โฆษณาแนวนอน728*90

บทความใหม่

ประวัติและวัตถุมงคลหลวงปู่สี วัดเขาถ้ำบุญนาค พระเกจิอายุเกินร้อยปีเผาไม่ไหม้ของนครสวรรค์

ภาพถ่ายหลวงปู่สี วัดถ้ำเขาบุญนาค นครสวรรค์
หลวงปู่สี วัดเขาถ้ำบุญนาค นครสวรรค์

         หลวงปู่สี วัดเขาถ้ำบุญนาค ท่านเป็นพระเกจิที่มีชื่อเสียงโด่งดัง มีอายุเกิน ๑๐๐ ปี พื้นเพท่านเป็นชาวอำเภอรัตนะ จังหวัดสุรินทร์ ท่านเกิดเมื่อปีจอ พ.ศ. ๒๓๙๒ ตรงกับช่วงปลายสมัยรัชกาลที่ ๓  โยมบิดาและโยมมารดาของหลวงปู่มีลูกทั้งหมด ๖ คน ท่านเป็นคนโต ท่านเดิมท่านชื่อ ลี ดำริ (เมื่อมีการใช้นามสกุลขึ้นตระกูลของท่านใช้นามสกุลว่า "ดำริ") ครอบครัวมีอาชีพหาของป่า

         ปี พ.ศ. ๒๔๐๑ ท่านมีอายุได้ ๑๑ ปี โยมพ่อของท่านได้นำท่านไปฝากกับพระอาจารย์อินทร์ ผู้เคยเป็นสหายเก่าของพ่อท่าน โดยพระอาจารย์อินทร์ นั้นถือธุดงควัตรเป็นนิจ ดังนั้นท่านถึงต้องตามพระอาจารย์อินทร์ ตระเวนธุดงค์ด้วยกัน เรียกว่าค่ำไหนนอนนั่น

         จากป่าดงดิบจังหวัดสุรินทร์จนกระทั่งมาถึงเมืองหลวง หรือ กรุงเทพฯ ท่านได้พาหลวงปู่สีมากราบสักการะ พระสหธรรรมิกของท่านคือ ขรัวโต (พระเทพกวี) ซึ่งท่านก็คือสมเด็จพุฒาจารย์ โต พรหมรังสี ในปี พ.ศ. ๒๔๐๓ ซึ่ง พระอาจารย์อินทร์กับสมเด็จโต เป็นศิษย์ร่วมอาจารย์เดียวกันนั้นคือ หลวงตาแสง จังหวัดลพบุรี ท่านทั้ง ๒ จึงสนิทกันมาก

         เมื่อสมเด็จโตท่านได้เห็นรูปร่างลักษณะของเด็กชายลี ก็ยินดีนักด้วยบุคลิก ลักษณะของท่านเป็นที่ถูกใจยิ่งนัก จึงได้รับเด็กชายลีเป็นศิษย์ สมเด็จโตท่านก็ได้อบรมข้อธรรม ถ่ายทอดวิชาต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นอักขระขอมไทย และคาถาอาคมต่างๆ รวมทั้งการปฏิบัติสมาธิจิต จนแตกฉาน ที่ท่านเรียนรู้ง่ายเป็นเพราะว่าท่านมีพื้นฐานมากจากพระอาจารย์อินทร์ได้สอนมา

         ปีพ.ศ. ๒๔๐๗ สมเด็จฯโต ท่านได้เลื่อนสมณศักดิ์จาก พระเทพกวี เป็น สมเด็จพุฒาจารย์ ทางวัดระฆังจึงได้มีการบวชพระและเณรจำนวน ๑๐๘ รูป พร้อมด้วยบวชชีพราหณ์อีกมากมาย เพื่อฉลองตำแหน่ง โดยมีสมเด็จฯโตเป็นพระอุปัชฌาย์ ซึ่งในการบวชเณรนั้นได้มี หลวงปู่สี รวมอยู่ด้วย

         ซึ่งตอนนั้นหลวงปู่สีมีอายุได้ ๑๕ ปี หลังจากที่ได้บวชเป็นเณรแล้วท่านก็ได้อยู่วัดระฆังเพื่อเรียนวิชากับสมเด็จโต ซึ่งรวมถึงการทำผงวิเศษทั้งห้าประการอันศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งมีอยู่ในพระเครื่องของสมเด็จฯ (ปัจจุบันมีมูลค่านับล้านบาท และถือเป็นจักรพรรดิ์พระเครื่อง) 

         ปี พ.ศ. ๒๔๑๑ ในหลวงรัชกาลที่ ๔ ได้เสด็จสวรรคต ทำให้สมเด็จฯโตจะเก็บตัวเงียบไม่ค่อยจะออกมาพบปะญาติโยมเท่าใดนัก ในช่วงนี้สามเณรลี จึงไม่ค่อยได้ติดตามรับใช้สมเด็จฯโต เท่าใดนัก ประกอบกับพระอาจารย์อินทร์ กลับจากธุดงค์มาแวะเยี่ยมสมเด็จฯโต สามเณรลีจึงขออนุญาต สมเด็จฯ กลับไปเยี่ยมโยมพ่อโยมแม่ พร้อมกับพระอาจารย์อินทร์ 

         เมื่อกลับมาเห็นสภาพครอบครัวซึ่งมีความลำบาก ก็ขออนุญาตพระอาจารย์อินทร์ สึกออกมาเพื่อช่วยเหลือครอบครัว พระอาจารย์อินทร์ได้ตรวจดูชะตาของหลวงปู่สี ซึ่งขณะนั้นอายุย่าง ๑๙ ปี ว่าชะตาจะต้องเกี่ยวพันกับทางโลก เมื่อพ้นภาวะกรรม ก็จะบวชไม่สึกและสำเร็จในบั้นปลายชีวิต จึงให้สึกตามคำขอ 

         ชีวิตตอนเป็นหนุ่มท่านเป็นคนจริงไม่เคยเกรงกลัวใครนอกจากทำไร่ทำนา แล้วท่านยังมีอาชีพเป็นนายฮ้อย รับจ้างคุมฝูงวัวไปขายข้ามจังหวัด 

         ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๑๘ มีกบฏฮ่อเกิดขึ้น หลวงปู่สีก็ได้อาสาสมัครเป็นทหารเพื่อไปร่วมรบกับเขาด้วย ปรากฏว่าท่านได้รับเลือกให้อยู่ในหน่วยอาสากล้าตายระดับแนวหน้า ซึ่งตอนนั้นเจ้าพระยาภูธราภัยเป็นแม่ทัพ ภายหลังสามารถปราบกบฏฮ่อลงได้ 

         ท่านได้รับความดีความชอบอย่างมากได้ยศเป็นหัวหมู่ และได้เป็นคนสนิทกับเจ้าพระยาภูธราภัยอีกด้วย ซึ่งเจ้าพระยาได้เรียกหลวงปู่สีในตอนนั้นว่า "ไอ้เสือหาญ" เพราะศึกปราบฮ่อเจ้าพระยาได้เห็นประจักษ์ตาว่า ทหารลี "หนังดีเหนียว ใจกล้า" ตอนหลังได้รับเลื่อนให้เป็นตำรวจหลวงคอยติดตามขบวนเสด็จฯ 

         ปี พ.ศ. ๒๔๓๑ หลวงปู่สีท่านบังเกิดความเบื่อหน่ายทางโลก ท่านจึงได้เข้ารับอุปสมบทเป็นพระภิกษุ ณ พัทธสีมาวัดบ้านเส้า อำเภอบ้านเส้า (อำเภอบ้านหมี่ในปัจจุบัน) จังหวัดลพบุรี ได้รับฉายาว่า "ฉนฺทสิริ" โดยมี

         พระครูธรรมขันธ์สุนทร (เอี่ยม) วัดโพนทอง เป็นพระอุปัชฌาย์

         เมื่อบวชได้ระยะหนึ่งท่านได้เดินทางมาจำพรรษาอยู่ที่ ถ้ำเขาเสียบ เขตตำบลช่องแคอำเภอตาคลี เพราะก่อนบวชท่านเคยอยู่ในเขตนี้มาก่อน หลวงปู่สีท่านถือปฏิบัติในการออกธุดงค์ 

ภาพถ่ายหลวงพ่อเอี่ยม วัดโพนทอง ลพบุรี
หลวงพ่อเอี่ยม วัดโพนทอง ลพบุรี พระอุปัชฌาย์ของหลวงปู่สี

         ตลอดเวลาที่ท่านยังมีสุขภาพแข็งแรงหลวงปู่สี ท่านธุดงค์ไปทั่วประเทศไทย จากเหนือถึงใต้ตะวันออกถึงตะวันตก ท่านไปมาทั้งหมดเคยธุดงค์ไปฝั่งประเทศลาว จำพรรษาอยู่ในประเทศลาวหลายปี ธุดงค์เข้าประเทศพม่าเลยไปประเทศอินเดีย ไปนมัสการสถานที่สำคัญทางพระพุทธศาสนา 

        มีเรื่องเล่าถึงหลวงปู่สี ว่าครั้งหนึ่งท่านธุดงค์ไปภาคเหนือ เพื่อจะไปนมัสการพระบาทสี่รอย เมืองเชียงตุง ประเทศพม่า หลวงปู่ท่านเดินหลงป่า ไม่ได้ฉันอะไรเลยเป็นเวลา ๗ วัน จนรุ่งเช้าของวันที่ ๘ มีช้างป่านำหัวบัว และอ้อยมาถวายท่าน (ไม่ทราบว่าเป็นเทวดาหรือว่าเทวานุภาพดลใจให้ช้างนำมาถวาย) ท่านจึงนำหัวบัวต้มกับน้ำอ้อยฉันและช้างยังเดินนำทางท่านไปจนพบกับบ้านของชาวบ้านป่า 

         ท่านเล่าว่าท่านเดินธุดงค์อยู่ในป่าแห่งหนึ่งทางภาคเหนือ พบชายหญิงกำลังกินอะไรกันอยู่ ท่านจึงเดินไปถามว่า ทำอะไรกันอยู่หรือทั้งสองก็ตอบว่ากำลังกินยาอายุวัฒนะกันอยู่แต่ หลวงพ่อมาช้าไปยาหมดเสียแล้วจะมีเหลืออยู่ก็ตามใบไม้เท่านั้นเอง และทั้งสองคน ก็เก็บยาที่ติดอยู่ตามใบไม้ให้ท่านฉัน ซึ่งมีอยู่เล็กน้อยเท่านั้น 

         ท่านบอกว่าที่ท่านมีอายุยืนก็เพราะยานี้แหละ และยานี้ยังทำให้ท่านมีร่างกายแข็งแรง ไม่หลงลืมเหมือนคนแก่ทั่วๆไป 

         ในการธุดงค์ของท่านนั้นต้องเรียกว่า ยอมตายในผ้าเหลืองเลยทีเดียว หลวงปู่เองได้พบกับอาถรรพ์ในป่ามากมายยิ่งนัก ไม่ว่าจะเป็นสัตว์ร้าย ผีป่า แม้กระทั่งเทวดามาขอฟังธรรมจากท่านเสมอ และระหว่างที่ธุดงค์นั้นหลวงปู่สีเอง ท่านได้พบกับพระเกจิที่มีชื่อเสียงต่อมาในอนาคตมากมาย และได้พบปะสนทนาธรรมจนเป็นพระสหธรรมิกที่สนิทกันมากได้แก่   

         หลวงปู่ศุข วัดปากคลองมะขามเฒ่า  ชัยนาท

         หลวงปู่กลั่น วัดพระญาติการาม   อยุธยา

         หลวงปู่ปาน วัดบางเหี้ย  สมุทรปราการ

         พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต   พระอาจารย์สายกรรมฐาน

         ในสมัยที่หลวงปู่ศุข วัดปากคลองมะขามเฒ่า ยังดำรงขันธ์อยู่ หลวงปู่สีมักจะเดินทางไปสนทนาธรรมกันอยู่บ่อยครั้ง ในบางครั้งหลวงปู่ศุข ก็เดินทางไปพบหลวงปู่สี และบางครั้งก็ไปพบหลวงปู่สี และบางครั้งก็ไปพบกับหลวงปู่กลั่น วัดพระญาติ ทั้งสามท่านมีความผูกพันกันมาก มักจะผลัดเปลี่ยนเวียนกันไปพบซึ่งกันและกัน และในบางครั้งก็ออกธุดงค์ไปตามป่าดงพงเขาด้วยกันในบางครั้งบางคราว 

         พระสหธรรมทั้งสาม หลวงปู่กลั่น หลวงปู่ศุข หลวงปู่สี ทั้งสามเกิดปี ใกล้เคียงกัน หลวงปู่กลั่นวัดพระญาติ เกิดปี พ.ศ. ๒๓๙๐ หลวงปู่ศุข วัดปากคลองมะขามเฒ่า พระอาจารย์ของกรมหลวงชุมพรฯ เกิดปี พ.ศ. ๒๓๙๐ ส่วนหลวงปู่สี เกิดปี พ.ศ. ๒๓๙๒ ซึ่งอ่อนกว่าทั้งสองท่านเพียง ๒ ปี แต่พระอาจารย์ทั้งสามท่านก็มีความผูกพันกัน ธุดงค์และศึกษาปฏิบัติธรรมด้วยกัน มีอะไรก็แลกเปลี่ยนกัน 

         ในครั้งที่หลวงปู่ศุข เป็นเจ้าอาวาสอยู่ที่วัดปากคลองมะขามเฒ่า หลวงปู่สีได้เดินทางไปเยี่ยมและอยู่สนทนาธรรมกัน หลังจากที่ออกพรรษาแล้วหลายวันก็คิดว่าจะออกธุดงค์ไป แต่หลวงปู่ศุขก็ขอร้องให้หลวงปู่สี รออยู่ที่วัดก่อนเช้าวันนั้นหลวงปู่ศุขท่านก็ออกบิณฑบาตร ฝ่ายหลวงปู่สี พอเห็นหลวงปู่ศุขไปแล้วท่านก็เก็บของๆ ท่านที่จำเป็นแล้วออกเดินทางไป 

          เมื่อหลวงปู่ศุข กลับจากบิณฑบาตร ทราบจากพระในวัดว่าหลวงปู่สีท่านไปแล้ว หลวงปู่ศุขจึงให้พระเณรฉันข้าวก่อน เดี๋ยวจะกลับมาฉันด้วย ต่อจากนั้นท่านก็เข้ากุฏินำพระคัมภีร์ ๓ เล่ม ตามไปให้หลวงปู่สี 
         ปรากฏว่าพระอาจารย์ทั้งสองรูปมาพบกันที่ตาคลีจากนั้นหลวงปู่ศุข ท่านก็เดินทางกลับวัดที่ชัยนาท ไปฉันอาหารร่วมกับพระเณรจนเสร็จ พระอาจารย์ทั้งสามรูปนี้ท่านสำเร็จอภิญญาชั้นสูง จึงสามารถย่นระยะทางไปไหนมาไหนได้อย่างรวดเร็ว

         ต่อมาพระอาจารย์สมบูรณ์  เจ้าอาวาสวัดเขาถ้ำบุญนาค ต้องการจะสร้างวัดให้รุ่งเรือง ซึ่งตอนนั้นแทบจะไม่มีอะไรเลยว่ากันว่า พระอาจารย์สมบูรณ์ได้ไปปรึกษา "ปู่โทน หลำแพร" (ท่านเป็นลูกศิษย์ของพระครูเทพโลกอุดร) ฆราวาสผู้มีอาคมสูง 

         ซึ่งปู่โทนหลำแพร ได้แนะนำให้ไปนิมนต์ หลวงปู่สี ซึ่งตอนนั้น ท่านอยู่ที่บ้านหนองพุก ตำบลหนองเรือ อำเภอโนนสัง จังหวัดอุดรธานี (ปัจจุบันเป็นจังหวัดหนองบัวลำภู) ตอนที่ยกขบวนไปรับหลวงปู่สีนั้น หลวงปู่ท่านรู้ล่วงหน้าว่าจะมีผู้มารับไปสร้างวัดท่านจึงเตรียมตัวคอยอยู่แล้ว ทำให้ทุกคนที่ไปนิมนต์หลวงปู่ต่างแปลกใจไปตามๆ กัน 

         ในสมัยแรกที่พระมหาสมบูรณ์ท่านนิมนต์หลวงปู่สีมาอยู่ที่วัดเขาถ้ำบุญนาค ก่อนที่จะมีกุฏิหลังเล็กที่หน้าปากถ้ำหน้าวัด หลวงปู่สีท่านจะจำวัดอยู่บนก้อนหินที่ในถ้ำ มีอยู่คราหนึ่งหลวงปู่สีท่านไม่สบาย ลุงแตงเล่าให้ฟังว่า ตอนนั้นมีอยู่ ๓ คน ที่มานอนเฝ้าหลวงปู่คือ ลุงแตง ทิดสว่าง และลุงขุ่ย นอนกับหลวงปู่ในถ้ำ

         ช่วงพลบค่ำหลวงปู่ท่านมาสะกิดให้ลุงทั้ง ๓ คน ขึ้นมานอนบนก้อนหิน หลวงปู่บอกว่า "เดี๋ยวเขาจะมาคุยกับหลวงปู่" ในถ้ำแห่งนี้จะมีถ้ำเล็กๆ ซอยย่อยออกไปอยู่มากมาย หลังจากที่หลวงปู่สีท่านบอกได้ซักพักก็มีตัวอะไรไม่แน่ใจ เลื้อยออกมาจากถ้ำเล็กที่ปิดไว้ 

         ลำตัวขนาดเท่าลำต้นตาลสีดำ บริเวณหัวมีหงอนสีแดง ยาวเท่าไหร่ไม่รู้เพราะมืด เลื้อยมาชูคอตรงหน้าหลวงปู่สี และหลวงปู่ท่านก็พูดด้วย แต่พูดอะไรกันไม่รู้ สักพักก็เลื้อยออกไปจากถ้ำ ทั้งๆ ที่ถ้ำนั้นทำการปิดไว้อยู่ พอสอบถามหลวงปู่ ท่านก็บอกว่า "เขาเป็นผู้รักษาถ้ำนี้ และมาขอให้ช่วยรักษาถ้ำนี้ ไว้อย่าให้ใคร มาทำลาย"

         เป็นที่รู้จักกันว่าหลวงปู่สี ท่านเป็นพระที่ปฏบัติที่ไม่ติดในวัตถุ ไม่สะสม และไม่ติดยึดในสิ่งใดๆ แม้แต่ความสะดวกสบายต่าง ๆ ที่ ลูกสิษย์ทุกคนพร้อมที่จะถวายให้ท่าน แต่ท่านไม่เอา  

         ในวันหนึ่งท่านพระอาจารย์สมบูรณ์เจ้าอาวาสวัดเขาถ้ำบุญนาค ดำริทีจะสร้างกุฏิหลังใหม่ ให้หลวงปู่สี คณะกรรมการทุกคนก็พร้อมใจกันจึงได้เรียกช่างปูนมาทำการก่อสร้าง โดยสร้างเป็นกุฏิปูนชั้นเดียว พอท่านทราบเรื่องว่าจะสร้างให้ท่าน ท่านก็บอกว่า "จะไม่ยอมไปอยู่ที่กุฏิหลังใหม่" 

         เป็นที่น่ามหัศจรรย์หลังจากที่หลวงปู่สี ท่านพูดเช่นนั้น ช่างปูนที่รับคำสั่งจากท่านเจ้าอาวาสได้ลงมือก่อสร้างกุฏิหลังใหม่ วันนั้นปรากฏว่า ช่างปูนไม่สามารถฉาบปูนได้เลย เพราะฉาบปูนเท่าใดก็ไม่ติดจนกระทั่งช่างปูนนึกท้อใจ เพราะไม่เคยเป็นเช่นนี้มาก่อนเลยในชีวิตที่รับงานก่อสร้างมานับไม่ถ้วน ในที่สุดก็ตัดสินใจเลิกทำ

         ความทราบถึงท่านเจ้าอาวาส และพระอาจารย์รักษ์ เตชธัมโม ซึ่งเป็นพระอุปัฏฐากของหลวงปู่ ได้ไปนมัสการหลวงปู่สีและได้ถามท่านว่า "หลวงปู่ครับ ทำไมไปแกล้งช่างปูนอย่างนั้นครับ หากหลวงปู่ไม่อยากอยู่ก็ไม่เป็นไรครับ ให้ช่างปูนเขาสร้างให้เสร็จก่อน" 

         หลวงปู่สีท่านจึงกล่าวว่าก็ให้เขามาทำใหม่สิต่อจากนั้นอีก ๒ วัน พระอาจารย์สมบรูณ์ ท่านเจ้าอาวาสก็เรียกช่างมาทำใหม่ ซึ่งคราวนี้ช่างปูนสามารถฉาบปูนได้เป็นผลสำเร็จ อย่างไม่มีปัญหา เพียงวันเดียวก็สามารถฉาบปูนสำเร็จเสร็จ

         เมื่อราวต้นปี พ.ศ. ๒๕๑๙ ทางวัดเขาถ้ำบุญนาค ได้มีการจัดให้มีงานประจำปีขึ้น ซึ่งไปตรงกับงานอีกวัดหนึ่งในจังหวัดชลบุรี ซึ่งทางวัดก็ได้นิมนต์หลวงปู่สี ไปโปรดญาติโยมชาวจังหวัดชลบุรี ในงานที่วัด หลวงปู่สีก็รับปากว่าจะไปคือในวันที่ ๑๘ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๑๙ ต่อมาวันงานที่ชลบุรีหลวงปู่ท่านก็ไปประพรมน้ำมนต์ให้ญาติโยมในงานด้วยตามคำนิมนต์ วันถัดมาชาวจังหวัดชลบุรีก็ได้เหมารถมาเที่ยวที่วัดเขาถ้ำบุญนาค ตั้งใจมากราบหลวงปู่สี เพราะติดใจหลวงปู่สี ที่ได้กราบรับพรจากท่านเมื่อวานนี้ที่จังหวัดชลบุรี

         ข่าวที่หลวงปู่เดินทางไปจังหวัดชลบุรี ในเมื่อวานนี้ แพร่ออกไป เหล่าลูกศิษย์หลวงปู่ที่วัดเขาถ้ำบุญนาค ต่างก็แปลกใจและงงไปตามๆ กัน เพราะว่าเมื่อวานนี้หลวงปู่ท่านไม่ได้ไปไหน ท่านอยู่ที่วัดเขาบุญนาคตลอดเวลา เพราะว่าทางวัดมีงาน มีคนกราบไหว้หลวงปู่อยู่ตลอดเวลา พระและลูกศิษย์ที่วัดเขาถ้ำบุญนาค จึงไปกราบถามหลวงปู่ว่า "หลวงปู่ครับ เมื่อวานนี้หลวงปู่ไปเมืองชลบุรีมาหรือครับ" หลวงปู่ท่านไม่ตอบ พอมีคนถามนัก ท่านก็เลยล้มตัวลงนอน เลยไม่มีใครกล้าถามอะไรท่านอีก

         ครั้นพอถึงเวลาฉันเพลแล้ว ชาวชลบุรีก็นำอาหารที่เตรียมมาถวายเพล ท่านก็ลุกขึ้นมานั่งยองๆ ฉันอาหาร โดยมีแมวและสุนัขนั่งล้อมหน้าล้อมหลัง ชาวจังหวัดชลบุรีกลุ่มนั้น เมื่อได้เห็นอากัปกิริยาของหลวงปู่เช่นนั้น คือนั่งไม่สำรวม ก็ไม่ศรัทธา จึงได้พากันเดินทางต่อไปยังวัดท่าซุง เพื่อกราบนมัสการหลวงพ่อฤาษีลิงดำ

          พวกเขาได้เล่าให้หลวงพ่อฤาษีลิงดำฟังถึงหลวงปู่สีว่า "เป็นพระที่ไม่น่านับถือ" แต่หลวงพ่อฤาษีลิงดำท่านกลับตอบไปว่า "กราบฉันแสนครั้งยังไม่เท่าได้กราบหลวงปู่สีครั้งเดียว" ต่อมาภายหลังชาวชลบุรีกลุ่มนี้ก็กลับกลายมาเป็นศิษย์ที่นับถือหลวงปู่สีมาก ที่สุดกลุ่มหนึ่งอย่างไม่น่าเชื่อ

         ถ้าจะพูดถึงวัตถุมงคลของหลวงปู่สี อันดับต้นที่คนนึกถึงคือ ชานหมาก ของหลวงปู่สี นั่นเป็นเพราะยุคแรกที่ท่านมาอยู่วัดเขาถ้ำบุญนาคนั้น ตอนนั้นท่านไม่อนุญาตให้สร้างวัตถุมงคลใดๆ ใครมาขอของดีท่านก็จะให้แต่ชานหมาก ดังนั้นชานหมากถือเป็นวัตถุมงคลอันดับต้นๆ ที่มีคนอยากได้มากที่สุด และก็ดูยากที่สุดปัจจุบัน

         หลวงปู่สีนั้นไม่ว่าท่านจะหยิบจะจับอะไรล้วนแล้วแต่กลับกลายเป็นของศักดิ์สิทธิ์ไปทั้งสิ้น แม้แต่ผ้าที่ท่านใช้เช็ดปาก เช็ดน้ำหมากก็ตามที ท่านมักฉีกเอาไปผูกคอสุนัขบ้าง แมวบ้าง ด้วยความเมตตาที่มันถูกรังแกบ่อยๆ 

         จนมีเรื่องเล่าสืบต่อกันมาว่าครั้งหนึ่งมีสุนัขบ้านใกล้ๆวัดหลงเข้ามาคลุกคลีกับท่าน ท่านจึงเอาผ้าเช็ดน้ำหมากฉีกผูกคอมันไป ต่อมาสุนัขตัวนั้นไปรบกวนสัตว์อื่นเช่น เป็ด ไก่ จนกระทั่งเจ้าของสัตว์เหล่านั้นเหลือจะทน จึงได้ใช้ปืนลูกซองยิงมัน แต่ปรากฏว่า ด้วยอานุภาพผ้าเช็ดน้ำหมากยิงถูกแต่ไม่เข้า สุนัขตัวนั้นวิ่งกลับไปยังบ้านเจ้าของ ของมัน 

         ผู้เห็นเหตุการณ์นำเรื่องนี้ไปบอกเล่าให้เจ้าของบ้านฟัง ก็เลยเกิดการถอดผ้าผืนนั้น เก็บไว้บูชาเสียเอง ภายหลังเมื่อสุนัขตัวนั้นเข้าไปในวัดอีก หลวงปู่ท่านก็ได้เมตตาผูกให้มันใหม่ และจากเหตุนี้เองทำให้ผ้าเช็ดน้ำหมากของหลวงปู่เป็นที่ต้องการของชาวบ้านหลายๆ คน จึงมีเหตุให้ผ้าเช็ดน้ำหมากของท่านอันตรธานไปบ่อยๆ 

         แต่ใช่ว่าหลวงปู่จะหลงลืม เปล่าเลย ท่านจำของท่านได้ว่าท่านมีของท่านกี่ผืน จนกระทั่งท่านบ่นว่า เอาไปทำไมกัน แต่ก็ห้ามศรัทธาของชาวบ้านไม่ได้ 

         หลวงปู่สี ท่านเป็นผู้มีเมตตาธรรมมสูงอยู่แล้ว ท่านก็เลยปล่อยเลยตามเลย ต่อมาอย่าว่าแต่ผ้าเช็ดน้ำหมากหลวงปู่ แม้แต่ผ้าเช็ดกุฏิหลวงปู่ ก็มีผู้ศรัทธาหลวงปู่นำเก็บไปไว้บูชา และต่างถือว่าล้วนเป็นของศักดิ์สิทธิ์ทั้งสิ้น อิทธิปฎิหารของท่านมีมากมายคงเล่าไม่หมด หากจะกล่าวถึงวัตถุมคล ที่ท่านได้ปลุกเสกแล้ว นั่นคือของศักดิ์สิทธิ์ยิ่ง เพราะนั่นคือของ พระอรหันต์ที่ท่านได้ปลุกเสกเอง

         หลวงปู่สี ท่านเป็นพระผู้ทรงรัตตัญญูรู้กาลนาน ผ่านมาถึง ๗ รัชกาล หลวงปู่ท่านมาอยู่ที่วัดเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๒ เป็นเวลา ๘ ปีที่ท่านได้อยู่วัดเขาถ้ำบุญนาค หลวงปู่ท่านจึงเริ่มอาพาธหนักและได้มรณภาพลงอย่างสงบ เมื่อวันที่ ๒๓ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๒๐ นับรวมสิริอายุได้ ๑๒๘ ปี ๘๙ พรรษา.

         ปัจจุบัน ทางวัดได้เก็บสังขารท่านบรรจุในโรงแก้วเพื่อให้สาธุชนได้สักการะบูชา จะเห็นได้ว่า ความศรัทธาที่มีต่อท่านในอดีต ไม่เคยจางหายไปตราบจนปัจจุบัน.

วัตถุมงคลของหลวงปู่สี วัดเขาถ้ำบุญนาค

         เหรียญหลวงปู่สี วัดเขาถ้ำบุญนาค รุ่นแรก

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๑๔ เพื่อแจกเป็นที่ระลึกงานสร้างอุโบสถวัดเขาถ้ำบุญนาค ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มรูปวงกลมแบบมีหูในตัว มีการจัดสร้างด้วยเนื้อทองแดง จำนวน ๕,๐๐๐ เหรียญ และเนื้ออัลปาก้าชุบนิเกิ้ล จำนวน ๕,๐๐๐ เหรียญ

เหรียญหลวงปู่สี วัดถ้ำเขาบุญนาค นครสวรรค์ รุ่นแรก 2514 อัลปาก้า
เหรียญหลวงปู่สี วัดเขาถ้ำบุญนาค นครสวรรค์ รุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๕๑๔ เนื้ออัลปาก้า
เหรียญหลวงปู่สี วัดถ้ำเขาบุญนาค นครสวรรค์ รุ่นแรก 2514 ทองแดง
เหรียญหลวงปู่สี วัดเขาถ้ำบุญนาค นครสวรรค์ รุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๕๑๔ เนื้อทองแดง

         ด้านหน้า มีรูปจำลองหลวงปู่สีครึ่งองค์ห่มจีวรลดไหล่ พาดผ้าสังฆาฏิ ข้างรูปหลวงพ่อมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "หลวงปู่สี ฉนฺทสิริ อายุ ๑๒๑ ปี" 

         ด้านหลัง กลางเหรียญมีอักขระยันต์สามอ่านได้ว่า "มะ อะ อุ" รอบอักขระยันต์มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "ที่ระลึกงานสร้างพระอุโบสถ วัดเขาถ้ำบุญนาค อ.ตาคลี จ.นครสวรรค์ ๒๕๑๔"

         เหรียญหลวงปู่สี วัดเขาถ้ำบุญนาค รุ่นอายุยืน (เต็มองค์)

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๑๗ โดยนายแพทย์วิเชียร ตระกูลสิน และ จ.อ.นริศ ไชยมงคล ขออนุญาติหลวงปู่ในการจัดสร้าง เพื่อแจกให้กับผู้ที่บริจาคทรัพย์ให้กับทางวัดก่อสร้างพระอุโบสถให้แล้วเสร็จ ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มรูปไข่แบบมีหูในตัว มีการสร้างด้วยเนื้อทองคำ จำนวน ๑๕ เหรียญ เนื้อเงิน จำนวนสร้าง ๑๒๕ เหรียญ เนื้อนวะโลหะ จำนวนสร้าง ๑,๑๒๕ เหรียญ และเนื้อทองแดง จำนวนสร้าง ๘,๘๖๐ เหรียญ

เหรียญหลวงปู่สี วัดเขาถ้ำบุญนาค นครสวรรค์ รุ่นอายุยืน เต็มองค์ 2517 นวะโลหะ
เหรียญหลวงปู่สี วัดเขาถ้ำบุญนาค นครสวรรค์ รุ่นอายุยืน(เต็มองค์) ปี พ.ศ. ๒๕๑๗ เนื้อนวะโลหะ ของคุณโทน บางแค
เหรียญหลวงปู่สี วัดเขาถ้ำบุญนาค นครสวรรค์ รุ่นอายุยืน เต็มองค์ 2517 ทองแดง
เหรียญหลวงปู่สี วัดเขาถ้ำบุญนาค นครสวรรค์ รุ่นอายุยืน(เต็มองค์) ปี พ.ศ. ๒๕๑๗ เนื้อทองแดง

         ด้านหน้า มีรูปจำลองหลวงปู่สีนั่งสมาธิเต็มองค์บนตั่ง องค์หลวงพ่อห่มจีวรลดไหล่ พาดผ้าสังฆาฏิรัดประคต ที่สังฆาฏิหลวงปู่มีอักขระยันต์อ่านว่า "อะ นะ อะ" ใต้รูปหลวงพ่อมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "อายุยืน"

         ด้านหลัง กลางเป็นรูปอักขระยันต์ ๓ อ่านได้ว่า "มะ อะ อุ พุท ธะ สัง มิ อะ อะ" ขอบมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "หลวงปู่สี ฉนฺทสิริ อายุ ๑๒๕ วัดเขาถ้ำบุญนาค ๒๕๑๗" โดยเหรียญรุ่นนี้จะมีการตอกโค๊ด "ส" ไว้ที่ด้านหลังเหรียญบริเวณข้างยันต์ใบพัดด้านขวาทุกเหรียญ

         เหรียญหลวงปู่สี วัดเขาถ้ำบุญนาค รุ่นอายุยืน (ครึ่งองค์)

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๑๗ โดยนายแพทย์วิเชียร ตระกูลสิน และ จ.อ.นริศ ไชยมงคล ขออนุญาติหลวงปู่ในการจัดสร้าง เพื่อแจกให้กับผู้ที่บริจาคทรัพย์ให้กับทางวัด ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มรูปไข่แบบมีหูในตัว มีการสร้างด้วยเนื้อเงิน เนื้อนวะโลหะ และเนื้อทองแดง จำนวนการสร้างรวมกัน ๑๐,๐๐๐เหรียญ

เหรียญหลวงปู่สี วัดเขาถ้ำบุญนาค นครสวรรค์ รุ่นอายุยืน ครึ่งองค์ 2517 นวะโลหะ
เหรียญหลวงปู่สี วัดเขาถ้ำบุญนาค นครสวรรค์ รุ่นอายุยืน(ครึ่งองค์) ปี พ.ศ. ๒๕๑๗ เนื้อนวะโลหะ
เหรียญหลวงปู่สี วัดเขาถ้ำบุญนาค นครสวรรค์ รุ่นอายุยืน ครึ่งองค์ 2517 ทองแดง
เหรียญหลวงปู่สี วัดเขาถ้ำบุญนาค นครสวรรค์ รุ่นอายุยืน(ครึ่งองค์) ปี พ.ศ. ๒๕๑๗ เนื้อทองแดง

         ด้านหน้า มีรูปจำลองหลวงปู่สีครึ่งองค์ห่มจีวรลดไหล่ พาดผ้าสังฆาฏิ ที่สังฆาฏิหลวงปู่มีอักขระยันต์อ่านว่า "อะ นะ อะ" ใต้รูปหลวงพ่อมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "อายุยืน"

         ด้านหลัง กลางเป็นรูปอักขระยันต์ ๓ อ่านได้ว่า "มะ อะ อุ พุท ธะ สัง มิ อะ อะ" ขอบมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "หลวงปู่สี ฉนฺทสิริ อายุ ๑๒๕ วัดเขาถ้ำบุญนาค ๒๕๑๗" 

         พระปรกใบมะขามหลวงปู่สี วัดเขาถ้ำบุญนาค รุ่นแรก

         สร้างขั้นในปี พ.ศ. ๒๕๑๗ โดยนายแพทย์วิเชียร ตระกูลสิน และ จ.อ นริศ ไชยมงคล สร้างถวายหลวงปู่สี โดยสร้างพร้อมเหรียญอายุยืนเต็มองค์และเหรียญขวัญถุงรุ่นแรก ลักษณะเป็นพระปรกใบมะขามขนาดเล็กทรง ๕ เหลี่ยม มีการสร้างด้วยกัน ๓ เนื้อ คือ เนื้อทองแดง เนื้อนวะโละ และเนื้อเงิน จำนวนการสร้างรวมทั้ง ๓ เนื้อประมาณ ๑๐,๐๐๐ องค์

พระปรกใบมะขามหลวงปู่สี วัดเขาถ้ำบุญนาค นครสวรรค์ รุ่นแรก 2517 ทองแดง
พระปรกใบมะขามหลวงปู่สี วัดเขาถ้ำบุญนาค นครสวรรค์ รุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๕๑๗ เนื้อทองแดง

         ด้านหน้า มีรูปจำลองพระนาคปรก ๗ เศียร องค์พระเป็นแบบศิลปะขอม มีรัดแขน

         ด้านหลัง กลางเป็นรูปอักขระยันต์อ่านได้ว่า "อะ" ใต้อักขระยันต์มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "ส" 

         เหรียญขวัญถุงหลวงปู่สี วัดเขาถ้ำบุญนาค รุ่นแรก

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๑๗ โดยนายแพทย์วิเชียร ตระกูลสิน และ จ.อ.นริศ ไชยมงคล ขออนุญาติหลวงปู่ในการจัดสร้าง เพื่อแจกให้กับผู้ที่บริจาคทรัพย์ให้กับทางวัด ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มรูปวงกลม มีการสร้างด้วยเนื้อทองแดงเพียงชนิดเดียวเท่านั้น จำนวนการสร้างรวมกับพิมพ์เรียบประมาณ ๔,๐๐๐ เหรียญ โดยเหรียญขวัญถุงรุ่นแรกนี้ ผู้สร้างทั้งสองท่านได้นำเหรียญรุ่นนี้ใส่ถาดแล้วเข้าไปกราบขอให้เสกให้ ในคราแรกท่านนั่งเฉยอยู่นานไม่ยอมปลุกเสก 

         ครั้นพระลูกศิษย์ใกล้ชิดเข้าไปแจ้งถึงมูลเหตุที่จัดสร้างท่านจึงยอมปลุกเสกให้ โดยหลวงปู่สีท่านใช้มือคนๆ ๓ รอบ แล้วก้มลงเป่า ๓ ครั้งเท่านั้น จากนั้นท่านก็ปรารภกับผู้จัดสร้างว่า "พอ..ใช้ได้แล้ว" ทำเอาผู้สร้างหน้าเสียนิ่งอึ้งกันหมด คิดว่าท่านไม่เต็มใจเสกให้ แต่ปรากฏว่าภายหลังจากออกให้บูชาเหรียญรุ่นนี้นั้น เกิดปาฏิหาริย์มากมาย คนที่แขวนเหรียญรุ่นนี้ถูกยิงด้วยลูกซองเต็มอกแต่ไม่เข้า ด้วยพุทธคุณที่สูงมาก ทำให้เหรียญรุ่นนี้ถูกบูชาหมดไปอย่างรวดเร็ว

เหรียญขวัญถุงหลวงปู่สี วัดถ้ำเขาบุญนาค นครสวรรค์ 2517 รุ่นแรก ทองแดง
เหรียญขวัญถุงหลวงปู่สี วัดเขาถ้ำบุญนาค นครสวรรค์ รุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๕๑๗ เนื้อทองแดง

         ด้านหน้า มีรูปจำลองหลวงปู่สีครึ่งองค์ห่มจีวรลดไหล่ พาดผ้าสังฆาฏิ ใต้รูปหลวงปู่มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "หลวงปู่สี" 

         ด้านหลัง กลางเป็นรูปถุงเงินถุงทอง มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "มั่งมี ศรีสุข" ขอบมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "ขวัญถุง หลวงปู่สี" 

         เหรียญขวัญถุงหลวงปู่สี วัดเขาถ้ำบุญนาค รุ่นแรก หลังเรียบ

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๑๗ โดยนายแพทย์วิเชียร ตระกูลสิน และ จ.อ.นริศ ไชยมงคล ขออนุญาติหลวงปู่ในการจัดสร้าง เพื่อแจกให้กับผู้ที่บริจาคทรัพย์ให้กับทางวัด ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มรูปวงกลม มีการสร้างด้วยเนื้อทองแดงเพียงชนิดเดียวเท่านั้น จำนวนการสร้างรวมกับพิมพ์หลังมั่งมีศรีสุขประมาณ ๔,๐๐๐ เหรียญ

เหรียญกลมหลวงปู่สี วัดถ้ำเขาบุญนาค นครสวรรค์ 2517 หลังเรียบ ทองแดง
เหรียญขวัญถุงหลวงปู่สี วัดเขาถ้ำบุญนาค นครสวรรค์ รุ่นแรก(หลังเรียบ) ปี พ.ศ. ๒๕๑๗ เนื้อทองแดง

         ด้านหน้า มีรูปจำลองหลวงปู่สีครึ่งองค์ห่มจีวรลดไหล่ พาดผ้าสังฆาฏิ ที่สังฆาฏิมีอักขระยันต์ "นะ ฤชา" ใต้รูปหลวงปู่มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "หลวงปู่สี ฉนฺทสิริ" 

         ด้านหลัง เรียบ ไม่ปรากฏอักขระใดๆ

         เหรียญขวัญถุงหลวงปู่สี วัดเขาถ้ำบุญนาค รุ่น ๒

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๑๘ หลังจากที่เหรียญขวัญถุงรุ่นแรกหมดไปอย่างรวดเร็ว เพื่อแจกให้กับผู้ที่บริจาคทรัพย์ให้กับทางวัด ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มรูปวงกลมแบบ โดยแบ่งออกเป็นพิมพ์มีหูในตัวและไม่มีหู มีการสร้างด้วยเนื้อทองแดงเพียงชนิดเดียวเท่านั้น  จำนวนการสร้าง ๕,๐๐๐ เหรียญ

เหรียญขวัญถุงหลวงปู่สี วัดถ้ำเขาบุญนาค นครสวรรค์ 2518 ทองแดง ไม่มีหู
เหรียญขวัญถุงหลวงปู่สี วัดถ้ำเขาบุญนาค นครสวรรค์ รุ่น ๒(ไม่มีหู) ปี พ.ศ. ๒๕๑๘ เนื้อทองแดง

เหรียญขวัญถุงหลวงปู่สี วัดถ้ำเขาบุญนาค นครสวรรค์ 2518 ทองแดง ไม่มีหู
เหรียญขวัญถุงหลวงปู่สี วัดถ้ำเขาบุญนาค นครสวรรค์ รุ่น ๒(ไม่มีหู) ปี พ.ศ. ๒๕๑๘ เนื้อทองแดง

เหรียญขวัญถุงหลวงปู่สี วัดถ้ำเขาบุญนาค นครสวรรค์ 2518 ทองแดง มีหู
เหรียญขวัญถุงหลวงปู่สี วัดเขาถ้ำบุญนาค นครสวรรค์ รุ่น ๒(มีหู) ปี พ.ศ. ๒๕๑๘ เนื้อทองแดง

         ด้านหน้า มีรูปจำลองหลวงปู่สีครึ่งองค์พาดผ้าสังฆาฏิ ขอบเหรียญมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "เหรียญของขวัญ หลวงปู่สี ฉันทสิริอ.ตาคลี" 

         ด้านหลัง กลางเป็นรูปถุงเงิน มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "บาท ๙๙๙๙๙๙" ขอบถุงซ้ายขวามีอักขระยันต์ ใต้รูปถุงเงินมีอักขระเลขไทยเขียนว่า "๒๕๑๘" ซึ่งคือปีที่สร้างเหรียญ

         เหรียญหลวงปู่สี วัดเขาถ้ำบุญนาค รุ่นมหาลาภ

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๑๘ โดยคณะศิษย์ตาคลีร่วมกันจัดสร้าง เพื่อแจกให้กับผู้ที่บริจาคทรัพย์ให้กับทางวัด ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มรูปไข่แบบมีหูในตัว มีการสร้างด้วยเนื้อเงิน เนื้อนวโลหะ เนื้ออัลปาก้า และเนื้อทองแดง จำนวนการสร้างรวมกัน ๑๐,๐๐๐เหรียญ ซึ่งหรียญรุ่นนี้มีทั้งตอกโค๊ต และไม่ตอกโค๊ตโดยเนื้อเงิน เนื้ออัลปาก้า เนื้อนวโลหะ จะตอกโค๊ต ภาษาจีน อ่านว่า สี ส่วนเนื้อทองแดงส่วนใหญ่จะไม่ตอกโค๊ต

เหรียญมหาลาภหลวงปู่สี วัดเขาถ้ำบุญนาค นครสวรรค์ 2518 นวะโลหะ
เหรียญหลวงปู่สี วัดเขาถ้ำบุญนาค นครสวรรค์ รุ่นมหาลาภ ปี พ.ศ. ๒๕๑๘ เนื้อนวโลหะ
เหรียญมหาลาภหลวงปู่สี วัดเขาถ้ำบุญนาค นครสวรรค์ 2518 อัลปาก้า
เหรียญหลวงปู่สี วัดเขาถ้ำบุญนาค นครสวรรค์ รุ่นมหาลาภ ปี พ.ศ. ๒๕๑๘ เนื้ออัลปาก้า
เหรียญมหาลาภหลวงปู่สี วัดถ้ำเขาบุญนาค นครสวรรค์ 2518 อัลปาก้า
เหรียญหลวงปู่สี วัดเขาถ้ำบุญนาค นครสวรรค์ รุ่นมหาลาภ ปี พ.ศ. ๒๕๑๘ เนื้ออัลปาก้า ของร้านสวัสดี
เหรียญมหาลาภหลวงปู่สี วัดถ้ำเขาบุญนาค นครสวรรค์ 2518 ทองแดง
เหรียญหลวงปู่สี วัดเขาถ้ำบุญนาค นครสวรรค์ รุ่นมหาลาภ ปี พ.ศ. ๒๕๑๘ เนื้อทองแดง

         ด้านหน้า มีรูปจำลองหลวงปู่สีนั่งสมาธิเต็มองค์ องค์หลวงปู่ห่มจีวรลดไหล่ พาดผ้าสังฆาฏิ ข้างรูปหลวงปู่มีอักขระยันต์อ่านว่า "นะ ชา ลี ติ" ขอบเหรียญมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "เหรียญมหาลาภ รุ่น ๑ หลวงปู่สี ฉนฺทศิริ อายุ ๑๒๖ ปี" 

         ด้านหลัง กลางเป็นรูปอักขระยันต์ ๓ อ่านได้ว่า "นะ มะ อะ อุ" ขอบมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "คณะศิษยานุศิษย์ อ.ตาคลี จ.นครสวรรค์ สร้างถวาย พ.ศ. ๒๕๑๘ วัดเขาถ้ำบุญนาค อ.ตาคลี จ.นครสวรรค์" 

         เหรียญหลวงปู่สี วัดเขาถ้ำบุญนาค รุ่นกนกข้าง

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๑๘  เพื่อแจกให้กับผู้ที่บริจาคทรัพย์ให้กับทางวัด ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มรูปไข่แบบมีหูในตัว มีการสร้างด้วยเนื้อนวโลหะ จำนวนการสร้าง ๑๒๖ เหรียญ และเนื้อทองแดง จำนวนการสร้าง ๑,๐๐๐ เหรียญ ซึ่งหรียญรุ่นนี้มีการตอกโค๊ต โดยเนื้อนวโลหะจะตอกโค๊ด นะฤชา ที่ด้านหน้า ส่วนเนื้อทองแดงจะตอกโค้ดที่ด้านหลัง

เหรียญหลวงปู่สี วัดเขาถ้ำบุญนาค นครสวรรค์ รุ่นกนกข้าง  2518 นวะโลหะ
เหรียญหลวงปู่สี วัดเขาถ้ำบุญนาค นครสวรรค์ รุ่นกนกข้าง ปี พ.ศ. ๒๕๑๘ เนื้อนวโลหะ
เหรียญหลวงปู่สี วัดเขาถ้ำบุญนาค นครสวรรค์ รุ่นกนกข้าง  2518 ทองแดง
เหรียญหลวงปู่สี วัดเขาถ้ำบุญนาค นครสวรรค์ รุ่นกนกข้าง ปี พ.ศ. ๒๕๑๘ เนื้อทองแดง

         ด้านหน้า มีรูปจำลองหลวงปู่สีครึ่งองค์ห่มจีวรลดไหล่ พาดผ้าสังฆาฏิ ข้างรูปหลวงปู่มีลายกนก ที่สังฆาฏิมีอักขระยันต์อ่านว่า "นะ ฤชา" ใต้รูปหลวงปู่มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "ฉนฺทสิริ" 

         ด้านหลัง กลางเป็นรูปอักขระยันต์ ๓ อ่านได้ว่า "นะ มะ อะ อุ นะ ชา ลี ติ" ด้านบนยันต์มีอักขระยันต์อ่านได้ว่า "อะ นะ อะ" ขอบเหรียญมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "หลวงปู่สี ฉนฺทสิริ อายุ ๑๒๖ ปี วัดเขาถ้ำบุญนาค อ.ตาคลี จ.นครสวรรค์" 

         เหรียญหลวงปู่สี วัดเขาถ้ำบุญนาค รุ่นพญานาค

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๑๘ โดยเจ้าหน้าที่โรงงานปูนซีเมนต์ตาคลีขออนุญาคิหลวงปู่สร้าง เพื่อแจกให้กับผู้ที่บริจาคทรัพย์สร้างถนน และสร้างศาลาให้กับทางวัด ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มรูปไข่แบบมีหูในตัว มีการสร้างด้วยเนื้อทองแดงเพียงชนิดเดียวเท่านั้น จำนวนการสร้าง ๑๐,๐๐๐เหรียญ โดยมีการตอกโค๊ดรูปดาวไว้ข้างหลัง และไม่ตอกโค๊ต เนื่องจากหลังปลุกเสกเสร็จ ทางวัดได้นำมาแจกส่วนหนึ่ง หลังจากนั้น ๓ วัน ผู้สร้างจึงนำโค๊ตมาตอก ข้อมูลเหล่านี้ยังมีการถกเถียงกันอยู่

เหรียญหลวงปู่สี วัดเขาถ้ำบุญนาค นครสวรรค์ รุ่นพญานาค  2518 ทองแดงรมน้ำตาล
เหรียญหลวงปู่สี วัดเขาถ้ำบุญนาค นครสวรรค์ รุ่นพญานาค ปี พ.ศ. ๒๕๑๘ เนื้อทองแดงรมน้ำตาล
เหรียญหลวงปู่สี วัดเขาถ้ำบุญนาค นครสวรรค์ รุ่นพญานาค  2518 ทองแดงผิวไฟ
เหรียญหลวงปู่สี วัดเขาถ้ำบุญนาค นครสวรรค์ รุ่นพญานาค ปี พ.ศ. ๒๕๑๘ เนื้อทองแดงผิวไฟ

         ด้านหน้า มีรูปจำลองหลวงปู่สีครึ่งหันข้าง องค์หลวงปู่ห่มจีวรลดไหล่ พาดผ้าสังฆาฏิ ที่สังฆาฏิมีอักขระยันต์อ่านว่า "อะ นะ(ฤชา) อะ" 

         ด้านหลัง กลางเป็นรูปพญานาค ใต้รูปพญานาคมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "รุ่น พิเศษ ๒๕๑๘" ขอบเหรียญมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "หลวงปู่สี ฉนฺทสิริ วัดเขาถ้ำบุญนาค อ.ตาคลี จ.นครสวรรค์" 

         เหรียญหลวงปู่สี วัดเขาถ้ำบุญนาค รุ่นพรหมวิหารธรรม

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๑๘ โดยนายเรียน นุ่มดี(ผู้บัญชาการเรือนจำจังหวัดนครศรีอยุธยา)เป็นผู้ดำเนินการสร้าง เพื่อแจกให้กับผู้ที่บริจาคทรัพย์ให้กับทางวัด ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มรูปวงกลมแบบมีหูในตัว มีการสร้างด้วยเนื้อเงิน และเนื้อทองแดง จำนวนการสร้างรวมกันประมาณ ๕,๐๐๐ เหรียญ โดยมีโค๊ด ส ขอม ไว้ที่คอ

เหรียญหลวงปู่สี วัดถ้ำเขาบุญนาค นครสวรรค์ รุ่นพรหมวิหารธรรม 2518 เงิน
เหรียญหลวงปู่สี วัดเขาถ้ำบุญนาค นครสวรรค์ รุ่นพรหมวิหารธรรม ปี พ.ศ. ๒๕๑๘ เนื้อเงิน
เหรียญหลวงปู่สี วัดถ้ำเขาบุญนาค นครสวรรค์ รุ่นพรหมวิหารธรรม 2518 ทองแดง
เหรียญหลวงปู่สี วัดเขาถ้ำบุญนาค นครสวรรค์ รุ่นพรหมวิหารธรรม ปี พ.ศ. ๒๕๑๘ เนื้อทองแดง

         ด้านหน้า มีรูปจำลองหลวงปู่สีครึ่งหันข้าง องค์หลวงปู่ห่มจีวรลดไหล่ พาดผ้าสังฆาฏิ ที่ขอบเหรียญมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "หลวงปู่สี ฉนฺทสิริ อายุ ๑๒๖ ปี" 

         ด้านหลัง  กลางเป็นรูปอักขระยันต์ ๓ อ่านได้ว่า "นะ มะ อะ อุ เม อะ เม อุ" ขอบเหรียญด้านบนมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "เหรียญพรหมวิหารธรรม" ขอบเหรียญด้านล่างมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "วัดเขาถ้ำบุญนาค จ.นครสวรรค์ ๒๕๑๘" 

         เหรียญหลวงปู่สี วัดเขาถ้ำบุญนาค รุ่นจตุรพิธพรชัย

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๑๘ โดยนายเรียน นุ่มดี(ผู้บัญชาการเรือนจำจังหวัดนครศรีอยุธยา)เป็นผู้ดำเนินการสร้าง เพื่อหารายได้ไปปฏิสังขรวัดเขาใหญ่ ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มรูปวงกลมแบบมีหูในตัว มีการสร้างด้วยเนื้อเงิน และเนื้อทองแดง จำนวนการสร้างรวมกัน ๕,๕๙๙ เหรียญ โดยผู้จัดสร้างได้ให้หลวงปู่สีปลุกเสก ต่อมาทำพิธีปลุกเสกใหญ่อีก ๑ ครั้ง เมื่อวันที่ ๑ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๑๘ ที่วัดรัตนชัยฯ อยุธยา

เหรียญหลวงปู่สี วัดถ้ำเขาบุญนาค นครสวรรค์ รุ่นจตุรพิธพรชัย 2518 เงิน
เหรียญหลวงปู่สี วัดเขาถ้ำบุญนาค นครสวรรค์ รุ่นจตุรพิธพรชัย ปี พ.ศ. ๒๕๑๘ เนื้อเงิน
เหรียญหลวงปู่สี วัดถ้ำเขาบุญนาค นครสวรรค์ รุ่นจตุรพิธพรชัย 2518 ทองแดง
เหรียญหลวงปู่สี วัดเขาถ้ำบุญนาค นครสวรรค์ รุ่นจตุรพิธพรชัย ปี พ.ศ. ๒๕๑๘ เนื้อทองแดง

         ด้านหน้า มีรูปจำลองหลวงปู่สีครึ่งองค์ห่มจีวรลดไหล่ พาดผ้าสังฆาฏิ ที่สังฆาฏิหลวงปู่มีอักขระยันต์ว่า "ส" ตัวขอม ที่ขอบเหรียญมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "หลวงปู่สี ฉนฺทสิริ อายุ ๑๒๕ ปี วัดเขาถ้ำบุญนาค จังหวัดนครสวรรค์" 

         ด้านหลัง กลางเป็นรูปอักขระยันต์ ข้างอักขระยันต์มีอักขระภาษาไทยได้ว่า "อายุ วรรณะ สุขะ พละ" ขอบมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "เหรียญจตุรพิธพรชัย ที่ระลึกในการปฏิสังขรณ์วัดเขาใหญ่ จ.สุพรรณบุรี" 

         เหรียญหลวงปู่สี วัดเขาถ้ำบุญนาค รุ่นหน้าแก่

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๑๙ เพื่อแจกให้กับผู้ที่บริจาคทรัพย์ให้กับทางวัดและแจกในงานผูกพัทธสีมา ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มรูปไข่แบบมีหูในตัว มีการสร้างด้วยเนื้อทองแดงเพียงชนิดเดียวเท่านั้น จำนวนการสร้าง ๒๐,๐๐๐เหรียญ

เหรียญหน้าแก่หลวงปู่สี วัดถ้ำเขาบุญนาค นครสวรรค์ 2519 ทองแดง
เหรียญหลวงปู่สี วัดเขาถ้ำบุญนาค นครสวรรค์ รุ่นหน้าแก่ ปี พ.ศ. ๒๕๑๙ เนื้อทองแดง

         ด้านหน้า มีรูปจำลองหลวงปู่สีครึ่งองค์ห่มจีวรลดไหล่ พาดผ้าสังฆาฏิ ที่สังฆาฏิหลวงปู่มีอักขระยันต์อ่านว่า "อะ นะ อะ"

         ด้านหลัง กลางเป็นรูปอักขระยันต์ ๓ อ่านได้ว่า "มะ อะ อุ พุท ธะ สัง มิ อะ อะ" ขอบมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "ที่ระลึกในงานผูกพัทธสีมา วัดเขาถ้ำบุญนาค อ.ตาคลี จ.นครสวรรค์ หลวงปู่สี ฉนฺทสิริ ๒๕๑๙" 

         เหรียญหลวงปู่สี วัดเขาถ้ำบุญนาค รุ่นยันต์ดวง

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๑๙ โดยวัดโพนทองขออนุญาติหลวงปู่สร้าง เพื่อแจกให้กับผู้ที่บริจาคทรัพย์และแจกในงานวางศิลาฤกษ์พระอุโบสถวัดโพนทอง ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มรูปไข่แบบมีหูในตัว มีการสร้างด้วยเนื้อทองแดงเพียงชนิดเดียวเท่านั้น จำนวนการสร้าง ๒๐,๐๐๐ เหรียญ

เหรียญหลวงปู่สี วัดถ้ำเขาบุญนาค นครสวรรค์ รุ่นยันต์ดวง 2519 ทองแดง
เหรียญหลวงปู่สี วัดถ้ำเขาบุญนาค นครสวรรค์ รุ่นยันต์ดวง ปี พ.ศ. ๒๕๑๙ เนื้อทองแดง

         ด้านหน้า มีรูปจำลองหลวงปู่สีครึ่งองค์ห่มจีวรลดไหล่ พาดผ้าสังฆาฏิ ที่สังฆาฏิหลวงปู่มีอักขระยันต์อ่านว่า "อะ นะ อะ" ใต้รูปหลวงปู่มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "หลวงปู่สี ฉนฺทสิริ" 

         ด้านหลัง กลางเป็นรูปอักขระยันต์ดวง รอบยันต์ดวงมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "๒๐ ส.ค. ๑๙ เวลา ๑๕.๐๐ น. ราชาฤกษ์" ขอบเหรียญมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ(วาสนมหาเถระ) ทรงวางศิลาฤกษ์อุโบสถวัดโพธิ์ทอง อ.ตาคลี จ.นครสวรรค์" 

         เหรียญหลวงปู่สี วัดเขาถ้ำบุญนาค รุ่นยันต์ดวง

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๑๙ โดยทางวัดได้มอบหมายให้พระครูวิศิษฐ์ สมโพธิ(นุ่ม) วัดพระเชตุพน(วัดโพธิ์-ท่าเตียน) เป็นผู้จัดสร้าง เพื่อแจกในงานผูกพัทธสีมา ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มรูปไข่แบบมีหูในตัว มีการสร้างด้วยเนื่้อเงิน จำนวนการสร้าง ๑๒๗ เหรียญ เนื้อนวะโลหะ จำนวนการสร้าง ๑๒๗ เหรียญ และเนื้อทองแดง จำนวนการสร้าง ๕,๐๐๐ เหรียญ โดยเหรียญมีการทั้งตอกโค๊ต สุ และไม่มีโค๊ต

เหรียญหลวงปู่สี วัดถ้ำเขาบุญนาค นครสวรรค์ รุ่นเกลียวเชือก 2519 เงิน
เหรียญหลวงปู่สี วัดถ้ำเขาบุญนาค นครสวรรค์ รุ่นเกลียวเชือก ปี พ.ศ. ๒๕๑๙ เนื้อเงิน
เหรียญหลวงปู่สี วัดถ้ำเขาบุญนาค นครสวรรค์ รุ่นเกลียวเชือก 2519 นวโลหะ
เหรียญหลวงปู่สี วัดถ้ำเขาบุญนาค นครสวรรค์ รุ่นเกลียวเชือก ปี พ.ศ. ๒๕๑๙ เนื้อนวโลหะ
เหรียญหลวงปู่สี วัดถ้ำเขาบุญนาค นครสวรรค์ รุ่นเกลียวเชือก 2519 ทองแดง
เหรียญหลวงปู่สี วัดถ้ำเขาบุญนาค นครสวรรค์ รุ่นเกลียวเชือก ปี พ.ศ. ๒๕๑๙ เนื้อทองแดง

         ด้านหน้า มีรูปจำลองหลวงปู่สีนั่งสมาธิเต็มองค์ องค์หลวงปู่ห่มจีวรลดไหล่ พาดผ้าสังฆาฏิรัดประคต ที่สังฆาฏิหลวงปู่มีอักขระยันต์อ่านว่า "อะ นะ อะ" ใต้รูปหลวงปู่มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "หลวงปู่สี ฉนฺทสิริ" 

         ด้านหลัง กลางเป็นรูปอักขระยันต์ ๓ อ่านได้ว่า "มะ อะ อุ พุท ธะ สัง มิ อะ อะ" ขอบเหรียญมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "ที่ระลึกในงานผูกพัทธสีมาวัดเขาถ้ำบุญนาค อ.ตาคลี จ.นครสวรรค์ ๒๕๑๙" 

         เหรียญหลวงปู่สี วัดเขาถ้ำบุญนาค รุ่นหลังปิดตา

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๑๙ โดยคณะศิษย์ตาคลี เพื่อหารายได้สมทบทุนสร้างศาลาการเปรียญ ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มรูปไข่แบบมีหูในตัว มีการสร้างด้วยเนื่้อเงิน และเนื้อทองแดง จำนวนการสร้างรวมกันประมาณ ๑๐,๐๐๐ เหรียญ โดยเหรียญรุ่นนี้มีการตอกโค้ต ภาษาจีน คำว่า สี ไว้ด้านหน้าเหรียญ ลักษณะการตอกโค้ตเนื้อทองแดง ตอกโค้ต บริเวณบนไหล่ขวา ส่วนเนื้อเงิน ตอกโค้ต บริเวณบนไหล่ซ้าย

เหรียญหลวงปู่สี วัดถ้ำเขาบุญนาค นครสวรรค์ รุ่นหลังปิดตา 2519 เงิน
เหรียญหลวงปู่สี วัดถ้ำเขาบุญนาค นครสวรรค์ รุ่นหลังปิดตา ปี พ.ศ. ๒๕๑๙ เนื้อเงิน
เหรียญหลวงปู่สี วัดถ้ำเขาบุญนาค นครสวรรค์ รุ่นหลังปิดตา 2519 ทองแดง
เหรียญหลวงปู่สี วัดถ้ำเขาบุญนาค นครสวรรค์ รุ่นหลังปิดตา ปี พ.ศ. ๒๕๑๙ เนื้อทองแดง

         ด้านหน้า มีรูปจำลองหลวงปู่สีครึ่งองค์ห่มจีวรลดไหล่ พาดผ้าสังฆาฏิ ที่สังฆาฏิหลวงปู่มีอักขระยันต์อ่านว่า "อะ นะ อะ" ใต้รูปหลวงปู่มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "หลวงปู่สี ฉนฺทสิริ" 

         ด้านหลัง กลางเป็นรูปพระปิดตาล้อมรอบด้วยอักขระยันต์ ๓ อ่านได้ว่า "มะ อะ อุ พุท ธะ สัง มิ นะ ชา ลี ติ พุท โธ" ขอบเหรียญมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "ศิษย์ตาคลีร่วมสร้างศาลาการเปรียญ วัดเขาถ้ำบุญนาค ๒๕๑๙" 

         เหรียญหลวงปู่สี วัดเขาถ้ำบุญนาค รุ่นโภคทรัพย์

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๑๙ โดยคณะศิษย์ตาคลี เพื่อหารายได้สมทบทุนสร้างศาลาการเปรียญ ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มรูปไข่แบบมีหูในตัว มีการสร้างด้วยเนื่้อเงิน และเนื้อทองแดง จำนวนการสร้างรวมกันประมาณ ๑๐,๐๐๐ เหรียญ โดยเหรียญรุ่นนี้มีการตอกโค้ต ภาษาจีน คำว่า สี ไว้ด้านหน้าเหรียญ

เหรียญหลวงปู่สี วัดถ้ำเขาบุญนาค นครสวรรค์ รุ่นโภคทรัพย์ 2519 เงิน
เหรียญหลวงปู่สี วัดถ้ำเขาบุญนาค นครสวรรค์ รุ่นโภคทรัพย์ ปี พ.ศ. ๒๕๑๙ เนื้อเงิน
เหรียญหลวงปู่สี วัดถ้ำเขาบุญนาค นครสวรรค์ รุ่นโภคทรัพย์ 2519 ทองแดง
เหรียญหลวงปู่สี วัดถ้ำเขาบุญนาค นครสวรรค์ รุ่นโภคทรัพย์ ปี พ.ศ. ๒๕๑๙ เนื้อทองแดง

         ด้านหน้า มีรูปจำลองหลวงปู่สีครึ่งองค์ห่มจีวรลดไหล่ พาดผ้าสังฆาฏิ ที่สังฆาฏิหลวงปู่มีอักขระยันต์อ่านว่า "อะ นะ อะ" ใต้รูปหลวงปู่มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "หลวงปู่สี ฉนฺทสิริ" 

         ด้านหลัง กลางเป็นรูปถุงเงินมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "โภคทรัพย์ ๙๙๙๙๙๙๙๙๙" ขอบเหรียญมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "วัดเขาถ้ำบุญนาค มั่งมีศรีสุข ลาภผลพูนทวี ๒๕๑๙" 

         เหรียญหลวงปู่สี วัดเขาถ้ำบุญนาค รุ่นลูกเสือ

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๑๙ เพื่อหารายได้ปรับปรุงค่ายลูกเสือพระสังข์ อำเภอตาคลี จังหวัดนครสวรรค์ ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มรูปอาร์มแบบมีหูในตัว มีการสร้างด้วยเนื่้อทองแดงชุปนิกเกิ้ลเพียงชนิดเดียวเท่านั้น จำนวนการสร้าง ๑๐,๐๐๐ เหรียญ โดย ถือว่าเป็นเหรียญรุ่นสุดท้ายที่จัดสร้างในนามของหลวงปู่สี เพราะหลังจากนั้นไม่นาน หลวงปู่ท่านก็มรณภาพ

เหรียญหลวงปู่สี วัดถ้ำเขาบุญนาค นครสวรรค์ รุ่นลูกเสือ 2519 ทองแดงชุบนิกเกิ้ล
เหรียญหลวงปู่สี วัดถ้ำเขาบุญนาค นครสวรรค์ รุ่นลูกเสือ ปี พ.ศ. ๒๕๑๙ เนื้อทองแดงชุบนิกเกิ้ล

         ด้านหน้า มีรูปจำลองหลวงปู่สีครึ่งองค์ห่มจีวรลดไหล่ พาดผ้าสังฆาฏิ ที่สังฆาฏิหลวงปู่มีอักขระยันต์อ่านว่า "อะ นะ อะ" ใต้รูปหลวงปู่มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "หลวงปู่สี ฉนฺทสิริ" 

         ด้านหลัง กลางเป็นรูปตราลูกเสือ ใต้ตรามีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "พ.ศ. ๒๕๑๙" ขอบเหรียญมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "ปรับปรุงค่ายลูกเสือพระสังข์ อ.ตาคลี จ.นครสวรรค์ ครั้งที่ ๑" 

         รูปหล่อหลวงปู่สี วัดเขาถ้ำบุญนาค รุ่นแรก

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๑๘ เพื่อแจกให้กับผู้ที่บริจาคทรัพย์ให้กับทางวัด ลักษณะเป็นพระหล่อโบราณ มีการสร้างด้วยเนื้อนวะโลหะ และเนื้อทองเหลืองรมดำ จำนวนการสร้างรวมกัน ๑,๐๐๐ องค์

รูปหล่อหลวงปู่สี วัดถ้ำเขาบุญนาค นครสวรรค์ รุ่น 1 2518 ทองเหลืองรมดำ
รูปหล่อหลวงปู่สี วัดถ้ำเขาบุญนาค นครสวรรค์ รุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๕๑๘ เนื้อทองเหลืองรมดำ ของร้านกตัญญูบารมี

         ด้านหน้า มีรูปจำลองหลวงปู่สีนั่งสมาธิเต็มองค์บนฐานเขียง องค์หลวงปู่ห่มจีวรลดไหล่ พาดผ้าสังฆาฏิรัดประคต ที่ฐานเขียงมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "หลวงปู่สี" 

         ด้านหลัง ที่ฐานเขียงมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "ว.ข.ถ." ใต้ฐานเรียบ

         รูปหล่อหลวงปู่สี วัดเขาถ้ำบุญนาค รุ่นสอง

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๑๘ เพื่อแจกให้กับผู้ที่บริจาคทรัพย์ให้กับทางวัด ลักษณะเป็นพระหล่อโบราณ มีการสร้างด้วยเนื้อเงิน จำนวนการสร้าง ๑๒๖ องค์ เนื้อนวะโลหะ จำนวนการสร้าง ๑๒๖ องค์ ที่เหลือเป็นเนื้อทองเหลือง จำนวนการสร้าง ๑,๗๔๘ องค์ ตอกโค๊ตเลข 2 ที่ใต้ฐาน

รูปหล่อหลวงปู่สี วัดถ้ำเขาบุญนาค นครสวรรค์ รุ่น 2 2518 เงิน
รูปหล่อหลวงปู่สี วัดถ้ำเขาบุญนาค นครสวรรค์ รุ่น ๒ ปี พ.ศ. ๒๕๑๘ เนื้อเงิน ของร้านกตัญญูบารมี

รูปหล่อหลวงปู่สี วัดถ้ำเขาบุญนาค นครสวรรค์ รุ่น 2 2518 เนื้อเงิน-ข้าง
รูปหล่อหลวงปู่สี วัดถ้ำเขาบุญนาค นครสวรรค์ รุ่น ๒ ปี พ.ศ. ๒๕๑๘ เนื้อเงิน ของร้านกตัญญููบารมี
รูปหล่อหลวงปู่สี วัดถ้ำเขาบุญนาค นครสวรรค์ รุ่น 2 2518 นวะโลหะ
รูปหล่อหลวงปู่สี วัดถ้ำเขาบุญนาค นครสวรรค์ รุ่น ๒ ปี พ.ศ. ๒๕๑๘ เนื้อนวะโลหะ
รูปหล่อหลวงปู่สี วัดถ้ำเขาบุญนาค นครสวรรค์ รุ่น 2 2518 ทองเหลือง
รูปหล่อหลวงปู่สี วัดถ้ำเขาบุญนาค นครสวรรค์ รุ่น ๒ ปี พ.ศ. ๒๕๑๘ เนื้อทองเหลือง

         ด้านหน้า มีรูปจำลองหลวงปู่สีนั่งสมาธิเต็มองค์บนฐานเขียง องค์หลวงปู่ห่มจีวรลดไหล่ พาดผ้าสังฆาฏิรัดประคต ที่ฐานเขียงมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "หลวงปู่สี" 

         ด้านหลัง ที่ฐานเขียงมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "ว.ข.ถ." ซึ่งคือชื่อย่อของวัด ใต้ฐานตอกเลข "2" สำหรับเนื้อทองเหลือง และจะตอกเลข "๒" ในเนื้อนวะโลหะ และตอกเลข "๑" ในเนื้อเงิน

         รูปหล่อหลวงปู่สี วัดเขาถ้ำบุญนาค รุ่นสอง (พิมพ์เล็ก)

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๑๙ เพื่อแจกให้กับผู้ที่บริจาคทรัพย์ให้กับทางวัด ลักษณะเป็นพระหล่อโบราณ มีการสร้างด้วยเนื้อทองเหลือง จำนวนการสร้าง ๑,๐๐๐ องค์ ที่ฐานตอกโค๊ตเลข 2 ที่ใต้ฐาน

รูปหล่อหลวงปู่สี วัดถ้ำเขาบุญนาค นครสวรรค์ รุ่น 2 2518 ทองเหลือง
รูปหล่อหลวงปู่สี วัดถ้ำเขาบุญนาค นครสวรรค์ รุ่น ๒ (พิมพ์เล็ก) ปี พ.ศ. ๒๕๑๘ เนื้อทองเหลือง

รูปหล่อหลวงปู่สี วัดถ้ำเขาบุญนาค นครสวรรค์ รุ่น 2 พิมพ์เล็ก 2519 ทองเหลือง
รูปหล่อหลวงปู่สี วัดถ้ำเขาบุญนาค นครสวรรค์ รุ่น ๒ (พิมพ์เล็ก) ปี พ.ศ. ๒๕๑๙ เนื้อทองเหลือง

         ด้านหน้า มีรูปจำลองหลวงปู่สีนั่งสมาธิเต็มองค์บนฐานเขียง องค์หลวงปู่ห่มจีวรลดไหล่ พาดผ้าสังฆาฏิรัดประคต ที่ฐานเขียงมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "หลวงปู่สี" 

         ด้านหลัง ที่ฐานเขียงมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "ว.ข.ถ." ซึ่งคือชื่อย่อของวัด ใต้ฐานตอกเลข "2" 

ปี 2518 พระบูชารูปเหมือน หน้าตัก 5 นิ้ว รุ่นพิเศษ หลวงปู่สี ฉันทสิริ

         พระบูชาหลวงปู่สี วัดเขาถ้ำบุญนาค รุ่นแรก

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๑๘ เพื่อแจกให้กับผู้ที่บริจาคทรัพย์ให้กับทางวัด ลักษณะเป็นพระบูชาหล่อโบราณ ขนาดหน้าตัก ๕ นิ้ว มีการสร้างด้วยเนื้อทองเหลือง จำนวนการสร้าง ๑๒๕ องค์

พระบูชาอหลวงปู่สี วัดถ้ำเขาบุญนาค นครสวรรค์ รุ่นแรก 5นิ้ว 2518 ทองเหลือง
พระบูชาอหลวงปู่สี วัดถ้ำเขาบุญนาค นครสวรรค์ รุ่นแรก หน้าตัก ๕ นิ้ว ปี พ.ศ. ๒๕๑๘ เนื้อทองเหลือง ของร้านกตัญญูบารมี

พระบูชาอหลวงปู่สี วัดถ้ำเขาบุญนาค นครสวรรค์ รุ่นแรก 5นิ้ว 2518 ทองเหลือง-ข้าง
พระบูชาอหลวงปู่สี วัดถ้ำเขาบุญนาค นครสวรรค์ รุ่นแรก หน้าตัก ๕ นิ้ว ปี พ.ศ. ๒๕๑๘ เนื้อทองเหลือง ของร้านกตัญญูบารมี

         ด้านหน้า มีรูปจำลองหลวงปู่สีนั่งสมาธิเต็มองค์บนฐานเขียง องค์หลวงปู่ห่มจีวรลดไหล่ พาดผ้าสังฆาฏิรัดประคต ที่ฐานเขียงมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "หลวงปู่สี ฉนฺทสิริ" 

         ด้านหลัง ที่ฐานเขียงมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "วัดเขาถ้ำบุญนาก อ.ตาคลี อายุ ๑๒๖ ปี" 

         พระบูชาหลวงปู่สี วัดเขาถ้ำบุญนาค รุ่นสอง

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๑๙ เพื่อแจกให้กับผู้ที่บริจาคทรัพย์ให้กับทางวัดโพนทอง โดยสมเด็จพระสังฆราช(วาสนมหาเถระ) เสด็จทรงเททองที่วัดโพธิ์ทอง ลักษณะเป็นพระบูชาหล่อโบราณ ขนาดหน้าตัก ๓ นิ้ว มีการสร้างด้วยเนื้อทองเหลือง จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

พระบูชาอหลวงปู่สี วัดถ้ำเขาบุญนาค นครสวรรค์ รุ่น 2 3นิ้ว 2519 ทองเหลือง
พระบูชาอหลวงปู่สี วัดถ้ำเขาบุญนาค นครสวรรค์ รุ่น ๒ หน้าตัก ๓ นิ้ว ปี พ.ศ. ๒๕๑๙ เนื้อทองเหลือง ของร้านศูนย์พระพุทธคุณ
พระบูชาอหลวงปู่สี วัดถ้ำเขาบุญนาค นครสวรรค์ รุ่น 2 3นิ้ว 2519 ทองเหลือง-ข้าง
พระบูชาอหลวงปู่สี วัดถ้ำเขาบุญนาค นครสวรรค์ รุ่น ๒ หน้าตัก ๓ นิ้ว ปี พ.ศ. ๒๕๑๙ เนื้อทองเหลือง ของร้านศูนย์พระพุทธคุณ

         ด้านหน้า มีรูปจำลองหลวงปู่สีนั่งสมาธิเต็มองค์บนฐานเขียง องค์หลวงปู่ห่มจีวรลดไหล่ พาดผ้าสังฆาฏิรัดประคต ที่ฐานเขียงมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "หลวงปู่สี ฉนฺทสิริ" 

         ด้านหลัง ที่ฐานเขียงมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "สมเด็จพระสังฆราช (วาสนะ มหาเถระ) เสด็จเททอง ๒๐ ส.ค. ๑๙ วัดโพธิ์ทอง" 

         ล็อกเก็ตหลวงปู่สี วัดเขาถ้ำบุญนาค รุ่นแรก

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๑๕ เพื่อแจกให้กับผู้ที่บริจาคทรัพย์ให้กับทางวัด ลักษณะเป็นล็อกเก็ตอลูมิเนี่ยม ภายในมีภาพถ่ายสีของหลวงปู่โดยฉากหลังหลายสี จำนวนการสร้างประมาณ ๑,๐๐๐ เหรียญ

ล็อกเก็ตหลวงปู่สี วัดถ้ำเขาบุญนาค นครสวรรค์ รุ่นแรก 2515 อลูมิเนียม
ล็อกเก็ตหลวงปู่สี วัดถ้ำเขาบุญนาค นครสวรรค์ รุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๕๑๕ เนื้ออลูมิเนียม

         ด้านหน้า มีรูปถ่ายหลวงปู่สีครึ่งองค์ห่มจีวรลดไหล่ พาดผ้าสังฆาฏิ ที่สังฆาฏิหลวงปู่มีอักขระยันต์อ่านว่า "อะ นะ อะ" 

         ด้านหลัง มีอักขระยันต์ ใต้อักขระยันต์มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "วัดเขาถ้ำบุญนาค อ.ตาคลี จ.นครสวรรค์" 

         พระผงอายุยืนหลวงปู่สี วัดเขาถ้ำบุญนาค

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๑๗ โดยพระครูวิศิษฎ์สมโพธิ์ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม (วัดโพธิ์) ท่าเตียน กรุงเทพฯ เป็นผู้ขออนุญาตหลวงปู่สร้าง โดยหลวงปู่สีได้มอบผงวิเศษของท่านที่ทำขึ้นเอง พร้อมทั้งเกศา ชานหมาก น้ำหมากของท่าน เมื่อสร้างเสร็จได้นำมาให้หลวงปู่ปลุกเสกเดี่ยว ลักษณะเป็นพระผงพิมพ์รูปไข่ องค์พระมีความกว้าง ๒ เซนติเมตร สูง ๓ เซนติเมตร หนา ๐.๕ เซนติเมตร จำนวนสร้าง ๒๒,๙๙๙ องค์ ซึ่งมีเนื้อต่างๆ ดังนี้ เนื้อพิเศษผสมชานหมาก น้ำหมาก เกศา จีวร จำนวน ๙๙๙ องค์ เนื้อพิเศษผสมชานหมาก จำนวน ๒,๐๐๐ องค์ เนื้อธรรมดาแก่ปูนเปลือกหอย ๒๐,๐๐๐ องค์

พระผงอายุยืนหลวงปู่สี วัดเขาถ้ำบุญนาค นครสวรรค์ 2517 ผงพุทธคุณ
พระผงอายุยืนหลวงปู่สี วัดเขาถ้ำบุญนาค นครสวรรค์ ปี พ.ศ. ๒๕๑๗ เนื้อผงธรรมดา

         ด้านหน้า จำลองเป็นรูปเหมือนหลวงปู่นั่งสมาธิเต็มองค์ องค์หลวงปู่ห่มจีวรลดไหล่ พาดผ้าสังฆาฏิรัดประคต ที่สังฆาฏิหลวงปู่มีอักขระยันต์อ่านว่า "อะ นะ อะ" ใต้รูปหลวงปู่มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "อายุยืน" 

         ด้านหลัง กลางเป็นรูปอักขระยันต์ ๓ อ่านได้ว่า "มะ อะ อุ พุท ธะ สัง มิ อะ อะ" ขอบพระมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "หลวงปู่สี ฉันทสิริ ๒๕๑๗" 

         พระสมเด็จหลวงปู่สี วัดเขาถ้ำบุญนาค หลังรูปเหมือน ๑๘

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๑๘ โดยทางวัดได้ว่าจ้างให้ร้านแม่บ๋วย แปดริ้ว เป็นผู้สร้าง เพื่อแจกให้กับผู้บริจาคทรัพย์ให้กับทางวัด ลักษณะเป็นพระผงพิมพ์สมเด็จพิมพ์ใหญ่ เนื้อผงผสมปูนเปลือกหอย จำนวนการสร้าง ๕,๐๐๐ องค์

พระสมเด็จพิมพ์ใหญ่หลวงปู่สี วัดถ้ำเขาบุญนาค นครสวรรค์ รุ่นรูปเหมือน  2518 ผง
พระสมเด็จหลวงปู่สี วัดถ้ำเขาบุญนาค นครสวรรค์ รุ่นหลังรูปเหมือน ปี พ.ศ. ๒๕๑๘ เนื้อผง

         ด้านหน้า จำลองเป็นรูปพระสมเด็จพิมพ์ใหญ่ ฐาน ๓ ชั้น

         ด้านหลัง กลางเป็นรูปจำลองหลวงปู่ครึ่งองค์พาดผ้าสังฆาฏิ ด้านบนมีอักขระยันต์ ใต้รูปหลวงปู่มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "หลวงปู่สี ฉนฺทสิริ วัดเขาถ้ำบุญนาค อ.ตาคลี" 

         พระสมเด็จหลวงปู่สี วัดเขาถ้ำบุญนาค หลังรูปเหมือน ๑๙

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๑๙ โดยร้านแม่บ๋วย แปดริ้ว เป็นผู้สร้างถวายหลวงปู่ เพื่อแจกในงานผูกพัทธสีมาของวัด ลักษณะเป็นพระผงพิมพ์สมเด็จคล้ายกับพระสมเด็จปี ๑๘ เนื้อผงผสมปูนเปลือกหอย จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

พระสมเด็จพิมพ์ใหญ่หลวงปู่สี วัดถ้ำเขาบุญนาค นครสวรรค์ รุ่นรูปเหมือน  2519 ผง
พระสมเด็จหลวงปู่สี วัดถ้ำเขาบุญนาค นครสวรรค์ รุ่นหลังรูปเหมือน ปี พ.ศ. ๒๕๑๙ เนื้อผง

         ด้านหน้า จำลองเป็นรูปพระสมเด็จพิมพ์ใหญ่ ฐาน ๓ ชั้น

         ด้านหลัง กลางเป็นรูปจำลองหลวงปู่ครึ่งองค์พาดผ้าสังฆาฏิ ด้านบนมีอักขระยันต์ ๓ ใต้รูปหลวงปู่มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "ที่ระลึกในงานผูกพัทธสีมา วัดเขาถ้ำบุญนาค อ.ตาคลี ๑๙" 

         เรื่องเล่า อิทธิฤทธิ์ ปาฏิหารย์ และ ประสบการณ์ จากลูกศิษย์ที่ทันหลวงปู่สีเล่าสืบต่อกันมาว่าใครที่แขวนพระหลวงปู่ เผาไม่ไหม้ดังเรื่องที่อำเภอตาคลีเล่าสืบต่อกันมาว่า  มีเด็กคนหนึ่ง พ่อแม่นับถือหลวงปู่สีมากได้เอาเหรียญของท่านให้เด็กห้อยคอ ต่อมาเด็กเป็นหัดแล้วเสียชีวิตพ่อแม่จึงจัดการเผาศพตามประเพณี ปรากฏว่าเผาศพหมดถ่านไป ๒ กระสอบ ก็ยังไม่มีทีท่าว่าจะไหม้

        จึงลองเขี่ยดูตามตัวพบเหรียญผูกเชือกร่มห้อยคออยู่ และนำมาดูด้วยความแปลกใจ เพราะแม้แต่เชือกร่มก็ยังไม่ละลาย ต้องนำเหรียญออกจากร่างเด็กจึงเผาศพได้ เหรียญที่เด็กคนนี้คล้องแขวนไว้คือ เหรียญรุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๕๑๔

         อีกรายหนึ่งเป็นเด็กกรุงเทพฯ บ้านอยู่แถวเขตยานนาวา เด็กเสียชีวิตเนื่องจากจมน้ำตายทางพ่อแม่ได้จัดการเผาศพตามประเพณี ปรากฏว่าเผาศพไม่ไหม้ คนเผาปิดเตาในเมรุถึง ๒ ครั้งก็ยังไม่ไหม้ คนเผาจึงลองสำรวจตามร่างกายเด็กพบว่าเด็กแขวนพระเหรียญอยู่ที่ตัว 

         จึงนำเหรียญออกจากคอเด็ก ปรากฏว่าเผาได้จนเป็นเถ้าถ่าน เหรียญที่เด็กแขวนคล้องไว้ คือเหรียญรุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๕๑๔ ด้วยบุญของเด็กไม่สามารถต้านทานกฏแห่งกรรมได้แต่เหรียญของหลวงปู่สีนี้มีฤทธิ์คุ้มครองเด็กไม่ให้ไหม้ไฟได้


หมายเหตุ : พระบางรุ่นไม่ได้ถูกจัดเก็บไว้ต้องกราบขออภัยมา ณ ที่นี้ด้วย

โดย : สารานุกรมพระเกจิแห่งแดนสยาม

บทความที่เกี่ยวข้อง

***-[เป็นกำลังใจและสนับสนุน​ให้เราเขียนบทความดีๆ ด้วยการกดดูโฆษณาด้านล่างนะคะ]-***

ไม่มีความคิดเห็น