ประวัติและวัตถุมงคลหลวงพ่อชิต วัดสามไถ อยุธยา พระเกจิผู้สืบทอดวิชาจากหลวงปู่รอด เจ้าของเหรียญวัดสามไถอันโด่งดัง
หลวงพ่อชิต วัดสามไถ อยุธยา |
หลวงพ่อชิต วัดสามไถ หรือ พระอธิการชิต อดีตเจ้าอาวาสวัดสามไถ ตำบลสามไถ อำเภอนครหลวง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ท่านเป็นศิษย์เอกของหลวงปู่รอด วัดสามไถ เจ้าของเหรียญหล่ออันดับหนึ่งของอยุธยา เวลามีใครมาสักยันต์กับหลวงปู่รอด ในช่วงปลายที่ท่านอายุมาก หลวงพ่อชิตท่านจะรับหน้าที่สักยันต์ให้ เรียกว่าศิษย์ก้นกุฏิก็ไม่ผิด
หลวงพ่อชิต พื้นเพท่านเป็นชาวบ้านชะอม ตำบลแม่ลา อำเภอนครหลวง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา มีนามเดิมว่า ชิต เทียนหล่อ ท่านเกิดขึ้น ๑๔ ค่ำ เดือน ๖ ตรงกับวันพุธที่ ๑ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๔๔ โยมบิดาชื่อนายเผือด เทียนหล่อ โยมมารดาชื่อนางผาด เทียนหล่อ มีพี่น้องรวม ๕ คน คือ
๑. นางแกละ
๒. นางแขก
๓. นายมณี
๔. นางเข็ม
๕. นางขาบ
ในตอนปฐมวัย หลวงพ่อชิตค่อนข้างลำบากมากเพราะโยมพ่อซึ้งเป็นผู้นำครอบครัวได้ถึงแก่กรรมตั้งแต่ท่านยังเล็กๆ จึงต้องเที่ยวเร่ร่อนไปกับโยมมารดา ทำงานรับจ้างเลี้ยงน้องๆเรื่อยมา
ปี พ.ศ. ๒๔๖๔ หลวงพ่อชิต ท่านมีอายุครบ ๒๐ ปีบริบูรณ์ ท่านมีความปรารถนาอย่างแรงกล้าที่จะอุปสมบทเป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนา ท่านจึงได้มาฝากตัวเป็นศิษย์ของหลวงปู่รอด เจ้าอาวาสวัดสามไถในสมัยนั้น
หลวงปู่รอดจึงให้เรียนการอ่านการเขียนภาษาบาลี ซึ่งเป็นอักขระขอม กับพระไข่ (ภายหลังได้ลาสิกขา)ด้วยความอุตสาหะและวิริยะอย่างแรงกล้า จึงทำให้หลวงพ่ออ่านเขียนอักขระขอมได้อย่างรวดเร็ว
หลวงปู่รอดจึงอนุญาตให้อุปสมบทได้ ณ พัทธสีมาวัดสามไถ ตำบลสามไถ อำเภอนครหลวง จังหวัดพระนครศรีอยุธยาโดยมีพระไข่เป็นผู้จัดการเรื่องอัฏฐบริขารให้ เมื่อเดือน ๖ พ.ศ. ๒๔๖๔ ได้รับฉายาว่า "พฺรหฺมโชโต" โดยมี
หลวงปู่รอด อินฺทปญฺโญฺ วัดสามไถ เป็นพระอุปัชฌาย์
หลวงอธิการมนต์ วัดดงหวาย เป็นพระกรรมวาจาจารย์
หลวงอธิการทิพย์ วัดกลาง เป็นพระอนุสาวนาจารย์
เมื่อหลวงพ่อได้อุปสมบทแล้ว ท่านได้อยู่จำพรรษาที่วัดสามไถเรื่อยมา เพื่อศึกษาพระธรรมวินัย และร่ำเรียนพระกรรมัฏฐานจากหลวงปู่รอด จนมีความรู้ความเข้าใจปฏิบัติตามพระธรรมวินัยได้โดยไม่บกพร่อง และยังได้มีโอกาศศึกษาอักขระและไสยศาสตร์กับหลวงปู่ ซึ่งเป็นพระอาจารย์ของท่านอีกด้วย
หลวงพ่อรอด วัดสามไถ อยุธยา |
ปี พ.ศ. ๒๔๗๐ หลังจากที่หลวงพ่อชิตได้จำพรรษาอยู่ที่วัดสามไถ ๖ พรรษา พอดีวัดกลางในเขตปกครองของหลวงปู่รอดว่างเจ้าอาวาสลง หลวงปู่รอดจึงได้ส่งหลวงพ่อไปรักษาการเจ้าอาวาส
ต่อมาหลวงพ่อต้องย้ายจากวัดกลาง มาเป็นเจ้าอาวาสที่วัดใหญ่ อยู่วัดใหญ่ได้ ๓ พรรษา เกิดความเบื่อหน่าย จึงลาออกจากเจ้าอาวาสไปจำพรรษาที่วัดประสาท อำเภอบางบาล ๑ พรรษา และมาอยู่ที่วัดมเหยงค์ ๓ - ๔ เดือน ญาติโยมจึงนิมนต์กลับมาอยู่วัดสามไถ
หลวงพ่อชิตพิจารณาแล้วว่า หลวงปู่รอดพระอุปัชณาย์ชราภาพมากแล้ว ไม่มีพระรูปอื่นอยู่ใกล้ปรนนิบัติรับใช้เป็นอุปัฏฐากให้ท่าน หลวงพ่อจึงตัดสินใจย้ายกลับมาวัดสามไถ เพื่อที่จะได้มีโอกาสตอบแทนพระคุณของพระอุปัชฌาย์
ปี พ.ศ. ๒๔๘๐ หลวงปู่รอดได้มรณภาพลง หลวงพ่อชิตก็รับหน้าที่เป็นประธานจัดงานณาปนกิจศพหลวงปู่รอดอย่างสมเกียรติ พร้อมทั้งรับหน้าที่รักษาการเจ้าอาวาส
ปี พ.ศ. ๒๔๘๒ หลังจากเสร็จสิ้นพิธีศพของหลวงปู่รอด ทางคณะสงฆ์จึงแต่งตั้งหลวงพ่อชิต ขึ้นเป็นเจ้าอาวาสวัดสามไถทดแทนตำแหน่งที่ว่างลง
วัดสามไถ เป็นวัดราษฏร์ สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย วัดตั้งอยู่ที่บ้านสามไถ หมู่ที่ ๑ ตำบลสามไถ อำเภอนครหลวง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
เดิมเป็นวัดร้างเก่าแก่มาตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี จนมาถึงช่วงรัชกาลที่ ๒ ชาวบ้านจึงร่วมกันตั้งวัดเมื่อปี พ.ศ. ๒๓๕๐ ตั้งชื่อวัดว่า วัดสามไถ ตามชื่อหมู่บ้านและทำนุบำรุงวัดเรื่อยมา วัดได้รับวิสุงคามสีมาเมื่อวันที่ ๒๐ กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๒ มีรายชื่อเจ้าอาวาสที่ปกครองวัดดังนี้
๑. พระอธิการแดง
๒. พระอธิการรอด อินทปญฺโญ พ.ศ. ๒๔๒๗ - ฑ.ศ. ๒๔๘๐
๓. หลวงปู่ชิต พรหมโชโต พ.ศ. ๒๔๘๒ - ๒๕๒๐
๔. พระอธิการน้อย ธมฺมรกฺขิโต พ.ศ. ๒๕๒๑ - พ.ศ. ๒๕๓๓
๕. พระครูวิจิตรวีรการ พ.ศ. ๒๕๓๔ - ปัจจุบัน
เมื่อหลวงพ่อชิตได้ขึ้นเป็นเจ้าอาวาส ท่านได้พัฒนาวัดทั้งการสร้างเสนาสนะต่างๆ เช่น ปฎิสังขรณ์ศาลาการเปรียญ พระอุโบสถ กุฎิ สร้างหอระฆัง เป็นต้น
หลวงพ่อชิต ปกครองวัดเรื่อยมาจนถึงแก่จนกระทั้งวันที่ ๓๐ กรกฏาคม ๒๕๒๐ หลวงพ่อก็ได้ละสังขารลง สิริรวมอายุได้ ๗๗ ปี ๕๗ พรรษา
วัตถุมงคลของหลวงพ่อชิต วัดสามไถ
เหรียญหลวงพ่อชิต วัดสามไถ รุ่นแรก
สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๐๐ เพื่อแจกให้กับผู้ที่บริจาคทรัพย์ให้กับทางวัด ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มทรงเสมาแบบมีหูในตัว มีการสร้างด้วยเนื้อทองเหลืองเพียงชนิดเดียวเท่านั้น จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้
เหรียญหลวงพ่อชิต วัดสามไถ อยุธยา รุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๕๐๐ เนื้อทองเหลือง |
เหรียญหลวงพ่อชิต วัดสามไถ อยุธยา รุ่นแรก (นิยม) ปี พ.ศ. ๒๕๐๐ เนื้อทองเหลือง |
เหรียญหลวงพ่อชิต วัดสามไถ อยุธยา รุ่นแรก (นิยม) ปี พ.ศ. ๒๕๐๐ เนื้อทองเหลือง |
ด้านหน้า จำลองเป็นรูปหลวงพ่อชิตครึ่งองค์ห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฏิ ใต้รูปหลวงพ่อมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "หลวงพ่อชิต"
ด้านหลัง ตรงกลางเป็นอักขระยันต์สาม บนอักขระยันต์มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "ที่ระลึก"
เหรียญหลวงพ่อชิต วัดสามไถ รุ่นสอง
สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๐๔ เพื่อแจกให้กับผู้ที่บริจาคทรัพย์ให้กับทางวัด ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มทรงเสมาแบบมีหูในตัว มีการสร้างด้วยเนื้ออัลปาก้าเพียงชนิดเดียวเท่านั้น จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้
เหรียญหลวงพ่อชิต วัดสามไถ อยุธยา รุ่น ๒ ปี พ.ศ. ๒๕๐๔ เนื้ออัลปาก้า |
ด้านหน้า จำลองเป็นรูปหลวงพ่อชิตนั่งเต็มองค์มือทั้ง ๒ ข้างจับที่เข่า องค์หลวงพ่อห่มจีวรพาดไหล่ ใต้รูปหลวงพ่อมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "หลวงพ่อชิต"
ด้านหลัง ตรงกลางเป็นอักขระยันต์สาม บนอักขระยันต์มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "ที่ระลึก" ใต้อักขระยันต์มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "วัดสามไถย์"
เหรียญหลวงพ่อชิต วัดสามไถ รุ่น ๓
สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๐๖ เพื่อแจกให้กับผู้ที่บริจาคทรัพย์ให้กับทางวัด ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มทรงเสมาแบบมีหูในตัว มีการสร้างด้วยเนื้อทองแดงเพียงชนิดเดียวเท่านั้น จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้
เหรียญหลวงพ่อชิต วัดสามไถ อยุธยา รุ่น ๓ ปี พ.ศ. ๒๕๐๖ เนื้อทองแดง |
ด้านหน้า จำลองเป็นรูปหลวงพ่อชิตครึ่งองค์ห่มจีวรลดไหล่ ใต้รูปหลวงพ่อมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "หลวงพ่อชิต"
ด้านหลัง ตรงกลางเป็นอักขระยันต์สาม
เหรียญหลวงพ่อชิต วัดสามไถ รุ่น ๔
สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๐๗ เพื่อแจกให้กับผู้ที่บริจาคทรัพย์ให้กับทางวัด ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มทรงเสมาแบบมีหูในตัว โดยนำแม่พิมพ์ของเหรียญรุ่นแรกมาปั๊มใหม่ ทำให้พื้นเหรียญมีกลาก มีการสร้างด้วยเนื้อทองเหลืองเพียงชนิดเดียวเท่านั้น จำนวนการสร้าง ๓,๐๐๐ เหรียญ
เหรียญหลวงพ่อชิต วัดสามไถ อยุธยา รุ่น ๔ (มีกลาก) ปี พ.ศ. ๒๕๐๗ เนื้อทองฝาบาตร |
เหรียญหลวงพ่อชิต วัดสามไถ อยุธยา รุ่น ๔ (มีกลาก) ปี พ.ศ. ๒๕๐๗ เนื้อทองฝาบาตร |
ด้านหน้า จำลองเป็นรูปหลวงพ่อชิตครึ่งองค์ห่มจีวรลดไหล่ ใต้รูปหลวงพ่อมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "หลวงพ่อชิต" ที่พื้นเหรียญมีกลาก
ด้านหลัง ตรงกลางเป็นอักขระยันต์สาม บนอักขระยันต์มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "ที่ระลึก" ที่พื้นเหรียญมีกลาก
โดย : สารานุกรมพระเกจิแห่งแดนสยาม
บทความที่เกี่ยวข้อง
***-[เป็นกำลังใจและสนับสนุนให้เราเขียนบทความดีๆ ด้วยการกดดูโฆษณาด้านล่างนะคะ]-***
ไม่มีความคิดเห็น