โฆษณาแนวนอน728*90

บทความใหม่

ประวัติและวัตถุมงคลพระอุปัชฌาย์กรัก วัดอัมพวัน พระเกจิยุคเก่าของเมืองลพบุรี

ภาพถ่ายพระอุปัชฌาย์กรัก วัดอัมพวัน ลพบุรี
พระอุปัชฌาย์กรัก วัดอัมพวัน ลพบุรี

         หลวงพ่อกรัก วัดอัมพวัน หรือ พระอุปัชฌาย์กรัก อดีตเจ้าอาวาสวัดอัมพวัน ตำบลบางขันหมาก อำเภอเมือง จังหวัดลพบุรี ท่านเป็นพระเกจิอาจารย์เชื้อสายรามัญ ที่เป็นที่เคารพเลื่อมใสศรัทธาของชาวลพบุรี โดยเฉพาะชาวลพบุรีที่มีเชื้อสายรามัญนั้น จะหวงแหนเหรียญของท่านกันมาก

         พระอุปัชฌาย์กรัก หรือชื่อในภาษามอญว่า ทอกรัก (อ่านว่า ทอ-กรัก) สกุลเดิม ท่อทอง ท่านเกิดเมื่อวันศุกร์ ขึ้น ๑๒ ค่ำ เดือน ๑๑ ปี ฉลู พ.ศ. ๒๓๙๖ ตรงกับวันที่ ๑๔ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๙๖ ที่บ้านบางขันหมาก (ใต้) อำเภอเมือง จังหวัดลพบุรี โดยไม่ปรากฏชื่อโยมบิดาและโยมมารดาของท่าน

         ในช่วงเยาว์วัย หลวงพ่อกรัก ท่านได้บรรพชาเป็นสามเณรเพื่อศึกษาวิชาเขียนอ่านอยู่ที่วัดอัมพวัน ตำบลบางขันหมาก อำเภอเมือง จังหวัดลพบุรี

         ปี พ.ศ. ๒๔๑๖ หลวงพ่อกรัก ท่านมีอายุครบบวชพอดี ท่านจึงเข้ารับการอุปสมบทเป็นพระภิกษุ ณ พัทธสีมาวัดอัมพวัน ตำบลบางขันหมาก อำเภอเมือง จังหวัดลพบุรี ได้รับนามฉายาว่า "สุวณฺณสาโร" โดยมี

         พระอาจารย์เชียง ชนูปถัมภ์ วัดอัมพวัน เป็นพระอุปัชฌาย์

         พระอาจารย์ทอโหนด เป็นพระกรรมวาจาจารย์

         หลังจากอุปสมบทแล้ว ท่านได้อยู่จำพรรษาที่วัดอัมพวันเรื่อยมาเพื่อศึกษาพระธรรมวินัย วิชาอาคมต่างๆ และปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน กับพระอุปัชฌาย์ จนมีบารมีทางกระแสจิตแก่กล้า

         หลวงพ่อกรัก ท่านเป็นพระภิกษุที่เคร่งครัดต่อวัตรปฏิบัติ ฉันอาหารมื้อเดียว ถือสันโดษ และชอบออกธุดงควัตร เพื่อเดินทางไปฝากตัวร่ำเรียนวิชาต่างๆกับพระเกจิอาจารย์ที่มีชื่อเสียงในสมัยนั้นอยู่เสมอ

         โดยท่านจะออกธุดงค์แทบทุกปี โดยจะกลับมาจำพรรษาที่วัดอัมพวันก็ต่อเมื่อถึงช่วงเวลาเข้าพรรษาเท่านั้น ท่านปฏิบัติตนอยู่อย่างนี้เป็นประจำจนมีบารมีทางกระแสจิตแก่กล้า ได้รับความศรัทธาจากญาติโยมทั้งใกล้และไกลเป็นอย่างมาก

         ปี พ.ศ. ๒๔๔๕ พระอาจารย์ทอโหนด เจ้าอาวาสวัดอัมพวันได้ถึงแก่มรณภาพ (เป็นเจ้าอาวาสต่อจากพระอาจารย์เชียง) ชาวบ้านและคณะกรรมการวัดพร้อมทั้งพระภิกษุสามเณร จึงเห็นพร้องต้องกันนิมนต์หลวงพ่อกรัก ซึ่งขณะนั้นท่านบวชได้ ๒๙ พรรษาขึ้นเป็นเจ้าอาวาสทดแทนตำแหน่งที่ว่างลง

         วัดอัมพวัน เป็นวัดราษฏร์ สังกัดคณะสงฆ์ธรรมยุตินิกาย วัดตั้งอยู่เลขที่ ๙๑ หมู่ ๑ ตำบลบางขันหมาก อำเภอเมือง จังหวัดลพบุรี สร้างขึ้นในราวปี พ.ศ. ๒๔๑๕ ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๒๐

         ตามตำนานกล่าวกันว่า กรมช้างในพระราชวังนารายณ์ราชนิเวศน์ ได้ให้ควาญช้างนำช้าง ไปเลี้ยงยังป่าละเมาะใกล้คลองตาสา หรือ วัดกลาง ในปัจจุบัน ซึ่งพื้นที่วัดตั้งอยู่ริมแม่น้ำลพบุรีทางด้านทิศเหนือ และแวดล้อมด้วยหมู่บ้านชาวมอญมาแต่อดีต 

         สันนิษฐานว่าเป็นชาวมอญที่สืบเชื้อสายกันมา ตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา เนื่องจากที่ชาวมอญจากเมืองมอญอพยพตามสมเด็จพระนเรศวรมหาราชเข้ามา หลังประกาศเอกราช ณ เมืองแครง โดยมีพระมหาเถรคันฉ่องเป็นผู้ช่วยเหลือ

         ครั้งนั้นสมเด็จพระนเรศวรได้ปูนบำเหน็จแก่ขุนนางและพระสงฆ์มอญขนานใหญ่ ส่วนที่เกี่ยวข้องกับชุมชนมอญบางขันหมาก จังหวัดลพบุรีนั้น น่าจะเห็นเด่นชัดในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ ที่สร้างพระราชวังพระนารายณ์ราชนิเวศน์ที่ลพบุรี

         คงได้เกณฑ์ชาวมอญส่วนหนึ่งมาก่อเตาเผาอิฐสร้างพระราชวัง และอาราธนาพระสงฆ์มอญมาด้วย และยังสร้างวัดตองปุ ให้พระสงฆ์มอญจำพรรษา 

         นอกจากชื่อวัดอัมพวันแล้ว ยังมีชาวบ้านเรียกขานชื่อวัดไปต่างๆ กันอีกหลายชื่อ ได้แก่ "วัดค้างคาว" ด้วยเหตุที่สมัย ก่อนนั้นในเขตวัดอัมพวันมีค้างคาวแม่ไก่มาอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก

ภาพถ่ายพระอุปัชฌาย์กรัก วัดอัมพวัน ลพบุรี
พระอุปัชฌาย์กรัก วัดอัมพวัน ลพบุรี

         หลังจากที่หลวงพ่อกรักได้ขึ้นเป็นเจ้าอาวาส ท่านได้พัฒนาวัดอย่างสุดความสามารถทั้งการสร้างเสนาสนะต่างๆ และสร้างถาวรวัตถุต่างๆ จนวัดเจริญขึ้นเป้นอย่างมาก จนต่อมาท่านได้รับการแต่งตั้งให้เป็นพระอุปัชฌาย์และเป็นเจ้าคณะหมวดบางขันหมาก( เจ้าคณะตำบล) อีกหนึ่งตำแหน่งด้วย  

         ปี พ.ศ. ๒๔๖๖ หลวงพ่อกรัก ท่านได้สร้างศาลาการเปรียญขนาด ๑๓ ห้อง รูปทรงคล้ายกับศาลาการเปรียญเครื่องไม้ ที่นิยมสร้างขึ้นตามวัดที่เห็นได้ทั่วไปในภาคกลาง เป็นศาลาแบบโล่งไม่มีฝา ยกพื้นสูง หลังคามุงด้วยกระเบื้องเกล็ด เป็นศาลาที่สร้างด้วยเครื่องไม้ทั้งหลังแม้แต่ช่อฟ้า ใบมะกา หางหงษ์ และหน้าบันก็ทำด้วยเครื่องไม้ทั้งสิ้น

         ปี พ.ศ. ๒๔๘๒ หลวงพ่อกรัก ท่านได้เร่งเห็นคุณค่าของการศึกษาของบุตร-ธิดาของชาวบ้านในพื้นที่ ท่านจึงได้รวมกับหน่วยงานราชการก่อตั้งโรงเรียนวัดอัมพวัน ขึ้นโดยเป็นสอนในระดับประถมศึกษาที่ ๑ - ๔ เริ่มแรกใช้ศาลาการเปรียญของวัดเป็นที่จัดการเรียนการสอน และได้เปิดเรียนอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ ๑๑ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๒ จนถึงปัจจุบัน

         หลวงพ่อกรัก นอกจากท่านจะเป็นพระภิกษุที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบแล้ว ทางด้านวิทยาคมนั้นนับว่าท่านเป็นพระเกจิอาจารย์ระดับแนวหน้าของลพบุรีทีเดียว ผู้เฒ่าผู้แก่ในท้องถิ่นเล่าสืบต่อกันมาว่า หลวงพ่อกรัก ท่านมีความขลังในด้านลงกระหม่อมด้วยขมิ้นชัน ขนาดถูกตีจนหัวน่วมก็ไม่แตก

         ท่านเป็นพระอาจารย์ของพระครูอมรสมณคุณ (สว่าง อมโร) ซึ่งเป็นเจ้าอาวาสวัดอัมพวันรูปต่อมา และมีสหธรรมิกคือพระอาจารย์ละโว้ วัดปรมัยยิกาวาส 

         นอกจากนี้ยังเชื่อกันว่าท่านยังมีความสนิทสนมกับหลวงพ่อกลั่น วัดพระญาติ ถึงขนาดตอนที่หลวงพ่อกลั่นสร้างเหรียญรุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๔๖๙ ได้นิมนต์หลวงพ่อกรัก ไปร่วมปลุกเสกเหรียญที่วัดพระญาติอีกด้วย

         ซึ่งเรื่องนี้ อาจารย์เภา อดีตนักเล่นเหรียญที่ยิ่งยง เป็นศิษย์ใกล้ชิดหลวงพ่อคง วัดบางกะพ้อมได้เคยกล่าวถึงหลวงพ่อกรัก วัดอัมพวันเสมอว่า "ท่านองค์นี้เก่งกล้าวิชาอาคมสูง แม้แต่หลวงพ่อกลั่น วัดพระญาติ ยังไว้วางใจมาก และกล่าวยกย่องท่านเสมอ.."

         หลวงพ่อกรัก ปกครองวัดเรื่อยมาจนถึงแก่มรณภาพลงด้วยอาการอันสงบในวันพฤหัสบดี แรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ ปีมะแม ตรงกับวันที่ ๑๔ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๖ นับรวมสิริอายุได้ ๙๑ ปี ๗๐ พรรษา.

วัตถุมงคลของพระอุปัชฌาย์กรัก วัดอัมพวัน

         เหรียญพระอุปัชฌาย์กรัก วัดอัมพวัน รุ่นแรก

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๖๙ เพื่อแจกให้กับผู้ที่บริจาคทรัพย์ให้กับทางวัด ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มขอบกระบอกมีหูในตัว สร้างด้วยเนื้อทองแดงเพียงชนิดเดียวเท่านั้น จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้แต่บางตำราว่าจัดสร้าง ๕๐๐ เหรียญ

เหรียญพระอุปัชฌาย์กรัก วัดอัมพวัน ลพบุรี รุ่นแรก 2469 ทองแดงกระไหล่ทอง
เหรียญพระอุปัชฌาย์กรัก วัดอัมพวัน ลพบุรี รุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๔๖๙ เนื้อทองแดงกระไหล่ทอง ของคุณอ๊อด เลี่ยมทอง
เหรียญพระอุปัชฌาย์กรัก วัดอัมพวัน ลพบุรี รุ่นแรก 2469 ทองแดงกระไหล่ทอง
เหรียญพระอุปัชฌาย์กรัก วัดอัมพวัน ลพบุรี รุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๔๖๙ เนื้อทองแดงกระไหล่ทอง ของคุณเปี้ยง สุพรรณ

         ด้านหน้า จำลองเป็นรูปหลวงพ่อกรักนั่งสมาธิเต็มองค์บนตั่งอาสนะ องค์หลวงพ่อห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฏิ ขอบเหรียญมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "พระอุปัชฌากรัก ๒๔๖๙" 

         ด้านหลัง เป็นยันต์ดอกบัวโดยตรงกลางมีอักขระยันต์อ่านได้ว่า "ทุ สะ นิ มะ" ซึ่งย่อมาจาก ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ที่กลีบบัวมีอักขระยันต์อ่านได้ว่า "มะอะอุ อะอุมะ อุมะอะ" แถวนอกสุดของกลีบบัวมีอักขระยันต์ตัว "อุ" หรือตัวอุฌาโลม

         เหรียญกลมพระอุปัชฌาย์กรัก วัดอัมพวัน รุ่นแรก

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๖๙ เพื่อแจกให้กับผู้ที่บริจาคทรัพย์ให้กับทางวัด ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มขอบกระบอกมีหูเชื่อม สร้างด้วยเนื้อทองแดงเพียงชนิดเดียวเท่านั้น จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้แต่บางตำราว่าจัดสร้าง ๑,๐๐๐ เหรียญ

เหรียญกลมพระอุปัชฌาย์กรัก วัดอัมพวัน ลพบุรี รุ่นแรก 2469 ทองแดง
เหรียญกลมพระอุปัชฌาย์กรัก วัดอัมพวัน ลพบุรี รุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๔๖๙ เนื้อทองแดง
เหรียญกลมพระอุปัชฌาย์กรัก วัดอัมพวัน ลพบุรี รุ่นแรก 2469 ทองแดง
เหรียญกลมพระอุปัชฌาย์กรัก วัดอัมพวัน ลพบุรี รุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๔๖๙ เนื้อทองแดง

         ด้านหน้า จำลองเป็นรูปหลวงพ่อกรักนั่งสมาธิเต็มองค์บนตั่งอาสนะ องค์หลวงพ่อห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฏิ ขอบเหรียญมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "พระอุปัชฌากรัก ๒๔๖๙" 

         ด้านหลัง เป็นยันต์ดอกบัวโดยตรงกลางมีอักขระยันต์อ่านได้ว่า "ทุ สะ นิ มะ" ซึ่งย่อมาจาก ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ที่กลีบบัวมีอักขระยันต์อ่านได้ว่า "มะอะอุ อะอุมะ อุมะอะ" แถวนอกสุดของกลีบบัวมีอักขระยันต์ตัว "อุ" หรือตัวอุฌาโลม

         เหรียญพระอุปัชฌาย์กรัก วัดอัมพวัน รุ่นสอง

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๗๘ เพื่อแจกให้กับผู้ที่บริจาคทรัพย์ให้กับทางวัด ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มขอบกระบอก มีหูเชื่อม สร้างด้วยเนื้อทองแดงเพียงชนิดเดียวเท่านั้น จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

เหรียญพระอุปัชฌาย์กรัก วัดอัมพวัน ลพบุรี รุ่น 2 2478 ทองแดงกระไหล่ทอง
เหรียญพระอุปัชฌาย์กรัก วัดอัมพวัน ลพบุรี รุ่น ๒ ปี พ.ศ. ๒๔๗๘ เนื้อทองแดงกระไหล่ทอง ของคุณปกร ปการ

         ด้านหน้า จำลองเป็นรูปหลวงพ่อกรักนั่งสมาธิเต็มองค์บนตั่งอาสนะ องค์หลวงพ่อห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฏิ ขอบเหรียญมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "พระอุปัชฌากรัก ๒๔๗๘" 

         ด้านหลัง เป็นยันต์ดอกบัวโดยตรงกลางมีอักขระยันต์อ่านได้ว่า "ทุ สะ นิ มะ" ซึ่งย่อมาจาก ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ที่กลีบบัวมีอักขระยันต์อ่านได้ว่า "มะอะอุ อะอุมะ อุมะอะ" แถวนอกสุดของกลีบบัวมีอักขระยันต์ตัว "อุ" หรือตัวอุฌาโลม



โดย : สารานุกรมพระเกจิแห่งแดนสยาม

บทความที่เกี่ยวข้อง

***-[เป็นกำลังใจและสนับสนุน​ให้เราเขียนบทความดีๆ ด้วยการกดดูโฆษณาด้านล่างนะคะ]-***

ไม่มีความคิดเห็น