ประวัติและวัตถุมงคลหลวงพ่อรุ่ง วัดโพธิ์พระใน เจ้าของเหรียญกรงจักรราคาแพงของเมืองเพชรบุรี
หลวงพ่อรุ่ง วัดโพธิ์พระใน เพชรบุรี |
หลวงพ่อรุ่ง วัดโพธิ์พระใน หรือ พระครูปุญญกรวิโรจน์ อดีตเจ้าอาวาสวัดโพธิ์พระใน ตำบลโพธิ์พระ อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบุรี ท่านมีนามเดิมว่า รุ่ง สุวรรณเพชร พื้นเพท่านเป็นชาวบ้านตำบลนาพันสาม อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบุรี เกิดเมื่อวันที่ ๑๘ มกราคม พ.ศ. ๒๔๒๕ ตรงกับวันพฤหัสขึ้น ๑๐ ค่ำ เดือนยี่ ปีมะเมีย โยมบิดาชื่อนายสว่าง สุวรรณเพชร โยมมารดาชื่อนางเปี่ยม สุวรรณเพชร
ปี พ.ศ. ๒๔๓๖ หลวงพ่อรุ่ง ท่านมีอายุได้ ๑๑ ปี โยมบิดานำท่านไปฝากตัวเป็นศิษย์พระปลัดบุญ วัดชีประเสริฐ เพื่อให้ได้รับการศึกษาเล่าเรียน ท่านก็ตั้งหน้าศึกษา ด้วยความอุตสาหะวิริยะ จนสามารถอ่านเขียนได้ คล่องทั้งหนังสือไทยและหนังสือใหญ่ (หนังสือขอม)
ปี พ.ศ. ๒๔๔๐ หลวงพ่อรุ่ง มีอายุได้ ๑๕ ปี ท่านจึงกลับมาช่วยโยมบิดาและโยมมารดาประกอบอาชีพทำสวนตาล
ปี พ.ศ. ๒๔๔๘ หลวงพ่อรุ่ง ท่านมีอายุครบ ๒๒ ปีเศษ ท่านจึงได้อุปสมบท ณ พัทธสีมาวัดปากทะเลนอก ตำบลปากทะเล อำเภอบ้านแหลม จังวหัดเพชรบุรี ได้รับฉายาว่า "ปุญญกร" โดยมี
หลวงพ่อดิษฐ วัดปากทะเลนอก เป็นพระอุปัชฌาย์
เจ้าอธิการกรานต์ วัดโพธิ์พระใน เป็นพระกรรมวาจาจารย์
หลังจากอุปสมบทแล้ว ท่านได้อยู่จำพรรษาที่วัดปากทะเลนอกเรื่อยมา เพื่อศึกษาพระธรรมวินัย และวิชาอาคมต่างๆ กับพระอุปัชฌาย์ ซึ่งหลวงพ่อดิษฐท่านมีความเชี่ยวชาญในวิทยาคม โดยเฉพาะเรื่องเมตตามหานิยมนั้นโด่งดังมาก
หลังจากที่หลวงพ่อรุ่งสำเร็จวิชาต่างๆแล้ว ท่านจึงเดินทางไปศึกษาวิทยาการต่างๆ กับหลวงพ่อกรานต์ วัดโพธิ์พระใน โดยศึกษาวิชาเรื่อยมา
นอกจากนี้ท่านยังศึกษาวิทยาคมพระอาจารย์สุ่ม ซึ่งเป็นพระภิกษุสูงอายุที่อยู่จำพรรษาที่วัดโพธิ์พระในด้วย โดยพระอาจารย์สุ่ม ท่านนี้นอกจากจะมีความชำนาญ ทางด้านการแพทย์ แผนโบราณแล้ว ยังมีวิทยาคมสูงมากอีกด้วย
ต่อมาเจ้าอธิการกรานต์ ได้ลาออกจากการเป็นเจ้าอาวาส ชาวบ้านและคณะศิษย์จึงนิมนต์เจ้าอธิการทิพย์ ซึ่งมีอาวุโสและพรรษาสูงสุดในวัดขึ้นเป็นสมภารรูปต่อมา
ปี พ.ศ. ๒๔๖๐ เจ้าอธิการทิพย์ได้มรณภาพลง ชาวบ้านพร้อมทั้งคณะกรรมการวัดจึงพร้อมใจกันนิมนต์หลวงพ่อรุ่งขึ้นเป็นเจ้าอาวาสทดแทนตำแหน่งที่ว่างลง และในปีเดียวกันนี้เอง ท่านก็ได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าคณะหมวด (เจ้าคณะตำบล) อีกตำแหน่งหนึ่งด้วย
วัดโพธิ์พระใน เป็นวัดราษฏร์ สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย วัดตั้งอยู่เลขที่ ๕ หมู่ที่ ๕ ตำบลโพธิ์พระ อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบุรี มีที่ตั้งวัด ๑๓ ไร่ ๓ งาน ๑๒ ตารางวา ตั้งเป็นวัดเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๖๐
ภายในวัดประกอบไปด้วยพระอุโบสถ กว้าง ๕ เมตร ยาว ๑๒.๓๐ เมตร เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็กทรงไทยประยุกต์ ศาลาการเปรียญสร้างเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๙๑ เป็นอาคารไม้ทรงไทยไม้สักทองทั้งหลัง หอสวดมนต์ สร้างเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๖๐ วัดได้รับวิสุงคามสีมาเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๘๗ มีรายนามเจ้าอาวาสที่จดบันทึกไว้ดังนี้
๑. พระอธิการสงค์
๒. พระอธิการโต
๓. พระอธิการกรานต์
๔. พระอธิการทิพย์
๕. พระครูปุญญกรวิโรจน์ (หลวงพ่อรุ่ง) พ.ศ. ๒๔๖๐ - ๒๔๘๘
๖. พระครูโพธิวรคุณ (หลวงพ่อพลัด) พ.ศ. ๒๔๘๘ - ๒๕๔๑
๗. พระครูบวรโพธิวิโรจน์ (หลวงพ่อสมจิต) พ.ศ. ๒๕๔๑ - ปัจจุบัน
หลังจากที่หลวงพ่อรุ่งได้ขึ้นเป็นเจ้าอาวาส ท่านได้ดำเนินการ ก่อสร้างซ่อมแซมถาวรวัตถุที่เกือบสิ้นสถาพให้กลับคืนยังประโยชน์ดังเดิม
พร้อมกับจัดการงานอันเป็นสิ่งสาธารณูปการต่างๆ อาทิ สร้างกำแพงล้อมรอบพระอาราม ขุดสระน้ำกักเก็บไว้เป็นสาธารณะ สร้างโรงเรียนประชาบาล สร้างศาลาการเปรียญ ตั้งโรงเรียนนักธรรมศึกษาปริยัติธรรม สร้างหอพระไตรปิฎก ฯลฯ จนวัดเจริญรุ่งเรืองขึ้นเป็นอันมาก
ปี พ.ศ. ๒๔๗๕ ท่านได้รับการแต่งตั้งให้เป็นพระอุปัชฌาย์
ปี พ.ศ. ๒๔๘๑ ท่านได้เลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระครูชั้นประทวน นามว่า พระครูรุ่ง
ปี พ.ศ. ๒๔๘๔ ท่านได้เลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตร ชั้นตรี ที่ "พระครูปุญญกรวิโรจน์"
ปี พ.ศ. ๒๔๘๖ หลวงพ่อรุ่งได้เริ่มสร้างศาลาการเปรียญขึ้นอีก ๑ หลัง กว้าง ๑๑ เมตร ยาว ๒๓ เมตร (แต่ไม่ทันเสร็จก็มรณภาพเสียก่อน)
หลวงพ่อรุ่ง ท่านมีโรคประจำตัวมาตั้งแต่เด็กคือโรคลม โดยเป็นมานานแล้ว แต่ก็มีอาการเป็นบ้างหายบ้างสลับกันอยู่อย่างนี้
ครั้งถึงปี พ.ศ. ๒๔๘๘ โรคประจำตัว เริ่มทำพิษบ่อยครั้งขึ้นถึงวันที่ ๒๘ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๘ ก็มีอาการหนักจนท่านลุกไม่ไหว บรรดาศิษย์พยายามหาแพทย์มารักษาพยาบาล จนสุดกำลังแต่ไม่สามารถทำให้โรคระงับลงได้
หลวงพ่อรุ่งปกครองวัดเรื่อยมาจนถึงแก่มรณภาพลงด้วยโรคชรา เมื่อวันที่ ๔ กันยายน พ.ศ. ๒๔๘๘ เวลา ๐๑.๑๕ น. ด้วยอาการสงบ นับรวมสิริอายุได้ ๖๓ ปี ๔๑ พรรษา.
วัตถุมงคลของหลวงพ่อรุ่ง วัดโพธิ์พระใน
เหรียญหลวงพ่อรุ่ง วัดโพธิ์พระใน รุ่นแรก
สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๙๐ โดยหลวงพ่อพลัด เพื่อแจกในงานฌาปนกิจศพของหลวงพ่อรุ่ง ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มรูปกรงจักร ๑๖ แฉก แบบมีหูในตัว ซึ่งเหรียญนี้แม้ไม่ทันหลวงพ่อแต่ก็ได้พระเกจิชื่อดังในสมัยนั้นร่วมกันปลุกเสกอย่างมากมาย เหรียญมีการสร้างด้วยเนื้อเงิน และเนื้อทองแดงเพียงเท่านั้น จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้
เหรียญหลวงพ่อรุ่ง วัดโพธิ์พระใน เพชรบุรี รุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๔๙๐ เนื้อเงิน |
เหรียญหลวงพ่อรุ่ง วัดโพธิ์พระใน เพชรบุรี รุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๔๙๐ เนื้อเงิน ของร้านศาลาวัด |
เหรียญหลวงพ่อรุ่ง วัดโพธิ์พระใน เพชรบุรี รุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๔๙๐ เนื้อทองแดง |
ด้านหน้า จำลองเป็นรูปหลวงพ่อรุ่งครึ่งองค์ห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฏิ ใต้รูปหลวงพ่อมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "พระครูปุญญกรวิโรจน์"
ด้านหลัง เป็นอักขระยันต์ขอมคาถาพระเจ้าห้าพระองค์ อ่านได้ว่า "นะ โม พุท ธา ยะ" ใต้อักขระยันต์มีตัวเลขอารบิกเขียนว่า "2490" ซึ่งคือปีที่สร้างเหรียญ
เหรียญหลวงพ่อรุ่ง วัดโพธิ์พระใน รุ่นสอง
สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๑๓ โดยหลวงพ่อพลัด เพื่อให้กับผู้ที่บริจาคทรัพย์ให้กับทางวัด ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มรูปกรงจักร ๑๖ แฉก แบบมีหูในตัว ซึ่งเหรียญนี้แม้ไม่ทันหลวงพ่อแต่ก็ได้พระเกจิชื่อดังในสมัยนั้นร่วมกันปลุกเสกอย่างมากมาย เหรียญมีการสร้างด้วยเนื้อทองแดงเพียงเท่านั้น จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้
เหรียญหลวงพ่อรุ่ง วัดโพธิ์พระใน เพชรบุรี รุ่นสอง ปี พ.ศ. ๒๕๑๓ เนื้อทองแดง |
ด้านหลัง เป็นอักขระยันต์ขอมคาถาพระเจ้าห้าพระองค์ อ่านได้ว่า "นะ โม พุท ธา ยะ" ใต้อักขระยันต์มีตัวเลขไทยเขียนว่า "๒๕๑๓" ซึ่งคือปีที่สร้างเหรียญ
เหรียญหลวงพ่อรุ่ง วัดโพธิ์พระใน รุ่น ๓
สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๓๙ โดยหลวงพ่อพลัด เพื่อให้กับผู้ที่บริจาคทรัพย์สร้างมลฑปจตุรมุขของทางวัด ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มรูปกรงจักร ๑๖ แฉก แบบมีหูในตัว ซึ่งเหรียญนี้แม้ไม่ทันหลวงพ่อแต่ก็ได้พระเกจิชื่อดังในสมัยนั้นร่วมกันปลุกเสกอย่างมากมาย เหรียญมีการสร้างด้วยเนื้อเงินลงยา เนื้อทองแดงเพียงเท่านั้น จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้
เหรียญหลวงพ่อรุ่ง วัดโพธิ์พระใน เพชรบุรี รุ่น ๓ ปี พ.ศ. ๒๕๓๙ เนื้อเงินลงยา |
เหรียญหลวงพ่อรุ่ง วัดโพธิ์พระใน เพชรบุรี รุ่น ๓ ปี พ.ศ. ๒๕๓๙ เนื้อทองแดงกระไหล่ทอง |
ด้านหลัง เป็นอักขระยันต์ขอมคาถาพระเจ้าห้าพระองค์ อ่านได้ว่า "นะ โม พุท ธา ยะ" ใต้อักขระยันต์มีตัวเลขไทยเขียนว่า "๒๕๓๙" ซึ่งคือปีที่สร้างเหรียญ
โดย : สารานุกรมพระเกจิแห่งแดนสยาม
บทความที่เกี่ยวข้อง
***-[เป็นกำลังใจและสนับสนุนให้เราเขียนบทความดีๆ ด้วยการกดดูโฆษณาด้านล่างนะคะ]-***
ไม่มีความคิดเห็น