ประวัติและวัตถุมงคลหลวงพ่อเต่า วัดน้ำพุสิทธาราม เจ้าของเหรียญเงินลงยาที่หายากของอ่างทอง
หลวงพ่อเต่า วัดน้ำพุ อ่างทอง |
หลวงพ่อเต่า วัดน้ำพุ หรือ พระครูธรรมพิริยะคุณ อดีตเจ้าอาวาสวัดน้ำพุสิทธาราม ตำบลน้ำพุ อำเภอวิเศษชัยชาญ จังหวัดอ่างทอง ท่านเกิดเมื่อวันที่ ๒๘ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๔๑ ที่บ้านตำบลคลองขนาก อำเภอวิเศษชัยชาญ จังหวัดอ่างทอง โยมบิดาชื่อนายเชย มณีโชติ โยมมารดาชื่อนางจันทร์ มณีโชติ
ปี พ.ศ. ๒๔๔๙ เมื่อท่านมีอายุได้ ๘ ขวบ โยมบิดาและโยมมารดาของท่านได้นำท่านไปฝากเข้าเรียนศึกษาที่วัดนางขำ และเรียนมูลกัจจายน์
ปี พ.ศ. ๒๔๕๖ ท่านมีอายุได้ ๑๕ ปี ก็บรรพชาเป็นสามเณร และศึกษานักธรรม ต่อมาท่านก็ได้ช่วยสอนหนังสือภาษาไทย ซึ่งตอนนั้นวัดนางขำได้ตั้งโรงเรียนสอนภาษาไทยขึ้น ต่อมาต้องรับหน้าที่เป็นครูของโรงเรียนแห่งนี้ เนื่องจากไม่มีครูผู้สอน ในขณะนั้นท่านมีอายุเพียง ๑๗ ปีเท่านั้น
ท่านเห็นความสำคัญของการศึกษาจึงได้บำเพ็ญตนเป็นครูสอนแก่เยาวชน ท่านออกทุนทรัพย์ส่วนตัวซื้อหนังสือตำราให้แก่เด็กนักเรียนที่ขัดสน
ปี พ.ศ. ๒๔๖๑ หลวงพ่อเต่า ท่านมีอายุครบบวชพอดีจึงได้เข้าอุปสมบทเป็นพระภิกษุ ณ พัทธสีมาวัดนางขำ ตำบลบางจัก อำเภอวิเศษชัยชาญ จังหวัดอ่างทอง ได้รับฉายาว่า "ธัมมธโร" โดยมี
พระครูสุกิจวิชาญ วัดข่อย เจ้าคณะอำเภอวิเศษชัยชาญ เป็นพระอุปัชฌาย์
พระสมุห์จันทร์ วัดบางจักร เป็นพระกรรมวาจาจารย์
พระครูวิเศษชัยสิทธิ์ วัดอ่างทอง เป็นพระอนุสาวนาจารย์
หลังจากอุปสมบทแล้ว ท่านก็จำพรรษาอยู่ที่วัดนางขำเรื่อยมาเพื่อวิชาต่างๆ และสอนภาษาไทยอีกหนึ่งพรรษา ก็ขอพักเพื่อศึกษาพระปริยัติธรรม และย้ายมาศึกษาที่วัดมหาธาตุ (กรุงเทพฯ.)
ปี พ.ศ. ๒๔๗๑ หลังจากศึกษาวิชาต่างๆจนสำเร็จเชี่ยวชาญแล้ว ท่านจึงได้ย้ายกลับมาอยู่ที่วัดอ่างทอง ตำบลบางแก้ว อำเภอเมือง จังหวัดอ่างทอง และสามารถสอบได้นักธรรมเอก และบาลี ๓ ประโยค ท่านก็ได้ฟื้นฟูการศึกษาบาลีขึ้นด้วย
ต่อมาปลายปี พ.ศ. ๒๔๗๑ ทางวัดน้ำพุเกิดว่างเจ้าอาวาส ทายก-ทายิกาจึงไปนิมนต์หลวงพ่อให้มาเป็นเจ้าอาวาสวัดน้ำพุสิทธาราม
วัดน้ำพุสิทธาราม ตั้งอยู่เลขที่ ๔๖ บ้านบ่อน้ำพุ หมู่ที่ ๑ ตำบลสี่ร้อย อำเภอวิเศษชัยชาญ จังหวัดอ่างทอง สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย อาคารเสนาสนะประกอบด้วย อุโบสถ ศาลาการเปรียญ หอสวดมนต์ กุฏิสงฆ์
ปูชนียวัตถุ มีพระประธานประจำอุโบสถ ปางสมาธิ พระประธานประจำศาลาการเปรียญ ปางสมาธิ ปูชนียวัตถุอื่นๆ พระปรางค์ ซึ่งสร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๕๒ ในสมัยของหลวงพ่อพระปลัดหวาด เป็นเจ้าอาวาส ต่อมาปี พ.ศ. ๒๔๕๖ สมเด็จกรมพระยาภานุพันธ์วงศ์วรเดช ได้แห่ยอดเพตรามาจากกรุงเทพมหานคร ยกขึ้นไว้บนยอดปรางค์และสมโภชฉลองในปีนั้น
วัดน้ำพุสิทธาราม ตั้งวัดเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๒๐ เดิมมีนานามว่า วัดบ่อน้ำพุ เพราะมีบ่อน้ำพุเกิดขึ้นที่บริเวณวัด ตามประวัติศาสตร์กล่าวถึงวัดนี้ว่า พระองค์เจ้าเสือได้ปลอมพระองค์เป็นสามัญชนใช้ชื่อ "เดื่อ" ขึ้นชกมวยกับนายสิงห์ ในงานวันเพ็ญที่วัดบ่อน้ำพุ
ต่อมาเมื่อคราวกรุงศรีอยุธยาถูกข้าศึกรุกราน วัดนี้ถูกทำลายกลายสภาพเป็นวัดร้าง เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๒๐ ได้มีเถรสิงห์และพระนุ่มได้มาอยู่พำนักและริเริ่มบูรณปฏิสังขรณ์ขึ้นมา พร้อมกับนามวัดใหม่เป็น วัดน้ำพุสิทธาราม แต่ชาวบ้านเรียกสั้นๆ ว่า วัดน้ำพุ ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาปี พ.ศ. ๒๔๒๘
หลังจากที่หลวงพ่อเต่า ได้ขึ้นเป็นเจ้าอาวาส ท่านได้พัฒนาวัดอย่างสุดความสามารถ ทั้งการสร้างเสนาสนะต่างๆ และสร้างถาวรวัตถุๆต่างๆภายในวัด จนวัดเจริญรุ่งเรืองขึ้นตามลำดับ
ปี พ.ศ. ๒๔๘๐ ด้วยคุณงามความดีที่ท่านพัฒนาวัดจนเจริญรุ่งเรือง ท่านจึงได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตรชั้นตรี ที่พระครูธรรมพิริยะคุณ และท่านได้รับแต่งตั้งเป็นพระอุปัชฌาย์
ปี พ.ศ. ๒๔๘๔ ท่านได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าคณะอำเภอวิเศษชัยชาญ
หลวงพ่อเต่า ท่านมีอุปนิสัยเป็นคนพูดน้อย ประกอบด้วยเมตตาธรรม และมีวาจาสิทธิ์ มีเรื่องเล่ากันมามากมาย หลวงพ่อเต่าท่านนอกจากจะเป็นพระนักพัฒนาและส่งเสริมด้านการศึกษาแล้วท่านยังเก่งทางด้านรักษาโรคภัยไข้เจ็บอีกด้วย
วัดน้ำพุ ในสมัยนั้นจะมีคนเจ็บไข้ได้ป่วยพากันมาให้หลวงพ่อช่วยรักษาให้จนแน่นวัดเลยทีเดียว ครั้งหนึ่ง ท่านเจ้าคุณศรีฯ(สนธิ์) วัดสุทัศน์ ท่านได้ผ่านมาทางวัดน้ำพุฯโดยทางเรือ และได้เห็นเรือแพจอดที่หน้าวัดจนแน่นขนัด
จึงได้สอบถามว่าเขามาทำอะไรกัน ก็ได้รับคำตอบว่า เขามาให้หลวงพ่อเต่ารักษาโรคให้ ท่านเจ้าคุณศรีฯ(สนธิ์) ท่านยังได้เข้าไปหาหลวงพ่อเต่า และก็ยังได้นิมนต์หลวงพ่อเต่าเข้ามารักษาคนที่ กรุงเทพฯด้วย
หลวงพ่อเต่า วัดน้ำพุ อ่างทอง |
หลวงพ่อเต่า ท่านเป็นหมอยารักษาชาวบ้านเป็นที่พึ่งของชาวบ้านได้เป็นอย่างดี ทุกวันจะมีผู้คนมารับการรักษาจากหลวงพ่อโดยท่านจะตั้งกระบุงไว้หนึ่งลูก ใครจะทำบุญก็ทำไม่ทำท่านก็ไม่ว่า ในแต่ละวันคนนับร้อย บางวันก็นับพันคน และหลวงพ่อท่านมิได้รักษาทีละคน ท่านรักษาทีละหนึ่งศาลา คนเต็มศาลา เข้ามาในวงสายสิญหลวงพ่อ ใครถูกของคุณไสยทุกชนิดออกหมด
รักษาฝีที่ว่าเป็นแล้วตาย ท่านก็รักษาหายขาด ในการรักษาคนแต่ละครั้งหลวงพ่อท่านจะขึ้นนั่งธรรมมาส และใช้นิ้วชี้ของท่านวนที่กระดานในการรักษา เรียกว่านิ้วเพชร หรือวิชาเรียกโรค ที่ท่านฝึกฝนมานับสิบปีกว่าสำเร็จ
ขนาดคนเป็นอัมพาต ท่านก็รักษาหายด้วยยาและอาคมท่าน คนถูกคุณไสยพอเข้ามาในวงสายสิญท่านถึงกับต้องอาเจียนออกมาทันที
และวิชาที่ผู้คนน้อยนักที่จะทราบว่าหลวงพ่อท่าน เป็นองค์เดียวในวิเศษฯ ที่เรียนสำเร็จ คือวิชานิ้วเพชร ซึ่งหลวงพ่อท่านได้รับถ่ายทอดจากหลวงพ่อภักดิ์ วัดโบสถ์ อ่างทอง สุดยอดปรมาจารย์แห่งแขวงเมืองวิเศษชัยชาญ
ชาวบ้านวัดน้ำพุฯ ทราบกันดีว่านิ้วชี้หลวงพ่อนั้นศักดิ์สิทธิ์มาก เพราะเมื่อมีเรื่องเดือดร้อนอะไรไปหาหลวงพ่อท่านจะใช้นิ้วชี้ท่าน วนที่กระดานที่ท่านนั่ง อาการหรือโรคต่างๆเหล่านั้นที่ปากฏอาการก็หายไปทันที
หลวงพ่อเต่า ท่านยังเป็นผู้ที่มีวาจาศักดิ์สิทธิ์ยิ่ง ครั้งหนึ่งมีหมอลาว (ผู้ที่ชอบลองวิชากับพระคณาจารย์เก่งๆ คือเหมือนตระเวนหากินไปด้วยและลองของไปด้วย พระอาจารย์หลายท่านในวิเศษฯยุคเก่า เจอหมอลาวลองของมาหลายท่านแล้ว แต่ทำอะไรไม่ได้แถมโดนเล่นงานกลับซะอ่วม) เดินทางมาหาหลวงพ่อ
พอมาถึงหลวงพ่อท่านทราบล่วงหน้าอยู่แล้ว ท่านเลยขมวดผ้าจีวรผืนใหญ่และโยนให้ไปลองยิง พวกนั้นพอได้ไปก็ไปลอง ข้างกุฏิพระ ยิงกันเสียงดัง เเช๊ะ แช๊ะ ! แต่ไม่ออก ลูกศิษย์หลวงพ่อเห็นพวกนี้ถือปืนในวัดเลยเข้าไปสอบถามตักเตือน
หลวงพ่อท่านเห็น ท่านเลยพูดขึ้นว่า "อย่าไปยุ่งกับมันไอ้พวกหน้าเลือดนี่ อย่าไปยุ่งกับมัน" ลูกศิษย์หลวงพ่อจึงผละออกมา ต่างคนก็ต่างแยกย้าย แต่พอพวกหมอลาวเดินแยกย้ายออกไปนั้น เดินผ่านต้นมะพร้าวหลังกุฏิ ทันใดนั้นลูกมะพร้าวล่วงลงมะฟาดหัวแตกเลือดอาบหน้าตาแดงไปหมด เป็นดังคำที่หลวงพ่อพูดว่า "ไอ้พวกหน้าเลือด" ทุกประการ
วิชามหาประสาน มีอยู่วันหนึ่ง ลุงแถวหน้าวัด แกขึ้นไปสุมลอมฟาง มีแกนไม้ไผ่ตรงกลาง และสุมสูงขึ้นไปหลายเมตร วันนั้นโชคไม่ดี แกพลัดตกลงมาแขนหัก เลยนึกถึงหลวงพ่อก็ได้มาหาหลวงพ่อและบอกว่าแขนหักครับหลวงพ่อ ร้องโอยๆมาแต่ไกล หลวงพ่อท่านก็เลยถามว่า "มึงไปทำอะไรมาถึงได้แขนหัก"
ลุงแกก็เล่าให้หลวงพ่อฟังว่า ตกจากลอมฟาง พอหลวงพ่อท่านได้ฟัง ท่านก็บอกให้ลุงแกหยิบกี่ยา มาวางแขนที่หัก ระหว่างนั้นหลวงพ่อท่านก็นั่งบริกรรมคาถาไป เอานิ้วชี้ท่านวนที่กระดาน และก็นั่งคุยไปด้วย พอคุยได้สักพัก
หลวงพ่อท่านก็พูดขึ้นมาว่า "เอาเฮ้ย! คุยนานแล้วกูชักอยากดูดยา ยกกี่ยาให้กูที" ลุงแกด้วยความลืมตัว ก็เลยเอาสองมือยกกี่ยาถวายหลวงพ่อ หลวงพ่อบอก "เอ้าเฮ้ย ไหนมึงบอกแขนหักไงแล้วยกกี่ยาให้กูได้ไง" ลุงแกลืมตัว และแปลกใจอย่างมาก ว่าแขนที่หักหายเป็นปลิดทิ้ง ก็ก้มลงกราบหลวงพ่อ ด้วยความดีใจ
ปวดท้องแทนเมีย เรื่องนี้หลวงตาที่วัดน้ำพุเป็นคนประสบด้วยตนเอง คือ เมื่อสมัยที่โยมแม่ท่านตั้งท้องน้องชาย โยมพ่อก็มาหาหลวงพ่อเต่า ขอน้ำมนต์ไปให้โยมแม่หลวงตาท่านดื่มให้คลอดง่าย เมื่อก่อนจะเดินทางทางเรือ พอมาถึงวัดก็ก้มกราบหลวงพ่อ ท่านก็ทำน้ำมนต์ให้ เพราะเคยบอกหลวงพ่อไว้แล้วว่าจะมาขอน้ำมนต์
หลวงพ่อท่านก็เรียก โยมพ่อของหลวงตามาใกล้ๆ และเอามือจับไปที่น่องของโยมพ่อหลวงตา แล้วท่านก็กล่าวขึ้นว่า "เฮ้ย น่องมึงสวยดีนี่หว่า" และเอามือตบไปที่น่องสองสามครั้ง หลังจากนั้นก็ลากลับ หลวงตาท่านก็พายเรือกลับเอาน้ำมนต์ไปให้โยมแม่ดื่มเพื่อคลอดน้องชาย
ระหว่างทางโยมพ่อหลวงตาเริ่มปวดท้อง พอเรือจอดท่าน้ำ หลวงตาได้ขึ้นเอาน้ำมนต์ไปให้โยมแม่ท่านคนเดียวเพราะพ่อปวดท้อง หลวงตาท่านบอกว่า พอโยมแม่ท่านกินน้ำมนต์เข้าไป ระหว่างคลอดไม่มีเสียงร้องสักแอะ แถมยังคุยกับหมอตำแยขำขันยิ้มแย้ม แต่ที่ดิ้นทุรนทุรายคือพ่อหลวงตาที่อยู่ในเรือนั่นเอง
หลวงพ่อเต่าท่านรักษาคนป่วยด้วยพลังจิต และน้ำมนต์ของท่านเท่านั้น แม้แต่รูปถ่ายของท่านมีคนมาขอไปบูชา และอธิษฐานขอให้หลวงพ่อช่วยรักษายังหายได้อย่างน่าอัศจรรย์
หลวงพ่อท่านได้เคยสร้างวัตถุมงคลไว้หลายอย่าง เช่น ผ้ายันต์ ตะกรุด ปลาตะเพียน และรูปของท่าน นอกจากนี้ยังมีเหรียญรูปท่านซึ่งลูกศิษย์ได้ขออนุญาตท่านจัดสร้าง มีอยู่ด้วยกัน ๓ รุ่น รุ่นแรกเป็นเหรียญทองแดง มีรูปท่านนั่งอยู่ในวงรูปไข่ และมีรูปพระประธานอยู่ด้านบน
เหรียญรุ่น ๒-๓ เป็นเหรียญที่วัดวันอุทิศ ตำบลไผ่ดำพัฒนา อำเภอวิเศษชัยชาญ เป็นผู้สร้างและขอให้ท่านปลุกเสกให้ เพื่อสมทบทุนสร้างโรงเรียนของวัด ทั้งสองรุ่นนี้สร้างเป็นเหรียญเนื้อเงินลงถม โดยทั้งสองรุ่นสร้างรุ่นละประมาณไม่เกิน ๘๐๐ เหรียญเท่านั้น
หลวงพ่อเต่า ปกครองวัดเรื่อยมาจนถึงแก่มรณภาพลงเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๙๙ นับรวมสิริอายุได้ ๕๘ ปี ๓๘ พรรษา.
วัตถุมงคลของหลวงพ่อเต่า วัดน้ำพุ
เหรียญเงินลงถมหลวงพ่อเต่า วัดน้ำพุ รุ่นแรก
สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๙๐ โดยวัดวันอุทิศ ตำบลไผ่ดำพัฒนา อำเภอวิเศษชัยชาญ จังหวัดอ่างทอง เป็นผู้สร้างและขอให้ท่านปลุกเสกให้ เพื่อสมทบทุนสร้างโรงเรียนของวัด ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มทรงเสมาแบบมีหูในตัว มีการสร้างด้วยเนื้อเงินลงถมเพียงชนิดเดียวเท่านั้น แบ่งออกเป็น ๒ พิมพ์ด้วยกันคือพิมพ์เล็ก และพิมพ์ใหญ่ จำนวนการสร้างรวมกันประมาณ ๑,๕๐๐ เหรียญ
เหรียญเงินลงถมหลวงพ่อเต่า วัดน้ำพุ อ่างทอง รุ่นแรกปี พ.ศ. ๒๔๙๐ พิมพ์ใหญ่ |
เหรียญเงินลงถมหลวงพ่อเต่า วัดน้ำพุ อ่างทอง รุ่นแรกปี พ.ศ. ๒๔๙๐ พิมพ์ใหญ่ |
เหรียญเงินลงถมหลวงพ่อเต่า วัดน้ำพุ อ่างทอง รุ่นแรกปี พ.ศ. ๒๔๙๐ พิมพ์เล็ก |
ด้านหน้า เป็นรูปจำลองหลวงพ่อเต่านั่งเต็มองค์ มือทั้ง ๒ ข้างจับที่หัวเข่า องค์หลวงพ่อห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฏิ บนรูปหลวงพ่อมีอักขระยันต์อ่านได้ว่า "มะ อะ อุ" ใต้รูปหลวงพ่อมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "หลวงพ่อเต่า"
ด้านหลัง ตรงกลางมีอักขระยันต์พระเจ้าห้าพระองค์อ่านได้ว่า "นะ โม พุท ธา ยะ"
เหรียญหลวงพ่อเต่า วัดน้ำพุ รุ่นแรก
สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๙๐ กว่าๆ เพื่อแจกให้กับผู้ที่บริจาคทรัพย์ให้กับทางวัด ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มแบบมีหูในตัว มีการสร้างด้วยเนื้อทองแดงเพียงชนิดเดียวเท่านั้น จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้
เหรียญหลวงพ่อเต่า วัดน้ำพุ อ่างทอง รุ่นแรก (สังฆาฏิตัด) ปี พ.ศ. ๒๔๙๐กว่า เนื้อทองแดง |
เหรียญหลวงพ่อเต่า วัดน้ำพุ อ่างทอง รุ่นแรก (ย้อน) ปี พ.ศ. ๒๕๐๐กว่า เนื้อทองแดง |
ด้านหน้า จำลองเป็นรูปหลวงพ่อเต่าครึ่งองค์ในกรอบรูปไข่ องค์หลวงพ่อห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฏิ บนรูปหลวงพ่อมีรูปพระพุทธรูป รุ่นแรกปลายสังฆาฏิจะตัดเรียบ ใต้รูปหลวงพ่อมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "พระครูธรรมพิริยะคุณ"
ด้านหลัง กลางเหรียญมีอักขระยันต์เฑาะห์ ข้างยันต์เฑาะห์มีอักขระยันต์อ่านได้ว่า "นะ มะ พะ ทะ"
เหรียญหลวงพ่อเต่า วัดน้ำพุ รุ่นสอง
สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๐๐ เพื่อแจกให้กับผู้ที่บริจาคทรัพย์ให้กับทางวัด ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มรูปเสมาแบบมีหูในตัว มีการสร้างด้วยเนื้อทองแดงเพียงชนิดเดียวเท่านั้น จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้
เหรียญหลวงพ่อเต่า วัดน้ำพุ อ่างทอง รุ่น 2 2500 ทองแดง |
ด้านหน้า จำลองเป็นรูปหลวงพ่อเต่าครึ่งองค์ห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฏิ ด้านบนรูปหลวงพ่อมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "หลวงพ่อเต่า"
ด้านหลัง มีอักขระยันต์อ่านได้ว่า "นะ มะ อะ อุ" ใต้อักขระยันต์มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "วิเศษชัยชาญ"
สมเด็จหลวงพ่อเต่า วัดน้ำพุ รุ่นแรก
สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๙๕ เพื่อแจกให้กับผู้ที่บริจาคทรัพย์ให้กับทางวัด ลักษณะเป็นพระสมเด็จเนื้อผงผสมปรอท โดยผงที่ใช้ในการจัดสร้างนั้นส่วนใหญ่เป็นผงวิเศษที่หลวงพ่อลบเอง รวมกับผงพุทธคุณต่างๆที่เก็บสะสมไว้ จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้
สมเด็จหลวงพ่อเต่า วัดน้ำพุ อ่างทอง รุ่นแรก พิมพ์เทวดา ปี พ.ศ. ๒๔๙๕ เนื้อผงผสมปรอท |
ด้านหน้า จำลองเป็นรูปพระสมเด็จฐาน ๓ ชั้น
ด้านหลัง ไม่ปรากฏอักขระใดๆ
โดย : สารานุกรมพระเกจิแห่งแดนสยาม
บทความที่เกี่ยวข้อง
ไม่มีความคิดเห็น