ประวัติและวัตถุมงคลพระครูวิธานวชิรคุณ หรือหลวงพ่อม่วง วัดหนองกาทอง พระเกจิชื่้อดังของบ้านลาด เพชรบุรี
หลวงพ่อม่วง วัดหนองกาทอง เพชรบุรี |
หลวงพ่อม่วง วัดหนองกาทอง หรือ พระครูวิธานวชิรคุณ(ม่วง อินทโชโต) วัดหนองกาทอง ตำบลโรงเข้ อำเภอบ้านลาด จังหวัดเพชรบุรี ท่านมีนามเดิมว่า ม่วง อยู่พรหมชาติ พื้นเพท่านเป็นชาวบ้านหนองกระปุก อำเภอบ้านลาด จังหวัดเพชรบุรี เกิดเมื่่อวันจันทร์ที่ ๑๕ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๓๐ แต่ไม่ปรากฏชื่ีอโยมบิดาและโยมมารดาของท่าน
หลวงพ่อม่วง ท่านเป็นพระเถระที่พูดน้อย ไม่โอ้อวด แต่ของขลังที่ท่านแจกศิษย์มีอภินิหารเป็นที่เลื่องลือเชื่อถือได้ ตามคำบอกเล่าของคนเฒ่าคนแก่เล่าว่า ท่านเดินธุดงค์มาปักกลด ณ บริเวณวัดหนองกาทอง ซึ่งตอนนั้นเป็นพื้นที่รกล้างไม่มีสำนักสงฆ์ไว้ให้ชาวบ้านประกอบพิธีทางศาสนา
ชาวบ้านในพื้นที่ต้องเดินทางไกลเพื่อไปประกอบพิธีทางศาสนา เมื่อหลวงพ่อม่วงเดินทางผ่านมา ชาวบ้านจึงเกิดความเลื่อมใส จึงพร้อมใจกันนิมนต์ให้อยู่ที่หมู่บ้าน เพื่อสร้างวัด โดยเริ่มแรกเป็นเพียงสำนักสงฆ์
วัดหนองกาทอง เป็นวัดราษฎร์สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย ตั้งอยู่ในตำบลโรงเข้ อำเภอบ้านลาด จังหวัดเพชรบุรี ไม่ทราบแน่ชัดว่าสร้างเมื่อใด สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติระบุว่าตั้งวัดเมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๕ ตามบัญชีวัดแผนกศึกษาธิการ อำเภอบ้านลาด
จากหลักฐานที่เหลืออยู่ปรากฏว่าเป็นวัดเก่าแก่ที่ได้รับการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงมาโดยตลอด มีตำนานที่เกี่ยวข้องหรือความเชื่อเพราะในสมัยก่อนมีกาอยู่ในหนองน้ำด้านหลังวัดเป็นจำนวนมาก ในจำนวนนี้มีกาตัวหนึ่งมีสีขาวออกเหลืองปะป่นอยู่ด้วย ชาวบ้านจึงตั้งชื่อวัดว่า วัดหนองกาทอง
ภายในวัดมีพระประธานที่อัญเชิญมาจากวัดร้างซึ่ง อยู่ห่างจากวัดไปไม่ไกลเท่าใดนัก และปัจจุบันวัดร้างก็ไม่ได้เหลือร่องรอยให้ปรากฏให้เห็นแล้ว กลายเป็นพื้นที่โล่งเตียน
พระพุทธรูปองค์นี้เรียกกันว่าหลวงพ่อในวิหาร หรือหลวงพ่อสุวรรณขีด เพราะเมื่อเอาตะกั่วไปขีดท่าน ตะกั่วจะเป็นสีทอง เป็นพระพุทธรูปที่มีความศักดิ์สิทธิ์มาก มีผู้ประสบพบอภินิหารกันอยู่เนืองๆ วัดได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๗๑
หลังจากที่หลวงพ่อม่วงได้อยู่จำพรรษาที่วัด ท่านได้สร้างถาวรวัตถุต่างๆภายในวัด และสร้างเสนาสนะต่างๆ จนวัดเจริญรุ่งเรืองขึ้นตามลำดับ
ปี พ.ศ. ๒๔๖๖ หลวงพ่อม่วง ท่านได้เล็งเห็นคุณค่าของการศึกษาของบุตร-ธิดาของชาวบ้านในพื้นที่ ท่านจึงได้สร้างโรงเรียน โดยอาศัยศาลาการเปรียญของวัดเป็นที่ศึกษาเล่าเรียน
โดยเปิดสอนครั้งแรกในระดับประถมศึกษา เมื่อวันที่ ๑ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๖๖ และต่อมาทางราชการได้จัดสรรงบประมาณสร้างสิ่งก่อสร้างต่างๆ จนเป็นโรงเรียนวัดหนองกาทอง (ม่วงนิรมิต) ดังในปัจจุบัน
ปี พ.ศ. ๒๔๗๑ หลังจากที่สร้างพระอุโบสถเสร็จแล้ว หลวงพ่อม่วง ท่านจึงได้ขอพระราชทานวิสุงคามสีมา เพื่อให้เป็นวัดที่สมบูรณ์ดังในปัจจุบัน
ปี พ.ศ. ๒๔๘๒ ท่านได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเจ้าคณะหมวด หรือ เจ้าคณะตำบล และได้รับการแต่งตั้งให้เป็นพระอุปัชฌาย์อีกด้วย
ปี พ.ศ. ๒๔๙๖ ด้วยคุณงามความดีของหลวงพ่อที่พัฒนาวัดจนเจริญรุ่งเรือง ท่านได้รับการแต่งตั้งให้เป็นพระครูชั้นสัญญาบัตรชั้นตรี ที่ พระครูวิธานวชิรคุณ
จากการที่ได้สอบถามผู้คนหลายๆ ปาก ต่างก็กล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่า หลวงพ่อม่วงนั้นท่านเป็นพระจริงๆ เป็นพระแท้ มีวัตรปฎิบัติเคร่งครัด เพื่อบรรลุมรรคผลอย่างแท้จริง ท่านก็ได้ร่ำเรียนมาจากหลายสำนัก และตัวท่านก็เป็นศิษย์ที่หลวงพ่อกุน วัดพระนอน รักมาก
ครั้งที่ท่านไปเยี่ยมหลวงพ่อกุน ก่อนที่จะมรณภาพไม่นาน ท่านให้ไปหาสมุดมาเพื่อคัดลอกตำรับตำราต่างๆ แต่ท่านก็เฉยเสียเพราะสมัยนั้นกระดาษสมุดหาได้ยาก จนกระทั่งหลวงพ่อกุนต้องให้พระปลัดเทพ (พระครูพิศาลสมณกิจ) ไปจัดหาสมุดมาทำการจดบันทึกวิชาอาคม มอบให้กับหลวงพ่อม่วงไปศึกษา
มีเรื่องเล่าขานถึงเหรียญปั๊มรูปเหมือนรุ่นแรกและเป็นเหรียญรุ่นเดียวที่ทันหลวงพ่อม่วงปลุกเสก เล่ากันว่า เมื่อครั้งที่หลวงพ่อม่วงทำการปลุกเสกเหรียญปั๊มรูปเหมือนนี้ มีชาวบ้านได้ไปร่วมในพิธีขณะที่หลวงพ่อปลุกเสกเหรียญในอุโบสถนั้น ได้เห็นแสงสีทองปรากฏจากร่างของหลวงพ่อสว่างไปทั่วอุโบสถ และตัวของหลวงพ่อค่อยๆ ลอยขึ้น ท่ามกลางสายตาของผู้ร่วมในพิธีปลุกเสก
ส่วนในเรื่องของพุทธคุณแห่งเหรียญปั๊มรูปเหมือนหลวงพ่อม่วงรุ่นแรกนี้ มีเรื่องเล่าอีกเรื่องหนึ่ง มีนักเลงท้องถิ่นอำเภอบ้านลาด บ้างว่าเป็นมือปืน ถูกคนร้ายดักยิงแต่ยิงไม่เข้า คนร้ายจึงได้ใช้ขวานที่พกติดตัวมาด้วย จามไปที่ลำตัวของนักเลงท่านั้น แต่ก็ไม่ระคายผิว
จนคนร้ายตัดใจใช้ขวานจามไปที่ศีรษะของนักเลงคนนั้นอย่างไม่ยั้ง จนนักเลงท่านนั้นเสียชีวิต แต่ที่แปลกประหลาดหามีเลือดออกแม้แต่หยดเดียว แต่กะโหลกศีรษะแตกละเอียดโดยที่ผิวหนังไม่ระคานระเคืองแต่อย่างใด
และยังมีกล่าวถึงบางเสี้ยวของประวัติหลวงพ่อม่วงไว้ว่า ท่านเป็นศิษย์ของหลวงพ่อกุน วัดพระนอน ที่ได้รับการถ่ายทอดวิชาตะกรุดไมยราพสะกดทัพและวิชาคงกระพันชาตรีต่างๆ
หลวงพ่อม่วง ปกครองวัดเรื่อยมาจนถึงแก่มรณภาพบนธรรมาสน์ภายหลังเทศน์จบแล้ว เมื่อวันที่ ๑๗ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๐๙ นับรวมสิริอายุได้ ๗๙ ปี ๕๘ พรรษา.
วัตถุมงคลของหลวงพ่อม่วง วัดหนองกาทอง
เหรียญหลวงพ่อม่วง วัดหนองกาทอง รุ่นแรก
สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๙๗ เพื่อแจกในงานฉลองสมณศักดิ์ของหลวงพ่อ และแจกให้กับผู้ที่บริจาคทรัพย์ให้กับทางวัด ลักษณะเป็นเหรียญรูปไข่แบบมีหูในตัว เหรียญมีการสร้างด้วยเนื้อทองแดงเพียงชนิดเดียวเท่านั้น จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้ แต่คาดกันว่าประมาณ ๒,๐๐๐ เหรียญ
เหรียญหลวงพ่อม่วง วัดหนองกาทอง เพชรบุรี รุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๔๙๗ เนื้อทองแดงกระไหล่ทอง ของคุณต้า เพชรบุรี |
เหรียญหลวงพ่อม่วง วัดหนองกาทอง เพชรบุรี รุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๔๙๗ เนื้อทองแดงผิวไฟ ของคุณสุรเดช สุขสำราญ |
เหรียญหลวงพ่อม่วง วัดหนองกาทอง เพชรบุรี รุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๔๙๗ เนื้อทองแดงผิวไฟ ของคุณสุรเดช สุขสำราญ |
เหรียญหลวงพ่อม่วง วัดหนองกาทอง เพชรบุรี รุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๔๙๗ เนื้อทองแดงผิวไฟ |
ด้านหน้า จำลองเป็นรูปหลวงพ่อม่วงครึ่งองค์ห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฏิ ขอบเหรียญมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "พระครูวิธานวชิรคุณ วัดหนองกาทอง อ.บ้านลาด จ.เพชรบุรี" ใต้รูปหลวงพ่อมีอักขระเลขไทยเขียนว่า "๒๔๙๗" ซึ่งคือปีที่สร้างเหรียญ
ด้านหลัง เป็นอักขระยันต์ ๖ แถว
เหรียญหลวงพ่อม่วง วัดหนองกาทอง รุ่นสอง
สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๑๑ เพื่อแจกในงานพระราชทานเพลิงศพของหลวงพ่อ ลักษณะเป็นเหรียญรูปไข่แบบมีหูในตัว เหรียญมีการสร้างด้วยเนื้อเงิน เนื้อทองเหลือง เนื้ออัลปาก้า และเนื้อทองแดง จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้
เหรียญหลวงพ่อม่วง วัดหนองกาทอง เพชรบุรี รุ่นสอง ปี พ.ศ. ๒๕๑๑ เนื้อเงิน |
เหรียญหลวงพ่อม่วง วัดหนองกาทอง เพชรบุรี รุ่นสอง ปี พ.ศ. ๒๕๑๑ เนื้อทองแดงกระไหล่ทอง |
ด้านหน้า จำลองเป็นรูปหลวงพ่อม่วงครึ่งองค์ห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฏิ ขอบเหรียญมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "พระครูวิธานวชิรคุณ วัดหนองกาทอง อ.บ้านลาด จ.เพชรบุรี"
ด้านหลัง เป็นอักขระยันต์ ๖ แถว ใต้อักขระยันต์มีอักขระเลขไทยเขียนว่า "๒๕๑๑" ซึ่งคือปีที่สร้างเหรียญ
โดย : สารานุกรมพระเกจิแห่งแดนสยาม
บทความที่เกี่ยวข้อง
***-[เป็นกำลังใจและสนับสนุนให้เราเขียนบทความดีๆ ด้วยการกดดูโฆษณาด้านล่างนะคะ]-***
ไม่มีความคิดเห็น