โฆษณาแนวนอน728*90

บทความใหม่

ประวัติและวัตถุมงคลหลวงพ่อสอน วัดป่าเลไลยก์ เจ้าของเหรียญปั๊มเหรียญแรกของเมืองสุพรรณบุรี

ภาพถ่ายหลวงพ่อสอน วัดป่าเลไลยก์ สุพรรณบุรี
หลวงพ่อสอน วัดป่าเลไลยก์ สุพรรณบุรี

         หลวงพ่อสอน วัดป่าเลไลยก์ หรือ พระครูโพธาภิรัต วัดป่าเลไลยก์วรวิหาร ตำบลรั้วใหญ่ อำเภอเมือง จังหวัดสุพรรณบุรี" พื้นเพท่านเป็นชาวบ้านท่าระหัด อำเภอเมือง จังหวัดสุพรรณบุรี เกิดเมื่อวันศุกร์ เดือน ๓ ปี ฉลู พ.ศ. ๒๔๐๘ 

        โยมบิดาชื่อนายสิน โยมมารดาชื่อนางนิ่ม เมื่อตอนท่านยังเด็ก บิดาได้นำท่านไปฝากเป็นศิษย์วัดประตูสาร เพื่อเรียนหนังสือไทยและอักขระขอมที่วัด 

         ปี พ.ศ. ๒๔๒๙ หลวงพ่อสอนท่านมีอายุได้ ๒๑ ปีบริบูรณ์ โยมบิดาและโยมมารดา จึงจัดงานอุปสมบทให้ ณ พัทธสีมาวัดประตูสาร ตำบลท่าระหัด อำเภอเมือง จังหวัดสุพรรณบุรี  ได้รับฉายาว่า "สุวัณณสุก" (ไม่ทราบนามพระอุปัชฌาย์)

         หลังจากอุปสมบทแล้วได้อยู่จำพรรษาที่วัดประตูสาร เพื่อร่ำเรียนพระธรรมวินัยและวิชาอาคมกับพระอุปัชฌาย์ 

         หลวงพ่อสอน ท่านเป็นพระที่ใฝ่เรียน ท่านได้ข้ามฟากมาเรียนพระปริยัติธรรมเพิ่มเติมที่วัดสุวรรณภูมิ ตำบลท่าพี่เลี้ยง อำเภอเมือง จังหวัดสุพรรณบุรี และต่อมาท่านได้ย้ายมาจำพรรษาเพื่อเรียนพระปริยัติธรรมและวิปัสสนากรรมฐานที่วัดไชนาวาส (วัดชายนา) ตำบลท่าพี่เลี้ยง อำเภอเมือง จังหวัดสุพรรณบุรี

        นอกจากนี้ท่านก็ได้มาเรียนวิปัสสนากรรมฐานกับหลวงพ่อกล่ำ เจ้าอาวาสวัดป่าเลไลยก์ในขณะนั้น จนกระทั่งท่านได้ทราบว่า หลวงพ่อเนียม วัดน้อย ตำบลโคกคราม อำเภอบางปลาม้า จังหวัดสุพรรณบุรี เชี่ยวชาญทางด้านวิปัสสนากรรมฐานและพระปริยัติธรรม ท่านจึงเดินทางมาฝากตัวเป็นลูกศิษย์ และย้ายมาจำพรรษาอยู่กับหลวงพ่อเนียมที่วัดน้อย

         ต่อมาท่านก็ได้รับการแต่งตั้งเป็น พระครูวินัยธร ฐานานุกรมของ (พระวิบูลย์เมธาจารย์) เจ้าคณะจังหวัดสุพรรณบุรี 

        ปี พ.ศ. ๒๔๕๖ พระอธิการกล่ำได้ถึงแก่มรณภาพลง ทำให้ตำแหน่งเจ้าอธิการวัดป่าเลไลยก์ได้ว่างลง และวัดก็เริ่มชำรุดทรุดโทรมมาก ไม่มีพระจำพรรษา ทางคณะสงฆ์จึงพิจารณาเห็นว่า ถ้าไม่ให้พระรูปใดไปจำพรรษา วัดป่าเลไลยก์ก็จะร้างไปอย่างแน่นอน 

         ทางคณะสงฆ์จึงพิจารณาเห็นว่าสมควรให้พระครูสอนไปดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดป่าเลไลยก์ ท่านจึงได้รับแต่งตั้งให้มาเป็นเจ้าอาวาสวัดป่าเลไลยก์ ทดแทนตำแหน่งที่ว่างลง

ภาพถ่ายหลวงพ่อโต วัดป่าเลไลยก์ สุพรรณบุรี
หลวงพ่อโต วัดป่าเลไลยก์ สุพรรณบุรี

         วัดป่าเลไลยก์วรวิหาร เป็นวัดเก่าแก่ ตั้งอยู่ที่ถนนมาลัยแมน ตำบลรั้วใหญ่ อำเภอเมือง จังหวัดสุพรรณบุรี วัดอยู่ทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำสุพรรณบุรี

         วัดป่าเลไลยก์วรวิหารสร้างในสมัยที่เมืองสุพรรณบุรีรุ่งเรือง ในพงศาวดารเหนือกล่าวว่า พระเจ้ากาแตทรงให้มอญน้อยมาบูรณะวัดป่าเลไลยก์ภายหลังปี พ.ศ. ๑๗๒๔

         ชาวบ้านทั่วไปเรียกว่า วัดป่า ภายในวิหารเป็นที่ประดิษฐานหลวงพ่อโตปางป่าเลไลยก์ ศิลปะสมัยอู่ทองสุพรรณภูมิ องค์พระสูง ๒๓.๔๖ เมตร รอบองค์ ๑๑.๒๐ เมตร ภายในองค์พระพุทธรูปนี้บรรจุพระบรมสารีริกธาตุที่ได้มาจากพระมหาเถรไลยลาย จำนวน ๓๖ องค์ ที่ได้มาจากพระมหาเถรไลยลาย

         เดิมที่หลวงพ่อโตเป็นพระพุทธรูปปางประทานปฐมเทศนา เช่นเดียวกับพระพุทธรูปศิลาขาว หรือหลวงพ่อประทานพร วัดพระปฐมเจดีย์ ต่อมาได้มีการบูรณะและทำเป็นปางป่าเลไลยก์ ดังที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

         วัดป่าเลไลยก์วรวิหารเป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ระดับวรวิหาร เป็นวัดเก่าแก่หน้าบันของวิหารวัดป่าเลไลยก์มีเครื่องหมายพระมหามกุฎอยู่ระหว่างฉัตรคู่ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จธุดงค์มาพบสมัยยังผนวชอยู่ เมื่อเสด็จขึ้นครองราชย์แล้วจึงทรงมาปฏิสังขรณ์

         นอกจากนั้นบริเวณด้านหลังอุโบสถที่ประดิษฐานหลวงพ่อโต ยังมีศาลาเล็กๆ ที่ประดิษฐานหลวงพ่อดำ ที่มีความศักสิทธิ์และเป็นที่เคารพนับถือของประชาชนในพื้นที่อีกด้วย

         วัดป่าเลไลยก์ มีสถานะเป็น พระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดวรวิหาร ได้รับการยกฐานะเมื่อวันที่ ๒๑ เมษายน พ.ศ. ๒๔๖๒

         หลังจากที่หลวงพ่อสอน ได้รับตำแหน่งเจ้าอาวาสแล้ว ท่านก็ได้เริ่มพัฒนาวัดให้เจริญรุ่งเรืองขึ้นมาทันที โดยท่านได้สร้างศาลาการเปรียญ กุฏิสงฆ์ หอสวดมนต์ พระอุโบสถและขุดบ่อน้ำ ๓ บ่อไว้ใช้ จนวัดป่าเลไลยก์จนเจริญรุ่งเรืองขึ้นตามลำดับ

         ปี พ.ศ. ๒๔๕๖ ท่านได้รับการแต่งตั้งให้เป็นพระอุปัชฌาย์

         ปี พ.ศ. ๒๔๖๐ ด้วยคุณงามความดีของท่านที่ได้พัฒนาวัดจนเจริญรุ่งเรือง ท่านจึงได้รับการเลื่อนสมณศักดิ์เป็น พระครูชั้นสัญญาบัตร ที่ พระครูโพธาภิรัติ 

         หลวงพ่อสอน ท่านปกครองวัดป่าเลไลยก์มาเป็นเวลานานถึง ๑๙  ปี ตลอดระยะเวลาที่เป็นเจ้าอาวาสวัดป่าเลไลยก์ ท่านได้บูรณะปฏิสังขรณ์เสนาสนะตลอดจนถาวรวัตถุต่างๆจนเจริญขึ้นมาตามลำดับ

         เล่ากันว่า หลวงพ่อสอน ท่านได้สร้างวัตถุมงคลไว้หลายอย่าง เช่น พระเนื้อดินเผา เหรียญรุ่นแรก และถือเป็นเหรียญแรกของเมืองสุพรรณบุรี 

         นอกจากนี้ ท่านยังได้สร้างเหรียญพระพุทธหลวงพ่อโต เหรียญรูปท่านทรงอาร์ม และเหรียญรูปท่านทรงใบสาเก อีกด้วย ซึ่งวัตถุมงคลที่ท่านได้สร้างล้วนมีประสพการณ์แทบทั้งสิ้น จนเป็นที่หวงแหนของชาวสุพรรณบุรีเป็นอย่างยิ่ง

         หลวงพ่อสอน ปกครองวัดเรื่อยมาจนถึงแก่มรณภาพลง เมื่อวันที่ ๑ กันยายน พ.ศ. ๒๔๗๕ นับรวมสิริอายุได้ ๗๖ ปี ๔๖ พรรษา.

วัตถุมงคลของหลวงพ่อสอน วัดป่าเลไลยก์

         เหรียญหลวงพ่อสอน วัดป่าเลไลยก์ รุ่นแรก

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๖๑ เพื่อแจกให้กับผู้ที่บริจาคทรัพย์ให้กับทางวัด และแจกในคราวฉลองสมณศักดิ์ของหลวงพ่อ ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มขอบกระบอกรูปไข่แบบมีหูเชื่อม มีการสร้างด้วยเนื้อเงิน และเนื้อทองเหลืองเพียงเท่านั้น จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

เหรียญหลวงพ่อสอน วัดป่าเลไลยก์ สุพรรณบุรี รุ่นแรก 2461 ทองเหลือง
เหรียญหลวงพ่อสอน วัดป่าเลไลยก์ สุพรรณบุรี รุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๔๖๑ เนื้อทองเหลือง ของคุณยุทธ สุพรรณ
เหรียญหลวงพ่อสอน วัดป่าเลไลยก์ สุพรรณบุรี รุ่นแรก 2461 เงิน
เหรียญหลวงพ่อสอน วัดป่าเลไลยก์ สุพรรณบุรี รุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๔๖๑ เนื้อเงิน ของคุณเค สวนสยาม

         ด้านหน้า เป็นรูปจำลองของหลวงพ่อสอนเต็มองค์ องค์หลวงพ่อห่มจีวรลดไหล่ พาดผ้าสังฆาฏิ องค์หลวงพ่อนั่งมารวิชัยบนธรรมมาส ใต้รูปหลวงพ่อมีอักขระเลขไทยเขียนว่า "๒๔๖๑" ซึ่งคือปีที่สร้างเหรียญ

         ด้านหลัง ตรงกลางมีอักขระยันต์ท้อ และมีคาถาล้อมอยู่โดยรอบอ่านได้ว่า "นะอัด นะปิด นะอุด นะยัด ปะ ฏิ มา" ใต้อักขระยันต์มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "วัดป่า" 

         เหรียญหลวงพ่อโต วัดป่าเลไลยก์ รุ่นแรก

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๖๒ เพื่อแจกให้กับผู้ที่บริจาคทรัพย์ให้กับทางวัด และแจกในคราวฉลองที่วัดยกฐานะเป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มขอบกระบอกรูปไข่แบบมีหูเชื่อม มีการสร้างด้วยเนื้อทองแดงเพียงชนิดเดียวเท่านั้น จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

เหรียญหลวงพ่อโต วัดป่าเลไลยก์ สุพรรณบุรี รุ่นแรก 2462 ทองแดง
เหรียญหลวงพ่อโต วัดป่าเลไลยก์ สุพรรณบุรี รุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๔๖๒ เนื้อทองแดง ของคุณตูน ศรีประจันต์

         ด้านหน้า จำลองเป็นรูปหลวงพ่อโต พระพุทธรูปปางป่าเลไลยก์ของทางวัด

         ด้านหลัง ตรงกลางมีอักขระยันต์อ่านได้ว่า "นะ โม  พุท ธา ยะ" ใต้อักขระยันต์มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "๒๔๖๒ หลวงพ่อวัดป่าเรไร" 

         เหรียญหลวงพ่อสอน วัดป่าเลไลยก์ รุ่นสอง

         สร้างขึ้นในราวปี พ.ศ. ๒๔๗๕ ในสมัยของหลวงพ่อพรเป็นเจ้าอาวาส เพื่อแจกให้กับผู้ที่บริจาคทรัพย์ให้กับทางวัด และแจกในงานพระราชทานเพลิงศพของหลวงพ่อสอน ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มรูปอาร์ม มีการสร้างด้วยเนื้อทองแดงเพียงชนิดเดียวเท่านั้น จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

เหรียญหลวงพ่อสอน วัดป่าเลไลยก์ สุพรรณบุรี รุ่น 2 2475 ทองแดงกระไหล่ทอง
เหรียญหลวงพ่อสอน วัดป่าเลไลยก์ สุพรรณบุรี รุ่นสอง ปี พ.ศ. ๒๔๗๕ เนื้อทองแดงกระไหล่ทอง ของคุณสวรรค์ บางปลาม้า
เหรียญหลวงพ่อสอน วัดป่าเลไลยก์ สุพรรณบุรี รุ่น 2 2475 ทองแดงกระไหล่เงิน
เหรียญหลวงพ่อสอน วัดป่าเลไลยก์ สุพรรณบุรี รุ่นสอง ปี พ.ศ. ๒๔๗๕ เนื้อทองแดงกระไหล่เงิน
เหรียญหลวงพ่อสอน วัดป่าเลไลยก์ สุพรรณบุรี รุ่น 2 2475 ทองแดง
เหรียญหลวงพ่อสอน วัดป่าเลไลยก์ สุพรรณบุรี รุ่นสอง ปี พ.ศ. ๒๔๗๕ เนื้อทองแดง

         ด้านหน้า เป็นรูปจำลองของหลวงพ่อสอนนั่งสมาธิเต็มองค์บนอาสนะ องค์หลวงพ่อห่มจีวรลดไหล่ พาดผ้าสังฆาฏิรัดประคต ใต้รูปหลวงพ่อมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "ที่ระฤก พระครูโพธาพิรัต วัดเรไร สุพรรณบุรี อาปามะจุปะ ทุสะมะนิ" 

         ด้านหลัง จำลองเป็นรูปหลวงพ่อโต พระพุทธรูปปางป่าเลไลยก์ของทางวัด มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "ที่ระฤกวัดป่าเรลัยยก สุพรรณบุรี" 

         เหรียญหลวงพ่อสอน วัดป่าเลไลยก์ รุ่น ๓

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๗๘ ในสมัยของหลวงพ่อพรเป็นเจ้าอาวาส เพื่อแจกให้กับผู้ที่บริจาคทรัพย์ให้กับทางวัดและแจกเป็นที่ระลึกในงานหล่อรูปหลวงพ่อสอน ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มข้างเลื่อยรูปใบสาเกแบบมีหูในตัว มีการสร้างด้วยเนื้ออัลปาก้าเพียงชนิดเดียวเท่านั้น จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

เหรียญหลวงพ่อสอน วัดป่าเลไลยก์ สุพรรณบุรี รุ่น 3 2478 อัลปาก้า
เหรียญหลวงพ่อสอน วัดป่าเลไลยก์ สุพรรณบุรี รุ่น ๓ ปี พ.ศ. ๒๔๗๘ เนื้ออัลปาก้า ของคุณขวัญชัย สวัสดี

         ด้านหน้า เป็นรูปจำลองของหลวงพ่อสอนครึ่งองค์ห่มจีวรลดไหล่ พาดผ้าสังฆาฏิ ใต้รูปหลวงพ่อมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "พระครูโพธาภิรัต" 

         ด้านหลัง ตรงกลางมีอักขระยันต์ท้อ และมีคาถาล้อมอยู่โดยรอบใต้อักขระยันต์มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "ในงานหล่อรูป พ.ศ. ๒๔๗๘" 


โดย : สารานุกรมพระเกจิแห่งแดนสยาม

บทความที่เกี่ยวข้อง

ไม่มีความคิดเห็น