ประวัติและวัตถุมงคลหลวงพ่อกราน วัดโคกโพธิ์ เจ้าของเหรียญหายากของสระบุรี
หลวงพ่อกราน วัดโคกโพธิ์ สระบุรี |
หลวงพ่อกราน วัดโคกโพธิ์ หรือ พระอุปัชฌาย์กราน อดีตเจ้าอาวาสวัดโคกโพธิ์ ตำบลดงตะงาว อำเภอดอนพุด สระบุรี ท่านเป็นพระเกจิอาจารย์ระดับแนวหน้าของ สระบุรี
หลวงพ่อกราน ท่านเกิดเมื่อวันที่ ๕ กันยายน พ.ศ. ๒๔๒๓ ตรงกับวันอาทิตย์ ขึ้น ๒ ค่ำ เดือน ๑๐ ปีมะโรง ที่บ้านโคกโพธิ์ ตำบลดงตะงาว อำเภอบ้านหม้อ (ปัจจุบันเป็นอำเภอดอนพุด) จังหวัดสระบุรี โยมบิดาชื่อนายกลึง ศรีอำไพ โยมมารดาชื่อนางถุงเงิน ศรีอำไพ
ปี พ.ศ. ๒๔๔๓ หลวงพ่อกรานมีอายุครบบวชพอดี โยมบิดาและโยมมารดาจึงได้จัดงานอุปสมบทให้ ณ พัทธสีมาวัดโคกโพธิ์ ตำบลดงตะงาว อำเภอดอนพุด สระบุรี ได้รับฉายาว่า "อินฺทโชโต" โดยมี
พระอธิการจั่น จันทสโร วัดบางมอญ เป็นพระอุปัชฌาย์
พระอธิการพัด วัดโคกโพธิ์ เป็นพระกรรมวาจาจารย์
หลังจากอุปสมบทแล้ว หลวงพ่อกรานก็ได้อยู่จำพรรษาที่วัดโคกโพธิ์เรื่อยมา เพื่อศึกษาวิชาอาคม และวิปัสสนากรรมฐานต่างๆ กับพระอธิการพัด และเดินทางไปร่ำเรียนวิชากับหลวงพ่อจั่น วัดบางมอญ และหลวงพ่อฟื้น วัดโรงช้าง
หลวงพ่อจั่น จันทสโร วัดบางมอญ อยุธยา |
หลวงพ่อกราน ท่านเป็นพระที่ชอบธุดงค์วัตร ในช่วงที่บวชใหม่ๆ ท่านได้ออกธุดงค์ไปตามสถานที่ต่างๆ เพื่อศึกษาวิชาอาคมกับพระอาจารย์ตามที่ต่างๆ คราวละ ๒ ปี จนท่านมีลูกศิษย์ลูกหามากมาย
ปี พ.ศ. ๒๔๕๓ พระอธิการพัดได้ถึงแก่มรณภาพลง ชาวบ้านในพื้นที่และคณะกรรมการวัดจึงพร้อมใจกันนิมนต์หลวงพ่อกราน ขึ้นเป็นเจ้าอาวาสสืบแทน
วัดโคกโพธิ์ เป็นวัดราษฏร์ สังกัดมหานิกาย ตั้งอยู่ที่บ้านโคกโพธิ์ หมู่ที่ ๑ ตำบลดงตะงาว อำเภอดอนพุด จังหวัดสระบุรี ตามประวัติกล่าวว่าเริ่มสร้างวัดขึ้นเมื่อวันที่ ๑๕ เมษายน พ.ศ. ๒๓๙๙
โดยชาวบ้านในพื้นที่ร่วมกับพระอธิการพัด เจ้าอาวาสวัดรูปแรกของวัดรวมกันสร้างขึ้น วัดได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อวันที่ ๑๓ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๑๘
หลังจากที่หลวงพ่อกรานได้ขึ้นเป็นเจ้าอาวาส ท่านได้พัฒนาวัดอย่างสุดความสามารถ จนมีความเจริญรุ่งเรืองขึ้นตามลำดับ ทั้งการสร้างเสนาสนะต่างๆ และช่วยอบรมชาวบ้านในพื้นที่ให้อยู่ในศีลในธรรม ประกอบสัมมาอาชีพสุจริต
ปี พ.ศ. ๒๔๔๒ หลวงพ่อกราน ท่านได้สร้างอุโบสถก่ออิฐถือปูนขึ้น กว้าง ๖ เมตร ยาว ๑๒ เมตร ขึ้นเพื่อให้ประกอบสังฆกรรม
ปี พ.ศ. ๒๔๗๒ ท่านได้เปิดสอนโรงเรียนสอนพระปริยัติธรรมแก่พระภิกษุสามเณรในพื้นที่ และในปีเดียวกันนั้นหลวงพ่อกรานก็ได้ทำการยกช่อฟ้าหอสวดมนต์วัดโคกโพธิ์อีกด้วย
หลวงพ่อกราน ท่านเป็นพระเกจิผู้คงแก่เรียน ถือสันโดษ บำเพ็ญศีลภาวนาอยู่ตามป่าช้า สมัยก่อนนั้นใครที่จะไปขอวัตถุมงคลของท่านนับว่าได้ยากยิ่ง
สมัยนั้นลูกศิษย์ลูกหาจะไปมาหาสู่ก็แสนจะลำบาก หน้าน้ำก็ต้องท่องเรือลัดทุ่งไปพบท่าน ส่วนหน้าแล้งก็ต้องเดินทางไปตามเส้นทางเกวียน นับระยะทางเกือบร้อยกิโลถึงจะไปพบท่านได้
หลวงพ่อกราน ท่านจะไม่ค่อยสร้างวัตถุมงคลนอกเสียจากท่านจะมอบก้นยา (บุหรี่) ที่ท่านสูบและเสกให้เพียงเท่านั้น ลูกศิษย์บางคนก็ได้เพียงชานหมากนับได้ว่าเป็นบุญแล้ว
ก้นยาสูบของท่าน มีพุทคุณทางอยู่ยงคงกระพันและกันปืน ส่วนเหรียญของท่าน นับว่าเป็นวัตถุมงคลของท่านที่สร้างน้อยมากและหาได้ยากมาก เพราะมีจำนวนการสร้างที่น้อยและมีการสร้างครั้งเดียวเท่านั้น
หลวงพ่อกราน ปกครองวัดเรื่อยมาจนมรณภาพลงด้วยโรคชรา เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๙๔ นับรวมสิริอายุได้ ๗๑ ปี ๕๑ พรรษา.
วัตถุมงคลของหลวงพ่อกราน วัดโคกโพธิ์
เหรียญหลวงพ่อกราน วัดโคกโพธิ์ รุ่นแรก
สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๗๒ เพื่อแจกให้กับผู้ที่บริจาคทรัพย์สร้างหอสวดมนต์กับทางวัด ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มข้างกระบอกรูปไข่ มีหูเชื่อมในตัว มีการสร้างด้วยเนื้อเงิน และเนื้อทองแดงเพียงเท่านั้น จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้
เหรียญหลวงพ่อกราน วัดโคกโพธิ์ สระบุรี รุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๔๗๒ เนื้อทองแดงกระไหล่ทอง |
เหรียญหลวงพ่อกราน วัดโคกโพธิ์ สระบุรี รุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๔๗๒ เนื้อทองแดง |
ด้านหน้า เป็นรูปจำลองของหลวงพ่อกรานนั่งสมาธิเต็มองค์ องค์หลวงพ่อห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังหาฏิ ด้านบนรูปหลวงพ่อมีอักขระขอม ใต้รูปหลวงพ่อมีอักษรภาษาไทยเขียนว่า "พระอุปัชฌาย์กราน"
ด้านหลัง ด้านหลังมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "ที่ระฤกในการสร้างช่อฟ้าหอสวดมนต์ วัดโคกโพธิ์ พ.ศ. ๒๔๗๒"
เหรียญนกยูงรำแพนหลวงพ่อกราน วัดโคกโพธิ์
สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๗๒ เพื่อแจกให้กับผู้ที่บริจาคทรัพย์สร้างหอสวดมนต์กับทางวัด ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มรูปไข่แบบมีหูในตัว มีการสร้างเนื้อทองแดงเพียงเท่านั้น จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้
เหรียญแววนกยูงหลวงพ่อกราน วัดโคกโพธิ์ ปี พ.ศ. ๒๔๗๒ เนื้อทองแดง ของคุณไก่ พัทลุง |
ด้านหน้า เป็นรูปจำลองของแววยกยูง หรือ นกยูงรำแพน เข้าใจว่าเป็นลุกศิษย์ที่เป็นเจ้านายชั้นสูงสร้าง
ด้านหลัง ด้านหลังมีอักขระยันต์รูปดอกบัว
โดย : สารานุกรมพระเกจิแห่งแดนสยาม
บทความที่เกี่ยวข้อง
***-[เป็นกำลังใจและสนับสนุนให้เราเขียนบทความดีๆ ด้วยการกดดูโฆษณาด้านล่างนะคะ]-***
ไม่มีความคิดเห็น