โฆษณาแนวนอน728*90

บทความใหม่

ประวัติและวัตถุมงคลหลวงปู่ศุข วัดป่าหวาย เจ้าของเหรียญเก่าสุดของสิงห์บุรี

ภาพถ่ายหลวงปู่ศุข วัดป่าหวาย สิงห์บุรี
หลวงปู่ศุข วัดป่าหวาย สิงห์บุรี

         หลวงปู่ศุข วัดป่าหวาย หรือ พระครูพรหมนครบวรราชมุนี อดีตเจ้าอาวาสวัดป่าหวาย ตำบลโรงช้าง อำเภอพรหมบุรี จังหวัดสิงห์บุรี ท่านเป็นพระเถราจารย์ยุคเก่า ที่ได้รับการยกย่องจากสาธุชน ให้เป็นพระเกจิผู้ทรงวิทยาคมคุณ และด้วยความที่ท่านเป็นพระเถระยุคเก่ามาก ทำให้การบันทึกเกร็ดประวัติไว้ ค่อนข้างจะมีน้อย

         ประวัติของท่านเท่าที่สืบค้นได้นั้นทราบว่า ท่านมีนามเดิมว่า ศุข ชลประทาน เป็นชาวเมืองพรหมบุรี จังหวัดสิงห์บุรี ท่านเกิดวันพฤหัสบดี ปี พ.ศ. ๒๓๗๕ ซึ่งตรงกับสมัยรัชกาลที่ ๓ แต่ไม่ปรากฏชื่อโยมบิดาและโยมมารดาของท่าน

         ด้วยที่ท่านมีใจฝักใฝ่ทางพุทธศาสนามาตั้งแต่เยาว์วัย ท่านจึงเริ่มเข้าสู่ใต้ร่มกาสาวพัสตร์โดยการบวชเณรตั้งแต่ยังเด็ก 

         ปี พ.ศ. ๒๓๙๕ หลวงปู่ศุข ท่านมีอายุได้ ๒๐ ปีบริบูรณ์ ท่านจึงได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุ ณ พัทธสีมาวัดชะลอน หรือ วัดพรหมเทพาวาส ตำบลหัวป่า อำเภอพรหมบุรี จังหวัดสิงห์บุรี  ได้รับฉายาว่า "พรหมรังสี" โดยมี

         พระครูพรหมนครบวรราชมุนี (อุ่น) วัดชะลอน เป็นพระอุปัชฌาย์

         หลังจากอุปสมบทแล้ว ท่านได้อยู่จำพรรษาที่วัดชะลอนเรื่อยมา เพื่อร่ำเรียนพระธรรมวินัย ตลอดจนวิชาอาคมต่างๆ กับพระอุปัชฌาย์ นอกจากนี้แล้วหลวงปู่ศุขจึงได้ออกธุดงควัตรไปในป่าลึกทั่วประเทศ 

         เพื่อฝึกจิตให้เข้มแข็ง และโปรดเวไนยสัตว์ทั่วไป ได้พบพระคณาจารย์ท่านใดที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ก็จะฝากตัวเป็นศิษย์ศึกษาคาถาอาคมและวิชาไสยเวท จนมีความเชี่ยวชาญในทุกด้าน

         ปี พ.ศ. ๒๔๒๐ หลวงปู่ศุข ได้เดินทางมายังบริเวณวัดคงคาเดือด ชาวบ้านจึงนิมนต์ให้ท่านอยู่สร้างวัดขึ้นและเป็นเจ้าอาวาสวัดรูปแรก เพื่อให้ชาวบ้านในพื้นที่ได้มีสถานที่ประกอบพิธีสงฆ์ไม่ต้องเดินทางไปทำบุญไกลๆ อีกต่อไป

         วัดป่าหวาย เป็นวัดราษฎร์ สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ตั้งอยู่ที่หมู่ที่ ๑ ตำบลโรงช้าง อำเภอพรหมบุรี จังหวัดสิงห์บุรี วัดมีที่ดินเนื้อที่ ๒๑ ไร่ ๓ งาน ๑๓ ตารางวา

         วัดป่าหวาย เดิมชื่อ วัดคงคาเดือด วัดสร้างเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๒๐ เดิมวัดตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ด้านทิศตะวันตกเป็นที่น้ำแทง น้ำเซาะ และตลิ่งหน้าวัด ได้พังเข้ามาในเขตวัดประมาณครึ่งวัด และด้วยบริเวณคุ้งน้ำนั้นเชี่ยวกรากชาวบ้านจึงเรียกกันว่า วัดคงคาเดือด ต่อมาหลวงปู่ศุข ได้เปลี่ยนชื่อวัดใหม่ว่าวัดป่าหวาย และใช้ชื่อนี้จวบจนปัจจุบัน

         ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๗๕ นายไล้ ชอบใช้ และนายเที่ยง ฉายวิโรจน์ ได้ถวายที่ดินให้ตั้งวัดป่าหวายแห่งใหม่ ซึ่งห่างจากที่ดินเก่าเพียง ๓๐๐ เมตร และได้ย้ายมาตั้งบนที่ดินแห่งใหม่ ซึ่งมีเนื้อที่ ๗ ไร่ ๑ งาน ๔๘ ตารางวา 

         ในปี พ.ศ. ๒๔๗๖ ทางวัดและชาวบ้านได้พร้อมใจกันยก รื้อ ขนย้ายกุฏิ และเสนาสนะ มีกุฏิ ๔ หลัง ทำการยกมาทั้งหลัง โดยใช้ไม้ไผ่ทั้งลำ ขันชะเนาะ เข้ากับเสาทุกต้น ขุดหลุมเสาทุกต้น เอากระเบื้องมุงหลังคาออก 

         เมื่อพร้อมทุกอย่างแล้วได้มีผู้คนจำนวนมากมาชวนกันยกมาทั้งหลังได้อย่างสบาย นับว่ามีความสามัคคีพร้อมเพียงกันอย่างดียิ่ง ต่อมาก็ได้ว่าจ้างทำเตาไว้ ๒ เตา ไว้สำหรับทำการเผาอิฐ เพื่อตระเตรียมไว้สร้างอุโบสถต่อไป วัดได้วิสุงคามสีมาเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๗๙

         หลังจากหลวงปู่ศุขได้ขึ้นเป็นเจ้าอาวาส ท่านได้พัฒนาวัดอย่างสุดความสามารถทั้งการสร้างเสนาสนะต่างๆ จนวัดเจริญรุ่งเรืองขึ้นตามลำดับ

         นอกจากนี้ ท่านยังได้ใช้สถานที่ของวัดในการสอนหลังสือให้กับเด็กๆลูกของชาวบ้านในพื้นที่และระแวกใกล้เคียงอีกด้วย

         ต่อมาหลวงปู่ศุข ท่านจึงได้รับการแต่งตั้งให้เป็นพระอุปัชฌาย์ และได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเจ้าคณะหมวด(เจ้าคณะตำบล) และได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเจ้าคณะอำเภอในเวลาต่อมา

         ก่อนปี พ.ศ. ๒๔๖๕ ท่านได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเจ้าคณะแขวงเมืองพรหมบุรี ดำรงสมณศักดิ์เป็น พระครูพรหมนครบวรราชมุนี บางท่านก็เรียกว่า พระครูพรหมนครบวรราชมุนี ชินสีห์สังฆปาโมกข์

         และได้รับพัดยศพิเศษด้ามงาช้างพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๖) ในฐานะพระฝ่ายวิปัสสนาธุระ หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า พระฝ่ายอรัญวาสี (พระป่าที่ปฏิบัติบำเพ็ญวิปัสสนากรรมฐานอยู่เป็นนิจ)

         หลวงปู่ศุข เป็นพระคณาจารย์ที่ทรงอภิญญาสมาบัติ เคร่งครัดในพระธรรมวินัย เปี่ยมด้วยเมตตาธรรม  มีพลังจิตที่สูงอย่างเลิศล้ำ แม้แต่ไก่ป่าท่านยังเลี้ยงจนเชื่อง เวลาเช้าขณะท่านเดินออกบิณฑบาตจากญาติโยม ไก่ป่าที่ท่านเลี้ยงไว้ จะเดินตามท่านไปเป็นฝูง เป็นภาพที่แปลกตาและพบเห็นได้ยาก 

         นอกจากนี้ท่านยังแสดงฤทธิ์ต่างๆ ได้อย่างน่าอัศจรรย์ เช่น หายตัวได้ ร่นระยะทางได้ รู้เหตุการณ์ล่วงหน้า เสกใบมะขามเป็นต่อเป็นแตน เสกกิ่งไม้เป็นเรือใช้ข้ามแม่น้ำ ฯลฯ เป็นต้น

         ในด้านวิชาไสยเวท ท่านเชี่ยวชาญทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นมหาอุด แคล้วคลาด คงกระพันชาตรี เมตตามหานิยม และแก้คุณไสย กำราบภูตผีปีศาจต่างๆ 

         กิตติศัพท์ของท่านจึงเลื่องลือไปไกลแสนไกล แม้แต่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๕) ก็ยังโปรดและนิมนต์ให้เข้าวังไปสนทนาธรรม และเข้าร่วมพระราชพิธีทางพุทธศาสนาอยู่เสมอ

         หลวงปู่ศุข มีความคุ้นเคยและเป็นสหธรรมิกกับท่านเจ้ามา (พระพุฒาจารย์มา) เจ้าอาวาสรูปที่ ๗ ของวัดสามปลื้ม (วัดจักรวรรดิราชาวาส) กรุงเทพฯ

         เนื่องจากไปพบกันขณะออกธุดงควัตร ได้มีการแลกเปลี่ยนวิชาไสยเวท และไปมาหาสู่กันอยู่เสมอเป็นประจำ 

         คราใดที่วัดสามปลื้มมีการปลุกเสกวัตถุมงคล จะนิมนต์หลวงปู่ศุขให้ไปปลุกเสกร่วมกับท่านเจ้ามาอยู่เสมอ เช่น การปลุกเสกพระชัยวัฒน์ของท่านเจ้ามา เป็นต้น ในด้านอายุนั้นหลวงปู่ศุขมีอายุแก่กว่าท่านเจ้ามา ๕ ปี (ท่านเจ้ามา เกิดปี พ.ศ.๒๓๘๐)

         อนึ่งในช่วงที่ท่านเจ้ามาเป็นเจ้าอาวาสวัดสามปลื้ม โดยมีท่านมุ้ย (พระมงคลทิพมุนี) เป็นรองเจ้าอาวาส และเป็นศิษย์สืบทอดพุทธาคมของท่านเจ้ามา ซึ่งท่านมุ้ยนี้มีความเคารพศรัทธาในตัวหลวงปู่ศุขมาก 

         และได้ขอศึกษาวิชาไสยเวทจากท่านไปหลายอย่างด้วยกัน เมื่อท่านเจ้ามามรณภาพลงเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๕๗ สิริอายุ ๗๘ ปี ท่านมุ้ยก็ได้ขึ้นดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสรูปที่ ๘ ของวัดสามปลื้ม ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา

         ในด้านวัตถุมงคลของหลวงปู่ศุขนั้น ท่านได้จัดสร้างขึ้นหลายประเภท เช่น ตะกรุด เด่นทางมหาอุด คงกระพันชาตรี เบี้ยแก้ เด่นทางแก้คุณไสย ถอนพิษอสรพิษ ป้องกันภูตผีปีศาจ สีผึ้ง เด่นทางโชคลาภ เมตตามหานิยม และเหรียญรูปเหมือน วัตถุมงคลของท่านเด่นในทุกด้าน

         หลวงปู่ศุข ปกครองวัดเรื่อยมาจนถึงแก่มรณภาพลงด้วยโรคชราเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๖๕ นับรวมสิริอายุได้ ๙๑ ปี ๗๑ พรรษา.

วัตถุมงคลของหลวงปู่ศุข วัดป่าหวาย

         เหรียญหลวงปู่ศุข วัดป่าหวาย รุ่นแรก

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๖๕ โดยท่านเจ้าคุณพระมงคลทิพย์มุนี(มุ้ย) วัดจักรวรรดิ์ ได้จัดสร้างถวายหลวงปู่ ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มข้างเลื่อยทรงพุ่มข้าวบิณฑ์มีหยักด้านข้าง แบบมีหูในตัว มีการจัดสร้างด้วยเนื้อทองแดงเพียงชนิดเดียวเท่านั้น จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้ แต่คาดว่าไม่เกิน ๕๐๐ เหรียญ

เหรียญหลวงปู่ศุข วัดป่าหวาย สิงห์บุรี รุ่นแรก 2465 ทองแดง
เหรียญหลวงปู่ศุข วัดป่าหวาย สิงห์บุรี รุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๔๖๕ เนื้อทองแดง ของคุณแกะ อ่างทอง

เหรียญหลวงปู่ศุข วัดป่าหวาย สิงห์บุรี รุ่นแรก 2465 ทองแดง
เหรียญหลวงปู่ศุข วัดป่าหวาย สิงห์บุรี รุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๔๖๕ เนื้อทองแดง ของคุณแกะ อ่างทอง

เหรียญหลวงปู่ศุข วัดป่าหวาย สิงห์บุรี รุ่นแรก 2465 ทองแดง
เหรียญหลวงปู่ศุข วัดป่าหวาย สิงห์บุรี รุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๔๖๕ เนื้อทองแดง

         ด้านหน้า เป็นรูปจำลองของหลวงปู่ศุขนั่งสมาธิเต็มองค์ องค์หลวงปู่ห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฏิ รัดประคต ใต้รูปหลวงปู่มีโบสะบัดชายทั้งสองข้าง และมีตัวอักขระขอมอ่านได้ว่า "พรหมรังสี" ซึ่งเป็นสมญานามทางสงฆ์ของท่าน

         ด้านหลัง มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "พระคูรพรหมนครบวรราชมุนี" ถัดลงมามีอักขระนยันต์อ่านได้ว่า "อุ อะ อุ" ใต้อักขระยันต์มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "อายุ ๙๑ ปี  ๒๔๖๕"

         เหรียญหลวงปู่ศุข วัดป่าหวาย รุ่นสอง

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๐๑ โดยหลวงพ่อดี วัดแจ้งพรหมนคร ผู้เป็นศิษย์ของท่าน เพื่อแจกให้กับผู้ที่บริจาคทรัพย์ให้กับทางวัด ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มทรงพุ่มข้าวบิณฑ์มีหยักด้านข้าง แบบมีหูในตัว มีการจัดสร้างด้วยเนื้อทองแดงเพียงชนิดเดียวเท่านั้น จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

เหรียญหลวงปู่ศุข วัดป่าหวาย สิงห์บุรี รุ่น 2 2501 ทองแดง
เหรียญหลวงปู่ศุข วัดป่าหวาย สิงห์บุรี รุ่นสอง ปี พ.ศ. ๒๕๐๑ เนื้อทองแดง

เหรียญหลวงปู่ศุข วัดป่าหวาย สิงห์บุรี รุ่น 2 2501 ทองแดง
เหรียญหลวงปู่ศุข วัดป่าหวาย สิงห์บุรี รุ่นสอง ปี พ.ศ. ๒๕๐๑ เนื้อทองแดง

         ด้านหน้า เป็นรูปจำลองของหลวงปู่ศุขนั่งสมาธิเต็มองค์ องค์หลวงปู่ห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฏิ รัดประคต ใต้รูปหลวงปู่มีโบสะบัดชายทั้งสองข้าง และมีตัวอักขระขอมอ่านได้ว่า "พรหมรังสี" ซึ่งเป็นสมญานามทางสงฆ์ของท่าน

         ด้านหลัง มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "พระครูพรหมนครบวรราชมุนี" ถัดลงมามีอักขระนยันต์อ่านได้ว่า "อุ อะ อุ" ใต้อักขระยันต์มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "อายุ ๙๑ ปี  ๒๔๐๑"


โดย : สารานุกรมพระเกจิแห่งแดนสยาม

บทความที่เกี่ยวข้อง

ไม่มีความคิดเห็น