โฆษณาแนวนอน728*90

บทความใหม่

ประวัติและวัตถุมงคลหลวงพ่อผัน วัดแปดอาร์(วัดราษฎร์เจริญ) สระบุรี (เจ้าของเหรียญแทงคอหมูอันโด่งดัง)

ภาพถ่ายหลวงพ่อผัน วัดราษฏร์เจริญ สระบุรี
หลวงพ่อผัน วัดราษฏร์เจริญ สระบุรี

         หลวงพ่อผัน วัดราษฎร์เจริญ หรือ พระครูสรกิจพิจารณ์ อดีตเจ้าอาวาสวัดราษฎร์เจริญ (วัดแปดอาร์) ตำบลหนองแขม อำเภอหนองแค จังหวัดสระบุรี  ท่านเป็นหนึ่งในอดีตพระเกจิอาจารย์สระบุรี

         ท่านเป็นพระเกจิอาจารย์ร่วมยุคเดียวกับหลวงพ่อตาบ วัดมะขามเรียง หลวงปู่บาง วัดหนองพลับ หลวงพ่อเฮ็น วัดดอนทอง หลวงพ่อย้อย วัดอัมพวัน และหลวงพ่อฉ่ำ วัดหนองหว้า

         หลวงพ่อผัน ท่านมีนามเดิมว่าผัน สุทธิวิลัย เกิดเมื่อวันศุกร์ที่ ๑๖ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๕๔ ตรงกับวันแรม ๕ ค่ำ เดือน ๗ ปีกุน ณ บ้านเลขที่ ๘๗ หมู่ ๑ ตำบลหนองแขม อำเภอหนองแค จังหวัดสระบุรี โยมบิดาชื่อนายแพง สุทธิวิลัย โยมมารดาชื่อนางเขียว สุทธิวิลัย มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน ๙ คน โดยหลวงพ่อเป็นบุตรคนโต ทางบ้านประกอบอาชีพทำนา

         ปี พ.ศ. ๒๔๖๓ โยมบิดาและโยมมารดาได้นำตัวหลวงพ่อผัน ซึ่งขณะนั้นมีอายุได้ ๙ ขวบ ไปฝากเรียนกับพระอาจารย์สุด วัดหนองโสน ตำบลสนับทึบ อำเภอวังน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

         ปี พ.ศ. ๒๔๗๔ หลวงพ่อผันท่านมีอายุครบบวช ท่านก็ได้เข้ารับการอุปสมบท ณ พัทธสีมาวัดหนองโสน ตำบลสนับทึบ อำเภอวังน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เมื่อวันที่ ๒๖ เมษายน พ.ศ. ๒๔๗๔ ตรงกับวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๕ ปีมะแม ได้รับฉายาว่า "จิณณธัมโม" แปลว่า "มีธรรมเป็นที่สุด" โดยมี

         พระครูนิเทศธรรมกถา(พัน) วัดบ้านสร้าง เป็นพระอุปัชฌาย์

         เจ้าอธิการจาด วัดวงษ์สวรรค์ เป็นพระกรรมวาจาจารย์

         พระอธิการหนู วัดบ้านสร้าง เป็นพระอนุสาวนาจารย์

         เมื่ออุปสมบทแล้วหลวงพ่อผัน ท่านได้อยู่จำพรรษาที่วัดหนองโสน เพื่อศึกษาวิชาต่างๆเป็นเวลา ๒ พรรษา 

ภาพถ่ายหลวงพ่อพัน วัดบ้านสร้าง อยุธยา
หลวงพ่อพัน วัดบ้านสร้าง อยุธยา พระอุปัชฌาย์ของหลวงพ่อผัน

         ปี พ.ศ. ๒๔๖๗ ท่านจึงได้เดินทางไปจำพรรษาที่วัดบ้านสร้างเพื่อศึกษาเล่าเรียนวิชาอาคมกับหลวงพ่อพัน วัดบ้านสร้าง ซึ่งเป็นพระอาจารย์และพระอุปัชฌาย์ของท่าน 

         โดยสำนักวัดบ้านสร้างนี้ มีลูกศิษย์ลูกหามากมายที่มาเล่าเรียนกับหลวงพ่อพัน ที่มีบันทึกไว้เช่น หลวงพ่อผัน วัดราษฎร์เจริญ หลวงพ่อแสวง วัดลาดทราย หลวงพ่อจวน วัดบ้านสร้าง หลวงพ่อสวัสดิ์ วัดศาลาปูน หลวงพ่อภักดิ์ วัดศิวาราม หลวงพ่อออด วัดบ้านช้าง

         ซึ่งทุกท่านล้วนแต่เป็นสหธรรมมิก บางคนกล่าวขานว่า สายคงกระพันแห่งลุ่มน้ำวังน้อย ซึ่งเกจิสำนักนี้ ตั้งแต่ครูถึงลูกศิษย์ ขึ้นชื่อถึงวิชาแคล้วคลาด คงกระพัน ไม่เป็นสองรองใคร

         นอกจากนี้หลวงพ่อผัน ท่านยังเดินทางไปศึกษาวิชาอาคมเพิ่มกับหลวงพ่อยอด วัดหนองปลาหมอ สระบุรี ซึ่งขณะนั้นท่านชราภาพมากแล้วโดยไปเรียนเคล็ดวิชาและวิธีปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานและยังมอบคัมภีร์พระเวทย์ของหลวงพ่อกลั่น วัดพระญาติ อยุธยา และยังเดินทางไปฝากตัวร่ำเรียนวิชาอาคมกับพระอุปัชฌาย์ตัน วัดอู่ตะเภา สระบุรีอีกด้วย

รูปถ่ายพระอุปัชฌาย์ตัน วัดอู่ตะเภา สระบุรี
พระอุปัชฌาย์ตัน วัดอู่ตะเภา สระบุรี

         ปี พ.ศ. ๒๔๗๘ เจ้าอธิการย้อย วัดแปดอาร์ได้ถึงแก่มรณภาพลง พระครูนิเทศธรรมกถา(หลวงปู่พัน) ซึ่งขณะนั้นเป็นเจ้าคณะแขวงปกครองดูแลอยู่ จึงได้ส่งหลวงพ่อผัน ไปเป็นเจ้าอาวาสวัดแปดอาร์ แทนตำแหน่งที่ว่างลง

         วัดราษฏร์เจริญ เป็นวัดราษฏร์ สังกัดมหานิกาย ตั้งอยู่ที่ ๘๙ หมู่ ๑ ตำบลหนองแขม อำเภอหนองแค จังหวัดสระบุรี ตามบันทึกว่าราว ปี พ.ศ. ๒๔๖๐ มีการขุดคลองระพีพัฒน์จากท่าหลวงถึงคลองรังสิต โดยมีการเรียงคลองเป็นภาษาอังกฤษ ซึ่งบริเวณที่สร้างวัดนี้อยู่ในเขต R8 (อาร์ ๘) ชาวบ้านจึงนิยมเรียกว่า แปดอาร์

         วัดสร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๖๗ โดยมีนายโปร่ง คำอยู่ และนางเที่ยง คำอยู่ เป็นผู้บริจาคที่ดินในการสร้างวัด เดินชาวบ้านเรียกวัดแปดอาร์ ต่อมาจึงได้เปลี่ยนชื่อเป็นวัดราษฏร์เจริญ วัดได้รับวิสุงคามสีมาเมื่อวันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๒๙

         หลังจากที่หลวงพ่อผัน ได้เป็นเจ้าอาวาสวัดราษฏร์เจริญ(แปดอาร์) ในช่วงที่ท่านเข้ารับตำแหน่งเจ้าอาวาสครั้งแรก สภาพของวัดราษฎร์เจริญทรุดโทรมอย่างหนัก อาคารเสนาสนะต่างๆ ชำรุดมาก

         ท่านได้บูรณปฏิสังขรณ์จนดีขึ้นตามลำดับ นอกจากนี้ท่านยังพัฒนาวัดอย่างสุดความสามารถ ทั้งการสร้างถาวรวัตถุต่างๆ และสร้างเสนาสนะต่างๆ จนวัดเจริญรุ่งเรืองขึ้นตามลำดับ

         ปี พ.ศ. ๒๔๙๙ ท่านได้สร้างพระมณฑป เพื่อใช้ประดิษฐานรอยพระพุทธบาท

         ปี พ.ศ. ๒๕๐๔ ด้วยคุณงามความดีของหลวงพ่อผัน ท่านจึงได้เลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระครูชั้นสัญญาบัตรที่พระครูสรกิจพิจารณ์ เมื่อวันที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๐๔

         ปี พ.ศ. ๒๕๑๔ สร้างหอสวดมนต์ 

         ปี พ.ศ. ๒๕๒๓ ด้วยคุณงามความดีของหลวงพ่อผัน ที่พัฒนาวัดต่อเนื่องมาโดยตลอด ท่านจึงได้เลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระครูชั้นเอก โดยใช้ราชทินนามเดิม เมื่อวันที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๒๓

         ปี พ.ศ. ๒๕๒๕ สร้างศาลาการเปรียญหลังใหม่

         ปี พ.ศ. ๒๕๒๙ สร้างพระอุโบสถ

         ปี พ.ศ. ๒๕๓๐ สร้างกุฏิเจ้าอาวาสและกุฏิสงฆ์

         ปี พ.ศ. ๒๕๓๔ สร้างพระเมรุ เผาศพ

         นอกจากนี้ ท่านยังได้สนับสนุนในการก่อสร้างอาคารเรียนของโรงเรียนวัดราษฎร์เจริญ เพื่อประโยชน์แก่ลูกหลานชาวบ้าน ตลอดทั้งให้ความเอื้อเฟื้อแก่ชุมชนชาวบ้านทุกครัวเรือน

         หลวงพ่อผัน ท่านเป็นพระเถราจารย์ผู้ประพฤติตามพระธรรมวินัยอย่างเคร่งครัด ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบมาโดยตลอด และปฏิบัติกิจการพระศาสนาอย่างถูกต้อง อีกทั้งท่านยังมีเมตตาธรรมในการปกครองคณะสงฆ์

         หลวงพ่อผัน ท่านเป็นพระสุปฏิปันโน ปฏิบัติกิจของพระศาสนาอย่างดีเยี่ยม จนเป็นที่เคารพนับถือของพุทธศาสนิกชนทั่วไป ที่สำคัญอย่างยิ่งคือ เป็นพระเกจิอาจารย์ที่มีชื่อเสียงโด่งดังมากท่านหนึ่งของเมืองสระบุรี ที่พุทธศาสนิกชนทั่วไปให้ความเคารพนับถือ และเลื่อมใสศรัทธาเป็นอย่างมาก

         โดยมักจะได้รับนิมนต์ไปปลุกเสกวัตถุมงคลในพิธีตามวัดต่างๆ มากมาย ช่วงตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๑๐ เช่น พิธีกริ่งตากสินของ สระบุรี พิธีกริ่งจักรพรรดิ ปี พ.ศ. ๒๕๑๕ พิธีกริ่งวัดท่าเกวียน พิธีที่วัดบวรนิเวศวิหาร อีกหลายครั้ง 

         หลวงพ่อผัน ท่านเป็นเกจิอาจารย์หลังปีกึ่งพุทธกาลที่วัตถุมงคลของท่านมีประสบการณ์มากเรื่องอยู่ยงคงกระพัน ยุคแรกนั้น ท่านมักทำพิธีหุงร่วมกับหลวงพ่อพวง วัดสหกรณ์รังสรรค์ ไปทำพิธีหุงในป่าช้า วัดหนองหมูใต้ และใช้ของมหาเสน่ห์ปนกับผงผีน้ำมันผี ยุคแรกๆนั้นสีผึ้งท่านเฮี้ยนมากปัจจุบันหายากมาก

         ต่อมาท่านจึงทำสีผึ้งเมตตามหานิยม ใส่น้ำมันจันทร์ สีผึ้งทุกตลับจะทำการปิดทองไว้ ทองของท่านจะเสกคาถานะหน้าทอง สาริกาลิ้นทอง มีประสบการณ์มาก เคยมีเสี่ยมาจากกรุงเทพฯ นำไปใช้ มีบ้านเล็กบ้านน้อยมากมาย จนอาซ้อมาขอให้หลวงพ่อเรียกอาคมออกจากสีผึ้งนั้น ท่านก็หัวเราะ ท่านว่า "เดี๋ยวเขาก็กลับมาเอง"

ภาพถ่ายหลวงพ่อผัน วัดราษฏร์เจริญ สระบุรี
หลวงพ่อผัน วัดราษฏร์เจริญ สระบุรี

         วัตถุมงคล ที่สร้างชื่อให้กับหลวงพ่อผัน จนเป็นที่โด่งดังเป็นอย่างมากคือเหรียญรุ่นแทงคอหมู ที่ออกในปี พ.ศ. ๒๕๒๕ สาเหตุที่ได้เรียก เหรียญรุ่นนี้ว่า "รุ่นแทงคอหมู" เนื่องมาจากสมัยที่เหรียญรุ่นนี้ออกให้ทำบุญใหม่ๆ

         ได้มีชาวบ้านคนหนึ่งได้รับเหรียญนี้มา แล้วเอาเหรียญใส่ไว้ในซองยาทัมใจ จากนั้นจึงเอาซองยาใส่ลงในกระเป๋าเสื้อตัวเอง ชาวบ้านคนนี้มีหน้าที่แทงคอหมู เพื่อชำแหละส่งขายตลาด วันนั้นหลังจากได้รับเหรียญหลวงพ่อผันแล้ว ก็ยังคงทำหน้าที่เพชฌฆาตตามปกติ

         ขณะที่เขาแบกหมูเอาไว้บนบ่า แล้วเหวี่ยงตัวหมูลงบนโต๊ะ เพื่อที่จะฆ่านั้นเอง ซองยาในกระเป๋าเสื้อของเขา ได้หลุดลอยตกลงบนโต๊ะฆ่าหมูก่อนแล้ว ทำให้ตัวหมูทับซองยานั้นพอดี จากนั้นเขาได้เอามีดปลายแหลมแทง เข้าที่คอหมูเหมือนอย่างที่เคยทำมาเป็นประจำ

         แต่วันนั้นเกิดเหตุการณ์ประหลาด เพราะปลายมีดอันคมกริบ ไม่สามารถจะแทงคอหมูเข้าได้เลย จึงเปลี่ยนมุมแทงอีกด้านหนึ่ง ก็ปรากฏแทงไม่เข้าเหมือนเดิม เขาแปลกใจมาก จึงพลิกตัวหมูขึ้นมาก็พบกับ ซองยาทัมใจที่ใส่เหรียญหลวงพ่อผัน ตกอยู่ใต้ตัวหมู

         จึงรู้ได้ทันทีว่า ที่แทงคอหมูไม่เข้า เพราะเหรียญหลวงพ่อผันนี้เอง ตกลงว่า หมูตัวนั้นรอดตายราวปาฏิหาริย์ และที่น่ายินดีอีกอย่าง คือ ชายคนนั้นเลิกอาชีพฆ่าหมูอีกต่อไป ปาฏิหาริย์ เรื่อง "แทงคอหมู" ของ เหรียญหลวงพ่อผัน รุ่นนี้ลือกระฉ่อนไปทั่วหมู่ลูกศิษย์ และผู้เคารพศรัทธาในหลวงพ่อผัน

         หลวงพ่อผัน ท่านปฏิบัติตนเป็นพระของชาวบ้านอย่างแท้จริง ท่านไม่ถือตัวไม่เลือกชั้นวรรณะ เวลามีญาติโยมมานิมนต์ให้ท่านไปงานบุญกุศลต่างๆ ท่านจะสนองศรัทธาถ้วนทั่วทุกบ้านเรือน โดยไม่ถือว่าจะเป็นบ้านของคนมั่งมี หรือบ้านของคนยากจน ท่านให้ความเสมอเหมือนกันหมด

         ส่วนจตุปัจจัยที่ท่านได้รับ จากการที่มีผู้ศรัทธาถวาย ท่านจะนำมาก่อสร้างถาวรวัตถุ เสนาสนะต่างๆ ภายในวัดราษฎร์เจริญจนหมดสิ้น ไม่เก็บสะสมไว้เป็นสมบัติส่วนตัวแต่ประการใด จึงทำให้วัดมีความมั่นคงอยู่จนทุกวันนี้

         หลวงพ่อผันปกครองวัดเรื่อยมาจนถึงแก่มรณะภาพลงด้วยโรคชราเมื่อวันที่ ๒๘ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๔๘ นับรวมสิริอายุได้ ๙๔ ปี ๗๔ พรรษา.

วัตถุมงคลของหลวงพ่อผัน วัดราษฏร์เจริญ(แปดอาร์)

         เหรียญหลวงพ่อผัน วัดราษฏร์เจริญ(วัดแปดอาร์) รุ่นแรก

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๐๕ เพื่อแจกในงานฉลองสมณศักดิ์ของหลวงพ่อ ลักษณะเหรียญปั๊มรูปเสมาแบบมีหูในตัว มีการสร้างด้วยเนื้ออัลปาก้าเพียงชนิดเดียวเท่านั้น จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้ บางตำราก็ว่าสร้างราว ๑,๐๐๐ เหรียญ

เหรียญหลวงพ่อผัน วัดราษฏร์เจริญ สระบุรี รุ่นแรก 2505 อัลปาก้า
เหรียญหลวงพ่อผัน วัดราษฏร์เจริญ รุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๕๐๕ เนื้ออัลปาก้า ของคุณออย มรดกไทย
เหรียญหลวงพ่อผัน วัดราษฏร์เจริญ สระบุรี รุ่นแรก 2505 อัลปาก้า
เหรียญหลวงพ่อผัน วัดราษฏร์เจริญ รุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๕๐๕ เนื้ออัลปาก้า ของคุณโน้ต เสาไห้

         ด้านหน้า เป็นรูปจำลองหลวงพ่อผันนั่งสมาธิเต็มองค์ องค์หลวงพ่อห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฏิ ด้านบนเหรียญมีอักขระยันต์อ่านได้ว่า "นะ มะ พะ ทะ" ขอบเหรียญมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "ที่ระลึกในการฉลองสมณศักดิ์ พระครูสรกิจพิจารณ์ ๑๗-๑๘ มี.ค. ๒๕๐๕" 

        ด้านหลัง มีอักขระยันต์สาม เหนืออักขระยันต์สามมีอักขระขอมอ่านได้ว่า "มะ อะ อุ นะ โม พุท ธา ยะ" ใต้อักขระยันต์สามมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ ๕ ธ.ค. ๒๕๐๔" 

         เหรียญหลวงพ่อผัน วัดราษฏร์เจริญ(วัดแปดอาร์) รุ่นสอง

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๑๓ เพื่อแจกให้กับผู้ที่บริจาคทรัพย์ให้กับทางวัด ลักษณะเหรียญปั๊มรูปวงกลมแบบมีหูในตัวขนาดเล็ก หลวงพ่อปลุกเสกเดี่ยวในพิธีเสาร์ห้า มีการสร้างด้วยเนื้อทองแดงเพียงชนิดเดียวเท่านั้น จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้
เหรียญหลวงพ่อผัน วัดราษฏร์เจริญ สระบุรี รุ่น 2 2513 ทองแดง
เหรียญหลวงพ่อผัน วัดราษฏร์เจริญ รุ่น ๒ ปี พ.ศ. ๒๕๑๓ เนื้อทองแดง

         ด้านหน้า เป็นรูปจำลองหลวงพ่อผันครึ่งองค์ห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฏิ ใต้รูปหลวงพ่อมีอักขระยันต์อ่านได้ว่า "นะ มะ พะ ทะ" ด้านบนรูปหลวงพ่อมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "พระครูสรกิจพิจารณ์ (ผัน)" 

        ด้านหลัง มีอักขระยันต์เฑาะห์ ใต้อักขระยันต์มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "เสาร์ห้า ที่ ๒๕ เมษายน พ.ศ. ๒๕๑๓"

         เหรียญหลวงพ่อผัน วัดราษฏร์เจริญ(วัดแปดอาร์) รุ่นสาม

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๑๔ เพื่อแจกในงานทำบุญอายุครบ ๖๐ ปีของหลวงพ่อ ลักษณะเหรียญปั๊มรูปเสมาแบบมีหูในตัว มีการสร้างด้วยเนื้อทองแดงและเนื้ออัลปาก้าเพียงเท่านั้น จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

เหรียญหลวงพ่อผัน วัดราษฏร์เจริญ สระบุรี รุ่น 3 2514 ทองแดง
เหรียญหลวงพ่อผัน วัดราษฏร์เจริญ รุ่น ๒ ปี พ.ศ. ๒๕๑๓ เนื้อทองแดง

         ด้านหน้า เป็นรูปจำลองหลวงพ่อผันครึ่งองค์ห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฏิ เหนือรูปหลวงพ่อมีอักขระยันต์อ่านได้ว่า "นะ มะ พะ ทะ" ใต้รูปหลวงพ่อมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "พระครูสรกิจพิจารณ์ (ผัน) งานทำบุญอายุ ๕ รอบ ๒๕ เมษายน ๒๕๑๔" 

        ด้านหลัง มีอักขระยันต์สาม เหนืออักขระยันต์สามมีอักขระขอมอ่านได้ว่า "มะ อะ อุ นะ โม พุท ธา ยะ" ใต้อักขระยันต์สามมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "วัดราษฏรเจริญ หนองแขม สระบุรี"

         เหรียญหลวงพ่อผัน วัดราษฏร์เจริญ(วัดแปดอาร์) รุ่นพัดยศ

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๒๔ เพื่อแจกในงานฉลองสมณศักดิ์ชั้นเอกของหลวงพ่อ ลักษณะเหรียญปั๊มรูปเสมาแบบมีหูในตัวคล้ายกับเหรียญรุ่นแรกของท่าน มีการสร้างด้วยเนื้ออัลปาก้าและเนื้อทองแดง จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

เหรียญหลวงพ่อผัน วัดราษฏร์เจริญ สระบุรี รุ่นพัดยศ 2524 ทองแดง
เหรียญหลวงพ่อผัน วัดราษฏร์เจริญ สระบุรี รุ่นพัดยศ ปี พ.ศ. ๒๕๒๔ เนื้อทองแดง

เหรียญหลวงพ่อผัน วัดราษฏร์เจริญ สระบุรี รุ่นพัดยศ 2524 อัลปาก้า
เหรียญหลวงพ่อผัน วัดราษฏร์เจริญ สระบุรี รุ่นพัดยศ ปี พ.ศ. ๒๕๒๔ เนื้ออัลปาก้า

         ด้านหน้า เป็นรูปจำลองหลวงพ่อผันนั่งสมาธิเต็มองค์ องค์หลวงพ่อห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฏิ ด้านบนเหรียญมีอักขระยันต์อ่านได้ว่า "นะ มะ พะ ทะ" ขอบเหรียญมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "ที่ระลึกในการฉลองสมณศักดิ์ พระครูสรกิจพิจารณ์ ๑๘ เม.ย. ๒๕๒๔" 

        ด้านหลัง ตรงกลางเป็นรูปพัดยศ มีอักขระยันต์สามด้านซ้ายและขวา เหนือรูปพัดยศมีอักขระขอมอ่านได้ว่า "นะ โม พุท ธา ยะ มะ อะ อุ" ใต้รูปพัดยศมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระครูชั้นเอก ๕ ธ.ค. ๒๕๒๓"

         เหรียญหลวงพ่อผัน วัดราษฏร์เจริญ(วัดแปดอาร์) รุ่นปฏิสังขรณ์(แทงคอหมู)

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๒๕ เพื่อแจกให้กับผู้ที่บริจาคทรัพย์ปฏิสังขรณ์พระอุโบสถของทางวัด ลักษณะเหรียญปั๊มรูปเสมาคว่ำแบบมีหู มีการสร้างด้วยเนื้อนวโลหะ เนื้ออัลปาก้า และเนื้อทองแดง จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

เหรียญหลวงพ่อผัน วัดราษฏร์เจริญ สระบุรี รุ่นแทงคอหมู 2525 นวโลหะ
เหรียญหลวงพ่อผัน วัดราษฏร์เจริญ สระบุรี รุ่นแทงคอหมู ปี พ.ศ. ๒๕๒๕ เนื้อนวโลหะ ของคุณปอ เหมวงศ์วิทยา
เหรียญหลวงพ่อผัน วัดราษฏร์เจริญ สระบุรี รุ่นแทงคอหมู 2525 นวโลหะ-ข้าง
เหรียญหลวงพ่อผัน วัดราษฏร์เจริญ สระบุรี รุ่นแทงคอหมู ปี พ.ศ. ๒๕๒๕ เนื้อนวโลหะ ของคุณปอ เหมวงศ์วิทยา
เหรียญหลวงพ่อผัน วัดราษฏร์เจริญ สระบุรี รุ่นแทงคอหมู 2525 ทองแดง
เหรียญหลวงพ่อผัน วัดราษฏร์เจริญ สระบุรี รุ่นแทงคอหมู ปี พ.ศ. ๒๕๒๕ เนื้อทองแดง

เหรียญหลวงพ่อผัน วัดราษฏร์เจริญ สระบุรี รุ่นแทงคอหมู 2525 อัลปาก้า
เหรียญหลวงพ่อผัน วัดราษฏร์เจริญ สระบุรี รุ่นแทงคอหมู ปี พ.ศ. ๒๕๒๕ เนื้ออัลปาก้า

         ด้านหน้า เป็นรูปจำลองหลวงพ่อผันนั่งสมาธิเต็มองค์บนตั่ง องค์หลวงพ่อห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฏิ รัดประคต ใต้รูปหลวงพ่อมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "พระครูสรกิจพิจารณ์" 

        ด้านหลัง มีอักขระยันต์เฑาะห์ ข้างยันต์มีอักขระขอมอ่านได้ว่า "พุท ธะ สัง มิ" มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "ที่ระลึกในการปฏิสังขรณ์อุโบสถ วัดราษฏร์เจริญ สระบุรี"


โดย : สารานุกรมพระเกจิแห่งแดนสยาม

 

บทความที่เกี่ยวข้อง


***-[เป็นกำลังใจและสนับสนุน​ให้เราเขียนบทความดีๆ ด้วยการกดดูโฆษณาด้านล่างนะคะ]-***

ไม่มีความคิดเห็น