ประวัติและวัตถุมงคลหลวงพ่อหนึ่ง วัดห้วยโรง เพรชบุรี พระอาจารย์ของหลวงพ่อไพล วัดบางแคกลาง
หลวงพ่อหนึ่ง วัดห้วยโรง เพชรบุรี |
หลวงพ่อหนึ่ง วัดห้วยโรง ตำบลห้วยโรง อำเภอเขาย้อย จังหวัดเพรชบุรี ท่านมีนามเดิมว่าหนึ่ง จาบทอง ท่านเกิดเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๑๕ พื้นเพท่านเป็นคนบ้านห้วยโรง ครอบครัวประกอบอาชีพทำนา โยมบิดาชื่อนายหลำ จาบทอง โยมมารดาชื่อนางอินทร์ จาบทอง โดยท่านเป็นบุตรคนโตจากจำนวนพี่น้องร่วมบิดา-มารดาเดียวกัน ๓ คน ในวัยเด็กท่านได้ศึกษาร่ำเรียนวิชาที่วัดห้วยโรงจนอ่านออกเขียนได้
ปี พ.ศ. ๒๔๓๕ หลวงพ่อหนึ่ง ท่านมีอายุได้ ๒๐ ปี บริบูรณ์ ท่านจึงได้เข้ารับการอุปสมบท ณ พัทธสีมาวัดห้วยโรง ตำบลห้วยโรง อำเภอเขาย้อย จังหวัดเพชรบุรี เมื่อวันที่ ๑ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๓๕ ได้รับฉายาว่า "คํคสุวณฺโณ" โดยมี
หลวงพ่อสิน วัดห้วยโรง (ก่อนย้ายไปวัดปรกสุวรรณาราม) เป็นพระอุปัชฌาย์
หลวงพ่อร้าย วัดเขายี่สาร เป็นพระกรรมวาจาจารย์
หลวงพ่อคง วัดศรัทธาราษฎร์ เป็นพระอนุสาวนาจารย์
หลังจากที่อุปสมบทแล้ว ท่านได้อยู่จำพรรษาที่วัดห้วยโรง เพื่อปฏิบัติสมณกิจ ศึกษาวิชาเขียนอ่านภาษาไทย-ภาษาขอมและพระธรรมวินัยจนแตกฉาน
ปี พ.ศ. ๒๔๕๔ หลวงพ่อสิน เจ้าอธิการวัดห้วยโรงได้ย้ายไปเป้นเจ้าอาวาสวัดปรกสุวรรณาราม ตำบลบางแค อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม ชาวบ้านและคณะกรรมการวัดจึงพร้อมใจกันนิมนต์หลวงพ่อหนึ่ง ขึ้นเป็นเจ้าอาวาสวัดห้วยโรง ทดแทนตำแหน่งที่ว่างลง
วัดห้วยโรง เป็นวัดราษฎร์ สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ตั้งอยู่ที่หมู่ที่ ๑ ตำบลห้วยโรง อำเภอเขาย้อย จังหวัดเพชรบุรี เป็นวัดเก่าในยุครัตนโกสินทร์ วัดสร้างเมื่อ ๒๖ เมษายน พ.ศ. ๒๓๙๕ และได้รับวิสุงคามสีมาเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๖๒
หลังจากที่หลวงพ่อหนึ่งได้ขึ้นเป็นเจ้าอาวาส ท่านได้พัฒนาวัดอย่างสุดความสามารถทั้งการสร้างเสนาสนะต่างๆ ภายในวัด และสร้างถาวรวัตถุต่างๆ จนวัดเจริญรุ่งเรืองขึ้นตามลำดับ
ปี พ.ศ. ๒๔๕๘ หลวงพ่อหนึ่ง ท่านได้รับการแต่งตั้งให้เป็นพระอุปัชฌาย์ และรับตำแหน่งเจ้าคณะหมวดห้วยโรง (เจ้าคณะตำบลในสมัยนี้)
ปี พ.ศ. ๒๔๖๖ หลวงพ่อหนึ่ง ท่านได้เล็งเห็นคุณค่าของการศึกษาของบุตร-ธิดาของชาวบ้านในพื้นที่ ท่านจึงได้ร่วมมือกับชาวบ้านที่มีความรู้จัดตั้งโรงเรียนวัดห้วยโรงขึ้น โดยในช่วงแรกได้อาศัยศาลาการเปรียญของทางวัดเป็นสถานที่สอน โดยหลวงพ่อหนึ่ง ท่านรับหน้าที่เป็นครูสอนหนังสืออีกด้วย
ต่อมาได้มีการร่วมมือกับทางราชการและเริ่มว่าจ้างครูมาสอนหนังสือ และเปิดทำการสอนจนกลายเป็นโรงเรียนวัดห้วยโรง (หนึ่งนฤมิตรพิทยาคาร) ในปัจจุบัน
หลวงพ่อหนึ่ง ท่านมีวาจาสิทธิ์พูดอย่างไรจะเป็นอย่างนั้น ในช่วงชีวิตท่านได้ปลุกเสกวัตถุมงคล เครื่องรางของขลังไว้มากมาย อาทิ ผ้าเช็ดหน้านะเมตตามหานิยม ตะกรุดโทน ตะกรุดชุด ๙ ดอก ตะกรุดชุด ๗ ดอก ตะกรุดชุด ๔ ดอก พระนามปี (ด้านหน้าเป็นรูปพระ ด้านหลังเป็นรูปนักษัตรปีต่างๆครบ ๑๒ ปี) แหวนทองเหลือง เสื้อยันต์ ลูกอม (ทำด้วยใบโพธิ์ผสมรัก บรรจุกระดาษลงยันต์ข้างใน)
หลวงพ่อหนึ่ง ปกครองวัดเรื่อยมาจนถึงแก่มรณภาพลงด้วยโรคชราเมื่อวันที่ ๗ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๙๐ นับรวมสิริอายุได้ ๗๕ ปี ๕๔ พรรษา
ยังความเศร้าโศกมายังพระเณรและศิษยานุศิษย์ของท่าน งานศพท่านได้ตั้งเมรุไว้ ๓ วัน ๓ คืน มีผู้คนจากทั่วสารทิศหลั่งไหลมาร่วมงานศพของท่านมากเป็นประวัติการณ์ และมีประชุมเพลิงในวันที่ ๑๕ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๙๑
วัตถุมงคลของหลวงพ่อหนึ่ง วัดห้วยโรง
เหรียญหลวงพ่อหนึ่ง วัดห้วยโรง รุ่นแรก
สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๙๑ สมัยเจ้าอธิการนิ่มเป็นเจ้าอาวาส เพื่อแจกเป็นที่ระลึกในงานฌาปนกิจศพของหลวงพ่อหนึ่ง เมื่อวันที่ ๑๕ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๙๑ ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มรูปเสมาแบบมีหูในตัว มีการสร้างด้วยกัน ๒ บล็อก คือพิมพ์ยันต์ทะลุ และพิมพ์ยันต์ชน มีการสร้างด้วยเนื้อทองเพียงชนิดเดียวเท่านั้น จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้
เหรียญหลวงพ่อหนึ่ง วัดห้วยโรง รุ่นแรก ยันต์ทะลุ ปี พ.ศ. ๒๔๙๑ เนื้อทองแดงกระไหล่ทอง |
เหรียญหลวงพ่อหนึ่ง วัดห้วยโรง รุ่นแรก ยันต์ชน ปี พ.ศ. ๒๔๙๑ เนื้อทองแดง |
เหรียญหลวงพ่อหนึ่ง วัดห้วยโรง รุ่นแรก ยันต์ชน ปี พ.ศ. ๒๔๙๑ เนื้อทองแดง ของคุณชาตรี ทางรัตนสุวรรณ |
เหรียญหลวงพ่อหนึ่ง วัดห้วยโรง รุ่นแรก ยันต์ชน ปี พ.ศ. ๒๔๙๑ เนื้อทองแดงกระไหล่ทอง ของคุณขวัญชัย สวัสดี |
ด้านหน้า เป็นรูปจำลองหลวงพ่อหนึ่งครึ่งองค์ห่มจีวรลดไหล่ พาดผ้าสังฆาฏิ ใต้รูปหลวงพ่อมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "หลวงพ่อหนึ่ง วัดห้วยโรง" ด้านบนรูปหลวงพ่อมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "พ.ศ. ๒๔๙๑"
ด้านหลัง ตรงกลางมีอักขระยันต์พระพุทธเจ้าห้าพระองค์ เหนือยันต์ห้าเป็นยันต์องค์พระ ๓ องค์ ขึ้นยอดเป็นอุณาโลม เหนือขึ้นไปเป็นอักขระยันต์ขอม ๔ ตัว อ่านได้ว่า "พุท ธะ สัง มิ" ใต้อักขระยันต์ห้า มีอักขระยันต์คงกระพันชาตรีอ่านได้ว่า "อิติปิอรหัง อุดทังอัดโท โทอุดทังอัด นึ มึ พึง หึ" ในพิมพ์ยันต์ชนจะแอ่นเป็นท้องกะทะ ส่วนในพิมพ์ยันต์ทะลุหลังจะเรียบ
เหรียญหลวงพ่อหนึ่ง วัดห้วยโรง รุ่นแรก (ย้อนยุค)
สร้างขึ้นหลังปี พ.ศ. ๒๕๐๐ เพื่อแจกให้ผู้ที่บริจาคทรัพย์ให้กับวัดนั้นๆ โดยวัดที่ออกเหรียญรุ่นนี้นั้นมีการสร้างด้วยกันหลายวาระ โดยใช้เหรียญรุ่นแรกเป็นแม่แบบในการสร้าง เช่น วัดสว่างอารมณ์ หรือแม้กระทั้งวัดห้วยโรงเองก็เคยสร้างย้อนยุคออกมาในสมัยของหลวงพ่อถนอมอีกด้วย ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มรูปเสมาแบบมีหูในตัว มีการสร้างด้วยเนื้อทองเพียงชนิดเดียวเท่านั้น จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้
เหรียญหลวงพ่อหนึ่ง วัดห้วยโรง รุ่นแรก (ย้อนยุค) ปี พ.ศ. ๒๔๙๑ เนื้อทองแดงกระไหล่เงิน |
เหรียญหลวงพ่อหนึ่ง วัดห้วยโรง รุ่นแรก (ย้อนยุค) ปี พ.ศ. ๒๔๙๑ เนื้อทองแดง |
ด้านหน้า เป็นรูปจำลองหลวงพ่อหนึ่งครึ่งองค์ห่มจีวรลดไหล่ พาดผ้าสังฆาฏิ ใต้รูปหลวงพ่อมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "หลวงพ่อหนึ่ง วัดห้วยโรง" ด้านบนรูปหลวงพ่อมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "พ.ศ. ๒๔๙๑"
ด้านหลัง เรียบไม่แอ่นเป็นท้องกะทะ ตรงกลางมีอักขระยันต์พระพุทธเจ้าห้าพระองค์ เหนือยันต์ห้าเป็นยันต์องค์พระ ๓ องค์ ขึ้นยอดเป็นอุณาโลม เหนือขึ้นไปเป็นอักขระยันต์ขอม ๔ ตัว อ่านได้ว่า "พุท ธะ สัง มิ" ใต้อักขระยันต์ห้า มีอักขระยันต์คงกระพันชาตรีอ่านได้ว่า "อิติปิอรหัง อุดทังอัดโท โทอุดทังอัด นึ มึ พึง หึ"
เหรียญหลวงพ่อหนึ่ง วัดห้วยโรง รุ่น ๒๕๐๕
เหรียญหลวงพ่อหนึ่ง วัดห้วยโรง เพชรบุรี รุ่น ปี พ.ศ. ๒๕๐๕ เนื้อทองแดงกระไหล่ทอง |
ด้านหน้า เป็นรูปจำลองหลวงพ่อหนึ่งครึ่งองค์ห่มจีวรลดไหล่ พาดผ้าสังฆาฏิ ใต้รูปหลวงพ่อมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "หลวงพ่อหนึ่ง วัดห้วยโรง พ.ศ. ๒๕๐๕"
ด้านหลัง ตรงกลางมีอักขระยันต์พระพุทธเจ้าห้าพระองค์ เหนือยันต์ห้าเป็นยันต์องค์พระ ๓
องค์ ขึ้นยอดเป็นอุณาโลม เหนือขึ้นไปเป็นอักขระยันต์ขอม ๔ ตัว อ่านได้ว่า "พุท
ธะ สัง มิ" ใต้อักขระยันต์ห้า มีอักขระยันต์คงกระพันชาตรีอ่านได้ว่า "อิติปิอรหัง อุดทังอัดโท โทอุดทังอัด นึ มึ พึง หึ"
รูปหล่อหลวงพ่อหนึ่ง วัดห้วยโรง รุ่นแรก
สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๐๕ สมัยเจ้าอธิการถนอม เป็นเจ้าอาวาส เพื่อแจกให้ผู้ที่บริจาคทรัพย์ให้กับทางวัดเพื่อสร้างรูปหล่อหลวงพ่อหนึ่งขนาดเท่าองค์จริง ซึ่งรูปหล่อหลวงพ่อนั้นได้ทำการหล่อ เมื่อวันที่ ๑๖ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๐๕ เวลา ๐๐.๒๐ น. ลักษณะเป็นรูปหล่อปั๊มสูง ๑ นิ้ว ๒ หุน มีการสร้างด้วยเนื้อทองเพียงชนิดเดียวเท่านั้น จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้รูปหล่อหลวงพ่อหนึ่ง วัดห้วยโรง เพชรบุรี รุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๕๐๕ เนื้อทองแดง |
ด้านหน้า เป็นรูปจำลองหลวงพ่อหนึ่งนั่งสมาธิเต็มองค์บนฐานเขียง องค์หลวงพ่อห่มจีวรลดไหล่ พาดผ้าสังฆาฏิรัดประคต ที่ฐานเขียงมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "หลวงพ่อหนึ่ง"
ด้านหลัง มีริ้วจีวรสวยงาม แต่ไม่ปรากฏอักขระใดๆที่ฐานเขียง ใต้ฐานมีรอยกลึงและรอยอุดผงอัฐิด้วยทองแดงโดย : สารานุกรมพระเกจิแห่งแดนสยาม
บทความที่เกี่ยวข้อง
***-[เป็นกำลังใจและสนับสนุนให้เราเขียนบทความดีๆ ด้วยการกดดูโฆษณาด้านล่างนะคะ]-***
ไม่มีความคิดเห็น