ประวัติและวัตถุมงคลหลวงพ่อจ่าง วัดเขื่อนเพชร เพชรบุรี
หลวงพ่อจ่าง วัดเขื่อนเพชร เพชรบุรี |
หลวงพ่อจ่าง วัดเขื่อนเพชร หรือ พระครูสุนทรวชิรเวช (อเชยโย) วัดเขื่อนเพชร(โค้งข่อย) ตำบลท่าคอย อำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี ท่านมีนามเดิมว่า จ่าง เปี่ยมศรี พื้นเพท่านเป็นชาวที่บ้านท่าคอย ตำบลท่าคอย อำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี
ท่านเกิดเมื่อวันอาทิตย์ ขึ้น ๑๔ ค่ำ เดือน ๘ พ.ศ. ๒๔๔๙ ปีวอก แต่ตามปฏิทินร้อยปีนั้นปีวอก ตรงกับวันที่ ๑๒ กรกฏาคม พ.ศ. ๒๔๕๑ (เข้าใจว่าหลวงพ่อท่านเกิดในปี พ.ศ. ๒๔๔๙ แต่โยมของท่านไปแจ้งเกิดช้าเพื่อจะได้เกณฑ์ทหารช้าออกไป ๒ ปี ทำให้หลักฐานทางราชการท่านเกิดในปีวอก พ.ศ.๒๕๕๑ หลวงพ่อท่านจึงจำทั้งสองอย่างปะปนกัน)
โยมบิดาชื่อนายหร่ำ เปี่ยมศรี เป็นคนจังหวัดสุพรรณบุรี โยมมารดาชื่อนางส่วน เปี่ยมศรี เป็นคนจังหวัดเพชรบุรี ที่บ้านมีอาชีพทำขนมจีนขาย
ปี พ.ศ. ๒๔๕๖ หลวงพ่อจ่าง ท่านมีอายุได้ ๗ ขวบ โยมบิดาจึงนำท่านไปฝากเรียน ก.ข. โดยยกให้เป็นบุตรบุญธรรมของหลวงพ่อวัดชีอินทร์ ซึ่งหลวงพ่อวัดชีอินทร์นี้เก่งทางหมอ เรียนอยู่ ๑ ปี ก็กลับมาอยู่วัดท่าคอย เพื่อเรียนภาษาไทย-ขอมกับหลวงพ่อฉิม ซึ่งท่านเก่งทางตะกรุด ยิงไม่ออก)
เรียนภาษาไทย-ขอมกับหลวงพ่อฉิมอยู่ ๓-๔ ปี จึงได้บวชเป็นสามเณรอยู่กับหลวงพ่อฉิมอีก ๑ ปี พอปีที่ ๒ ก็ได้ไปอยู่กับหลวงพ่อเจิม วัดกุฏีทอง ที่จังหวัดสุพรรณบุรี เพื่อเรียนนักธรรม ด้วยว่ามีปู่ ย่า พร้อมญาติทางพ่ออยู่ที่นั่นและต้องการได้ใส่บาตรกับท่าน เรียนอยู่กับหลวงพ่อเจิม ๑ ปี จนสามารถสอบนักธรรมตรีได้แล้ว จึงกลับมาอยู่ที่วัดท่าคอยกับหลวงพ่อฉิม
ปี พ.ศ. ๒๔๗๑ ท่านมีอายุครบ ๒๒ ปี ท่านจึงอุปสมบทเป็นพระภิกษุ ณ พัทธสีมาวัดท่าคอย ตำบลท่าคอย อำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี ได้รับฉายาว่า "อเชยฺโย" โดยมี
หลวงพ่อฉิม วัดท่าคอย เป็นพระอุปัชฌาย์
หลวงพ่อหอม วัดอินจำปา เป็นพระกรรมวาจาจารย์
หลวงพ่อโต๊ะ วัดท่อเจริญธรรม เป็นพระอนุสาวนาจารย์
หลังจากที่อุปสมบทแล้ว ท่านได้อยู่จำพรรษาที่วัดท่าคอย เพื่อศึกษาพระธรรมวินัยและวิชาอาคมกับพระอุปัชฌาย์ของท่าน
ปี พ.ศ. ๒๔๗๒ หลวงพ่อจ่าง ท่านได้ย้ายไปจำพรรษาอยู่ที่วัดกุฏีทอง จังหวัดสุพรรณบุรี เพื่อร่ำเรียนกรรมฐานกับหลวงพ่อเจิม และให้ญาติพี่น้องทางฝั่งพ่อได้ใส่บาตร ๑ พรรษา
หลวงพ่อฉิม วัดท่าคอย เพชรบุรี พระอาจารย์และพระอุปัชฌาย์ของหลวงพ่อจ่าง |
ปี พ.ศ. ๒๔๗๓ ท่านจึงกลับมาจำพรรษาที่วัดท่าคอย เพื่อศึกษากรรมฐานและพุทธาคมกับหลวงพ่อฉิมเพิ่มเติมและศึกษาเรื่อยมา
ระหว่างนี้ท่านได้ไปเรียนกรรมฐานกับหลวงพ่อคล้ำ วัดลาด อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบุรี ซึ่งหลวงพ่อคล้ำนี้ท่านเป็นลูกศิษย์เอกของหลวงพ่อมี วัดพระทรง เก่งวิชากรรมฐานมาก
เมื่อหลวงพ่อมี วัดพระทรงล่วงลับไปในปี พ.ศ. ๒๔๕๒ แล้ว บรรดาผู้ที่ศรัทธาในหลวงพ่อมีก็มาร่ำเรียนการปฏิบัติกรรมฐานกับหลวงพ่อคล้ำกันทั้งสิ้น ในแต่ละปีจะมีพระมาขอขึ้นธุดงค์กับท่านจำนวนมาก จนเรียกได้ว่ามากที่สุดในจังหวัดเพชรบุรีในยุคนั้น
และหลวงพ่อคล้ำนี้เองที่เป็นพระอาจารย์สอนกรรมฐานของหลวงพ่อเปี่ยม วัดเกาะหลัก โดยหลวงพ่อมี วัดพระทรงมานั่งอุปัชฌาย์ให้หลวงพ่อเปี่ยมที่โบสถ์วัดลาด แล้วหลวงพ่อเปี่ยมก็จำวัดอยู่ศึกษากรรมฐานและพุทธาคมกับหลวงพ่อคล้ำที่วัดลาดถึง ๕ ปี ก่อนจะออกไปช่วยหลวงพ่ออ่ำ วัดนาห้วยสร้างโบสถ์จนสำเร็จ
แต่เสียดายที่หลวงพ่อคล้ำท่านไม่ได้เป็นเจ้าอาวาส (เจ้าอาวาสวัดลาดในขณะนั้นชื่อ หลวงพ่อเรศน์) และท่านก็ไม่ได้ออกเหรียญ ทำให้พวกนักเขียนหนังสือพระทั่วๆไปไม่รู้จักท่าน ประวัติและเรื่องราวของท่านจึงเลือนหายไปตามกาลเวลา หลวงพ่อคล้ำถึงแก่มรณภาพราวปี พ.ศ. ๒๔๘๕ นับรวมสิริอายุได้ ๘๓ ปี
หลังจากหลวงพ่อจ่างได้เรียนกรรมฐานกับหลวงพ่อคล้ำแล้ว ท่านก็ได้เรียนวิชาหมอยากับหลวงปู่เปรม วัดท่าคอย ลูกศิษย์หลวงพ่อฉิมรุ่นแรกๆ อีกด้วย
หลังจากนั้นหลวงพ่อจ่าง ท่านจึงได้มาเข้าปริวาสกับหลวงพ่อทองสุข วัดโตนดหลวง เมื่อได้เข้าปริวาสและขึ้นเทียนฝากตัวเป็นศิษย์หลวงพ่อทองสุข วัดโตนดหลวง หลวงพ่อทองสุขได้ลงกระหม่อมให้ก่อน จากนั้นจึงสอนพระเวทคู่กับกรรมฐานให้
โดยหลวงพ่อจ่างใช้เวลาเดินทางไปๆมาๆ ระหว่างวัดท่าคอยและวัดโตนดหลวง เพื่อเรียนกับหลวงพ่อทองสุขอยู่นานถึง ๓-๔ปี จึงจะสำเร็จทุกประการ
หลวงพ่อจ่าง ท่านเล่าว่า เดินจากวัดท่าคอยไปวัดโตนดหลวงใช้เวลาครึ่งวัน ไปแต่ละครั้งก็ค้างอยู่ที่วัดโตนดหลวง ๒-๓ คืนจึงกลับ
หลวงพ่อหวล วัดนิคมฯ เคยเล่าให้ฟังว่าคุณพ่อสุขท่านรักคุณพ่อจ่างมาก เพราะคุณพ่อจ่างมีมานะและกตัญญู เวลาคุณพ่อจ่างมาหาคุณพ่อสุขทุกครั้งท่านจะหิ้วกล้วย หิ้วผลไม้จากท่ายางมาถวายคุณพ่อสุขทุกครั้ง
คุณปู่เมือบ สังข์ด้วง เล่าว่า คราใดที่คุณพ่อจ่างได้พบกับคุณพ่อสุขผู้เป็นพระอาจารย์ คุณพ่อจ่างต้องคลานเข้าไปให้คุณพ่อสุขลงกระหม่อมให้เสมอทุกครั้งไป จนคุณพ่อสุขท่านพูดเย้าว่า "ให้ฉันลงกระหม่อมมากขนาดนี้ ระวังตายไปจะเผาไม่ได้นะ"
ต่อมาหลวงพ่อฉิม วัดท่าคอย ได้ถึงแก่มรณภาพลง หลวงพ่อรวมขึ้นเป็นเจ้าอาวาสแทน และหลวงพ่อจ่างได้ขึ้นเป็นพระคู่สวดในพรรษาที่ ๑๕ จนถึงพรรษาที่ ๓๓
ปี พ.ศ. ๒๕๐๒ หลวงพ่อจ่าง ท่านก็ได้รับการอาราธนามาเป็นเจ้าอาวาสวัดเขื่อนเพชร (ขณะนั้นชื่อวัดโค้งข่อย) อ.เภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี แทนพระครูสุชาติเมธาจารย์ ที่ลาสิกขาไป (ท่านเป็นชาวจังหวัดขอนแก่น ต่อมาได้เป็น ส.ส.หนองคาย ๓ สมัย)
หลวงพ่อจ่าง วัดเขื่อนเพชร เพชรบุรี |
วัดเขื่อนเพชร เป็นวัดราษฎร์ สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ตั้งอยู่ที่หมู่ที่ ๔ ตำบลท่าคอย อำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี เดิมชื่อวัดโค้งข่อย เนื่องด้วยบริเวณวัดเป็นโค้งน้ำมีต้นข่อยขึ้นอยู่เป็นจำนวนมาก
ตั้งเป็นวัดเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๒ โดยมีพระครูสุชาติเมธาจารย์ เป็นเจ้าอาวาสรูปแรก ซึ่งขณะนั้นวัดมีสถานะเป็นเพียงสำนักสงฆ์ วัดได้รับวิสุงคามสีมาเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๐
หลังจากจากที่หลวงพ่อจ่าง ได้ขึ้นเป็นเจ้าอาวาสวัด ท่านก็ได้พัฒนาวัดอย่างสุดความสามารถทั้งการสร้างเสนาสนะต่างๆ ภายในวัดจนวัดเจริญรุ่งเรืองขึ้นตามลำดับ
และเมื่อมาเป็นเจ้าอาวาสวัดเขื่อนเพชรแล้ว หลวงพ่อจ่างท่านก็ไมได้หยุดการศึกษาพุทธาคมแต่ประการใด เมื่อมีโอกาสท่านจะไปสักการะหลวงพ่ออินทร์ วัดยาง และหลวงพ่อแดง วัดเขาบันไดอิฐอยู่บ่อยๆ โดยเฉพาะวันที่ ๒ ของการเข้าพรรษาทุกปี ท่านก็จะนำพานดอกไม้ธูปเทียนแพไปสักการะหลวงพ่ออินทร์ วัดยาง อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบุรี
จากนั้นก็เลยไปสักการะหลวงพ่อแดง วัดเขาบันไดอิฐ อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบุรีเสมอมา การมาสักการะหลวงพ่อแดงอยู่เสมอนี้เอง คงเป็นเหตุให้ได้พบเจอกับหลวงพ่อแช่ม วัดตาก้องที่มักจะมาพักกับหลวงพ่อแดงอยู่บ่อยๆ ด้วยเหตุนี้กระมังจึงมีผู้นำความไปร่ำลือว่า หลวงพ่อจ่างได้วิชาทางพุทธาคมจากหลวงพ่อทั้ง ๓ รูปอีกด้วย
หลวงพ่อจ่าง ปกครองวัดเรื่อยมาจนถึงแก่มรณภาพลงด้วยโรคชราเมื่อวันที่ ๓ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๕ เวลา ๑๗.๓๐น. นับรวมสิริอายุได้ ๙๔ ปี ๗๒ พรรษา.
วัตถุมงคลของหลวงพ่อจ่าง วัดเขื่อนเพชร
เหรียญหลวงพ่อจ่าง วัดเขื่อนเพชร รุ่นแรก
สร้างขึ้นในราวปี พ.ศ. ๒๕๑๓ เพื่อแจกให้กับผู้ที่บริจาคทรัพย์ให้กับทางวัด และแจกในงานฉลองพระประธาน ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มรูปไข่แบบมีหูในตัว มีการสร้างด้วยเนื้อทองแดงเพียงชนิดเดียวเท่านั้น จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้
เหรียญหลวงพ่อจ่าง วัดเขื่อนเพชร เพชรบุรี รุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๕๑๓ เนื้อทองแดงกระไหล่ทอง |
เหรียญหลวงพ่อจ่าง วัดเขื่อนเพชร เพชรบุรี รุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๕๑๓ เนื้อทองแดงกระไหล่ทอง |
เหรียญหลวงพ่อจ่าง วัดเขื่อนเพชร เพชรบุรี รุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๕๑๓ เนื้อทองแดงกระไหล่ทอง |
ด้านหน้า จำลองเป็นรูปพระพุทธรูปปางสมาธิประทับนั่งบนฐานเขียง ๕ ชั้น คล้ายพระสมเด็จ ขอบเหรียญมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "ในงานฉลองพระประธานวัดโค้งข่อย ๒๕๑๓"
ด้านหลัง จำลองเป็นรูปหลวงพ่อจ่างครึ่งองค์ห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฏิ ใต้รูปหลวงพ่อมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "พระครูสุนทรวชิรเวท"
เหรียญหลวงพ่อจ่าง วัดเขื่อนเพชร รุ่นพิเศษ
สร้างขึ้นในราวปี พ.ศ. ๒๕๒๕ เพื่อแจกให้กับผู้ที่บริจาคทรัพย์ให้กับทางวัด ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มทรงพุ่มข้าวบิณฑ์แบบมีหูในตัว มีการสร้างด้วยเนื้อทองแดงเพียงชนิดเดียวเท่านั้น จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้
เหรียญหลวงพ่อจ่าง วัดเขื่อนเพชร เพชรบุรี รุ่นพิเศษ ปี พ.ศ. ๒๕๒๕ เนื้อทองแดงชุปนิกเกิ้ล |
เหรียญหลวงพ่อจ่าง วัดเขื่อนเพชร เพชรบุรี รุ่นพิเศษ ปี พ.ศ. ๒๕๒๕ เนื้อทองแดง |
ด้านหน้า จำลองเป็นรูปหลวงพ่อจ่างครึ่งองค์ห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฏิ ใต้รูปหลวงพ่อมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "พระครูสุนทรวัชรเวท (หลวงพ่อจ่าง) รุ่นพิเศษ"
ด้านหลัง มีอักขระยันต์ ใต้อักขระยันต์มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "วัดเขื่อนเพชร อ.ท่ายาง จ.เพชรบุรี"
หมายเหตุ : วัตถุมงคลรุ่นหลังๆไม่ได้ถูกจัดเก็บไว้ต้องขออภัยมา ณ ที่นี้ด้วย
โดย : สารานุกรมพระเกจิแห่งแดนสยาม
บทความที่เกี่ยวข้อง
***-[เป็นกำลังใจและสนับสนุนให้เราเขียนบทความดีๆ ด้วยการกดดูโฆษณาด้านล่างนะคะ]-***
ไม่มีความคิดเห็น