ประวัติและวัตถุมงคลหลวงพ่อเขียว วัดหรงบล พระเกจิสายเหนียวเหรียญหลักแสนของเมืองนครศรีธรรมราช
พ่อท่านเขียว วัดหรงบล นครศรีธรรมราช |
หลวงพ่อเขียว วัดหรงบน หรือ หลวงปู่เขียว อดีตเจ้าอาวาสวัดหรงบล ตำบลบางตะพง อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช ท่านเป็นพระเกจิชื่อดังและโดดเด่นด้านคงกระพันมหาอุด
หลวงพ่อเขียว พื้นเพท่านเป็นชาวบ้านหนองยาว ตำบลไสหมาก อำเภอเชียรใหญ่ จังหวัดนครศรีธรรมราช ท่านเกิดวันอาทิตย์ เดือนยี่ ปีมะเมีย พ.ศ. ๒๔๒๔ โยมบิดาชื่อนายปลอด โยมมารดาชื่อนางแป้น พื้นเพบ้านท่านมีอาชีพทำนา โดยมีพี่น้องร่วมบิดา-มารดาเดียวกัน ๔ คน เป็นชาย ๒ หญิง ๒ โดยหลวงปู่เขียวเป็นพี่ชาวคนโต น้องชายชื่อนายพลับ น้องสาวชื่อนางเอียด และนางปาน
เมื่อยังเยาว์วัย หลวงพ่อเขียว ท่านอาศัยโยมบิดาและโยมมารดาช่วยสอนหนังสือให้จนอ่านออกเขียนได้ตามอักขระสมัยนิยม โดยท่านชอบศึกษาเล่าเรียนเป็นชีวิตจิตใจ
ปี พ.ศ. ๒๔๔๖ หลวงพ่อเขียว ท่านมีอายุได้ ๒๒ ปี ท่านจึงตัดสินใจสละเพศฆราวาส เข้าอุปสมบทเป็นพระภิกษุ ณ พัทธสีมาวัดคงคาวดี (วัดกลาง) ตำบลบางตะพง อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช ได้รับฉายาว่า "อินทมุนี" โดยมี
พระครูอธิการวัดคงคาราม เป็นพระอุปัชฌาย์
พระครูบริหารสังฆกิจ (เต็ง) เป็นพระอนุสาวนาจารย์
พระเกื้อ เป็นพระกรรมวาจาจารย์
หลังจากอุปสมบทแล้วท่านได้อยู่จำพรรษาที่วัดคงคาวดี เพื่อเรียนพระธรรมวินัยกับพระอุปัชฌายะชั่วระยะเวลาหนึ่ง หลังจากนั้นหลวงพ่อเขียว ก็กราบลาพระอุปัชฌาย์ไปศึกษาเล่าเรียนต่อกับพระอาจารย์เอียด วัดบน
ซึ่งพระอาจารย์เอียด นั้นท่านเก่งทั้งทางโลก และทางธรรม อบรมนิสัยให้เหมาะแก่สมณเพศ จนท่านตั้งใจว่า ขอถือบวชอยู่ในพุทธศาสนาตลอดไป หาทางพ้นทุกข์ตัดอาสวะกิเลสให้สิ้น โดยท่านรำเรียนวิชาต่างๆจนสำเร็จวิชาตางๆมากมาย
หลวงพ่อเขียวท่านจึงตัดสินใจเดินธุดงค์ คือถือผ้านุ่งห่มบังสกุล ๓ ชิ้น มีผ้าสบง อังสะ จีวร บิณฑบาตร และฉันอาหารมื้อเดียว(เอกา)เป็นวัตร จึงกราบลาอาจารย์เดินธุดงค์สู่ป่าเขาลำเนาไพร
ท่านเดินธุดงค์ติดต่อกันหลายปี ผ่านจังหวัดกระบี่ ตรังสุราษฎร์ธานี ชุมพร สงขลา ปัตตานี นราธิวาส ภูเก็ต พังงา และจังหวัดอื่นๆอีกหลายแห่ง
ต่อมาตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดหรงบนได้ว่างลง ชาวบ้านจึงพร้อมใจกันนิมนต์หลวงพ่อเขียวขึ้นเป็นเจ้าอาวาสทดแทนตำแหน่งที่ว่างลง
หลังจากหลวงพ่อเขียว ท่านได้ขึ้นเป้นเจ้าอาวาส ท่านก็ได้พัฒนาวัดอย่างสุดความสามารถ ทั้งการสร้างเสนาสนะต่างๆ รวมทั้งถาวรวัตถุต่างๆภายในวัด จนวัดเจริญรุ่งเรืองขึ้นตามลำดับ
ในสมัยที่ท่านยังดำรงขรรธ์อยู่นั้น วัตถุมงคลและพระเครื่องของหลวงปู่เขียว ล้วนแล้วแต่มีประสบการณ์ด้านปกป้องคุ้มครองสูงมาก พระเครื่องของท่านล้วนแต่มีประสบการณ์
ยกตัวอย่างเช่น ผ้ายันต์รอยมือรอยเท้า มีประสบการณ์เล่ากันว่า มีชายผู้หนึ่งโดนโจรปล้นวัวแล้วเกิดต่อสู้กัน แล้วโดนโจรยิงใส่ในระยะประชิด แต่ไม่เป็นไร โจรตกใจที่ยิงไม่เข้าจนรีบหนีไป โดยเจ้าของวัวพกเพียงผ้ายันต์ท่านติดตัวเพียงผืนเดียวเท่านั้น
พุทธคุณพระเครื่องที่ท่านปลุกเสกนั้น โด่งดังไปไกลทั่วประเทศเป็นที่เล่าขานสืบต่อมาทุกยุคทุกสมัย ไม่ว่าด้านคงกระพัน มหาอุด หรือเมตตามหานิยม แคล้วคลาด ถือเป็นสุดยอดเกจิอันดับต้นๆของภาคใต้เลยทีเดียว
หลวงพ่อเขียว ปกครองวัดเรื่อยมาจนถึงแก่มรณภาพลงเมื่อวันเสาร์ที่ ๒๙ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๑๙ นับรวมสิริอายุได้ ๙๕ ปี ๗๓ พรรษา
หลังจากที่หลวงพ่อเขียว ได้มรณภาพลงแล้ว ทางวัดได้เก็บรักษาสรีระของหลวงพ่อไว้ระยะหนึ่ง ซึ่งปรากฏว่า สรีระร่างกายของหลวงพ่อเขียวท่านไม่เน่าเปื่อย และไม่มีกลิ่นเหม็นแต่อย่างใด
และเมื่อถึงวันครบกำหนดประชุมเพลิง สรีระของท่านเผาไฟไม่ไหม้ แม้แต่จีวรที่ห่อหุ้ม สร้างความมหัศจรรย์เป็นยิ่งนัก
ปัจจุบันสรีระร่างอันอมตะของหลวงพ่อเขียว ยังประดิษฐานอยู่ในหีบแก้วที่วัดหรงบน ทุกวันนี้จะมีผู้คนไปกราบไหว้สักการบูชาอยู่เป็นประจำ คาถาบูชา: "นะโมนมัสการ พระอินทมุนี โพธิสัตโต อาราธนานัง นะมามิหัง นะโมพุทธายะ"
วัตถุมงคลหลวงพ่อเขียว วัดหรงบล
เหรียญหลวงพ่อเขียว วัดหรงบล รุ่นแรก
สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๑๓ เพื่อแจกให้กับผู้ที่บริจาคทรัพย์ให้กับทางวัด ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มรูปไข่แบบมีหูในตัว มีการสร้างด้วยเนื้อทองแดงเพียงชนิดเดียวเท่านั้น จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้ สมัยก่อนยังไม่มีการแบ่งแยกพิมพ์แต่อย่างไร แต่ทุกวันนี้มีการแยกพิมพ์กันแล้ว ทุกวันนี้วงการนักสะสมเหรียญพ่อท่านเขียว ปี ๒๕๑๓ ได้แยกพิมพ์ต่างๆ ออกเป็น ๔ พิมพ์ดังนี้
พิมพ์ที่ ๑. พิมพ์นิยม ๒ บี้ ๓ แบน จัดว่าเป็นพิมพ์ยอดนิยมอันดับ ๑ ของเหรียญพ่อท่านเขียว คำว่า "๒ บี้ ๓ แบน" ดูจากหลังเหรียญบรรทัดล่างสุดมีตัวเลขปีที่ออกเหรียญนี้ คือ ปี ๒๕๑๓ เลข ๒ และ ๓ มีลักษณะแบน (บางส่วน)
เหรียญพ่อท่านเขียว วัดหรงบล นครศรีธรรมราช รุ่นแรก บล็อก ๒ บี้ ๓ แบน ปี พ.ศ. ๒๕๑๓ เนื้อทองแดงกระไหล่ทอง |
พิมพ์ที่ ๒. พิมพ์ มีจุด และ อำตัน คำว่า "มีจุด" ดูจากหลังเหรียญ "วงกลม" ที่ตั้งอยู่บนเส้นยันต์บนสุด จะมีจุดเล็กๆ นูนขึ้นมาภายในวงกลม ซึ่งมีไม่ทุกเหรียญส่วนคำว่า "อำตัน" ดูจากอักขระขอมที่มีลักษณะคล้ายกับตัว "ยุ" เหนือตัวอักขระนี้มีจุด อยู่ ๑ จุด เห็นชัดเจน ถ้าจุดนี้ไม่เป็นวงกลม จะเรียกว่า "อำตัน"
เหรียญพ่อท่านเขียว วัดหรงบล นครศรีธรรมราช รุ่นแรก มีจุด อำตัน ปี พ.ศ. ๒๕๑๓ เนื้อทองแดงกระไหล่ทอง |
พิมพ์ที่ ๓. พิมพ์ มีจุด และ อำกลวง คำว่า "มีจุด" ดูจากหลังเหรียญ "วงกลม" ที่ตั้งอยู่บนเส้นยันต์บนสุด จะมีจุดเล็กๆ นูนขึ้นมาภายในวงกลม ซึ่งมีไม่ทุกเหรียญ "อำกลวง" ดูจากอักขระขอมที่มีลักษณะคล้ายกับตัว "ยุ" เหนือตัวอักขระนี้มีจุด อยู่ ๑ จุด เห็นชัดเจน ถ้าจุดนี้เป็นวงกลม จะเรียกว่า "อำกลวง"
เหรียญพ่อท่านเขียว วัดหรงบล นครศรีธรรมราช รุ่นแรก มีจุด อำกลวง ปี พ.ศ. ๒๕๑๓ เนื้อทองแดงกระไหล่ทอง |
พิมพ์ที่ ๔. พิมพ์ ไม่มีจุด และ อำกลวง พิมพ์นี้จัดเป็นลำดับท้ายสุดของเหรียญพ่อท่านเขียว คำว่า "ไม่มีจุด" ดูจากหลังเหรียญ "วงกลม" ที่ตั้งอยู่บนเส้นยันต์บนสุด จะไม่มีจุดนูนขึ้นมาภายในวงกลม "อำกลวง" ดูจากอักขระขอมที่มีลักษณะคล้ายกับตัว "ยุ" เหนือตัวอักขระนี้มีจุด อยู่ ๑ จุด เห็นชัดเจน ถ้าจุดนี้เป็นวงกลม จะเรียกว่า "อำกลวง"
เหรียญพ่อท่านเขียว วัดหรงบล นครศรีธรรมราช รุ่นแรก ไม่มีจุด อำกลวง ปี พ.ศ. ๒๕๑๓ เนื้อทองแดงกระไหล่ทอง |
ด้านหน้า จำลองเป็นรูปพ่อท่านเขียวครึ่งองค์ห่มจีวรลดไหล่ พาดผ้าสังฆาฏิ บนรูปหลวงพ่อมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "พ่อท่านเขียว"
ด้านหลัง มีอักขระยันต์ ใต้อักขระยันต์มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "วัดหรงบล ๒๕๑๓"
รูปหล่อปั๊มหลวงพ่อเขียว วัดหรงบล รุ่นแรก
สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๑๓ เพื่อแจกให้กับผู้ที่บริจาคทรัพย์ให้กับทางวัด ลักษณะเป็นรูปหล่อปั๊มลอยองค์ มีการสร้างด้วยเนื้อทองเหลืองเพียงชนิดเดียวเท่านั้น จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้
รูปหล่อพ่อท่านเขียว วัดหรงบล นครศรีธรรมราช รุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๕๑๓ เนื้อทองเหลืองกระไหล่ทอง |
รูปหล่อพ่อท่านเขียว วัดหรงบล นครศรีธรรมราช รุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๕๑๓ เนื้อทองเหลืองกระไหล่ทอง |
รูปหล่อพ่อท่านเขียว วัดหรงบล นครศรีธรรมราช รุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๕๑๓ เนื้อทองเหลืองรมดำ |
ด้านหน้า จำลองเป็นรูปพ่อท่านเขียวนั่งสมาธิเต็มองค์บนฐานเขียง องค์หลวงพ่อห่มจีวรลดไหล่ พาดผ้าสังฆาฏิ ที่ฐานเขียงมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "หลวงปู่เขียว"
ด้านหลัง ที่ฐานเขียงมีอักขระยันต์อ่านได้ว่า "นะ โม พุท ธา ยะ" ที่สังฆาฏิมีอักขระตัว "อุณาโลม" ใต้ฐานมีรอยอุดกริ่ง
โดย : สารานุกรมพระเกจิแห่งแดนสยาม
บทความที่เกี่ยวข้อง
***-[เป็นกำลังใจและสนับสนุนให้เราเขียนบทความดีๆ ด้วยการกดดูโฆษณาด้านล่างนะคะ]-***
ไม่มีความคิดเห็น