โฆษณาแนวนอน728*90

บทความใหม่

ประวัติและวัตถุมงคลหลวงพ่อฉ่ำ วัดท้องคุ้ง พระเกจิชื่อดังของสมุทรปราการ

ภาพถ่ายหลวงพ่อฉ่ำ วัดท้องคุ้ง สมุทรปราการ
หลวงพ่อฉ่ำ วัดท้องคุ้ง สมุทรปราการ

         หลวงพ่อฉ่ำ วัดท้องคุ้ง ท่านเป็นพระเกจิอาจารย์ชื่อดังอีกรูปหนึ่งของจังหวัดสมุทรปราการ พื้นเพท่านเป็นชาวบ้านท้องคุ้ง ตำบลบางหญ้าแพรก อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ มีนามเดิมว่า ฉ่ำ ฉิมเจริญ ท่านเกิดเมื่อวันจันทร์ แรม ๘ ค่ำ ปีมะโรง พ.ศ. ๒๓๙๙ โยมบิดาชื่อนายฉิม ฉิมเจริญ โยมมารดาชื่อนางคล้าย ฉิมเจริญ โดยท่านเป็นบุตรคนโต

         ในวัยเด็ก โยมบิดาและโยมมารดาของท่านได้นำท่านไปฝากเรียนหนังสือตามหลักสมัยนิยม กับหลวงพ่อสุขที่วัดท้องคุ้ง จนสามารถอ่านออกเขียนได้ 

         ปี พ.ศ. ๒๔๒๐ หลวงพ่อฉ่ำมีอายุได้ ๒๑ ปีบริบูรณ์ จึงได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุ ณ พัทธสีมาวัดท้องคุ้ง ตำบลบางหญ้าแพรก อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ เมื่อวันที่ ๑๕ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๒๐ ได้รับฉายาว่า "คงฺคสุวณฺโณ" โดยมี

         หลวงพ่อสุข วัดท้องคุ้ง เป็นพระอุปัชฌาย์

         หลวงพ่อจันทร์ วัดท้องคุ้ง เป็นพระกรรมวาจาจารย์

         หลวงพ่อปาน วัดบางกระสอบ เป็นพระอนุสาวนาจารย์

         หลังจากอุปสมบทแล้ว ท่านได้อยู่จำพรรษาที่วัดท้องคุ้งเรื่อยมา เพื่อศึกษาพระธรรมวินัยและวิชาอาคมกับพระอาจารย์ จนสำเร็จวิชาหลายอย่าง

         หลังจากที่หลวงพ่อกฤษ เจ้าอาวาสวัดท้องคุ้งได้ถึงแก่มรณภาพลง ชาวบ้านจึงพร้อมใจกันนิมนต์หลวงพ่อฉ่ำขึ้นเป็นเจ้าอาวาสปกครองวัดทดแทนตำแหน่งที่ว่างลง

ภาพถ่ายหลวงพ่อฉ่ำ วัดท้องคุ้ง สมุทรปราการ
หลวงพ่อฉ่ำ วัดท้องคุ้ง สมุทรปราการ

         วัดท้องคุ้ง เป็นวัดราษฎร์สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย ตั้งอยู่ในหมู่ที่ ๒ บ้านวัดท้องคุ้ง ตำบลบางหญ้าแพรก อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ ทิศตะวันออกติดกับแม่น้ำเจ้าพระยา ทิศตะวันตกติดกับลำคลองท้องคุ้ง

          วัดท้องคุ้ง สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๓๕๖ โดยไม่ทราบนามผู้สร้าง วัดตั้งอยู่เหนือคุ้งน้ำ ประชาชนจึงได้ถือนิมิตนี้เรียกว่า "วัดท้องคุ้ง" และหมู่บ้านแถวนั้นก็เรียกว่าบ้านคลองท้องคุ้ง อุโบสถหลังใหม่ได้รับวิสุงคามสีมาเมื่อวันที่ ๒๓ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๙๙ 

         วัดได้ผูกพัทธสีมาในปี พ.ศ. ๒๕๐๘ ในด้านการศึกษาทางวัดได้เปิดสอนปริยัติธรรม เริ่มมาตั้งแต่ ปี พ.ศ. ๒๔๗๖ ภายในวัดมีอาคารเสนาสนะของวัด ได้แก่ พระอุโบสถ กุฏิสงฆ์จำนวน ๘ หลัง ศาลาการเปรียญสร้างเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๓ 

         หอไตรและมณฑปสร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๓๕๖ ปูชนียวัตถุของวัดได้แก่ พระสังกัจจายน์ อายุมากกว่า ๒๐๐ ปี พระประธานในอุโบสถเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย พระพุทธรูปสมัยอยุธยาตอนปลาย พระพุทธชินราช พระสารีบุตรคู่ซ้ายขวา วัดมีรายนามเจ้าอาวาส

         ๑. หลวงพ่อสุข

         ๒. หลวงพ่อจันทร์

         ๓. หลวงพ่อกฤษ

         ๔. หลวงพ่อฉ่ำ

         ๕. พระเทพวิสุทธาภรณ์ (หลวงพ่อศรี ปุณณสิริ)

         ๖. พระครูวิบูลปัญญากร (หลวงพ่อเลื่อน ธมฺมปญฺโญ)

         ๗. พระครูสุนทรสุตสาร (หลวงพ่อพยุง กตปุญโญ)

         หลังจากที่หลวงพ่อฉ่ำ ได้ขึ้นเป็นเจ้าอาวาส ท่านได้สร้างเสนาสนะต่างๆ และสร้างถาวรวัตถุต่างๆจนวัดเจริญรุ่งเรืองขึ้นตามลำดับ

         ปี พ.ศ. ๒๔๗๖ ท่านได้เปิดโรงเรียนสอนปริยัติธรรม เพื่อให้การศึกษาแก่พระเณร

         หลวงพ่อฉ่ำนั้นได้ร่ำเรียนวิชาจากผู้เป็นอาจารย์ถึง ๓ รูป ที่ได้ชื่อว่ามีวิชาในด้านวิปัสสนากรรมฐาน คือ หลวงพ่อสุข วัดท้องคุ้ง หลวงพ่อจันทร์ วัดท้องคุ้ง และหลวงพ่อปาน วัดบางกระสอบ

         ท่านได้สร้างพระเครื่องไว้แจกจ่ายแก่ศิษย์และชาวบ้าน ได้แก่ ผ้าขอด ผ้ายันต์ ตะกรุด พระปิดตาหลังเบี้ย พิมพ์เข่าบุ๋มและเข่าตัน พระพิมพ์บัวฟันปลา พระปิดตาพิมพ์เล็ก พระผงกลีบบัว พระผงพิมพ์ลำพูนปรกโพธิ์ และพระปิดตาเนื้อชินตะกั่ว

         หลวงพ่อฉ่ำ ปกครองวัดเรื่อยมาจนถึงแก่มรณภาพลงด้วยโรคชรา เมื่อวันที่ ๘ เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๒ นับรวมสิริอายุได้ ๘๒ ปี ๖๑ พรรษา.

วัตถุมงคลของหลวงพ่อฉ่ำ วัดท้องคุ้ง

         เหรียญหลวงพ่อฉ่ำ วัดท้องคุ้ง รุ่นแรก

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๘๒ โดยพระมงคล สฺณธโร เป็นผู้ไปว่าจ้างร้านปวโร ย่านประตูผี กรุงเทพฯ เพื่อแจกในงานฌาปนกิจของหลวงพ่อ ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มรูปเสมาแบบมีหูในตัว มีการสร้างด้วยเนื้อเงิน ๘๒ เหรียญ และเนื้อทองแดง ๑,๐๐๐ เหรียญ เหรียญได้รับการปลุกเสกโดยพระอาจารย์มา วัดโมก หลวงปู่เผือก วัดกิ่งแก้ว หลวงพ่อบุญธรรม วัดพระปฐมเจดีย์ และหลวงพ่อสุดใจ วัดจวนดำรงค์ราชพลขันธ์

เหรียญหลวงพ่อฉ่ำ วัดท้องคุ้ง สมุทรปราการ รุ่นแรก 2482 เงิน
เหรียญหลวงพ่อฉ่ำ วัดท้องคุ้ง สมุทรปราการ รุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๔๘๒ เนื้อเงิน ของคุณปอ เหมวงศ์วิทยา

เหรียญหลวงพ่อฉ่ำ วัดท้องคุ้ง สมุทรปราการ รุ่นแรก 2482 เงิน-ข้าง
เหรียญหลวงพ่อฉ่ำ วัดท้องคุ้ง สมุทรปราการ รุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๔๘๒ เนื้อเงิน ของคุณปอ เหมวงศ์วิทยา
เหรียญหลวงพ่อฉ่ำ วัดท้องคุ้ง สมุทรปราการ รุ่นแรก 2482 ทองแดงกระไหล่เงิน
เหรียญหลวงพ่อฉ่ำ วัดท้องคุ้ง สมุทรปราการ รุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๔๘๒ เนื้อทองแดงกระไหล่เงิน ของคุณวิวิชชัย สุพรรณ

เหรียญหลวงพ่อฉ่ำ วัดท้องคุ้ง สมุทรปราการ รุ่นแรก 2482 ทองแดงกระไหล่ทอง
เหรียญหลวงพ่อฉ่ำ วัดท้องคุ้ง สมุทรปราการ รุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๔๘๒ เนื้อทองแดงกระไหล่ทอง

         ด้านหน้า เป็นรูปจำลองหลวงพ่อฉ่ำครึ่งองค์ห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฏิ ใต้รูปหลวงพ่อมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "หลวงพ่อฉ่ำ วัดท้องคุ้ง พ.ศ. ๒๔๘๒" ขอบเหรียญแกะลวดลายกระหนกพญานาค

         ด้านหลัง มีอักขระยันต์พระเจ้าห้าพระองค์ อ่านได้ว่า "นะ โม พุท ธา ยะ" ตรงกลางยันต์ห้ามีอักขระยันต์ตัวเฑาะห์ 

         เหรียญหลวงพ่อฉ่ำ วัดท้องคุ้ง รุ่น ๒

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๙๔ เพื่อแจกให้กับผู้ที่บริจาคทรัพย์ให้กับทางวัด ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มรูปเสมาแบบมีหูในตัว มีการสร้างด้วยเนื้อทองแดง จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้ 

         เหรียญรุ่น ๒ มีจุดที่น่าสังเกตุคือบล็อกด้านหลังใช้บล็อกเดียวกับเหรียญพระพุทธหลวงพ่อสาย วัดกระโจมทอง สมุทรสาคร คาดว่าน่าจะสร้างในโรงงานเดียวกันและสร้างในปีเดียวกันคือ ปี พ.ศ. ๒๔๙๔ ซึ่งใช้ยืนยันปีที่สร้างที่เคยสับสนกันได้เป็นอย่างดี

เหรียญหลวงพ่อฉ่ำ วัดท้องคุ้ง สมุทรปราการ รุ่น 2 2498 ทองแดง
เหรียญหลวงพ่อฉ่ำ วัดท้องคุ้ง สมุทรปราการ รุ่น ๒ ปี พ.ศ. ๒๔๙๔ เนื้อทองแดง
ด้านหลังเหรียญหลวงพ่อฉ่ำ วัดท้องคุ้ง สมุทรปราการ รุ่น 2 เทียบเหรียญหลวงพ่อสาย วัดสระกระโจม สมุทรสาคร
ด้านหลังเหรียญพระพุทธหลวงพ่อสาย วัดกระโจมทอง สมุทรสาคร เทียบกับเหรียญหลวงพ่อฉ่ำ วัดท้องคุ้ง สมุทรปราการ

         ด้านหน้า เป็นรูปจำลองหลวงพ่อฉ่ำนั่งมารวิชัยเต็มงองค์บนตั่ง องค์หลวงพ่อห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฏิรัดประคต ใต้รูปหลวงพ่อมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "หลวงพ่อฉ่ำ" ขอบเหรียญแกะลวดลายกระหนก

         ด้านหลัง มีอักขระยันต์สาม ซึ่งใช้บล็อกเดียวกับเหรียญพระพุทธหลวงพ่อสาย วัดกระโจมทอง สมุทรสาคร

         เหรียญหลวงพ่อฉ่ำ วัดท้องคุ้ง รุ่น ๓

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๐๘ เพื่อแจกให้กับผู้ที่บริจาคทรัพย์ให้กับทางวัด ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มรูปจอบแบบมีหูในตัว มีการสร้างด้วยเนื้อทองแดง จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้ 

เหรียญหลวงพ่อฉ่ำ วัดท้องคุ้ง สมุทรปราการ รุ่น 3 2508 ทองแดง
เหรียญหลวงพ่อฉ่ำ วัดท้องคุ้ง สมุทรปราการ รุ่น ๓ ปี พ.ศ. ๒๕๐๘ เนื้อทองแดง

         ด้านหน้า เป็นรูปจำลองหลวงพ่อฉ่ำครึ่งองค์ห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฏิ ใต้รูปหลวงพ่อมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "หลวงพ่อฉ่ำ วัดท้องคุ้ง" 

         ด้านหลัง เป็นรูปจำลองหลวงพ่อกฤษครึ่งองค์ห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฏิ ใต้รูปหลวงพ่อมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "หลวงพ่อกฤษ ๒๕๐๘" 

         พระปิดตาหลวงพ่อฉ่ำ วัดท้องคุ้ง พิมพ์เข่าบ่วงเศียรโล้น

         สร้างขึ้นก่อนนปี พ.ศ. ๒๔๘๐ เพื่อแจกให้กับผู้ที่บริจาคทรัพย์ให้กับทางวัด ลักษณะเป็นพระพิมพ์รูปเล็บมือ สร้างด้วยเนื้อผงคลุกรัก หลวงพ่อฉ่ำปลุกเสกเดี่ยว จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้ 

พระปิดตาหลวงพ่อฉ่ำ วัดท้องคุ้ง สมุทรปราการ พิมพ์เข่าบ่วงเศียรโล้น เนื้อผงคลุกรัก
พระปิดตาหลวงพ่อฉ่ำ วัดท้องคุ้ง สมุทรปราการ พิมพ์เข่าบ่วงเศียรโล้น เนื้อผงคลุกรัก ของคุณตี๋ พระประแดง
พระปิดตาหลวงพ่อฉ่ำ วัดท้องคุ้ง สมุทรปราการ พิมพ์เข่าบ่วงเศียรโล้น เนื้อผงคลุกรัก
พระปิดตาหลวงพ่อฉ่ำ วัดท้องคุ้ง สมุทรปราการ พิมพ์เข่าบ่วงเศียรโล้น เนื้อผงคลุกรัก ของคุณตี๋ พระประแดง

         ด้านหน้า เป็นรูปจำลองพระปิดตาเข่าบ่วง ประทับนั่งบนอาสนะ ด้านรูปพระปิดตามีอักขระยันต์

         ด้านหลัง อูม แบบหลังเบี้ย ไม่ปรากฏอักขระใดๆ

         พระเนื้อดินหลวงพ่อฉ่ำ วัดท้องคุ้ง พิมพ์ฐานบัวฟันปลา

         สร้างขึ้นก่อนนปี พ.ศ. ๒๔๘๐ เพื่อแจกให้กับผู้ที่บริจาคทรัพย์ให้กับทางวัด ลักษณะเป็นพระพิมพ์รูปเล็บมือ สร้างด้วยเนื้อผงคลุกรัก หลวงพ่อฉ่ำปลุกเสกเดี่ยว จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้ 

พระเนื้อดินหลวงพ่อฉ่ำ วัดท้องคุ้ง สมุทรปราการ พิมพ์ฐานบัวฟันปลา
พระเนื้อดินหลวงพ่อฉ่ำ วัดท้องคุ้ง สมุทรปราการ พิมพ์ฐานบัวฟันปลา ของคุณkeng longtom

         ด้านหน้า เป็นรูปจำลองพระพุทธเข่าบ่วง ประทับนั่งบนอาสนะฐานบัวฟันปลา

         ด้านหลัง อูม แบบหลังเบี้ย ไม่ปรากฏอักขระใดๆ



หมายเหตุ : เหรียญรุ่น ๒ มีจุดที่น่าสังเกตุคือบล็อกด้านหลังใช้บล็อกเดียวกับเหรียญพระพุทธหลวงพ่อสาย วัดกระโจมทอง สมุทรสาคร คาดว่าน่าจะสร้างในโรงงานเดียวกันและสร้างในปีเดียวกันคือ ปี พ.ศ. ๒๔๙๔  

โดย : สารานุกรมพระเกจิแห่งแดนสยาม

บทความที่เกี่ยวข้อง

 ***-[เป็นกำลังใจและสนับสนุน​ให้เราเขียนบทความดีๆ ด้วยการกดดูโฆษณาด้านล่างนะคะ]-***

ไม่มีความคิดเห็น