โฆษณาแนวนอน728*90

บทความใหม่

ประวัติและวัตถุมงคลหลวงพ่อทา วัดพะเนียงแตก พระเกจิชื่อดังหนึ่งในพระเบญจภาคีเหรียญหล่อเมืองไทย

ภาพถ่ายหลวงพ่อทา วัดพะเนียงแตก นครปฐม
หลวงพ่อทา วัดพะเนียงแตก นครปฐม

         หลวงพ่อทา วัดพะเนียงแตก หรือ พระครูโสอุดร หรือ พระครูอุตรการบดี อดีตเจ้าอาวาสวัดพะเนียงแตก ตำบลมาบแค อำเภอเมือง จังหวัดนครปฐม ตามประวัติกล่าวเอาไว้ว่า บรรพบุรุษได้อพยพมาจากฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง เป็นชาวเวียงจันทร์มาตั้งถิ่นฐานอยู่ราชบุรี แต่บางกระแสก็กล่าวว่า บรรพบุรุษของท่านมีเชื้อสายเป็นชาวมอญหรือแม้กระทั้งปีเกิดของท่านก็มีข้อมูลที่ไม่ตรงกัน ซึ่งยังมีข้อถกเถียงกันอยู่ 

         หลวงพ่อทา ท่านมีนามเดิมว่า "วัน" ถือกำเนิดเมื่อปี พ.ศ. ๒๓๗๖ ซึ่งตรงกับรัชสมัยรัชกาลที่ ๓ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ พื้นเพท่านเป็นชาวบ้านบ่อมะกรุด ตำบลบ้านสิงห์ อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี 

         ปี พ.ศ. ๒๓๘๒ เมื่อหลวงพ่อทา มีอายุได้ ๖ ขวบ โยมบิดาและโยมมารดามารดาได้นำท่านไปฝากตัวเป็นลูกศิษย์วัดอยู่วัดโพธารามนั่นเอง เพื่อศึกษาเล่าเรียนอักษรขอม และอบรมบ่มนิสัยตามประเพณีไทยแต่โบราณ

         ปี พ.ศ. ๒๓๙๑ ท่านมีอายุได้ ๑๕ ปี จึงได้บรรพชาเป็นสามเณร ณ วัดโพธารามนั่นเองโดยมีหลวงพ่อทานเจ้าอาวาส เป็นผู้ที่บวชให้ 

         ปี พ.ศ. ๒๓๙๖ หลวงพ่อทา ท่านมีอายุได้ ๒๐ ปีบริบูรณ์ ซึ่งท่านมีอายุครบบวชพอดี จึงได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุ ณ พัทธสีมาวัดฆ้อง (วัดบ้านฆ้อง) ตำบลบ้านฆ้อง อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี ได้รับฉายาว่า "โสณุตตโร" โดยมี

         พระอธิการทาน วัดโพธาราม เป็นพระอุปัชฌาย์

         พระอธิการวัดบ้านฆ้อง เป็นพระกรรมวาจาจารย์

         หลังจากอุปสมบทแล้วท่านได้อยู่จำพรรษาที่วัดบ้านฆ้อง เรื่อยมาเพื่อศึกษาวิชาอาคมต่างๆ ซึ่งวัดบ้านฆ้อง (วัดฆ้อง) ในอดีต เคยเป็นสำนักปฏิบัติธรรมและพระกัมมัฏฐานที่มีชื่อเสียงมาก สมัยนั้นหากใครได้เข้ามาศึกษาเล่าเรียน ณ สำนักแห่งนี้แล้วถือว่าไม่ธรรมดาแม้ลาสิกขาบทออกไปก็จะได้รับการยกย่องเชิดชู เป็นหน้าตาแก่วงศ์ตระกูล ที่มีชื่อเสียงและได้รับการเคารพนับถือจากบุคคลโดยทั่วไป

         หลวงพ่อทา ท่านได้ตั้งใจศึกษาเล่าเรียนพระธรรมวินัยทั้งภาษาไทย ภาษาบาลี และภาษาขอม จนเป็นที่แตกฉาน เมื่อเห็นสมควรแล้ว จึงได้หันมาศึกษาและฝึกปฏิบัติพระวิปัสสนากัมมัฏฐาน อีกทั้งยังศึกษาทางด้านพุทธาอาคมต่างๆ อีกมากมายจนชำนาญและเชี่ยวชาญ 

         ท่านจึงกราบลาพระอาจารย์ออกเดินธุดงค์ไปตามสถานที่ต่างๆ หาสถานที่สงบวิเวกในการปฏิบัติธรรม ฝึกจิตให้เป็นสมาธิเพื่อให้พ้นบ่วงแห่งอาสวะกิเลสทั้งปวง ซึ่งสถานที่ต่างๆ ที่ท่านได้เดินธุดงค์ผ่านไปนั้นมีหลายที่ 

          ในระหว่างนั้นเมื่อท่านได้มีโอกาสพบปะกับพระคณาจารย์ผู้เรืองเวทย์วิทยาคม ก็จะขอฝากตัวเป็นศิษย์ เพื่อขอศึกษาสรรพวิชาต่างๆ อยู่เสมอไม่เคยขาด ทำให้ท่านมีความรู้ความชำนาญในศาสตร์หลายแขนง ยากที่จะหาใครมาเสมอเหมือนโดยง่าย

รูปหล่อเท่าองค์จริงหลวงพ่อทา วัดพะเนียงแตก นครปฐม
รูปหล่อเท่าองค์จริงหลวงพ่อทา วัดพะเนียงแตก นครปฐม

         จนกระทั่งเมื่อประมาณปี พ.ศ. ๒๔๓๐ หลวงพ่อทาได้ธุดงค์ผ่านมาทางตำบลพะเนียงแตก ปัจจุบันได้เปลี่ยนชื่อมาเป็นตำบลมาบแค ซึ่งในตำบลนี้มีวัดเล็กๆ ซึ่งหลวงปู่สุขเป็นผู้สร้าง ซึ่งบริเวณดังกล่าวเป็นวัดร้างและเป็นป่ารกชัฏนอกเมือง 

         เมื่อท่านเห็นว่าเป็นสถานที่วิเวก เหมาะแก่การเจริญภาวนาธรรม ท่านจึงได้ตัดสินใจปักกลดพักแรม และได้ทราบด้วยญาณว่า ดินแดนแห่งนี้เคยเป็นอาณาจักรที่มีความเจริญรุ่งเรืองถึงขีดสุดมาก่อน จึงได้จำวัดอยู่ ณ บริเวณวัดนี้ 

         ซึ่งพอดีที่วัดพะเนียงแตกไม่มีเจ้าอาวาส เนื่องจากหลวงปู่สุขได้มรณภาพมานานแล้ว จึงทำให้วัดแห่งนี้ถูกปล่อยให้รกร้างกลายสภาพเป็นป่ารกชัฏดังกล่าว ชาวบ้านเห็นว่าหลวงพ่อทาได้ธุดงค์มาปักกลดอยู่ที่วัดนี้และมีความเลื่อมใสศรัทธา จึงได้นิมนต์ให้หลวงพ่อทาอยู่ประจำวัด และให้เป็นเจ้าอาวาสของวัดพะเนียงแตกแทนหลวงปู่สุข เมื่อประมาณปี พ.ศ. ๒๔๓๐

         วัดพะเนียงแตก เป็นวัดราษฏร์ สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ตั้งอยู่เลขที่ ๙๖ หมู่ที่ ๔ ตำบลมาบแค อำเภอเมือง จังหวัดนครปฐม พื้นที่ตั้งวัดมีเนื้อที่ ๔๔ ไร่ ๔๐ ตารางวา สร้างขึ้นมาราวประมาณปี พ.ศ. ๒๓๓๕ เดิมชื่อ วัดประทุมคงคา ซึ่งชื่อนี้เข้าใจว่าหลวงพ่อทาเป็นผู้ตั้งชื่อเพราะอุโบสถหลังเก่าหลวงพ่อทาเป็นผู้สร้างนั้นมีบันทึกชื่อวัดว่า วัดประทุมคงคา

         ซึ่งแต่เดิมไม่ใช่ชื่อ "วัดพะเนียงแตก" มูลเหตุของการเปลี่ยนชื่อวัดมาจากที่หลวงพ่อทาชอบเล่นพลุไฟพะเนียง วันหนึ่งในงานเทศกาลประจำปีของวัด ท่านเอามือไปปิดปากพลุไม่ให้พลุออกมาทางปาก จึงระเบิดออกทางด้านข้าง แต่ท่านไม่ได้รับบาดเจ็บใดๆ เลย 

         โดยที่ท่านทำเช่นนี้ ท่านต้องการให้พวกนักเลงหัวไม้เกรงขาม จะได้ปกครองและอบรมให้เป็นคนดีได้ ซึ่งก็เป็นดังนั้น ในงานเทศกาลประจำปีของวัด ไม่เคยต้องอาศัยตำรวจเลย เพราะไม่มีเหตุการณ์ร้ายเกิดขึ้นสักครั้งเดียว จนชาวบ้านให้ฉายาว่า "หลวงพ่อพะเนียงแตก" และเรียกชื่อวัดว่า "วัดพะเนียงแตก" มาจนถึงปัจจุบัน

ภาพถ่ายหลวงพ่อทา วัดพะเนียงแตก นครปฐม
ภาพถ่ายหลวงพ่อทา วัดพะเนียงแตก นครปฐม ถ่ายเมื่อ ร.ศ. ๑๒๗

         หลังจากที่หลวงพ่อทา ท่านได้ปกครองวัด ท่านจึงเริ่มลงมือสร้างเป็นวัดขึ้นมาใหม่อีกครั้งพร้อมทั้งสร้างเสนาสนะต่างๆ ขึ้นมามากมายรวมทั้งอุโบสถ จนวัดเจริญรุ่งเรืองขึ้นเป็นอันมาก

         และในช่วงระหว่างการสร้างวัดแห่งนี้ท่านยังได้สร้างวัดอื่นๆ ขึ้นมาอีกในคราวเดียวกัน เช่น วัดบางหลวง วัดดอนเตาอิฐ วัดสองห้อง เป็นต้น

         ปี พ.ศ. ๒๔๓๑ ด้วยคุณงามความดีของหลวงพ่อทา ที่พัฒนาวัดจนเจริญรุ่งเรือง ท่านจึงได้รับแต่งตั้งจากพระปฐมเจติยานุรักษ์ (กล่ำ) วัดพระปฐมเจดีย์ ให้ดำรงตำแหน่งฐานานุกรมที่พระครูวินัยธรรม (วัน)

         ปี พ.ศ. ๒๔๓๒ หลวงพ่อทา ท่านได้รับการแต่งตั้งให้เป็นพระครูชั้นสัญญาบัตร ที่พระครูอุตรการบดี ทิศเหนือ เจ้าคณะรองเมืองนครไชยศรี มีนิตยภัตเดือนละตำลึง ๒ บาท เมื่อวันที่ ๒๒ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๓๒ 

ภาพถ่ายหลวงพ่อแช่ม วัดตาก้อง นครปฐม
หลวงพ่อแช่ม วัดตาก้อง นครปฐม ลูกศิษย์ของหลวงพ่อทา วัดพะเนียงแตก

         พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๕ ทรงนับถือหลวงพ่อเป็นอันมาก จึงมีรับสั่งโปรดเกล้าฯ ให้เข้าเฝ้าอยู่เสมอๆ ด้วยพระองค์ท่านทรงโปรดปรานพระเถระผู้เชี่ยวชาญทางด้านสมถะวิปัสสนากัมมัฏฐานมาก และหลวงพ่อทาก็เป็นพระเถราจารย์องค์หนึ่งที่พระองค์ท่านทรงโปรดปรานเป็นอย่างมาก 

         ดังนั้นในพระราชพิธีหลวงต่างๆ ท่านจะรับสั่งให้นิมนต์หลวงพ่อทา วัดพะเนียงแตก เสมอๆ เช่นพิธีหลวงการพระศพ สมเด็จพระสังฆราชเจ้ากรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ ท่านก็ได้รับนิมนต์ด้วย และได้รับถวายพัดเนื่องในพิธีหลวงการพระศพดังกล่าว 

         ซึ่งมีขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๓๕ ( ร.ศ.๑๑๑) โดยพยานหลักฐานยืนยันก็คือภาพถ่ายของท่านและมีระบุในภาพถ่ายดังกล่าวว่าถ่าย ร.ศ.๑๒๗ ตรงกับปี พ.ศ. ๒๔๕๑ พัดที่ตั้งอยู่ด้านขวามือของท่านคือ พัดยศ ส่วนพัดทางด้านซ้ายมือคือ พัดที่ได้รับถวายเนื่องในการพระศพ ข้อความที่ระบุในพัดคือ "การพระศพสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณสมเด็จพระสังฆราชเจ้า รัตนโกสินทร์ศก ๑๑๑"

         หลวงพ่อทา ในช่วงนั้นท่านเป็นผู้มีชื่อเสียงโด่งดังเป็นอย่างมาก ได้รับการยอมรับนับถือว่าเป็นพระนักปฏิบัติเชี่ยวชาญในด้านสมถะวิปัสสนากัมมัฏฐานอย่างยิ่งยวด มีพลังจิตแก่กล้าและมีลูกศิษย์ลูกหาเป็นจำนวนมากมาย หนึ่งในนั้นคือหลวงพ่อแช่ม วัดตาก้อง พระเกจิชื่อดังของเมืองนครปฐมนั้นเอง

         จึงสามารถกล่าวได้ว่าตลอดชีวิตของหลวงพ่อทา วัดพะเนียงแตกท่านได้ดำรงชีวิตในสมณะเพศอย่างคุ้มค่ามีความหมายเป็นอย่างยิ่ง เมื่อท่านได้บรรพชาอุปสมบทได้ตั้งใจศึกษาเล่าเรียนพากเพียรปฏิบัติให้เกิดผลทุกด้าน 

ภาพข่าวพระราชกิจจานุเบกษา 2459
ข่าวมรณภาพของหลวงพ่อทา ในราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๓๓ หน้า ๒๐๔๗ ฉบับวันที่ ๕ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๕๙

         นำสิ่งที่ได้ศึกษาและปฏิบัติมาอบรมสั่งสอนศิษย์ทั้งบรรพชิตและคฤหัสถ์ให้ยึดถือปฏิบัติแนวทางอย่างถูกต้องตามพระธรรมคำสั่งสอนของพระบรมศาสดาอย่างเต็มกำลังความสามารถ แม้เมื่อท่านมีอายุมากแล้วก็ยังปฏิบัติศาสนกิจอย่างไม่ขาดตกบกพร่องจนเป็นที่เคารพศรัทธาของบรรดาพุทธศาสนิกชนโดยทั่วไป

         หลวงพ่อทา ปกครองวัดเรื่อยมาจนถึงแก่มรณภาพลงด้วยโรคชราเมื่อวันที่ ๔ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๕๙  นับรวมสิริอายุได้ ๘๓ ปี  ๖๓ พรรษา และมีการจัดงานฌาปกิจในปี พ.ศ. ๒๔๖๒ 

วัตถุมงคลของหลวงพ่อทา วัดพะเนียงแตก

         เหรียญหลวงพ่อทา วัดพะเนียงแตก รุ่นแรก

         สร้างขึ้นในช่วงปี พ.ศ. ๒๔๔๐ - ๒๔๔๕ เพื่อแจกให้กับผู้ที่บริจาคทรัพย์สร้างพระอุโบสถวัดบางหลวง  ลักษณะเป็นเหรียญหล่อโบราณพิมพ์สี่เหลี่ยมปลายมน สร้างด้วยเนื้อโลหะผสมแก่ทองเหลือง จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

เหรียญหล่อหลวงพ่อทา วัดพะเนียงแตก รุ่นแรก 2445 ทองผสม-1
เหรียญหล่อหลวงพ่อทา วัดพะเนียงแตก นครปฐม รุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๔๔๕ เนื้อทองผสม

เหรียญหล่อหลวงพ่อทา วัดพะเนียงแตก รุ่นแรก 2445 ทองผสม-1-ข้าง
เหรียญหล่อหลวงพ่อทา วัดพะเนียงแตก นครปฐม รุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๔๔๕ เนื้อทองผสม
เหรียญหล่อหลวงพ่อทา วัดพะเนียงแตก รุ่นแรก 2445 ทองผสม
เหรียญหล่อหลวงพ่อทา วัดพะเนียงแตก นครปฐม รุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๔๔๕ เนื้อทองผสม

เหรียญหล่อหลวงพ่อทา วัดพะเนียงแตก รุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๔๔๕ เนื้อทองผสม
เหรียญหล่อหลวงพ่อทา วัดพะเนียงแตก นครปฐม รุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๔๔๕ เนื้อทองผสม

         ด้านหน้า จำลองเป็นรูปสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าประทับนั่งปางสมาธิบนฐานชุกชีสวยงาม องค์พระมีซุ้มครอบ

         ด้านหลัง ตรงกลางมีอักขระยันค์ตัว "มะ อุ" อยู่ในเส้นกรอบโค้งไปกับองค์พระ และมีรอยจารด้วยมือหลวงพ่อแทบทุกองค์ ขอบข้างองค์พระมีรอยตะเข็บประกบพิมพ์  

         เหรียญหลวงพ่อทา วัดพะเนียงแตก รุ่นแรก

         สร้างขึ้นในราวปี พ.ศ. ๒๔๕๐ เพื่อแจกให้กับผู้ที่บริจาคทรัพย์ให้กับทางวัดพะเนียงแตก ถือเป็นเหรียญหล่อที่ออกที่วัดโดบตรง ลักษณะเป็นเหรียญหล่อโบราณพิมพ์ห้าเหลี่ยมย่อมุม โดยแบ่งออกเป็น ๒ พิมพ์คือพิมพ์มีหู กับพิมพ์ไม่มีหู มีการสร้างด้วยเนื้อโลหะผสมแก่ทองเหลือง จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

เหรียญหล่อหลวงพ่อทา วัดพะเนียงแตก รุ่น 2 มีหู 2450 ทองผสม
เหรียญหล่อหลวงพ่อทา วัดพะเนียงแตก นครปฐม รุ่น ๒ (มีหู) ปี พ.ศ. ๒๔๕๐ เนื้อทองผสม
เหรียญหล่อหลวงพ่อทา วัดพะเนียงแตก รุ่น 2 มีหู 2450 ทองผสม-ข้าง
เหรียญหล่อหลวงพ่อทา วัดพะเนียงแตก นครปฐม รุ่น ๒ (มีหู) ปี พ.ศ. ๒๔๕๐ เนื้อทองผสม
เหรียญหล่อหลวงพ่อทา วัดพะเนียงแตก รุ่น 2 2450 ทองผสม
เหรียญหล่อหลวงพ่อทา วัดพะเนียงแตก นครปฐม รุ่น ๒ (ไม่มีหู) ปี พ.ศ. ๒๔๕๐ เนื้อทองผสม

เหรียญหล่อหลวงพ่อทา วัดพะเนียงแตก รุ่น 2 2450 ทองผสม-ข้าง
เหรียญหล่อหลวงพ่อทา วัดพะเนียงแตก นครปฐม รุ่น ๒ (ไม่มีหู) ปี พ.ศ. ๒๔๕๐ เนื้อทองผสม

         ด้านหน้า จำลองเป็นรูปสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าประทับนั่งปางสมาธิบนฐานชุกชีสวยงาม องค์พระมีซุ้มครอบ

         ด้านหลัง ตรงกลางมีอักขระยันค์ตัว "มะ อุ" อยู่ในเส้นกรอบโค้งไปกับองค์พระ และมีรอยจารด้วยมือหลวงพ่อแทบทุกองค์ ขอบข้างองค์พระมีรอยตะเข็บประกบพิมพ์  

         พระปิดตาหลวงพ่อทา วัดพะเนียงแตก พิมพ์เกลอเดี่ยว (ท้องอุ)

         สร้างขึ้นก่อนปี พ.ศ. ๒๔๕๘ เพื่อแจกให้กับศิษยานุศิษย์ของท่าน ลักษณะเป็นพระปิดตาภควัมบดี มีการสร้างด้วยเนื้อโลหะเมฆพัด และเนื้อสำริด จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

พระปิดตาหลวงพ่อทา วัดพะเนียงแตก พิมพ์เกลอเดี่ยว 2458 เมฆพัด
พระปิดตาหลวงพ่อทา วัดพะเนียงแตก นครปฐม พิมพ์เกลอเดี่ยว(ท้องอุ) ก่อนปี พ.ศ. ๒๔๕๘ เนื้อเมฆพัด
พระปิดตาหลวงพ่อทา วัดพะเนียงแตก พิมพ์เกลอเดี่ยว 2458 เมฆพัด-ข้างก้น
พระปิดตาหลวงพ่อทา วัดพะเนียงแตก นครปฐม พิมพ์เกลอเดี่ยว(ท้องอุ) ก่อนปี พ.ศ. ๒๔๕๘ เนื้อเมฆพัด

         ด้านหน้า จำลองเป็นรูปพระปิดตาภควัมบดี ที่ท้องขององค์พระมีอักขระยันต์ตัว "อุ" 

         ด้านหลัง ตรงกลางมีอักขระยันต์ใบพัด

         พระปิดตาหลวงพ่อทา วัดพะเนียงแตก พิมพ์เกลอเดี่ยว

         สร้างขึ้นก่อนปี พ.ศ. ๒๔๕๘ เพื่อแจกให้กับศิษยานุศิษย์ของท่าน ลักษณะเป็นพระปิดตาภควัมบดี มีการสร้างด้วยเนื้อโลหะเมฆพัด และเนื้อสำริด จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

พระปิดตาหลวงพ่อทา วัดพะเนียงแตก พิมพ์เกลอเดี่ยว 2458 สำริด
พระปิดตาหลวงพ่อทา วัดพะเนียงแตก พิมพ์เกลอเดี่ยว ปี พ.ศ. ๒๔๕๘ เนื้อสำริด ของร้านอมตศิลป์

พระปิดตาหลวงพ่อทา วัดพะเนียงแตก พิมพ์เกลอเดี่ยว 2458 สำริด-ข้าง
พระปิดตาหลวงพ่อทา วัดพะเนียงแตก พิมพ์เกลอเดี่ยว ปี พ.ศ. ๒๔๕๘ เนื้อสำริด ของร้านอมตศิลป์

         ด้านหน้า จำลองเป็นรูปพระปิดตาภควัมบดี ที่ก้นขององค์พระมีอักขระยันต์ตัว "อุ" 

         ด้านหลัง ตรงกลางมีอักขระยันต์

         พระปิดตาหลวงพ่อทา วัดพะเนียงแตก พิมพ์สามเดี่ยว

         สร้างขึ้นก่อนปี พ.ศ. ๒๔๕๘ เพื่อแจกให้กับศิษยานุศิษย์ของท่าน ลักษณะเป็นพระปิดตาภควัมบดี มีการสร้างด้วยเนื้อโลหะเมฆพัด และเนื้อสำริด จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้


พระปิดตาหลวงพ่อทา วัดพะเนียงแตก พิมพ์สามเดี่ยว 2458 เมฆพัด
พระปิดตาหลวงพ่อทา วัดพะเนียงแตก นครปฐม พิมพ์ ๓ เกลอ ก่อนปี พ.ศ. ๒๔๕๘ เนื้อเมฆพัด
พระปิดตาหลวงพ่อทา วัดพะเนียงแตก พิมพ์สามเดี่ยว 2458 เมฆพัด
พระปิดตาหลวงพ่อทา วัดพะเนียงแตก นครปฐม พิมพ์ ๓ เกลอ ก่อนปี พ.ศ. ๒๔๕๘ เนื้อเมฆพัด

         ด้านหน้า จำลองเป็นรูปพระปิดตาภควัมบดี จำนวน ๓ องค์นั่งหันหลังชนกัน ที่ท้องขององค์พระมีอักขระยันต์ตัว "อุ" 

         ด้านหลัง ตรงกลางมีอักขระยันต์ใบพัด

         ตะกรุดไม้ไผ่หลวงพ่อทา วัดพะเนียงแตก

         สร้างขึ้นก่อนปี พ.ศ. ๒๔๖๒ เพื่อแจกให้กับศิษยานุศิษย์ของท่าน ลักษณะเป็นตะกรุดไม้ไผ่ขนาดค่อนข้างใหญ่ สร้างจากไม้ไผ่สีสุกภายในสอดด้วยใบลานยาวประมาณ ๑๐ เซนฯ จารอักขระยันต์พระพุทธเจ้าแผลงฤทธิ์จำนวน ๑ บรรทัด ปิดด้วยคาถาปิด ๑ บรรทัด และคาถาอุดอีก ๑ บรรทัด 

ตะกรุดไม่ไผ่หยุดมัจจุราชหลวงพ่อทา วัดพะเนียงแตก 2452
ตะกรุดไม่ไผ่(หยุดมัจจุราช)หลวงพ่อทา วัดพะเนียงแตก นครปฐม สร้างก่อนปี พ.ศ. ๒๔๖๒

         ก่อนที่จะพวกด้วยผงพุทธคุณ แล้วจึงนำมาถักด้วยเชือกลายจะเข้ขบฟันอันเป็นเอกลักษณ์ และถักเชือกเป็นลายพิรอด ในบางชิ้นถักเป็นเชือกคล้องคอ หลังจากนั้นจึงนำไปชุบรักเพื่อให้เกิดความคงทน จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

         พุทธคุณเป็นที่เลืองลือให้ด้านมหาอุด คงกะพันชาตรี จนชาวบ้านที่ได้รับตะกรุดไปต่างนิยมเรียกกันว่า ตะกรุดหยุดมัจจุราชเลยทีเดียว

ภาพถ่ายหลวงพ่อทา วัดพะเนียงแตก นครปฐม
หลวงพ่อทา วัดพะเนียงแตก นครปฐม

         หลวงพ่อทา ท่านเป็นพระครูผู้พิทักษ์องค์พระปฐมเจดีย์ ประจำทิศเหนือ เป็นหนึ่งในพระเถราจารย์ ๑ใน ๑๐ ตำนานกบใสไม้ที่วัดพระปฐมเจดีย์ คนสมัยก่อนเรียกท่านว่า หลวงพ่อเสือกระเบนหางด้วน โสอุดร 

         ท่านเป็นพระที่เคร่งพระธรรมวินัยเเละพุทธาคม วัตถุมงคลของท่าน เด่นไปทางมหาอุตม์ ท่านเคยลองวิชาพุทธาคมกับหลวงปู่ช้าง วัดศิลามูล หลวงพ่อมี วัดคอกช้าง ภายหลังลาสิกขาเเละเป็นวัดร้าง 

         มีเรื่องเล่าเก่าแก่จากคนเฒ่าคนแก่เล่าสืบต่อกันมาว่า ท่านเคยลองวิชากับหลวงพ่อมี วัดคอกช้าง ตามคำบอกเล่าว่า ครั้งเมื่อหลวงพ่อทา ท่านจะเดินทางไปซื้อหมากพลู ที่ตลาดท่านา นครไชยศรี หรือไปหาหลวงปู่บุญ วัดกลางบางเเก้ว

        โดยสมัยนั้นการโดยสานมักใช้เรือเป็นยานพาหนะ ท่านกับคนเเจ่วเรือ อีก ๒ คน พายเรือผ่านคลองบางพระ เมื่อมาถึงท่าน้ำวัดคอกช้าง (วัดเก่าเเก่สมัยกรุงศรีอยุธยา) คนเเจวเรือก็บอกกับหลวงพ่อ "หลวงพ่อครับ เรือมันพายไม่ไปครับ" 

         หลวงพ่อท่านก็ยิ้ม เเล้วตอบกับคนเเจวเรือว่า "อ้ายมีเล่นกูเข้าเเล้ว" หลวงพ่อท่านเลย หลับตาเพ่งกระเเสจิต เห็นว่าหลวงพ่อมีกำลังตำหมาก อยู่บนกุฎิของท่าน โดยเสกโซ่คล้องเรือหลวงพ่อทาใว้ 

         หลวงพ่อทาจึงใช้พุทธาคม ทำให้หลวงพ่อมี ตำหมากไม่ได้ เเละยังเสกตะขาบ ไปหาหลวงพ่อมี ซึ่งหลวงพ่อมี วัดคอกช้าง ท่านมีวิชาอาคมขลัง ภายหลังท่านต้องอธิกรณ์อาบัติปาราชิก ชาวบ้านได้พาท่านไปลาสิกขากับหลวงพ่อทา วัดพะเนียกเเตก 

         เมื่อมาไกล้ถึงวัดพะเนียงเเตก หลวงพ่อมี วัดคอกช้างได้ใช้วิชาบิดใส้บังฟันเเละเสกชนี กัดชาวบ้านตายไปหลายคน วัดคอกช้างจึงเป็นวัดร้าง เรื่องเล่านี้จากคนเฒ่าคนเเก่ ผู้ทันเหตุการณ์นำมาเล่าต่อกันมา

         ศิษย์ของท่านได้เเก่ที่มีชื่อเสียงโด่งดังคือ

         ๑. หลวงพ่อเเช่ม อินทโชโต วัดตาก้อง

         ๒. พระครูภาวนาสังวรคุณ หลวงพ่อเต๋ คงฺคสุวณฺโณ วัดสามง่าม

         ๓. พระครูพรหมวิสุทธิ์ หลวงพ่อวงษ์ พรหมสโร วัดทุ่งผักกูด

         ย้อนกลับไปเมื่อราว ปี พ.ศ. ๒๕๑๐ - ๒๕๒๐ สมัยนั้นเซียนพระที่เล่นพระของหลวงพ่อทา จะเล่นกันอยู่แค่ ๒ รุ่นเท่านั้นที่ว่าทัน และเป็นพระของท่าน คือเหรียญหล่อรุ่นแรก และเหรียญหล่อรุ่น ๒ เท่านั้น แต่ปัจจุบันเล่นหาพระปิดตาเพิ่มขึ้นมาด้วย ซึ่งเซียนพระยุคเก่าๆจะไม่เล่นหาสะสมกัน ส่วนที่เล่นกันเป็นเหรียญหล่อรุ่น ๓ นั้นไม่ใช่พระของหลวงพ่อทา แต่อย่างใด..  


โดย : สารานุกรมพระเกจิแห่งแดนสยาม

บทความที่เกี่ยวข้อง

***-[เป็นกำลังใจและสนับสนุน​ให้เราเขียนบทความดีๆ ด้วยการกดดูโฆษณาด้านล่างนะคะ]-***

ไม่มีความคิดเห็น