ประวัติและวัตถุมงคลหลวงพ่อเนียม วัดเสาธงทอง พระเกจิชื่อดังของลพบุรี
หลวงพ่อเนียม วัดเสาธงทอง ลพบุรี |
หลวงพ่อเนียม วัดเสาธงทอง หรือ พระครูสังฆภาวราหมุนี อดีตเจ้าอาวาสวัดเสาธงทอง ตำบลท่าหิน อำเภอเมือง จังหวัดลพบุรี พื้นเพท่านเป็นชาวบ้านท่าหิน อำเภอเมือง จังหวัดลพบุรี เกิดเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๐๗ โยมบิดาชื่อนายสิงห์โต โยมมารดาชื่อนางเกตุ ในวัยเยาว์ท่านได้การศึกษาอักขระภาษานิยมที่วัดเสาธงทอง
ปี พ.ศ. ๒๔๒๗ หลวงพ่อเนียม ท่านมีอายุครบ ๒๐ ปีบริบูรณ์ ท่านจึงได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุ ณ พัทธสีมาวัดเชิงท่า ตำบลท่าหิน อำเภอเมือง จังหวัดลพบุรี ได้รับฉายาว่า "ภุมสโร" โดยมี
พระอาจารย์สาธุ วัดกกโก เป็นพระอุปัชฌาย์
หลังจากอุปสมบทแล้ว ทานได้อยู่จำพรรษาที่วัดเชิงท่าเรื่อยมาเพื่อศึกษาพระธรรมวินัย ตลอดถึงบทเจ็ดตำนาน ศึกษาพระบาลี และคัมภีร์มูลกัจจายน์
หลวงพ่อเนียม ท่านเป็นพระที่ปฏิบัติเคร่งครัด ในพระธรรมวินัย สนใจต่อการศึกษา ทางด้านพระปริยัติและนักธรรม รวมทั้งด้านการเจริญวิปัสสนากรรมฐานเป็นกรณีพิเศษ
ปี พ.ศ. ๒๔๔๐ ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระครูชั้นสัญญาบัตรที่ "พระครูลวะบุรีคณาจารย์"
ต่อมาหลวงพ่อเนียม ท่านได้เป็นพระสมุห์ฐานานุกรมของพระครูสังฆภารวาหะ (เล็ก) เจ้าอาวาสวัดเสาธงทอง
ปี พ.ศ. ๒๔๕๗ พระครูสังฆภารวาหะ(เล็ก) มรณภาพลง ชาวบ้านและคณะกรรมการวัดจึงพร้อมใจกันนิมนต์หลวงพ่อเนียมให้รักษาการเจ้าอาวาสวัดเสาธงทอง และถูกแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสในเวลาต่อมา
วัดเสาธงทอง เป็นวัด พระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญ ตั้งอยู่ที่ถนนฝรั่งเศส ตำบลท่าหิน อำเภอเมืองลพบุรี จังหวัดลพบุรี
วัดเสาธงทอง เป็นวัดเก่าแก่แห่งหนึ่งของจังหวัดลพบุรี เดิมแยกเป็น ๒ วัด คือ วัดรวก และวัดเสาธงทอง พระยาโบราณราชธานินทร์ (พร เตชะคุปต์) สมุหเทศาภิบาลมณฑลอยุธยา ได้รายงานกราบทูลเสนอความเห็นต่อสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส เมื่อคราวเสด็จตรวจการคณะสงฆ์ในมณฑลอยุธยาว่า
วัดรวก มีโบสถ์ ส่วนวัดเสาธงทอง มีวิหาร สมควรจะรวมเป็นวัดเดียวกัน ทรงดำริเห็นชอบให้รวมกันและให้เรียกชื่อว่า วัดเสาธงทอง
กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงสันนิษฐานว่า พระวิหารหลวงและพระประธานเป็นฝีมือช่างแบบสมัยกรุงศรีอยุธยา อย่างน้อยคงสร้างมาตั้งแต่สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช วัดเสาธงทองตั้งอยู่บนเนินดินที่สูงกว่าที่อื่น ๆ และตั้งอยู่ใจกลางเมืองลพบุรี มีเนื้อที่ประมาณ ๑๕ ไร่ ๑ งาน โดยรอบวัดมีถนนเข้าวัดทั้งสี่ด้าน
วัดนี้มีโบราณสถานที่ควรชม คือ พระวิหารซึ่งเดิมคงสร้างขึ้นเพื่อเป็นศาสนสถานของศาสนาอื่นเพราะจากแผนที่ของช่างชาวฝรั่งเศสทำไว้ ระบุว่า พื้นที่บริเวณนั้นเป็นที่พำนักของราชทูตชาวเปอร์เซีย พระวิหารหลังนี้อาจเป็นที่ประกอบพิธีทางศาสนาอิสลามของชาวเปอร์เซียก็เป็นได้
นอกจากนี้ ก็มีตึกปิจู ตึกคชสาร หรือตึกโคโรซาน เป็นตึกเก่าสันนิษฐานว่าใช้เป็นที่พำนักของแขกเมือง และราชทูตต่างประเทศชาวเปอร์เซีย โดยตึกปิจู มาจากภาษาฝรั่งเศส แปลว่า เล็ก ซึ่งอาจเป็นที่อาศัยของชาวฝรั่งเศสที่มารับราชการ
ส่วนตึกโคโรซาน เป็นชื่อเมืองสำคัญเมืองหนึ่งของเปอร์เซีย ซึ่งสันนิษฐานว่าเป็นตึกที่ใช้รับรองชาวเปอร์เซียที่มาพำนัก กรมศิลปากรประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานเมื่อวันที่ ๒ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๗๙
พระวิหารวัดเสาธงทอง เป็นวิหารที่สร้างมาตั้งแต่สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช แห่งกรุงศรีอยุธยา เป็นวิหารที่มีขนาดใหญ่ศิลปะอยุธยา เป็นที่ประดิษฐานหลวงพ่อโต เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ขนาดหน้าตักกว้าง ๓ วา สูง ๔ วา ๒ ศอก
ถือเป็นพระพุทธรูปที่ศักดิ์สิทธ์คู่บ้านคู่เมืองลพบุรีมาช้านาน บริเวณของผนังพระวิหารเจาะเป็นช่อง ซุ้มโค้ง ประดิษฐานพระพุทธรูปลักษณะต่าง ๆ ส่วนพระประธานในพระอุโบสถเป็นพระพุทธรูปทรงเครื่องปางห้ามสมุทร
พระเจดีย์ ตั้งอยู๋ระหว่างพระวิหารหลวงกับศาลาการเปรียญ มีมาแต่ครั้งโบราณ เป็นเจดีย์ก่ออิฐถือปูนฐาน ๘ เหลี่ยม กว้าง ๙ วา สูง ๑๗ วา ตรงกลางเหนือฐานขึ้นไปมีซุ้มประดิษฐานพระพุทธรูปซุ้มละ องค์ ๘ ซุ้ม เหนือขึ้นไปเป็นทรงลังกา
พระอุโบสถ มีใบเสมา ๒ ชั้น เป็นหินทรายสลัดลวดลายแบบสมัยกรุงศรีอยุธยา และเคยได้รับการบูรณะเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๗๐ เพระถูกไฟไหม้ ได้เทคอนกรีตเสริมเหล็กบนทั้งหลัง พระประธานภายในพระอุโบสถเป็นพระพุทธรูปยืนทรงเครื่องปางห้ามสมุทร เนื้อในองค์พระเป็นศิลาทราย มีรูปั้นหุ้มไว้ เป็นฝีมือช่างสมัยกรุงศรีอยุธยา
หอระฆัง ก่ออิฐถือปูน ฐานกว้าง ๒ วา สูง ๕ วา (แต่เดิมมี ๓ หอ ลักษณะเหมือนกัน แต่ถูกรื้อไป หอ คือหอทิศเหนือพระวิหาร และกลางวัดส่วนระฆังนำไปแขวนที่หอระฆังใหม่ หน้าศาลาการเปรียญ ๒ ใบ) คงเหลืออยู่หอเดียว เข้าใจว่าสร้างรุ่นเดียวกับพระวิหารหลวง
เจ้าอาวาสวัดเสาธงทอง ทั้งสมัยกรุงศรีอยุธยาและรัตนโกสินทร์ ไม่มีหลักฐานปรากฏ สำหรับเจ้าอาวาสตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ จนถึงปัจจุบันมีดังนี้
๑. ท่านเจ้าอยู่
๒. พระครูสังฆภารวาหะ (ชื่น)
๓. พระครูสังฆภารวาหะ (เล็ก)
๔. พระสังฆภารวาหมุนี (เนียม) พระราชาคณะสงฆ์จังหวัดลพบุรี (พ.ศ. ๒๔๕๗ - ๒๔๗๘)
๕. พระธรรมารามมุนี (ขุน) พระราชาคณะ ป.ธ. ๖ เจ้าคณะจังหวัดลพบุรี (พ.ศ. ๒๔๗๘ - ๒๕๐๖)
๖. พระราชวรรณเวที (คล้อย) ป.ธ. ๖ พระราชาคณะชั้นราชเจ้าคณะจังหวัดลพบุรี (พ.ศ. ๒๕๐๖ - ๒๕๑๓)
๗. พระธรรมมหาวีรานุวัตร(สงวน โฆสโก) ป.ธ. ๗ พระราชาคณะชั้นธรรม ที่ปรึกษาเจ้าคณะจังหวัดลพบุรี (พ.ศ. ๒๕๑๓ - ๒๕๕๔)
๘. พระราชปัญญาโมลี (สมพร คนฺธาโร) ป.ธ. ๖ พระราชาคณะชั้นราช ที่ปรึกษาเจ้าคณะจังหวัดลพบุรี (พ.ศ. ๒๕๕๔ - ๒๕๖๖)
๙. พระครูสิริจริยาภรณ์ (ศิลปชัย สิปฺปชโย) ป.ธ. ๕ เจ้าคณะอำเภอเมืองลพบุรี รักษาการเจ้าอาวาสวัดเสาธงทอง (พระอารามหลวง) (พ.ศ. ๒๕๖๖ - ปัจจุบัน)
หลวงพ่อเนียม วัดเสาธงทอง ลพบุรี |
หลังจากที่หลวงพ่อเนียม ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเจ้าอาวาส ท่านจึงได้พัฒนาวัดอย่างสุดความสามารถ ทั้งการสร้างเสนาสนะต่างๆ ตลอดจนถาวรวัตถุต่างๆ จนวัดเจริญรุ่งเรืองขึ้นตามลำดับ
ปี พ.ศ. ๒๔๕๗ หลวงพ่อเนียม ท่านได้รับพระราชทานสัญญาบัตรเป็น "พระครูสังฆภารวาหะ" ในตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดเสาธงทอง
ปี พ.ศ. ๒๔๖๑ พระธรรมราชานุวัตร เจ้าคณะมณฑลกรุงเก่า จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ได้แต่งตั้งให้ท่านเป็นพระอุปัชฌาย์
หลวงพ่อเนียม ท่านได้บูรณปฏิสังขรณ์เสนาสนะต่างๆ ที่ชำรุดทรุดโทรมให้กลับดีเหมือนเดิม จากผลงานและความสามารถของหลวงพ่อเนียม จึงเจริญในตำแหน่งหน้าที่การงานเรื่อยมา
ปี พ.ศ. ๒๔๗๐ ท่านได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์ที่ "พระครูสังฆภาวราหมุนี" และในเวลาต่อมาก็ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะที่ "พระสังฆภาวราหมุนี"
ในช่วงปลายอายุขัยยังได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง เป็นผู้กำกับการเจ้าคณะสงฆ์จังหวัดลพบุรี อีกด้วย
หลวงพ่อเนียม ท่านตั้งใจประกอบคุณประโยชน์ ต่อพระพุทธศาสนา เป็นที่ศรัทธาต่อประชาชนโดยทั่วไป ต่อมาท่านยังได้สร้างเหรียญที่ระลึกแก่ลูกศิษย์ เป็นเหรียญที่ผู้คนต่างเสาะแสวงหากันมาก เป็นเหรียญรูปไข่ และรูปใบโพธิ์ เหรียญรูปไข่นั้น ด้านหลังเป็นรูปพระพุทธนิมิตร กรุงมันฑะเลย์ ประเทศพม่า
ตามประวัติกล่าวกันว่า พระพุทธนิมิตร เป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ ในอดีตนั้นพระสงฆ์ที่ธุดงค์ไปทางเหนือนิยมไปนมัสการพระพุทธชินราช พระแท่นศิลาอาสน์ บางองค์ก็ธุดงค์ไปทางประเทศพม่าจะไปชมพระพุทธนิมิต กรุงมัณฑะเลย์ และเจดีย์ชะเวดากอง
ในตอนที่ท่านจะทำเหรียญนั้น ท่านได้นิมิตเห็นพระพุทธนิมิต มีรัศมีเปล่งออกมาจากองค์พระ ท่านจึงให้ช่างนำรูปพระพุทธนิมิตกรุงมัณฑะเลย์ มาไว้ในเหรียญ และเป็นเหรียญแรกที่นำพระพุทธรูปต่างประเทศมาจัดสร้างเป็นวัตถุมงคล
หลวงพ่อเนียม ท่านเป็นอดีตเจ้าคณะจังหวัดลพบุรีและเป็นอดีตพระเกจิอาจารย์ ผู้เข้มขลังอันดับต้นๆของเมืองละโว้เลยก็ว่าได้ วัตถุมงคลของท่าน มีผู้เสาะแสวงหากันมาก
ซึ่งวัตถุมงคลของท่านนั้นมีประสบการณ์สูงมาก เนื่องจากมีประสบการณ์สูง คนพื้นที่ก็ต่างก็หวงแหนกันมาก และเหรียญของท่าน ปัจจุบันนี้ก็หาชมยากด้วยเช่นกัน
หลวงพ่อเนียม ปกครองวัดเรื่อยมาจนถึงแก่มรณภาพลงด้วยโรคชราเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๘๕ นับรวมสิริอายุได้ ๗๘ ปี ๕๘ พรรษา.
วัตถุมงคลของหลวงพ่อเนียม วัดเสาธงทอง
เหรียญหลวงพ่อเนียม วัดเสาธงทอง รุ่นแรก
สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๗๑ เพื่อแจกในวโรกาสที่ท่านได้รับสมณศักดิ์เป็น พระครูสังฆภารวราหมุนี ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มขอบกระบอกรูปไข่มีหูเชื่อม มีการจัดสร้างด้วยเนื้อเงิน และเนื้อทองแดงเพียงเท่านั้น จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้
เหรียญหลวงพ่อเนียม วัดเสาธงทอง ลพบุรี รุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๔๗๑ เนื้อเงิน |
เหรียญหลวงพ่อเนียม วัดเสาธงทอง ลพบุรี รุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๔๗๑ เนื้อเงิน |
เหรียญหลวงพ่อเนียม วัดเสาธงทอง ลพบุรี รุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๔๗๑ เนื้อทองแดง ของคุณยุทธนา อนุยุทธพงศ์ |
เหรียญหลวงพ่อเนียม วัดเสาธงทอง ลพบุรี รุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๔๗๑ เนื้อทองแดง ของคุณยุทธนา อนุยุทธพงศ์ |
เหรียญหลวงพ่อเนียม วัดเสาธงทอง ลพบุรี รุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๔๗๑ เนื้อทองแดง ของคุณสุรโชติ โชคชัย |
ด้านหน้า เป็นรูปจำลองของหลวงพ่อเนียมนั่งเต็มองค์บนตั่ง องค์หลวงพ่อห่มจีวรลดไหล่ พาดผ้าสังฆาฏิรัดประคต ขอบเหรียญมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "ที่ระฤกหลวงพ่อพระครูสังฆภาวราหะ วัดเสาธงทอง ลพบุรี"
ด้านหลัง เป็นรูปจำลองพระพุทธรูปพระพุทธนิมิต กรุงมัณฑะเลย์ ขอบเหรียญมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "พระพุทธนิมิต กรุงมัน ตะเล พ.ศ. ๒๔๗๑"
เหรียญหลวงพ่อเนียม วัดเสาธงทอง รุ่นแรก
สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๗๑ เพื่อแจกในวโรกาสที่ท่านได้รับสมณศักดิ์เป็น พระครูสังฆภารวราหมุนี ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มขอบกระบอกรูปไข่มีหูเชื่อม มีการจัดสร้างด้วยเนื้อเงิน และเนื้อทองแดงเพียงเท่านั้น จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้
เหรียญใบโพธิ์หลวงพ่อเนียม วัดเสาธงทอง ลพบุรี รุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๔๗๑ เนื้อทองแดง ของคุณเปี้ยง |
ด้านหน้า เป็นรูปจำลองของหลวงพ่อเนียมครึ่งองค์ห่มจีวรลดไหล่ พาดผ้าสังฆาฏิ ใต้รูปหลวงพ่อมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "พระสังฆภาวราหมุนี"
ด้านหลัง มีอักขระยันต์ บนลายเส้นใบโพธิ์
โดย : สารานุกรมพระเกจิแห่งแดนสยาม
บทความที่เกี่ยวข้อง
ไม่มีความคิดเห็น