ประวัติและวัตถุมงคลหลวงพ่อริ้ว วัดตลาดเกรียบ อยุธยา พระเกจิสรีระไม่ไหม้ไฟ
หลวงพ่อริ้ว วัดตลาดเกรียบ อยุธยา |
หลวงพ่อริ้ว วัดตลาดเกรียบ หรือ พระครูอุดมศีลวัตร์ อดีตเจ้าอาวาสวัดตลาดเกรียบ ตำบลตลาดเกรียบ อำเภอบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ท่านเกิดเมื่อวันพุธ เดือน ๗ ปีชวด พ.ศ. ๒๔๔๓ ที่ตำบลตลาดเกรียบ อำเภอบางประอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ท่านมีนามเดิมว่า ริ้ว ภาคโกสุม โยมบิดาชื่อนายนาค ภาคโกสุม โยมมารดาชื่อนางเลื่อม ภาคโกสุม มีพี่น้องร่วมสายโลหิตเดียวกัน ๔ คน
๑. นายล้วน ภาคโกสุม
๒. พระครูอุดมศีลวัตร์ (หลวงพ่อริ้ว)
๓. นายเรื่อง ภาคโกสุม
๔. นางแฉล้ม ภาคลำเจียก
โดยครอบครัวท่านประกอบอาชีพค้าขายทั่วไป บิดามารดาของท่านเป็นคนไทยเชื้อสายมอญ แต่เดิมตั้งรกรากอยู่ที่ ตำบลสวนพริกไทย อำเภอเมือง จังหวัดปทุมธานี ต่อมาได้อพยพย้ายถิ่นฐานมาอยู่ที่ ตำบลตลาดเกรียบ อำเภอบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
หลวงพ่อริ้วในวัยหนุ่ม ท่านเป็นคนที่พูดจริง ทำจริง ตรงไปตรงมา ชอบใช้ชีวิตแบบนักเลง แต่มีคุณธรรม ไม่เคยข่มเหงรังแกใครก่อน แต่ถ้าใครมาข่มเหงรังแกท่านอย่างไม่เป็นธรรม ท่านจะสู้อย่างยิบตาเลยทีเดียว
หลวงพ่อริ้ว วัดตลาดเกรียบ อยุธยา |
ปี พ.ศ. ๒๔๗๒ หลวงพ่อริ้ว ท่านมีอายุได้ ๒๙ ปี ท่านเกิดเบื่อหน่ายทางโลก จึงได้รับการอุปสมบท ณ พัทธสีมาวัดตลาดเกรียบ อำเภอบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ได้รับฉายาว่า "สุทธิญาโย" แปลว่า "ถูกต้องอย่างแท้จริง" โดยมี
พระญาณไตรโลก (ฉาย) เจ้าอาวาสวัดพนัญเชิงวรวิหาร เป็นพระอุปัชฌาย์
หลังจากอุปสมบทแล้ว ท่านได้อยู่จำพรรษาที่วัดตลาดเกรียบเรื่อยมา โดยตั้งสัจจะว่าจะครองเพศบรรพชิตตลอดไปจนกว่าชีวิตจะหาไม่
หลังจากนั้น ๒-๓ พรรษา ท่านได้ฝากตัวศึกษาสมถะวิปัสสนากรรมฐานและวิชาไสยเวทกับ ๒ พระคณาจารย์ชื่อดังในยุคนั้น คือ หลวงปู่นาค วัดระฆังโฆสิตาราม บางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร และหลวงพ่อจง วัดหน้าต่างนอก ตำบลหน้าไม้ อำเภอบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
ปี พ.ศ. ๒๔๗๒ เจ้าอธิการวัดตลาดเกรียบได้มรณภาพลง หลวงพ่อริ้วจึงรับผู้รักษาการเจ้าอาวาสวัดตลาดเกรียบ
ปี พ.ศ. ๒๔๗๓ หลังจากที่รักษาการเจ้าอาวาสได้ ๑ ปี ท่านจึงได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเจ้าอาวาสวัดตลาดเกรียบ
หลวงพ่อริ้ว วัดตลาดเกรียบ อยุธยา |
หลังจากที่หลวงพ่อริ้วได้เป็นเจ้าอาวาสวัดตลาดเกรียบ ท่านได้พัฒนาวัดอย่างสุดความสามารถ ทั้งการสร้างถาวรวัตถุต่างๆ รวมถึงการสร้างเสนาสนะต่างๆ นอกจากนี้ท่านยังได้พัฒนาจิตใจของชาวบ้านตลาดเกรียบให้อยู่ในศีลในธรรม จนวัดเจริญรุ่งเรืองสืบทอดมาถึงปัจจุบัน
ปี พ.ศ. ๒๔๗๔ ได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าคณะตำบลตลาดเกรียบ
ปี พ.ศ. ๒๔๙๐ ได้รับแต่งตั้งเป็นพระอุปัชฌาย์
ปี พ.ศ. ๒๕๐๑ ด้วยคุณงามความดีของท่าน จึงได้รับสมณศักดิ์ เป็นพระครูอุดมศีลวัตร์
ปี พ.ศ. ๒๕๑๓ ท่านได้จัดสร้างพระอุโบสถวัดตลาดเกรียบจนแล้วเสร็จ และจัดงานฉลองเมื่อวันที่ ๑๓ เมษายน พ.ศ. ๒๕๑๕
หลวงพ่อริ้ว ท่านเป็นพระรักสันโดษ มีความเป็นอยู่อย่างเรียบง่าย ชอบเจริญสมถะวิปัสสนากรรมฐานอยู่ตามป่าช้าเป็นประจำ ท่านจึงเป็นพระเถระที่ทรงอภิญญา สามารถแสดงอิทธิฤทธิ์ต่างๆ ได้ มีวาจาสิทธิ์ ให้พรใครแล้วได้ดีทุกคน
นอกจากนั้นท่านยังสำเร็จวิชานะปัดตลอด เวลาท่านจะลงกระหม่อมให้ลูกศิษย์ ท่านจะให้ลูกศิษย์นั่งบนแผ่นใบตอง เมื่อท่านใช้นิ้วมือจารอักขระตัว "นะ" บนศีรษะของลูกศิษย์แล้วเป่ามนตร์ลงไป เมื่อลูกศิษย์ลุกขึ้นมา อักขระตัว "นะ" จะไปปรากฏอยู่บนแผ่นใบตองอย่างน่าอัศจรรย์
ในด้านความเชี่ยวชาญทางด้านไสยเวทของหลวงพ่อริ้วนั้น แรกเริ่มนั้นท่านได้สักยันต์ให้กับลูกศิษย์ลูกหา จนมีชื่อเสียงโด่งดังมาก โดยเฉพาะด้านคงกระพันชาตรีและมหาอุด แต่มีลูกศิษย์บางคนที่ไปสักยันต์กับท่านต่อมาได้กลายเป็นโจรผู้ร้ายปล้นฆ่าชาวบ้าน
หลวงพ่อริ้ว วัดตลาดเกรียบ อยุธยา |
เจ้าหน้าที่ตำรวจไปจับกุมก็เกิดการต่อสู้ไล่ยิงกันขึ้น แต่กระสุนไม่สามารถระคายผิวหนังของโจรผู้ร้ายได้เลย ทางการจึงมาขอร้องให้หลวงพ่อริ้วเลิกสักยันต์
ตั้งแต่นั้นมาท่านจึงเลิกสักยันต์ และเริ่มมีการสร้างเครื่องรางของขลังขึ้นมาแทน เช่น ตะกรุด ผ้าประเจียด เหรียญ พระสมเด็จ พระนางพญา ภาพถ่ายอัดกระจก ผ้ายันต์ ฯลฯ
หลวงพ่อริ้ว ปกครองวัดเรื่อยมาจนถึงถึงแก่มรณภาพลงด้วยด้วยโรคปอดพิการ เมื่อวันที่ ๑๕ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๑๕ นับรวมสิริอายุได้ ๗๒ ปี ๔๓ พรรษา.
ทางวัดได้เก็บร่างของท่านไว้ ๑ ปี และได้ขอพระราชทานเพลิงศพ เมื่อวันที่ ๓๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๑๖ ซึ่งในวันดังกล่าว ได้เกิดเหตุการณ์อันน่าอัศจรรย์ขึ้นคือ ร่างของท่านเผาอย่างไรก็ไม่ไหม้ แม้เวลาจะผ่านพ้นไปถึง ๖ ชั่วโมงแล้วก็ตาม
จนต้องให้พระสงฆ์รูปหนึ่งของวัดที่มีพรรษามากที่สุดมาจุดธูปเทียนบอกกล่าวขอขมาท่าน สรีระของท่านจึงได้ไหม้ไฟไปหมด นับเป็นเหตุการณ์ที่แปลกประหลาดมาก.
วัตถุมงคลของหลวงพ่อริ้ว วัดตลาดเกรียบ
เหรียญหลวงพ่อริ้ว วัดตลาดเกรียบ รุ่นแรก
สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๐๖ เพื่อแจกให้กับลูกศิษย์ลูกหาของหลวงพ่อ ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มรูปเสมาแบบมีหูในตัว มีการสร้างด้วยเนื้อทองแดงกะไหล่ทอง และทองแดงกะไหล่เงิน มี ๒ พิมพ์ โดยสังเกตที่คำว่า "วัดตลาดเกรียบ" ตรงด้านหน้าของเหรียญ พิมพ์แรกตัว "ด" ของคำว่าตลาดเขียนผิดเป็น "ค" ส่วนพิมพ์ที่ ๒ ตัว "ด" เขียนถูกต้อง จำนวนเหรียญที่จัดสร้างทั้งหมด ๕๐๐ เหรียญ
เหรียญหลวงพ่อริ้ว วัดตลาดเกรียบ รุ่นแรก (ด.เด็ก)ปี พ.ศ. ๒๕๐๖ เนื้อทองแดงกระไหล่ทอง |
เหรียญหลวงพ่อริ้ว วัดตลาดเกรียบ รุ่นแรก(ค.ควาย) ปี พ.ศ. ๒๕๐๖ เนื้อทองแดงกระไหล่ทอง |
ด้านหน้า
เป็นรูปจำลองของหลวงพ่อริ้วครึ่งองค์ห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฏิ มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "หลวงพ่อริ้ว วัดตลาดเกรียบ"
ด้านหลัง เป็นยันต์ตัวอุณาโลม หางชี้ขึ้น ๕ ตัว อยู่บนเหนือยันต์ตัวนะ ๑ ตัว ใต้ยันต์มีเลขไทยเขียนว่า "๒๕๐๖" ซึ่งคือปีที่สร้างเหรียญ
เหรียญหลวงพ่อริ้ว วัดตลาดเกรียบ รุ่นสอง
สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๑๕ เพื่อแจกให้กับลูกศิษย์ลูกหาของหลวงพ่อ ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มรูปเสมาแบบมีหูในตัว มีการสร้างด้วยเนื้อเงินจำนวน ๕๐ เหรียญ และเนื้อทองแดงจำนวน ๓,๐๐๐ เหรียญ
เหรียญหลวงพ่อริ้ว วัดตลาดเกรียบ รุ่น ๒ ปี พ.ศ. ๒๕๑๕ เนื้อเงิน |
เหรียญหลวงพ่อริ้ว วัดตลาดเกรียบ รุ่น ๒ ปี พ.ศ. ๒๕๑๕ เนื้อทองแดง |
ด้านหน้า
เป็นรูปจำลองของหลวงพ่อริ้วเต็มองค์ห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฏิบนตั่ง เหนือรูปหลวงพ่อมีอักขระยันต์อ่านได้ว่า "พุท โธ" ใต้รูปหลวงพ่อมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "พระครูอุดมศีลวัตร (ริ้ว)"
ด้านหลัง มีอักขระยันต์อ่านได้ว่า "มะ อะ อุ" ใต้อักขระยันต์มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "๒๕๑๕ วัดตลาดเกรียบ อยุธยา"
สมเด็จขี่สิงห์หลวงพ่อริ้ว วัดตลาดเกรียบ
สร้างขึ้นก่อนปี พ.ศ. ๒๕๑๕ เพื่อแจกให้กับลูกศิษย์ลูกหาของหลวงพ่อ ลักษณะเป็นพระพิมพ์สมเด็จสี่เหลี่ยม โดยมีมวลสารจากผงวิเศษที่หลวงพ่อริ้วลบผงเอง รวมกับผงวิเศษต่างๆที่ท่านได้รวบรวมไว้ จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้สมเด็จฐานสิงห์หลวงพ่อริ้ว วัดตลาดเกรียบ อยุธยา |
ด้านหน้า เป็นรูปจำลองพระพุทธประทับนั่งบนฐานเขียง ๑ ชั้น ใต้ฐานเขียงมีสิงห์ ข้างองค์พระมีตัวอุณาโลม ครอบแก้วสวยงาม
มีเรื่องเล่ากันว่า ในการปลุกเสกเหรียญรุ่นแรกของหลวงพ่อริ้ว
มีวิธีการที่ค่อนข้างพิสดาร
กล่าวคือท่านจะเสกน้ำมนต์ที่ใส่ไว้ในบาตรจนเดือดพล่าน
แล้วจึงนำเหรียญดังกล่าวใส่ลงไปในบาตร
เสกจนกระทั่งเหรียญวิ่งเกรียวกราวไปมาในบาตร จึงเสร็จพิธี
เหรียญหลวงพ่อริ้วที่ทันท่านมีเพียงแค่ ๒ รุ่นเท่านั้น คือ เหรียญรุ่นแรก ปี พ.ศ.๒๕๐๖ และเหรียญรุ่น ๒ ปี พ.ศ. ๒๕๑๕ ซึ่งได้รับความนิยมเป็นอย่างสูง
โดยเฉพาะคนในพื้นที่นิยมกันมาก เนื่องจากมีพุทธคุณในทุกๆด้าน
โดยเฉพาะด้านคงกระพันชาตรี นั้นเด่นชัดที่สุด
หนังเหนียวชนิดแมลงวันไม่ได้กินเลือดเลยทีเดียว
ในด้านประสบการณ์อื่นๆ เคยมีพกพาเหรียญหลวงพ่อริ้วติดตัวไป
แล้วไปถูกยิงจนกระเด็นตกน้ำบ้าง ตกมอเตอร์ไซค์บ้าง
แต่กระสุนไม่ระคายผิวหนังบุคคลเหล่านั้นเลย
สามารถลุกขึ้นมาเย้ยมัจจุราชได้อย่างน่าอัศจรรย์
โดย : สารานุกรมพระเกจิแห่งแดนสยาม
บทความที่เกี่ยวข้อง
***-[เป็นกำลังใจและสนับสนุนให้เราเขียนบทความดีๆ ด้วยการกดดูโฆษณาด้านล่างนะคะ]-***
ไม่มีความคิดเห็น