โฆษณาแนวนอน728*90

บทความใหม่

ประวัติและวัตถุมงคลหลวงพ่อเหลือ วัดสาวชะโงก เจ้าของปลัดขิกอันดับ ๑ ของไทย

ภาพถ่ายหลวงพ่อเหลือ วัดสาวชะโงก ฉะเชิงเทรา
หลวงพ่อเหลือ วัดสาวชะโงก ฉะเชิงเทรา

         หลวงพ่อเหลือ วัดสาวชะโงก หรือ พระครูนันทธีราจารย์ อดีตเจ้าอาวาสวัดสาวชะโงก ตำบลสาวชะโงก อำเภอบางคล้า ฉะเชิงเทรา ท่านมีนามเดิมว่า เหลือ รุ่งสะอาด พื้นเพท่านเป็นชาวบ้านตำบลบางเล่า อำเภอบางคล้า จังหวัดฉะเชิงเทรา  

         ท่านเกิดเมื่อวันที่ ๙ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๐๕ โยมบิดาชื่อนายรุ่ง รุ่งสะอาด โยมมารดาชื่อนางเพ็ชร์ รุ่งสะอาด 

         ปี พ.ศ. ๒๔๒๘ หลวงพ่อเหลือ ท่านมีอายุได้ ๒๓ ปี ท่านจึงเข้ารับการอุปสมบทเป็นพระภิกษุ ณ พัทธสีมาวัดสาวชะโงก ตำบลสาวชะโงก อำเภอบางคล้า จังหวัดฉะเชิงเทรา ได้รับฉายาว่า "นันทสาโร"  โดยมี

         พระอาจารย์ทอง วัดใหม่บางคล้า เป็นพระอุปัชฌาย์

         พระอธิการขริก วัดสาวชะโงก เป็นพระกรรมวาจาจารย์

         หลังจากอุปสมบทแล้ว ท่านได้อยู่จำพรรษาที่วัดสาวชะโงกเรื่อยมา เพื่อศึกษาพระธรรมวินัย ร่ำเรียนวิชาขอม-บาลี และวิปัสสนา จากพระอธิการขริกจนแตกฉาน

         และด้วยความที่หลวงพ่อเหลือสนใจในการวิปัสสนา จึงได้ไปขึ้นกรรมฐานกับหลวงพ่อขริก เมื่อปฏิบัติสมาธิจนจิตเป็นเอกัคตาแล้ว 

         หลวงพ่อขริก ก็ครอบครูสอนวิชาอาคมทั้งหมดให้หลวงพ่อเหลือ ท่านเป็นพระผู้เรืองอาคม สร้างพระปิดตาแกะจากไม้คูน หากเป็นพระปิดตาธรรมดา มีพระพุทธคุณหนักไปในทางเมตตาแคล้วคลาด ถ้าเป็นพระปิดทวาร จะมีพระพุทธคุณทางมหาอุด และคงกระพัน

         จากนั้นหลวงพ่อเหลือ ท่านจึงได้ออยู่ช่วยสอนกรรมฐานให้กับบรรดาพระ-เณร และญาติโยมแทนหลวงพ่อขริก ที่ชราภาพลงไปทุกปี หลวงพ่อขริกได้ขึ้นธุดงควัตรให้หลวงพ่อเหลือ

         เพื่อจะได้ออกธุดงค์เดี่ยว ฝึกจิตและคาถาอาคม หลวงพ่อเหลือ ท่านเดินธุดงค์เดี่ยวอยู่หลายปี จนในปีหนึ่งได้ไปพบกับขบวนธุดงค์ของหลวงพ่อปาน วัดคลองด่าน ที่เดินทางมานมัสการพระศรีมหาโพธิ์ที่ ปราจีนบุรี หลวงพ่อเหลือ ได้พบหลวงพ่อปาน และเกิดความเลื่อมใสจึงขอติดตามไปธุดงค์ด้วย

         หลวงพ่อปาน ทดสอบวิชาอาคม และการทำสมาธิของหลวงพ่อเหลือ จนเห็นว่ามีพื้นฐานดี จึงรับไว้เป็นศิษย์ ให้อยู่กับหลวงพ่อนก ซึ่งต่อมาได้เป็นเจ้าอาวาสวัดสังกะสี

         ท่านทั้งสองก็ได้เป็นสหธรรมิกกันมาโดยตลอด หลังจากได้เรียนวิชาจากหลวงพ่อปานแล้ว จึงกลับมาวัดสาวชะโงก 

         หลวงพ่อเหลือ บอกกับศิษย์ใกล้ชิดว่า ท่านได้ธุดงค์ไปเรียนวิชากับหลวงปู่จีน วัดท่าลาดเหนือ ผู้ซึ่งเป็นปรมาจารย์ผู้สร้างพระปิดตายอดนิยมในวงการพระปิดตาอีกด้วย

         จากนั้นท่านได้เดินทางไปฝากตัวเป็นศิษย์กับหลวงพ่อดำ วัดกุฎี จังหวัดปราจีนบุรี และยังได้เดินธุดงค์ไปยังป่าเมืองกาญจนบุรี เพื่อฝากตัวเป็นศิษย์เรียนวิชาอาคมกับหลวงปู่ยิ้ม วัดหนองบัว จังหวัดกาญจนบุรี 

         และยังเป็นสหธรรมมิกที่แนบแน่นกับหลวงพ่อจาด วัดบางกระเบา ซึ่งท่านทั้งสองได้เดินทางไปมาหาสู่กันตลอด

         ปี พ.ศ. ๒๔๗๔ พระอธิการชื่น เจ้าอาวาสวัดสาวชะโงกได้ถึงแก่มรณภาพลง ชาวบ้านและคณะกรรมการวัดจึงพร้อมใจกันนิมนต์หลวงพ่อเหลือขึ้นเป็นเจ้าอาวาสวัดทดแทนตำแหน่งที่ว่างลง

ภาพถ่ายหลวงพ่อเหลือ วัดสาวชะโงก ฉะเชิงเทรา
หลวงพ่อเหลือ วัดสาวชะโงก ฉะเชิงเทรา

         วัดสาวชะโงก เป็นวัดราษฎร์สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย ตั้งอยู่ริมแม่น้ำบางปะกง ในตำบลสาวชะโงก อำเภอบางคล้า จังหวัดฉะเชิงเทรา

         วัดสาวชะโงกตั้งวัดเมื่อปี พ.ศ. ๒๓๕๖ โดยมีนายนุช นางยัง ชาวคลองสองพี่น้อง อำเภอบางคล้า จังหวัดฉะเชิงเทรา เป็นผู้ริเริ่มสร้างวัด โดยอุทิศที่ดินประมาณ ๖ ไร่ เพื่อก่อสร้างวัด 

         เริ่มแรกมีกุฏิมุงหลังคาด้วยจาก ต่อมาเมื่อประมาณปี พ.ศ. ๒๓๘๐ ทางวัดและญาติโยมได้ดำเนินการก่อสร้างอุโบสถ กว้าง ๕ เมตร ยาว ๘ เมตร และกุฏิสงฆ์ แต่เนื่องจากที่ทุนทรัพย์น้อยจึงก่อสร้างไม่แล้วเสร็จ

         จนต่อมาเมื่อปี พ.ศ. ๒๓๙๒ ขุนพัส (รั้ง) ได้ร่วมกับชาวบ้านดำเนินการปฏิสังขรณ์วัดเพิ่มเติมรวมถึงได้ทำการผูกพัทธสีมาเมื่อปี พ.ศ. ๒๓๙๒ 

         ต่อมาเมื่อวันที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ. ๒๔๕๗ นายเจิม ซึ่งเป็นบุตรของนายโตกับอำแดงกลิ่น อยู่คลองบ้านหมู่ ได้บริจาคที่ดินถวายให้วัดสาวชะโงกเป็นที่ธรณีสงฆ์ จำนวน ๔๘ ไร่ ๙๖ ตารางวา

         ต่อมาเมื่อวันที่ ๑๑ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๔๓ นายเฉลิม เดชสุภะพงษ์ ได้มอบที่ดินให้เป็นที่กัลปนา จำนวน ๑ แปลง เนื้อที่ ๓ ไร่ ๓ งาน ๔๐ ตารางวา วัดได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๒

         เหตุที่ชื่อว่าวัดสาวชะโงกเพราะมีตำนานเล่าว่า ได้มีการยกขันหมากมาทางเรือ เพื่อมาสู่ขอเจ้าสาว เมื่อขบวนขันหมากใกล้มาถึง เจ้าสาวได้ชะโงกหน้าดูขบวนขันหมาก ทำให้พลัดตกลงมาจากเรือนเสียชีวิต

         ต่อมาพ่อแม่เจ้าสาวได้ยกที่ดินผืนนี้ถวายสร้างเป็นวัด จึงได้ตั้งชื่อเป็นอนุสรณ์แด่ผู้เสียชีวิตว่า "วัดสาวชะโงก"

         วัดมีเกจิอาจารย์ดังเป็นที่เคารพศรัทธาแก่พุทธศาสนิกชนทั่วไป คือ พระครูนันทธีราจารย์ (หลวงพ่อเหลือ) ท่านสร้างผ้ายันต์แดงแจกทหารในสงคราม แต่ที่โดดเด่นเป็นที่กล่าวถึงคือ ปลัดขิก ภายในวัดมีรอยพระพุทธบาทจำลองอายุร้อยกว่าปี วัดมีรายนามเจ้าอาวาสดังนี้

         ๑. พระอธิการสังข์ พ.ศ. ๒๓๕๖ – ๒๓๙๖

         ๒. พระอธิการขิก พ.ศ. ๒๓๙๖ – ๒๔๕๑

         ๓. พระอธิการแบน พ.ศ. ๒๔๕๑ – ๒๔๖๐

         ๔. พระอธิการชื่น พ.ศ. ๒๔๖๐ – ๒๔๗๔

         ๕. พระครูนันทธีราจารย์ (หลวงพ่อเหลือ) พ.ศ. ๒๔๗๔ – ๒๔๘๘

         ๖. พระอธิการหงวน พ.ศ. ๒๔๘๘ – ๒๔๙๐

         -. พระอธิการช้วน (รักษาการ) พ.ศ. ๒๔๙๐ – ๒๔๙๒

         ๗. พระครูถาวรธรรมานุวัตร (จวน) พ.ศ. ๒๔๙๒ – ๒๕๔๗

         ๘. พระอธิการประเสริฐ ปัญญาวโร พ.ศ. ๒๕๔๘ – ๒๕๕๓

         ๙. พระอธิการธีรศักดิ์ ฐาตุกาโม พ.ศ. ๒๕๕๔ – ปัจจุบัน

ภาพถ่ายหลวงพ่อเหลือ วัดสาวชะโงก ฉะเชิงเทรา
หลวงพ่อเหลือ วัดสาวชะโงก ฉะเชิงเทรา

         หลังจากที่หลวงพ่อเหลือได้ขึ้นเป็นเจ้าอาวาส ท่านได้ก่อสร้างเสนาสนะและถาวรวัตถุต่างๆ จนวัดเจริญรุ่งเรืองขึ้นตามลำดับ

         ด้านสาธารณะประโยชน์หลวงพ่อเหลือ ท่านสร้างโรงเรียนวัดสาวชะโงก สร้างอุโบสถวัดก้อนแก้ว  สร้างอุโบสถวัดหัวสวน สร้างอุโบสถวัดเสม็ดใต้ สร้างอุโบสถวัดสิบเอ็ดศอก และยังได้เดินทางไปช่วยบูรณะวัดต่างๆในจังหวัดฉะเชิงเทราและต่างจังหวัดอีกมากมาย

         ปี พ.ศ. ๒๔๗๘ ท่านได้รับการแต่งตั้งให้เป็นพระครูชั้นประทวน 

         ปี พ.ศ. ๒๔๘๐ ท่านได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเป็นพระครูสัญญาบัตรชั้นตรีที่ "พระครูนันทธีราจารย์" และได้รับแต่งตั้งเป็นพระอุปัชฌาย์

         ปี พ.ศ. ๒๔๘๑ ท่านได้รับอนุญาติให้มีอำนาจเต็ม ในการอุปสมบทในเขตท้องที่จังหวัดฉะเชิงเทรา รวมทั้งยังได้รับแต่งตั้งเป็นพระระงับอธิกรณ์อีกด้วย

         หลวงพ่อเหลือ ท่านเป็นพระภิกษุที่เคร่งในพระธรรมวินัย มั่นคงในศีล และปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานอย่างเคร่งครัด จนได้รับการยอมรับให้เป็นพระอริยคณาจารย์ ๑ ใน ๒๑ รูปของเมืองไทย เป็นผู้ริเริ่มและศึกษาเกี่ยวกับการจัดปริวาสกรรมขึ้น เป็นครั้งแรกในประเทศไทย

          เพราะการจัดปริวาสกรรมได้หายสาบสูญไปจากประเทศไทย หลังจากสมัยพุทธกาล ในงานปริวาสกรรมที่ท่านจัดขึ้นในทุกๆ ปี จะมีพระภิกษุสงฆ์เดินทางมาจากทั่วประเทศมาอยู่ปริวาสกรรมเป็นจำนวนมาก ทำให้เป็นที่รู้จักและได้รับความนับถือจากเกจิอาจารย์ในสมัยนั้น

         ในด้านวิชาอาคม คนเฒ่าคนแก่เล่าสืบต่อกันมาว่า ครั้งหนึ่ง ผ้าประเจียด ที่ลงอักขระบนผ้าแดง เสื้อยันต์แดงของหลวงพ่อเหลือ สร้างชื่อเสียงให้กับทหารกล้า ชาวฉะเชิงเทราที่ไปรบในสงคราม จากการเรียกร้องดินแดนคืนจากฝรั่งเศส (สงครามอินโดจีนระหว่างปี พ.ศ.๒๔๘๓ - ๒๔๘๔) 

        ในด้านคงกระพัน ถูกยิงล้มแล้วไม่ตาย พอหายจุกก็ลุกขึ้นมาสู้ใหม่ จนทหารกองกำลังผสม ฝรั่งเศสกับเวียดนาม ให้สมญาทหารไทยว่า "ทหารผี" 

         ทั้งนี้ก่อนหน้าสงครามอินโดจีน ท่านก็เป็น ๑ ใน ๑๐๘ พระเกจิอาจารย์  ที่ได้รับนิมนต์ มาร่วมนั่งปรกพุทธาภิเษกวัตถุมงคล ในงานหล่อพระรูปสมเด็จพระสังฆราช เจ้ากรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ ที่วัดราชบพิตร ในปี พ.ศ. ๒๔๘๑ อีกด้วย

         หลวงพ่อเหลือ ท่านเป็นที่เคารพศรัทธาแก่ทุกชนชั้น ท่านได้ประกอบคุณงามความดี ให้แก่พระบวรพุทธศาสนา และชาวบ้านสาวชะโงกเป็นอย่างมาก จนยากที่จะลืมเลือนไป จากความทรงจำได้ 

         หลวงพ่อเหลือ ปกครองวัดเรื่อยมาจนถึงแก่มรณภาพลงด้วยโรคชราเมื่อวันที่ ๑๙ มกราคม พ.ศ. ๒๔๘๘ นับรวมสิริอายุได้ ๘๒ ปี ๖๐ พรรษา.

วัตถุมงคลของหลวงพ่อเหลือ วัดสาวชะโงก

        ปลัดขิกหลวงพ่อเหลือ วัดสาวชะโงก

         สร้างขึ้นก่อนปี พ.ศ. ๒๔๘๘ เพื่อแจกให้กับศิษย์ของท่าน ลักษณะเป็นปลัดขิกแกะด้วยไม้มงคลต่างๆ การทำปลัดขิกนั้นท่านจะให้ลูกศิษย์เหลาปลัดขิกมาให้ท่านปลุกเสก ตัวใหญ่บ้างตัวเล็กบ้าง แล้วแต่จะเหลามาให้

         บางคนฝีมือดีก็เหลาเป็นรูปขาลิงหางเลื้อยก็มี ปลัดขิกส่วนใหญ่จะทำด้วยไม้คูณ สำหรับปลัดขิกของหลวงพ่อเหลือ มี ๒ คือ แบบที่ ๑ แบบโค้งและมีตุ่มตอนท้าย และแบบตรง 

ปลัดขิกหลวงพ่อเหลือ วัดสาวชะโงก ฉะเชิงเทรา แบบโค้ง
ปลัดขิกหลวงพ่อเหลือ วัดสาวชะโงก ฉะเชิงเทรา แบบโค้ง ของคุณแจ้ เสนา

         โดยส่วนมากจะมีการลงอักขระยันต์ที่หัวโดยจะลงตัว "อุ" ๑ ตัว ซึ่งลายมือท่านจะหวัดเขียนเหมือนตัว M เล่ากันว่าปกติปลัดขิกที่ท่านแจกจะจาร อุเดียว 

         ส่วนปลัดขิกที่จาร "อุ" ๓ ตัว ท่านจะแจกในงานทำบุญใหญ่ที่วัดจัดขึ้น และที่จาร "อุ" ๕ ตัวนั้นท่านจะแจกในงานบูชาครู (หลวงพ่อขริก) โดยลายมือของท่านจะเขียนเป็นแท่งสี่เหลี่ยมเหมือนตัวอักษรจีน

         ด้านข้างลงอักขระยันต์ขอมอ่านได้ว่า "กัน หะ เน หะ" ซึ่งก็คือพระคาถาหัวใจโจร และมีการลงอักขระยันต์ตัว "อุ มะ อะ มิ" กับ "อิ ติ อะ มิ" อีกด้วย

         ปลัดขิกของหลวงพ่อเหลือนั้นมีพุทธคุณศักดิ์สิทธิ์มาก จนคนผูกขึ้นเป็นโคลงกลอนว่า "ปลัดหลวงพ่อเหลือ เสือหลวงพ่อปาน หนุมานหลวงพ่อดิ่ง สิงห์หลวงพ่อเดิม"

         คนโบราณเชื่อกันว่าหากท่านผู้ใดสะสมเครื่องรางครบสำนักทั้งหมดนี้ ถือว่าได้ของที่เป็นสิริมงคลอย่างมากเลยทีเดียว

         โดยปลัดขิกของหลวงพ่อเหลือนั้นจะโด่งดังในด้สนเมตตามหานิยมและทำมาค้าขาย แถมยังปกป้องคุณไสยได้อีกด้วย บางท่านโดนต่อ แตน ตะขาบ หรือสัตว์มีพิษกัดต่อย ให้อาราธนาปลัดขิกโดยนึกถึงหลวงพ่อเหลือแล้วใช้ปลายปลัดขิกนั้นจิ้มไปที่โดนต่อยจะดับพิษของสัตว์ร้ายเหล่านั้นได้

ปลัดขิกหลวงพ่อเหลือ วัดสาวชะโงก ฉะเชิงเทรา แบบตรง
ปลัดขิกหลวงพ่อเหลือ วัดสาวชะโงก ฉะเชิงเทรา แบบตรง ของคุณปรัญญา

         บางท่านใส่ไว้ในตะกร้าเงินเวลาขายของจะนำปลัดขิกหลวงพ่อเหลือมาอาราธนาจิ้ม ไปที่ของที่จะนำไปขายจะทำให้ขายของดีเป็นอย่างมาก 

         สมัยนั้นแม่ค้าจะมาขอปลัดขิกของท่านเพื่อช่วยในการทำมาค้าขาย ส่วนผู้ชายนำไปใช้ทางมหานิยม ติดตัวไว้ไม่ตายโหงจนมีผู้ขนานนามปลัดขิกของท่านว่า เป็นปลัดขิกอันดับ ๑ ของเมืองไทย

          ปลัดขิกหลวงพ่อเหลือนั้นท่านนิยมจะแจกให้ ญาติโยมในงานประจำปีสมโภชกลางเดือน ๔ โดยหลวงพ่อจะมอบให้แก่ญาติโยมที่มีจิตศรัทธามาทำบุญปิดทองเป็นประจำทุกปี 

         นอกจากนั้นท่านยังมีเมตตาปลุกเสกปลัดขิกให้ชาวบ้านที่มีความศรัทธาเหลามาให้ ท่านลง โดยส่วนใหญ่ท่านจะปลุกเสกในช่วงเข้าพรรษาของทุกปี เมื่อออกพรรษาแล้วท่านจะมอบปลัดขิกให้แก่ญาติโยมที่นำมาฝากปลุกเสกไว้.

         เหรียญหลวงพ่อเหลือ วัดสาวชะโงก

         สร้างขึ้นก่อนปี พ.ศ. ๒๔๙๙ ในสมัยหลวงพ่อจวน เป็นเจ้าอาวาสวัด โดยโยมจำรัส รุ่งสอาด เป็นผู้สร้างถวายพร้อมกับเหรียญหลวงพ่อทอง วัดก้อนแก้ว รุ่น ๒ เพื่อแจกเนื่องในงานหล่อรูปเหมือนหลวงพ่อเหลือ ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มทรงพุ่มข้าวบิณฑ์แบบมีหูในตัว มีการสร้างด้วยเนื้อทองแดงกระไหล่ทองเพียงชนิดเดียวเท่านั้น จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

เหรียญหลวงพ่อเหลือ วัดสาวชะโงก ฉะเชิงเทรา 2499 ทองแดงกระไหล่ทอง
เหรียญหลวงพ่อเหลือ วัดสาวชะโงก ฉะเชิงเทรา ปี พ.ศ. ๒๔๙๙ เนื้อทองแดงกระไหล่ทอง

         ด้านหน้า จำลองเป็นรูปหลวงพ่อเหลือ นั่งสมาธิเต็มองค์บนฐานเขียง องค์หลวงพ่อห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฏิ ใต้รูปหลวงพ่อมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "พระครูนันทธีราจารย์" 

         ด้านหลัง เป็นยันต์กันภัย และคงกระพัน ผูกหัวใจต่างๆอ่านได้ว่า "นะ โม พุท ธา ยะ" หัวใจพระพุทธเจ้าห้าพระองค์ เป็นอักขระขอมอยู่ตรงกลางเป็นเส้นทิวอยู่ภายในกรอบสี่เหลี่ยม "มะ อะ อุ" หัวใจตรีเพชร เป็นอักขระขอม ๓ ตัวเรียงกันในแนวตั้ง ทางด้านขวาของเหรียญ "อิ สวา สุ" หัวใจพระเจ้า เป็นอักขระขอม เรียงกันในแนวตั้ง อยู่ทางด้านซ้ายมือของเหรียญ "พุท ธะ สัง มิ" หัวใจไตรสรณาคม เป็นอักขระขอม ๔ ตัว อยู่บนยอดเหรียญเหนือยันต์รูปองค์พระ ใต้ยันต์จารึกปีที่ออกเหรียญคือ "พ.ศ. ๒๔๙๙" 

         เหรียญล็อกหลวงพ่อเหลือ วัดสาวชะโงก

         สร้างขึ้นก่อนปี พ.ศ. ๒๔๘๑ เพื่อแจกในคราวฉลองสมณศักดิ์ของหลวงพ่อ ลักษณะเป็นล็อกเก็ตภาพกระดาษทรงกลม จัดเป็นของหายากลึกลับ จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

ล็อกเก็ตหลวงพ่อเหลือ วัดสาวชะโงก ฉะเชิงเทรา
ล็อกเก็ตหลวงพ่อเหลือ วัดสาวชะโงก ฉะเชิงเทรา ปี พ.ศ. ๒๔๘๑ ของคุณเปี้ยง

         ด้านหน้า จำลองภาพหลวงพ่อเหลือ นั่งสมาธิเต็มองค์บนฐานเขียง องค์หลวงพ่อห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฏิรัดประคต ใต้รูปหลวงพ่อมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "พระครูนันทธีราจารย์" 

         ด้านหลัง มีเข็มกลัด


โดย : สารานุกรมพระเกจิแห่งแดนสยาม

บทความที่เกี่ยวข้อง

***-[เป็นกำลังใจและสนับสนุน​ให้เราเขียนบทความดีๆ ด้วยการกดดูโฆษณาด้านล่างนะคะ]-***

ไม่มีความคิดเห็น