ประวัติและวัตถุมงคลหลวงพ่อบุศย์ วัดพรหมวิหาร เจ้าของเหรียญหายากและปลัดขิกชั้นดีของเพชรบุรี
![]() |
หลวงพ่อบุศย์ วัดพรหมวิหาร เพชรบุรี |
หลวงพ่อบุศย์ วัดพรหมวิหาร หรือ พระครูพรหมวิหารธรรม (บุศย์ ปุญฺมาโค) อดีตเจ้าอาวาสวัดพรหมวิหาร ตำบลท่าราบ อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบุรี และผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดใหญ่สุวรรณาราม ตำบลท่าราบ อำเภอเมืองเพชรบุรี จังหวัดเพชรบุรี
ท่านมีนามเดิมว่าบุศย์ พริ้งจำรัส เกิดที่บ้านป่าขวาง หมู่ที่ ๔ ตำบลช่องสะแก อำเภอเมืองเพชรบุรี จังหวัดเพชรบุรี เมื่อวันที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๓๓ ตรงกับวันพฤหัสบดี แรม ๓ ค่ำเดือน ๓ ปีขาล โยมบิดาชื่อนายพริ้ง พริ้งจำรัส โยมมารดาชื่อนางดี พริ้งจำรัส
ในสมัยเด็กด้วยความที่ท่านเป็นเด็กที่เฉลียวฉลาดดว่าเด็กทั่วไป โยมบิดาและโยมมารดาได้นำท่านไปฝากเรียนหนังสือไทย สำนักวัดใหญ่สุวรรณาราม จนอ่านออกเขียนได้
ปี พ.ศ. ๒๔๕๔ หลวงพ่อบุศย์ ท่านมีอายุได้ ๒๑ ปีบริบูรณ์ ท่านจึงเข้ารับการอุปสมบทเป็นพระภิกษุ ณ พัทธสีมาวัดใหญ่สุวรรณาราม ตำบลท่าราบ อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบุรี เมื่อ วันที่ ๑ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๕๔ ได้รับฉายาว่า "ปุญฺมาโค" โดยมี
พระครูมหาวิหาราภิรักษ์ (พุก) วัดใหญ่สุวรรณาราม เป็นพระอุปัชฌาย์
พระอธิการพุ่ม วัดลาด เป็นพระกรรมวาจารย์
พระอธิการชม วัดสิงห์ เป็นพระอนุสาวนาจารย์
หลังจากที่อุปสมบทแล้ว ท่านได้อยู่จำพรรษาที่วัดใหญ่สุวรรณารามเรื่อยมาเพื่อร่ำเรียนพระธรรมวินัย และวิชาอาคมกับพระอุปัชฌาย์
![]() |
หลวงพ่อบุศย์ วัดพรหมวิหาร เพชรบุรี |
นอกจากนี้ท่านยังได้เดินทางไปศึกษาวิทยาคมจากพระครูอโศกธรรมสาร (โศก) วัดปากคลองบางครก หลวงพ่อชม วัดสิงห์ เป็นต้น
รวมทั้งท่านยังได้ศึกษาวิชาแพทแผนโบราณ จนมีความรู้ในเรื่องของยาสมุนไพร ยาแผนโบราณที่ใช้รักษาโรค ซึ่งทำให้ท่านมีชื่อเสียงมากในสมัยนั้น
ปี พ.ศ. ๒๔๕๗ ตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดพรหมวิหารได้ว่างลง พระครูมหาวิหาราภิรักษ์ (พุก) ซึ่งมีอำนาจหน้าที่ดูแลวัดในพื้นที่ จึงมีคำสั่งให้หลวงพ่อบุศย์ ซึ่งขณะนั้นบวชได้ ๔ พรรษา ไปดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาส ทดแทนตำแหน่งที่ว่างลง
วัดพรหมวิหาร เป็นวัดราษฏร์ สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ตั้งอยู่ที่ถนนพงษ์สุริยา ตำบลท่าราบ อำเภอเมืองเพชรบุรี จังหวัดเพชรบุรี วัดตั้งอยู่ในเขตเทศบาลเมืองเพชรบุรี มีเนื้อที่ประมาณ ๑๓ ไร่ ๘๕ ตารางวา
วัดสร้างเมื่อใดไม่ปรากฏหลักฐานชัดเจน ทราบเพียงว่าตั้งวัดอย่างถูกต้องเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๘๔ และวัดได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาปี พ.ศ. ๒๔๘๔ มีเจ้าอาวาสปกครองวัดเท่าที่ทราบนามดังนี้
๑. พระครูพรหมวิหารธรรม (บุศย์ ปุญฺมาโค) พ.ศ. ๒๔๕๘ - ๒๕๑๔
๒. พระอธิการถวิล พ.ศ. ๒๕๑๕ - ๒๕๒๘
๓. พระอธิการประยูร พ.ศ. ๒๕๒๙ - ๒๕๔๐
๔. พระอธิการสุชาติ อติชาโต พ.ศ. ๒๕๔๐ - ปัจจุบัน
หลังจากที่หลวงพ่อบุศย์ได้ขึ้นเป็นเจ้าอาวาส ท่านได้พัฒนาวัดอย่างสุดความสามารถทั้งการสร้างเสนาสนะและถาวรวัตถุต่างๆ จนวัดเจริญรุ่งเรืองขึ้นตามลำดับ
ปี พ.ศ. ๒๔๕๙ ท่านได้รับการแต่งตั้งให้เป็นพระกรรมวาจาจารย์
ปี พ.ศ. ๒๔๖๕ ท่านได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยเจ้าอาวาสพระอารามหลวงวัดใหญ่สุวรรณาราม
ปี พ.ศ. ๒๔๘๔ หลวงพ่อบุศย์ ท่านได้สร้างพระอุโบสถ และศาลาการเปรียญ ทดแทนของเก่าที่ชำรุด
ปี พ.ศ. ๒๕๐๐ ท่านได้สร้างหอสวดมนต์ หอฉัน หอระฆัง มณฑป เป็นอาคารครึ่งตึกครึ่งไม้ ทรงโบราณ ๒ ชั้น
ปี พ.ศ. ๒๕๐๓ หลวงพ่อบุศย์ ท่านได้รับแต่งตั้งฐานานุศักดิ์เป็นพระครูสังฆรักษ์ ฐานานุกรมใน พระเดชพระคุณพระราชสุวรรณมุนี (ผัน) เจ้าคณะจังหวัดเพชรบุรี วัดมหาธาตุวรวิหาร จังหวัดเพชรบุรี ในสมัยนั้น
![]() |
หลวงพ่อบุศย์ วัดพรหมวิหาร เพชรบุรี |
ปี พ.ศ. ๒๕๐๖ ด้วยคุณงามความดีของหลวงพ่อบุศย์ ในการพัฒนาวัดจนเจริญรุ่งเรืองเป็นอันมาก ท่านจึงได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ พระครูสัญญาบัตรผู้ช่วยเจ้าอาวาสพระอาราม-หลวง ชั้นตรี ที่ พระครูพรหมวิหารธรรม
ปี พ.ศ. ๒๕๑๓ ในช่วงเดือนกรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๑๓ หลวงพ่อบุศย์ ท่านเริ่มมีอาการอาพาธได้พักรักษาตัวอยู่ที่วัดพรหมวิหาร
ต่อมาเมื่อวันที่ ๘ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๔ อาการท่านกำเริบ คณะศิษย์จึงได้นำท่านไปรักษาที่โรงพยาบาลเพชรบุรี พักรักษาอยู่จนถึงวันที่ ๒๗ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๑๔ ท่านจึงได้ออกจากโรงพยาบาล มาพักรักษาตัวที่วัด
ในการป่วยครั้งนี้พระภิกษุสามเณร และศิษยานุศิษย์ได้ดูแลรักษาเยียวยากันอย่างเต็มที่ เป็นระยะเวลา ๑ ปีเศษ
หลวงพ่อบุศย์ ปกครองวัดเรื่อยมาจนถึงแก่กาลมรณภาพลงด้วยโรคชราเมื่อวันที่ ๑๕ กันยายน พ.ศ. ๒๕๑๔ ที่กุฏิสงฆ์ของวัดพรหมวิหาร นับรวมสิริอายุได้ ๘๑ ปี ๖๐ พรรษา.
วัตถุมงคลของหลวงพ่อบุศย์ วัดพรหมวิหาร
เหรียญหลวงพ่อบุศย์ วัดพรหมวิหาร รุ่นแรก
สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๙๖ เพื่อแจกให้กับผู้ที่บริจาคทรัพย์ให้กับทางวัด ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มรูปไข่แบบมีหูในตัว มีการสร้างด้วยเนื้อทองแดงเพียงชนิดเดียวเท่านั้น จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้
![]() |
เหรียญหลวงพ่อบุศย์ วัดพรหมวิหาร รุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๔๙๖ เนื้อทองแดง |
ด้านหน้า เป็นรูปจำลองของหลวงพ่อบุศย์ครึ่งองค์ห่มจีวรลดไหล่ พาดผ้าสังฆาฏิ มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "หลวงพ่อบุตร์ วัดพรหมวิหาร พ.ศ. ๙๖"
ด้านหลัง มีอักขระยันต์พระเจ้าห้าพระองค์อ่านได้ว่า "นะ โม พุท ธา ยะ"
เหรียญหลวงพ่อบุศย์ วัดพรหมวิหาร รุ่นสอง
สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๐๗ เพื่อแจกให้กับผู้ที่บริจาคทรัพย์ให้กับทางวัด และแจกในงานฉลองสมณศักดิ์ของหลวงพ่อ ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มรูปไข่แบบมีหูในตัว มีการสร้างด้วยเนื้อทองแดงเพียงชนิดเดียวเท่านั้น จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้
![]() |
เหรียญหลวงพ่อบุศย์ วัดพรหมวิหาร รุ่นสอง ปี พ.ศ. ๒๕๐๗ เนื้อทองแดง |
ด้านหน้า เป็นรูปจำลองของหลวงพ่อบุศย์ครึ่งองค์ห่มจีวรลดไหล่ พาดผ้าสังฆาฏิ มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "พระครูพรหมวิหารธรรม วัดพรหมวิหาร จ.เพชรบุรี พ.ศ. ๒๕๐๗"
ด้านหลัง มีอักขระยันต์พระเจ้าห้าพระองค์อ่านได้ว่า "นะ โม พุท ธา ยะ"
เหรียญหลวงพ่อบุศย์ วัดพรหมวิหาร รุ่น ๓ (เสาร์ห้า)
สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๑๒ เพื่อแจกให้กับผู้ที่บริจาคทรัพย์ให้กับทางวัด ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มรูปวงกลมแบบมีหูในตัว มีการสร้างด้วยเนื้อทองแดงเพียงชนิดเดียวเท่านั้น จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้
![]() |
เหรียญหลวงพ่อบุศย์ วัดพรหมวิหาร รุ่น ๓ (เสาร์ห้า) ปี พ.ศ. ๒๕๑๒ เนื้อทองแดง |
ด้านหน้า เป็นรูปจำลองของหลวงพ่อบุศย์ครึ่งองค์ห่มจีวรลดไหล่ พาดผ้าสังฆาฏิ มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "พระครูพรหมวิหารธรรม [หลวงพ่อบุศย์] วัดพรหมวิหาร จ.เพชรบุรี เสาร์ ๕ พุทธาภิเษก"
ด้านหลัง มีอักขระยันต์พระเจ้าห้าพระองค์อ่านได้ว่า "พุท โธ" ใต้อักขระยันต์มีอักขระเลขไทยเขียนว่า "๒๕๑๒" ซึ่งคือปีที่สร้างเหรียญ
ปลัดขิกหลวงพ่อบุศย์ วัดพรหมวิหาร
สร้างขึ้นก่อนปี พ.ศ. ๒๕๑๔ เพื่อแจกให้กับศิษยานุศิษย์ของท่าน โดยหลวงพ่อบุศย์ ท่านสร้างตามตำหรับของพระอาจารย์ของท่าน คือหลวงพ่อโศก วัดปากคลองบางครก เจ้าตำรับปลัดขิกจ้าวทะเล
สร้างจากไม้ที่มีคุณวิเศษในตัว หรือ บางตัวแกะจากงาช้าง ในยุคแรกๆหลวงพ่อจะให้พระเณรในวัดช่วยกันแกะมาให้ จากนั้นท่านจะมาแกะเพิ่มด้วยมือท่านเอง เวลาท่านทำปลัดขิกเสร็จแล้ว
ท่านจะนำไปเผาไฟตัวไหนไม่ไหม้ไฟจึงใช้ได้ บ้างท่านก็ปลุกเสกเสร็จแล้วท่านก็โยนลงใต้กุฏิของท่านซึ่งมีน้ำขังแล้วให้ลูกศิษย์ไปไล่จับเอาเอง
![]() |
ปลัดขิกหลวงพ่อบุศย์ วัดพรหมวิหาร เพชรบุรี |
ปลัดขิกที่ท่านเสกนั้นมีตัวมีตนมีอิทธิฤทธิ์ ชาวบ้านเล่าสืบต่อกันมาว่าในสมัยก่อนลูกศิษย์ที่ได้รับแจกไปมักนิยมนำไปผูกเอว ขณะดำนาอยู่มีผู้หญิงเดินผ่านปลัดที่ห้อยอยู่ที่เอวก็ชี้ไปทางผู้หญิงคนนั้นอย่างน่าอัศจรรย์
ซึ่งปลัดของท่านจะลงคาถาหัวใจโจร "กันหะเนหะ" จัดเป็นเครื่องรางมหาเสน่ห์ โชคลาภ เมตตาค้าขาย ป้องกันสิ่งไม่ดีต่างๆ ปัจจุบันเริ่มหายาก
โดย : สารานุกรมพระเกจิแห่งแดนสยาม
บทความที่เกี่ยวข้อง
***-[เป็นกำลังใจและสนับสนุนให้เราเขียนบทความดีๆ ด้วยการกดดูโฆษณาด้านล่างนะคะ]-***
ไม่มีความคิดเห็น