวายที่วัด สมทบทุนสร้างสาธารณูปโภคสาธารณูปการในวัด รวมทั้งแจกในงานฉลองเลื่อนสมณศักดิ์เจ้าคณะตำบลชั้นโท ในปี พ.ศ. ๒๕๑๖ อีกด้วย ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มรูปเสมาแบบมีหูในตัว โดยมีการประกอบพิธีพุทธาภิเษกอยู่ ๗ วัน ๗ คืน ที่พระอุโบสถวัดอุดมผลหนองไผ่ โดยมีพระเกจิอาจารย์ชื่อดังนั่งปรกหลายรูป อาทิ หลวงปู่ผาง วัดอุดมคงคาคีรีเขต หลวงปู่ทิพย์ วัดบ้านดอนขี จำนวนการสร้างประมาณ ๑,๕๐๐ เหรียญ
เหรียญหลวงพ่อบุญมี วัดอุดมผลหนองไผ่ รุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๕๑๕ เนื้อทองเหลืองกระไหล่เงิน |
ด้านหน้า เป็นรูปจำลองของหลวงปู่บุญมีครึ่งองค์ห่มจีวรลดไหล่ พาดผ้าสังฆาฏิ ใต้รูปมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "พระครูสุนทรวิริยคุณ"
ด้านหลัง ตรงกลางเหรียญมีอักขระยันต์อ่านได้ว่า "มะ อะ อุ" ใต้ยันต์มีตัว นะ ลาว
โดย : สารานุกรมพระเกจิแห่งแดนสยาม
บทความที่เกี่ยวข้อง
ไม่มีความคิดเห็น