โฆษณาแนวนอน728*90

บทความใหม่

ประวัติและวัตถุมงคลหลวงพ่อครื้น วัดสังโฆสิตาราม สุพรรณบุรี เจ้าของตุ๊กแกสุดขลังของเมืองไทย

ภาพถ่ายหลวงพ่อครึ้น วัดสังโฆสิตาราม สุพรรณบุรี
หลวงพ่อครื้น วัดสังโฆสิตาราม สุพรรณบุรี

         หลวงพ่อครื้น วัดสังโฆสิตาราม หรือ พระครูโฆสิตธรรมสาร อดีตเจ้าอาวาสวัดสังโฆสิตาราม ตำบลวัดดาว อำเภอบางปลาม้า จังหวัดสุพรรณบุรี ท่านเกิดเมื่อวันที่ ๑๗ มกราคม พ.ศ. ๒๔๔๓ ท่านมีนามเดิมว่า ครื้น ศรีบัวทอง โยมบิดาเป็นกำนันชื่อ นายฟุก ศรีบัวทอง โยมมารดาชื่อนางผูก ศรีบัวทอง

         ปี พ.ศ. ๒๔๖๓ หลวงพ่อครื้น ท่านมีอายุครบบวชพอดี ท่านจึงได้เข้ารับการอุปสมบทครั้งแรก เมื่ออายุ ๒๐ ปี ซึ่งท่านบวชได้ ๒ พรรษา และได้สึกลาเพศสมณะ ออกมาแต่งงาน ต่อมาภรรยาท่านได้ตั้งครรถ์และเสียชีวิตขณะคลอดบุตร โดยบุตรท่านก็เสียชีวิตด้วย ท่านเสียใจจึงอุทิศตนครองตัวโสดมาตลอด

         ปี พ.ศ. ๒๔๗๒ หลวงพ่อครื้น ท่านก็ได้อุปสมบทอีกครั้งซึ่งขณะนั้นท่านมีอายุได้ ๒๙ ปี โดยตั้งใจว่าบวชไม่สึก โดยท่านได้อุปสมบท ณ พัทธสีมาวัดบางใหญ่ ตำบลบางใหญ่ อำเภอบางปลาม้า จังหวัดสุพรรณบุรี เมื่อวันที่ ๑๐ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๖๘ ได้รับฉายาว่า "อมโร" โดยมี

         พระอธิการสัินธ์ เจ้าคณะตำบล วัดบางใหญ่ เป็นพระอุปัชฌาย์

         พระอธิการฉัตร วัดสุขเกษม เป็นพระกรรมวาจาจารย์

         หลังจากที่อุปสมบทแล้ว ท่านได้มาจำพรรษาอยู่ที่วัดบางใหญ่เรื่อยมา และเดินทางไปศึกษาวิชาอาคมกับพระอธิการสินธ์ซึ่งเป็นพระอุปัชฌาย์ของท่าน

ภาพถ่ายหลวงพ่อสินธ์ วัดบางใหญ่ สุพรรณบุรี
หลวงพ่อสินธ์ วัดบางใหญ่ สุพรรณบุรี

         จนในราวปี พ.ศ. ๒๔๗๕ พระอธิการตัว วัดสังโฆ ได้ลาสิกขาไป ทำให้ตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดได้ว่างลง ชาวบ้านจึงได้นิมนต์ให้หลวงพ่อครึ้น รักษาการเจ้าอาวาส ท่านก็ได้รักษาการตำแหน่ง และได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสในเวลาต่อมา

         วัดสังโฆสิตาราม ตั้งอยู่เลขที่ ๑๓๙ บ้านสังโฆ หมู่ที่ ๕  ตำบลวัดดาว อำเภอบางปลาม้า จังหวัดสุพรรณบุรี สังกัดมหานิกาย ที่ดินตั้งวัดมีเนื้อที่ ๑๘ ไร่ ๖๐ ตารางวา วัดตั้งเมือปี พ.ศ. ๒๔๔๖ เดิมชื่อวัดสังโฆ ไม่ปรากฎประวัติผู้สร้าง 

         แต่ภายหลังสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ(จวน) ขณะนั้นดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าคณะมณฑลราชบุรี ได้ประทานเพิ่มเติมชื่อ วัดสังโฆสิตาราม ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ ๒๕ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๔๑

         หลวงพ่อครื้น หลังจากที่ได้รับตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดสังโฆสิตาราม ท่านได้สร้างกุฏิ ศาลา พระอุโบสถ และโรงเรียนประชาบาล จนพื้นที่วัดสังโฆเจริญขึ้นตามลำดับอย่างรวดเร็ว

         ท่านได้มีโอกาสศึกษาวิชากับพระอาจารย์ ที่มีความรู้ความสามารถหลายท่าน เช่น หลวงพ่ออิ่ม วัดหัวเขา ,หลวงพ่อโหน่ง วัดคลองมะดัน เป็นต้น

         ต่อมาท่านได้เดินทาง ไปศึกษาวิชาธรรมกาย ณ วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ โดยมีหลวงพ่อสด ให้การแนะนำ ท่านยังได้ศึกษาแนวปฎิบัติด้านกรรมฐาน จากสำนักวัดบางใหญ่ และวัดป่าพฤกษ์ อีกด้วย

         อีกทั้งหลวงพ่อครื้น ท่านยังชื่นชอบการเดินธุดงควัตรไปในสถานที่ปีกวิเวก โดยไปเพียงรูปเดียวหลังจากออกพรรษา

         หลวงพ่อสด วัดปากน้ำ ท่านเคยได้กล่าวยกย่องหลวงพ่อครื้นว่า "พระผู้มีอิทธิฤทธิ์ประหนึ่งพระโมคคัลลานะ" คำยกย่องนี้ มีบันทึกในหนังสือประวัติวัดสังโฆสิตารามด้วย

         หลวงพ่อครื้น ท่านมีความสามารถในญาณหยั่งรู้ ทำนายทายทักเหตุการณ์ต่างๆล่วงหน้าได้อย่างแม่นยำอย่างน่าอัศจรรย์ยิ่งนัก ชื่อเสียงของท่านเป็นที่เลื่องลือไปทั่ว ชาวบ้านไม่ว่าใกล้ไกลต่างรู้ถึงความศักดิ์สิทธิ์ ท่านจึงเป็นที่เลื่องลือไปทั่ว ชาวบ้านไม่ว่าใกล้ไกลต่างรู้ถึงความศักดิ์สิทธิ์ ท่านจึงเป็นสิ่งเลื่อมใสศรัทธาต่อชาวบ้านมาก

        วัตถุมงคลที่ท่านสร้างมีหลายชนิด ท่านเริ่มสร้างวัตถุมงคลประมาณ พ.ศ.๒๔๘๐ เป็นต้นมา โดยสร้างทุกๆปี ใครให้แม่พิมพ์ท่านมา ท่านจะทำการแต่งแม่พิมพ์ใหม่เพื่อให้มีความงดงามมากขึ้น วัตถุมงคลของท่านมีคนบูชาไปแล้วมีประสบการณ์มากมาย

ภาพถ่ายหลวงพ่อครึ้น วัดสังโฆสิตาราม สุพรรณบุรี
หลวงพ่อครื้น วัดสังโฆสิตาราม สุพรรณบุรี

         ในสมัยนั้นมีทหารไทยไปรบที่เวียดนาม ต่างก็รอดตายกลับมากราบท่านได้อย่างปาฏิหาริย์ทุกๆคน วัตถุมงคลของท่านยังเด่นทางเมตตามหานิยม โดยเฉพาะเครื่องราง ไม่ว่าจะเป็นตุ๊กแก จระเข้

         หลวงพ่อครื้น ปกครองวัดเรื่อยมาจนถึงแก่มรณภาพลง เมื่อวันที่ ๑๕ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๐๕ นับรวมสิริอายุได้ ๖๕ ปี ๓๓ พรรษา โดยที่ศพของท่านไม่เน่าเปื่อย.

วัตถุมงคลของหลวงพ่อครื้น วัดสังโฆสิตาราม

         ตุ๊กแกมหาลาภหลวงพ่อครื้น วัดสังโฆสิตาราม ยุคต้น

         สร้างขึ้นก่อนปี พ.ศ. ๒๕๐๐ ลักษณะเป็นวัตถุมงคลรูปตุ๊กแก สร้างจากเนื้อดินลงสี ในองคืที่สมบูรณ์ดูง่ายจะมีรอยจาร "ฆ" โดยมีสร้างทั้งเนื้อดินและเนื้อผง ถือเป็นวัตถุมงคลที่ยอมรับเล่นหากันมาก ส่วนใหญ่แล้วพระเครื่องของท่านจะตอกตัว (ฆ) ไว้เสมอแต่ที่ไม่ตอกก็มี ซึ่งก็ได้รับความนิยมไม่แตกต่างกัน 

ตุ๊กแกหลวงพ่อครึ้น วัดสังโฆสิตาราม สุพรรณบุรี ลงยาสี
ตุ๊กแกหลวงพ่อครึ้น วัดสังโฆสิตาราม ลงยาสี ขนาด ๑ นิ้ว

ตุ๊กแกหลวงพ่อครึ้น วัดสังโฆสิตาราม สุพรรณบุรี ลงยาสีเหลือง
ตุ๊กแกหลวงพ่อครึ้น วัดสังโฆสิตาราม ลงยาสี ขนาด ๑ นิ้ว ของคุณโก้ สุวรรณภูมิ

         โดยวิชาการสร้าง "ตุ๊กแกมหาลาภ" ท่านได้เรียนมาจากทางเขมร โดยดินที่นำมาสร้างได้นำมาจากสถานที่ศักดิ์สิทธิ์จากสถานที่หลายๆ แห่งมาปั้นเป็นรูปตุ๊กแกมหาลาภ และเคล็ดอีกอย่างผู้ที่มีตุ๊กแกมหาลาภ บูชาอยู่ที่บ้าน

         ไม่ควรหลอกบุตรหลานเวลาร้องไห้ว่า เดี๋ยวตุ๊กแกจะมากินตับ ไม่ได้มีอาถรรณ์ร้ายแรงอะไรเพียงแต่ จะทำให้ ตุ๊กแกมหาลาภ ร้องเพื่อทำให้เด็กกลัวบ่อยๆ ไม่ได้ร้องเพื่อแสดงว่า ผู้บูชาจะมีลาภผลมาสู่บ้าน

         จัดเป็นวัตถุมงคลที่หายากและมีราคาสูงของหลวงพ่อ จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้ 

         สมเด็จหลวงพ่อครื้น วัดสังโฆสิตาราม รุ่นแรก (พิมพ์ตลก)

         สร้างขึ้นก่อนปี พ.ศ. ๒๕๐๐ เพื่อแจกให้กับผู้ที่บริจาคทรัพย์ให้กับทางวัด ลักษณะเป็นพระพิมพ์สมเด็จ โดยหลวงพ่อครื้นท่านได้ลบผงเอง แล้วผสมกับผงวิเศษต่างๆ ที่ท่านได้รวบรวมไว้ จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

สมเด็จหลวงพ่อครึ้น วัดสังโฆสิตาราม สุพรรณบุรี พิมพ์ตลก
สมเด็จหลวงพ่อครึ้น วัดสังโฆสิตาราม สุพรรณบุรี พิมพ์ตลก

         ด้านหน้า เป็นรูปพระสมเด็จเข่าบ่วง บนฐาน๖ ชั้น องค์พระมีซุ้มระฆังครอบสวยงาม

         ด้านหลัง เรียบ ไม่ปรากฏอักขระยันต์ใดๆ

         เหรียญหลวงพ่อครื้น วัดสังโฆสิตาราม รุ่นแรก

         สร้างขึ้นในราวปี พ.ศ. ๒๕๐๐ เพื่อแจกให้กับผู้ที่บริจาคทรัพย์ให้กับทางวัด ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มรูปไข่แบบมีหูในตัว มีการสร้างด้วยเนื้อทองแดงเพียงชนิดเดียวเท่านั้น จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

เหรียญหลวงพ่อครึ้น วัดสังโฆสิตาราม สุพรรณบุรี. รุ่นแรก ทองแดง
เหรียญหลวงพ่อครื้น วัดสังโฆสิตาราม รุ่นแรก เนื้อทองแดง ของผู้ใหญ่นาค สุพรรณฯ

         ด้านหน้า เป็นรูปจำลองของหลวงพ่อครื้นครึ่งองค์ห่มจีวรลดไหล่ พาดผ้าสังฆาฏิ มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "พระครูโฆสิดธรรมสาร" 

         ด้านหลัง มีอักขระยันต์กลมอ่านได้ว่า "นะ มะ พะ ทะ" ใต้อักขระยันต์กลมมีอักขระยันต์อ่านได้ว่า "อะ ระ หัง พุท โธ" ใต้อักขระยันต์มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "(หลวงพ่อครื้น) วัดสังโฆสิตาราม"


โดย : สารานุกรมพระเกจิแห่งแดนสยาม

บทความที่เกี่ยวข้อง

ไม่มีความคิดเห็น