โฆษณาแนวนอน728*90

บทความใหม่

ประวัติและวัตถุมงคลหลวงพ่อพวง วัดพระนอน พระเกจิเจ้าของเหรียญไมยราพสะกดทัพปืนยิงไม่ออกของเพชรบุรี

ภาพถ่ายหลวงพ่อพวง วัดพระนอน เพชรบุรี
หลวงพ่อพวง วัดพระนอน เพชรบุรี

         หลวงพ่อพวง วัดพระนอน หรือ พระอาจารย์พวง วัดพระนอน ตำบลคลองกระแชง อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบุรี ท่านเป็นพระเกจิอาจารย์สายเหนียวของเพชรบุรี มีบันทึกไว้ชัดเจนว่าปืนยิงไม่ออก 

         แต่เป็นที่น่าเสียดายที่ประวัติของท่านไม่ชัดเจนนัก ทราบแค่เพียงว่าพื้นเพท่านเป็นชาวบ้านบ่อตะกั่ว ตำบลท่าแลง อำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี เกิดเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๖๐ โดยไม่ปรากฏชื่อโยมบิดาและโยมมารดาของท่าน

         ปี พ.ศ. ๒๔๘๒ หลวงพ่อพวง ท่านมีอายุได้ ๒๒ ปี จึงเข้าอุปสมบทเป็นพระภิกษุ ณ พัทธสีมาวัดหนองเผาถ่าน ตำบลดอนขุนห้วย อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี ได้รับฉายาว่า "คุณาคโว" แต่ไม่ปรากฏนามพระอุปัชฌาย์และพระคู่สวด

         ต่อมาท่านได้ย้ายมาจำพรรษาและเข้าสังกัดเป็นพระภิกษุที่วัดพระนอน ตำบลคลองกระแชง อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบุรี ในสมัยที่หลวงพ่อเทพเป็นเจ้าอาวาส ท่านได้อยู่ศึกษาพระธรรมวินัย และศึกษาวิชาอาคมจากหลวงพ่อเทพ และศึกษาจากตำราวิชาที่ตกทอดมาจากหลวงพ่อกุน เจ้าอาวาสรูปก่อน

ภาพถ่ายหลวงพ่อเทพ วัดพระนอน เพชรบุรี
หลวงพ่อเทพ วัดพระนอน เพชรบุรี

         วัดพระพุทธไสยาสน์ เป็นวัดราษฎร์ สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย ตั้งอยู่ในตำบลคลองกระแชง อำเภอเมืองเพชรบุรี จังหวัดเพชรบุรี

         วัดพระพุทธไสยาสน์ สันนิษฐานว่าสร้างมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ข้อมูลกรมการศาสนาระบุว่าตั้งวัดเมื่อปี พ.ศ. ๒๒๐๐ ภายในวัดมีพระพุทธไสยาสน์ขนาดใหญ่สร้างด้วยอิฐลงรักปิดทอง ยาวประมาณ ๔๓ เมตร ซึ่งมีประวัติว่าเดิมสร้างไว้กลางแจ้ง

         วัดแห่งนี้ได้ถูกปล่อยทิ้งจนกลายเป็นวัดร้าง ชาวบ้านในพื้นที่เรียกติดปากว่า วัดพระนอน จนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงทอดพระเนตรเห็นองค์พระนอนที่ทรุดโทรมมากจึงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างหลังคาสังกะสีคลุมไว้ 

         ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีการสร้างหลังคากระเบื้องคลุมองค์พระนอนไว้และกลายเป็นวิหารพระพุทธไสยาสน์ดังที่เห็นในปัจจุบัน 

         ในการบูรณะองค์พระนอนเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๐ พบอุโมงค์ภายในองค์พระ มีโบราณวัตถุอยู่เป็นจำนวนมาก ส่วนใหญ่เป็นพระพุทธรูปทำจากวัสดุต่างๆ ได้แก่ สำริด ดินเผา ปูนปั้น หินทราย และไม้บุเงิน ส่วนใหญ่เป็นพระพุทธรูปแบบศิลปะอยุธยาตอนปลาย

         จุดเด่นของพระนอนองค์นี้ที่แตกต่างจากที่อื่นกล่าวคือ ที่เศียรขององค์พระมีหมอนบรรทมรูปดอกบัวรองพระเศียรอยู่สองก้อน องค์พระพุทธรูปนอนประทับในอิริยาบถตะแคงขวา พระเศียรหันไปทางทิศตะวันตก ถือเป็นพระนอนที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับที่ ๔ ในประเทศไทย

         หลังจากที่หลวงพ่อพวงได้ย้ายมาจำพรรษาที่วัดพระนอน ท่านได้ช่วยหลวงพ่อเทพ สร้างเสนาสนะต่างๆ ตลอดจนถาวรวัตถุต่างๆ จนวัดเจริญรุ่งเรืองขึ้นตามลำดับ ต่อมาท่านจึงได้รับแต่งตั้งให้เป็นพระฐานานุกรมที่ "พระครูปลัด"

         ปี พ.ศ. ๒๕๐๘ เมื่อพระอาจารย์ทุ้ยได้ขึ้นมาบุกเบิกถ้ำช้างเผือกในเขตอุปจารของวัดไร่ดอน(เขากิ่ว) ตำบลไร่ส้ม อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบุรี เพื่อเป็นสถานที่สำหรับปฏิบัติธรรม 

         พระอาจารย์พวง ท่านจึงได้ขึ้นมาเจริญพระกรรมฐานที่ถ้ำช้างเผือกแห่งนี้ พบว่าถ้ำช้างเผือกเป็นที่สัปปายะสถานมาก เงียบสงบ เหมาะแก่การเจริญพระกรรมฐาน ท่านจึงได้ย้ายมาจำพรรษาอยู่ที่นี่

         คนเฒ่าคนแก่เล่าสืบต่อกันมาว่า พระอาจารย์พวง ท่านเป็นพระที่มีเก่งกาจด้านวิชาอาคม ร่ำเรียนวิชาไมยราพสะกดทัพมาจากตำราของหลวงพ่อกุน วัดพระนอน ตามคำแนะนำของหลวงพ่อเทพ วัดพระนอนจนสำเร็จวิชา ใครมีตะกรุดของท่านจะอยู่ยงคงกระพันดังเรื่องเล่าของ

ภาพถ่ายหลวงพ่อกุน วัดพระนอน เพชรบุรี
หลวงพ่อกุน วัดพระนอน เพชรบุรี

         ช่างตัดผมที่ข้างวัดพระนอนท่านหนึ่ง เล่าให้ฟังว่า ตอนเด็กๆ มีอยู่คราวหนึ่ง มีกลุ่มเด็กนักเรียนแอบหนีหมอที่มาฉีดยาที่โรงเรียน ผ่านไปยังวัดหลวงพ่อพวง หลวงพ่อพวงท่านจึงทักขึ้นว่า "เวลานี้พวกเอ็งจะไปไหนกัน" เด็กก็เล่าไปตามจริงว่าแอบหนีหมอ ฉีดยาที่โรงเรียนมา 

         พระอาจารย์พวง หัวเราะเด็กกลุ่มนี้แล้วให้ตระกรุดดอกเล็กๆคนละดอก แล้วให้กลับไปโรงเรียน เด็กๆเห็นว่า ออกมานานพอสมควรแล้ว หมอน่าจะกลับแล้ว จึงพากันกลับโรงเรียน 

         แต่ที่ไหนได้ หมอยังไม่กลับ แถมยังเรียกเด็กกลุ่มนี้เข้าไปฉีดยา เด็กคนแรกโดนฉีด เข็มโก่งจนหักเพราะแทงไม่เข้า หมอลองเปลี่ยนใหม่ ก็ไม่เข้าอีก ลองกับเด็กคนหลังในกลุ่มนั้นก็เหมือนกัน แทงไม่เข้า!!! หมอจึงถามว่า "ไปไหนมา" เด็กๆก็เล่าว่า "ไปพบหลวงพ่อพวง มา" แล้วก็ล้วงตระกรุดดอกเล็กๆออกมาจากกระเป๋าให้ดู

         ในช่วงที่พระอาจารย์พวงท่านยังมีชีวิตอยู่นั้น ท่านได้สร้างเหรียญไว้ในสมัยที่อยู่ที่วัดพระนอนทั้งสิ้น ๔ รุ่น อีกหนึ่งรุ่นออกที่ถ้ำช้างเผือก เหรียญหลวงพ่อพวงทั้ง ๔ รุ่นนี้ คนเมืองเพชรบุรีรู้จักกันดีว่า เรื่องเหนียวขึ้นทำเนียบพระเครื่องเมืองเพชร แต่เรื่องเมตตา ค้าขาย โชคลาภก็มีอยู่ในเหรียญนี้เช่นเดียวกัน

         ในคอคนเมืองเพชรฯ นอกจากหลวงพ่อทองศุข วันโตนดหลวง และหลวงพ่อแดง วัดเขาบันไดอิฐแล้ว ต้องมีเหรียญหลวงพ่อพวง ติดตัวเช่นเดียวกัน เพราะถือเป็นเหรียญเหนียว แห่งเมืองคนดุ เพชรบุรี

         เหรียญของท่านเป็นที่โด่งดังขึ้นมาเพราะพระอาจารย์สุวิทย์ วัดห้วยขวาง (ศิษย์ผู้สืบทอดวิชาหลวงพ่อพวง) ได้รับนิมิตร ในค่ำคืนหนึ่งหลังพระอาจารย์พวง ได้มรณะภาพไม่นาน ว่าให้เข้าไปที่พักพระอาจารย์พวง ให้ไปเอาของสำคัญออกมา

         เมื่อหลวงพ่อสุวิทย์ เดินทางไปที่พักของหลวงท่านที่ถ้ำช้างเผือก ก็ได้เข้าไปในกุฏิของหลวงพ่อ และได้เหรียญรุ่น ๓ จำนวน ๒๐๐ เหรียญ และบล๊อคด้านหน้าของเหรียญ รวมถึงพระขรรถ์ของหลวงพ่อโศก วัดปากคลองบางครก 

         ซึ่งเป็นที่อัศจรรย์ที่ก่อนหน้านี้ลูกศิษย์คนอื่นๆได้ไป ตรวจสอบมาก่อนหลายครั้งแล้ว แต่กลับไม่พบ แต่เมื่อหลวงพ่อสุวิทย์ได้รับนิมิตร กลับพบ

         ต่อมา...พระอาจารย์สุวิทย์ เมื่่อได้เหรียญมาก็กลับมาที่วัดห้วยขวาง ท่านก็แจกให้แก่ลูกศิษย์ ของท่าน และ ก็แบ่งกลับไปที่วัดพระนอนอีกจำนวนหนึ่ง เพื่อให้วัดออกให้บูชาหารายได้เข้าวัดอีกจำนวนไม่เกิน ๑๐๐ เหรียญ โดยเมื่อเริ่มแจกไม่นานก็หมดไป เหลือไม่เกิน ๑๐ เหรียญ ท่านพระอาจารย์สุวิทย์จึงเก็บไว้ทำชนวนสร้างพระ

         โดยลูกศิษย์ของพระอาจารย์สุวิทย์ ที่เป็นตำรวจ เมื่อได้รับเหรียญหลวพ่อพวง รุ่น ๓ นี้ไปแล้ว ก็ได้ไปลอง โดนแขวนคอไก่ ยิงปรากฏว่ายิงไม่ออก โดยทำการยิงถึง ๑๐ กว่านัด เมื่อลองแล้วยิงไม่ออก จึงยิงขึ้นฟ้าปรากฏว่ายิงออกเป็นปกติ 

         แต่พอเล็งยิงมาที่ไก่ แล้วยิงไม่ออก เปลี่ยนลูกทุกลูกผลก็เป็นเช่นเดิมตลอด จนล่ำลือกันในหมู่ลูกศิษย์ที่เป็นตำรวจ ทำให้ศิษย์ที่เป็นตำรวจจึงเข้ามาที่วัดท่านขอเหรียญหลวงพ่อพวง ไม่นานจึงหมด

         หลังจากนั้น ก็ยังเกิดประสบการณ์เรื่อง มหาอุตต์ คงกระพัน ชนิดนับไม่ถ้วน เท่าที่ฟังแล้วมีที่มาที่ไป ไม่น้อยกว่า ๑๐ ครั้ง ในรอบไม่ถึง ๔ ปีที่ผ่านมา ( ๒๕๔๖ - ๒๕๕๐) 

         ต่อมาพระอาจารย์สุวิทย์ ปิยธัมโม ท่านได้สร้างพระกริ่งขึ้นโดยผสมมวลสารชนวน ประมาณ ๑,๐๐๐ อย่าง ที่ท่านสะสมมาตลอดชีวิต รวมทั้งเหรียญหลวงพ่อพวง รุ่น ๓ ด้วย จำนวน ๕ เหรียญ แต่สิ่งอัศจรรย์ ก็เกิดขึ้นขณะหลอมโลหะ เหรียญหลวงพ่อพวง ทั้ง ๕ เหรียญไม่ละลายเลยแม้แต่เหรียญเดียว 

         พอตักขึ้นมาไม่ละลายก็ใส่ไปใหม่ ผ่านไปหลายนาที ตักขึ้นมาก็ไม่ละลายอีก ทั้งๆที่ มวลสารโลหะอื่นเป็นพันๆ อย่างละลายไปหมดแล้ว 

         สุดท้ายท่านอาจารย์ ต้องตั้งบายศรีขออนุญาติ พอใส่เหรียญทั้ง ๕ ไปเป็นครั้งที่ ๓ ก็หลอมละลายดั่งโลหะอื่นๆปรกติ จึงเป็นเรื่องที่น่าแปลก อัศจรรย์ใจมาก แก่คนที่อยู่ในพิธีหลายต่อหลายคน

         พระอาจารย์พวง อยู่จำพรรษาที่ถ้ำช้างเผือกเรื่อยมาจนถึงแก่มรณภาพลงด้วยโรคชรา เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๖ นับรวมสิริอายุได้ ๘๖ ปี ๖๔ พรรษา.

วัตถุมงคลของพระอาจารย์พวง วัดพระนอน

         เหรียญพระอาจารย์พวง วัดพระนอน รุ่นแรก

         สร้างขึ้นก่อนปี พ.ศ. ๒๕๐๐ คาดว่าสร้างในช่วงปี พ.ศ. ๒๔๘๕ - ๒๔๙๘ เพื่อแจกให้กับศิษยานุศิษย์ของหลวงพ่อ ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มรูปไข่ข้างกระบอกแบบมีหูในตัว มีการสร้างด้วยเนื้อทองแดงเพียงชนิดเดียวเท่านั้น จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

เหรียญหลวงพ่อพวง วัดพระนอน เพชรบุรี รุ่นแรก 2485-2498 ทองแดง
เหรียญหลวงพ่อพวง วัดพระนอน เพชรบุรี รุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๔๘๕ - ๒๔๙๘ เนื้อทองแดง

         ด้านหน้า จำลองเป็นรูปหลวงพ่อพวงครึ่งองค์ห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฏิ 

         ด้านหลัง มีอักขระยันต์ไมยราพสะกดทัพ พื้นเหรียญแอ่นเป็นทองกระทะเล็กน้อย

         เหรียญพระอาจารย์พวง วัดพระนอน รุ่นสอง

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๐๑ เพื่อแจกให้กับศิษยานุศิษย์ของหลวงพ่อและแจกให้กับผู้ที่บริจาคทรัพย์ให้กับทางวัด ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มรูปไข่แบบมีหูในตัว มีการสร้างด้วยเนื้อทองแดงเพียงชนิดเดียวเท่านั้น จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

เหรียญหลวงพ่อพวง วัดพระนอน เพชรบุรี รุ่น 2 2501 ทองแดง
เหรียญหลวงพ่อพวง วัดพระนอน เพชรบุรี รุ่น ๒ ปี พ.ศ. ๒๕๐๑ เนื้อทองแดง

         ด้านหน้า จำลองเป็นรูปหลวงพ่อพวงครึ่งองค์ห่มจีวรคลุมไหล่ ที่ขอบเหรียญมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "พระอาจารย์พวง วัดพระนอน จ.เพชรบุรี พ.ศ. ๒๕๐๑" 

         ด้านหลัง มีอักขระยันต์ไมยราพสะกดทัพ

         เหรียญพระอาจารย์พวง วัดพระนอน รุ่น ๓

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๐๖ เพื่อแจกให้กับศิษยานุศิษย์ของหลวงพ่อและแจกให้กับผู้ที่บริจาคทรัพย์ให้กับทางวัด ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มรูปไข่แบบมีหูในตัว ถือเป็นเหรียญที่สร้างชื่อให้กับหลวงพ่อเป็นอย่างมากจากประสพการณ์ยิงไม่ออก มีการสร้างด้วยเนื้อทองแดงเพียงชนิดเดียวเท่านั้น จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

เหรียญหลวงพ่อพวง วัดพระนอน เพชรบุรี รุ่น 3 บ่าแตกนิยม 2506 ทองแดง
เหรียญหลวงพ่อพวง วัดพระนอน เพชรบุรี รุ่น ๓ (นิยม บ่าแตก) ปี พ.ศ. ๒๕๐๖ เนื้อทองแดง
เหรียญหลวงพ่อพวง วัดพระนอน เพชรบุรี รุ่น 3 2506 ทองแดง
เหรียญหลวงพ่อพวง วัดพระนอน เพชรบุรี รุ่น ๓ ปี พ.ศ. ๒๕๐๖ เนื้อทองแดง

         ด้านหน้า จำลองเป็นรูปหลวงพ่อพวงครึ่งองค์ห่มจีวรลดไหล่ พาดผ้าสังฆาฏิ ข้างรูปหลวงพ่อมีอักขระยันต์ ที่ขอบเหรียญมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "พระอาจารย์พวง วัดพระนอน จ.เพชรบุรี พ.ศ. ๒๕๐๖" 

         ด้านหลัง มีอักขระยันต์ไมยราพสะกดทัพ

         เหรียญพระอาจารย์พวง วัดพระนอน รุ่น ๔

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๐๘ เพื่อแจกให้กับศิษยานุศิษย์ของหลวงพ่อและแจกให้กับผู้ที่บริจาคทรัพย์ให้กับทางวัด ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มรูปไข่แบบมีหูในตัว มีการสร้างด้วยเนื้อทองแดงเพียงชนิดเดียวเท่านั้น จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

เหรียญหลวงพ่อพวง วัดพระนอน เพชรบุรี รุ่น 4 2508 ทองแดง
เหรียญหลวงพ่อพวง วัดพระนอน เพชรบุรี รุ่น ๔ ปี พ.ศ. ๒๕๐๘ เนื้อทองแดง ของลานพระไทย

         ด้านหน้า จำลองเป็นรูปหลวงพ่อพวงครึ่งองค์ห่มจีวรลดไหล่ พาดผ้าสังฆาฏิ ข้างรูปหลวงพ่อมีอักขระยันต์ ที่ขอบเหรียญมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "พระอาจารย์พวง คุณาคโว" 

         ด้านหลัง มีอักขระยันต์ ใต้อักขระยันต์มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "วัดพระนอนสาริกา เพชรบุรี ๒๕๐๘" 

         เหรียญพระอาจารย์พวง วัดพระนอน รุ่น ๕ (ออกถ้ำช้างเผือก)

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๔๐ เพื่อแจกให้กับศิษยานุศิษย์ในคราวฉลองอายุครบ ๘๐ ปี ของหลวงพ่อ ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มรูปไข่แบบมีหูในตัว มีการสร้างด้วยเนื้อทองแดงเพียงชนิดเดียวเท่านั้น จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

เหรียญหลวงพ่อพวง วัดพระนอน เพชรบุรี รุ่น 5 ออกถ้ำช้างเผือก 2540 ทองแดง
เหรียญหลวงพ่อพวง วัดพระนอน เพชรบุรี ออกถ้ำช้างเผือก ปี พ.ศ. ๒๕๔๐ เนื้อทองแดง

         ด้านหน้า จำลองเป็นรูปหลวงพ่อพวงครึ่งองค์ห่มจีวรลดไหล่ พาดผ้าสังฆาฏิ ข้างรูปหลวงพ่อมีอักขระยันต์ ที่ขอบเหรียญด้านบนมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "พระอาจารย์พวง ถ้ำช้างเผือก เมืองเพชรบุรี ๒๕๔๐" ใต้รูปหลวงพ่อมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "คุณาคโร ๘๐" 

         ด้านหลัง มีอักขระยันต์ไมยราพสะกดทัพ

         สมเด็จพระอาจารย์พวง วัดพระนอน ออกถ้ำช้างเผือก

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๔๐ เพื่อแจกให้กับศิษยานุศิษย์ในคราวฉลองอายุครบ ๘๐ ปี ของหลวงพ่อ ลักษณะเป็นพระสมเด็จพิมพ์สี่เหลี่ยม สร้างจากเนื้อผงพุทธคุณ จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

สมเด็จหลวงพ่อพวง วัดพระนอน เพชรบุรี ออกที่ถ้ำช้างเผือก 2540 ผง
สมเด็จหลวงพ่อพวง ออกถ้ำช้างเผือก ปี พ.ศ. ๒๕๔๐ เนื้อผง ของคุณนัท พระนอน

         ด้านหน้า จำลองเป็นรูปพระสมเด็จพิมพ์ใหญ่ ฐาน ๓ ชั้น

         ด้านหลัง มีอักขระยันต์ รอบอักขระยันต์มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "พระอาจารย์พวง คุณาคโว ถ้ำช้างเผือก เพชรบุรี ๒๕๔๐" 



โดย : สารานุกรมพระเกจิแห่งแดนสยาม

บทความที่เกี่ยวข้อง

 ***-[เป็นกำลังใจและสนับสนุน​ให้เราเขียนบทความดีๆ ด้วยการกดดูโฆษณาด้านล่างนะคะ]-***

ไม่มีความคิดเห็น