ประวัติและวัตถุมงคลหลวงพ่อหร่ำ วัดกร่าง เจ้าของเหรียญขี่ลิงหลักล้านของเมืองปทุมธานี
หลวงพ่อหร่ำ วัดกร่าง ปทุมธานี |
หลวงพ่อหร่ำ วัดกร่าง หรือ พระอธิการหร่ำ อดีตเจ้าอาวาสวัดกร่าง ตำบลบางกระบือ อำเภอสามโคก ปทุมธานี พื้นเพท่านเป็นชาวบ้านปทุมธานี เกิดเมื่อวันที่ ๑๓ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๑๕ ตรงกับวันจันทร์ขึ้น ๖ ค่ำ เดือน ๗ ปีวอก โยมบิดาชื่อนายแอบ โยมมารดาชื่อนางเผือน โดยท่านเป็นบุตรคนที่ ๔ ในจำนวน ๖ คน
เมื่อครั้งวัยเยาว์โยมบิดาได้นำท่านไปฝากเรียนภาษาไทย และภาษาบาลีจนแตกฉานกับพระอธิการนอม วัดกร่าง
ปี พ.ศ. ๒๔๓๒ ท่านมีอายุได้ ๑๗ ปี จึงได้บรรพชาเป็นสามเณร ที่วัดกร่าง โดยมีพระอธิการนอม วัดกร่าง เป็นพระอุปัชฌาย์
ปี พ.ศ. ๒๔๓๕ หลวงพ่อหร่ำท่านมีอายุครบบวช ท่านก็อุปสมบทเป็นพระภิกษุ ณ พัทธสีมาวัดกร่าง ตำบลบางกระบือ อำเภอสามโคก ปทุมธานี ได้รับนามฉายาว่า "เกสโร" โดยมี
พระอธิการหิน วัดสวนมะม่วง เป็นพระอุปัชฌาย์
พระอธิการนอม วัดกร่าง เป็นพระกรรมวาจาจารย์
พระอาจารย์กันต์ วัดกร่าง เป็นพระอนุสาวนาจารย์
หลังจากอุปสมบทแล้ว ท่านได้อยู่จำพรรษาที่วัดกร่างเรื่อยมาเพื่อศึกษาพระธรรมวินัย และวิปัสสนากัมมัฎฐานจากหลวงพ่อนอม ซึ่งเป็นพระผู้เชี่ยวชาญในด้านกัมมัฎฐานและพระเวทวิทยาคมยิ่ง
พระอาจารย์นอมองค์นี้ เป็นสหายทางธรรมกับหลวงพ่อกลั่น (ธัมมโชโต) แห่งวัดพระญาติการาม ซึ่งคราใดก็ตามที่หลวงพ่อกลั่นท่านเข้ามากรุงเทพฯ ท่านมักจะแวะวัดกร่าง เพื่อเยือนหาสู่หลวงพ่อนอมอยู่เสมอโดยหลวงพ่อกลั่น จะอ่อนอาวุโสกว่าหลวงพ่อนอม
นอกจากนี้ หลวงพ่อจง วัดหน้าต่างนอก ก็ยังเคยมาศึกษาวิชากับหลวงพ่อนอม ถึงที่วัดกร่างอีกด้วย พระเวทวิทยาคมที่ถ่ายทอดจากหลวงพ่อนอมสู่หลวงพ่อหร่ำ เมื่อครั้งยังเป็นพระบวชใหม่ จึงมีความเข้มขลังและแกร่งกล้าอย่างยิ่ง
ครั้นเมื่อหลวงพ่อนอมมรณภาพลง พระอาจารย์กันต์ที่เป็นคู่สวดของหลวงพ่อหร่ำ ก็ขึ้นเป็นเจ้าอาวาสแทน แต่ไม่นานก็สึกลาเพศไป ทางวัดกร่างขาดเจ้าอาวาสสืบแทน ชาวบ้านจึงพร้อมใจกันอาราธนาหลวงพ่อหร่ำ ที่เป็นพระผู้สำรวมระวังในพระธรรมวินัย ขึ้นครองวัดทดแทนตำแหน่งที่ว่างลง
วัดกร่าง เป็นวัดราษฎร์สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย ตั้งอยู่ในหมู่ที่ ๑ บ้านท้ายดง ตำบลบางกระบือ อำเภอสามโคก จังหวัดปทุมธานี
วัดกร่างสร้างขึ้นประมาณปี พ.ศ. ๒๓๐๐ เดิมมีชื่อว่า วัดดงดารา ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อวันที่ ๑๓ เมษายน พ.ศ. ๒๓๒๐ เขตวิสุงคามสีมากว้าง ๑๒ เมตร ยาว ๒๔ เมตร ได้ดำเนินการผูกพัทธสีมาเมื่อประมาณปี พ.ศ. ๒๔๒๓
ชาวบ้านได้ช่วยกันสละเนื้อที่จตุปัจจัยขึ้นมาได้จำนวนหนึ่ง จึงได้ขออนุญาตไปทางกรมศาสนาจัดตั้งเป็นวัดขึ้น ไม่ทราบผู้เป็นหัวหน้าสร้างวัด
วัดมีพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ คือ หลวงพ่อนรสิงห์ เป็นพระพุทธรูปศิลาศิลปะอยุธยาเก่าสมัยเชียงแสน รูปหล่อหลวงปู่หรำ เกสโร รูปหล่อหลวงพ่อหวล ปภสฺสโร หอสวดมนต์แบบรามัญ กุฏิเรือนไทย
วัดมีการจัดการทำบุญประจำปี ได้แก่ ตักบาตรเทโวซึ่งตรงกับวันขึ้น ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ ตักบาตรพระร้อยซึ่งตรงกับวันขึ้น ๘ ค่ำ เดือน ๑๒ และงานประจำปีซึ่งตรงกับวันขึ้น ๑๔–๑๕ ค่ำ เดือน ๕
หลังจากที่หลวงพ่อหร่ำได้ขึ้นเป็นเจ้าอาวาส ท่านได้พัฒนาวัดอย่างสุดความสามารถ ทั้งการสร้างเสนาสนะต่างๆ และถาวรวัตถุต่างๆภายในวัด จนวัดเจริญรุ่งเรืองขึ้นตามลำดับ
หลวงพ่อหร่ำ ท่านเก่งด้านวิชาอาคมมาแต่ไหนแต่ไร อย่างในช่วงปลายชีวิตหลวงพ่อนอมได้ไว้ใจให้ลงตะกรุดโทน และถวายให้ท่านปลุกเสกกำกับ
และตอนหลังหลวงพ่อนอมได้บอกกับญาติโยมว่า "ถ้าต้องการได้ตะกรุดโทนล่ะก้อ ไม่ต้องมาหาฉันเพราะฉันหูตาไม่ดีแล้ว ให้ท่านหร่ำเขาลงให้และปลุกเสกให้ ส่วนถ้าจะให้ฉันปลุกเสกก็ค่อยเอามาให้ตอนหลังก็ได้ ท่านหร่ำเขาก็เสกได้เหมือนฉันนั่นแหละ"
หลวงพ่อหร่ำ ท่านมีความนิยมออกธุดงค์เป็นประจำ ท่านได้นำพระกรุเก่าที่ได้จากการธุดงค์ มาบรรจุไว้ในวัดกร่างที่มีผู้พบแตกกรุตอนหลัง
ซึ่งต่างคิดว่าหลวงพ่อหร่ำท่านสร้างไว้ แต่ความจริงแล้วเข้าใจผิด เพราะหลวงพ่อไปนำพระเหล่านี้จากกรุเก่าที่ท่านธุดงค์มาบรรจุไว้ ซึ่งสร้างปรากฎการณ์อภินิหารมากมาย
ตะกรุดโทนของหลวงพ่อหร่ำ โด่งดังเรื่องมหาอุตสุดยอด ยิงปืนไม่ลั่น กระบอกปืนบวมกันมานักต่อนัก ส่วนเหรียญทำบุญอายุของท่านปี พ.ศ. ๒๔๖๙ ที่คณะศิษย์ได้ร่วมใจกันจัดสร้างให้หลวงพ่อหร่ำปลุกเสก เหรียญนี้ทางมหาอุตดังมากจนมีเรื่องเล่าเป็นตำนานสืบต่อมาว่า..
ในคืนเดือนมืดวันหนึ่ง มีชายฉกรรจ์สามคนพายเรือมาจอดที่หน้าวัดกร่าง แล้วทั้งสามคนก็เดินขึ้นไปบนกุฎิหลวงพ่อหร่ำซึ่งยังจุดตะเกียงลานเหมือนจะรอชายทั้งสามอยู่ พอชายทั้งสามกราบนมัสการหลวงพ่อหร่ำท่านก็พูดลอยๆ ว่า
"ไอ้คนโตเอาหัวของข้าไปปล้นเขากิน ไอ้คนกลางเอาอกของข้าไปลักวัวควายชาวบ้านเขา ส่วนไอ้คนสุดท้องเอาขาข้าไปย่องเบา พวกเอ็งมันเอาข้าไปหากินจนเขาเดือดร้อนกันไปทั่ว ข้ารอพวกเอ็งมานานแล้ว รู้ว่าอย่างไรเสียพวกเอ็งก็ต้องมาหาข้า เพราะเอ็งมันเห็นว่าหลวงตาองค์นี้ช่วยพวกเอ็งหากิน ต่อไปนี้หากเอ็งไปปล้นใครอีก หรือไปขโมยของใครอีก จะต้องฉิบหายตายโหงแม้โลงก็จะไม่มีใส่ เอาชิ้นส่วนของข้าคืนมาให้หมด"
ทั้งสามคนตกใจหน้าซีดตัวสั่นปากคอสั่นเพราะไม่เคยมาหาหลวงพ่อ แต่ท่านกลับพูดได้อย่างถูกต้องทุกอย่าง คนโตที่เป็นพี่ใหญ่เคยใช้เหรียญหลวงพ่อหร่ำ ไปปล้นแล้วถูกเจ้าทรัพย์ยิงเอา แต่ยิงไม่ออก ออกก็ไม่ถูก ถูกก็ไม่เข้า
จึงชวนน้องคนกลางกับคนสุดท้องมาร่วมทำมาหากินในทางลักขโมยโดยเอาเลื่อยตัดแบ่ง เหรียญหลวงพ่อหร่ำเป็นสามส่วนเหมือนที่หลวงพ่อหร่ำบอก ชายที่เป็นพี่ใหญ่โต้หลวงพ่อหร่ำว่า
"ให้ผมเลิกอาชีพโจรลักเล็กขโมยน้อยไม่ยาก ผมรับปาก เพราะเมื่อหลวงพ่อสาปแช่งแล้วผมก็ไม่อาจจะทำมาหากินทางทุจริตได้อีก แต่เรื่องให้ผมคืนชิ้นส่วนเหรียญให้หลวงพ่อ ผมทำไม่ได้ ใครจะรับผิดชอบชีวิตของพวกผมเล่า"
หลวงพ่อหร่ำจึงหยิบเหรียญรุ่นแรกของท่านออกมาจากย่ามสามเหรียญ แล้วบอกกับพวกโจรว่า "เอาชิ้นส่วนมาแลกเป็นเหรียญเต็มๆไป ข้าเก็บเอาไว้ให้พวกเอ็งสามเหรียญ จงเลิกอาชีพนี้เสีย ไปประกอบอาชีพใหม่ให้สุจริต แล้วใครก็ทำอะไรเจ้าไม่ได้ แม้แต่อาญาบ้านเมืองก็จะไม่มาคร่าตัวไปได้"
หลวงพ่อหร่ำท่านเป็นพระที่ชาวบ้านเคารพเลื่อมใสศรัทธาในตัวท่านมากใครเป็นอะไร เจ็บไข้ได้ป่วยก็ไปให้ท่านช่วยรักษา ท่านก็จะกรุณาเมตตารักษาให้จนหายดี โดยใช้สมุนไพรต่างๆ ซึ่งท่านมีความรู้ความชำนาญอย่างยิ่ง
นอกจากนี้ก็ยังมีผู้ไปให้ท่าน ช่วยทำน้ำพระพุทธมนต์ประพรมอาบรดให้ สำเร็จสมประสงค์ทุกรายไป ส่วนในเรื่องวัตถุมงคลนั้นท่านก็ได้สร้างไว้ให้แก่ศิษย์หลายอย่าง เช่น ตะกรุด ผ้ายันต์ รูปกระดาษ พระเนื้อดินเผาพิมพ์พระขุนแผนใบพุทรา พระพิมพ์เม็ดน้อยหน่า เป็นต้น
หลวงพ่อหร่ำ ปกครองวัดเรื่อยมาจนถึงแก่มรณภาพลงด้วยโรคชราเมื่อวันที่ ๑๘ เมษายน พ.ศ. ๒๕๐๔ นับรวมสิริอายุได้ ๘๘ ปี ๖๘ พรรษา.
วัตถุมงคลของหลวงพ่อหร่ำ วัดกร่าง
เหรียญหลวงพ่อหร่ำ วัดกร่าง รุ่นแรก
สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๖๙ เพื่อในโอกาสพิธีกวนข้าวทิพย์ โดยการนำของพระมหาแหวนได้ปรึกษาหารือ และขออนุญาตจัดสร้างเพื่อสมนาคุณแด่ผู้เสียสละทรัพย์ทำบุญสร้างศาลาโรงธรรม ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มข้างเลื่อยรูปเสมาแบบมีหูในตัว จำนวนที่จัดสร้างเนื้อเงิน ๘๐ เหรียญ เนื้อทองแดง ๑,๐๐๐ เหรียญ มีทั้งชนิดกะไหล่ทอง กะไหล่เงินและแบบธรรมดา
เหรียญหลวงพ่อหร่ำ วัดกร่าง ปทุมธานี รุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๔๖๙ เนื้อทองแดงกระไหล่ทอง ของคุณโทน บางแค |
เหรียญหลวงพ่อหร่ำ วัดกร่าง ปทุมธานี รุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๔๖๙ เนื้อทองแดงกระไหล่ทอง ของคุณโทน บางแค |
เหรียญหลวงพ่อหร่ำ วัดกร่าง ปทุมธานี รุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๔๖๙ เนื้อทองแดง ของคุณไอซ์ มรดกไทย |
ด้านหน้า เป็นรูปจำลองหลวงพ่อหร่ำนั่งสมาธิเต็มองค์บนตั่ง องค์หลวงพ่อห่มจีวรลดไหล่ พาดผ้าสังฆาฏิ ใต้รูปหลวงพ่อมีรูปลิงซึ่งคือปีวอก(ปีเกิด) เหนือรูปหลวงพ่อมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "พระเทสระโล"
ด้านหลัง ตรงกลางมีอักขระยันต์
เหรียญหลวงพ่อหร่ำ วัดกร่าง รุ่นสอง
สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๙๙ เพื่อแจกให้กับผู้มีจิตศรัทธาในการทำบุญปฏิสังขรณ์พระอุโบสถ ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มรูปเสมาแบบมีหูในตัว มีการสร้างเนื้อทองแดงจำนวน ๕,๐๐๐ เหรียญ
เหรียญหลวงพ่อหร่ำ วัดกร่าง ปทุมธานี รุ่น 2 2499 ทองแดงกระไหล่ทอง ของคุณสรายุทธ |
ด้านหน้า เป็นรูปจำลองหลวงพ่อหร่ำนั่งสมาธิเต็มองค์ องค์หลวงพ่อห่มจีวรลดไหล่ พาดผ้าสังฆาฏิ ใต้รูปหลวงพ่อมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "หลวงพ่อหร่ำ วัดกร่าง" เหนือรูปหลวงพ่อมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "พ.ศ. ๒๔๙๙"
ด้านหลัง ตรงกลางมีอักขระยันต์
โดย : สารานุกรมพระเกจิแห่งแดนสยาม
บทความที่เกี่ยวข้อง
- ประวัติและวัตถุมงคลหลวงพ่อรักษ์ วัดน้อยแสงจันทร์ ศิษย์เอกหลวงพ่อช้าง วัดเขียนเขต ของเมืองสมุทรสงคราม
***-[เป็นกำลังใจและสนับสนุนให้เราเขียนบทความดีๆ ด้วยการกดดูโฆษณาด้านล่างนะคะ]-***
ไม่มีความคิดเห็น