ประวัติและวัตถุมงคลหลวงพ่อบุตร วัดใหญ่บางปลากด พระเกจิชื่อดังของเมืองสมุทรปราการ
หลวงพ่อบุตร วัดใหญ่บางปลากด สมุทรปราการ |
หลวงพ่อบุตร วัดใหญ่บางปลากด หรือ พระอธิการบุตร วัดใหญ่ ตำบลในคลองบางปลากด อำเภอพระสมุทรเจดีย์ จังหวัดสมุทรปราการ ท่านมีนามเดิมว่า บุตร อังคุระนาวิน พื้นเพท่านเป็นชาวสมุทรปราการแต่กำเนิด
ท่านเกิดเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๑๗ แต่ไม่ปรากฏนามโยมบิดาและโยมมารดา ในวัยเยาว์บิดาได้นำท่านไปฝากเรียนอักษรไทยในสำนัก "วัดใหญ่บางปลากด"
ปี พ.ศ. ๒๔๔๐ หลวงพ่อบุตร ท่านมีอายุครบ ๒๓ ปี หลังจากปลดประจำการแล้ว ท่านจึงเข้ารับการอุปสมบทเป็นพระภิกษุ ณ พัทธสีมาวัดใหญ่บางปลากด ตำบลในคลองบางปลากด อำเภอพระสมุทรเจดีย์ จังหวัดสมุทรปราการ ได้รับฉายาว่า "พุทธสโร" โดยมี
หลวงพ่อพิณ วัดบางหัวเสือ เป็นพระอุปัชฌาย์
หลวงพ่ออยู่ วัดบางหัวเสือ เป็นพระกรรมวาจาจารย์
หลวงพ่อเขียว (ยิ้มน้อย) วัดใหญ่บางปลากด เป็นพระอนุสาวนาจารย์
หลังจากอุปสมบทแล้ว ท่านได้อยู่จำพรรษาที่วัดใหญ่บางปลากดเรื่อยมา เพื่อศึกษาพระธรรมวินัยและวิชาอาคมต่างๆ โดยท่านศึกษาวิชาจากอาจารย์ตุ๋ย และเรียนวิชาจากสำนักวัดบางหัวเสือกับพระอุปัชฌาย์โดยมีหลวงพ่ออยู่ เป็นพระพี่เลี้ยง
หลวงพ่อบุตร วัดใหญ่บางปลากด สมุทรปราการ |
หลังจากศึกษาวิชาจนสำเร็จแล้ว ท่านยังได้เดินทางไปฝากตัวกับหลวงพ่อสิน วัดบางด้วนนอก เพื่อเรียนวิชาเขียนอักขระยันต์ การทำตะกรุด วิชาคลอดลูกง่าย และวิชาลบผงตรีนิสิงเห หลวงพ่อบุตร ท่านลบผงเก็บไว้ในโถแก้วใบใหญ่ซึ่งท่านหวงแหนมาก
นอกจากนี้ท่านยังได้เดินทางไปฝากตัวเรียนวิชากับหลวงพ่อขัน วัดนกกระจาบ อยุธยา เพื่อเรียนเคล็ดลับกรปลุกเสกพระ และเครื่องราง ตลอดจนเรียนวิชาการทำเชือกคาดใส้หนุมาน
อาจารย์หนู กล่ำแสง เล่าให้ฟังว่า สมัยนั้นหลวงพ่อขันได้มาที่วัดใหญ่บางปลากด ท่านเสกเชือกคาดฯ ให้หลวงพ่อบุตรดู โดยเสกแล้วโยนขึ้นไปที่ข้างโบสถหลังเก่า จากนั้นเชือกได้กลายเป็นงูเลื้อยไปมา
หลวงพ่อบุตร ท่านเห็นเป็นอัศจรรย์ หลังจากนั้นท่านได้ลองทำเชือกคาดบ้าง แต่ทำได้แค่ส่วนตัวเชือกแต่ทำหัวขมวดทำไม่ได้ ท่านจึงตัดสินใจพายเรือไปอยุธยา เพื่อเรียนวิชากับหลวงพ่อขัน วัดนกกระจาบ ท่านก็รับสอนให้จนสำเร็จ
ปี พ.ศ. ๒๔๕๖ หลวงพ่อเขียว ได้มรณภาพลง ทำให้ตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดใหญ่บางปลากดได้ว่างลง ชาวบ้านและคณะกรรมการวัดจึงพร้อมใจกันนิมนต์หลวงพ่อบุตร ขึ้นเป็นเจ้าอาวาสทดแทนตำแหน่งที่ว่างลง
หลวงพ่อบุตร วัดใหญ่บางปลากด สมุทรปราการ ในพิธีวัดบางด้วน ปี พ.ศ. ๒๔๙๓ |
วัดใหญ่ เป็นวัดราษฎร์ สังกัดคณะสงมหานิกาย วัดตั้งอยู่ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา หมู่ ๓ ตำบลในคลองบางปลากด อำเภอพระสมุทรเจดีย์ จังหวัดสมุทรปราการ ถือเป็นวัดเก่าแก่วัดหนึ่ง คาดว่าสร้างขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย
ได้ทราบหลักฐานทางราชการกรมศาสนาว่า ได้ขึ้นทะเบียนประกาศตั้งเป็นวัดเมื่อวันที่ ๙ ตุลาคม พ.ศ. ๒๓๐๔
แต่เดิมชาวบ้านนิยมเรียกนามว่า "วัดใหญ่บางปลากด" และมีเจ้าอาวาสปกครองวัดสืบต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน ดังนั้นเสนาสนะต่างๆ โดยเฉพาะอุโบสถ วิหาร ศาลาการเปรียญ ได้ก่อสร้างบูรณะกันมาหลายสมัย จนไม่สามารถซ่อมแซมได้ เพราะชำรุดทรุดโทรมไปตามกาลเวลา
ภายในวัดมีโรงเรียนสอนพระปริยัติธรรมแผนกธรรม โดยเปิดสอนเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๔ และแผนกบาลี เปิดสอนเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๒ นอกจากนี้ยังให้ทางราชการ สร้างโรงเรียนประชาบาลและสถานีอนามัยขึ้นในวัดด้วย วัดได้พระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อวันที่ ๑ กันยายน พ.ศ. ๒๕๒๔ วัดมีรายนามเจ้าอาวาสดังนี้
๑. หลวงปู่เขียว ยิ้มน้อย เจ้าคณะหมวดบางปลากด) ได้รับแต่งตั้งเมื่อวันที่ ๒๒ พฤษภาคม
รัตนโกสินทร์ศก ท.ร. ศก. ๑๑๙ - พ.ศ. ๒๔๕๖
๒. เจ้าอธิการบุตร พุทฺธสโร พ.ศ. ๒๔๕๖ - พ.ศ. ๒๕๐๐
๓. พระครูสุตาภิรัติ (สมหวัง แจงเจริญ) พ.ศ. ๒๕๐๔ - พ.ศ. ๒๕๓๙
๔. พระครูสมุทรวีราภรณ์ (มหาประสงค์ สุทฺธิญาโณ) พ.ศ. ๒๕๔๐ - พ.ศ. ๒๕๕๔
๕. พระมหาวิทูร ธมฺมโชโต (นามสกุล แสงอินทร์) ป.ธ. ๘ พ.ศ. ๒๕๕๕ - ปัจจุบัน
ภาพถ่ายพิธีปลุกเสกที่วัดบางด้วนนอก ปี พ.ศ. ๒๔๙๓ หลวงปู่เผือก หลวงพ่อบุตร หลวงพ่อเผย และหลวงพ่อทองดี |
หลังจากที่หลวงพ่อบุตร ได้รับตำแหน่งเจ้าอาวาสแล้ว ท่านก็ได้เริ่มพัฒนาวัดอย่างสุดความสามารถ ทั้งการสร้างเสนาสนะต่างๆ จึงทำให้วัดใหญ่ฯ มีเสนาสนะครบถ้วนสมบูรณ์ในสมัยท่าน และวัดเจริญรุ่งเรืองขึ้นตามลำดับ
คนเฒ่าคนแก่ในพื้นที่เล่าสืบต่อกันมาว่า หลวงพ่อบุตร ท่านเป็นพระเกจิอาจารย์ท่านหนึ่งของเมืองพระสมุทรเจดีย์แต่ประวัติท่านมีไม่มากนัก ในสมัยก่อนวัตถุมงคลของท่าน ก็ไม่ได้ยิ่งหย่อนไปกว่าพระอาจารย์ท่านใด
โดยเฉพาะตะกรุดกับผ้ายันต์ของท่าน ใครมีต่างก็หวงแหนกันนัก หลวงพ่อบุตร ท่านมักถูกนิมนต์ ให้เข้าร่วมปลุกเสกในพิธีต่างๆ ในสมัยนั้น ชาวบ้านต่างก็รู้จักท่านในนามพระอาจารย์แห่ง "วัดใหญ่บางปลากด"
หลวงพ่อบุตร ท่านได้สร้างวัตถุมงคลไว้หลายชนิดด้วยกัน วัตถุมงคลที่ได้รับความนิยมเช่น ผ้ายันต์ ตะกรุด พระเนื้อผง เหรียญ เป็นต้น
หลวงพ่อบุตร ปกครองวัดเรื่อยมาจนถึงแก่มรณภาพลงด้วยโรคชราอย่างสงบ เมื่อวันเพ็ญขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒ ปี พ.ศ.๒๕๐๐ ตรงกับวันพฤหัสบดีที่ ๗ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๐๐ นับรวมสิริอายุได้ ๘๓ ปี ๖๐ พรรษา.
วัตถุมงคลของหลวงพ่อบุตร วัดใหญ่บางปลากด
เหรียญหลวงพ่อบุตร วัดใหญ่บางปลากด รุ่นแรก
สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๘๙ เพื่อแจกให้กับศิษยานุศิษย์ของท่าน ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มรูปเสมาแบบมีหูในตัว มีการสร้างด้วยเนื้อเงิน และเนื้อทองแดงเพียงเท่านั้น จำนวนการสร้างประมาณ ๕๐๐ เหรียญ
เหรียญหลวงพ่อบุตร วัดใหญ่บางปลากด สมุทรปราการ รุ่นแรก (แปดยาว) ปี พ.ศ. ๒๔๘๙ เนื้อเงิน ของคุณอ๊อด เลี่ยมทอง |
เหรียญหลวงพ่อบุตร วัดใหญ่บางปลากด สมุทรปราการ รุ่นแรก (แปดยาว) ปี พ.ศ. ๒๔๘๙ เนื้อทองแดง ของคุณอิทธิกร |
เหรียญหลวงพ่อบุตร วัดใหญ่บางปลากด สมุทรปราการ รุ่นแรก (แปดสั้น) ปี พ.ศ. ๒๔๘๙ เนื้อทองแดง ของคุณอิทธิกร |
ด้านหน้า เป็นรูปจำลองหลวงพ่อบุตรครึ่งองค์ห่มจีวรคลุมไหล่ ข้างรูปหลวงพ่อมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "หลวงพ่อบุตร" ใต้รูปหลวงพ่อมีโบ ภายในโบมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "วัดใหญ่บางปลากด"
ด้านหลัง มีอักขระยันต์ตรีนิสิงเห ใต้อักขระยันต์มีอักขระเลขไทยเขียนว่า "๒๔๘๙" ซึ่งคือปีที่สร้างเหรียญ
เหรียญหลวงพ่อบุตร วัดใหญ่บางปลากด ออกวัดบางด้วนใน(สุขกร)
สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๙๓ เพื่อแจกในงานยกช่อฟ้าพระอุโบสถวัดบางด้วยใน ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มรูปเสมาแบบมีหูในตัว ในพิธีปลุกเสกมีพระเกจิชื่อดังทั้ง หลวงปู่เผือก วัดกิ่งแก้ว หลวงพ่อบุตร วัดใหญ่บางปลากด หลวงพ่อเผย วัดบางหญ้าแพรก และหลวงพ่อทองดี วัดบางด้วนนอก ร่วมปลุกเสก มีการสร้างด้วยเนื้อเงินเพียงเท่านั้น จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้
เหรียญหลวงพ่อบุตร วัดใหญ่บางปลากด สมุทรปราการ ออกวัดบางด้วนใน ปี พ.ศ. ๒๔๙๓ เนื้อเงิน ของคุณจิรายุ กองโต |
ด้านหน้า เป็นรูปจำลองหลวงพ่อบุตรครึ่งองค์ห่มจีวรคลุมไหล่ ข้างรูปหลวงพ่อมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "หลวงพ่อบุตร" ใต้รูปหลวงพ่อมีโบ ภายในโบมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "วัดใหญ่บางปลากด"
ด้านหลัง มีอักขระยันต์ตรีนิสิงเห เหนืออักขระยันต์มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "ที่ระลึกในงานยกช่อฟ้าโบสถ์วัดบางด้วนใน" ใต้อักขระยันต์มีอักขระเลขไทยเขียนว่า "๒๔๙๓" ซึ่งคือปีที่สร้างเหรียญ
เหรียญหลวงพ่อบุตร วัดใหญ่บางปลากด ออกวัดบางด้วนนอก
สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๙๓ เพื่อแจกให้กับผุ้บริจาคทรัพย์ให้กับวัดบางด้วนนอก ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มรูปเสมาแบบมีหูในตัว ในพิธีปลุกเสกมีพระเกจิชื่อดังทั้ง หลวงปู่เผือก วัดกิ่งแก้ว หลวงพ่อบุตร วัดใหญ่บางปลากด หลวงพ่อเผย วัดบางหญ้าแพรก และหลวงพ่อทองดี วัดบางด้วนนอก ร่วมปลุกเสก มีการสร้างด้วยเนื้อทองแดงเพียงชนิดเดียวเท่านั้น จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้
เหรียญหลวงพ่อบุตร วัดใหญ่บางปลากด สมุทรปราการ ออกวัดบางด้วนนอก (นิยม ไม่มีขีด) ปี พ.ศ. ๒๔๙๓ เนื้อทองแดงกระไหล่ทอง |
เหรียญหลวงพ่อบุตร วัดใหญ่บางปลากด สมุทรปราการ ออกวัดบางด้วนนอก (มีขีด) ปี พ.ศ. ๒๔๙๓ เนื้อทองแดงกระไหล่ทอง |
ด้านหน้า เป็นรูปจำลองหลวงพ่อบุตรครึ่งองค์ห่มจีวรคลุมไหล่ ข้างรูปหลวงพ่อมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "หลวงพ่อบุตร" ใต้รูปหลวงพ่อมีโบ ภายในโบมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "วัดใหญ่บางปลากด"
ด้านหลัง มีอักขระยันต์ตรีนิสิงเห
เหรียญหลวงพ่อบุตร วัดใหญ่บางปลากด รุ่นสอง
สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๙๘ เพื่อแจกให้กับศิษยานุศิษย์ของท่าน ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มรูปเสมาแบบมีหูในตัว เหรียญรุ่นนี้มีการสร้างด้วยกัน ๒ บล็อก คือบล็อกหน้าแก่ที่ใช้บล็อกด้านหน้าของเหรียญรุ่นแรกมาปั๊มสร้าง โดยทางวัดให้ช่างแกะแก้บล็อกด้านหลังของพิมพ์แปดสั้นใหม่ กับบล็อกหน้าหนุ่ม ที่แกะบล็อกขึ้นมาใหม่ทั้งด้านหน้าและด้านหลัง มีการสร้างด้วยเนื้อทองแดงเพียงชนิดเดียวเท่านั้น จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้
เหรียญหลวงพ่อบุตร วัดใหญ่บางปลากด สมุทรปราการ รุ่น ๒ (หน้าแก่) ปี พ.ศ. ๒๔๙๘ เนื้อทองแดง ของคุณจิรายุ กองโต |
เหรียญหลวงพ่อบุตร วัดใหญ่บางปลากด สมุทรปราการ รุ่น ๒ (หน้าแก่) ปี พ.ศ. ๒๔๙๘ เนื้อทองแดง ของคุณจิรายุ กองโต |
เหรียญหลวงพ่อบุตร วัดใหญ่บางปลากด สมุทรปราการ รุ่น ๒ (หน้าหนุ่ม) ปี พ.ศ. ๒๔๙๘ เนื้อทองแดงกระไหล่ทอง ของคุณจิรายุ กองโต |
เหรียญหลวงพ่อบุตร วัดใหญ่บางปลากด สมุทรปราการ รุ่น ๒ (หน้าหนุ่ม) ปี พ.ศ. ๒๔๙๘ เนื้อทองแดงผิวไฟ ของคุณจิรายุ กองโต |
ด้านหน้า เป็นรูปจำลองหลวงพ่อบุตรครึ่งองค์ห่มจีวรคลุมไหล่ ข้างรูปหลวงพ่อมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "หลวงพ่อบุตร" ใต้รูปหลวงพ่อมีโบ ภายในโบมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "วัดใหญ่บางปลากด"
ด้านหลัง มีอักขระยันต์ตรีนิสิงเห เหนืออักขระยันต์มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "วัดใหญ่" ใต้อักขระยันต์มีอักขระเลขไทยเขียนว่า "๒๔๙๘" ซึ่งคือปีที่สร้างเหรียญ
โดย : สารานุกรมพระเกจิแห่งแดนสยาม
บทความที่เกี่ยวข้อง
***-[เป็นกำลังใจและสนับสนุนให้เราเขียนบทความดีๆ ด้วยการกดดูโฆษณาด้านล่างนะคะ]-***
ไม่มีความคิดเห็น