ประวัติและวัตถุมงคลหลวงปู่นาค วัดดินดอน นครศรีธรรมราช เจ้าของรูปหล่อปั๊มที่เข้มขลัง
หลวงปู่นาค วัดดินดอน นครศรีธรรมราช |
หลวงปู่นาค วัดดินดอน หรือ พระครูสุนทรดิตถคณีอดีตเจ้าอาวาสวัดดินดอน ตำบลท่าดี อำเภอลานสกา จังหวัดนครศรีธรรมราช ท่านเกิดปีฉลู เมื่อวันเสาร์ ที่ ๑๘ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๒๐ ณ บ้านบางชัน ตำบลกำแพงเซา อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช โยมบิดาชื่อนายศรี โยมมารดาชื่อนางพุ่ม
ปู่ของท่านมีศักดิ์เป็นหมื่น ชื่อหมื่นเดช เป็นผู้มีฝีมือทางช่าง และการก่อสร้าง ตลอดทั้งการแกะสลักลายไทย จึงได้รับราชการเป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง ส่วนตาของท่านมีบรรดาศักดิ์เป็นขุน เป็นพราหมณ์ ที่มีความรอบรู้ในฤกษ์พิธีตลอดทั้งพิธีกรรมแต่โบราณ
สมัยที่ท่านยังเป็นเด็ก นายศรี ซึ่งเป็นบิดาของท่านได้เดินทางมาซื้อวัวควายแถวบ้านดอน จังหวัดสุราษฏร์ธานีเป็นประจำ ได้เกิดความเลื่อมใสต่อเจ้าอาวาสวัดบางกล้วย จึงศรัทธาขอบวชเป็นพระภิกษุจำพรรษาที่วัดบางกล้วย
ขณะนั้นหลวงปู่นาคมีอายุได้เพียง ๕ ขวบ และอาศัยอยู่กับมารดาที่บ้านบางชันกับน้องชายและน้องสาวอีกสองคน พอท่านอายุได้ ๖ ขวบ หมื่นศรีซึ่งเป็นปู่ ก็มาพาท่านไปสอนหนังสือที่บ้าน พอเห็นว่าท่านอ่านออกเขียนได้บ้างแล้ว จึงพาท่านไปถวายตัวเป็นศิษย์วัดสระเรียง ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช เพื่อเรียนหนังสือต่อ
ต่อมาเมื่อพระศรี ซึ่งเป็นโยมบิดาของหลวงปู่นาค จำพรรษาที่วัดบางกล้วยได้ ๓ พรรษา จึงย้ายมาจำพรรษาที่วัดสระเรียง หลวงปู่นาคท่านจึงได้อยู่ปรนนิบัติพระศรีในฐานะลูกศิษย์ ส่วนพระศรีมีความซาบซึ้งในรสพระธรรมก็มิได้คิดจะลาสิกขาอีก จึงศึกษาพระธรรมวินัยต่อไป จนมีความรอบรู้ในพระปริยัติธรรมและพระธรรมวินัยพอสมควร
ต่อมาชาวบ้านจึงได้อาราธนามาเป็นเจ้าอาวาสวัดหน้าพระบรมธาตุ อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งขณะนั้นยังเป็นเพียงวัดเล็กๆ ไม่นานพระศรี ก็ได้รับการแต่งตั้งเป็นพระสมุห์ศรี ฐานานุกรมของพระครูกาแก้ว วัดสวนหลวงออก
ปี พ.ศ. ๒๔๓๕ หลวงปู่นาค ท่านมีอายุได้ ๑๕ ปี ญาติท่านจึงพาไปทำพิธีโกนจุกที่วัดขัน แล้วก็บรรพชาเป็นสามเณรที่วัดขันแห่งนี้
จากนั้นก็ย้ายไปจำพรรษาที่วัดหน้าพระบรมธาตุ อยู่กับพระสมุห์ศรีผู้เป็นบิดา หลังจากบรรพชาเป็นสามเณรได้หนึ่งพรรษาก็ลาสิกขาออกมา
หลวงปู่นาค วัดดินดอน นครศรีธรรมราช |
ปี พ.ศ. ๒๔๓๖ พระสมุห์ศรี ได้เดินทางเข้ามาศึกษาพระปริยัติธรรมต่อที่กรุงเทพ จึงได้พาหลวงปู่นาคขึ้นมาด้วย โดยฝากให้พระอาจารย์แผ้ง เป็นผู้ดูแลวัดหน้าพระบรมธาตุแทน
เมื่อถึงกรุงเทพฯ แล้วพระสมุห์ศรีได้จำพรรษาและเรียนอยู่ที่วัดมหาธาตุ ส่วนหลวงปู่นาค ตอนนั้นอายุได้ ๑๖ ปี ได้ไปสมัครเรียนหนังสือแบบใหม่ที่วัดมกุฏิกษัตยาราม แต่เรียนอยู่ได้เพียงปีเดียวก็ลาพระสมุห์ศรีกลับเมืองนครศรีธรรมราช
ฝ่ายพระสมุห์ศรี เรียนอยู่ที่วัดมหาธาตุ อยู่ได้ ๔ ปี ไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร จึงเดินทางกลับนครศรีธรรมราช และเป็นเจ้าอาวาสวัดหน้าพระบรมธาตุเหมือนเดิม เมื่อพระครูกาแก้ว วัดสวนหลวงออกได้ถึงแก่มรณภาพ พระสมุห์ศรีจึงได้รับการแต่งตั้งเป็นพระครูกาแก้ว
ปี พ.ศ. ๒๔๔๐ หลวงปู่นาค มีอายุได้ ๒๐ ปีบริบูรณ์ ท่านจึงได้เข้ารับการอุปสมบทเป็นพระภิกษุ ณพัทธสีมาวัดสวนหลวงตก ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช ได้นามฉายาว่า "โชติพโล" (ไม่มีการจดบันทึกถึงพระอุปัชฌาย์ของท่าน)
หลังจากที่ท่านได้อุปสมบทแล้ว ท่านก็ย้ายมาจำพรรษาที่วัดหน้าพระบรมธาตุกับพระครูกาแก้ว(ศรี) ผู้เป็นบิดา ศึกษาพระธรรมวินัยกับหัดเทศน์มหาชาติจนชำนาญ และมีชื่อเสียงในเมืองนครฯ
ปี พ.ศ. ๒๔๔๒ ถึงพรรษาที่สาม ท่านจึงเข้ามาศึกษาพระปริยัติธรรมที่วัดมหาธาตุ กรุงเทพฯ เมื่อมีความรู้พอสมควรแล้วจึงเดินทางกลับนครศรีธรรมราช โดยจำพรรษาที่วัดหน้าพระบรมธาตุ และได้รับการแต่งตั้งเป็นพระปลัด ฐานานุกรมของพระครูกาแก้ว(ศรี)
ปี พ.ศ. ๒๔๕๘ พระใบฏีกาหมุ้น วัดหน้าพระลาน ซึ่งเป็นพระฐานานุกรมของพระครูกาแก้ว(ศรี) ได้ย้ายมาจำพรรษาที่วัดหน้าพระบรมธาตุ เพื่อช่วยเหลือแบ่งเบาภาระของพระครูกาแก้ว(ศรี) ซึ่งชราภาพแล้ว
ปี พ.ศ. ๒๔๕๙ พระครูกาแก้ว(ศรี) ก็มรณภาพลง ขณะที่มีอายุ ๗๐ ปี หลังเสร็จสิ้นจากงานพระราชทานเพลิงศพแล้ว พระใบฏีกาหมุ้นก็ได้รับแต่งตั้งเป็นพระปลัด ฐานานุกรมของพระญาณเวที(ลือ) วัดพระเดิม พระสงฆ์ในวัดหน้าพระบรมธาตุ รวมทั้งหลวงปู่นาคท่าน จึงได้พร้อมใจกันนิมนต์ พระปลัด(หมุ้น) เป็นเจ้าอาวาสวัดหน้าพระบรมธาตุ สืบต่อมา
เมื่อพระปลัด(หมุ้น) ได้รับการแต่งตั้งเป็นพระครูกาแก้ว ต่อมาได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าคณะจังหวัดนครศรีธรรมราช นับเป็นพระเกจิอาจารย์ที่มีชื่อเสียงมากที่สุดท่านหนึ่งของภาคใต้ และเป็น ๑ ใน ๑๐๘ พระเกจิอาจารย์ ที่มาร่วมปลุกเสกวัตถุมงคลที่วัดราชบพิตร ในปี พ.ศ. ๒๔๘๑ ด้วย
ระหว่างนั้นหลวงปู่นาค ท่านยังเป็นพระปลัด ท่านได้ช่วยพระครูกาแก้ว(หมุ้น) บริหารการปกครองและการศึกษาอยู่วัดหน้าพระบรมธาตุด้วยอีกหลายปี
ปี พ.ศ. ๒๔๗๒ พระอุปัชฌาย์เกลี้ยง เจ้าอาวาสวัดดินดอน ได้ถึงแก่มรณภาพลง ชาวบ้านละแวกวัดได้เดินทางมานิมนต์หลวงปู่นาค ซึ่งขณะนั้นเป็นพระปลัดนาค ไปปกครองวัดดินดอนสืบแทนตำแหน่งที่ว่างลง
โรงเรียนวัดดินดอน นครศรีธรรมราช |
วัดดินดอน เป็นวัดราษฏร์ ตั้งอยู่ในเขตตำบลท่าดี อำเภอลานสกา จังหวัดนครศรีธรรมราช วัดสร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๕๙ โดยชาวบ้านท่าดีร่วมกันสร้าง เพื่อใช้เป็นสถานที่ประกอบบุญทางพระศาสนา เจ้าอาวาสและพระสงฆ์ของวัดส่วนมากจึงเป็นบรรพบุรุษของชาวท่าดี และเป็นเครือญาติกัน
ในอดีตมีเจ้าอาวาสวัดดินดอนรูปหนึ่งชื่อพระอธิการปาน เป็นพระสงฆ์ที่เชี่ยวชาญวิปัสสนากรรมฐานและวิทยาคม มีพลังจิตและตบะแก่กล้า มีความศักดิ์สิทธิ์เป็นที่เลื่องลือกันอย่างมาก
เมื่อพระอธิการปานมรณภาพแล้ว ชาวบ้านที่ศรัทธา ได้สร้างสถูปเพื่อบรรจุอัฐิไว้เป็นที่สักการะบูชา สำหรับสถูปที่บรรจุอัฐิพระสงฆ์แบบนี้ทางภาคใต้เรียกว่าบัวชาวบ้าน ต่อมาจึง เรียกสมภารปานว่า พ่อท่านในบัว และนับถือสถูปหรือบัวที่บรรจุอัฐิของท่าน เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์มาจนกระทั่งทุกวันนี้
ซึ่งความศักดิ์สิทธิ์ของพ่อท่านในบัวก็เคยแสดงอภินิหารให้ชาวบ้านได้พบเห็นกันบ่อยๆ ใครมีเรื่องเดือดร้อนหรือทุกข์ยากอะไร ก็จะพากันมากราบไหว้ขอความช่วยเหลือจากพ่อท่านในบัวอยู่เสมอ วัดได้รับสิสุงคามสีมาเมื่อวันที่ ๑๙ เมษายน พ.ศ. ๒๕๕๖
หลังจากที่หลวงปู่นาค มาครองวัดในฐานะรักษาการเจ้าอาวาสอยู่ ๓ ปี จนถึงปี พ.ศ. ๒๔๗๕ ท่านจึงได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดดินดอน
ปี พ.ศ. ๒๔๗๖ ท่านก็ได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าคณะหมวด
ปี พ.ศ. ๒๔๗๗ ท่านได้ร่วมกับชาวบ้านสร้างอาคารเรียนโรงเรียนวัดดินดอน เพื่อใช้เป้นสถานที่เรียนควบคู่กับศาลาธรรม
ปี พ.ศ. ๒๔๗๙ ได้เป็นกรรมการศึกษาฝ่ายสงฆ์ พอถึงเดือนมีนาคม พ.ศ. ๒๔๘๐ ก็ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็น พระครูสัญญาบัตรชั้นตรีที่ พระครูสุนทรดิตถคณี
ปี พ.ศ. ๒๔๘๑ ท่านก็ได้รับการแต่งตั้งเป็นพระอุปัชฌาย์
พระครูสุนทร วัดดินดอน นอกจากจะมีความรู้ทางด้านพระปริยัติธรรมและการบริหารการปกครอง ท่านยังรอบรู้ในวิทยาคมและเชี่ยวชาญวิปัสสนากรรมฐานท่านหนึ่งของเมืองนครศรีธรรมราช
ในยุคนั้น ท่านได้จัดสร้างวัตถุมงคลมาตั้งแต่ก่อนสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง และก็สร้างมาเรื่อยๆ ตามแต่จะมีโอกาสจนกระทั่งมรณภาพ วัตถุมงคลของท่านมีหลายชนิด เช่น รูปเหมือน พระเครื่องเนื้อดินเผา เครื่องรางของขลัง ตะกรุด ผ้ายันต์ และลูกอมเป็นต้น แต่ที่สร้างชื่อเสียงให้กับท่านมากที่สุดก็คือ เครื่องรางของขลัง "เชือกคาดเอวพระครูสุนทร วัดดินดอน"
หลวงปู่นาค ปกครองวัดเรื่อยมาจนถึงแก่มรณภาพลงเมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๑๖ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๑๒ นับรวมสิริอายุได้ ๙๒ ปี ๗๑ พรรษา
วัตถุมงคลของหลวงปู่นาค วัดดินดอน
รูปเหมือนปั๊มหลวงปู่นาค วัดดินดอน
สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๐๖ เพื่อแจกให้กับผู้ที่บริจาคทรัพย์ให้กับทางวัด ลักษณะเป็นพระรูปเหมือนปั๊มอุดกริ่ง มีการสร้างด้วยเนื้อทองเหลืองเพียงชนิดเดียวเท่านั้น จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้
รูปเหมือนปั๊มหลวงปู่นาค วัดดินดอน นครศรีธรรมราช รุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๕๐๖ เนื้อทองเหลือง |
รูปเหมือนปั๊มหลวงปู่นาค วัดดินดอน นครศรีธรรมราช รุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๕๐๖ เนื้อทองเหลือง |
ด้านหน้า เป็นรูปจำลองหลวงปู่นาคนั่งสมาธิบนฐานเขียง องค์หลวงพ่อห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฏิรัดประคต ที่ฐานเขียงมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "พระครูสุนทร"
ด้านหลัง ที่ฐานเขียงมีอักขระยันต์อ่านได้ว่า "นะ มะ พะ ทะ มะ อะ อุ" ใต้ฐานมีรอยอุดกริ่ง
เชือกคาดเอวพระครูสุนทร วัดดินดอน
สร้างขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๘๐ เพื่อแจกให้ก้บลูกศิษย์ลูกหาของท่าน ลักษณะเป็นเชือกหรือผ้าที่ฉีกเป็นริ้วยาวๆ หลายๆเส้น มาลงอักขระไปตามแนวยาวของริ้วผ้า จากนั้นจึงถักโดยจะขมวดส่วนหัวก่อน แล้วจึงถักเป็นเกลียวไปจนตลอดถึงส่วนหางก็ขมวดปมอีกปมหนึ่ง ซึ่งในช่วงเวลาที่ถักเชือกท่านก็จะบริกรรมคาถาไปพร้อมๆกัน เมื่อขมวดส่วนปมของหางเสร็จก็จะให้พร้อมกับภาวนาคาถาจบพอดี
โดยหลวงปู่นาค ท่านเรียนวิชาสร้างเชือกคาดเอวมาจากพระครูกาแก้ว(ศรี) ผู้เป็นบิดา ส่วนพระครูกาแก้ว(ศรี) นั้นก็เรียนวิชาการสร้างเชือกคาดเอวมาจากเจ้าอธิการวัดบางกล้วย จังหวัดสุราษฏร์ธานีมาอีกต่อหนึ่ง
เชือกคาดเอวหลวงปู่นาค วัดดินดอน นครศรีธรรมราช |
เชือกคาดเอวหลวงปู่นาค วัดดินดอน นครศรีธรรมราช |
ในช่วงสงครามอินโดจีน จอมพล ป.พิบูลสงครามนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ได้ทำหนังสือขอพระเครื่องไปยังวัดต่างๆ ทั่วประเทศ เพื่อนำมาแจกทหารที่ไปรบสงครามครั้งนั้นได้มีวัดต่างๆ นำพระเครื่องเก่าๆ ที่บรรจุกรุออกมามอบให้กับรัฐบาลกันหลายวัด ส่วนวัดที่ไม่มีพระเครื่องไทยเก่าๆเก็บเอาไว้ ก็จะทำพิธีปลุกเสกพระเครื่องขึ้นมาเพื่อแจกทหารไปรบโดยเฉพาะ
ส่วนหลวงปู่นาคนั้นท่านได้ทำเชือกคาดเอวขึ้นมาจำนวนหลายเส้น แล้วก็มอบให้ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช เพื่อนำไปมอบให้กับรัฐบาลและส่งให้ทหารที่ไปรบในสงครามต่อไป
ซึ่งเชือกคาดเอวของพระครูสุนทรก็มีประสบการณ์ในสงครามครั้งนั้นมาก เล่ากันปากต่อปากถึงพุทธคุณเหนียวยิงฟันไม่เข้าและคลาดแคล้ว จนก็เล่าต่อๆกันไป จนทุกวันนี้เชือกคาดเอวของท่านก็ยังเป็นที่เสาะหาของคนเมืองนครกันอย่างมาก และก็หาชมได้ยากเช่นกัน
โดย : สารานุกรมพระเกจิแห่งแดนสยาม
บทความที่เกี่ยวข้อง
***-[เป็นกำลังใจและสนับสนุนให้เราเขียนบทความดีๆ ด้วยการกดดูโฆษณาด้านล่างนะคะ]-***
ไม่มีความคิดเห็น