ประวัติและวัตถุมงคลหลวงพ่อสว่าง วัดเทียนถวาย ปทุมธานี พระอาจารย์ของหลวงปู่เหมือน วัดโรงหีบ
หลวงพ่อสว่าง วัดเทียนถวาย ปทุมธานี |
หลวงพ่อสว่าง วัดเทียนถวาย หรือ พระธรรมานุสารี(หลวงพ่อหว่าง)อดีตเจ้าอาวาสวัดเทียนถวาย ตำบลบางกะดี อำเภอเมือง จังหวัดปทุมธานี ท่านเกิดเมื่อวันเสาร์ ขึ้น ๑๔ ค่ำ เดือน ๔ ปีเถาะ ตรงกับวันที่ ๑๑ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๓๙๘ ที่บ้านหลังวัดเทียนถวาย โยมบิดาท่านชื่อนายอ่อน โยมมารดาชื่อนางทิม
ในวัยเด็กโยมบิดาของท่านได้นำ หลวงพ่อสว่างไปฝากให้เล่าเรียนหนังสืออยู่กับพระปลัดปิ่น วัดบางกระดี ต่อมาก็ได้บรรพชาเป็นสามเณรและอยู่กับพระปลัดปิ่น
ปี พ.ศ. ๒๔๑๘ หลวงพ่อสว่างมีอายุครบ ๒๐ ปีบริบูรณ์ ท่านจึงได้เข้ารับการอุปสมบท ณ พัทธสีมาวัดเทียนถวาย ตำบลบางกะดี อำเภอเมือง จังหวัดปทุมธานี ได้รับฉายาว่า "ธมฺมโชโต" โดยมี
พระปลัดปิ่น เจ้าอาวาสวัดบางกระดี เป็นพระอุปัชฌาย์
พระสมุห์ยัง เจ้าอาวาสวัดเทียนถวาย เป็นกรรมวาจารย์
เมื่ออุปสมบทแล้วท่านก็อยู่จำพรรษาที่วัดบางกระดี ๓ พรรษา จากนั้นจึงได้เดินทางเข้ามาศึกษาต่อที่วัดสระเกศ เพื่อศึกษาคันถธุระ วิปัสสนาธุระ โหราศาสตร์ และวิทยาคมหลายแขนง
ต่อมาท่านได้รับแต่งตั้งให้เป็นพระสมุห์ ของพระวินยานุกูลเถระ(ศรี) จนกระทั่งพระวินยานุกูล(ศรี) มรณภาพลง ท่านจึงกลับมาจำพรรษาอยู่ที่วัดบางกระดี เช่นเดิม
จนถึงปี พ.ศ. ๒๔๓๕ ตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดเทียนถวายได้ว่างลง ชาวบ้านจึงได้มาอาราธนาหลวงพ่อสว่างขึ้นเป็นเจ้าอาวาสวัดเทียนถวายสืบแทนตำแหน่งที่ว่างลง และในปีเดียวกันนี้เองท่านก็ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นพระอุปัชฌาย์อีกด้วย
วัดเทียนถวาย เป็นวัดเก่าแก่สร้างในปี พ.ศ. ๑๘๘๐ ในสมัยของพระเจ้าอู่ทอง ได้ทรงรับสั่งให้สร้างหลังจากที่ได้อพยพหนีโรคระบาด มาตั้งกองเกวียนพักอาศัย ยามค่ำคืนจึงได้จุดไฟสว่างไสว โดยพักอาศัยอยู่ราว ๑ เดือนเศษ ก่อนที่จะอพยพกลับเมือง จึงได้ขนานนามวัดนี้ว่าวัดเกวียนไสว ต่อมาได้เรียกชื่อใหม่ว่า วัดเทียนถวาย
บางกระแสก็ว่าชื่อวัดเดิมมาจากชื่อว่าวัดเกวียนสวาย ซึ่งเป็นภาษาเขมรที่แปลว่าป่ามะม่วง แล้วเพียบคำมาจนเป็นชื่อวัดเทียนถวาย
หลังจากที่หลวงพ่อสว่าง(หว่าง)
ท่านได้ขึ้นเป็นเจ้าอาวาสวัดเทียนถวาย
ท่านได้พัฒนาวัดอย่างสุดความสามารถจนวัดเจริญขึ้นตามลำดับ
ทั้งการสร้างเสนาสนะต่างๆ การสร้างถาวรวัตถุท่างๆ
รวมทั้งการอบรมสั่งสอนให้ชาวบ้านในพื้นที่ตั้งอยู่ในศีลในธรรม
ในสมัยก่อนพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ได้เคยเสด็จพระราชดำเนินทางชลมาศพร้อมด้วยข้าราชบริพาลเมื่อวันที่ ๒๘ กรกฏาคม พ.ศ. ๒๔๔๙ และได้พระราชทานพระราชทรัพย์ ๒๐ บาท ถวายเป็นพระราชกุศล
พร้อมทั้งถ่ายพระบรมพระฉายาลักษณ์ร่วมกับหลวงพ่อสว่าง ธมฺมโชโต เจ้าอาวาสวัดในขณะนั้น ในครั้งนั้นหลวงพ่อสว่าง ก็ได้ถวายตะกรุดหนังหน้าผากเสือแด่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวด้วย
หลวงพ่อสว่าง วัดเทียนถวาย ปทุมธานี |
นอกจากนี้ยังมีเรื่องเล่าของคนเฒ่าคนแก่เล่าสืบต่อกันมาว่า ในสมัยก่อนชาวบ้านนิยมเรียกวัดเทียนถวายว่า วัดเหล้าจืด เพราะคนเมาสุราเมื่อเข้ามาในวัดนี้ก็ถึงกับหายเมาเสมือนว่าเหล้าจืดไป
เพราะเกรงกลัวเจ้าอาวาส ซึ่งในสมัยนั้นก็คือหลวงพ่อหว่าง ซึ่งจากคำกล่าวนี้เองทำให้เห็นภาพชัดเจนว่าหลวงพ่อท่าน เป็นพระที่ดุและเคร่งครัดรวมทั้งมีมหาอำนาจเป็นอย่างมาก
ปี พ.ศ. ๒๔๕๕ ด้วยคุณงามความดีของหลวงพ่อหว่าง ท่านจึงได้รับการแต่งตั้งให้เป็นพระครูชั้นสัญญาบัตร ที่พระครูศีลานุโลมคุณ
ปี พ.ศ. ๒๔๖๑ ท่านได้รับการเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระครูธรรมานุสารี และได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเจ้าคณะจังหวัดปทุมธานี
ปี พ.ศ. ๒๔๖๔ ท่านได้รับการแต่งตั้งให้เป็นพระราชาคณะที่ พระธรรมานุสารี
ท่านเจ้าคุณพระธรรมานุสารี (หลวงพ่อสว่าง) ท่านเป็นอาจารย์ ของพระพิมลธรรม (หลวงปู่นาค) วัดอรุณราชวราราม หรือ วัดแจ้ง ที่รับการถ่ายทอดวิชาการสร้างตะกรุดหนังหน้าผากเสือที่โด่งดังในอดีต
หลวงพ่อนาค วัดอรุณราชวราราม กรุงเทพมหานคร |
ซึ่งท่านทั้งสองเป็นเกจิเชื้อสายรามัญหรือมอญ หลวงพ่อสว่างท่านเป็นหลานของหลวงปู่ช้าง วัดเขียนเขต และยังเป็นอาจารย์ของหลวงปู่เหมือน วัดโรงหีบอีกด้วย
นอกจากนี้ยังมีหลวงปู่ช่วง วัดบางหญาแพรก ตำบลบางหญ้าแพรก อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ ยังเดินทางมาเรียนวิชาทำผ้าประเจียดกับท่าน
หลวงพ่อสว่าง ท่านปกครองวัดเรื่อยมาจนถึงแก่มรณภาพลงด้วยโรคคันธมาลา(ฝีที่คอ) เมื่อวันที่ ๑๑ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๗๕ เวลา ๑.๑๕ น. นับรวมสิริรวมอายุได้ ๗๖ ปี ๑๑ เดือน ๒๓ วัน ๕๖ พรรษา
วัตถุมงคลของหลวงพ่อสว่าง วัดเทียนถวาย
ตะกรุดหนังหน้าผากเสือหลวงพ่อหว่าง วัดเทียนถวาย
สร้างขึ้นก่อนปี พ.ศ. ๒๔๗๕
เพื่อแจกให้กับศิษยานุศิษย์ของท่าน ลักษณะเป็นแผ่นหนังหน้าผากเสือโคร่งรูปทรงสี่เหลี่ยม ภายในหนังหน้าผากเสือท่านจะลงอักขระตามตำหรับวิชาของท่าน โดยท่านจะดูฤกษ์งามยามดี เพื่อจะลงจารอักขรยันต์ จากนั้นท่านจึงจะม้วนเป็นตะกรุด ในบางดอกจะมีการถักเชือกแล้วจึงลงรักปิดทอง จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้
ตะกรุดหนังหน้าผากเสือหลวงพ่อสว่าง วัดเทียนถวาย ของคุณภาณุภณ ชมภูอ่อน |
พุทธคุณเน้นหนักไปทางมหาอุดคงกระพันและมหาอำนาจ ปัจจุบันมีของเทียมเล่นแบบเยอะมาก และหายาก ซึ่งวิชาตะกรุดนี้ท่านได้ถ่ายทอดให้กับหลวงปู่นาค วัดอรุณราชวราราม สืบทอดต่อมา
ภาพถ่ายห้อยคอหลวงพ่อหว่าง วัดเทียนถวาย รุ่นแรก
สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๗๖ เพื่อแจกในงานพระราชทานเพลิงศพของหลวงพ่อ ลักษณะเป็นภาพถ่ายอัดกระจกทรงข้าวหลามตัด จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้
ภาพถ่ายห้อยคอหลวงพ่อหว่าง วัดเทียนถวาย รุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๔๗๖ |
ด้านหน้า เป็นรูปถ่ายของหลวงพ่อสว่างนั่งเต็มองค์นั่งบนอาสนะมือทั้ง ๒ ข้างจับที่หัวเข่า องค์หลวงพ่อห่มจีวรลดไหล่ พาดผ้าสังฆาฏิ รัดประคต ในกรอบรูปวงรี ที่ขอบภาพมีอักขระยันต์
ด้านหลัง มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "ที่ระลึกในการบุญพระธรรมานุสารี พุทธศก ๒๔๗๖" ที่พื้นเหรียญไม่มีกลาก
ภาพถ่ายแจกในงานศพหลวงพ่อหว่าง วัดเทียนถวาย
สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๗๖ เพื่อแจกในงานพระราชทานเพลิงศพของหลวงพ่อ ลักษณะเป็นภาพถ่ายขนาดใหญ่ทรงสี่เหลี่ยมบนการ์ดกระดาษแข็ง จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้
ภาพถ่ายแจกงานศพหลวงพ่อสว่าง วัดเทียนถวาย ปทุมธานีปี พ.ศ. ๒๔๗๖ |
ด้านหน้า เป็นรูปถ่ายหลวงพ่อสว่างนั่งเต็มองค์นั่งบนอาสนะมือทั้ง ๒ ข้างจับที่หัวเข่า องค์หลวงพ่อห่มจีวรลดไหล่ พาดผ้าสังฆาฏิ รัดประคต เหนือมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "ที่ระลึก" ใต้รูปมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "ที่ระลึก ในงานพระราชทานเพลิงศพ พระธรรมานุสารี (สว่าง) ธัมมโชโต วันที่ ๒๖ มีนาคม พ.ศ ๒๔๗๖ ด้วยความปฏิการจากคณะศิษยานุศิษย์"
ด้านหลัง เรียบ ไม่มีอักขระใดๆ
เหรียญหลวงพ่อสว่าง วัดเทียนถวาย รุ่นแรก
สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๙๐ กว่าๆ ในสมัยที่หลวงพ่อสอนเป็นเจ้าอาวาส เพื่อแจกให้กับผู้ที่บริจาคทรัพย์ให้กับทางวัด ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มรูปห้าเหลี่ยมย่อขอบ แบบมีหูในตัว เนื้อทองแดงเพียงชนิดเดียวเท่านั้น จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้
เหรียญหลวงพ่อสว่าง หลังหลวงพ่อสอน วัดเทียนถวาย รุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๔๙๐ กว่าๆ เนื้อทอแดง |
ด้านหน้า เป็นรูปจำลองของหลวงพ่อสว่างนั่งเต็มองค์นั่งบนอาสนะมือทั้ง ๒ ข้างจับที่หัวเข่า องค์หลวงพ่อห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฏิรัดประคต ข้างรูปหลวงพ่อมีอักขระยันต์อ่านได้ว่า "นะ โม พุท ธา ยะ" ใต้รูปหลวงพ่อมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "พระธรรมานุสารี"
ด้านหลัง เป็นรูปจำลองของหลวงพ่อสอนนั่งเต็มองค์นั่งบนอาสนะมือทั้ง ๒ ข้างจับที่หัวเข่า องค์หลวงพ่อห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฏิ ข้างรูปหลวงพ่อมีอักขระยันต์อ่านได้ว่า "มะ อะ อุ" ใต้รูปหลวงพ่อมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "พระปทุมวรนายก"
โดย : สารานุกรมพระเกจิแห่งแดนสยาม
บทความที่เกี่ยวข้อง
***-[เป็นกำลังใจและสนับสนุนให้เราเขียนบทความดีๆ ด้วยการกดดูโฆษณาด้านล่างนะคะ]-***
ไม่มีความคิดเห็น