โฆษณาแนวนอน728*90

บทความใหม่

ประวัติและวัตถุมงคลหลวงพ่อปลอด วัดในปากทะเล พระเกจิอาจารย์ชื่อดังของเพชรบุรี

ภาพถ่ายหลวงพ่อปลอด วัดในปากทะเล เพชรบุรี
หลวงพ่อปลอด วัดในปากทะเล เพชรบุรี

         หลวงพ่อปลอด วัดในปากทะเล หรือ พระอธิการปลอด อดีตเจ้าอาวาสวัดในปากทะเล ตำบลปากทะเล อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี ท่านมีนามเดิมชื่อ นายปลอด ไม่ทราบนามสกุล พื้นเพท่านเป็นชาวบ้านตำบลตะปอน้อย อำเภอขลุง จังหวัดจันทบุรี ท่านเกิดเมื่อปี พ.ศ. ๒๓๘๗ แต่ไม่ปรากฏชื่อโยมบิดาและโยมมารดามารดาของท่าน 

         หลวงพ่อปลอด ท่านมีน้องชายคนหนึ่งชื่อนายถึก และมีหลานสาวสองคนชื่อ นางเบญจา และนางนาม  ในวัยเด็กหลวงพ่อปลอด ท่านเป็นเด็กที่มีความเฉลียวฉลาดเป็นอย่างมาก ท่านมีความรู้ทางภาษาไทยอ่านออกเขียนได้ โดยท่านยึดอาชีพทำสวน และไม่มีครอบครัว 

         ปี พ.ศ. ๒๔๐๖ หลวงพ่อปลอด ท่านมีอายุครบ ๒๐ ปีบริบูรณ์ ท่านจึงเข้ารับการอุปสมบท ณ พัทธสีมาวัดรั้วเหล็ก (วัดประยูรวงศาวาส) แขวงวัดกัลยา เขตธนบุรี จังหวัดธนบุรี โดยไม่ปรากฏชื่อพระอุปัชฌาย์ และไม่มีการบันทึกฉายาของหลวงพ่อ

         หลังจากอุปสมบทแล้ว ท่านได้อยู่จำพรรษาที่วัดรั้วเหล็กเรื่อยมา เพื่อศึกษาพระธรรมวินัยและศึกษาวิชาอาคมต่างๆ และวิปัสสนากรรมฐาน จนสำเร็จวิชาต่างๆ

         ต่อมาท่านได้ตัดสินใจ ออกธุดงควัตร ระหว่างธุดงค์ท่านได้พบกับนายทองพิมพ์ ชาวบ้านปากทะเล การสนทนาระหว่างกัน เป็นที่ต้องอัธยาศัยซึ่งกันและกัน 

         ฝ่ายนายทองพิมพ์ ชาวบ้านปากทะเล เกิดความเลื่อมใสในปฏิปทาจริยวัตรของหลวงพ่อปลอดเป็นอันมาก จึงอาราธนาท่านให้มาจำพรรษาอยู่ที่วัดปากทะเล ตำบลปากทะเล อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี 

         ซึ่งในสมัยนั้นมีพระวรคุณญาณมุณี (แก้ว) เป็นเจ้าอาวาส โดยหลวงพ่อปลอด ท่านได้ฝากตัวเป็นศิษย์ศึกษาวิชาอาคมต่างๆกับหลวงพ่อแก้ว จนสำเร็จวิชาหลายอย่าง

         ปี พ.ศ. ๒๔๒๖ หลวงพ่อแก้ว ท่านได้ออกธุดงค์วัตร และไปเป็นเจ้าอาวาสวัดเครือวัลย์ จังหวัดชลบุรี โดยก่อนออกธุดงค์ ท่านได้มอบหมายให้หลวงพ่อปลอดอยู่ดูแลรักษาวัด และเป็นเจ้าอาวาสต่อมา

ภาพถ่ายหลวงพ่อปลอด วัดในปากทะเล เพชรบุรี
หลวงพ่อปลอด วัดในปากทะเล เพชรบุรี

         วัดในปากทะเล เป็นราษฏร์ สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย วัดตั้งอยู่หมู่ ๓ ตำบลปากทะเล อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี วัดในปากทะเลเป็นวัดเก่าแก่ที่มีอายุเป็นร้อยปี มีชื่อเคียงคู่กับวัดนอกปากทะเล

         จากหลักฐานที่ปรากฏคือใบพระราชทานวิงสุงคามสีมา ที่นายเปี่ยม กับราษฎร ได้กราบบังคมทูลพระกรุณาขอพระราชทานที่เขต พระอุโบสถยาว ๑๒ วา กว้าง ๖ วา และได้ทรงพระราชอุทิศที่นั้นเป็นวิสุงคามสีมาของวัดในปากทะเลแขวงเมืองเพชรบุรี

         ตั้งแต่วันอาทิตย์ เดือน ๘ ขึ้น ๔ ค่ำ ปีจอ อัฐศก พุทธศักราช ๒๔๒๙ ข้อมูลดังกล่าวนับเป็นเครื่องยืนยันอายุของวัดได้เป็นอย่างดี ภายในวัดมีโบสถ์ไม้สัก ด้านหน้ามีมุขที่บันแกะสลักเป็นรูปเทวดาอุ้มหม้อน้ำและไก่คู่สองตัว

         ในวันที่ ๒๑ มกราคม พ.ศ. ๒๕๕๒ มีนักวิจัยไปถ่ายรูปวัดในปากทะเล ระหว่างที่ช่วยเจ้าอาวาสปิดประตูโบสถ์ก็ได้พบจารึกบน บานประตูซึ่งลบเลือนมากแล้วว่า "ปฎิสังขรณ์ขึ้นใหม่ เมื่อปีระกา เบ็ญจศก เดือน ๔ แรม ๙ ค่ำ พฤหัสบดี พระพุทธศักราช ๒๔๗๖" 

         การค้นพบจารึกนี้ทำให้สามารถไขปริศนาที่ซ่อนอยู่บนหน้าบันโบสถ์ได้คือ ไก่หมายถึงปีระกา อัน เป็นปีที่มีการปฏิสังขรณ์โบสถ์ ส่วนเทวดาที่อุ้มหม้อน้ำนั้นอาจหมายถึงหลวงพ่ออูม ซึ่งเป็นเจ้าอาวาสในขณะนั้นก็ เป็นได้

         โดยเอาคำว่าอุ้มซึ่งออกเสียงคล้ายกับคำว่าอูมมาแทน นอกเหนือจากโบสถ์แล้วภายในวัดยังมีหมู่เจดีย์เก่า แก่หน้าโบสถ์ กุฎิไม้ ศาลาการเปรียญ พระพุทธรูปกลางแจ้งองค์ใหญ่เป็นต้น วัดมีเจ้าอาวาสปกครองวัดในปากทะเล ที่มีการบันทึกชื่อดังนี้

         ๑. หลวงพ่อแก้ว

         ๒. หลวงพ่อปลอด

         ๓. หลวงพ่ออูม

         ๔. หลวงพ่อขาว

         ๕. หลวงพ่อบุญรวบ ปุญกาโม

         ๖. หลวงพ่อพระปลัดสมพิศ รุจิธัมโม

         หลังจากที่หลวงพ่อปลอดได้ขึ้นเป้นเจ้าอาวาสวัดในปากทะเล ท่านได้พัฒนาวัดอย่างสุดความสามารถ ทั้งการสร้างเสนาสนะต่างๆ ภายในวัด ท่านได้ปลูกสร้างกุฎิขึ้นมาใหม่อีก ๔ หลัง และสร้างศาลาหลังเล็กๆเพื่อใช้แสดงธรรมอีก ๓ หลัง

         ปี พ.ศ. ๒๔๒๙ หลังจากที่หลวงพ่อปลอดเป็นเจ้าอาวาสได้ ๓ ปี ท่านก็สามารถรวบรวมความศรัทธาจากสาธุชน เพื่อร่วมกันสร้างอุโบสถหลังแรกของวัด จนเป็นผลสำเร็จ 

         ปี พ.ศ. ๒๔๖๕ หลวงพ่อปลอด ท่านได้เล็งเห็นคุณค่าของการศึกษา ท่านจึงได้สร้างโรงเรียนวัดในปากทะเลขึ้นเมื่อวันที่ ๓ มกราคม พ.ศ. ๒๔๖๕ มีการจัดการสอนตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาปี  ๑ - ๔ 

         โดยอาศัยศาลาวัดในปากทะเลเป็นที่เรียน ต่อมาได้ย้ายไปเรียนที่ศาลาการเปรียญวัดนอกปากทะเล เพราะศาลาที่เรียนชำรุด และเปลี่ยนชื่อเป็นโรงเรียนวัดนอกปากทะเล ดังที่ปรากฏอยู่ในปัจจุบัน

         ด้วยคุณงามความดีของหลวงพ่อ ท่านจึงได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเจ้าคณะหมวดปากทะเล (เจ้าคณะตำบล) อีกด้วย

         ตามคำบอกเล่าของผู้เป็นศิษย์ใกล้ชิดของหลวงพ่อปลอด ได้เล่าว่าท่านเป็นพระที่มีอุปนิสัย เป็นผู้ที่ไม่ยอมใคร มีความตั้งใจที่จะทำสิ่งใดแล้วต้องทำให้ได้ และเป็นผู้มีความสนใจในเรื่องศาสตร์ลี้ลับ ท่าน เป็นผู้มีร่างกายสูงใหญ่ มีบุคลิกสง่างาม เสียงดังและมีอำนาจ

ภาพถ่ายหลวงพ่อปลอด วัดในปากทะเล เพชรบุรี
หลวงพ่อปลอด วัดในปากทะเล เพชรบุรี

        หลวงพ่อปลอด ท่านได้ฝึกฝนตนเองเสมอ ด้วยการศึกษา และปฎิบัติทางวิปัสสนา โดยเฉพาะการเทศน์ที่ไพเราะ จึงเป็นที่นิยมของสาธุชนนัก ท่านมักได้รับนิมนต์ไปเทศน์ทำนองเทศน์มหาชาติอยู่เนืองๆ  จนท่านมีชื่อเสียงด้านการเทศน์ขจรขจายไปทั่ว

         สมัยที่ท่านยังมีชิวิตอยู่นั้น ท่านเป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวบ้านปากทะเล ท่านได้รวบรวมความศรัทธาของชาวบ้านปากทะเล เพื่อทำเขื่อนกั้นน้ำทะเล ป้องกันการกัดเซาะบริเวณหน้าวัดและหมู่บ้าน ซึ่งจะประสบภัยทางธรรมชาติอยู่เสมอ

          หลวงพ่อและชาวบ้านจึงได้ทำการต่อเรือใบขึ้น ๒ ลำ เพื่อนำไปบรรทุกหินและทรายจากเกาะสะเดาบางปู จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ มาถมแนวเขื่อนกั้นน้ำทะเล การขนหินขนทรายโดยเฉพาะทางเรือใบ เป็นไปด้วยความมานะและอดทน ทำอยู่หลายปีแนวเขื่อนกั้นน้ำทะเลจึงสำเร็จ วัดและชาวบ้านจึงปลอดภัยจากการกัดเซาะของน้ำทะเล

         ปฏิปทาวัตรปฏิบัติ อีกทั้งงานสาธารณูปการของท่านเป็นที่ประจักษ์ หลวงพ่อปลอดจึงได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าคณะตำบลปากทะเลในที่สุด นอกจากงานด้านการปฏิสังขรณ์บูรณะวัดแล้ว ท่านยังฝากผลงานด้านคีตศิลป์ และนาฎศิลป์ไว้ให้กับชาวบ้านปากทะเลอีกด้วย

         ท่านได้สร้างวงปี่พาทย์ไว้ประจำวัด ๒ วง แล้วฝึกสอนให้กับบรรดาศิษย์ ได้มีฝีมือติดตัวเป็น เครื่องเลี้ยงชีพ ละครชาตรีแห่งวัดในปากทะเล ท่านก็เป็นผู้แต่งบทบาทและควบคุมการแสดงด้วยตัวท่านเอง ถือเป็นมรดกทางวัฒนธรรมอีกประการหนึ่งก็คือการเชิดการประดิษฐ์หุ่นกระบอก

         ท่านก็นำ นายหริ่ง ชาวตำบลบางแก้วที่มีความชำนาญ ทางด้านนี้ร่วมฝึกหัดให้สานุศิษย์ ชาวปากทะเล ได้รับความรู้จนสามารถตั้งวงหุ่นกระบอกประจำวัดได้ ๑ วง

         หลวงพ่อปลอด ท่านได้สร้างวัตถุมงคลไว้หลายชนิดด้วยกัน อาทิเช่น เครื่องรางของขลังต่างๆ เช่น  ลูกอม ตะกรุด สีผึ้ง ลูกโสรด ผ้ายันต์ และการอาบน้ำมนต์ ส่วนเหรียญรุ่นแรกและรูปหล่อ นั้นสร้างภายหลังท่านมรณภาพแล้ว ไม่ทันหลวงพ่อ

         หลวงพ่อปลอด ปกครองวัดเรื่อยมาจนถึงแก่มรณภาพลงด้วยโรคชรา เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๗๒ นับรวมสิริอายุได้ ๘๖ ปี ๖๖ พรรษา

วัตถุมงคลของหลวงพ่อปลอด วัดในปากทะเล

         ลูกอมหลวงพ่อปลอด วัดในปากทะเล 

         สร้างขึ้นในราวปี พ.ศ. ๒๔๔๐ - ๒๔๗๐ เพื่อแจกให้กับศิษยานุศิษย์ที่ช่วยเหลืองานและกิจการภายในวัด  สำหรับลูกอมของหลวงพ่อปลอด วัดในปากทะเล จังหวัดเพชรบุรีนั้นจะทำด้วยสีผึ้ง สัณนิษฐานว่าอาจจะผสมด้วยเกสรดอกไม้บางชนิด 

ลูกอมหลวงพ่อปลอด วัดในปากทะเล เพชรบุรี
ลูกอมหลวงพ่อปลอด วัดในปากทะเล เพชรบุรี

         ด้านพุทธคุณนั้นหนักในทาง เมตตาแคล้วคลาด ป้องกันสัตว์ที่มีเขี้ยวงาทั้งหลาย และอยู่ยงคงกระพัน ถ้าลูกอมนี้แตกเมื่อใด ผงของลูกอมใช้เป็นผงมหาเสน่ห์ทาปาก ทำให้เพศตรงข้ามที่พบเห็นเกิดความสนใจอีกด้วย

ลูกอมหลวงพ่อปลอด วัดในปากทะเล เพชรบุรี
ลูกอมหลวงพ่อปลอด วัดในปากทะเล เพชรบุรี

         ลูกอมของท่านจะมีขนาดใหญ่กว่าหลายๆ สำนัก ซึ่งตามปกติท่านจะทำ ขนาดใหญ่ กลาง เล็ก (ขนาดใหญ่ ประมาณ ลูกมะนาว หรือขนาดเท่าเหรียญ ๑๐ บาท ) มีทั้งแบบถักเชือกธรรมดา และถักเชือกชุบรัก จำนวนการสร้างไม่ได้มีกาจดบันทึกไว้ ปัจจุบันนี้ลูกอมของท่านก็หาชมยากยิ่ง

         เหรียญหลวงพ่อปลอด วัดในปากทะเล รุ่นแรก

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๙๒ เพื่อแจกให้กับผู้ที่บริจาคทรัพย์ให้กับทางวัด ลักษณะเป็นเหรียญรูปหยดน้ำย่อมุมแบบมีหูในตัว มีการสร้างด้วยเนื้ออัลปาก้า และเนื้อทองแดงเพียงเท่านั้น จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

เหรียญหลวงพ่อปลอด วัดในปากทะเล เพชรบุรี 2492 อัลปาก้า
เหรียญหลวงพ่อปลอด วัดในปากทะเล เพชรบุรี รุ่นแรก บล็อกแตก ปี พ.ศ. ๒๔๙๒ เนื้ออัลปาก้า
เหรียญหลวงพ่อปลอด วัดในปากทะเล เพชรบุรี รุ่นแรก บล็อกแตก 2492 ทองแดง
เหรียญหลวงพ่อปลอด วัดในปากทะเล เพชรบุรี รุ่นแรก บล็อกแตก ปี พ.ศ. ๒๔๙๒ เนื้อทองแดง
เหรียญหลวงพ่อปลอด วัดในปากทะเล เพชรบุรี รุ่นแรก บล็อกธรรมดา 2492 อัลปาก้า
เหรียญหลวงพ่อปลอด วัดในปากทะเล เพชรบุรี รุ่นแรก บล็อกธรรมดา ปี พ.ศ. ๒๔๙๒ เนื้ออัลปาก้า
เหรียญหลวงพ่อปลอด วัดในปากทะเล เพชรบุรี รุ่นแรก บล็อกธรรมดา 2492 ทองแดง
เหรียญหลวงพ่อปลอด วัดในปากทะเล เพชรบุรี รุ่นแรก บล็อกธรรมดา ปี พ.ศ. ๒๔๙๒ เนื้อทองแดง

         ด้านหน้า จำลองเป็นรูปหลวงพ่อปลอดครึ่งองค์ห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฏิ ใต้รูปหลวงพ่อมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "หลวงพ่อปลอด" 

         ด้านหลัง ตรงกลางเป็นยันต์ตรีนิสิงเห ใต้อักขระยันต์มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "วัดในปากทะเล ๒๔๙๒"  

         เหรียญหลวงพ่อปลอด วัดในปากทะเล รุ่นสอง

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๙๔ เพื่อแจกให้กับผู้ที่บริจาคทรัพย์ให้กับทางวัด ลักษณะเป็นเหรียญรูปหยดน้ำย่อมุมแบบมีหูในตัว มีการสร้างด้วยเนื้ออัลปาก้าเพียงชนิดเดียวเท่านั้น จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

เหรียญหลวงพ่อปลอด วัดในปากทะเล เพชรบุรี รุ่น 2 2494 อัลปาก้า
เหรียญหลวงพ่อปลอด วัดในปากทะเล เพชรบุรี รุ่น ๒ ปี พ.ศ. ๒๔๙๔ เนื้ออัลปาก้า

         ด้านหน้า จำลองเป็นรูปหลวงพ่อปลอดครึ่งองค์ห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฏิ เหนือรูปหลวงพ่อมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "หลวงพ่อปลอด" ใต้รูปหลวงพ่อมีอักขระเลขไทยเขียนว่า "๒๔๙๔" ซึ่งคือปีที่สร้าง

         ด้านหลัง ตรงกลางเป็นยันต์พระเจ้าห้าพระองค์ ใต้อักขระยันต์มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "วัดในปากทะเล" 

         เหรียญหลวงพ่อปลอด วัดในปากทะเล รุ่น ๓

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๙๗ เพื่อแจกให้กับผู้ที่บริจาคทรัพย์ให้กับทางวัด ลักษณะเป็นเหรียญรูปสี่เหลี่ยมแบบมีหูในตัว มีการสร้างด้วยเนื้อทองแดงเพียงชนิดเดียวเท่านั้น จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

เหรียญหลวงพ่อปลอด วัดในปากทะเล เพชรบุรี รุ่น 3 2497 ทองแดง
เหรียญหลวงพ่อปลอด วัดในปากทะเล เพชรบุรี รุ่น ๓ ปี พ.ศ. ๒๔๙๗ เนื้อทองแดง

         ด้านหน้า จำลองเป็นรูปหลวงพ่อปลอดนั่งสมาธิเต็มองค์ องค์หลวงพ่อห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฏิ ใต้รูปหลวงพ่อมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "หลวงพ่อปลอด" เหนือรูปหลวงพ่อมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "วัดในปากทะเล" 

         ด้านหลัง ตรงกลางเป็นยันต์ตรีนิสิงเห เหนืออักขระยันต์มีอักขระเลขไทยเขียนว่า "๒๔๙๗" ซึ่งคือปีที่สร้างเหรียญ

         เหรียญหลวงพ่อปลอด วัดในปากทะเล รุ่น ๔

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๐๐ เพื่อแจกให้กับผู้ที่บริจาคทรัพย์ให้กับทางวัด ลักษณะเป็นเหรียญรูปหยดน้ำย่อมุมแบบมีหูในตัว มีการสร้างด้วยเนื้อทองแดงเพียงชนิดเดียวเท่านั้น จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

เหรียญหลวงพ่อปลอด วัดในปากทะเล เพชรบุรี รุ่น 2 2500 ทองแดง
เหรียญหลวงพ่อปลอด วัดในปากทะเล เพชรบุรี รุ่น ๔ ปี พ.ศ. ๒๕๐๐ เนื้อทองแดง

         ด้านหน้า จำลองเป็นรูปหลวงพ่อปลอดครึ่งองค์ห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฏิ ใต้รูปหลวงพ่อมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "หลวงพ่อปลอด" 

         ด้านหลัง ตรงกลางเป็นยันต์ตรีนิสิงเห ใต้อักขระยันต์มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "วัดในปากทะเล ๒๕๐๐" 

         รูปหล่อโบราณหลวงพ่อปลอด วัดในปากทะเล รุ่นแรก

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๙๘ เพื่อแจกให้กับผู้ที่บริจาคทรัพย์ให้กับทางวัด ลักษณะเป็นรูปหล่อโบราณ มีการสร้างด้วยเนื้อทองผสมแก่ทองเหลือง จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

รูปหล่อโบราณหลวงพ่อปลอด วัดในปากทะเล เพชรบุรี 2498 ทองเหลือง
รูปหล่อโบราณหลวงพ่อปลอด วัดในปากทะเล เพชรบุรี รุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๔๙๘ เนื้อทองเหลือง

รูปหล่อโบราณหลวงพ่อปลอด วัดในปากทะเล เพชรบุรี 2498 ทองเหลือง
รูปหล่อโบราณหลวงพ่อปลอด วัดในปากทะเล เพชรบุรี รุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๔๙๘ เนื้อทองเหลือง

รูปหล่อโบราณหลวงพ่อปลอด วัดในปากทะเล เพชรบุรี 2498 ทองเหลือง
รูปหล่อโบราณหลวงพ่อปลอด วัดในปากทะเล เพชรบุรี รุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๔๙๘ เนื้อทองเหลือง

         ด้านหน้า จำลองเป็นรูปหลวงพ่อปลอดนั่งเต็มองค์ องค์หลวงพ่อห่มจีวรคลุมไหล่ มือทั้ง ๒ ข้างของหลวงพ่ออยู่ที่หน้าตัก

         ด้านหลัง มีริ้วจีวรสวยงาม ใต้ฐานเรียบมีรอยตะไบแต่งฐาน



โดย : สารานุกรมพระเกจิแห่งแดนสยาม

บทความที่เกี่ยวข้อง

ไม่มีความคิดเห็น