โฆษณาแนวนอน728*90

บทความใหม่

ประวัติและวัตถุมงคลหลวงพ่อลา วัดแก่งคอย เจ้าของเหรียญขลังราคาแพงของสระบุรี

ภาพถ่ายหลวงพ่อลา วัดแก่งคอย สระบุรี
หลวงพ่อลา วัดแก่งคอย สระบุรี

         หลวงพ่อลา วัดแก่งคอย หรือ พระครูสุนทรสังฆกิจ อดีตเจ้าอาวาสวัดแก่งคอย ท่านมีนามเดิมว่า ลา สายสมบัติ เกิดเมื่อวันอาทิตย์ที่ ๑๗ มกราคม พ.ศ. ๒๔๒๘ เดือนยี่ ปีระกา ในสมัยรัชกาลที่ ๕ ณ บ้านตำบลคล้อทอง อำเภอเขื่องใน จังหวัดอุบลราชธานี

         โยมมีบิดาชื่อนายโม้ สายสมบัติ โยมมารดาชื่อนางแจ่ม สายสมบัติ มีพี่น้องร่วมบิดา-มารดาเดียวกัน ๕ คน โดยหลวงพ่อลาเป็นคนที่ ๔ ที่บ้านประกอบอาชีพชาวนา 

         ในวัยเด็กหลวงพ่อลา ท่านมีนิสัยฝักใฝ่ทางธรรมตั้งแต่อายุยังน้อย ครั้นถึงปี พ.ศ. ๒๔๔๓ ขณะที่มีอายุได้ ๑๕ ปี ท่านก็ได้บรรพชาเป็นสามเณร ณ วัดคล้อทอง ตำบลคล้อทอง อำเภอเขื่องใน จังหวัดอุบลราชธานี เพื่อร่ำเรียนวิชาจนสามารถเขียนอ่านภาษาบาลีและภาษาสมัยนิยมได้อย่างคล่องแคล้ว

         ปี พ.ศ. ๒๔๔๘ หลวงพ่อลา ท่านมีอายุได้ ๒๐ ปี ท่านจึงได้เข้ารับการอุปสมบทต่อ ณ พัทธสีมาวัดคล้อทอง ตำบลคล้อทอง อำเภอเขื่องใน จังหวัดอุบลราชธานี ได้รับฉายาว่า "ชัยมงฺคโล" โดยไม่ปรากฏชื่อพระอุปัชฌาย์

         หลังจากนั้นท่านก็ได้อยู่จำพรรษาอยู่ที่วัดคล้อทอง อีกหลายพรรษาจนพ้นนวกะแล้ว จึงได้รุกขมูลไปทางชายแดนไทย-ลาว เข้าสู่แขวงสวันเขต ประเทศลาว (ซึ่งขณะนั้นยังอยู่ในการปกครองของประเทศไทย) ระหว่างที่พำนักอยู่ที่แขวงสวันเขตนี้ ได้มีโอกาสศึกษาวิชาอาคามต่างๆ ตามสมัยนิยม

         ขณะนั้นท่านได้พบกับหลวงปู่ผู้เฒ่ารูปหนึ่ง และได้เรียนวิชาการทำน้ำมนต์ประกอบเทียน เป็นวิชาสำคัญที่ทำให้ท่าน มีชื่อเสียงอย่างยิ่ง และกว่าที่ท่านจะสำเร็จวิชานี้ครบถ้วนกระบวนความ ต้องไปฝึกบนภูเขาถึง ๕ ปีเต็ม

         จึงจะได้รับอนุญาตให้นำวิชานี้ไปใช้ได้ คุณวิเศษของวิชาเทียนน้ำมนต์มหัศจรรย์นี้ ถ้าหากผู้ใดได้อาบกินแล้วถือได้ว่าสำเร็จตามความปรารถนาที่ได้อธิษฐานไว้ทุกประการ ถึงแม้ว่ามีความขึ้นโรงขึ้นศาลเรื่องราวปัญหาชีวิตต่างๆ ที่หนักหนาสาหัส ก็จะบรรเทาเบาบางลง ส่วนเรื่องที่ไม่หนักหนาก็จะสูญหายไปอย่างน่าอัศจรรย์ 

ภาพถ่ายหลวงพ่อลา วัดแก่งคอย สระบุรี
หลวงพ่อลา วัดแก่งคอย สระบุรี

         เมื่อสำเร็จวิชาแล้ว หลวงพ่อลา ท่านจึงได้กราบลาหลวงปู่ผู้เฒ่ากลับสู่เมืองไทย โดยรุกขมูลผ่านทางอำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี เดินทางเรื่อยๆ จนเข้าสู่เขตจังหวัดสระบุรี และได้เข้าจำพรรษาอยู่ในวัดบ้านช่องเหนือ ตำบลบ้านป่า อำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี เรื่อยมา

         ปี พ.ศ. ๒๔๖๑ ท่านจึงได้รับการแต่งตั้งเจ้าอาวาสวัดบ้านช่อง ตำบลบ้านป่า อำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี

         หลังจากขึ้นเป็นเจ้าอาวาสวัดบ้านช่อง ท่านก็ได้พัฒนาวัดจนเจริญรุ่งเรืองขึ้นตามลำดับ ทั้งการสร้างเสนาสนะต่างๆ ภายในวัด

         ปี พ.ศ. ๒๔๖๒ ท่านจึงได้รับการแต่งตั้งให้เป็นพระปลัดลา ชัยมงฺคโล ฐานะเจ้าคณะแขวง

         ปี พ.ศ. ๒๔๖๓ ได้รับการแต่งตั้งให้เป็น เจ้าคณะหมวด หรือเจ้าคณะตำบลบ้านป่า

         ปี พ.ศ. ๒๔๖๗ ท่านจึงได้รับการแต่งตั้งให้เป็น พระอุปัชฌาย์

         ปี พ.ศ. ๒๔๗๖ ทางวัดแก่งคอยได้ขาดแคลนสมภารเจ้าวัด คณะสงฆ์กับชาวบ้าน จึงพร้อมใจกันนิมนต์ท่านมาครองวัดแก่งคอย เพื่อปกครองวัดสืบต่อไป และในปีเดียวกันนั้นเองท่านจึงได้แต่งตั้งให้เป็นพระครูชั้นประทวน อีกด้วย

         วัดแก่งคอย เป็นวัดราษฏร์ สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๓๓๐ โดยชาวบ้านในพื้นที่ได้ร่วมใจกันก่อสร้าง ยกที่ดินให้เป็นที่ธรณีสงฆ์เพื่ออุทิศถวายในบวรพุทธศาสนา

         โดยมีท่านเจ้าคุณพระยาสโมสรสรรพการ ซึ่งเป็นคนอำเภอบางกอกน้อย จังหวัดธนบุรี ได้บริจาคทุนทรัพย์ส่วนตัวในการเริ่มก่อสร้างวัดแก่งคอย 

         ซึ่งได้เริ่มก่อสร้างในสมัยพระการีสุนทราการเป็นนายอำเภอ สำหรับพระอุโบสถเริ่มขึ้นเมื่อปีเถาะ จุลศักราช ๑๒๖๕ ตรงกับปี พ.ศ. ๒๔๖๖ ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๖๗ ทางวัดจึงขอพระราชทานวิสุงคามสีมา ซึ่งตรงกับปีมะโรง 

         นอกจากนั้นท่านเจ้าคุณพระยาสโมสรสรรพการและคุณแม่ล้อม สุนทราการได้ถวายที่ดินเป็นธรณีสงฆ์จำนวน ๑๐ ไร่ ๗๖ ตารางวา และเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๙ นายบุญจันทร์และนางไพฑูรย์ นุตราวงศ์ ได้ถวายที่ดินเพิ่มให้วัดอีก ๒ ไร่ ๔๕ ตารางวา รวมเป็นที่ดินทั้งหมดรวม ๑๓ ไร่ ๒๑ ตารางวา

         และจากคำบอกเล่าสืบต่อๆกันมา ที่ตั้งของวัดเดิมแห่งนี้ยังเป็นป่าทึบแนวป่าดงพญาเย็น ยังเป็นป่าที่สมบูรณ์ สัตว์ป่ามีหลากหลายชนิดอาศัยอยู่มากมาย จึงทำให้ผู้คนเข้าจับจองอาศัยทำมาหากินเป็นจำนวนมาก ความเจริญจึงได้เริ่มขึ้นเรื่อยมา 

         การเรียกชื่อวัดนี้เปลี่ยนแปลงมาตามยุคตามสมัย ซึ่งชื่อเดิมในยุคนั้นนามของวัดว่า วัดแก่งนางคอย เหตุที่ชื่อนี้ก็พอจะสันนิษฐานได้ว่า ที่ตั้งของวัดแห่งนี้อยู่ติดกับแม่น้ำป่าสัก ในสมัยนั้นชาวบ้านและพ่อค้าประชาชนจะทำการค้าขายหรือการเดินทางจะใช้เรือหรือต่อแพไม่ไผ่เป็นยานพาหนะขนส่งสินค้าระหว่างกรุงเทพ – เพชรบูรณ์ 

         ขึ้นล่องไปมาตลอดทางด้านทิศตะวันออกของวัด แม่น้ำจะเป็นโขดหินร่องน้ำตื้นเขิน การเดินเรือและแพจะไม่สะดวกในการขนส่งสินค้า ถ้าน้ำตื้นเขินมากๆ พ่อค้าที่นำเรื่อผ่านมาจะต้องมารอคอยหรือนอนพักแรมทะยอยนำเรือหรือแพขึ้นแก่งกันเป็นแรมเดือน 

         และบางครั้งหนุ่มสาวชาวเรือก็จะแอบนัดพบกันในบริเวณแก่งของวัด จนกลายเป็นที่นัดพบรอคอยของสาวชาวเรือชาวแพในสมัยนั้น จึงพากันเรียกชื่อวัดกันมาจนติดปากว่า วัดแก่งนางคอย

         ในกาลต่อมาชาวบ้านได้พากันเรียกชื่อวัดนี้ว่า วัดแร้งคอย เหตุที่ชื่อเช่นนี้ก็มีที่มาคือ เมื่อถึงยุคสมัยบ้านเมืองมีความเปลี่ยนแปลง มีความเจริญเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ชาวบ้านได้มีการก่อร่างสร้างตัวมากขึ้นและได้มีการตัดไม่ทำลายป่าเป็นจำนวนมาก 

         คงเหลืออยู่แต่ไม้ใหญ่ยืนต้นบางส่วน เช่น ต้นยางใหญ่ที่แนวริมตลิ่งแม่น้ำป่าสักทางด้านทิศเหนือของวัดเหลืออยู่ปรากฏให้เห็นประมาณ ๔-๕ ต้น ประกอบการสมัยนั้นผู้คนที่เข้ามาอยู่อาศัยจะเกิดเป็นไข้มาลาเรียล้มตายกันเป็นส่วนมาก

         เมื่อความเจริญเข้ามา ป่าไม้ก็ลดน้อยถอยลงเพราะถูกทำลาย ทำให้สัตว์ต่างๆ ต้องย้ายที่อยู่อาศัยไปอยู่ที่อื่น เช่นขึ้นไปอยู่เทือกเขาใหญ่ เขาเขียวบ้าง 

         ส่วนนกอีแร้ง อีกา ได้พากันมาอาศัยอยู่ที่ต้นยางใหญ่ ที่เหลืออยู่ในบริเวณริมตลิ่งแม่น้ำป่าสักทางลงแก่งท่าน้ำของวัดเป็นจำนวนนับร้อยๆตัว ทำให้การหาอาหารจำพวกซากสัตว์ที่ตายไม่พอกับความต้องการของอีแร้งอีกา จึงได้พากันจิกตีแย่งกันร่วงหล่นตกลงมาจากยอดยาง

         ให้พระเณรและประชาชนได้พบเห็นเป็นประจำ และในตอนเย็นอีแร้งเหล่านี้ก็พากันกลับมานอนที่ต้นยางใหญ่แห่งนี้เป็นประจำตลอดมา เมื่อชาวบ้านเห็นเช่นนั้น จึงได้พากันเรียกว่าที่แร้งคอย และได้ขนานนามวัดใหม่ว่า วัดแร้งคอย จนติดปากต่อๆ กันมาเป็นเวลนานพอสมควร 

         ในกาลต่อมาทางราชการได้ทำการตั้งชื่อวัดเป็นทางการว่า วัดจมูสโมสร หมายถึง วัดเป็นที่ชุมนุมของเหล่าเสนาฯ  

         ต่อมาช่วงประมาณปี พ.ศ. ๒๔๘๗ - ๒๔๙๐ บ้านเมืองเจริญรุ่งเรืองหมู่บ้านและชุมชนก็มากขึ้น ทางคณะสงฆ์พร้อมด้วยทายกทายิกาและชาวบ้านมีความเห็นร่วมกัน สมควรที่จะทำการเปลี่ยนชื่อวัดเดิมให้เข้ากับหมู่บ้านและหน่วยราชการ 

         จึงทำการขอเปลี่ยนชื่อจากวัดจมูสโมสร เป็น วัดแก่งคอย เพระชาวบ้านเรียกง่าย ทั้งวัดยังติดกับตลาดแก่งคอย และใกล้กับที่ว่าการอำเภอแก่งคอย หมู่บ้านแก่งคอย พร้อมกับออกที่วัดครั้งแรก ใช้เลขที่ ๙๔๖ ถนนสุดบรรทัด เขตเทศบาลตำบลแก่งคอย อำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี 

         ต่อมาภายหลังประชาชนมีจำนวนมากขึ้น ทำให้บ้านเรือนหนาแน่น ทางการจึงได้ทำการเปลี่ยนแปลงเลขที่บ้านใหม่ เลขที่ของวัดจึงได้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมด้วย มาเป็นเลขที่ ๓๕๓/๑ หมู่ – ตำบลแก่งคอย อำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี ด้วยถือว่านำชื่อบ้านกับชื่อวัดเป็นที่เดียวกันเลย จึงเรียก วัดแก่งคอย มาจนถึงทุกวันนี้

         วัดแก่งคอย เคยประสบภัยทางอากาศสมัยมหาสงครามโลกครั้งที่ ๒ กฏิสงฆ์ และพระอุโบสถหลังเดิมถูกแรงระเบิดกระทบชำรุดทรุดโทรมไปเมื่อวันที่ ๒ เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๘ ประกอบกับภัยธรรมชาติ ทำให้ชำรุดปรักหักพัง ไม่สะดวกในการประกอบสังฆกรรมและบำเพ็ญกุศล

         เฉพาะพระอุโบสถได้สร้างขึ้นมาใหม่ ในที่เดิมในปลายปี พ.ศ. ๒๕๐๗ และได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาอีกครั้งเมื่อวันที่ ๘ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๐๘ เขตวิสุงคามสีมากว้าง ๔๐ เมตร ยาว ๘๐ เมตร ได้ทำการผูกพัทธสีมา ๕ วัน ๕ คืน ในวันที่ ๑๘ - ๒๒ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๐ และได้พัฒนาปฏิสังขรณ์สืบมาตราบเท่าทุกวันนี้

ภาพถ่ายหลวงพ่อลา วัดแก่งคอย สระบุรี
หลวงพ่อลา วัดแก่งคอย สระบุรี

         หลังจากที่หลวงพ่อลา ได้รับการนิมนต์มาเป็นเจ้าอาวาสวัดแก่งคอย ท่านก็ได้พัฒนาวัดจนเจริญรุ่งเรืองขึ้นตามลำดับ 

         ปี พ.ศ. ๒๔๗๘ อีกสองปีต่อมาท่านก็ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเจ้าคณะแขวง อำเภอแก่งคอย และในที่สุดได้เลื่อนชั้นเป็น พระครูสัญญาบัตรชั้นตรี ที่ พระครูสุนทรสังฆกิจ พร้อมกับตำแหน่งเจ้าคณะอำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี

         ปี พ.ศ. ๒๔๗๙ ท่านได้รับการแต่งตั้งให้เป็นพระครูสัญญาบัตรชั้นโท ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์นาม พระครูสุนทรสังฆกิจ (ใช้ราชทินนามเดิม)

         ปี พ.ศ. ๒๔๘๕ ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเจ้าคณะอำเภอ ตามพ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๔๘๔

         ปี พ.ศ. ๒๔๙๕ ท่านได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเจ้าคณะอำเภอชั้นเอก

         หลวงพ่อลา ปกครองวัดเรื่อยมาจนถึงแก่มรภาพลงด้วยโรคชรา เมื่อวันที่ ๔ พฤษจิกายน พ.ศ. ๒๔๙๗ นับรวมสิริอายุได้ ๗๑ ปี ๕๐ พรรษา และได้มีการขอพระราชทานเพลิงศพ เมื่อวันที่ ๑๒ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๙๘ เวลา ๑๔.๓๐ น. ณ เมรุลอยวัดแก่งคอย.

วัตถุมงคลของหลวงพ่อลา วัดแก่งคอย

         เหรียญหลวงพ่อลา วัดแก่งคอย รุ่นแรก

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๗๙ เพื่อแจกในคราวฉลองสมณศักดิ์ของหลวงพ่อ ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มข้างกระบอกรูปไข่ มีหูเชื่อม มีการสร้างด้วยเนื้อเงิน เนื้อทองแดง และเนื้ออัลปาก้า จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้ แต่คาดกันว่าจำนวนการสร้างไม่เกิน ๕๐๐ เหรียญ

เหรียญหลวงพ่อลา วัดแก่งคอย สระบุรี รุ่นแรก 2479 เงิน
เหรียญหลวงพ่อลา วัดแก่งคอย สระบุรี รุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๔๗๙ เนื้อเงิน ของคุณต่อ สตางค์
เหรียญหลวงพ่อลา วัดแก่งคอย สระบุรี รุ่นแรก 2479 อัลปาก้า
เหรียญหลวงพ่อลา วัดแก่งคอย สระบุรี รุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๔๗๙ เนื้ออัลปาก้า ของคุณหลุง สุพรรณ

เหรียญหลวงพ่อลา วัดแก่งคอย สระบุรี รุ่นแรก 2479 ทองแดง
เหรียญหลวงพ่อลา วัดแก่งคอย สระบุรี รุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๔๗๙ เนื้อทองแดง
เหรียญหลวงพ่อลา วัดแก่งคอย สระบุรี รุ่นแรก 2479 ทองแดง-สวย
เหรียญหลวงพ่อลา วัดแก่งคอย สระบุรี รุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๔๗๙ เนื้อทองแดง ของร้ายสินสมบูรณ์

         ด้านหน้า มีรูปจำลองหลวงพ่อลาครึ่งองค์ห่มจีวรลดไหล่ พาดผ้าสังฆาฏิ ขอบเหรียญมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "ที่ระลึกในงานฉลอง พระครูสุนทรสังฆกิจ พุทธสโร"  ซึ่งช่างได้แกะฉายาของท่านผิดไป

         ด้านหลัง ตรงกลางมีอักขระยันต์ "อุ" และตัว "อุนาโลม"  ใต้อักขระยันต์อักขระภาษาไทยเขียนว่า "พ.ศ. ๒๔๗๙"  

         เหรียญหลวงพ่อลา วัดแก่งคอย รุ่นแรก

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๙๗ เพื่อแจกให้กับผู้ที่บริจาคทรัพย์ให้กับทางวัด ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มตัดขาดรูปไข่ แบบมีหูในตัว มีการสร้างด้วยเนื้อทองแดงเพียงชนิดเดียวเท่านั้น จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

เหรียญหลวงพ่อลา วัดแก่งคอย สระบุรี รุ่น 2 2494 ทองแดง
เหรียญหลวงพ่อลา วัดแก่งคอย สระบุรี รุ่น ๒ ปี พ.ศ. ๒๔๙๗ เนื้อทองแดง
เหรียญหลวงพ่อลา วัดแก่งคอย สระบุรี รุ่น 2 2494 ทองแดง
เหรียญหลวงพ่อลา วัดแก่งคอย สระบุรี รุ่น ๒ ปี พ.ศ. ๒๔๙๗ เนื้อทองแดง

         ด้านหน้า มีรูปจำลองหลวงพ่อลาครึ่งองค์ห่มจีวรลดไหล่ พาดผ้าสังฆาฏิ ขอบเหรียญมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "หลวงพ่อลา ชัยมังคโล วัดแก่งคอย" 

         ด้านหลัง ตรงกลางมีอักขระยันต์ห้าอ่านได้ "นะ โม พุท ธา ยะ" ขอบเหรียญมีอักขระยันต์ล้อมรอบ

         มีเรื่องเล่ากันถึงความศักดิ์สิทธิ์ของหลวงพ่อลา เล่าสืบต่อกันมาว่า เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๗๐ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงแต่งตั้งคณะกรรมการ เพื่อปฏิสังขรณ์วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ให้ทันกับการสมโภชกรุงเทพมหานครครบ ๑๕๐ ปี ใน พ.ศ.๒๔๗๕ โดยมี

         สมเด็จพระบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต ทรงเป็นประธานคณะกรรมการ

         พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชศรัทธา อุทิศพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ รัฐบาลอนุญาตเงินแผ่นดินอุดหนุน ส่วนที่ยังขาดอยู่ทรงพระกรุณา โปรดเกล้าฯ ให้กรรมการจัดดำเนินการเรี่ยไรพระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชการ และประชาชนทั่วไป เพื่อให้ได้มีโอกาสบำเพ็ญกุศลร่วมกัน 

         โดยให้กระทรวงพระคลัง มหาสมบัติจัดพนักงานรับเรี่ยไร โดยมีใบเสร็จ และเหรียญพระแก้วตอบแทน เป็นที่ระลึกและในพิธีพุทธาภิเษกเหรียญพระแก้วมรกตนี้ หลวงพ่อลา ท่านก็ได้ถูกนิมนต์ในพิธีพุทธาภิเษกนี้ด้วยเช่นกัน

        รายนามพระเกจิอาจารย์ ที่เข้าร่วมพิธีปลุกเสกที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม (วัดพระแก้ว) เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๗๕ มีดังนี้ (อ้างอิงจากวัดพระแก้วโดยตรง)

        ๑. พระเจ้าวรวงศ์เธอกรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า วัดราชบพิตร

        ๒. สมเด็จพระวันรัต ( แพ ติสสเทโว ) วัดสุทัศน์

        ๓. พระโพธิวงศาจารย์(นวม) วัดอนงคาราม

        ๔. สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เข้ม) วัดโพธิ์

        ๕. หลวงพ่อคง วัดซำป่าง่าม ฉะเชิงเทรา

        ๖. หลวงพ่อเข้ม วัดม่วง ราชบุรี

        ๗. หลวงปู่บุญ วัดกลางบางแก้ว

        ๘. หลวงพ่อจันทร์ วัดนางหนู ลพบุรี

        ๙. หลวงปู่รอด วัดทุ่งศรีเมือง อุบลฯ

        ๑๐. หลวงพ่อเปี้ยน วัดโพธิราม สุพรรณบุรี

        ๑๑. หลวงพ่อกรัก วัดอัมพวัน ลพบุรี

        ๑๒. เจ้าคุณอุบาลี สิริจันโท วัดบรมนิวาส

        ๑๓. หลวงพ่อช่วง วัดปากน้ำ สุมทรสงคราม

        ๑๔. หลวงพ่อแฉ่ง วัดพิกุลเงิน นนทบุรี

        ๑๕. หลวงพ่อพุ่ม วัดบางโคล่

        ๑๖. หลวงพ่อพริ้ง วัดบางปะกอก

        ๑๗. หลวงพ่อฉาย วัดพนัญเชิง อยุธยา

        ๑๘. หลวงพ่อลา วัดแก่งคอย สระบุรี

        ๑๙. หลวงพ่อไปล่ วัดกำแพง

        ๒๐. หลวงพ่อเดิม วัดหนองโพธิ์ นครสวรรค์

        ๒๑. หลวงพ่อบ่าย วัดช่องลม สุมทรสงคราม

        ๒๒. หลวงพ่อลา วัดโพธิ์ศรี สิงห์บุรี

        ๒๓. หลวงพ่อเปลี่ยน วัดใต้ กาญจนบุรี

        ๒๔. หลวงพ่ออี๋ วัดสัตหีบ ชลบุรี

        ๒๕. หลวงพ่อทอง วัดเขากบ นครสวรรค์

        ๒๖. หลวงพ่อคง วัดท่าหลวงพล ราชบุรี

        ๒๗. หลวงพ่อสอน วัดป่าเลไลย์ สุพรรณบุรี

        ๒๘. หลวงพ่อคง วัดบางกะพ้อม สุมทรสงคราม

        ๒๙. หลวงพ่อชม วัดพุทไธสวรรค์ อยุธยา

        ๓๐. หลวงพ่อรุ่ง วัดท่ากระบือ สุมทรสาคร

        ๓๑. หลวงพ่อพวง วัดหนองกระโดน นครสวรรค์

        ๓๒. หลวงพ่อคง วัดใหม่บำเพ็ญบุญ

        ๓๓. หลวงพ่อญัติ วัดสายไหม ปทุมธานี

        ๓๔. หลวงพ่อพร วัดดอนเมือง

        ๓๕. หลวงพ่อเผือก วัดกิ่งแก้ว

        ๓๖. หลวงพ่อศรี วัดพระปรางค์ สิงห์บุรี

        ๓๗. หลวงพ่อจง วัดหน้าต่างนอก อยุธยา

        ๓๘. หลวงพ่อจาด วัดบางกระเบา

        ๓๙. หลวงพ่อพิธ วัดฆะมัง พิจิตร

        ๔๐. หลวงพ่อจันทร์ วัดบ้านยาง ราชบุรี

        ๔๑. หลวงพ่อสด วัดปากน้ำ

        ๔๒. หลวงพ่อเปี่ยม วัดเกาะหลัก

        ๔๓. หลวงพ่อสนธิ์ วัดสุทัศน์

        หลวงพ่อลา ท่านมีสุดยอดวิชา ทําน้ำพระพุทธมนต์ เทียนชัยไร้น้ำตา ที่แสดงอภินิหารให้เห็น เมื่อท่านจุดเทียนบริกรรมทําน้ำพระพุทธมนต์ โดย น้ำตาเทียน จะไม่ละลายไหลย้อยที่ด้านบนต้นเทียน แต่กลับไหลลงตามไส้เทียนมาออกที่ด้านฐาน

        จึงมักจะมีศิษย์คอยเฝ้าแย่งเอา "เทียน" เมื่อเสร็จพิธี บางครั้งยังไม่เสร็จพิธี เทียนละลายแค่ครึ่งต้นก็แย่งกันแล้ว แต่ไม่กี่ครั้งก็เลิก เพราะ ถอนเทียนไม่ออกแต่เมื่อเสร็จพิธี หลวงพ่อลาก็ถอดเทียนอย่างง่ายๆมอบให้ผู้ที่ท่านเห็นควร

        ครั้งในสมัยนั้น ท่านได้มีผู้มีจิตเมตตานำกวางและแพะมาถวายท่านเลี้ยงไว้ที่วัด ท่านได้ลงผ้ายันต์ผูกคอให้กวางและแพะของท่านปล่อยไว้ในวัด เมื่อได้เวลา กวางและแพะออกไปหากินอาหารในตลาด แย่งกินผักผลไม้จากแม้ค้าในตลาด บางคนก็เอาไม้คานตี เอามีดฟัน บางคนถึงกับเอาปืนยิง แต่ก็ยิงไม่ออก ฟันไม่เข้า จนเป็นที่เลื่องลือกันไปทั่วว่าแพะและกวาง ของหลวงพ่อลาอยู่ยงคงกระพัน ฟันไม่เข้า ยิงไม่ออก

        ครั้งหนึ่งในสมัยสงครามโลกครั้งที่ ๒ ทหารญี่ปุ่นได้ใช้แก่งคอย เป็นเมืองท่าลำเลียงพล เพราะเมืองแก่งคอยมีทั้งแม่น้ำป่าสัก เส้นทางรถไฟ จึงเป็นชัยภูมิที่เหมาะสม ทหารญี่ปุ่นได้ยึดเมืองแก่งคอยเป็นเวลาถึง ๔ ปี จนกระทั้งพันธมิตรได้ใช้เครื่องบิน B24 ทิ้งระเบิดลงเมืองแก่งคอย ที่ทหารญี่ปุ่นประจำการณ์อยู่ วันที่ ๒ เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๘

         แน่นอนว่า ระเบิดก็ต้องลงในแหล่งชุมชนเมืองแก่งคอย แม้ทหารญี่ปุ่นจะสูญเสียไป เป็นจำนวนมาก ประชาชนและเมืองแก่งคอยก็สูญเสียเช่นกัน แต่ก็น่าอัศจรรย์ยิ่งเมื่อชาวเมืองรอดชีวิตอย่างปาฏิหาริย์ เมื่อหลบลูกระเบิดในวัดแก่งคอย 

ภาพถ่ายหลวงพ่อลา วัดแก่งคอย สระบุรี
หลวงพ่อลา วัดแก่งคอย สระบุรี

         และมีลูกระเบิดลูกหนึ่งลงมาตกในวัด แต่ไม่ระเบิด ชาวบ้านเชื่อว่าเป็นอิทธิฤทธิ์หลวงพ่อลา ที่ชาวบ้านเมืองแก่งคอยเคารพนับถือช่วยปกป้องภัยในครั้งนี้ ลูกระเบิดลูกนั้น ยังอยู่ที่วัดแก่งคอยเป็น อนุสรณ์สถานลูกระเบิดเตือนใจ ให้ระลึกถึงเหตุการณ์ที่มีการสูญเสียในครั้งจนถึงปัจจุบัน

         หลวงพ่อลา ท่านได้สร้างวัตถุงมงคลไว้เป็นที่ระลึกแก่ลูกศิษย์หลายอย่างเช่น ผ้าปะเจียด ผ้ายันต์ และเหรียญรุ่นแรก ปัจจุบันหาชมยากมากและมีจำนวนน้อยจึงมีราคาสูง ผู้ที่มีไว้ก็หวงแหนกันยิ่งนัก

         ภายหลังต่อมาเมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๗ ทางวัดทำการก่อสร้างอุโบสถหลังใหม่ แทนหลังเก่าที่ชำรุดทรุดโทรม โดยในปี พ.ศ. ๒๕๐๖ ทางวัดได้ทำการขุดรอบฐาน พระอุโบสถหลังเก่าเพื่อจะรื้อถอน 

         ในวันหนึ่งเวลาเที่ยงทางโรงเรียนได้ให้นักเรียนพักเที่ยง ได้มีเด็กกลุ่มหนึ่งได้พากันมาวิ่งเล่นซ่อนหารอบอุโบสถที่กำลังก่อสร้างอยู่นั้น ขณะที่เด็กกำลังเล่นกันอย่างเพลิดเพลินนั้น เหตุการณ์ที่ไม่ได้คาดคิดก็เกิดขึ้น อุโบสถทั้งหลังได้ลมครืนลงมาทับเด็กที่เล่นซ่อนหากันอยู่นั้น

         เด็กบางคนได้วิ่งไปบอกครู ให้ทราบถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น คณะครูจึงได้ตีระฆังเช็คดูนักเรียนว่ามีใครอยู่ และมีใครสูญหายบ้าง เมื่อเช็คดูแล้วได้มีเด็กหายไปหนึ่งคน คือเด็กชายไพบูลย์ ภู่อ่อนนิ่ม

         คณะครูและพระสงฆ์ในวัดได้มาค้นหาเด็กคนนั้นในที่พระอุโบสถพังลงมา หาอยู่เป็นเวลานานก็ได้ยินเสียงเด็กร้องขอความช่วยเหลือ คณะครูและพระสงฆ์ได้ช่วยกันงัด และยกก่อนปูนที่พังทับอยู่นั้นออก ก็ได้พบเด็กนอนอยู่ใต้นั้น ตรวจร่างกายของเด็กแล้วก็พบว่า ไม่ได้รับบาดเจ็บเลย

         เด็กได้บอกกับหลวงพ่อพระครูสมบูรณ์ ศีลวัตร ว่าได้มีหลวงพ่อแก่ๆ มาช่วยดันก่อนปูนเอาไว้ เมื่อดูที่คอของเด็กชายไพบูลย์ ก็ปรากฏว่ามีเหรียญหลวงพ่อลารุ่นแรก แขวนอยู่ที่คอของเด็กคนนั้น จึงเชื่อได้ว่า อภินิหารของเหรียญหลวงพ่อลาได้ช่วยให้เด็กชายไพบูลย์ ภู่อ่อนนิ่ม รอดชีวิตจากเหตุการณ์ในครั้งนั้น จนเป็นที่กล่าวขานเลื่องลือไปทั่ว

         อภินิหารของหลวงพ่อลาที่มีต่อนายสวัสดิ์ หริญเดช คือได้ถูกรถชนกระเด็นไปอยู่บนหน้ากระโปรงรถ แต่ก็ไม่ได้รับอันตรายใดๆ เพราะท่านได้มีแหนบและผ้ายันต์ของหลวงพ่อลาพกติดตัวอยู่ จึงได้รับความคุ้มครองปลอดภัยด้วยปาฏิหาริย์ของหลวงพ่อลา


โดย : สารานุกรมพระเกจิแห่งแดนสยาม

บทความที่เกี่ยวข้อง

***-[เป็นกำลังใจและสนับสนุน​ให้เราเขียนบทความดีๆ ด้วยการกดดูโฆษณาด้านล่างนะคะ]-***

ไม่มีความคิดเห็น