โฆษณาแนวนอน728*90

บทความใหม่

ประวัติและวัตถุมงคลหลวงพ่อมน วัดนาพรม พระเกจิชื่อดังเหรียญดีของเพชรบุรี

ภาพถ่ายหลวงพ่อมน วัดนาพรม เพชรบุรี
หลวงพ่อมน วัดนาพรม เพชรบุรี

         หลวงพ่อมน วัดนาพรม หรือ พระครูมน สุวณฺโณ อดีตเจ้าอาวาสวัดนาพรม ตำบลนาพันสาม อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบุรี ท่านมีนามเดิมว่า มน แก้วสนทอง พื้นเพท่านเป็นชาวบ้านนาขลู่ ตำบลนาพันสาม อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบุรี

         พระครูมน ท่านเกิดเมื่อวันศุกร์แรม ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ ปีขาล ตรงกับวันที่ ๓๑ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๒๑ โยมบิดาชื่อนายแก้ว แก้วสนทอง โยมมารดาชื่อนางดำ แก้วสนทอง มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันรวม ๕ คน คือ

         ๑. นางเลี่ยม สนพราย

         ๒. นางเกลื่อน

         ๓. นายมน แก้วสนทอง(พระครูมน)

         ๔. นางเกลี้ยง

         ๕. นางกลิ้ง

          ชีวิตในวัยเยาว์ โยมบิดาและโยมมารดาได้นำท่านไปฝากไว้กับพระอธิการอาจ เจ้าอาวาสวัดนาพรม เพื่อศึกษาอักขระสมัยและอบรมศีลธรรมจรรยามารยาท จนมีความรู้อ่านออกเขียนได้ทั้งภาษาไทยและขอม เป็นที่รักใคร่ของอาจารย์ ต่อมาได้ลาออกกลับมาอยู่บ้านเพื่อช่วยโยมบิดามารดาประกอบอาชีพ

         ปี พ.ศ. ๒๔๔๒ หลวงพ่อมน ท่านมีอายุครบ ๒๑ ปี ท่านจึงได้เข้าอุปสมบทเป็นพระภิกษุ ณ พัทธสีมาวัดนาพรหม ตำบลนาพันสาม อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบุรี เมื่อวันที่ ๑๗ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๔๒ ได้รับฉายาว่า "สุวณฺโณ" โดยมี

         เจ้าอธิการสังข์ วัดบางทะลุ เป็นพระอุปัชฌาย์

         พระปลัดบุญ วัดชีว์ประเสริฐ เป็นพระกรรมวาจาจารย์

         พระอธิการอาจ วัดนาพรหม เป็นพระอนุสาวนาจารย์

         หลังจากอุปสมบทแล้ว ท่านได้อยู๋จำพรรษาที่วัดนาพรมเรื่อยมา เพื่อศึกษาพระธรรมวินัยและวิชาอาคมต่างๆ กับพระอาจารย์จนปฏิบัติสมณกิจเรียบร้อยด้วยดีเสมอมา

         หลวงพ่อมน ท่านเป็นกำลังสำคัญช่วยเจ้าอาวาสซ่อมแซมปฏิสังขรณ์เสนาสนะ ตั้งแต่เป็นพระอันดับ ให้มีสภาพดีขึ้นดังมีปรากฏอยู่ในวัดจนถึงปัจจุบัน

         ปี พ.ศ. ๒๔๖๒ เป็นผู้จัดการซ่อมพระอุโบสถ

         ปี พ.ศ. ๒๔๖๕ เป็นผู้จัดการสร้างธรรมมาสน์ ๑ หลัง

         ปี พ.ศ. ๒๔๖๗ เป็นผู้จัดการสร้างศาลา คู่กับศาลาการเปรียญ ๑ หลัง ๔ ห้อง

         ปี พ.ศ. ๒๔๖๙ เป็นผู้จัดการปลูกกุฏิคณะที่ท่านพำนักอยู่รวม ๑๑ หลัง 

         ปี พ.ศ. ๒๔๗๒ พระอธิการพิษ เจ้าอาวาสวัดนาพรมได้ลาสิกขา ทางคณะสงฆ์พร้อมทั้งพระภิกษุสามเณรและประชาชนเห็นว่า หลวงพ่อมนท่านเป็นผู้ที่มีศิลาจารวัตรเรียบร้อย จึงพร้อมใจกันยกย่องให้ท่านรักษาการเจ้าอาวาส จนได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเจ้าอาวาสองค์ต่อมาของวัด

         วัดนาพรม เป็นวัดราษฏร์ สังกัดคณะสงฆ์มาหนิกาย ตั้งอยู่ที่หมู่ ๘ ตำบลนาพันสาม อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบุรี บนเนื้อที่กว่า ๑๖ ไร่ 

         วัดนาพรม เป็นวัดเก่าแก่ที่ประวัติศาสตร์ยาวนานและมีตำนานเล่าขานต่อกันมาหลายชั่วอายุคน โดยภายในวัดมีโบราณสถานที่เก่าแก่หลายแห่ง

          ภายในวัดมีศาาลาการเปรียญ กุฎิ พระปรางค์ เจดีย์ โดยเฉพาะพระอุโบสถและวิหารอันเก่าแก่ที่ชาวบ้านเชื่อกันว่าน่าจะสร้างขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยา ภายในโบสถ์มีภาพจิตรกรรมฝาผนังที่เก่าและจวนจะลบเลือนเต็มที 

         โดยวิหารแห่งนี้เป็นทรงไทยก่ออิฐถือปูน ขนาดยาว ๑๒.๓ เมตร กว้าง ๕.๖ เมตร เจาะหน้าต่างด้านละ ๒ บาน สร้างในสมัยรัชกาลที่ ๕ ส่วนเป็น พ.ศ. ใดไม่มีหลักฐานแน่ชัด

         มีพระพุทธรูปเก่าแก่อีกจำนวนหลายองค์ประดิษฐานอยู่ข้างในวัดนาพรมแห่งนี้ด้วย รวมถึงเศียรพระศักดิ์สิทธิ์ และตลอดเวลาชาวบ้านในชุมชนละแวกใกล้เคียงก็มักจะเข้าไปกราบไหว้บูชาขอพรกันอยู่เรื่อยๆ 

         เนื่องจากเชื่อว่าขอสิ่งใดแล้วก็จะสมความปรารถนา สร้างความร่มเย็นเป็นสุขให้กับชีวิต และด้วยเหตุนี้เอง พระอุโบสถและวิหารเหล่านี้จึงกลายเป็นสถานที่อันศักดิ์สิทธิ์ที่มีคุณค่าความสำคัญต่อจิตใจของชราวบ้านในพื้นที่มาโดยตลอด

         สำหรับเศียรพระแห่งนี้ แต่เดิมเป็นพระประธานในอุโบสถหลังเก่า เป็นที่เคารพสักการะของชาวตำบลนาพันสาม ต่อมาทางวัดนาพรม และชาวบ้านพยายามจะนำเศียรพระออกจากวิหาร 

         เพื่อนำมาไว้ด้านนอก พระและชาวบ้านพยายามจะนำออกมาหลายครั้ง แม้จะจะช่วยกันยกหลายคนก็ไม่สามารถยกออกได้ ชาวบ้านเชื่อกันว่า ด้วยความศักดิ์สิทธิ์ของเศียรพระองค์นี้ไม่อยากออกจากวิหารนั้นเอง วัดมีรายนามเจ้าอาวาสปกครองวัดที่สืบค้นได้ดังนี้

         ๑. พระอธิการอาจ

         ๒. พระอธิการพิษ

         ๓. พระครูมน สุวณฺโณ

         ๔. พระอธิการเทียบ ฐิตโชติโก

         ๕. พระครูสังฆรักษ์ (เชาวริด มหาปัญโญ)

         ๖. พระครูพิศาลวัชรกิจ

         หลังจากที่หลวงพ่อมนได้ขึ้นเป็นเจ้าอาวาส ท่านได้พัฒนาวัดอย่างสุดความสามารถทั้งการสร้างเสนาสนะและถาวรวัตถุต่างๆมากมาย จนวัดเจริญรุ่งเรืองขึ้นเป็นอันมาก

         ปี พ.ศ. ๒๔๗๔ ท่านได้สร้างสำนักเรียนปริยัติธรรม แผนกนักธรรมขึ้น

         ปี พ.ศ. ๒๔๗๕ เป็นผู้จัดการลงรักปิดทองกระจกช่อฟ้าในระกาอุโบสถ

         ปี พ.ศ. ๒๔๗๕ ท่านได้สร้างโรงเรียนประชาบาลขึ้นมาใหม่ ๑ หลัง เพื่อให้กุลบุตร-กุลธิดาในตำบล ได้ใช้เป็นสถานที่ศึกษาเล่าเรียน ปัจจุบันคือโรงเรียนวัดนาพรม (มนมหาวิริยาคาร)

         ปี พ.ศ. ๒๔๗๙ ท่านได้รับการแต่งตั้งเป็นพระครูชั้นประทวน ตำแหน่งกรรมการศึกษา

         ปี พ.ศ. ๒๔๘๖ ท่านได้เปลี่ยนพื้นศาลาการเปรียญ

         ปี พ.ศ. ๒๔๘๗ ท่านได้รับการแต่งตั้งเป็นพระอุปัชฌาย์

         ปี พ.ศ. ๒๔๙๓ หลวงพ่อมนเริ่มมีอาการอาพาธเป็นอัมพาต เดินทางไปไหนลำบาก บรรดาศิษยานุศิษย์และผู้ที่เคารพนับถือได้จัดการนำแพทย์แผนปัจจุบันและแพทย์แผนโบราณมาทำการเยียวยารักษา

         แต่อาการอาพาธของหลวงพ่อมนก็มีแต่คงที่ไม่ดีขึ้น แต่ถึงอย่างนั้นก็ตามท่านยังคงปฏิบัติสมณกิจออกให้การบรรพชา-อุปสมบทแก่กุลบุตรผู้เลื่อมใสด้วยจิตอนุเคราะห์อยู่เสมอ

         ปี พ.ศ. ๒๔๙๖ เป็นผู้จัดการสร้างกำแพงล้อมรอบบริเวณวัดและซุ้มประตู

         หลวงพ่อมน ปกครองวัดเรื่อยมาจนถึงแก่มรณภาพลงด้วยอาการสงบ เมื่อวันจันทร์ที่ ๒๐ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๙๗ เวลา ๑๕.๒๐ น. นับรวมสิริอายุได้ ๗๖ ปี ๕๕ พรรษา.

วัตถุมงคลของพระครูมน วัดนาหรม

         เหรียญพระครูมน วัดนาพรม รุ่นแรก

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๙๖ เพื่อแจกให้กับศิษยานุศิษย์ของหลวงพ่อและแจกให้กับผู้ที่บริจาคทรัพย์ให้กับทางวัด ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มรูปไข่แบบมีหูในตัว มีการสร้างด้วยเนื้อเงิน และเนื้อทองแดงเพียงเท่านั้น จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

เหรียญหลวงพ่อมน วัดนาพรม เพชรบุรี รุ่นแรก 2496 เงิน
เหรียญหลวงพ่อมน วัดนาพรม เพชรบุรี รุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๔๙๖ เนื้อเงิน
เหรียญหลวงพ่อมน วัดนาพรม เพชรบุรี รุ่นแรก 2496 ทองแดงกระไหล่ทอง
เหรียญหลวงพ่อมน วัดนาพรม เพชรบุรี รุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๔๙๖ เนื้อทองแดงกระไหล่ทอง
เหรียญหลวงพ่อมน วัดนาพรม เพชรบุรี รุ่นแรก 2496 ทองแดง
เหรียญหลวงพ่อมน วัดนาพรม เพชรบุรี รุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๔๙๖ เนื้อทองแดง ของศาลาวัด พระเครื่อง

         ด้านหน้า จำลองเป็นรูปหลวงพ่อมนครึ่งองค์ห่มจีวรคลุมไหล่ ใต้รูปหลวงพ่อมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "พระครูมน สุวณฺโณ" 

         ด้านหลัง มีอักขระยันต์ตรีนิสิงเห



โดย : สารานุกรมพระเกจิแห่งแดนสยาม

บทความที่เกี่ยวข้อง

 ***-[เป็นกำลังใจและสนับสนุน​ให้เราเขียนบทความดีๆ ด้วยการกดดูโฆษณาด้านล่างนะคะ]-***

ไม่มีความคิดเห็น