โฆษณาแนวนอน728*90

บทความใหม่

ประวัติและวัตถุมงคลหลวงพ่อดี วัดพระยาทด เจ้าของเหรียญเก่าของสระบุรี

ภาพถ่ายหลวงพ่อดี วัดพระยาทด สระบุรี
หลวงพ่อดี วัดพระยาทด สระบุรี

         หลวงพ่อดี วัดพระยาทด หรือ พระครูดี อดีตเจ้าอาวาสวัดพระยาทด พระเกจิอาจารย์ อำเภอเสาไห้ จังหวัดสระบุรี ท่านเกิดปีชวด พ.ศ. ๒๔๑๙ ที่บ้านพระยาทด ตำบลพระยาทด อำเภอเสาไห้ จังหวัดสระบุรี โยมบิดาชื่อขุนวิเศษสากล (สิงห์แก้ว) โยมมารดาชื่อนางทองสุข เมื่อมีพระราชบัญญัตินามสกุล ได้ใช้ชื่อสกุลว่า "จันทร"

         ปี พ.ศ. ๒๔๔๐ หลวงพ่อดี ท่านมีอายุได้ ๒๑ ปีบริบูรณ์ ท่านจึงได้เข้ารับการอุปสมบทเป็นพระภิกษุ ณ พัทธสีมาวัดพระยาทด ตำบลพระยาทด อำเภอเสาไห้ จังหวัดสระบุรี ได้รับฉายาว่า "ฐิตาโภ" โดยไม่ทราบว่าใครเป็นพระอุปัชฌาย์ 

         หลังจากอุปสมบทแล้ว ท่านได้อยู่จำพรรษาที่วัดพระยาทด เพื่อเล่าเรียนพระธรรมวินัยจากพระอาจารย์ 

         ปี พ.ศ. ๒๔๔๑ ท่านได้ย้ายไปจำพรรษาที่วัดท่าการ้อง ตำบลบางป้อม อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ศึกษาเล่าเรียนจนสอบได้นักธรรมตรี

         ปี พ.ศ. ๒๔๔๓ ทางวัดพระยาทดว่างเจ้าอาวาส มัคทายกวัดและชาวบ้านได้มานิมนต์ท่านจากวัดท่าการ้องมาเป็นเจ้าอาวาสวัดพระยาทด ซึ่งเวลานั้นท่านมีอายุเพียง ๒๔ ปี พรรษาที่ ๓ หากแต่ก็ได้ทำนุบำรุงวัดให้เจริญรุ่งเรืองมาด้วยดี

         วัดพระยาทด เป็นวัดราษฎร์ สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ตั้งอยู่ที่หมู่ที่ ๑ ตำบลพระยาทด อำเภอเสาไห้ จังหวัดสระบุรี ได้สร้างขึ้นเมื่อประมาณ ๔๐๐ ปีก่อน ในสมัยกรุงศรีอยุธยา ราวปี พ.ศ. ๒๑๗๑ ถือว่าเป็นวัดเก่าแก่มากแห่งหนึ่งในเขตสระบุรี 

         วัดพระยาทด นั้นตามประวัติที่มีการบันทึกไว้ใน สมัยก่อนที่ยังไม่มีการสร้างเขื่อนพระราม ๖ หน้าแล้งน้ำหน้าวัด จะแห้งขอดเป็นหาด ผู้คนเดินข้ามไปมาได้ 

         สมัยก่อนพระมหากษัตริย์และเชื้อพระวงศ์จะเสด็จประพาสทางน้ำโดยเรือ เมื่อเจอเจ้านายเสด็จผ่าน ก็ป่าวร้องให้ทำสะพานทำพลับพลาข้างตลิ่ง ให้ท่านขึ้นเที่ยวชม 

         ที่ใดเป็นหาดก็เกณฑ์ชาวบ้านมาโกยทรายให้เป็นร่องน้ำให้เรือแล่นผ่านไปได้สะดวก และทำการทดน้ำโดยใช้ไม้มาปัก ใช้เชือกหรือใบไม้มาทดน้ำ ให้เอ่อขึ้นที่หาดพระยาทดนั้น คงเป็นพยายามเกณฑ์คนมาทดน้ำตรงนั้นจึงได้ชื่อว่า "พระยาทด"

         ในวัดยังมีเสนาสนะที่สำคัญอีกแห่งคือ มหาวิหารโยนก วิหารสร้างขึ้นตั้งแต่สมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น เมื่อประมาณ ๒๐๐ ปี ที่แล้ว 

         เมื่อครั้งที่ชาวโยนกจากเชียงแสนได้มาตั้งรกรากที่สระบุรี มหาวิหารโยนกแห่งนี้ ถูกสร้างขึ้นโดยการร่วมแรงร่วมใจของชาวโยนกและชาวบ้านท้องถิ่น ด้วยศรัทธาในพุทธศาสนาชาวโยนกจึงนำศิลปะและวิทยาการของคนสมัยนั้น นำมาสร้างมหาวิหารแห่งนี้ขึ้น 

         และให้เป็นที่ประดิษฐานองค์พระชินราชจำลอง ไว้กราบไหว้บูชาขอพร อีกทั้งยังใช้เป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวบ้านและชาวโยนก เมื่อเวลาที่จะต้องทำงานอย่างใดอย่างหนึ่งร่วมกัน รับวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ ๒ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๓ อดีตเจ้าอาวาสวัดไม่ทราบแน่ชัดว่ามีใครบ้าง คงมีแต่เจ้าอาวาสในยุคหลังที่มีการบันทึกไว้ คือ

         ๑. พระครูดี ฐิตาโภ ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๔๓-๒๔๘๒

         ๒. พระอาจารย์เรือน วสฺสโน พ.ศ. ๒๔๘๒-๒๔๙๔

         ๓. พระปัน ทองคำซุ่ย พ.ศ. ๒๔๙๔-๒๔๙๕

         ๔. พระอ้าย ทุสาวุธ พ.ศ. ๒๔๙๕-๒๕๐๐

         ๕. พระทองรัก โมราบุตร พ.ศ. ๒๕๐๐-๒๕๐๒

         ๖. พระปลัดชิด รักยศ พ.ศ. ๒๕๐๒-๒๕๒๑

         ๗. พระมหาสังวาลย์ กิตฺติสาโร พ.ศ. ๒๕๒๑-๒๕๒๗

         ๘. พระปลัดสมพงษ์ จกฺกวโร พ.ศ. ๒๕๒๗-ปัจจุบัน

         หลังจากที่หลวงพ่อดี ท่านได้ขึ้นเป้นเจ้าอาวาส ท่านก็ได้พัฒนาวัดอย่างสุดความสามารถ ทั้งการสร้างเสนาสนะต่างๆ และสร้างถาวรวัตถุต่างๆภายในวัด จนวัดเจริญรุ่งเรืองขึ้นตามลำดับ

         ปี พ.ศ. ๒๔๕๔ หลวงพ่อดีท่านได้ออกธุดงค์ไปถึงประเทศพม่าพร้อมด้วยลูกศิษย์ประกอบด้วย ผู้ใหญ่กลั่น นายตั๋น กลิ่นอวง นายมา เป็นต้น

         คนเฒ่าคนแก่เล่าสืบต่อกันมาว่า การเดินทางลำบากมาก ในป่าเต็มไปด้วยฝูงสัตว์มากมาย วันไหนฝนตกจะมีตัวสัตว์เล็กๆ ที่เรียกว่า ทาก มักจะชอบเกาะดูดเลือด ตัวทากบางตัวมีขนาดใหญ่เท่ากับกองขี้ควาย ขนาดกว้างประมาณ ๑๒ นิ้วก็มี 

         ตัวทากมันใช้วิธีดีดตัวเอง เหมือนงูขว้างฆ้อน แต่ละครั้งจะไปไกลๆ คณะเดินทางของหลวงพ่อดีประกอบด้วย หลวงพ่อดีและคณะศิษย์หลายคน แต่ทุกคนก็ไม่ย่อท้อ และบรรลุวัตถุประสงค์ทุกประการ

         ปี พ.ศ. ๒๔๕๖ หลวงพ่อดีได้รับสมณศักดิ์เป็นพระครูวินัธร ฐานานุกรมของพระศรีวิสุทธิดิลกสาวกจรรยานุยศสังฆปาโมกข์ (โต) เจ้าอาวาสวัดสมุหประดิษฐ์ ตำบลสวนดอกไม้ อำเภอเสาไห้ จังหวัดสระบุรี

         ปี พ.ศ. ๒๔๕๗ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส เสด็จตรวจการคณะสงฆ์มณฑลกรุงเก่า ได้เสด็จวัดพระยาทดเมื่อวันที่ ๒๖ มกราคม พ.ศ. ๒๔๕๗ ดังปรากฏในจดหมายเหตุฯ ว่า

         "เวลาบ่าย ๕ โมง ๓๗ นาที เสด็จจากวัดต้นตาล หนทางราว ๒๐ นาที ถึงวัดหาดพระยาทด มีพระสงฆ์วัดนี้และราษฎรประมาณ ๖๐ คน คอยเฝ้ารับเสด็จอยู่กลางลานวัด เสด็จเข้านมัสการพระในโบสถ์และวิหารแล้ว เสด็จทอดพระเนตรบริเวณวัดฯ วัดนี้มีพระ ๑๔ รูป 

         เจ้าอธิการดี เจ้าคณะหมวดตำบลนี้ เป็นเจ้าอาวาส แต่ไม่อยู่ ไปรุกขมูล พระทั่ง อธิการรองเป็นหัวหน้า นำพระสงฆ์วัดนี้รับเสด็จ เป็นผู้มีกิริยามรรยาทเรียบร้อย เป็นอาจารย์สอนวิปัสสนา มีคนนิยมนับถือมาก ถึงกับมีผู้หล่อรูปไว้ในโบสถ์ อายุได้ ๕๖ ปี พรรษา ๑๗ 

         ท่าทางสมเป็นผู้ใหญ่ ทรงเลื่อมใส ประทานย่ามตรามหาสมณุตมาภิเษกแก่พระทั่งฯ วัดนี้มีของก่อสร้างเป็นหลักฐานโบสถ์และวิหารก่ออิฐถือปูน แต่ยกวิหารเป็นสำคัญ ใช้เป็นที่ออกหน้าอย่างแบบเก่า โบสถ์ทำเล็กๆ แอบไว้ข้างหนึ่ง ชั่วแต่อาศัยทำสังฆกรรม 

         วิหารทำหลังใหญ่ ฝีมือทำเป็นอย่างชาวพายัพ มีลวดลายสลักอย่างประณีต พระสงฆ์วัดนี้บริบูรณ์ ไม่อัตคัดด้วยปัจจัย เพราะพวกชาวบ้านนี้เป็นผู้เอาใจใส่ในการวัดอยู่"

         ปี พ.ศ. ๒๔๕๘ หลวงพ่อดีได้สร้างธรรมาสน์แกะสลักด้วยไม้สักงดงามประณีตมาก 

         ปี พ.ศ. ๒๔๖๔ ท่านได้ซ่อมแซมพระวิหาร และสร้างหอสวดมนต์ขึ้นหนึ่งหลัง 

         ปี พ.ศ. ๒๔๖๙ ได้ซ่อมแซมอุโบสถ ยกช่อฟ้า และสร้างกำแพงแก้วล้อมรอบอุโบสถใหม่ 

         ปี พ.ศ. ๒๔๗๔ หลวงพ่อดี ท่านได้สร้างกุฏิสงฆ์อีก ๓ หลัง เป็นทรงปั้นหยา

         ปี พ.ศ. ๒๔๗๕ ท่านได้รับตราตั้งเป็นพระอุปัชฌาย์ 

         ปี พ.ศ. ๒๔๗๙ ท่านได้รับแต่งตั้งเป็นพระครูชั้นประทวน

         จะมีเพียงคำบอกเล่าจากคนเฒ่าคนแก่ที่เล่าสืบต่อกันมาว่า หลวงพ่อดี ท่านเป็นพระเกจิรุ่นเก่าของเมืองเพรียว และยังเป็นพระสหธรรมิกกับหลวงพ่อกลั่น วัดพระญาติฯ อยุธยา และหลวงพ่อยอด วัดหนองปลาหมอ อีกด้วย

         ในสมัยก่อนท่านทั้งสาม มักเดินทางไปมาหาสู่กันบ่อยครั้ง รวมถึงแลกเปลี่ยนธรรมะ วิชาคาถา อักขระเลขยันต์ เป็นประจำ

         หลวงพ่อดี ท่านยังได้สร้าง วัตถุมงคลแจกกับชาวบ้านหลายอย่างด้วยกัน แต่ในปัจจุบันแทบไม่เหลือให้พบเจอแล้ว เท่าที่พอทราบ คือเหรียญรุ่นแรกของท่าน ที่นับว่าเป็นเหรียญที่เก่าที่สุดของจังหวัดสระบุรี

         โดยการสร้างวัตถุมงคลของหลวงพ่อดีนั้นท่านจะปลุกเสกลำพัง ในโบสถ์มหาอุตม์ของวัดเท่านั้น ท่านบอกว่า "โบสถ์นี้อายุมากกว่า ๓๐๐ ปี มีความศักดิ์สิทธิ์ในตัวเอง เป็นโบสถ์มหาอุตม์ แม้เพียงเข้ามาสวดมนต์ไหว้พระในโบสถ์นี้ก็เป็นสิริมงคลแล้ว สิ่งศักดิ์สิทธิ์ในโบสถ์ จะคุ้มครองให้แคล้วคลาดปลอดภัย" ดังนั้นเมื่อใดที่หลวงพ่อดีจัดสร้างวัตถุมงคลท่านจะต้อง ปลุกเสกในโบสถ์มหาอุตม์แห่งนี้เสมอ

         พุทธคุณของวัตถุมงคลของท่าน มีประสบการณ์ทั้งทางด้านคงกระพัน แคล้วคลาด รวมถึงเมตตา ค้าขาย คนเฒ่าคนแก่ในอำเภอเสาไห้เล่าให้ฟังถึงปาฎิหาริย์ต่างๆ มากมาย เป็นต้นว่า

         ผู้ใดอาราธนาบูชา วัตถุมงคลของหลวงพ่อดีแล้วนั้น จะแคล้วคลาดปลอดภัย และหนังเหนียวอยู่ยงคงกระพัน ฟันแทงไม่เข้า คนเมืองเพรียวรุ่นเก่าต่างทราบในอาคม ความเข้มขลังของพุทธาคมของท่านเป็นอย่างดี เรียกได้ว่าผู้ที่มีไว้ครอบครองล้วน หวงแหนไม่ยอมปล่อยให้ผู้ใดได้ชม

         หลวงพ่อดี ปกครองวัดเรื่อยมาจนถึงแก่มรณภาพลงด้วยโรคปอดในปี พ.ศ. ๒๔๘๒ นับรวมสิริอายุได้ ๖๓ ปี ๔๒ พรรษา.

วัตถุมงคลของหลวงพ่อดี วัดพระยาทด

         เหรียญหลวงพ่อดี วัดพระยาทด รุ่นแรก

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๖๘ เพื่อแจกให้กับลูกศิษย์ลูกหาของท่าน และแจกให้กับผุ้ที่บริจาคทรัพย์สร้างโบสถ ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มทรงเสมาข้างเลื่อยแบบมีหูในตัว มีการสร้างเนื้อทองแดงเพียงชนิดเดียวเท่านั้น จำนวนการสร้างน้อยและไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

เหรียญหลวงพ่อดี วัดพระยาทด สระบุรี รุ่นแรก 2468 ทองแดง
เหรียญหลวงพ่อดี วัดพระยาทด สระบุรี รุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๔๖๘ เนื้อทองแดง ของคุณประเสริฐ รติสรัลพรกุล
เหรียญหลวงพ่อดี วัดพระยาทด สระบุรี รุ่นแรก 2468 ทองแดง
เหรียญหลวงพ่อดี วัดพระยาทด สระบุรี รุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๔๖๘ เนื้อทองแดง

         ด้านหน้า มีอักขระยันต์รูปน้ำเต้าอ่านได้ว่า "นะ โม พุท ธา ยะ" บนสุดมีตัวอุณาโลม ใต้ตัวอุณาโลมมีอักขระยันต์ตัว "อุ" มีรัศมี ขอบเหรียญแกะเป็นเส้นลวดและลายกนก บรรจุเม็ดไข่ปลาโดยรอบเหรียญ

         ด้านหลัง มีอักขระยันต์ตรีนิสิงเห เหนืออักขระยันต์มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "พ,ศ, ๒๔๖๘" ขอบเหรียญแกะเป็นเส้นลวดและลายกนก บรรจุเม็ดไข่ปลาโดยรอบเหรียญ

         เหรียญหลวงพ่อดี วัดพระยาทด รุ่นย้อนยุค

         สร้างขึ้นในราวปี พ.ศ. ๒๕๐๐ กว่าๆ เพื่อแจกให้กับผู้ที่บริจาคทรัพย์ให้กับทางวัด ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มทรงเสมาแบบมีหูในตัว มีการสร้างเนื้อทองแดงเพียงชนิดเดียวเท่านั้น จำนวนการสร้างน้อยและไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

เหรียญหลวงพ่อดี วัดพระยาทด สระบุรี รุ่นเสริม 2468 เสริม ทองแดงกระไหล่ทอง
เหรียญหลวงพ่อดี วัดพระยาทด สระบุรี รุ่นแรก(ย้อนยุค) ปี พ.ศ. ๒๕๐๐ กว่าๆ เนื้อทองแดงกระไหล่ทอง

         ด้านหน้า มีอักขระยันต์รูปน้ำเต้าอ่านได้ว่า "นะ โม พุท ธา ยะ" บนสุดมีตัวอุณาโลม ใต้ตัวอุณาโลมมีอักขระยันต์ตัว "อุ" มีรัศมี ขอบเหรียญแกะเป็นเส้นลวดและลายกนก บรรจุเม็ดไข่ปลาโดยรอบเหรียญ

         ด้านหลัง มีอักขระยันต์ตรีนิสิงเห เหนืออักขระยันต์มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "พ,ศ, ๒๔๖๘" ขอบเหรียญแกะเป็นเส้นลวดและลายกนก บรรจุเม็ดไข่ปลาโดยรอบเหรียญ


โดย : สารานุกรมพระเกจิแห่งแดนสยาม

บทความที่เกี่ยวข้อง

***-[เป็นกำลังใจและสนับสนุน​ให้เราเขียนบทความดีๆ ด้วยการกดดูโฆษณาด้านล่างนะคะ]-***


ไม่มีความคิดเห็น