โฆษณาแนวนอน728*90

บทความใหม่

ประวัติและวัตถุมงคลหลวงพ่อเชย ติสโร วัดบางกระสอบ เจ้าของพระปิดตาคลุกรักชื่อดังของสมุทรปราการ

ภาพถ่ายหลวงพ่อเชย วัดบางกระสอบ สมุทรปราการ
หลวงพ่อเชย (ติสสโร) วัดบางกระสอบ สมุทรปราการ

         หลวงพ่อเชย วัดบางกระสอบ หรือ พระอธิการเชย ติสสโร อดีตเจ้าอาวาสวัดบางกระสอบ ตำบลบางกระสอบ อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ ท่านเป็นพระเกจิอาจารย์ยุคเก่าที่สืบทอดวิชามาจากหลวงพ่อปาน วัดบางกระสอบ ท่านถือเป็นพระเกจิชื่อดังอีกรูปหนึ่งของเมืองไทย

          หลวงพ่อเชย ท่านมีนามเดิมว่า เชย เพชรประดิษฐ์ พื้นเพท่านเป็นชาวบ้านตำบลท้องคุ้งบน อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทปราการ  เกิดเมื่อวันอังคาร เดือน ๑๒ ปีมะแม พ.ศ. ๒๔๑๓ โยมบิดาชื่อนายประดิษฐ์ เพชรประดิษฐ์ โยมมารดาชื่อนางแก้ว เพชรประดิษฐ์ มีพี่น้อง ๒ คนคือ

         ๑. หลวงพ่อเชย ดิสฺสร 

         ๒. นายปลั่ง เพชรประดิษฐ์

         ในช่วงเยาว์วัยท่านสนใจเกี่ยวกับพระพุทธศาสนา โยมบิดาและโยมมารดาจึงนำท่านไปฝากไว้กับ หลวงพ่อปาน ที่วัดบางกระสอบ เพื่อร่ำเรียนวิชาภาษาบาลีขอม จนอ่านเขียนได้อย่างดี 

         ปี พ.ศ. ๒๔๓๕  หลวงพ่อเชย ท่านมีอายุได้ ๒๒ ปี จึงได้เข้ารับการอุปสมบทเป็นพระภิกษุ ณ พัทธสีมาวัดบางกระสอบ ตำบลบางกระสอบ อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ ได้รับฉายาว่า "ดิสฺสร" โดยมี

         หลวงพ่อจันทร์ วัดท้องคุ้ง เป็นพระอุปัชฌาย์

         หลวงพ่อปาน วัดบางกระสอบ เป็นพระกรรมวาจาจารย์

         หลวงพ่อเพิ่ม วัดหนามแดง เป็นพระอนุสาวนาจารย์

         หลังจากที่ท่านได้อุปสมบทแล้ว ท่านได้อยู่จำพรรษาที่วัดบางกระสอบเรื่อยมา เพื่อศึกษาพระธรรมวินัยและวิชาอาคมต่างๆจากหลวงพ่อปาน ผู้เป็นอาจารย์จนสำเร็จวิชาต่างๆมากมาย

         ปี พ.ศ. ๒๔๔๓ (บางตำราว่าปี พ.ศ. ๒๔๔๖) หลวงพ่อปานได้มรณภาพลง ทางคณะสงฆ์และชาวบ้านจึงพร้อมใจกันนิมนต์หลวงพ่อเชยขึ้นเป็นเจ้าอาวาสทดแทนตำแหน่งที่ว่างลง

ภาพถ่ายหลวงพ่อปาน วัดบางกระสอบ สมุทรปราการ
หลวงพ่อปาน วัดบางกระสอบ สมุทรปราการ พระอาจารย์ของหลวงพ่อเชย

         วัดบางกระสอบ เป็นวัดราษฎร์สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย ตั้งอยู่ในหมู่ที่ ๑๐ บ้านบางกระสอบ ตำบลบางกระสอบ อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ

         วัดสร้างขึ้นเมื่อประมาณปี พ.ศ. ๒๓๘๗ ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว นายดวงและนางทรัพย์ สองสามีภรรยา ได้บริจาคทรัพย์สินสร้างวัดขึ้น 

         เพราะวันหนึ่งได้ไปขุดค้นที่สะพานท้ายวัด จอบได้ฟันกระทบปากโอ่ง และขุดลงไปก็พบเงินพดด้วงจำนวนมาก ประมาณ ๔๐–๕๐ ปีบ โอ่งนี้มีอายุกว่า ๗๐๐ ปี จึงนำเงินที่ได้ไปทำบุญสร้างวัด

         เมื่อสร้างวัดเสร็จจึงได้ตั้งชื่อวัดว่า วัดใหม่ตาดวงยายทรัพย์ และต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นทางการว่า "วัดบางกระสอบ" ตามชื่อของตำบล

         ภายในวัดมีโบราณวัตถุอื่นคือ พระพุทธรูปประธานปางมารวิชัยในวิหาร (พระรัตนโภคะ) เป็นปูนปั้นติดที่เคลื่อนย้ายไม่ได้ อายุราวปี พ.ศ. ๒๐๐๐ ร่วมสมัยโคลงกำสรวลสมุทร ในอดีตวัดบางกระสอบเป็นชุมทางคมนาคมยุคต้นอยุธยา อยู่ฝั่งตรงข้าม เยื้องคลองสำโรง วัดมีรายนามเจ้าอาวาสดังนี้

         ๑. หลวงพ่อปาน

         ๒. พระอธิการเชย ติสสโร

         ๓. พระอธิการคำ

         ๔. พระอธิการเชย อินทโชโต

         ๕. พระอธิการจำรูญ นันทิโย

         หลังจากที่หลวงพ่อเชยได้ขึ้นเป็นเจ้าอาวาส ท่านได้พัฒนาวัดอย่างสุดความสามารถทั้งการสร้างเสนาสนะต่างๆ และถาวรวัตถุต่างๆภายในวัด จนวัดเจริญรุ่งเรืองขึ้นตามลำดับ

         ท่านได้พัฒนาวัดและปกครองพระภิกษุสงฆ์ สามเณรและศิษย์ สร้างถาวรวัตถุ ปฏิสังขรณ์เสนาสนะให้เจริญรุ่งเรือง และเป็นระเบียบเรียบร้อย จึงมีคนนับถือศรัทธาเคารพเลื่อมใสเป็นอันมาก 

         หลวงพ่อเชย ได้รับประสิทธิ์ประสาทสืบทอดวิชาต่างๆ จากหลวงพ่อปาน ทั้งพุทธาคม วิทยาคม วิปัสสนากัมมัฏฐาน อักขระและภาษาขอม จนมีความเชี่ยวชาญในด้านคันถะธุระและวิปัสสนาธุระ 

         อีกทั้งแก่กล้าในด้านเวทย์มนต์คาถาลงเลขยันต์ และได้ช่วยหลวงพ่อปานสร้างวัตถุมงคลจนจดจำกรรมวิธีได้อย่างละเอียดละออ

         เมื่อหลวงพ่อปานได้ชราภาพลงมาก ท่านได้เป็นอาจารย์สอนวิปัสสนาแทน มีพระสงฆ์อุบาสก - อุบาสิกา และประชาชนมาเรียนวิปัสสนากับท่านเป็นจำนวนมากและเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทุกๆ ปี จึงทำให้มีลูกศิษย์ลูกหามากมาย

         หลวงพ่อเชย ปกครองวัดเรื่อยมาจนถึงแก่มรณภาพลง เมื่อวันที่ ๑๔ กรกฏาคม พ.ศ. ๒๔๗๕ นับรวมสิริอายุได้ ๖๒ ปี ๔๐ พรรษา.

วัตถุมงคลของหลวงพ่อเชย วัดบางกระสอบ

         พระปิดตาหลวงพ่อเชย วัดบางกระสอบ พิมพ์แขนหักศอก (นิยม)

         สร้างขึ้นก่อนปี พ.ศ. ๒๔๗๕ เพื่อแจกให้กับศิษยานุศิษย์ของหลวงพ่อ ลักษณะเป็นพระปิดตาเนื้อผงคลุกรัก สร้างจากเนื้อผงวิเศษที่ได้มาจากการเขียนและลบด้วยพระคาถา อันได้แก่ผงอิทธิเจ ซึ่งมีอานุภาพทางเสน่ห์มหานิยมอย่างประเสริฐ นอกจากนี้ยังมีว่าน ๑๐๘ ประกอบด้วย ว่านดอกทอง ว่านเสน่ห์จันทน์ขาวว่านเสน่ห์จันทน์แดง และเกสรดอกไม้ต่างๆ รวมทั้งต้นดีเหนียว ต้นระงับพิษ และต้นหงอนไก่ กับวัสดุมงคลและอาถรรพณ์ต่างๆ จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

พระปิดตาหลวงพ่อเชย วัดบางกระสอบ สมุทรปราการ แขนหักศอก ผงคลุกรักปิดทอง
พระปิดตาหลวงพ่อเชย วัดบางกระสอบ สมุทรปราการ พิมพ์แขนหักศอก(นิยม) เนื้อผงคลุกรัก ของคุณนนท์ บางแค
พระปิดตาหลวงพ่อเชย วัดบางกระสอบ สมุทรปราการ แขนหักศอก ผงคลุกรัก
พระปิดตาหลวงพ่อเชย วัดบางกระสอบ สมุทรปราการ พิมพ์แขนหักศอก(นิยม) เนื้อผงคลุกรัก ของคุณเฉลิมพล อนุภาพบัญเจิด

         ด้านหน้า เป็นรูปจำลองพระปิดตาภควัมบดี องค์พระนั่งขัดสมาธิเพชร ช่วงแขนขององค์พระหักศอก จึงเป็นที่มาของชื่อพิมพ์

         ด้านหลัง โค้งมน ไม่ปรากฏอักขระใดๆ 

         พระปิดตาหลวงพ่อเชย วัดบางกระสอบ พิมพ์แขนกลม

         สร้างขึ้นก่อนปี พ.ศ. ๒๔๗๕ เพื่อแจกให้กับศิษยานุศิษย์ของหลวงพ่อ ลักษณะเป็นพระปิดตาเนื้อผงคลุกรัก สร้างจากเนื้อผงวิเศษที่ได้มาจากการเขียนและลบด้วยพระคาถา อันได้แก่ผงอิทธิเจ ซึ่งมีอานุภาพทางเสน่ห์มหานิยมอย่างประเสริฐ นอกจากนี้ยังมีว่าน ๑๐๘ ประกอบด้วย ว่านดอกทอง ว่านเสน่ห์จันทน์ขาวว่านเสน่ห์จันทน์แดง และเกสรดอกไม้ต่างๆ รวมทั้งต้นดีเหนียว ต้นระงับพิษ และต้นหงอนไก่ กับวัสดุมงคลและอาถรรพณ์ต่างๆ จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้ 

พระปิดตาหลวงพ่อเชย วัดบางกระสอบ สมุทรปราการ แขนกลม ผงคลุกรัก
พระปิดตาหลวงพ่อเชย วัดบางกระสอบ สมุทรปราการ พิมพ์แขนกลม เนื้อผงคลุกรัก ของคุณเฉิน ปากน้ำ
พระปิดตาหลวงพ่อเชย วัดบางกระสอบ สมุทรปราการ แขนกลม ผงคลุกรัก
พระปิดตาหลวงพ่อเชย วัดบางกระสอบ สมุทรปราการ พิมพ์แขนกลม เนื้อผงคลุกรัก ของคุณโต้ง บางแค

         ด้านหน้า เป็นรูปจำลองพระปิดตาภควัมบดี องค์พระนั่งขัดสมาธิเพชร ช่วงแขนขององค์พระโค้งมน จึงเป็นที่มาของชื่อพิมพ์

         ด้านหลัง โค้งมน ไม่ปรากฏอักขระใดๆ 



โดย : สารานุกรมพระเกจิแห่งแดนสยาม

บทความที่เกี่ยวข้อง

 ***-[เป็นกำลังใจและสนับสนุน​ให้เราเขียนบทความดีๆ ด้วยการกดดูโฆษณาด้านล่างนะคะ]-***

ไม่มีความคิดเห็น