โฆษณาแนวนอน728*90

บทความใหม่

ประวัติและวัตถุมงคลหลวงพ่อเฉื่อย วัดปากแยก(วัดราษฎร์ศรัทธาทำ) พระเกจิชื่อดังของฉะเชิงเทรา

ภาพถ่ายหลวงพ่อเฉื่อย วัดราษฏร์ศรัทธาทำ ฉะเชิงเทรา
หลวงพ่อเฉื่อย วัดราษฏร์ศรัทธาทำ ฉะเชิงเทรา

         หลวงพ่อเฉื่อย วัดปากแยก หรือ พระครูพจนสุนทร วัดราษฎร์ศรัทธาทำ ตำบลบางขวัญ อำเภอเมือง จังหวัดฉะเชิงเทรา ท่านเป็นพระเกจิอาจารย์ผู้มีความเข้มขลังในด้านวิทยาคมแห่งเมืองแปดริ้ว จังหวัดฉะเชิงเทรา

         ท่านมีนามเดิมว่าเฉื่อย ยงพฤกษา เกิดเมื่อวันที่ ๒๐ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๑๙ ที่บ้านเมืองแปดริ้ว โยมบิดาชื่อนายปลอด ยงพฤกษา โยมมารดาชื่อนางเผื่อน ยงพฤกษา

         ปี พ.ศ. ๒๔๔๐ หลวงพ่อเฉื่อย ท่านมีอายุครบ ๒๐ ปี จึงได้อุปสมบท ณ พัทธสีมาวัดปากแยก (วัดราษฎร์ศรัทธาทำ) อำเภอเมือง จังหวัดฉะเชิงเทรา ได้รับฉายาว่า "จนฺทสาโร" โดยมี

         พระครูญาณรังษีมุนีวงษา(ทำ) วัดสัมปทวน (นอก) เป็นพระอุปัชฌาย์

         พระอาจารย์ดิส พฺรหฺมสร วัดสายชล เป็นพระกรรมวาจาจารย์

         พระใบฎีกามาก ธมฺมสโร วัดเจดีย์ เป็นพระอนุสาวนาจารย์

         หลังจากที่อุปสมบทแล้ว ท่านได้อยู่จำพรรษาที่วัดปากแยก เพื่อศึกษาวิชาอยู่กับพระอาจารยทัดเป็นระยะเวลา ๓ พรรษา 

         ปี พ.ศ. ๒๔๔๓ หลังจากที่ศึกษาวิชาต่างๆที่วัดปากแยกจนสำเร็จหมดสิ้นแล้ว ท่านจึงได้ไปศึกษาพระปริยัติธรรมต่อที่วัดจักวรรดิราชาวาส (วัดสามปลื้ม) กรุงเทพมหานคร

         ต่อมาตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดปากแยกได้ว่างลง ชาวบ้านจึงได้เดินทางไปนิมนต์หลวงพ่อเฉื่อย กลับมาเป็นเจ้าอาวาสทดแทนตำแหน่งที่ว่างลง

         วัดราษฎร์ศรัทธาทำ เป็นวัดราษฎร์สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย เริ่มสร้างเมื่อปี พ.ศ. ๒๓๕๗ แต่สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติระบุว่าตั้งวัดเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๐๕

         วัดราษฎร์ศรัทธาทำ หรือเดิมชื่อว่า วัดปากแยก เพราะที่ตั้งวัดอยู่บริเวณคลองเอาตะเข้ ซึ่งเป็นคลองธรรมชาติกับคลองบ้านใหม่มาบรรจบกันตรงบริเวณหน้าวัดพอดี 

         โดยมีนายใจ ลำเจียกเทศ ซึ่งมีภูมิลำเนาอยู่ในตำบลบางขวัญ อำเภอเมือง จังหวัดฉะเชิงเทรา ได้เป็นผู้มอบที่ดินถวายเพื่อสร้างวัด จำนวน ๑๒ ไร่ ๒ งาน ๖๖ วา ได้เปลียนชื่อวัดมาเป็น "วัดราษฎร์ศรัทธาทำ" เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๘๐

         เมื่อเริ่มสร้างวัด ได้นิมนต์หลวงพ่อทัด มาเป็นเจ้าอาวาส หลวงพ่อทัดได้ร่วมกับประชาชนบริเวณนั้นจัดสร้างอุโบสถ โดยใช้ไม้เรือนโบราณยอดแหลมจากผู้มีจิตศรัทธาให้แก่ทางวัดและสร้างกุฎิสงฆ์ 

         ภายในวัด มีเจดีย์ใหญ่ทรงโอ่งคว่ำ มีคอระฆังยอดแหลมภายในเจดีย์ใหญ่บรรจุพระพุทธรูป พระธรรม ศาลาการเปรียญสร้างเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๖๓ ลักษณะเป็นเรือนไม้ปั้นหยาเสากลมไม้แก่น หลังคามุมกระเบื้องเล็กสี่เหลี่ยมชั้นเดียว กว้าง ๗ วา ยาว ๑๐ วา 

         มีศาลาการเปรียญหลังใหม่แทนเรือนไม้ปั้นหยาเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๕ เป็นคอนกรีตเสริมเหล็กหลังคามุมกระเบื้องลอนคู่ ๒ ชั้น กว้าง ๙ วา ยาว ๑๙ วา ภายในวัดได้ให้ราชกาลสร้างโรงเรียนในที่ดินของวัด ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๘๔ 

ภาพถ่ายหลวงพ่อเฉื่อย วัดราษฏร์ศรัทธาทำ ฉะเชิงเทรา
หลวงพ่อเฉื่อย วัดราษฏร์ศรัทธาทำ ฉะเชิงเทรา

         หลังจากที่หลวงพ่อเฉื่อยได้ขึ้นเป็นเจ้าอาวาสวัด ท่านได้พัฒนาวัดอย่างสุดความสามารถ ทั้งการสร้างเสนาสนะและสร้างถาวรวัตถุต่างๆ จนวัดเจริญขึ้นตามลำดับ 

         ปี พ.ศ. ๒๔๘๒ พระอุโบสถหลังเก่า วัดราษฎร์ศรัทธาทำ (วัดปากแยก) ได้ชำรุดทรุดโทรมลงเป็นอันมาก หลวงพ่อเฉื่อยจึงได้ร่วมแรงร่วมใจกับชาวบ้านจัดสร้างขึ้นใหม่ แล้วเสร็จเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๘๔ 

         ด้วยคุณงามความดีของหลวงพ่อที่พัฒนาวัดจนเจริญรุ่งเรืองเป็นอย่างมาก ท่านจึงได้รับการแต่งตั้งให้เป็น พระครูชั้นสัญญาบัตรที่ พระครูพจนสุนทร ดำรงตำแหน่งเจ้าคณะหมวดบางขวัญ (เจ้าคณะตำบลในสมัยนี้) อีกด้วย

         ปี พ.ศ. ๒๔๙๐ ท่านได้จัดงานผูกพัทธสีมาและฝังลูกนิมิต เพราะก่อนหน้านั้นอยู่ในห้วงสงครามโลกครั้งที่ ๒ งานจึงเลื่อนงานมา

         คนเฒ่าคนแก่เล่าสืบต่อกันมาว่า หลวงพ่อเฉื่อยท่านร่ำเรียนวิชาอาคมกับ พระธุดงค์นาม "หลวงพ่อน้อย" ที่ท่านธุดงค์มาพำนักที่วัดปากแยก เห็นว่ามีความสงบ จึงได้จำพรรษาอยู่ถึง ๘ ปี 

         ก่อนจะธุดงค์ต่อไปโดยไม่เคยกลับมายังวัดปากแยกแห่งนี้อีกเลย ซึ่งพระครูพจนสุนทร (หลวงพ่อเฉื่อย) ท่านได้ศึกษาวิชาคาถาอาคม ตลอดจนการทำตะกรุดจากหลวงพ่อน้อย

         โดยตะกรุดของหลวงพ่อเฉื่อย ที่เรียนมานั้น ต้องดำลงไปใต้น้ำเพื่อจารอักขระบนแผ่นตะกรุด และปลุกเสกแล้วจึงปล่อยให้ลอยขึ้นมาบนผิวน้ำจึงจะใช้ได้ พุทธคุณโดดเด่นเรื่องคงกระพัน มหาอุด

         หลวงพ่อเฉื่อย ปกครองวัดเรื่อยมาจนถึงแก่มรณภาพลงด้วยโรคชราเมื่อวันที่ ๑๗ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๐๐ นับรวมสิริอายุได้ ๘๑ ปี ๖๑ พรรษา.

วัตถุมงคลของหลวงพ่อเฉื่อย วัดราษฎร์ศรัทธาทำ

         เหรียญหลวงพ่อเฉื่อย วัดราษฎร์ศรัทธาทำ รุ่นแรก

         สร้างขึ้นก่อนปี พ.ศ. ๒๔๙๐ เพื่อแจกในงานผูกพัทธสีมาและฝังลูกนิมิตของทางวัด ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มรูปเสมาแบบมีหูในตัว หลวงพ่อเฉื่อยปลุกเสกเดี่ยว มีการสร้างด้วยเนื้อทองแดงเพียงชนิดเดียวเท่านั้น จำนวนการสร้างประมาณ ๑,๐๐๐ เหรียญ

เหรียญหลวงพ่อเฉื่อย วัดราษฏร์ศรัทธาทำ ฉะเชิงเทรา รุ่นแรก 2490 ทองแดงกระไหล่เงิน
เหรียญหลวงพ่อเฉื่อย วัดราษฏร์ศรัทธาทำ ฉะเชิงเทรา รุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๔๙๐ เนื้อทองแดงกระไหล่ทอง ของคุณเบียร์ หลังศาล

         ด้านหน้า จำลองเป็นรูปหลวงพ่อเฉื่อยนั่งสมาธิเต็มองค์ องค์หลวงพ่อจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฏิ เหนือรูปหลวงพ่อมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "วัดราษฏร์ศรัทธาทำ" รอบรูปหลวงพ่อมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "พระครูพจนสุนทร (เฉื่อย) ที่ระฤกในงานฝังพัทธ ๙๐" 

         ด้านหลัง มีรอยจารอักขระยันต์สาม

         เหรียญหลวงพ่อเฉื่อย วัดราษฎร์ศรัทธาทำ รุ่น ๒ (หกรอบครึ่ง)

         สร้างขึ้นก่อนปี พ.ศ. ๒๔๙๗ เพื่อแจกในงานฉลองอายุครบ ๗๘ ปี ของหลวงพ่อ ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มรูปไข่แบบมีหูในตัว หลวงพ่อเฉื่อยปลุกเสกเดี่ยว มีการสร้างด้วยเนื้อทองแดงเพียงชนิดเดียวเท่านั้น จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

เหรียญหลวงพ่อเฉื่อย วัดราษฏร์ศรัทธาทำ ฉะเชิงเทรา รุ่น2 6รอบครึ่ง 2495 ทองแดงกระไหล่ทอง
เหรียญหลวงพ่อเฉื่อย วัดราษฏร์ศรัทธาทำ ฉะเชิงเทรา รุ่น ๒ หกรอบครึ่ง ปี พ.ศ. ๒๔๙๗ เนื้อทองแดงกระไหล่ทอง ของคุณแมวเพชร

         ด้านหน้า จำลองเป็นรูปหลวงพ่อเฉื่อยครึ่งองค์จีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฏิ ใต้รูปหลวงพ่อมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "พระครูพจนสุนทร (เฉื่อย)" 

         ด้านหลัง มีรอยจารอักขระยันต์พระเจ้าห้าพระองค์อ่านได้ว่า "นะ โม พุท ธา ยะ" ใต้อักขระยันต์มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "ที่ระลึก ๖ รอบครึ่ง" 



โดย : สารานุกรมพระเกจิแห่งแดนสยาม

บทความที่เกี่ยวข้อง

***-[เป็นกำลังใจและสนับสนุน​ให้เราเขียนบทความดีๆ ด้วยการกดดูโฆษณาด้านล่างนะคะ]-***

ไม่มีความคิดเห็น