ประวัติและวัตถุมงคลหลวงพ่อโศก วัดปากคลองบางครก เพชรบุรี เจ้าของพระขรรค์สายหลวงพ่อเทียน วัดละมุดอันลือชื่อ
หลวงพ่อโศก วัดปากคลองบางครก เพชรบุรี |
หลวงพ่อโสก วัดปากคลอง หรือ พระครูอโศกธรรมสาร อดีตเจ้าอาวาสวัดปากคลอง ตำบลบางครก อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี ท่านเป็นพระเกจิอาจารย์ยุคเก่าที่มีกฤตยาคมแก่กล้า เชี่ยวชาญวิชาคาถาอาคมและวิชาโหราศาสตร์
หลวงพ่อโสก ท่านมีนามเดิมว่า โสก พันธ์โพธิ์ทอง พื้นเพเป็นคนบ้านแควใหญ่ ตำบลบางครก อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี เกิดเมื่อวันอังคาร ปี พ.ศ. ๒๔๑๕ โยมบิดาชื่อนายพันธุ์ พันธ์โพธิ์ทอง โยมมารดาชื่อนางนาก พันธ์โพธิ์ทอง
เมื่อตอนยังเด็ก หลวงพ่อโสก ท่านเป็นเด็กที่สนใจในการศึกษาเล่าเรียน โยมบิดาจึงได้นำท่านไปฝากเรียนหนังสือกับพระอธิการเพิ่ม วัดสวนทุ่ง จนสามารถอ่านออกเขียนได้อย่างรวดเร็ว กว่าเด็กรุ่นราวคราวเดียวกัน
ปี พ.ศ. ๒๔๓๕ ท่านมีอายุครบ ๒๐ ปีบริบูรณ์ โยมบิดาและโยมมารดา จึงได้จัดพิธีอุปสมบทให้ท่าน ณ พัทธสีมาวัดปากคลอง ตำบลบางครก อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี ได้รับนามฉายาว่า "สุวณฺโณ " โดยมี
พระอธิการคล้ำ วัดปากคลอง เป็นพระอุปัชฌาย์
พระอธิการทรัพย์ วัดเขาตะเครา เป็นพระกรรมวาจาจารย์
พระอธิการเพิ่ม วัดทุ่งสวน เป็นพระอนุสาวนาจารย์
หลังจากที่อุปสมบทแล้ว ท่านจึงได้อยู่จำพรรษาที่วัดปากคลอง เพื่อศึกษาวิชาและปฏิบัติพระอุปัชฌาย์พอสมควรแล้ว ท่านจึงได้เดินทางมาอยู่ที่วัดมหาธาตุ ตำบลคลองกระแชง อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบุรี
เพื่อศึกษาเล่าเรียนพระธรรมวินัย บาลีไวยากรณ์ และวิปัสสนากัมมัฏฐานกับพระอธิการครุฑ ซึ่งท่านเชี่ยวชาญทางด้านวิปัสสนาธุระ ศึกษาอยู่ได้ปีเศษ พระอธิการครุฑก็ถึงแก่มรณภาพ
หลวงพ่อโสก ท่านจึงได้เดินทางไปศึกษาวิชาเพิ่มเติมกับพระสุวรรณมุนี (หลวงพ่อฉุย) วัดคงคาราม ตำบลคลองกระแชง อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบุรี
ปี พ.ศ. ๒๔๔๗ พระอธิการหลุบ เจ้าอาวาสวัดมหาธาตุ ได้ลาออกจากตำแหน่ง ทางคณะสงฆ์จึงเห็นควรแต่งตั้งให้หลวงพ่อโสก ไปเป็นเจ้าอาวาสวัดมหาธาตุสืบแทน
ปี พ.ศ. ๒๔๔๘ หลังจากที่หลวงพ่อโสก ปกครองวัดมหาธาตุได้เพียงปีเศษ พระอธิการพรเจ้าอาวาสวัดปากคลอง (น้องชายของหลวงพ่อโสก) ได้ลาสิกขาบท ตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดปากคลองก็ว่างลง ชาวบ้านบางครกจึงพร้อมใจกันเดินทางมานิมนต์หลวงพ่อโสก ให้ไปช่วยเป็นเจ้าอาวาส และช่วยพัฒนาวัด
วัดปากคลอง เป็นวัดราษฏร์สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย วัดตั้งอยู่เลขที่ ๓ หมู่ที่ ๔ ตำบลบางครก อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี วัดสร้างเมื่อปี พ.ศ. ๒๓๒๘ ชาวบ้านนิยมเรียกชื่อวัดว่า วัดปากคลองบางครก พระอุโบสถหลังเก่า สร้างเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๖๘ เป็นอาคารก่ออิฐถือปูน มีศาลาการเปรียญที่สร้างเมื่อ ปี พ.ศ. ๒๔๓๐ เป็นอาคารไม้
จากหลักฐานพบว่าวัดสร้างขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุทธาตอนปลาย ดังปรากฏเจดีย์ใหญ่เป็นหลักฐาน วัดปากคลองในปัจจุบัน ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเพชร แม่น้ำเพชรมาแยกเป็นสองสายทางที่หน้าวัดปากคลอง ทางหนึ่งไปบ้านแหลมทางหนึ่งไปบางตะบูน พร้องกันนั้นตั้งอยู่ที่ตำบลบางครก ชาวบ้านเลยนิยมเรียกกันว่า "วัดปากคลอง"
หลังจากที่หลวงพ่อโสก ท่านได้เป็นเจ้าอาวาสวัดปากคลองแล้ว ท่านได้พัฒนาวัดอย่างสุดความสามารถ โดยเริ่มจากการจัดระเบียบและบูรณปฏิสังขรณ์เสนาสนะที่ชำรุดทรุดโทรมให้เรียบร้อย สร้างศาลาการเปรียญ หอสวดมนต์ ศาลาบำเพ็ญกุศล โรงเรียน พระอุโบสถ จนวัดปากคลองเจริญรุ่งเรืองขึ้นตามลำดับ
ปี พ.ศ. ๒๔๕๒ หลวงพ่อโสก ท่านได้รับแต่งตั้งให้เป็นเจ้าคณะหมวดบางครก (เจ้าคณะตำบลในสมัยนี้)
ปี พ.ศ. ๒๔๖๕ ท่านได้รับการแต่งตั้งให้เป็นพระอุปัชฌาย์
ปี พ.ศ. ๒๔๗๘ หลังจากที่ท่านพัฒนาวัดจนเจริญรุ่งเรืองขึ้นเป็นอันมาก ท่านจึงได้รับการแต่งตั้งให้เป็นพระครูชั้นสัญญาบัตรที่ พระครูอโศกธรรมสาร และให้ดำรงตำแหน่งเจ้าคณะอำเภอบ้านแหลมอีกด้วย เมื่อวันที่ ๒๒ กันยายน พ.ศ. ๒๔๗๘
ตลอดเวลาที่ท่านดำรงอยู่ในสมณเพศ นอกจากท่านจะได้ศึกษาเล่าเรียนทางพระธรรมวินัย และปฏิบัติศาสนกิจแล้ว ท่านยังได้ใช้เวลาว่างเท่าที่มีอยู่ ศึกษาศิลปวิทยาการต่างๆ เท่าที่นิยมกันอยู่ในสมัยนั้น เช่น วิชาโหราศาสตร์ เวชศาสตร์ ไสยศาสตร์ เป็นต้น
ท่านได้ศึกษาอย่างจริงจัง และยังได้นำเอาสิ่งต่างๆ เหล่านี้ มาช่วยเหลือผู้อื่นในโอกาสต่อมาด้วย หลวงพ่อโสก ท่านได้ใช้ควมรู้ที่ได้เล่าเรียนมา เช่น ในด้านเวชศาสตร์อันเกี่ยวกับการแพทย์แผนโบราณ เป็นต้น ได้ทำประโยชน์สงเคราะห์ผู้อื่นตลอดมา
นอกจากนี้ท่านยังเป็นผู้มีกฤตยาคมแก่กล้า มีจิตตานุภาพสูง ทำให้ท่านเป็นผู้มีเกียรติคุณมีชื่อเสียง เป็นที่เคารพนับถือของชนทุกชั้นตั้งแต่ชาวบ้าน สามัญชนไปจนถึงข้าราชการผู้ใหญ่ เช่น พระยาสุรพันธุ์เสนีย์ (อิ้น บุนนาค) เป็นต้น
สมัยนั้นเล่ากันต่อมาว่าหลวงพ่อโสก ที่เป็นพระที่มีจิตใจเมตตา ชอบช่วยเหลือประชาชนในด้านหยูกยา โดยมิได้เห็นแก่ความเหน็ดเหนื่อย บางครั้งแม้จะถึงเวลาจำวัดในเวลากลางคืนแล้วก็ตาม
แต่เมื่อใครมีธุระมาหาท่านและมีเสียงสุนัขเห่าขึ้น หลวงพ่อก็จะลุกขึ้นลงจากกุฏิไปถามไถ่ดูถ้าเกี่ยวกับเรื่องเจ็บไข้ ก็จะจัดยาให้ทันที
หลวงพ่อโสก ท่านมียาทุกชนิดที่จำเป็นแก่การรักษาโรคไม่ว่าจะเป็นยาต้ม ยาผง ยาเม็ด ยารักษาตา ยานัตถุ์ น้ำมันมนต์ ยาอุทัย โดยท่านจะตั้งวางไว้เต็มห้องบนกุฏิและที่ปลูกไว้ในวัด วัดปากคลองในสมัยนั้น จึงเสมือนโรงพยาบาลเพราะมีคนไปขอยาท่านวันหนึ่งๆ มิใช่น้อย
หลวงพ่อโสก ท่านเดินทางไปเรียนวิชาการสร้างมีดหมอ (พระขรรค์) นี้มาจากสองสำนักคือหลวงพ่อเทียน วัดละมุด จังหวัดสมุทรสงคราม และหลวงพ่อคล้าย วัดพระทรง จังหวัดเพชรบุรี
บางตำราว่าเรียนจากหลวงพ่อแหล่ม วัดบางคลี่ จังหวัดสมุทรสงคราม ซึ่งวัดบางคลี่ ไม่มีอยู่ในจังหวัดสมุทรสงคราม จึงเป็นข้อมูลที่เข้าใจผิดมาจนถึงปัจจุบันนี้
หลวงพ่อโสก ท่านเป็นสหมิกธรรมกับหลวงพ่อแช่ม วัดฉลอง หลวงพ่อโต วัดคู้ธรรมสถิติ์วราราม และหลวงพ่อปาน วัดบางนมโค โดยหลวงพ่อปานมักเดินทางไปพักที่วัดปากคลองฯ เสมอๆ ทุกครั้งที่ออกเดินธุดงค์ไปทางภาคใต้ และหลวงพ่อปานท่านยังได้วาดภาพไว้บนศาลาการเปรียญของวัด สามารถพบเห็นได้ในปัจจุบัน
หลวงพ่อโสก ปกครองวัดเรื่อยมาจนถึงแก่มรณภาพลงด้วยโรคชรา เมื่อวันที่ ๑๑ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๘๒ นับรวมสิริอายุได้ ๖๗ ปี ๔๗ พรรษา.
วัตถุมงคลของหลวงพ่อโสก วัดปากคลองบางครก
เหรียญหล่อพระจันทร์เสี้ยวหลวงพ่อโสก วัดปากคลองบางครก
สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๖๕ เพื่อแจกเป็นที่ระลึกในงานทำบุญวัดเกิดของท่าน ลักษณะเป็นเหรียญหล่อแบบประกบหน้าหลัง หูปลิงในตัว มีการสร้างด้วยเนื้อโลหะผสมแก่ทองเหลือง จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้
เหรียญหล่อพระจันทร์เสี้ยวหลวงพ่อโสก วัดปากคลองบางครก ปี พ.ศ. ๒๔๖๕ เนื้อทองผสม ของร้านศาลาวัด พระเครื่อง |
เหรียญหล่อพระจันทร์เสี้ยวหลวงพ่อโสก วัดปากคลองบางครก ปี พ.ศ. ๒๔๖๕ เนื้อทองผสม |
ด้านหน้า เป็นอักขระยันต์เรียกกันว่า "อุโองการ" ข้างอักขระยันต์ล้อมรอบด้วยช่อรวงข้าว
ด้านหลัง มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "ที่ระฤกในการทำบุญเดือนเกิดวันเกิด พระสุวรรณ์ พ.ศ. ๒๔๖๕"
เหรียญพระพุทธนั่งยันต์ หลวงพ่อโสก วัดปากคลองบางครก
สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๖๗ เพื่อแจกให้กับผู้ที่บริจาคทรัพย์สร้างพระอุโบสถของทางวัด ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มรูปไข่ข้างกระบอกมีหูเชื่อม มีการสร้างด้วยเนื้อเงิน และเนื้อทองแดง จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้
เหรียญพระพุทธนั่งยันต์หลวงพ่อโศก วัดปากคลองบางครก ปี พ.ศ. ๒๔๖๗ เนื้อทองแดง |
ด้านหน้า จำลองเป็นรูปพระพุทธรูปปางสมาธิประทับนั่งบนฐานบัว ใต้องค์พระมีอักขระยันต์ ที่ขอบเหรียญมีอักขระยันต์ และมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "( พ.ศ. ๒๔๖๗ )" ซึ่งคือปีที่สร้างเหรียญ
ด้านหลัง มีขอบเหรียญ ตรงกลางเหรียญมีอักขระยันต์
เหรียญพระพุทธชินราช หลวงพ่อโสก วัดปากคลองบางครก
สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๖๘ เพื่อแจกให้กับผู้ที่บริจาคทรัพย์สร้างพระอุโบสถของทางวัด ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มทรงเสมาข้างกระบอก แบบมีหูในตัว มีการสร้างด้วยเนื้อเงิน และเนื้อทองแดง จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้เหรียญพระพุทธชินราชหลวงพ่อโศก วัดปากคลองบางครก ปี พ.ศ. ๒๔๖๘ เนื้อเงิน |
เหรียญพระพุทธชินราชหลวงพ่อโศก วัดปากคลองบางครก ปี พ.ศ. ๒๔๖๘ เนื้อทองแดง |
ด้านหน้า จำลองเป็นรูปพระพุทธชินราช ประทับนั่งมารวิชัยบนฐานบัว มีซุ้มกนกข้างสวยงาม เหนือองค์พระมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "พระชิณราช" ใต้องค์พระมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "พ.ศ. ๒๔๖๘" ซึ่งคือปีที่สร้างเหรียญ
ด้านหลัง บนสุดมีอักขระยันต์ตัว "อุณาโลม" ใต้อักขระยันต์มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "ที่ระลึกในงานสร้างอุโบสถ วัดปากคลอง เพ็ชร์บุรี"เหรียญข้าวหลามตัด หลวงพ่อโสก วัดปากคลองบางครก
สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๗๖ เพื่อแจกให้กับผู้ที่บริจาคทรัพย์สร้างพระอุโบสถของทางวัด ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มทรงข้าวหลามตัดข้างกระบอก แบบมีหูในตัว มีการสร้างด้วยเนื้อเงิน และเนื้อทองแดง จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้
เหรียญข้าวหลามตัดหลวงพ่อโศก วัดปากคลองบางครกปี พ.ศ. ๒๔๗๖ เนื้อทองแดง |
เหรียญข้าวหลามตัดหลวงพ่อโศก วัดปากคลองบางครกปี พ.ศ. ๒๔๗๖ เนื้อทองแดง |
ด้านหน้า มีอักขระยันต์ขอมอ่านว่า "อุ ฒะ ฑะ นะ" ที่ขอบเหรียญมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "วัดปากคลอง พ.ศ. ๒๔๗๖" ซึ่งคือปีที่สร้างเหรียญ
ด้านหลัง มีขอบเหรียญ ตรงกลางมีอักขระยันต์ตรีนิสิงเห ที่ขอบเหรียญมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "ที่ระฤกในงานยกโบสถ์" เหรียญพระพุทธชินวงศ์ หลวงพ่อโสก วัดปากคลองบางครก (หลังยันต์)
เหรียญพระพุทธชินวงศ์หลวงพ่อโศก วัดปากคลองบางครก หลังยันต์ ปี พ.ศ. ๒๔๗๘ เนื้อเงิน |
เหรียญพระพุทธชินวงศ์หลวงพ่อโศก วัดปากคลองบางครก หลังยันต์ ปี พ.ศ. ๒๔๗๘ เนื้อทองแดง |
ด้านหน้า จำลองเป็นรูปพระพุทธรูป ประทับนั่งมารวิชัยบนอาสนะ ใต้องค์พระมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "พระพุทธชินวงษ์"
ด้านหลัง มีขอบเหรียญ ตรงกลางมีอักขระยันต์ตัว
เหรียญพระพุทธชินวงศ์ หลวงพ่อโสก วัดปากคลองบางครก (หลังหนังสือ)
สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๗๘ เพื่อแจกในงานยกช่อฟ้าพระอุโบสถของทางวัด ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มรูปไข่ข้างกระบอก มีหูเชื่อม มีการสร้างด้วยเนื้อเงิน และเนื้อทองแดง จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้
เหรียญพระพุทธชินวงศ์หลวงพ่อโศก วัดปากคลองบางครก หลังหนังสือ ปี พ.ศ. ๒๔๗๘ เนื้อทองแดงกระไหล่เงิน |
เหรียญพระพุทธชินวงศ์หลวงพ่อโศก วัดปากคลองบางครก หลังหนังสือ ปี พ.ศ. ๒๔๗๘ เนื้อทองแดง |
เหรียญพระพุทธชินวงศ์หลวงพ่อโศก วัดปากคลองบางครก หลังหนังสือ ปี พ.ศ. ๒๔๗๘ เนื้อทองแดง |
ด้านหน้า จำลองเป็นรูปพระพุทธรูป ประทับนั่งมารวิชัยบนอาสนะ ใต้องค์พระมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "พระพุทธชินวงษ์"
ด้านหลัง มีขอบเหรียญ ตรงกลางมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "ที่ระฤกในงานยกช่อฟ้าอุโบสถวัดปากคลอง พ.ศ. ๒๔๗๘"
เหรียญหลวงพ่อโสก วัดปากคลองบางครก รุ่นแจกงานศพ
สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๘๓ เพื่อแจกในงานศพของหลวงพ่อ ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มตัดขอบแบบมีหูในตัว มีการสร้างด้วยเนื้ออัลปาก้าเพียงชนิดเดียวเท่านั้น จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้เหรียญงานศพหลวงพ่อโศก วัดปากคลองบางครก (บล็อก พ.ศ. ชิด) ปี พ.ศ. ๒๔๘๓ เนื้ออัลปาก้า |
เหรียญงานศพหลวงพ่อโศก วัดปากคลองบางครก (บล็อก พ.ศ. ห่าง) ปี พ.ศ. ๒๔๘๓ เนื้ออัลปาก้า |
ด้านหน้า จำลองเป็นรูปหลวงพ่อโสก ครึ่งองค์ห่มจีวรคลุมไหล่ มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "ในงานฌาปณกิจ พระครูอโสกธรรมสาร"
ด้านหลัง ตรงกลางมีรูปจำลองพระพุทธรูปปางสมาธิประทับนั่งบนฐานบัวคว่ำบัวหงาย มีอักขระยันต์อ่านได้ว่า "นะ โม พุท ธา ยะ" ใต้องค์พระมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "พ.ศ. ๘๓" ซึ่งคือปีที่สร้างเหรียญ
เพระเนื้อดินหลวงพ่อโสก วัดปากคลองบางครก
สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๘๐ เพื่อแจกให้กับศิษยานุศิษย์ของท่าน ลักษณะเป็นพระดินผสมผง จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้
พระเนื้อดินหลวงพ่อโศก วัดปากคลองบางครก ก่อนปี พ.ศ. ๒๔๘๐ เนื้อดินผสมผง |
ด้านหน้า จำลองเป็นรูปพระพุทธรูป ประทับนั่งมารวิชัยบนอาสนะ
ด้านหลัง เรียบ ไม่ปรากฏอักขระใดๆ
พระขรรค์หลวงพ่อโสก วัดปากคลองบางคร
สร้างขึ้นก่อนปี พ.ศ. ๒๔๘๐ เพื่อแจกให้กับศิษยานุศิษย์ของท่าน ลักษณะเป็นพระขรรค์แกะจากเขาควายเผือกโดยการสร้างพระขรรค์ตามตำราโบราณของท่าน
กำหนดว่าเขาควายนั้นจะต้องประกอบด้วยลักษณะดังนี้ เขาควายเผือก ต้องตายโหง คือ ถูกยิงตาย ขวิดกันเองตาย หรือถ้าถูกฟ้าผ่าตายได้ก็ยิ่งวิเศษ และเขาควายนั้นจะต้องไม่ถูกต้มมาก่อน
กล่าวคือเมื่อควายตายลงก็ต้องชำแหละตัดเขาออกสดๆ ไม่ต้องรอให้แล่ควายออกเป็นส่วนๆ แล้วจึงนำหัวมาต้มเพื่อเอาเขาออกได้ นำเขาควายนั้นมา แกะเป็นรูปพระขรรค์เวลาแกะให้ตัดออกเป็นชิ้นพอเหมาะกับการแกะให้จำไว้ว่าทางไหนทางโคนเขา ทางไหนทางปลายเขา
พระขรรค์หลวงพ่อโศก วัดปากคลองบางครก ก่อนปี พ.ศ. ๒๔๘๐ เนื้อเขาควายเผือก |
โดยช่างจะทำเครื่องหมายไว้เวลาแกะให้แกะจากโคนเขาไปหาปลายเขา เป็นทางเดียวตลอดเวลาการแกะจนสำเร็จเท่านั้น
ถ้าทวนแม้แต่ครั้งเดียวใช้ไม่ได้ต้องทิ้งไป ขั้นต่อมาจึงนำพระขรรค์ที่แกะเสร็จแล้วนำมาลงอักขระในที่นี้จะแยกออกเป็นสองลักษณะ เพราะเป็นการลงเต็มและการลงย่อ
ทั้งนี้และทั้งนั้นก็เนื่องมาจาก
พระขรรค์ของหลวงพ่อมีทั้งขนาดใหญ่บูชาประจำบ้านการลงถ้าอันใหญ่จะลงเต็มบทถ้าขนาดเล็กจะลงหัวใจเท่านั้น
พระขรรค์หลวงพ่อโศก วัดปากคลองบางครก ก่อนปี พ.ศ. ๒๔๘๐ เนื้อเขาควายเผือก |
คาถากำกับพระขรรค์มีดังนี้
ให้ตั้งนะโมฯ ๓ จบ แล้วตามด้วยพระคาถา "พุทโธปัพพะชายาโน สัพพะศัตรู
วินาสสันติ ธัมโม ปัพพะชายาโน สัพพะศัตรู วินาสสันติ สังโฆปัพพะชายาโน
สัพพะศัตรู วินาสสันติ"
พระขรรค์ของหลวงพ่อโศก สร้างขึ้นเพื่อวัตถุประสงค์ในการสร้างไว้สำหรับใช้ทดแทน "มีดหมอ" นั่นเอง ซึ่งเขาความเผือกที่นำมาแกะจะออกสีน้ำผึ้งเป็นที่นิยมสวยงามและหายากเป็นที่สุด
ตลอดทั้งเล่มยาวประมาณ ๔ นิ้ว แต่บางเล่มก็มีขนาดเล็กไว้สำหรับห้อยคอ ให้จดจำรอยจารของหลวงพ่อเป็นสำคัญ จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้
พระขรรค์หลวงพ่อโศก วัดปากคลองบางครก ก่อนปี พ.ศ. ๒๔๘๐ เนื้อเขาควายเผือก |
ครั้งหนึ่ง มีเรื่องเล่ากันว่า "เสือขาว" ลูกศิษย์หลวงพ่อดิ่ง วัดบางวัว ที่แขวนพระปิดตาและตะกรุดของหลวงพ่อดิ่ง แต่ไม่ประพฤติตนเป็นคนดีเป็นที่ต้องการตัวของตำรวจเป็นอย่างมาก แต่อาวุธปืนไม่สามารถทำอันตรายได้
ทางตำรวจจึงมากราบหลวงพ่อดิ่ง ผู้เป็นอาจารย์เพื่อปรึกษาหาแนวทางในการคัดของเสือขาว หลวงพ่อดิ่งท่านว่า ไม่มีอะไรคัดของของท่านได้ ยกเว้นอย่างเดียว คือ พระขรรค์หลวงพ่อโศก ผู้เป็นสหธรรมิกของท่านเพียงรูปเดียว
โดยให้ใช้ปลายพระขรรค์เขียนคาถาตามที่ท่านให้ลงที่ลูกปืนผลสุดท้ายเสือขาวต้องจบชีวิตการเป็นโจร ด้วยเหตุแห่งการล้างอาถรรพ์คัดของโดยพระขรรค์หลวงพ่อโศก วัดปากคลองฯ อันศักดิ์สิทธิ์นี้
ภาพพระ : เพจหลวงพ่อโสก วัดปากคลองบางครก
โดย : สารานุกรมพระเกจิแห่งแดนสยาม
บทความที่เกี่ยวข้อง
***-[เป็นกำลังใจและสนับสนุนให้เราเขียนบทความดีๆ ด้วยการกดดูโฆษณาด้านล่างนะคะ]-***
ไม่มีความคิดเห็น