ประวัติและวัตถุมงคลหลวงพ่อเทพ วัดพระนอน ผู้สืบทอดวิชาตะกรุดไมยราพของหลวงพ่อกุน
หลวงพ่อเทพ วัดพระนอน เพชรบุรี |
หลวงพ่อเทพ วัดพระนอน หรือ พระครูสมณกิจพิศาล (เทพ สุโภ) อดีตเจ้าอาวาสวัดพระนอน ตำบลคลองกระแชง อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบุรี ท่านมีนามเดิมว่า เทพ นิลเรือง พื้นเพท่านเป็นชาวบ้านตำบลลาดโพธิ์ อำเภอบ้านลาด จังหวัดเพชรบุรี เกิดเมื่อวันเสาร์ที่ ๒๕ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๒๔ โดยไม่ปรากฏชื่อโยมบิดาและโยมมารดาของท่าน
ปี พ.ศ. ๒๔๓๐ หลวงพ่อเทพ ท่านมีอายุได้ ๖ ปีเศษ โยมบิดาและโยมมารดา จึงได้นำมาฝากกับท่านพระครูสุชาตเมธาจารย์ (กุน) วัดพระพุทธไสยาสน์ เพื่อศึกษาเล่าเรียนวิชาหนังสือไทย-ขอม
ปี พ.ศ. ๒๔๓๕ ท่านมีอายุได้ ๑๑ ปี จึงได้บรรพชาเป็นสามเณร โดยมีหลวงพ่อกุน วัดพระนอน เป็นผู้บวชให้ เพื่อศึกษาพระธรรมวินัย
ปี พ.ศ. ๒๔๔๔ หลวงพ่อเทพ ท่านมีอายุครบ ๒๐ ปีบริบูรณ์ ท่านจึงเข้าอุปสมบทเป็นพระภิกษุ ณ พัทธสีมาวัดพระนอน (วัดพระพุทธไสยาสน์) ตำบลคลองกระแชง อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบุรี ได้รับฉายาว่า "สุโภ" โดยมี
หลวงพ่อกุน วัดพระนอน เป็นพระอุปัชฌาย์
หลังจากอุปสมบทแล้ว ท่านได้อยู่จำพรรษาที่วัดพระนอนเรื่อยมา เพื่อศึกษาพระธรรมวินัย และวิชาอาคมต่างๆ จากพระอุปัชฌาย์ โดยท่านได้รับการแต่งตั้งเป็นพระในฐานานุกรมของพระครูสุชาตเมธาจารย์ (กุน) ในตำแหน่ง พระปลัด
ปี พ.ศ. ๒๔๖๓ หลวงพ่อกุนได้มรณภาพลง ทางคณะสงฆ์จึงได้แต่งตั้งหลวงพ่อเทพให้เป็นเจ้าอาวาสทดแทนตำแหน่งที่ว่างลง
หลวงพ่อกุน วัดพระนอน เพชรบุรี |
วัดพระพุทธไสยาสน์ เป็นวัดราษฎร์ สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย ตั้งอยู่ในตำบลคลองกระแชง อำเภอเมืองเพชรบุรี จังหวัดเพชรบุรี
วัดพระพุทธไสยาสน์ สันนิษฐานว่าสร้างมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ข้อมูลกรมการศาสนาระบุว่าตั้งวัดเมื่อปี พ.ศ. ๒๒๐๐ ภายในวัดมีพระพุทธไสยาสน์ขนาดใหญ่สร้างด้วยอิฐลงรักปิดทอง ยาวประมาณ ๔๓ เมตร ซึ่งมีประวัติว่าเดิมสร้างไว้กลางแจ้ง
วัดแห่งนี้ได้ถูกปล่อยทิ้งจนกลายเป็นวัดร้าง ชาวบ้านในพื้นที่เรียกติดปากว่า วัดพระนอน จนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงทอดพระเนตรเห็นองค์พระนอนที่ทรุดโทรมมากจึงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างหลังคาสังกะสีคลุมไว้
ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีการสร้างหลังคากระเบื้องคลุมองค์พระนอนไว้และกลายเป็นวิหารพระพุทธไสยาสน์ดังที่เห็นในปัจจุบัน
ในการบูรณะองค์พระนอนเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๐ พบอุโมงค์ภายในองค์พระ มีโบราณวัตถุอยู่เป็นจำนวนมาก ส่วนใหญ่เป็นพระพุทธรูปทำจากวัสดุต่างๆ ได้แก่ สำริด ดินเผา ปูนปั้น หินทราย และไม้บุเงิน ส่วนใหญ่เป็นพระพุทธรูปแบบศิลปะอยุธยาตอนปลาย
จุดเด่นของพระนอนองค์นี้ที่แตกต่างจากที่อื่นกล่าวคือ ที่เศียรขององค์พระมีหมอนบรรทมรูปดอกบัวรองพระเศียรอยู่สองก้อน องค์พระพุทธรูปนอนประทับในอิริยาบถตะแคงขวา พระเศียรหันไปทางทิศตะวันตก ถือเป็นพระนอนที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับที่ ๔ ในประเทศไทย
หลังจากที่หลวงพ่อเทพได้ขึ้นเป็นเจ้าอาวาส ท่านได้สร้างเสนาสนะต่างๆ ตลอดจนถาวรวัตถุต่างๆ จนวัดเจริญรุ่งเรืองขึ้นตามลำดับ
ปี พ.ศ. ๒๔๗๗ ด้วยคุณงามความดีของท่าน ที่พัฒนาวัดจนเจริญรุ่งเรืองขึ้นเป็นอันมาก ท่านจึงได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตรที่ "พระครูสมณกิจพิศาล" ตำแหน่งเจ้าคณะหมวดคลองกระแชง
ปี พ.ศ. ๒๔๘๐ ท่านได้รับตำแหน่งรองเจ้าคณะจังหวัดเพชรบุรี
หลวงพ่อเทพ ปกครองวัดเรื่อยมาจนถึงแก่มรณภาพลงด้วยโรคริดสีดวงเมื่อวันพุธที่ ๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๔ นับรวมสิริอายุได้ ๖๐ ปี ๔๐ พรรษา
วัตถุมงคลของหลวงพ่อเทพ วัดพระนอน
เหรียญหลวงพ่อเทพ วัดพระนอน รุ่นแรก
สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๘๔ เพื่อแจกให้กับศิษยานุศิษย์ของหลวงพ่อ ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มรูปกรงจักรแบบมีหูในตัว มีการสร้างด้วยเนื้อทองแดงเพียงชนิดเดียวเท่านั้น จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้
เหรียญหลวงพ่อเทพ วัดพระนอน เพชรบุรี รุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๔๘๔ เนื้อทองแดง |
ด้านหน้า จำลองเป็นรูปหลวงพ่อเทพครึ่งองค์ห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฏิ ข้างรูปหลวงพ่อมีอักขระยันต์ ใต้รูปหลวงพ่อมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "พระครูสมณกิจพิศาล พ.ศ. ๒๔๘๔"
ด้านหลัง มีอักขระยันต์
เหรียญหลวงพ่อเทพ วัดพระนอน รุ่นสอง
สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๘๕ เพื่อแจกในงานฌาปนกิจของหลวงพ่อ ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มรูปไข่แบบมีหูในตัว มีการสร้างด้วยเนื้อทองแดงเพียงชนิดเดียวเท่านั้น จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้
เหรียญหลวงพ่อเทพ วัดพระนอน เพชรบุรี รุ่นสอง ปี พ.ศ. ๒๔๘๕ เนื้อทองแดง |
ด้านหน้า จำลองเป็นรูปหลวงพ่อเทพครึ่งองค์ห่มจีวรคลุมไหล่ ใต้รูปหลวงพ่อมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "พระครูสมณกิจพิศาล พ.ศ. ๒๔๘๕"
ด้านหลัง มีอักขระยันต์สาม
โดย : สารานุกรมพระเกจิแห่งแดนสยาม
บทความที่เกี่ยวข้อง
***-[เป็นกำลังใจและสนับสนุนให้เราเขียนบทความดีๆ ด้วยการกดดูโฆษณาด้านล่างนะคะ]-***
ไม่มีความคิดเห็น