โฆษณาแนวนอน728*90

บทความใหม่

ประวัติและวัตถุมงคลหลวงพ่อสุข วัดห้วยจระเข้ ผู้สืบทอดวิชาพระปิดตาจากหลวงพ่อนาค วัดห้วยจระเข้ นครปฐม

ภาพถ่ายหลวงปู่สุข วัดห้วยจระเข้ นครปฐม
หลวงปู่สุข วัดห้วยจระเข้ นครปฐม

         หลวงพ่อสุข วัดห้วยจระเข้ หรือ พระครูอุตตรการบดี อดีตเจ้าอาวาสวัดห้วยจระเข้ ตำบลพระปฐมเจดีย์ อำเภอเมือง จังหวัดนครปฐม ท่านมีนามเดิมว่า สุข มาเทศ พื้นเพท่านเป็นชาวบ้านหมู่ที่ ๓ ตำบลบางแขม อำเภอเมือง จังหวัดนครปฐม

         หลวงพ่อสุข ท่านเกิดวันศุกร์เดือน ๙ ปีมะเมีย ตรงกับวันที่ ๒๕ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๒๕ โยมบิดาชื่อนายเทศ มาเทศ โยมมารดาชื่อนางทิพย์ มาเทศ มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน ๗ คน คือ

         ๑. นายชุ่ม มาเทศ

         ๒. นายพิมพ์ มาเทศ

         ๓. นายควน มาเทศ

         ๔. นายนิ่ม มาเทศ

         ๕. พระครูอุตตรการบดี (สุข มาเทศ)

         ๖. นางจีบ

         ๗. นายช่วง มาเทศ

         ปี พ.ศ. ๒๔๓๓ เมื่อหลวงพ่อสุข ท่านมีอายุได้ ๘ ขวบ โยมบิดาและโยมมารดาได้นำไปฝากให้เรียนหนังสือกับหลวงอาทอง (ญาติ) โดยหลวงอาทองได้นำท่านไปฝากเรียนหนังสือกับหลวงพ่อแก้ว เจ้าอาวาสวัดบางแขม ตำบลบางแขม อำเภอเมือง จังหวัดนครปฐม

         ปี พ.ศ. ๒๔๓๖ หลวงพ่อสุข ท่านมีอายุได้ ๑๑ ปี ท่านจึงได้บรรพชาเป็นสามเณรที่วัดบางแขม เพื่อศึกษาวิชาเขียนอ่านตามสมัยนิยม

         ปี พ.ศ. ๒๔๔๒ ท่านมีอายุได้ ๑๗ ปี ได้ลาสิกขา ๖ เดือนเศษก็กลับไปบวชใหม่ที่วัดเดิม มีผู้เล่าว่าเมื่อสึกจากสามเณรครั้งนั้น เกิดไปชอบผู้หญิงคนนึงเข้า ถึงกับจับมือถือแขน เลยถูกผู้ใหญ่เรียกค่าทำขวัญเป็นเงิน ๕ ตำลึง สมัยนั้นเยอะมาก ตั้งแต่นั้นเลยเข็ดถึงกับปฏิญาณว่าจะขอบวชไม่สึก

         ปี พ.ศ. ๒๔๔๕ หลวงพ่อสุข ท่านมีอายุได้ ๒๐ ปีบริบูรณ์ ท่านจึงได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุ ณ พัทธสีมาวัดบางแขม ตำบลบางแขม อำเภอเมือง จังหวัดนครปฐม ได้รับฉายาว่า "ปทุมัสสวัณโณ" โดยมี

         พระอาจารย์คำ วัดหนองเสือ เป็นพระอุปัชฌาย์

         พระครูสมถกิตติคุณ (กลั่น) วัดพระประโทน เป็นพระกรรมวาจาจารย์

         หลวงพ่อแก้ว วัดบางแขม เป็นพระอนุสาวนาจารย์

         หลังอุปสมบทแล้ว ท่านได้อยู่จำพรรษาที่วัดบางแขมเรื่อยมา เพื่อศึกษาพระธรรมวินัยและวิชาต่างๆกับหลวงพ่อแก้วเจ้าอาวาสวัด

         ปี พ.ศ. ๒๔๔๗ ท่านมีความประสงค์ จะเล่าเรียนศึกษาพระธรรมวินัยให้แตกฉาน จึงได้ย้ายไปเรียนหนังสือไทยและบาลีกัจจายมูล(หนังสือใหญ่)กับท่านพระครูปัจฉิมทิศบริหาร (หลวงปู่นาค) วัดห้วยจระเข้ ตำบลพระปฐมเจดีย์ อำเภอเมือง จังหวัดนครปฐม

         ซึ่งเป็นอาจารย์สอนหนังสือ มีศิษย์เรียนมาก ทั้งเป็นที่ทรงคุณในทางสมถวิปัสสนา เป็นที่นับถือของคนทั่วไป ถึงแม้ท่านจะสอบไล่ไม่ได้ แต่ก็แตกฉานในธรรมวินัย พอที่จะสั่งสอนอบรมกุลบุตรให้ประพฤติดีปฏิบัติชอบอยู่ในกรอบพระวินัยได้

         ปี พ.ศ. ๒๔๕๒ พระครูปัจฉิมทิศบริหารได้มรณภาพลง ท่านจึงได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้รั้งตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดห้วยจระเข้ลำดับที่ ๒ ซึ่งขณะนั้นท่านบวช ๗ พรรษา ทั้งยังได้รับแต่งตั้งเป็นฐานานุกรมที่พระใบฎีกาอีกด้วย

         วัดห้วยจระเข้ เป็นวัดราษฎร์สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย ตั้งอยู่ในตำบลพระปฐมเจดีย์ อำเภอเมืองนครปฐม จังหวัดนครปฐม วัดตั้งเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๔๑

         วัดห้วยจระเข้ เดิมเป็นสำนักสงฆ์ชื่อว่าสำนักสงฆ์โชติการาม มีพระครูปัจฉิมทิศบริหาร (นาค โชติโก) เป็นผู้ก่อตั้งและเป็นเจ้าอาวาสรูปแรก และหลังจากนั้นในปี ร.ศ. ๑๑๙ พระครูปัจฉิมทิศบริหาร ขอพระราชทานวิสุงคามสีมา 

         โดยให้พระยาสุนทรบุรี เสด็จราชการมณฑลนครไชยศรี กราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวขอพระราชทานวิสุงคามสีมา จนได้รับพระราชทานเมื่อวันที่ ๙ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๔๓

         แต่ในใบประกาศพระราชทานวิสุงคามสีมานั้นระบุทินนามท่านว่า "พระปาจิณทิศบริหาร" ซึ่งทำให้ข้อมูลคลายเคลื่อนไป

         ต่อมาในยุคของพระครูอุตตรการบดี (สุข ปทุมสฺสวณฺโณ) เป็นเจ้าอาวาส และได้เปลี่ยนชื่อวัดมาเป็น "วัดนาคโชติการาม" เพื่อเทิดทูนคุณความดีของหลวงพ่อนาค แต่ประชาชนไม่นิยมเรียกกัน โดยจะเรียกว่า "วัดใหม่ห้วยจระเข้" และต่อมาตัดคำว่า "ใหม่" ออกไปจนถึงปัจจุบันนี้ วัดมีเจ้าอาวาสปกครองดังนี้

         ๑. พระครูปัจฉิมทิศบริหาร (นาค โชติโก) พ.ศ. ๒๔๔๑ - ๒๔๕๒

         ๒. พระครูอุตตรการบดี (สุข ปทุมสฺสวณฺโณ) พ.ศ. ๒๔๕๒ - ๒๔๙๔

         ๓. พระครูอุตตรการบดี (ล้ง กิตฺตินธโร) พ.ศ. ๒๔๙๔ - ๒๕๒๗

         ๔. พระมงคลชัยวัฒน์ (เสงี่ยม อาริโย) พ.ศ.๒๕๒๗ - ๒๕๖๐

         ๕. พระครูสุจิตกิจจานุกูล (เฉลียว สุจิตฺโต) พ.ศ.๒๕๖๐ - ปัจจุบัน

         หลังจากที่หลวงพ่อสุขได้ขึ้นเป็นเจ้าอาวาส ท่านได้พัฒนาวัดอย่างสุดความสามารถทั้งการสร้างเสนาสนะและถาวรวัตถุต่างๆ จนวัดเจริญรุ่งเรืองขึ้นตามลำดับ

         ปี พ.ศ. ๒๔๕๘ ท่านได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าคณะหมวดพระปฐมเจดีย์ (เจ้าคณะตำบล ในสมัยนี้) และเลื่อนตำแหน่งเป็นพระสมุห์ฐานานุกรมเจ้าคุณพระพุทธรักขิต วัดพระปฐมเจดีย์ 

         ต่อมาเมื่อท่านเจ้าคุณพระพุทธรักขิตมรณภาพแล้ว ก็ได้รับแต่งตั้งเป็นพระวินัยธรรม ฐานานุกรมของท่านเจ้าคุณพระพุทธวิถีนายก (หลวงปู่บุญ) วัดกลางบางแก้ว เจ้าคณะจังหวัดนครปฐม 

         ปี พ.ศ. ๒๔๖๖ หลวงพ่อสุข ท่านได้รับแต่งตั้งเป็นพระอุปัชฌาย์

         ปี พ.ศ. ๒๔๖๘ ท่านได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าคณะแขวงเมือง (เจ้าคณะอำเภอ) ต่อจากพระครูสมถะกิตติคุณ(กลั่น) วัดพระประโทนเจดีย์

         ปี พ.ศ. ๒๔๖๙ ท่านได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตรตำแหน่งประจำองค์พระปฐมเจดีย์ทิศเหนือที่ "พระครูอุตตรการบดี" เมื่อวันที่ ๖ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๖๙ 

         ปี พ.ศ. ๒๔๘๔ ท่านได้เป็นเจ้าคณะอำเภอกิตติมศักดิ์ เมื่อวันที่ ๒ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๘๔ นับรวมเวลาเป็นเจ้าคณะอำเภอมา ๑๖ ปี 

         นอกจากนี้เมื่อท่านได้ดำรงตำแหน่งที่สูงขึ้นแล้ว ท่านได้แต่งตั้งพระเกจิต่างๆ เป็นฐานานุกรมของท่านดังนี้

         ๑. พระปลัดเงิน วัดดอนยายหอม เป็นพระครูสัญญาบัตรที่ "พระราชธรรมาภรณ์"

         ๒. พระสมุห์สุน กาญจนะ ลาสิกขาแล้วเป็นกรรมการจัดการบริษัทจังหวัดนครปฐมและตั้ง พระสมุหห์ปุ่น วัดลาดปลาเค้า ทดแทน

         ๓. พระใบฎีกาล้ง วัดเกาะวังไทร ต่อมาได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ที่ พระครูอุตตรการบดี และเป็นเจ้าอาวาสวัดห้วยจระเข้ ลำดับต่อไป

         หลวงพ่อสุข ปกครองวัดเรื่อยมาจนถึงแก่มรณภาพลง เมื่อวันที่ ๑๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๙๔ เวลา ๑๕.๑๕ น. นับรวมสิริอายุได้ ๖๙ ปี ๔๘ พรรษา.

วัตถุมงคลของหลวงพ่อสุข วัดห้วยจระเข้

         พระปิดตาหลวงพ่อสุข วัดห้วยจระเข้ รุ่นแรก

         สร้างขึ้นก่อนปี พ.ศ.๒๔๙๔ เพื่อแจกให้กับผู้ที่บริจาคทรัพย์ให้กับทางวัด ลักษณะเป็นพระปิดตาหล่อ เนื้อเมฆพัด พิมพ์นี้เป็นต้นแบบในการสร้างพระปิดตาของหลวงพ่อน้อย วัดธรรมศาลา แต่ต่างกันที่เนื้อขององค์พระที่จะเข้มข้นกว่า จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

พระปิดตาหลวงปู่สุข วัดห้วยจระเข้ นครปฐม พิมพ์หูกระต่าย
พระปิดตาหลวงปู่สุข วัดห้วยจระเข้ นครปฐม พิมพ์หูกระต่าย ของคุณเบิร์ด ทัพหลวง
พระปิดตาหลวงปู่สุข วัดห้วยจระเข้ นครปฐม พิมพ์หูกระต่าย-ข้าง
พระปิดตาหลวงปู่สุข วัดห้วยจระเข้ นครปฐม พิมพ์หูกระต่าย ของคุณเบิร์ด ทัพหลวง

         ด้านหน้า จำลองเป็นรูปพระปิดตาภควัมบดี ที่หัวเข่าขององค์พระมีอักขระยันต์ 

         ด้านหลัง มีอักขระยันต์อ่านได้ว่า "มะ อุ อุ"

         เหรียญหลวงพ่อสุข วัดห้วยจระเข้ รุ่นแรก

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ.๒๔๙๕ ในสมัยที่หลวงพ่อล้งเป็นเจ้าอาวาส เพื่อแจกในงานฌาปนกิจศพของหลวงพ่อ (บางตำราว่าสร้าง พ.ศ. ๒๔๖๙ แต่ศิลปของเหรียญไม่เก่าขนาดนั้น) ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มรูปดอกจิกแบบมีหูในตัว มีการสร้างด้วยกัน ๒ บล็อกคือบล็อกอุตรง กับบล็อกอุขวาง มีการสร้างด้วยเนื้อเงิน(หายาก) และเนื้อทองแดงเพียงเท่านั้น จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

เหรียญหลวงปู่สุข วัดห้วยจระเข้ นครปฐม รุ่นแรก คอสั้น อุขวาง 2495 เงิน
เหรียญหลวงปู่สุข วัดห้วยจระเข้ นครปฐม รุ่นแรก (อุตรง) ปี พ.ศ. ๒๔๙๕ เนื้อเงิน ของคุณศุภฤกษ์ นิสสัยดี
เหรียญหลวงปู่สุข วัดห้วยจระเข้ นครปฐม รุ่นแรก คอสั้น อุขวาง 2495 ทองแดง
เหรียญหลวงปู่สุข วัดห้วยจระเข้ นครปฐม รุ่นแรก (อุขวาง) ปี พ.ศ. ๒๔๙๕ เนื้อทองแดง
เหรียญหลวงปู่สุข วัดห้วยจระเข้ นครปฐม รุ่นแรก คอสั้น 2495 ทองแดง
เหรียญหลวงปู่สุข วัดห้วยจระเข้ นครปฐม รุ่นแรก (อุตรง) ปี พ.ศ. ๒๔๙๕ เนื้อทองแดง

         ด้านหน้า จำลองเป็นรูปหลวงพ่อสุขครึ่งองค์ห่มจีวรลดไหล่ พาดผ้าสังฆาฏิ รอบรูปหลวงพ่อมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "พระครูอุตตการบดี (สุก) ปทุมสฺสวณฺโณ" 

         ด้านหลัง มีอักขระยันต์อ่านได้ว่า "นะ โม พุท ธา ยะ" ใต้อักขระยันต์มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "วัดห้วยจรเข้" 

         เหรียญหลวงพ่อสุข วัดห้วยจระเข้ รุ่นสอง

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ.๒๕๑๑ ในสมัยที่หลวงพ่อล้งเป็นเจ้าอาวาส เพื่อแจกให้กับผู้บริจาคทรัพย์ให้กับทางวัด ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มรูปดอกจิกแบบมีหูในตัว นิยมเรียกว่าคอยาว มีการสร้างด้วยเนื้อทองแดงเพียงชนิดเดียวเท่านั้น จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

เหรียญหลวงปู่สุข วัดห้วยจระเข้ นครปฐม รุ่น 2 คอยาว 2495 ทองแดง
เหรียญหลวงปู่สุข วัดห้วยจระเข้ นครปฐม รุ่น ๒ (คอยาว) ปี พ.ศ. ๒๕๐๐ เนื้อทองแดง

         ด้านหน้า จำลองเป็นรูปหลวงพ่อสุขครึ่งองค์ห่มจีวรลดไหล่ พาดผ้าสังฆาฏิ รอบรูปหลวงพ่อมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "พระครูอุตตการบดี (สุก) ปทุมสฺสวณฺโณ" 

         ด้านหลัง มีอักขระยันต์อ่านได้ว่า "นะ โม พุท ธา ยะ" ใต้อักขระยันต์มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "วัดห้วยจรเข้" 

         เหรียญหลวงพ่อสุข วัดห้วยจระเข้ รุ่นสาม

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ.๒๕๑๑ ในสมัยที่หลวงพ่อล้งเป็นเจ้าอาวาส เพื่อแจกในงานผูกพัทธสีมาของทางวัด ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มรูปเสมาแบบมีหูในตัว มีการสร้างด้วยเนื้ออัลปาก้าเพียงชนิดเดียวเท่านั้น จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

เหรียญหลวงปู่สุข วัดห้วยจระเข้ นครปฐม รุ่น 3 2511 อัลปาก้า
เหรียญหลวงปู่สุข วัดห้วยจระเข้ นครปฐม รุ่น ๓ ปี พ.ศ. ๒๕๑๑ เนื้ออัลปาก้า

         ด้านหน้า จำลองเป็นรูปหลวงพ่อสุขครึ่งองค์ห่มจีวรลดไหล่ พาดผ้าสังฆาฏิ ใต้รูปหลวงพ่อมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "พระครูอุตตการบดี (ศุข)" 

         ด้านหลัง มีอักขระยันต์อ่านได้ว่า "นะ โม พุท ธา ยะ" ใต้อักขระยันต์มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "ที่ระลึกงานผูกพัทธสีมา พ.ศ. ๒๕๑๑" 



โดย : สารานุกรมพระเกจิแห่งแดนสยาม

บทความที่เกี่ยวข้อง

***-[เป็นกำลังใจและสนับสนุน​ให้เราเขียนบทความดีๆ ด้วยการกดดูโฆษณาด้านล่างนะคะ]-***

ไม่มีความคิดเห็น