ประวัติและวัตถุมงคลหลวงพ่อสนธิ์ วัดปราสาท อีกหนึ่งพระเกจิชื่อดังของเมืองนนทบุรี
หลวงพ่อสนธิ์ วัดปราสาท นนทบุรี |
หลวงพ่อสนธิ์ วัดปราสาท ตำบลบางกร่าง อำเภอเมือง จังหวัดนนทบุรี ท่านเป็นพระเกจิชื่อดังอีกรูปหนึ่ง ท่านมีนามเดิมว่า สน อิ่มบุญ พื้นเพเป็นชาวนนทบุรี เกิดเมื่อวันที่ ๒๘ เมษายน พ.ศ. ๒๔๓๔ โยมบิดาชื่อนายบุญ อิ่มบุญ โยมมารดาชื่อนางอิ่ม อิ่มบุญ มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน ๖ คน โดยหลวงพ่อเป็นคนสุดท้อง
ในวัยเด็กโยมบิดาและโยมมารดา ได้นำท่านไปฝากเรียนหนังสือที่สำนักเรียนวัดชัยพฤกษมาลาราชวรวิหาร โดยมีท่านเจ้าคุณพระนันทวิริยะ (โพธิ์ ติสฺสทสฺโส) เป็นเจ้าอาวาส
โดยท่านเจ้าคุณได้มอบให้พระภิกษุผู้มีหน้าที่สอนหนังสือภาษาไทยให้ช่วยสอน จนท่านสามารถสามารถอ่านภาษาไทยออกและเขียนได้ ท่านเจ้าคุณโพธิ์ จึงให้เรียนอักขระขอม เพื่อเป็นการปูทางไปศึกษาพระบาลีต่อไป
จนเมื่อท่านเรียนอักขระขอมจนอ่านออกเขียนได้แล้ว ท่านเจ้าคุณโพธิ์จึงให้ท่องสูตรมูลกัจจายน์ต่อ จนเมื่อหลวงพ่อสนธิ์มีอายุได้พอสมควร จึงให้บรรพชาเป็นสามเณร
โดยท่านเจ้าคุณพระนันทวิริยะ เป็นพระอุปัชฌาย์ หลังจากบรรพชาเป็นสามเณรแล้วท่านได้ศึกษามูลกัจจายน์อย่างจริงจัง ในช่วงที่เป็นสามเณรนี้ท่านก็ได้มาจำพรรษาอยู่วัดอุทยาน ฝากตัวเป็นศิษย์ของหลวงปู่เพิ่มอีกด้วย
ปี พ.ศ. ๒๔๕๔ หลวงพ่อสนธิ์ ท่านมีอายุได้ ๒๐ ปีบริบูรณ์ จึงเข้าพิธีอุปสมบทเป็นพระภิกษุ ณ พัทธสีมาวัดชัยพฤกษมาลาราชวรวิหาร แขวงตลิ่งชัน เขตตลิ่งชัน กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ ๒๑ เมษายน พ.ศ. ๒๔๕๔ เวลา ๐๕.๐๐ น. ได้รับฉายาว่า "ธมฺมสโร" โดยมี
ท่านเจ้าคุณพระนันทวิริยะ (โพธิ์ ติสฺสทสฺโส) เป็นพระอุปัชฌาย์
พระอธิการชื่น วัดปราสาท เป็นพระกรรมวาจาจารย์
พระปลัดเล็ก วัดชัยพฤกษมาลาราชวรวิหาร เป็นพระอนุสาวนาจารย์
หลังจากที่อุปสมบทแล้ว ท่านได้อยู่จำพรรษาที่วัดชัยพฤกษมาลาราชวรวิหารเรื่อยมา ท่านได้ช่วยเจ้าคุณโพธิ์ในการบูรณะปฏิสังขรณ์ วัดชัยพฤกษมาลาราชวรวิหาร ซึ่งทำให้หลวงพ่อสนธิ์ มีความชำนาญในการบูรณปฏิสังขรณ์วัดเป็นพิเศษ
เจ้าคุณโพธิ์ วัดชัยพฤกษ์มาลาราชวรวิหาร กรุงเทพมหานคร |
ปี พ.ศ. ๒๔๗๒ ตำแหน่งเจ้าอาวาสของวัดปราสาทได้ว่างลง ท่านคุณพระนันทวิริยะ (โพธิ์ ติสฺสทสฺโส) สมัยนั้นดำรงตำแหน่งเจ้าคณะจังหวัดนนทบุรี จึงมีบัญชาแต่งตั้งให้หลวงพ่อสนธิ์ ธมฺมสโร ย้ายมาเป็นเจ้าอาวาสวัดปราสาท เมื่อวันที่ ๒๗ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๒ ซึ่งขณะนั้นท่านอายุประมาณ ๓๘ ปี
วัดปราสาท เป็นวัดราษฎร์สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย ตั้งอยู่ในหมู่ที่ ๔ บ้านบางกร่าง ตำบลบางกร่าง อำเภอเมือง จังหวัดนนทบุรี ปัจจุบันมีพระมหานที ธมฺมธีโร ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดปราสาท
วัดปราสาท สร้างขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย โดยดูจากอุโบสถแบบมหาอุด วัดได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อปี พ.ศ. ๒๓๑๐ แต่ยังหลักฐานพอให้สันนิษฐานได้ว่าอาจสร้างมาตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนกลาง
ประมาณสมัยสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม สร้างโดยเจ้าพระยากลาโหม (องค์ไล) ผู้ซึ่งต่อมาขึ้นครองราชย์ในพระนาม พระเจ้าปราสาททอง เป็นพระราชบิดาของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ปัจจุบันอุโบสถของวัดนี้ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานแห่งชาติ
พระอุโบสถของวัด มีลักษณะแอ่นเป็นท้องสำเภาจีน เป็นโบสถ์แบบมหาอุด มีผนังด้านข้างทั้งสองไม่มีหน้าต่าง ด้านหน้ามีประตูทรงปราสาทประดับลวดลายปูนปั้น ด้านหลังมีเพียงช่องแสงเล็กๆ หลังพระประธาน มีภาพจิตรกรรมฝาผนังเขียนด้วยสีฝุ่นเรื่องทศชาติชาดก เขียนขึ้นโดยช่างสกุลชั้นสูงนนทบุรี เป็นภาพเก่าแก่ที่สุดในนนทบุรี และลบเลือนไปมากแล้วในปัจจุบัน
หลังคาด้านหน้าเชิดขึ้นเล็กน้อย ฐานเป็นเส้นโค้งแบบเดียวกับหลังคาหน้าบัน หน้าบันจำหลักสวยงามด้วยรูปพระนารายณ์ทรงครุฑ (ปัจจุบันตัวครุฑถูกขโมยไปแล้ว) ภายในประดิษฐานพระประธานและพระพุทธรูปจัดเป็นหมู่รอบองค์พระประธาน
สันนิษฐานว่าเป็นศิลปกรรมสมัยอยุธยา ส่วนพระประธานเป็นศิลปะอู่ทอง ยังมีธรรมาสน์สร้างในสมัยอยุธยาตอนกลางถึงปลายตั้งอยู่ที่ศาลาการเปรียญ กุฏิทรงไทยที่เจ้าอาวาสองค์ปัจจุบันได้ทำการอนุรักษ์ไว้เป็นอย่างดี
นอกจากนี้ภายในวัดยังมีต้นตะเคียนยักษ์ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ อายุกว่า ๑,๐๐๐ ปี มีความยาว ๔๐.๔๐ เมตร ขนาดรอบลำตันกว้าง ๔ เมตร ๑๒ เซนติเมตร
เมื่อหลวงพ่อสนธิ์ได้รับตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดปราสาท ท่านก็ได้พัฒนาวัดอย่างสุดความสามารถ โดยทำการบูรณปฏิสังขรณ์เสนาสนะภายในวัดปราสาท อาทิ บูรณะและสร้างกุฏิ ๑๒ หลัง บูรณะหอสวดมนต์ทรงปั้นหย่า ๒ ชั้น ๒ หลัง บูรณะอุโบสถและกำแพงแก้วรอบอุโบสถ
นอกจากนี้ท่านยังเล็งเห็นความสำคัญของการเรียนการศึกษา ของบุตร-ธิดาชาวบ้านในพื้นที่วัด ท่านจึงได้สร้างโรงเรียนวัดปราสาทขึ้นใน ปี พ.ศ. ๒๕๐๗ และยังบูรณะศาลาการเปรียญ ๑ หลัง และในปี พ.ศ. ๒๕๑๖ ท่านได้สร้างเมรุเตาเผาศพอีกด้วย
หลวงพ่อสนธิ์ ในสมัยที่ท่านยังมีชีวิตอยู่นั้นมีเรื่องเล่ากันว่า ที่วัดปราสาทนั้นมีทองซ่อนอยู่มากมาย แม้กระทั้่งกระต่ายคู่ที่อยู่ทางขึ้นธรรมาศนั้นข้างในยังเป็นทองคำเลย และคนเฒ่าคนแก่ยังเล่าให้ฟังต่อว่า ในสมัยหลวงพ่อสนธิ์ปกครองวัดอยู่นั้น
ท่านไม่เคยเรี่ยไรเงินจากชาวบ้านเลยแม้แต่น้อย แต่ไม่รู้ว่าท่านเอาเงินมาจากไหนมาสร้างโบสถ์สร้างกุฏิและสิ่งก่อสร้งต่างๆ ภายในวัด แต่ทุกปีท่านจะสั่งทองคำมา ๑ บาท และก็ทำการเผาทิ้งภายในวัดซึ่งก็ไม่มีลูกศิษย์คนใดได้เอ่ยปากถามว่าท่านทำไปเพราะเหตุใด
นอกจากนั้นยังมีเรื่องเล่ากันต่อมาว่า หลวงพ่อสนธิ์ท่านเป็นศิษย์หลวงปู่เพิ่ม วัดอุทยาน เก่งวิชา "กระสุนคต" มีอยู่ครั้งนึง หลวงพ่อท่านนั่งอยู่ในโบสถ์ซึ่งโบสถ์ของวัดปราสาท เป็นโบสถ์มหาอุด คือไม่มีหน้าต่าง มีแต่ประตูทางเข้าออกทางเดียว
ซึ่งโบสถ์ลักษณะนี้เกจิอาจารย์เชื่อว่าถ้าปลุกเสกวัตถุมงคลต่างๆ จะให้ผลทางด้านมหาอุดสูง และพระเครื่องหรือวัตถุมงคลของหลวงพ่อสนธิ์ ท่านก็ทำการปลุกเสกในนี้
รูปหล่อหลวงพ่อสนธิ์ วัดปราสาท นนทบุรี |
มีเรื่องเล่าถึงวิชาของท่านสืบต่อกันมาว่า คืนหนึ่งได้มีพระบวชใหม่กำลังปีนกำแพงแอบออกไปนอกวัดยามวิกาล โดยไม่ได้ขออนุญาตจากท่าน ปรากฏว่าอยู่ดีๆ มีลูกกระสุนเป็นดินมาจากไหนไม่รู้มากระทบรำตัว ๓-๔ ลูก
เมื่อมองซ้ายมองขวาก็ไม่มีใคร จึงคิดว่าผีหลอก เพราะในสมัยนั้นวัดปราสาทขึ้นชื่อเรื่องผีดุมาก (มากจนติดอันดับ ๑ ใน ๑๐ ของเมืองไทย) จนกระทั่งพระใหม่รูปนั้นเดินทางกลับ และระหว่างทางได้เหลียวไปเห็นว่าหลวงพ่อสนธิ์ท่านจุดเทียนนั่งสมาธิอยู่ในโบสถ์
พระใหม่รูปนั้นจึงได้เข้าไปหาเพื่อที่จะขออนุญาตท่านปรากฏว่ามีหนังสติ๊กวางอยู่ข้างลำตัวท่านและท่านก็อมยิ้มและพูดว่า "วันหน้าท่านจะออกไปไหนให้มาขออนุญาตท่านก่อนน่ะ ออกไปโดยพลการแบบนี้มันไม่ดี"
ซึ่งพระรูปนั้นก็แปลกใจมากว่าท่านรู้ได้ไง และยิงหนังสติ๊กไปถูกท่านได้อย่างไรเพราะระยะ ระหว่างโบสถ์กับกำแพงนั้นไกลกันมากและไม่สามารถมองเห็นจากในโบสถ์นี้ได้ และที่สำคัญคือท่านรู้ได้อย่างไรว่าจะมีพระแอบออกไปข้างนอกโดยไม่ได้รับอนุญาตซึ่งเป็นเรื่องที่น่าอัศจรรย์มาก
สำหรับวัตถุมงคลที่ท่านสร้างไว้นั้นมีเยอะแยะมากมาย อาทิ เหรียญรุ่นแรก, รูปถ่ายทั้งรูปบูชาและห้อยคอ, พระบูชา, พระเนื้อดินขุยปู, สมเด็จเล็ก, พิมพ์นางพญา และลูกอม เป็นต้น
ซึ่งพระเนื้อดินของท่านส่วนมากจะมีจารเปียกด้านหลังทุกองค์ และวัตถุมงคลที่กล่าวมานั้นต่างได้รับความนิยมกันหมดทุกรุ่นโดยเฉพาะเหรียญรุ่นแรก, พระพิมพ์คะแนนใหญ่ และรูปถ่ายขนาดบูชาจะได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก
หลวงพ่อสนธิ์ ปกครองวัดเรื่อยมาจนถึงแก่มรณภาพลงด้วยโรคชราเมื่อวันที่ ๑๔ เมษายน พ.ศ. ๒๕๑๘ เวลา ๑๗.๐๐ น. นับรวมสิริอายุได้ ๘๕ ปี ๖๕ พรรษา.
วัตถุมงคลของหลวงพ่อสนธิ์ วัดปราสาท
เหรียญหลวงพ่อสนธิ์ วัดปราสาท รุ่นแรก
สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๑๒ เพื่อแจกให้กับผู้ที่บริจาคทรัพย์ให้กับทางวัด ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าแบบมีหูในตัว มีการสร้างด้วยเนื้อโลหะทองแดงเพียงชนิดเดียวเท่านั้น จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้
เหรียญหลวงพ่อสนธิ์ วัดปราสาท นนทบุรี รุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๕๑๒ เนื้อทองแดง |
เหรียญหลวงพ่อสนธิ์ วัดปราสาท นนทบุรี รุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๕๑๒ เนื้อทองแดง |
ด้านหน้า จำลองเป็นรูปหลวงพ่อสนธิ์เต็มองค์นั่งสมาธิ องค์หลวงพ่อห่มจีวรลดไหล่ พาดผ้าสังฆาฏิรัดประคต ใต้รูปหลวงพ่อมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "หลวงพ่อสนธิ์ ธมฺมสโร วัดปราสาท ต.บางกร่าง อ.เมือง จ.นนทบุรี"
ด้านหลัง มีอักขระยันต์
สมเด็จหลวงพ่อสนธิ์ วัดปราสาท พิมพ์มีจุด (นิยม)
สร้างขึ้นก่อนปี พ.ศ. ๒๕๑๘ เพื่อแจกให้กับผู้ที่บริจาคทรัพย์ให้กับทางวัด ลักษณะเป็นพระพิมพ์สมเด็จ มีการสร้างด้วยดินผสมผงโดยพระที่สร้างนั้นปลุกเสกในพระอุโบสถมหาอุด สมัยก่อนนิยมเรียกสมเด็จคะแนน เพราะสร้างไว้นับจำนวนพระสมเด็จพิมพ์เล็ก จัดเป็นพระหายาก จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้
สมเด็จหลวงพ่อสนธิ์ วัดปราสาท นนทบุรี พิมพ์มีจุด ก่อนปี พ.ศ. ๒๕๑๘ เนื้อผงผสมดิน |
สมเด็จหลวงพ่อสนธิ์ วัดปราสาท นนทบุรี พิมพ์มีจุด ก่อนปี พ.ศ. ๒๕๑๘ เนื้อผงผสมดิน |
ด้านหน้า จำลองเป็นรูปพระสมเด็จฐาน ๗ ชั้น มีครอบระฆังและเส้นกรอบบังคับพิมพ์สวยงาม ที่มุมบนมีเม็ดไข่ปลา ๒ เม็ด
ด้านหลัง มีเรียบ ในบางองค์ปรากฏรอยจารเปียก อักขระยันต์ตัว "มิ"
สมเด็จหลวงพ่อสนธิ์ วัดปราสาท พิมพ์คะแนน
สร้างขึ้นก่อนปี พ.ศ. ๒๕๑๘ เพื่อแจกให้กับผู้ที่บริจาคทรัพย์ให้กับทางวัด ลักษณะเป็นพระพิมพ์สมเด็จขนาดเล็ก มีการสร้างด้วยดินผสมผง จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้
สมเด็จหลวงพ่อสนธิ์ วัดปราสาท นนทบุรี พิมพ์คะแนน ก่อนปี พ.ศ. ๒๕๑๘ เนื้อผงผสมดิน |
สมเด็จหลวงพ่อสนธิ์ วัดปราสาท นนทบุรี พิมพ์คะแนน ก่อนปี พ.ศ. ๒๕๑๘ เนื้อผงผสมดิน |
ด้านหน้า จำลองเป็นรูปพระสมเด็จฐาน ๓ ชั้น หูบายศรี มีครอบระฆังและเส้นกรอบบังคับพิมพ์สวยงาม
ด้านหลัง มีรอยจารเปียกอักขระยันต์ตัว "อะ"
พระนางพญาหลวงพ่อสนธิ์ วัดปราสาท
สร้างขึ้นก่อนปี พ.ศ. ๒๕๑๘ เพื่อแจกให้กับผู้ที่บริจาคทรัพย์ให้กับทางวัด ลักษณะเป็นพระพิมพ์นางพญาขนาดเล็ก มีการสร้างด้วยดินผสมผง จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้
พระนางพญาหลวงพ่อสนธิ์ วัดปราสาท นนทบุรี ก่อนปี พ.ศ. ๒๕๑๘ เนื้อผงผสมดิน |
ด้านหน้า จำลองเป็นรูปพระนางพญา
ด้านหลัง มีรอยจารเปียกอักขระยันต์ตัว "มิ"
โดย : สารานุกรมพระเกจิแห่งแดนสยาม
บทความที่เกี่ยวข้อง
***-[เป็นกำลังใจและสนับสนุนให้เราเขียนบทความดีๆ ด้วยการกดดูโฆษณาด้านล่างนะคะ]-***
ไม่มีความคิดเห็น