ประวัติและวัตถุมงคลหลวงพ่อกุน วัดพระนอน เจ้าของตะกรุดดีตะกรุดดังของเพชรบุรี
หลวงพ่อกุน วัดพระนอน เพชรบุรี |
หลวงพ่อกุน วัดพระนอน หรือ พระครูสุชาตเมธาจารย์ อดีตเจ้าอาวาสวัดพระนอน ตำบลคลองกระแซง อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบุรี พื้นเพท่านเป็นชาวบ้านหนองกาทอง ตำบลโรงเข้ จังหวัดเพชรบุรี เกิดเมื่อปีวอก พ.ศ. ๒๔๐๓ (ไม่ทราบนามบิดา) โยมมารดาชื่อนางม่วง มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน ๕ คน เป็นผู้ชายทั้งหมด
ในวัยเยาว์ท่านมีนิสัยโน้มเอียงไปทางสมณะ กล่าวคือชอบนั่งบนจอมปลวกแล้ว เทศน์ให้เพื่อนฟัง ต่อมาโยมมารดาได้นำท่านมาฝากเรียนอยู่วัดวังบัว ตำบลลาดโพธิ์ อำเภอบ้านลาด จังหวัดเพชรบุรี ซึ่งอยู่ห่างจากบ้าน ประมาณ ๓ กิโลเมตร และท่านก็ได้บรรพชาเป็นสามเณรอยู่ที่วัดวังบัว
ปี พ.ศ. ๒๔๒๓ หลวงพ่อกุน ท่านมีอายุครบ ๒๐ ปี ท่านจึงได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุ ณ พัทธสีมาวัดวังบัว ตำบลลาดโพธิ์ อำเภอบ้านลาด จังหวัดเพชรบุรี (ไม่ทราบนามพระอุปัชฌาย์)
หลังจากอุปสมบทแล้วท่านได้อยู่จำพรรษาที่วัดวังบัวเรื่อยมาเพื่อศึกษาวิชาอาคมและพระธรรมวินัยต่างๆ
นอกจากนี้ท่านยังมีความอุตสาหะเป็นอย่างมาก ท่านได้เดินทางไปศึกษาวิชากับอาจารย์แจ้ง วัดดอนไก่เตี้ย และได้ศึกษาวิชาการที่วัดข่อย ศึกษาทางช่างศิลป์กับท่านอาจารย์มุ่ย วัดใหญ่สุวรรณาราม และคุณพ่อฤทธิ์ (หนังใหญ่) วัดพลับพลาชัย
ปี พ.ศ. ๒๔๒๖ ท่านบวชอยู่ ๓ พรรษา จึงได้ย้ายมาจำพรรษาอยู่ที่วัดพระพุทธไสยาสน์ (วัดพระนอน) ซึ่งในสมัยนั้นมีพระครูสุวรรณมุนีเป็นเจ้าอาวาส ต่อมาหลวงพ่อกุนได้เป็นสมุห์
ต่อมาพระครูสุวรรณมุนีได้มรณะภาพลง ชาวบ้านและคณะสงฆ์จึงพร้อมใจกันนิมนต์หลวงพ่อกุนเป็นเจ้าอาวาสวัดพระพุทธไสยาสน์ (พระนอน) ทดแทนตำแหน่งที่ว่างลง
หลวงพ่อกุน วัดพระนอน เพชรบุรี |
วัดพระพุทธไสยาสน์ เป็นวัดราษฎร์ สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย ตั้งอยู่ในตำบลคลองกระแชง อำเภอเมืองเพชรบุรี จังหวัดเพชรบุรี
วัดพระพุทธไสยาสน์ สันนิษฐานว่าสร้างมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ข้อมูลกรมการศาสนาระบุว่าตั้งวัดเมื่อปี พ.ศ. ๒๒๐๐ ภายในวัดมีพระพุทธไสยาสน์ขนาดใหญ่สร้างด้วยอิฐลงรักปิดทอง ยาวประมาณ ๔๓ เมตร ซึ่งมีประวัติว่าเดิมสร้างไว้กลางแจ้ง
วัดแห่งนี้ได้ถูกปล่อยทิ้งจนกลายเป็นวัดร้าง ชาวบ้านในพื้นที่เรียกติดปากว่า วัดพระนอน จนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงทอดพระเนตรเห็นองค์พระนอนที่ทรุดโทรมมากจึงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างหลังคาสังกะสีคลุมไว้
ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีการสร้างหลังคากระเบื้องคลุมองค์พระนอนไว้และกลายเป็นวิหารพระพุทธไสยาสน์ดังที่เห็นในปัจจุบัน
ในการบูรณะองค์พระนอนเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๐ พบอุโมงค์ภายในองค์พระ มีโบราณวัตถุอยู่เป็นจำนวนมาก ส่วนใหญ่เป็นพระพุทธรูปทำจากวัสดุต่างๆ ได้แก่ สำริด ดินเผา ปูนปั้น หินทราย และไม้บุเงิน ส่วนใหญ่เป็นพระพุทธรูปแบบศิลปะอยุธยาตอนปลาย
จุดเด่นของพระนอนองค์นี้ที่แตกต่างจากที่อื่นกล่าวคือ ที่เศียรขององค์พระมีหมอนบรรทมรูปดอกบัวรองพระเศียรอยู่สองก้อน องค์พระพุทธรูปนอนประทับในอิริยาบถตะแคงขวา พระเศียรหันไปทางทิศตะวันตก ถือเป็นพระนอนที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับที่ ๔ ในประเทศไทย
หลวงพ่อกุน วัดพระนอน เพชรบุรี |
หลังจากที่หลวงพ่อกุนได้ขึ้นเป็นเจ้าอาวาส ท่านได้สร้างเสนาสนะต่างๆ ตลอดจนถาวรวัตถุต่างๆ จนวัดเจริญรุ่งเรืองขึ้นตามลำดับ
ด้วยคุณงามความดีของหลวงพ่อที่พัฒนาวัดจนเจริญรุ่งเรือง ท่านจึงได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตรที่ "พระครูสุชาตเมธาจารย์"
คนเฒ่าคนแก่เล่าสืบต่อกันมาว่า ทุกพรรษาหลวงพ่อกุนท่านจะขึ้นไปนั่งบำเพ็ญกัมฏฐานในถ้ำ ในวิหารเล็กประมาณ ๗ วัน
หลวงพ่อกุน เคยเล่าให้ศิษย์ใกล้ชิดฟังว่า ครั้งหนึ่งก่อนจะนั่งเข้าที่ พระปลัดเทพ (พระครูสมณกิจพิศาล) เอาน้ำชามาถวายท่านรับไว้ พอเริ่มจะเข้าที่ ปรากฏเห็นเช่นนั้นอีก ท่านว่าเหมือนของจริงทุกอย่าง พอเอื้อมมือจะรับนึกขึ้นได้ว่าเพิ่งมาถวายเมื่อสักครู่นี้ จึงไม่รับท่านว่าเกือบเสียท่า
นอกจากนี้ท่านยังได้นำพระภิกษุในวัดออกธุดงค์ปีละหลายๆองค์ และออกธุดงค์อยู่หลายปี พระภิกษุที่ออกธุดงค์กับท่านจะไปด้วยความมั่นใจ ไม่ว่าท่านจะไปทางเหนือหรือทางใต้ เป็นต้องมีพระภิกษุสมัครไปด้วยเสมอ
หลวงพ่อกุนท่านยังได้สร้างตะกรุดแจกแก่ชาวบ้านและศิษย์อีกด้วย ตะกรุดของหลวงพ่อกุนนั้น กล่าวขานกันว่า ตำหรับทำตะกรุดนี้ จารึกไว้ในสมุดจีนใบปกเขียว รูปที่เขียนเป็นเรื่องรามเกียรติ์ ตอนหนุมานถวายแหวน
ในอดีตถ้ากล่าวถึงตะกรุดที่มีราคาแพงที่สุด คงหนีไม่พ้นตะกรุดของหลวงพ่อกุน วัดพระนอน ซึ่งเป็นตะกรุดสุดเข้มขลัง ตะกรุดมหาระงับ นารายณ์สะกดทัพ และอื่นๆ อีกมากมาย
เรียกได้ว่านักเลงในสมัยก่อนยังนำตะกรุดของหลวงพ่อ ไปลองแขวนไว้ที่เสาบ้านใคร เป็นได้หลับไม่ตื่นกันทั้งบ้าน จะทำเสียงดังอย่างไรก็ไม่ตื่นกันเลย นั่นเพราะตะกรุดที่ท่านได้สร้าง ได้ลงอักขระไว้สะกดให้ทุกคนในบ้านหลับไม่ตื่นนั้นเอง เรื่องเสน่ห์ก็เป็นเยี่ยม
สมัยก่อนของดีของหลวงพ่อกุนเลื่องลือมาก สมัยที่ท่านยังมีชีวิตอยู่ปลัดเมืองเพชรบุรี ยังเคยมาขอของท่าน เพื่อไปคุ้มครองตัวเอง แต่ของดีของหลวงพ่อนั้นมีน้อยมาก เพราะกว่าท่านจะทำออกมาแต่ละอย่างใช้เวลามากขั้นตอนเยอะและซับซ้อน ปัจจุบันนี้วัตถุมงคลของหลวงพ่อหาชมได้ยากมาก
หลวงพ่อกุน ปกครองวัดเรื่อยมาจนแก่มรณภาพลงเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๖๓ นับรวมสิริอายุได้ ๖๐ ปี ๔๐ พรรษา.
วัตถุมงคลของหลวงพ่อกุน วัดพระนอน
ตะกรุดไมรยราพสะกดทัพหลวงพ่อกุน วัดพระนอน
สร้างขึ้นก่อนปี พ.ศ. ๒๔๖๓ เพื่อแจกให้กับศิษยานุศิษย์ของหลวงพ่อ ลักษณะเป็นตะกรุดเนื้อโลหะลงอักขระยันต์ตามตำหรับและฤกษ์ของหลวงพ่อ ดอกยาวประมาณ ๔-๕ นิ้ว มีการสร้างด้วยเนื้อทองคำ และเนื้อเงิน มีการสร้างทั้งแบบถักและไม่ถักเชือก จำนวนการสร้างน้อยหายาก
ตะกรุดไมยราพสะกดทัพหลวงพ่อกุน วัดพระนอน เพชรบุรี ก่อนปี พ.ศ. ๒๔๖๓ เนื้อทองคำ ของคุณวุฒิ รถไฟ |
ตะกรุดไมยราพสะกดทัพหลวงพ่อกุน วัดพระนอน เพชรบุรี ก่อนปี พ.ศ. ๒๔๖๓ เนื้อเงิน |
ในการสร้างนั้นหลวงพ่อท่านใช้ฤกษ์เสาร์ห้า เป็นฤกษ์ในการลงอักขระเลยยันต์และปลุกเสก สถานที่ปลุกเสกท่านก็ไปปลุกเสกในป่าช้า เจ็ดป่าช้า มีป่าช้า วัดพลับ, วัดแก่นเหล็ก, และวัดพระนอน เป็นต้น
หลังจากนั้นเมื่อถึงคืนวันเพ็ญเดือนสิบสอง หลวงพ่อท่านก็จะใช้ลูกสบ้ามอญ ลบถูรอยเหล็กจารที่ท่านได้จารไว้ออก และพอถึงฤกษ์เสาร์ห้า ก็กลับไปจารที่ป่าช้าอีก
ท่านทำเช่นนั้นจนครบ ๓ รอบ ท่านถึงจะนำออกมาแจกจ่ายแก่บรรดาลูกศิษย์ลูกหา พุทธคุณนั้นเหล่าเรื่องมหาเสน่ห์ก็ไม่แพ้พระขุนแผนสำนักไหนเลย
นอกจากนี้ยังมียันต์มงกุฎพระเจ้ายันต์ที่ท่านลงและปลุกเสกในตะกรุด ซึ่งจะโดดเด่นในเรื่องมหาอุด อยู่ยงคงกระพันก็เยี่ยม
แต่สิ่งหนึ่งที่หลวงพ่อท่านสั่งทุกคนที่ได้ของท่านไปว่า ขออย่างเดียวอย่าไปขโมยของเขา ถ้าไปขโมยของเขาก็จะใช้ไม่ขึ้น
โดย : สารานุกรมพระเกจิแห่งแดนสยาม
บทความที่เกี่ยวข้อง
***-[เป็นกำลังใจและสนับสนุนให้เราเขียนบทความดีๆ ด้วยการกดดูโฆษณาด้านล่างนะคะ]-***
ไม่มีความคิดเห็น