โฆษณาแนวนอน728*90

บทความใหม่

ประวัติและวัตถุมงคลหลวงพ่อนาค วัดห้วยจระเข้ นครปฐม เจ้าของพระเบญจภาคีพระปิดตาเนื้อเมฆพัดของไทย

ภาพถ่ายหลวงปู่นาค วัดห้วยจระเข้ นครปฐม
หลวงปู่นาค วัดห้วยจระเข้ นครปฐม

         หลวงพ่อนาค วัดห้วยจระเข้ หรือ พระครูปัจฉิมทิศบริหาร อดีตเจ้าอาวาสวัดห้วยจระเข้ ตำบลพระปฐมเจดีย์ อำเภอเมืองนครปฐม จังหวัดนครปฐม 

         ตามบันทึกว่าหลวงพ่อนาค ท่านแก่ว่าหลวงปู่บุญ ๓๕ ปี พอนับจากปีเกิดของหลวงปู่บุญที่มีบันทึกอย่างชัดเจนแล้ว จึงพอสรุปได้ว่า หลวงพ่อนาค ท่านเกิดเมื่อปี พ.ศ. ๒๓๕๖ (ร.ศ. ๓๓) ตรงกับปีกุน จ.ศ. ๑๑๗๕ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒ แต่ไม่ปรากฏสถานที่เกิดและชื่อโยมบิดามารดา

         หลวงพ่อนาคท่านอุปสมบทเมื่อใดไม่มีบันทึกไว้ ทราบแต่เพียงว่าท่านได้รับฉายาว่า "โชติโก" คาดว่าหลังอุปสมบทแล้ว ท่านน่าจะเดินธุดงค์มานมัสการองค์พระปฐมเจดี ด้วยคติความเชื่อว่าเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ และอยู่จำพรรษาที่วัดพระปฐมเจดีย์ ตำบลพระปฐมเจดีย์ อำเภอเมืองนครปฐม จังหวัดนครปฐม เรื่อยมา

         แต่ก็มีบางตำราว่าท่านอุปสมบทที่วัดพระปฐมเจดีย์ พระซึ่งยังเป็นข้อสันนิษฐานเพียงเท่านั้น ยังไม่มีเอกสารยืนยัน แต่หลักฐานที่เป็นเอกสารยืนยันถึงตัวหลวงพ่อนาคเริ่มขึ้นเมื่อ

         ปี พ.ศ. ๒๔๑๑ หลวงปู่กล่ำ ท่านได้เป็นเจ้าอาวาสวัดพระปฐมเจดีย์ต่อจากพระสนิทสมณคุณ (แก้ว) ท่านจึงได้แต่งตั้งให้หลวงพ่อนาคเป็นรองเจ้าอาวาส ที่ตำแหน่ง พระวินัยธร ช่วยในการปกครองวัดและทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาร่วมกันด้วยดีตลอดมา 

         ปี พ.ศ. ๒๔๓๒ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ทรงโปรดฯแต่งตั้งพระเถระ ๕ รูป และแต่งตั้งเพื่อทำหน้าที่รักษาองค์พระปฐมเจดีย์ทั้ง ๔ ทิศ เมื่อวันที่ ๓๐ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๓๒ คือ

         ๑. พระสนิทสมณคุณ (กล่ำ) วัดพระปฐมเจดีย์ เป็นพระปฐมเจติยานุรักษ์ ที่พระราชาคณะเป็นเจ้าคณะใหญ่เมืองนครไชยศรี

         ๒. พระปฐมเกติยานุรักษ์ (กุต) วัดสุประดิษฐาราม เป็นพระครูปุริมานุรักษ์ เจ้าคณะรองนครไชยศรี

         ๓. พระปลัดอยู่ วัดโคกแขก เป็นพระครูทักษิณานุกิจ เจ้าคณะรองนครไชยศรี

         ๔. พระวินัยธร (นาค โชติโก) วัดพระปฐมเจดีย์ เป็นพระครูปัจฉิมทิศบริหาร เจ้าคณะรองนครไชยศรี

         ๕. พระวินัยธร วัน (ทา) วัดพะเนียงแตก เป็นพระครูอุตตรการบดี เจ้าคณะรองนครไชยศรี

         หลวงพ่อนาค ท่านได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ที่ พระครูปัจฉิมทิศบริหาร ทำหน้าที่รักษาองค์พระปฐมเจดีย์ด้านทิศตะวันตก และยังดำรงตำแหน่งรองเจ้าคณะมณฑลนครชัยศรี ถ้าเปรียบสมัยนี้เท่ากับรองเจ้าคณะจังหวัดนครปฐม

         ปี พ.ศ. ๒๔๓๘ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้ย้ายกุฏิสงฆ์วัดพระปฐมเจดีย์จากทางทิศเหนือไปตั้งทางด้านทิศใต้ เพื่อตัดถนนจากสถานีรถไฟมายังหน้าวิหารพระประสูติ (วิหารพระร่วง) พระปฐมเจดีย์ ในระหว่างที่ดำเนินการนั้นหลวงพ่อนาคได้ย้ายออกไป

         ปี พ.ศ. ๒๔๔๑ หลวงพ่อนาค ท่านได้ไปตั้งสำนักสงฆ์เล็กๆ ขึ้นทางทิศตะวันออกขององค์พระปฐมเจดีย์ เรียกว่าสำนักสงฆ์โชติการาม กระทั่งพัฒนาเป็นวัดห้วยจระเข้ในปัจจุบัน 

         วัดห้วยจระเข้ เป็นวัดราษฎร์สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย ตั้งอยู่ในตำบลพระปฐมเจดีย์ อำเภอเมืองนครปฐม จังหวัดนครปฐม วัดตั้งเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๔๑

         วัดห้วยจระเข้ เดิมเป็นสำนักสงฆ์ชื่อว่าสำนักสงฆ์โชติการาม มีพระครูปัจฉิมทิศบริหาร (นาค โชติโก) เป็นผู้ก่อตั้งและเป็นเจ้าอาวาสรูปแรก และหลังจากนั้นในปี ร.ศ. ๑๑๙ พระครูปัจฉิมทิศบริหาร ขอพระราชทานวิสุงคามสีมา 

         โดยให้พระยาสุนทรบุรี เสด็จราชการมณฑลนครไชยศรี กราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวขอพระราชทานวิสุงคามสีมา จนได้รับพระราชทานเมื่อวันที่ ๙ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๔๓

         แต่ในใบประกาศพระราชทานวิสุงคามสีมานั้นระบุทินนามท่านว่า "พระปาจิณทิศบริหาร" ซึ่งทำให้ข้อมูลคลายเคลื่อนไป

         ต่อมาในยุคของพระครูอุตตรการบดี (สุข ปทุมสฺสวณฺโณ) เป็นเจ้าอาวาส และได้เปลี่ยนชื่อวัดมาเป็น "วัดนาคโชติการาม" เพื่อเทิดทูนคุณความดีของหลวงพ่อนาค แต่ประชาชนไม่นิยมเรียกกัน โดยจะเรียกว่า "วัดใหม่ห้วยจระเข้" และต่อมาตัดคำว่า "ใหม่" ออกไปจนถึงปัจจุบันนี้ วัดมีเจ้าอาวาสปกครองดังนี้

         ๑. พระครูปัจฉิมทิศบริหาร (นาค โชติโก) พ.ศ. ๒๔๔๑ - ๒๔๕๒

         ๒. พระครูอุตตรการบดี (สุข ปทุมสฺสวณฺโณ) พ.ศ. ๒๔๕๒ - ๒๔๙๔

         ๓. พระครูอุตตรการบดี (ล้ง กิตฺตินธโร) พ.ศ. ๒๔๙๔ - ๒๕๒๗

         ๔. พระมงคลชัยวัฒน์ (เสงี่ยม อาริโย) พ.ศ.๒๕๒๗ - ๒๕๖๐

         ๕. พระครูสุจิตกิจจานุกูล (เฉลียว สุจิตฺโต) พ.ศ.๒๕๖๐ - ปัจจุบัน

รูปหล่อเท่าองค์จริงหลวงปู่นาค วัดห้วยจระเข้ นครปฐม
รูปหล่อหลวงปู่นาค วัดห้วยจระเข้ นครปฐม 

         หลังจากที่หลวงพ่อนาคได้ขึ้นเป็นเจ้าอาวาส ท่านได้พัฒนาวัดอย่างสุดความสามารถทั้งการสร้างเสนาสนะและถาวรวัตถุต่างๆ จนวัดเจริญรุ่งเรืองขึ้นตามลำดับ

         คนเฒ่าคนแก่เล่าสืบต่อกันมาว่า หลวงพ่อนาค ท่านสร้างพระปิดตามหาอุตม์เนื้อเมฆพัด ตั้งแต่เมื่อ ปี พ.ศ. ๒๔๓๒ สมัยที่ยังจำพรรษาอยู่ที่วัดพระปฐมเจดีย์ ซึ่งเป็นปีเดียวกับที่หลวงพ่อนาค ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์

         หลวงพ่อนาค ท่านเป็นพระเกจิอาจารย์ที่มีความเชี่ยวชาญทางด้านการสร้างเนื้อเมฆพัดมาก การผสมเนื้อแร่ต่างๆ การปั้นพิมพ์และการเทหล่อองค์พระท่านทำด้วยตัวท่านเอง องค์พระที่ท่านหล่อออกมาสวยงาม ไม่มีรอยตะเข็บ ไม่เป็นฟองอากาศ เนื้อพระเป็นสีดำอมเขียว

         สีดำเงาคล้ายปีกแมลงทับ สวยงามพิสดาร เนื้อพระผิวตึง สมบูรณ์แบบด้านรูปทรง ว่ากันว่า "หลวงพ่อนาค" กับ "หลวงปู่บุญ วัดกลางบางแก้ว" มีความสนิทสนมกัน เป็นสหธรรมิกรุ่นน้อง (หลวงพ่อนาค มีอายุมากกว่าหลวงปู่บุญ ๓๕ ปี) และมีการแลกเปลี่ยนวิชาซึ่งกันและกันด้วย

         โดยหลวงปู่บุญขอเรียนวิชาการสร้างเนื้อเมฆพัดไปจากหลวงพ่อนาค ส่วนหลวงพ่อนาคก็ได้ขอเรียนวิชาอื่นจากหลวงปู่บุญ ไปเป็นการแลกเปลี่ยน ส่าหรับหลวงปู่บุญท่านได้ก็สร้างพระเนื้อเมฆพัดขึ้นจำนวนหนึ่ง ซึ่งพระเนื้อ

         เมฆพัดของหลวงปู่บุญที่ท่านสร้างเอง ลักษณะเนื้อหาจะเหมือนๆ ของหลวงพ่อนาคมากผิดกับเนื้อเมฆพัดพิมพ์กลีบบัว และพิมพ์ปิดตาที่วางตามสนามทั่วๆ ไป ซึ่งเป็นพระที่สั่งทำจากโรงงานมาปลุกเสกทีหลัง

         ในการสร้างพระปิดตาของหลวงพ่อนาคท่านสร้างหลายครั้งด้วยกัน สร้างไปเรื่อยๆตามแต่จะมีโอกาสพระปิดตาของท่านจึงมีประมาณ ๔-๕ พิมพ์นับแล้วพระปิดตาห้วยจระเข้ก็มีอายุร่วมๆ หนึ่งร้อยปี เห็นจะได้เอกลักษณ์ของพระปิดตาห้วยจระเข้นอกจากจะดูพิมพ์เป็นหลักแล้ว

         พระปิดตาห้วยจระเข้ จะต้องมีการลงเหล็กจารทุกองค์ด้วย ในการลงเหล็กจารนั้นมีเรื่องเล่ากันว่า หลวงปู่นาคท่านน่าจะเอาพระปิดตาที่สร้างเสร็จแล้วไปลงเหล็กจารที่ท่าน้ำข้างๆ วัด โดยท่านจะดำลงไปจารอักขระใต้น้ำ

         เมื่อจารเสร็จแล้วก็จะปล่อยให้พระปิดตาลอยขึ้นมาเหนือน้ำเอง โดยมีลูกศิษย์ที่อยู่บนฝั่งคอยเก็บ ถ้าพระปิดตาองค์ไหนลงจารแล้วไม่ลอยน้ำขึ้นมา แสดงว่าพระปิดตาองค์นั้นไม่มีพลังพุทธคุณ อันอาจจะเกิดอักขระวิบัติจากการจารอักขระก็ได้

         การที่พระเกจิอาจารย์ท่านใดสามารถดำลงไปทำวัตถุมงคลใต้น้ำได้นานๆ แบบนี้ก็แสดงว่าพระเกจิอาจารย์ท่านนั้น สำเร็จวิชากสิณที่สามารถแปลงธาตุน้ำให้เป็นช่องว่างมีอากาศหายใจได้

         นอกจากการจารอักขระพระปิดตาใต้น้ำแล้ว หลวงพ่อนาคท่านก็มีวิธีการจารอักขระอีกวิธีหนึ่งคือ ท่านจะไปจารที่กลางทุ่งนา หรือในป่าริมคลองที่มีปูอาศัยอยู่มากๆ เมื่อไปถึงและหารูปูเจอแล้ว ท่านก็จะยืนโดยเอาหัวแม่เท้าขวาอุดที่ปากรูปูจากนั้นก็จะกำหนดจิตบริกรรมคาถา และลงเหล็กจารไปพร้อมๆ กัน 

          ขณะนั้นทั่วทั้งทุ่ง และป่าริมคลองนั้นจะเงียบสงัดทันทีเสียงนก หรือแมลงร้องจะไม่มีได้ยิน สัตว์ทุกตัวที่อยู่บริเวณนั้นจะหยุดนิ่งชะงักเป็นจังงังกันหมด เมื่อท่านผ่อนคลายกำหนดจิตจากการลงอักขระเสร็จแล้วนั่นแหละ ทุกอย่างจึงจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ

         ก่อนที่จะกลับหลวงพ่อนาค ท่านจะทำน้ำมนต์รดที่รูปูนั้นเพื่อเป็นการคลายอาคม หากมิเช่นนั้นปูที่อยู่ในรูจะออกมาไม่ได้หรือถ้าปูอยู่ข้างนอกก็จะกลับลงรูไม่ได้เหมือนกัน

         อักขระที่ท่านใช้คือ "นะคงคา" เป็นตัวหลัก เพราะหลวงพ่อนาคส่าเร็จ อาโปกสิน วัตถุมงคลที่ท่านปลุกเสกจึงหนักไปทางพลังเย็น เข้มขลังอย่างเอกอุจากพิธีกรรมการสร้างอันเข้มขลังนี้เอง

         จึงท่าให้พระปิดตาห้วยจระเข้เป็นจักรพรรดิของพระปิดตาเนื้อเมฆพัดทั้งปวง แต่พระปิดตาห้วยจระเข้ไม่ใช่มีแต่เฉพาะเนื้อเมฆพัดชนิดเดียว แต่ได้มีชนิดที่สร้างด้วย "เนื้อชิน" อีกด้วย 

         ซึ่งพระปิดตาห้วยจระเข้เนื้อชินเป็นแบบ "ชินตะกั่ว" โดย หลวงพ่อนาค ท่านน่าเอาแผ่นตะกั่วมาลงอักขระแล้วหลอมเทเป็นพระปิดตาและลงเหล็กจารด้วยกรรมวิธีการเช่นเดียวกับพระปิดตาเนื้อเมฆพัด

         กล่าวถึงพระปิดตาห้วยจระเข้ เนื้อชินตะกั่วนี้ก็มีการสร้างในยุคแรกๆ เป็นพระปิดตาที่หลวงพ่อนาคท่านสร้างขึ้นก่อนที่ท่านจะสร้างเนื้อเมฆพัดได้ส่าเร็จ แต่ในการเล่นหาพระปิดตาห้วยจระเข้เนื้อชินตะกั่วจะถูกกว่าเนื้อเมฆพัด

         หลวงพ่อนาค ปกครองวัดเรื่อยมาจนถึงแก่มรณภาพลงด้วยโรคชราเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๕๒ นับรวมสิริอายุได้ ๙๖ ปี ๗๕ พรรษา.

วัตถุมงคลของหลวงปู่นาค วัดห้วยจระเข้

         พระปิดตาหลวงปู่นาค วัดห้วยจระเข้ พิมพ์หูกระต่าย

         สร้างขึ้นก่อน ปี พ.ศ. ๒๔๕๒ เพื่อแจกให้กับศิษยานุศิษย์ของหลวงพ่อ ลักษณะเป็นพระปิดตาหล่อเนื้อเมฆพัด คือโลหะผสมระหว่างทองแดงกับตะกั่ว มีสีดำมันวาวออกขาว แข็งกรอบ หากไม่เก็บรักษาให้ดีจะกะเทาะแตกหักชำรุดง่าย ที่องค์พระจารอักขระยันต์ทั่วทั้งองค์ มีพุทธคุณที่โดดเด่นทางแคล้วคลาด คงกระพันชาตรีและโชคลาภเป็นที่กล่าวขานมาแต่โบราณ จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

พระปิดตาหลวงปู่นาค วัดห้วยจระเข้ นครปฐม รุ่นแรก (หูกระต่าย) 2440 เมฆพัด
พระปิดตาหลวงปู่นาค วัดห้วยจระเข้ นครปฐม รุ่นแรก (หูกระต่าย) ปี พ.ศ. ๒๔๔๐ เนื้อเมฆพัด ของคุณหมึก ท่าพระจันทร์

พระปิดตาหลวงปู่นาค วัดห้วยจระเข้ นครปฐม รุ่นแรก (หูกระต่าย) 2440 เมฆพัด-ข้าง
พระปิดตาหลวงปู่นาค วัดห้วยจระเข้ นครปฐม รุ่นแรก (หูกระต่าย) ปี พ.ศ. ๒๔๔๐ เนื้อเมฆพัด ของคุณหมึก ท่าพระจันทร์

         ด้านหน้า จำลองเป็นรูปพระปิดตาภควัมบดี มีอักขระจารทั่วทั้งองค์พระ อักขระที่ท่านใช้คือ "นะคงคา" เป็นตัวหลัก 

         ด้านหลัง มีอักขระจารทั่วทั้งองค์พระ

         พระปิดตาหลวงปู่นาค วัดห้วยจระเข้ พิมพ์สะดือจุ่น

         สร้างขึ้นก่อน ปี พ.ศ. ๒๔๕๒ เพื่อแจกให้กับศิษยานุศิษย์ของหลวงพ่อ ลักษณะเป็นพระปิดตาหล่อเนื้อเมฆพัด คือโลหะผสมระหว่างทองแดงกับตะกั่ว มีสีดำมันวาวออกขาว แข็งกรอบ หากไม่เก็บรักษาให้ดีจะกะเทาะแตกหักชำรุดง่าย ที่องค์พระจารอักขระยันต์ทั่วทั้งองค์ มีพุทธคุณที่โดดเด่นทางแคล้วคลาด คงกระพันชาตรีและโชคลาภเป็นที่กล่าวขานมาแต่โบราณ จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

พระปิดตาหลวงปู่นาค วัดห้วยจระเข้ นครปฐม รุ่นแรก (สะดือจุ่น) 2440 เมฆพัด
พระปิดตาหลวงปู่นาค วัดห้วยจระเข้ นครปฐม รุ่นแรก (สะดือจุ่น) ปี พ.ศ. ๒๔๔๐ เนื้อเมฆพัด ของคุณหมึก ท่าพระจันทร์

พระปิดตาหลวงปู่นาค วัดห้วยจระเข้ นครปฐม รุ่นแรก (สะดือจุ่น) 2440 เมฆพัด-ข้าง
พระปิดตาหลวงปู่นาค วัดห้วยจระเข้ นครปฐม รุ่นแรก (สะดือจุ่น) ปี พ.ศ. ๒๔๔๐ เนื้อเมฆพัด ของคุณหมึก ท่าพระจันทร์

         ด้านหน้า จำลองเป็นรูปพระปิดตาภควัมบดี มีอักขระจารทั่วทั้งองค์พระ อักขระที่ท่านใช้คือ "นะคงคา" เป็นตัวหลัก 

         ด้านหลัง มีอักขระจารทั่วทั้งองค์พระ


โดย : สารานุกรมพระเกจิแห่งแดนสยาม

บทความที่เกี่ยวข้อง

***-[เป็นกำลังใจและสนับสนุน​ให้เราเขียนบทความดีๆ ด้วยการกดดูโฆษณาด้านล่างนะคะ]-***

ไม่มีความคิดเห็น