ประวัติและวัตถุมงคลหลวงปู่เหมือน วัดโรงหีบ ปทุมธานี เจ้าของเหรียญนิยมของเมืองปทุม
หลวงปู่เหมือน วัดโรงหีบ(นาวง) ตำบลหลักหก อำเภอเมือง จังหวัดปทุมธานี ท่านเป็นชาวมอญพื้นเพท่านเป็นคนบ้านบางพัง ตำบลบางพูด อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี ท่านมีนามเดิมว่าเหมือน เนียมน้อย เกิดเมื่อวันพุธเดือน ๑๑ ปีมะโรง พ.ศ.๒๔๒๓ โยมบิดาชื่อนายเนียม เนียมน้อย โยมมารดาชื่อนางพ่วง เนียมน้อย
ปี พ.ศ. ๒๔๔๓ หลวงปู่เหมือน ท่านมีอายุครบ ๒๐ ปีบริบูรณ์ จึงเข้ารับการอุปสมบท ณ พัทธสีมาวัดเทียนถวาย ตำบลบ้านใหม่ อำเภอเมือง จังหวัดปทุมธานี ได้ฉายาว่า "นนฺทสร" โดยมี
พระธรรมมนุสารี(สว่าง) วัดเทียนถวาย เจ้าคณะจังหวัดปทุมธานี เป็นพระอุปัชฌาย์
เจ้าอธิการเนตร วัดบางกุฎีไทย เป็นพระกรรมวาจาจารย์
พระครูธัญญะเขตต์(ช้าง) วัดเขียนเขตต์ เป็นพระอนุสาวนาจารย์
หลังจากที่อุปสมบทแล้ว ท่านก็ได้จำพรรษาอยู่ในที่วัดเทียนถวาย เพื่อร่ำเรียนวิชาอาคมกับพระอุปัชฌาย์ของท่าน
และเมื่อได้ศึกษาเล่าเรียนในทางสมณกิจพอควรแล้ว ก็ได้ย้ายมาจำพรรษาอยู่ที่วัดโพธิ์ทองบน ตำบลบ้านใหม่ อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี ได้อยู่ช่วยหลวงพ่อเล็ก ปฏิบัติพระศาสนาและปฏิสังขรณ์อารามตลอดมา
หลวงพ่อสว่าง วัดเทียนถวาย ปทุมธานี |
ปี พ.ศ. ๒๔๕๗ พระอธิการชื่น เจ้าอาวาสวัดโรงหีบ(นาวง)ได้มรณภาพลง ทำให้วัดโรงหีบขาดเจ้าอาวาสปกครองวัด
พระธรรมมนุสารี(สว่าง) วัดเทียนถวาย เจ้าคณะจังหวัดปทุมธานีในสมัยนั้น จึงได้มอบหมายให้หลวงปู่เหมือน ซึ่งขณะนั้นมีพรรษาได้ ๑๔ พรรษาไปดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดโรงหีบ เพื่อปกครองดูแลวัด
วัดโรงหีบ หรือในปัจจุบันเรียกกันว่า วัดนาวง เป็นวัดราษฎร์สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย ตั้งอยู่ในตำบลหลักหก อำเภอเมืองปทุมธานี จังหวัดปทุมธานี
วัดสร้างเมื่อวันที่ ๒๙ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๔๓ โดยมีท่านหนู ท่านสิน ท่านปุก ท่านอุ่น ท่านศิริอากรสอน พร้อมด้วยท่านรองอำมาตย์เอกหลวงนาวาเกณิกร โปษยจินดา ร่วมใจกันบริจาคที่ดินและสร้างวัด
ชาวบ้านเรียกว่า วัดโรงหีบ เพราะที่ตั้งเดิมเป็นโรงหีบอ้อยและเคี่ยวน้ำอ้อย วัดได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๔๘
เมื่อหลวงปู่เหมือนได้เป็นเจ้าอาวาสแล้ว ท่านก็ได้พัฒนาวัดอย่างสุดความสามารถ ทั้งการสร้างเสนาสนะต่างๆ และได้จัดการอบรมสั่งสอนภิกษุสามเณรและศิษย์ตลอดจนอุบาสกอุบาสิกาให้อยู่ในธรรมวินัยของแต่ละเพศ
รวมทั้งยังได้ปฏิสังขรณ์ก่อสร้างกุฏิตลอดจนกระทั่งถนนหนทางภายในบริเวณวัด ให้เป็นที่เจริญเรื่อยมา โดยความอุปถัมภ์ของหลวงนาวาเกนิกร (ซิวเม๋ง โปษยจินดา) ผู้เป็นเจ้าของที่ดินจัดสร้างวัดขึ้น
อนึ่งวัดนี้เมื่อผู้เป็นเจ้าของสิ้นชีพไปแล้ว บุตรและธิดาก็ได้อุปถัมภ์เรื่อยมา แม้หลวงปู่เหมือนจะได้ปฏิสังขรณ์และก่อสร้างวัตถุสิ่งใดภายในวัด
บุตรและธิดาของผู้เป็นเจ้าของก็ได้บริจาคทรัพย์ร่วมด้วยเป็นจำนวนมากดังที่ปรากฎอยู่ทุกวันนี้ เป็นต้นว่า ศาลาการเปรียญ หอสวดมนต์ ถนนเทคอนกรีต และโรงเรียนประถมศึกษา
สถานที่เหล่านี้สำเร็จขึ้นมาได้ก็เพราะว่าเกิดจากปัจจัยของหลวงปู่เหมือน และบุตร ธิดาของผู้เป็นเจ้าของตลอดกระทั่งศิษย์และท่านที่เคารพนับถือทั้งหลายด้วย
หลวงปู่เหมือน วัดโรงหีบ ปทุมธานี |
หลวงปู่เหมือน ท่านเป็นพระเกจิอาจารย์ชาวมอญ ที่มีวิชาอาคมแก่กล้ามากท่านหนึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทำน้ำมนต์ของหลวงปู่นั้นโด่งดังมาก ใครโดนคุณไสย เสนียดจัญไร เคราะห์ไม่ดี มาขอรดน้ำมนต์จากท่านเป็นต้องหายปลิดทิ้งหมด
วัตถุมงคลของท่านล้วนมีประสบการณ์ สมัยก่อนมีเรื่องเล่าของคนดอนเมืองเล่าว่า เด็กเทคนิคใช้ปืนยิงคู่อริจ่อๆ แต่ปืนยิงไม่ออกซับไกมีแค่เสียงเเชะๆ
และอีกหนึ่งเหตุการณ์เล่ากันว่า มีตำรวจที่ห้อยเหรียญหลวงปู่เหมือนล่อซื้อจับยาเสพติดในซอยวัดสีกัน แต่ถูกผู้ค้ายาเสพติดใช้ปืนยิงสวนกลับมาโดนตัวแต่ไม่เข้ามีเพียงรอยช้ำเท่านั้น
หลวงปู่เหมือน เมื่อท่านยังมีชีวิตอยู่ ท่านได้ตั้งอยู่ในคุณธรรม มีเมตตา กรุณา เป็นนิจต่อบุคคลและสัตว์ทั่วไป
และด้วยท่านเป็นผู้ที่มีวิชาทางไสยศาสตร์
และแพทย์แผนโบราณ
ท่านจึงได้ใช้วิชานี้รักษาบุคคลทุกเพศวัยที่ป่วยไข้ ใครมาหาท่านๆก็รักษาให้ด้วยจิตเมตตาโดยสม่ำเสมอ
ไม่มีอคติ
หลวงปู่เหมือน ปกครองวัดเรื่อยมาจนถึงแก่มรณภาพลงด้วยโรคชราในคืนวันที่ ๑๗ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๐๒ นับรวมสิริอายุได้ ๘๐ปี ๕๙ พรรษา.
วัตถุมงคลของหลวงปู่เหมือน วัดโรงหีบ
เหรียญหลวงปู่เหมือน วัดโรงหีบ รุ่นแรก นิยม พ.ศ.ชิด
สร้างขึ้นในปี พ.ศ.๒๔๘๓ เพื่อแจกให้กับผู้ที่บริจาคทรัพย์สร้างหอสวดมนต์ของทางวัด ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มรูปไข่แบบมีหูในตัว มีการสร้างด้วยเนื้อโลหะอัลปาก้า และทองแดงเพียงเท่านั้น จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้
เหรียญหลวงปู่เหมือน วัดโรงหีบ รุ่นแรก พิมพ์ พ.ศ.ชิด ปี พ.ศ. ๒๔๘๓ เนื้ออัลปาก้ากระไหล่เงิน |
เหรียญหลวงปู่เหมือน วัดโรงหีบ รุ่นแรก พิมพ์ พ.ศ.ชิด ปี พ.ศ. ๒๔๘๓ เนื้ออัลปาก้า ของคุณเปี้ยง |
เหรียญหลวงปู่เหมือน วัดโรงหีบ รุ่นแรก พิมพ์ พ.ศ.ชิด ปี พ.ศ. ๒๔๘๓ เนื้อทองแดง ของร้านพระจอมเกล้าอมูเลท |
ด้านหน้า เป็นรูปจำลองหลวงปู่เหมือนนั่งสมาธิเต็มองค์ อง์คหลวงปู่ห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฏิรัดประคต ใต้รูปหลวงพ่อมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "อธิการเหมือน" ขอบเหรียญมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "ที่ระลึกในการสละทรัพย์สร้างหอสวดมนต์"
ด้านหลัง มีอักขระยันต์ ใต้อักขระยันต์มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "พ.ศ.๒๔๘๓" โดยที่ตัวหนังสือคำว่า พ.ศ.จะชิดกับเลข ๒ ไทย
เหรียญหลวงปู่เหมือน วัดโรงหีบ รุ่นสอง (พ.ศ. ห่าง)
สร้างขึ้นหลังปี พ.ศ.๒๔๘๓ เพื่อแจกให้กับผู้ที่บริจาคทรัพย์ให้กับทางวัด ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มรูปไข่แบบมีหูในตัว โดยใช้แม่พิมพ์บล็อกด้านหน้าของเหรียญรุ่นแรกมาใช้ใหม่พื้นเหรียญจึงมีกลาก แต่บล็อกด้านหลังชำรุดจึงแกะใหม่ มีการสร้างด้วยเนื้อโลหะทองแดงเพียงชนิดเท่านั้น จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้
เหรียญหลวงปู่เหมือน วัดโรงหีบ ปทุมธานี รุ่น ๒ ต. มีกลาก ปี พ.ศ. ๒๔๘๓ เนื้อทองแดง |
เหรียญหลวงปู่เหมือน วัดโรงหีบ ปทุมธานี รุ่น ๒ ต. มีกลาก ปี พ.ศ. ๒๔๘๓ เนื้อทองแดง |
ด้านหน้า เป็นรูปจำลองหลวงปู่เหมือนนั่งสมาธิเต็มองค์ อง์คหลวงปู่ห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฏิรัดประคต ใต้รูปหลวงพ่อมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "อธิการเหมือน" ขอบเหรียญมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "ที่ระลึกในการสละทรัพย์สร้างหอสวดมนต์"
ด้านหลัง มีอักขระยันต์ ใต้อักขระยันต์มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "พ.ศ. ๒๔๘๓" โดยที่ตัวหนังสือคำว่า พ.ศ.จะห่างกับเลข ๒ ไทย
เหรียญหลวงปู่เหมือน วัดโรงหีบ รุ่นแจกงานศพ (ตอกเลข 1)
สร้างขึ้นในปี พ.ศ.๒๕๐๒ เพื่อแจกในพระราชทานเพลิงศพของหลวงปู่ ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มรูปไข่แบบมีหูในตัว โดยนำบล็อกหน้าของเหรียญรุ่นแรกและบล็อกหลังของเหรียญรุ่น ๒ มาปํ๊มใหม่ แต่จะมีการตอกเลข 1 อารบิกไว้ที่ด้านหลังเหรียญ มีการสร้างด้วยเนื้อโลหะทองแดงเพียงชนิดเดียวเท่านั้น จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้
เหรียญหลวงปู่เหมือน วัดโรงหีบ ปทุมธานี รุ่นแจกงานศพ ตอกเลข 1 ปี พ.ศ. ๒๕๐๒ เนื้อทองแดง |
เหรียญหลวงปู่เหมือน วัดโรงหีบ ปทุมธานี รุ่นแจกงานศพ ตอกเลข 1 ปี พ.ศ. ๒๕๐๒ เนื้อทองแดง |
ด้านหน้า เป็นรูปจำลองหลวงปู่เหมือนนั่งสมาธิเต็มองค์ อง์คหลวงปู่ห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฏิรัดประคต ใต้รูปหลวงพ่อมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "อธิการเหมือน" ขอบเหรียญมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "ที่ระลึกในการสละทรัพย์สร้างหอสวดมนต์"
ด้านหลัง มีอักขระยันต์ ใต้อักขระยันต์มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "พ.ศ. ๒๔๘๓" โดยที่ตัวหนังสือคำว่า พ.ศ.จะห่างกับเลข ๒ ไทย ใต้ปี พ.ศ. ตอกเลข "1"
โดย : สารานุกรมพระเกจิแห่งแดนสยาม
บทความที่เกี่ยวข้อง
***-[เป็นกำลังใจและสนับสนุนให้เราเขียนบทความดีๆ ด้วยการกดดูโฆษณาด้านล่างนะคะ]-***
ไม่มีความคิดเห็น