ประวัติและวัตถุมงคลพระครูสุวรรณมุนี (หลวงพ่อชิต) วัดมหาธาตุ เจ้าของเหรียญลงยาหายากของเมืองเพชรบุรี
พระครูสุวรรณมุนี หรือ หลวงพ่อชิต วัดมหาธาตุ เพชรบุรี |
หลวงพ่อชิต วัดมหาธาตุ หรือ พระครูสุวรรณมุนีนรสีห์ธรรมทายาทสังฆวาหะ (ชิต สุวณฺณโชติ) วัดมหาธาตุ อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบุรี ท่านมีนามเดิมว่า ชิต ชิตรัตน์ พื้นเพท่านเป็นชาวบ้านตำบลบ้านต้นมะม่วง อำเภอคลองกระแชง จังหวัดเพชรบุรี
ท่านเกิดเมื่อวันอังคาร เดือน ๔ แรม ๑๓ ค่ำ ปีขาล อัฏฐศก จุลศักราช ๑๒๒๘ ตรงกับวันที่ ๒ เมษายน พ.ศ. ๒๔๑๐ โยมบิดาชื่อหมื่นโยธา (สัง ชิตรัตน์) โยมมารดาชื่อนางอุ่ม ชิตรัตน์ ท่านเป็นพี่คนโตมีน้อง ๒ คน น้องชายชื่อ เชย ชิตรัตน์ น้องสาวชื่อ จีต ชิตรัตน์
ปี พ.ศ. ๒๔๒๑ ท่านมีอายุได้ ๑๑ ปี โยมบิดาเห็นสมควรที่จะศึกษาเล่าเรียนวิชาหนังสือ จึงได้นำตัวท่านไปฝากไว้กับพระอธิการครุธ วัดมหาธาตุ ซึ่งมีศักดิ์เป็นตา เพื่อเล่าเรียนวิชาทางหนังสือไทยและขอม จนพออ่านออกเขียนได้ตามประเพณีตามประเพณีโบราณ
ปี พ.ศ. ๒๔๒๗ ท่านมีอายุได้ ๑๘ ปี จึงได้ลากลับไปอยู่บ้าน เพื่อช่วยบิดามารดาประกอบอาชีพ ทำงานอยู่ที่บ้าน
ปี พ.ศ. ๒๔๒๙ หลังจากที่ท่านช่วยทำงานอยู่ที่บ้านได้ ๒ ปี ท่านจึงเข้ารับการอุปสมบทเป็นพระภิกษุ ณ พัทธสีมาวัดจันทร์ (วัดจันทราวาส) ตำบลท่าราบ อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบุรี เมื่อวันจันทร์ เดือน ๗ พ.ศ. ๒๔๒๙ ได้รับฉายาว่า "สุวณฺณโชติ" โดยมี
พระอธิการกรุด วัดจันทร์ เป็นพระอุปัชฌาย์
พระอธิการครุธ วัดมหาธาตุ เป็นพระกรรมวาจาจารย์
พระอาจารย์พ่วง วัดจันทร์ เป็นพระอนุสาวนาจารย์
หลังจากที่อุปสมบทแล้วท่านได้อยู่จำพรรษาที่วัดจันทร์ได้ไม่นาน ก็ย้ายไปอยู่จำพรรษาที่วัดมหาธาตุกับพระอธิการครุธ เพื่อเล่าเรียนคันถธุระ และวิปัสสนาธุระ จนถึงปี พ.ศ. ๒๔๓๕ พระอธิการครุธได้ถึงแก่มรณภาพ และได้ทำการฌาปนกิจ ในปี พ.ศ. ๒๔๓๖
ปี พ.ศ. ๒๔๓๖ ภายหลังจากที่ได้ทำการฌาปนกิจพระอธิการครุฑแล้ว หลวงพ่อชิต ท่านก็ย้ายจากวัดมหาธาตุ จังหวัดเพชรบุรี ไปอยู่จำพรรษาที่วัดโมลีโลกย์ ปากคลองบางกอกใหญ่ กรุงเทพฯ
โดยสมัยนั้นมีท่านเจ้าคุณวิเชียรธรรม (โสต) เป็นเจ้าอาวาส ท่านได้ช่วยท่านเจ้าคุณฯ สถาปนาการปฏิสังขรณ์ ซ่อมกุฏิที่ชำรุดให้ดีขึ้น ท่านจำพรรษาอยู่วัดนี้ประมาณ ๑๑ พรรษา
ปี พ.ศ. ๒๔๔๘ เจ้าคุณพระพิศาลสมณกิจ(สิน) พร้อมด้วยญาติของท่าน ได้นิมนต์ท่านกลับมาเมืองเพชรบุรีอีกครั้ง โดยให้ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดมหาธาตุ ซึ่งตอนนั้นตำแหน่งเจ้าอาวาสได้ว่างลง
พระครูสุวรรณมุนี หรือ หลวงพ่อชิต วัดมหาธาตุ เพชรบุรี |
หลังจากขึ้นเป็นเจ้าอาวาส ท่านได้สร้างความเจริญก้าวหน้าให้แก่วัด ทั้งในด้านการสร้างความเคารพศรัทธาจากประชาชนทั้งหลาย การปฏิสังขรณ์ กุฏิ วิหาร อุโบสถ พระเจดีย์ และพระศรีรัตนมหาธาตุ
และได้ส่งเสริมการศึกษาทั้งฝ่ายสงฆ์และฆราวาส คือก่อตั้งโรงเรียนนักธรรมและโรงเรียนสอนวิชาสามัญ (โรงเรียนสุวรรณรังสฤษดิ์) ขึ้น ในการดำเนินงานต่างๆ ท่านได้ขอความร่วมมือจากผู้มีจิตศรัทธา ให้ร่วมแรงร่วมใจกันทำงานร่วมกันบริจาคทรัพย์
นอกจากนี้ท่านยังได้รับพระราชทานทรัพย์ของหลวงช่วยเหลือ และท่านได้บริจาคเงินส่วนตัวของท่านมาใช้กิจการเหล่านั้นจนงานสำเร็จลุล่วงด้วยดีทุกประการ ถาวรวัตถุโบราณ และโบราณสถาน ที่ท่านได้ชักชวนผู้คนให้ร่วมกันบูรณะ ปฏิสังขรณ์ หรือสร้าง เพิ่มเติม จนวัดเจริญรุ่งเรืองขึ้นเป็นอย่างมาก
ปี พ.ศ. ๒๔๖๓ หลวงพ่อชิต ท่านมีอายุได้ ๕๔ ปี ท่านได้รับพระกรุณาโปรดพระราชทานสมณศักดิ์ เป็น พระครูญาณพิลาป เจ้าคณะอำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี
ปี พ.ศ. ๒๔๗๑ ท่านมีอายุได้ ๖๒ ปี ก็ทรงพระกรุณาโปรดพระราชทานสมณศักดิ์ เป็น พระครูสุวรรณมุนีนรสีห์ธรรมทายาทสังฆวาหะ เจ้าคณะจังหวัดเพชรบุรี
ปี พ.ศ. ๒๔๗๙ ท่านได้ชักชวนคฤหัสถ์ บรรพชิตมากมาย ให้ร่วมมือช่วยกันปฏิสังขรณ์ปรางค์ใหญ่ ๕ ยอด ซึ่งเป็นพระปรางค์เก่าแก่ของทางวัดที่หักพังเหลือเพียงครึ่งเดียว ให้กลับมาสำเร็จเป็นองค์คงรูปเดิมดังที่เห็นในปัจจุบัน
ในการบูรณะครั้งนั้น ท่านได้บันทึกข้อมูลเกี่ยวกับเหตุการณ์ต่างๆ ของวัดมหาธาตุ ตลอดจนเหตุการณ์สำคัญของจังหวัดเพชรบุรี ไว้ในหนังสือชื่อ "ประวัติพระศรีรัตนมหาธาตุและพระครูสุวรรณมุนีสีห์ธรรมทายาท สังฆาวาหะ" ซึ่งท่านได้เรียบเรียงขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๗๙
นับเป็นเอกสารที่มีคุณค่าอย่างยิ่งเล่มหนึ่ง ให้ข้อมูลทางประวัติศาสตร์หลายเรื่อง ที่เป็นประโยชน์แก่การศึกษาค้นคว้าในปัจจุบันได้แก่ ประวัติพระศรีรัตนมหาธาตุ (ตามคำบอก) พระศรีรัตนมหาธาตุ (ปรางค์ใหญ่ ๕ ยอด) เป็นโบราณวัตถุที่มีมาช้านาน โดยไม่ปรากฏชัดว่าสร้าง เมื่อใด ใครเป็นผู้สร้าง
เมื่อหลวงพ่อชิต ท่านยังเป็นเด็กท่านก็เห็นพระปรางค์นี้แล้ว อยู่ในสภาพหักพังอยู่ประมาณครึ่งองค์กว่า ท่านพยายามที่จะค้นประวัติเดิม โดยสอบถามอาจารย์ของท่าน ซึ่งมีอายุ ๗๐ ปีเศษ แต่ท่านอาจารย์ก็ไม่ทราบและได้เล่าให้ฟังอีกว่า ท่านเองก็ได้ไต่ถามผู้เฒ่า อายุ ๑๐๐ ปี ผู้เฒ่านั้นก็ไม่ทราบเช่นกัน
เมื่อท่านได้อุปสมบทแล้ว ท่านได้รับฟังคำบอกเล่าของนางแจ ซึ่งมีอายุ ๘๐ ปี ว่ายายเล่าให้ฟัง และแม่เล่าให้ตนฟังว่า พระสถูปปรางค์องค์นี้ชั้นเดิมนั้นได้ทำสำเร็จเป็นองค์แล้วแต่ได้หักพังลงในภายหลัง
นายช่างอิฐ มารับจ้างทำอิฐพระปรางค์ที่หักอยู่นั้นได้ขุดดินที่ข้างหลังวัดมหาธาตุนี้ (ตรงป่าช้าวัดแก่นเหล็ก) ขณะที่ขุดดินไปนั้นได้พบอิฐอย่างโบราณ ขนาดยาวประมาณ ๑ ศอก มีอิฐปูนเป็นลำดับ
เมื่อขุดและงัดอิฐนั้น มีซากศพอยู่ที่นั้น ร่างและอิฐยังคงบริบูรณ์มีกระโหลกศีรษะใหญ่ประมาณเท่าบาตรอย่างโบราณ มีอักษรจารึกที่แผ่นอิฐนั้นว่า "ข้าพเจ้า จีนแดงได้สร้างพระปรางค์ไว้ไม่สำเร็จขอให้ข้าพเจ้าได้สร้างพระปรางค์นี้อีกต่อไป" มีใจความเท่านี้แต่เมื่อสมัยนั้นพระปรางค์องค์นี้ได้หักพังอยู่แล้ว
พระครูสุวรรณมุนี หรือ หลวงพ่อชิต วัดมหาธาตุ เพชรบุรี |
หลวงพ่อชิต ท่านได้สืบค้นจนทราบว่า พระอธิการรอด วัดยาง กับพระอธิการถัว วัดมหาธาตุ ได้ทำการซ่อมขึ้นเมื่อปีจอ ฉศก จุลศักราช ๑๑๗๖ ตรงกับปี พ.ศ. ๒๓๕๗
ท่านเจ้าอธิการรอดกับท่านเจ้าอธิการถัวทั้งสององค์นี้ ได้เป็นผู้รักใคร่สนิทสนมซึ่งกันและกันในสมัยนั้น ท่านเจ้าอธิการรอดองค์นี้มีอภินิหารและผู้นิยมนับถือมาก จึงได้มีความสามารถซ่อมพระปรางค์องค์นี้พร้อมด้วยท่านเจ้าอธิการถัว สำเร็จได้เป็นองค์คงรูปเดิม
ปี พ.ศ. ๒๔๐๖ ได้หักลงมาอีกเป็นครั้งที่ ๒ คำนวณตั้งแต่ปีจอ ถึงปีกุนมีระยะ ๕๐ ปี ก่อนที่พระปรางค์จะหักครั้งที่ ๒ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จมาทอดพระเนตรและรับสั่งว่า "พระปรางค์นี้ชำรุดชรามาก จะไม่ถาวรนาน" หลังจากพระองค์เสด็จกลับไม่นานพระปรางค์ ก็หักพังลงมาทั้ง ๕ ยอด เหลืออยู่ประมาณ ๑๕ วา
ในต้นรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงบริจาค พระราชทรัพย์ของหลวงให้พระยาสุรินฦาไชยนำมาใช้ในการซ่อมพระปรางค์ แต่เมื่อก่อขึ้นไปได้ไม่กี่วา ก็หักพังลงมาอีกเป็นครั้งที่ ๓ แล้วได้ก่อขึ้นไปอีกประมาณ ๔ ศอก
หลังจากนั้นก็ชะงักการบูรณะซ่อมแซมไปหลายปี จนถึงสมัยของพระครูสุวรรณมุนี (ชิต) ท่านจึงได้ชักชวนคฤหัสถ์ บรรพชิตมากมาย ให้ร่วมมือช่วยกันปฏิสังขรณ์จนสำเร็จเป็นองค์คงรูปเดิมในปี พ.ศ. ๒๔๗๙
ปี พ.ศ. ๒๔๘๗ ท่านได้เริ่มอาพาธเมื่อวันศุกร์ แรม ๘ ค่ำ เดือน ๘ ปีวอก ตรงกับวันที่ ๑๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๘๗ โดยอาพาธเป็นโรคนิวมอเนีย แม้จะได้รับการรักษาพยาบาลเป็นอย่างดีแต่อาการก็ไม่ทุเลาลงแต่ท่านก็ยังคงทำงานอย่างต่อเนื่อง
ตลอดอายุของหลวงพ่อชิต ท่านได้อุทิศตนให้กับงาน ทั้งด้านการบูรณะ ซ่อมแซมโบราณวัตถุโบราณสถานในวัด การพัฒนาวัด การพัฒนาการศึกษาและเผยแพร่อบรมจริยธรรมแก่ชุมชน
แม้ในช่วงสุดท้ายแห่งชีวิต ก่อนมรณภาพ ท่านยังได้อาราธนาพระสงฆ์ทั้งวัด มาประชุมล้อมรอบเตียงนอนของท่าน ได้ให้โอวาทแก่พระที่มาประชุมว่า "ขอท่านทั้งหลายจงมีความสามัคคีกัน ฉันเป็นห่วงพวกเธอมาก"
และได้ถามถึงอาหารการบริโภคว่า "คนครัวยังทำครัวเลี้ยงพระเป็นปรกติดีอยู่หรือ" ต่อจากนั้นท่านได้อาราธนาพระสงฆ์ให้สวดมนต์พระสูตรต่างๆ ตามที่ท่านระบุอาราธนา และท่านได้ตั้งใจฟังพระสงฆ์สวดมนต์ อยู่ด้วยอาการอันสงบ จนถึงแก่มรณภาพด้วยอาการอันสงบ
หลวงพ่อชิต ปกครองวัดเรื่อยมาจนถึงแก่มรณภาพลงอย่างสงบ เมื่อวันที่ ๑๗ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๘๗ เวลา ๒๐.๕๘ น. นับรวมสิริอายุได้ ๗๘ ปี ๔ เดือน ๑๔ วัน ๕๗ พรรษา และมีงานพระราชทานเพลิงศพ ณ เมรุวัดมหาธาตุ จังหวัดเพชรบุรี เมื่อ ๖ - ๙ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๙๒
วัตถุมงคลของหลวงพ่อชิต วัดมหาธาตุ
เหรียญหลวงพ่อวัดมหาธาตุ เพชรบุรี รุ่นแรก
สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๖๖ โดยหลวงพ่อชิต สร้างถวายท่านเจ้าคุณเทพกวี (แจ่ม จตฺตสฺลฺโล เจ้าอาวาสวัดมกุฏ กรุงเทพฯ (ท่านเป็นชาวเพชรบุรี) เพื่อแสดงมุทิตาจิตที่ท่านเป็นชาวเพชรบุรีได้เลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระธรรมปาโมกข์ ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มข้างเลื่อยทรงเสมาแบบมีหูในตัว ถือเป็นเหรียญยอดนิยมของเมืองเพชรบุรี เหรียญมีการสร้างด้วยเนื้อทองแดงเพียงชนิดเดียวเท่านั้น จำนวนการสร้างทั้งหมด ๑,๐๐๐ เหรียญ
เหรียญหลวงพ่อวัดมหาธาตุ เพชรบุรี รุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๔๖๖ เนื้อทองแดง ของพระครูธรรมธรวัฒนะ วัดใหม่ต้นกระทุ่ม ราชบุรี |
เหรียญหลวงพ่อวัดมหาธาตุ เพชรบุรี รุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๔๖๖ เนื้อทองแดง ของพระครูธรรมธรวัฒนะ วัดใหม่ต้นกระทุ่ม ราชบุรี |
ด้านหน้า จำลองเป็นรูปพระประธานศักดิ์สิทธิ์ของทางวัด ประทับนั่งมารวิชัยบนฐานบัวคว่ำบัวหงาย ครึ่งพระห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฏิ มีรัดประคต รอบรูปองค์พระมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "หลวงพํอวัดมหาธาตุเพชบุรี"
ด้านหลัง เป็นอักขระยันต์พระเจ้าห้าพระองค์อ่านว่า "นะ โม พุท ธา ยะ" ใต้อักขระยันต์มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "พ.ศ. ๖๖" ซึ่งคือปีที่สร้างเหรียญ
เหรียญหลวงพ่อชิต วัดมหาธาตุ รุ่นแรก
สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๘๐ เพื่อแจกให้กับผู้ที่บริจาคทรัพย์สร้างพระปรางค์ ๕ ยอดของทางวัด และแจกในคราวฉลองสมโภชน์องค์พระปรางค์ ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มข้างเลื่อยทรงเสมาแบบมีหูในตัว ถือเป็นเหรียญยอดนิยมของเมืองเพชรบุรีด้วยมีพระเกจิชื่อดังในสมัยนั้นร่วมกันปลุกเสกมากมาย เหรียญมีการสร้างด้วยเนื้อเงินลงยา เนื้อเงิน เนื้อทองแดง และเนื้อทองแดงรมดำ จำนวนการสร้างทั้งหมด ๒,๐๐๐ เหรียญ
เหรียญหลวงพ่อชิต วัดมหาธาตุ เพชรบุรี รุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๔๘๐ เนื้อเงินลงยา ของคุณบอย บีเค |
เหรียญหลวงพ่อชิต วัดมหาธาตุ เพชรบุรี รุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๔๘๐ เนื้อเงินลงยา ของคุณเปี้ยง |
เหรียญหลวงพ่อชิต วัดมหาธาตุ เพชรบุรี รุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๔๘๐ เนื้อทองแดง |
เหรียญหลวงพ่อชิต วัดมหาธาตุ เพชรบุรี รุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๔๘๐ เนื้อทองแดงรมดำ |
เหรียญหลวงพ่อชิต วัดมหาธาตุ เพชรบุรี รุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๔๘๐ เนื้อทองแดงรมดำ |
ด้านหน้า จำลองเป็นรูปหลวงพ่อชิตครึ่งองค์ห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฏิ มีรัดประคต ใต้รูปหลวงพ่อมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "พระครูสุวรรณมุนี"
ด้านหลัง จำลองเป็นรูปพระปรางค์ของวัด ใต้รูปพระปรางค์มีอักขระเลขไทยเขียนว่า "๒๔๘๐" ซึ่งคือปีที่สร้างเหรียญ
เหรียญหลวงพ่อวัดมหาธาตุ เพชรบุรี รุ่นสอง
สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๘๓ เพื่อแจกให้กับผุ้ที่บริจาคทรัพย์ให้กับทางวัด ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มข้างเลื่อยทรงเสมาหูเชื่อม มีการสร้างด้วยเนื้อทองแดงเพียงชนิดเดียวเท่านั้น จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้
เหรียญหลวงพ่อวัดมหาธาตุ เพชรบุรี รุ่นสอง ปี พ.ศ. ๒๔๘๓ เนื้อทองแดงรมดำ |
เหรียญหลวงพ่อวัดมหาธาตุ เพชรบุรี รุ่นสอง ปี พ.ศ. ๒๔๘๓ เนื้อทองแดงรมดำ |
ด้านหลัง เป็นอักขระยันต์พระเจ้าห้าพระองค์อ่านว่า "นะ โม พุท ธา ยะ" ใต้อักขระยันต์มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "พ.ศ. ๒๔๘๓" ซึ่งคือปีที่สร้างเหรียญ
เหรียญหลวงพ่อชิต วัดมหาธาตุ รุ่นสอง
สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๘๐ เพื่อแจกในงานฌาปนกิจศพของหลวงพ่อ ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มวงกลมแบบมีหูในตัว มีการสร้างด้วยเนื้อทองแดงเพียงชนิดเดียวเท่านั้น จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้
เหรียญหลวงพ่อชิต วัดมหาธาตุ เพชรบุรี รุ่น ๒ ปี พ.ศ. ๒๔๙๒ เนื้อทองแดงกระไหล่ทอง |
เหรียญหลวงพ่อชิต วัดมหาธาตุ เพชรบุรี รุ่น ๒ ปี พ.ศ. ๒๔๙๒ เนื้อทองแดง |
ด้านหน้า จำลองเป็นรูปหลวงพ่อชิตครึ่งองค์ห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฏิ เหนือรูปหลวงพ่อมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "พระครูสุวรรณมุนี (ชิต)"
ด้านหลัง จำลองเป็นรูปพระปรางค์ของวัด ใต้รูปพระปรางค์มีอักขระเลขไทยเขียนว่า "๒๔๙๒" ซึ่งคือปีที่สร้างเหรียญ
เหรียญเข็มกลัดหลวงพ่อชิต วัดมหาธาตุ
สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๙๒ เพื่อแจกในงานฌาปนกิจศพของหลวงพ่อ ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มรูปหยดน้ำสกรีนรูปหลวงพ่อหลังเข็มกลัด มีการสร้างด้วยเนื้อโลหะนิกเกิ้ลเพียงชนิดเดียวเท่านั้น จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้
เหรียญเข็มกลัดหลวงพ่อชิต วัดมหาธาตุ เพชรบุรี ปี พ.ศ. ๒๔๙๒ เนื้อนิกเกิ้ลลงถมลงยา |
ด้านหน้า จำลองเป็นรูปหลวงพ่อชิตครึ่งองค์ห่มจีวรคลุมไหล่ ใต้รูปหลวงพ่อมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "พระครูสุวรรณมุนี (ชิต) ๙๒"
ด้านหลัง เรียบ ติดเข็มกลัด แต่ไม่ปรากฏอักขระใดๆ
โดย : สารานุกรมพระเกจิแห่งแดนสยาม
บทความที่เกี่ยวข้อง
***-[เป็นกำลังใจและสนับสนุนให้เราเขียนบทความดีๆ ด้วยการกดดูโฆษณาด้านล่างนะคะ]-***
ไม่มีความคิดเห็น