โฆษณาแนวนอน728*90

บทความใหม่

ประวัติและวัตถุมงคลหลวงพ่อบุญใหญ่ วัดเจดีย์คีรีวิหาร เจ้าคณะแขวงเอกเมืองพิชัย มณฑลพิษณุโลก

ภาพถ่ายหลวงพ่อบุญใหญ๋ วัดเจดีย์คีรีวิหาร อุตรดิตถ์
หลวงพ่อบุญใหญ๋ วัดเจดีย์คีรีวิหาร อุตรดิตถ์

         หลวงพ่อบุญใหญ่ วัดเจดีย์คีรีวิหาร หรือ พระครูธรรมฐิติวงศ์คีรีเขตร อดีตเจ้าอาวาสวัดเจดีย์คีรีวิหาร ตำบลฝายหลวง อำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์ เจ้าคณะแขวงเอกเมืองพิชัย มณฑลพิษณุโลก 

         หลวงพ่อบุญใหญ่ ท่านมีนามเดิมว่า บุญ พุฒเนียม พื้นเพท่านเป็นชาวอุตรดิตย์ เกิดเมื่อวันที่ ๗ เมษายน พ.ศ. ๒๔๑๕ โยมบิดาชื่อนายหม่อม โยมมารดาชื่อนางแก้ว มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน ๓ คน ได้แก่ 

         ๑. นางแตะ พุฒเนียม

         ๒. นางคำ สุขวุ่น

         ๓. หลวงพ่อบุญใหญ่

         ปี พ.ศ. ๒๔๒๗ หลวงพ่อบุญใหญ่มีอายุได้ ๑๒ ปี ท่านมีความสนใจวิชาในทางพระพุทธศาสนาเป็นอย่างมาก โยมบิดาและโยมมารดาได้นำไปฝากเป็นศิษย์ของพระอุปัชฌาย์น้อย วัดป่ายาง (พระอุปัชฌาย์รูปแรกของอำเภอลับแล) ท่านได้ศึกษาเล่าเรียนพระธรรมวินัยและอักษรล้านนาจนความรู้แตกฉาน

         ปี พ.ศ. ๒๔๓๐ ท่านมีอายุได้ ๑๕ ปีจึงได้บวชเป็นสามเณร ท่านเริ่มสนใจในวิชาไสยศาสตร์และไสยเวทเป็นอย่างมาก หลวงพ่อพระอุปัชฌาย์น้อยก็เมตตาประสิทธิ์ประสาทวิชาความรู้แขนงต่างๆ ให้หลวงพ่อบุญใหญ่จนหมดสิ้น

         ปี พ.ศ. ๒๔๓๕ หลวงพ่อบุญใหญ่มีอายุครบ ๒๐ ปีบริบูรณ์ ท่านจึงได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุ หรือเป๊ก (เป๊ก หมายถึง การบวชพระที่เป็นสามเณรโดยที่ไม่ได้สึกเป็นฆาราวาส) ณ พัทธสีมาวัดป่ายาง ตำบลศรีพนมมาศ อำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิตย์ ได้นามฉายาว่า "อินทปญโญ" โดยมี

         หลวงพ่อน้อย วัดป่ายาง เป็นพระอุปัชฌาย์

         หลังจากอุปสมบทแล้ว ท่านได้อยู่จำพรรษาที่วัดป่ายางเรื่อยมา เพื่อศึกษาพระธรรมวินัยและคาถาอาคม รวมทั้งปรนนิบัติหลวงพ่อน้อยควบคู่กันไปอย่างเคร่งคัด 

         ต่อมาท่านจึงได้กราบลาพระอุปัชฌาย์ย้ายมาจำพรรษา และปฏิบัติธรรมที่วัดทุ่งเอี้ยง เพื่อที่จะได้อยู่ใกล้โยมบิดาและโยมมารดา 

         ปี พ.ศ. ๒๔๕๓ หลวงพ่อบุญใหญ่ได้เป็นเจ้าอาวาสปกครองวัดทุ่งเอี้ยง ปีนั้นสมเด็จพระสังฆราช กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ ได้เสด็จประพาสภาคเหนือ และมาประทับที่วัดทุ่งเอี้ยง ซึ่งอยู่ห่างจากวัดป่าแก้วไม่มากนัก 

         พระองค์ท่านทรงทอดพระเนตรเห็นเจดีย์เก่า จึงตรัสถามหลวงพ่อบุญใหญ่ว่า "นั่นเป็นวัดหรืออย่างไรเห็นมีเจดีย์เก่าแก่อยู่" หลวงพ่อจึงกราบทูลว่า "เป็นวัดร้างมานานแล้ว ชาวบ้านเรียกว่าวัดป่าแก้ว" 

         สมเด็จพระสังฆราชฯจึงตรัสถามหลวงพ่อต่อว่า "วัดร้างนั้นอยู่ในทำเลที่ดีอยู่ในเนินที่สูงไม่มากนัก พร้อมทั้งเจดีย์เก่าอยู่ ข้าพเจ้าว่าคงเป็นวัดสำคัญวัดหนึ่ง น่าจะบูรณะซ่อมแซมและไปอยู่ที่นั่น ถ้าท่านจะไปบูรณะและไปอยู่จริงข้าพเจ้า จะตั้งชื่อให้ใหม่ว่า วัดเจดีย์คีรีวิหาร" 

         ปี พ.ศ. ๒๔๕๔ หลังจากสมเด็จพระสังฆราชกรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ เสด็จกลับไปแล้ว หลวงพ่อบุญใหญ่และชาวบ้านผู้มีจิตศรัทธาได้ร่วมกันบูรณะซ่อมแซมเจดีย์คงคืนกลับสภาพเดิม เจดีย์นี้มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง ๕ วา สูง ๑๓ วา 

         ขณะที่ซ่อมแซมเเจดีย์ได้พบเครื่องลายคราม เงินกลม และพระพุทธรูปทองคำ หน้าตักกว้าง ๒ นิ้ว สูง ๓ นิ้ว เป็นจำนวนมาก หลวงพ่อจึงได้นำเอาของมีค่าทั้งหมดนำมาบรรจุไว้ในองค์พระธาตุเจดีย์ 

         และขณะที่กำลังบูรณะอุโบสถ(หลังเก่า) นั้นได้พบแผ่นศิลาจารึก ๑ แผ่น ตัวอักษรในแผ่นศิลาจารึกนั้นอ่านไม่ออก (ไม่ใช่ภาษาไทย) ข้าหลวงอุตรดิตถ์ (ผู้ว่าราชการจังหวัดในขณะนั้น) ได้จัดส่งไปไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ 

         เมื่อซ่อมแซมเจดีย์และอุโบสถแล้วเสร็จ ก็ได้สร้างกุฎิ และศาลาการเปรียญขึ้นอีกหนึ่งหลัง เมื่อสร้างเสร็จแล้วหลวงพ่อก็ได้ย้ายมาจำพรรษา ณ วัดเจดีย์คีรีวิหาร ได้ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดและเจ้าคณะแขวงเอกเมืองพิชัย มณฑลพิษณุโลก 

         ปี พ.ศ. ๒๔๘๐ ท่านได้รับการแต่งตั้งให้เป็นพระอุปัชฌาย์

         ปี พ.ศ. ๒๔๘๒ ท่านได้รับการแต่งตั้งให้เป็นพระครูชั้นสัญญาบัตร ที่ "พระครูธรรมฐิติวงศ์คีรีเขตร"

         ปี พ.ศ. ๒๔๘๙ ท่านได้สร้างพระอุโบสถ ๑ หลัง

         หลวงพ่อบุญใหญ่ท่านมีพระที่เป็นพระสหธรรมมิก ที่มีชื่อเสียงหลายท่าน เช่น หลวงพ่อคง วัดบางกะพร้อม , หลวงพ่อจง วัดหน้าต่างนอก เป็นต้น 

         ซึ่งมีการไปมาหาสู่กันอยู่บ่อยๆ จึงเป็นที่เชื่อได้ว่าวิทยาคมของท่านนั้นสูงส่งไม่ต่างจากสหธรรมมิกของท่าน ท่านได้สร้างพระเครื่องอยู่ประเภทหนึ่งที่ผู้อยู่ในวงการพระเครื่องต่างก็สับสนในเรื่องของที่มา ได้แก่ พระผงคลุกรัก 

         ซึ่งพระผงคลุกรักนี้สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๗๐ โดยท่านได้ให้นายช่างทำโบสถ์ที่มีชื่อเสียงในขณะนั้นมาแกะแม่พิมพ์ โดยใช้ไม้เป็น แบบพิมพ์ และท่านยังได้นิมนต์พระเกจิอาจารย์ชื่อดังในยุคนั้น มาร่วมพิธีฯ หลายท่าน เช่น หลวงพ่อฝ้าย วัดสนามไชย อ.พรหมพิราม จ.พิษณุโลก (เจ้าตำรับกระสุนคด) หลวงพ่อเรือง วัดพระยาปันแดน พระมหาธังกร วัดน้ำคือ จ.แพร่ หลวงพ่อนาค วัดป่าข่อย และหลวงพ่อฮวบ วัดสามัคยาราม เป็นต้น

         เมื่อทำพิธีพุทธาภิเษกเสร็จ หลวงพ่อได้มอบพระผงคลุกรักให้กับพระเกจิอาจารย์เหล่านั้นกลับไปวัดด้วย จึงทำให้ภายหลังมีผู้ที่ได้รับพระเครื่องเหล่านี้จากมือหลวงพ่อองค์ใด ต่างก็เข้าใจว่าหลวงพ่อองค์นั้นเป็นผู้สร้างและที่พบเห็นกันมากที่สุด คือ จังหวัดพิษณุโลกของหลวงพ่อฝ้าย วัดสนามไชย อำเภอพรหมพิราม 

         พระผงคลุกรักที่ท่านได้สร้างครั้งฉลองพระอุโบสถหลังใหม่ พ.ศ. ๒๔๗๐ เป็นรูปพระสงฆ์ไว้หลายแบบ มีทั้งพระที่มีรูปร่างใหญ่ และรูปร่างผอม ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับเกจิอาจารย์ที่ท่านได้นิมนต์มาร่วมพิธี ท่านตั้งใจสร้างขึ้นถวายพระเถระผู้เรืองเวทย์เหล่านั้น 

         ซึ่งท่านได้สร้างไว้เป็นจำนวนมาก และถวายให้วัดต่างๆ จนหมด ไม่มีการจำหน่ายแต่อย่างได วัตถุมงคลของท่านจึงมีความเข้มขลัง เพราะไม่มีเงินทองมาเป็นเครื่องล่อใจให้สร้างขึ้น เสมือนกับเป็นการเฉลิมฉลองถาวรวัตถุของท่าน และตอบแทนผู้มีจิตศรัทธาช่วยเหลือท่านนั่นเอง 

         ท่านเคยปรารภกับบรรดาลูกศิษย์อยู่เสมอว่า วัตถุมงคลของท่านจะคุ้มครองรักษาเรา เราต้องรักษาตัวเอง คือเป็นคนดีมีศีลธรรม นึกถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นสรณะ และเวลาอาราธนาวัตถุมงคลของท่านติดตัวให้ภาวนาว่า " ธัมมะฐิติจะ มะหาเถโร บุญอินทะปัญโญ นะโมพุทธายะ นะมะอะอุ "

         หลวงพ่อบุญใหญ่ ปกครองวัดเรื่อยมาจนถึงแก่มรณภาพลงเมื่อวันที่ ๒๐ เมษายน พ.ศ. ๒๕๐๒ นับรวมสิริอายุได้ ๗๕ ปี ๖๗ พรรษา.

วัตถุมงคลของหลวงพ่อบุญใหญ่ วัดเจดีย์คีรีวิหาร

         เหรียญหลวงพ่อบุญใหญ่ วัดเจดีย์คีรีวิหาร รุ่นแรก

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ.๒๔๘๐ เพื่อแจกในคราวฉลองตราตั้งพระอุปัชฌาย์ ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มรูปวงกลมแบบมีหูในตัว มีการสร้างด้วยเนื้อทองแดงเพียงชนิดเท่านั้น จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

เหรียญหลวงพ่อบุญใหญ๋ วัดเจดีย์คีรีวิหาร อุตรดิตถ์ รุ่นแรก 2480 ทองแดง
เหรียญหลวงพ่อบุญใหญ่ วัดเจดีย์คีรีวิหาร อุตรดิตถ์ รุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๔๘๐ เนื้อทองแดง ของคุณอ้น อุตรดิตถ์

         ด้านหน้า จำลองเป็นรูปหลวงพ่อบุญใหญ่ครึ่งองค์ห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฏิ ที่ขอบเหรียญมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "ที่ระลึกในการฉลองตราพระอุปัชฌาย์" 

         ด้านหลัง มีอักขระยันต์ตรีนิสิงเห

         เหรียญหลวงพ่อบุญใหญ่ วัดเจดีย์คีรีวิหาร รุ่นสอง

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ.๒๔๘๙ เพื่อแจกในงานฉลองพระอุโบสถของวัด และแจกให้กับผู้ที่บริจาคทรัพย์ให้กับทางวัด ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มรูปไข่แบบมีหูในตัว มีการสร้างด้วยเนื้อทองแดงเพียงชนิดเท่านั้น จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

เหรียญหลวงพ่อบุญใหญ๋ วัดเจดีย์คีรีวิหาร อุตรดิตถ์ รุ่น 2 2489 ทองแดง
เหรียญหลวงพ่อบุญใหญ่ วัดเจดีย์คีรีวิหาร อุตรดิตถ์ รุ่นสอง ปี พ.ศ. ๒๔๘๙ เนื้อทองแดง ของร้านพระท่าเหนือ

         ด้านหน้า จำลองเป็นรูปหลวงพ่อบุญใหญ่นั่งสมาธิเต็มองค์ องค์หลวงพ่อห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฏิ ใต้รูปหลวงพ่อมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "พระครูธรรมฐิติวงศ์" 

         ด้านหลัง ตรงกลางเป็นรูปจำลองพระอุโบสถ ที่ขอบเหรียญมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "งานฉลองโบสถ์ วัดเจดีย์คีรีวิหาร พ.ศ. ๒๔๘๙" 

         พระผงหลวงพ่อบุญใหญ่ วัดเจดีย์คีรีวิหาร

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ.๒๔๗๐ เพื่อแจกให้กับผู้ที่บริจาคทรัพย์ให้กับทางวัด ลักษณะเป็นพระเนื้อผงคลุกรักพิมพ์สี่เหลี่ยม สร้างจากผงพุทธคุณที่หลวงพ่อได้รวบรวมไว้ ผสมกับผงวิเศษต่างๆที่ท่านลบผงเอง จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

พระพิมพ์เข่าบ่วงหลวงพ่อบุญใหญ๋ วัดเจดีย์คีรีวิหาร อุตรดิตถ์ รุ่นแรก 2470 ผงคลุกรัก
พระพิมพ์เข่าบ่วงหลวงพ่อบุญใหญ๋ วัดเจดีย์คีรีวิหาร อุตรดิตถ์ รุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๔๗๐ เนื้อผงคลุกรัก ของคุณแบงค์ เชียงราย

         ด้านหน้า จำลองเป็นรูปพระพุทธรูปปางสมาธิประทับนั่งขัดสมาธิเพชร (เข่าบ่วง) บนฐานเขียง องค์พระปรากฏเส้นสังฆาฏิชัดเจน 

         ด้านหลัง เรียบไม่ปรากฏอักขระใดๆ ใต้ฐานมีรูสำหรับเสียบไม้ยกออกจากพิมพ์พระ

         เหรียญหล่อพระพุทธหลวงพ่อบุญใหญ่ วัดเจดีย์คีรีวิหาร พิมพ์มียันต์

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ.๒๔๘๙ เพื่อแจกในงานฉลองพระอุโบสถของวัดและแจกให้กับผู้ที่บริจาคทรัพย์ให้กับทางวัด ลักษณะเป็นเหรียญหล่อสี่เหลี่ยม สร้างด้วยเนื้อขันลงหิน จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

เหรียญหล่อพระพุทธ หลวงพ่อบุญใหญ๋ วัดเจดีย์คีรีวิหาร อุตรดิตถ์ ข้างยันต์ 2489 ขันลงหิน
เหรียญหล่อพระพุทธ หลวงพ่อบุญใหญ๋ วัดเจดีย์คีรีวิหาร อุตรดิตถ์ พิมพ์มียันต์ ปี พ.ศ. ๒๔๘๙ เนื้อขันลงหิน

         ด้านหน้า จำลองเป็นรูปพระพุทธรูปปางสมาธิประทับนั่งขัดสมาธิเพชร บนฐาน ๓ ชั้น มีกรอบเป็นเส้นนูนสี่เหลี่ยมล้อมรอบ ข้างในกรอบมีอักขระยันต์อ่านได้ว่า "นะ โม พุท ธา ยะ" 

         ด้านหลัง เรียบไม่ปรากฏอักขระใดๆ  

         เหรียญหล่อพระพุทธหลวงพ่อบุญใหญ่ วัดเจดีย์คีรีวิหาร พิมพ์ซ่อนหา

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ.๒๔๘๙ เพื่อแจกในงานฉลองพระอุโบสถของวัดและแจกให้กับผู้ที่บริจาคทรัพย์ให้กับทางวัด ลักษณะเป็นเหรียญหล่อสี่เหลี่ยม สร้างด้วยเนื้อขันลงหิน จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

เหรียญหล่อพระพุทธ หลวงพ่อบุญใหญ๋ วัดเจดีย์คีรีวิหาร อุตรดิตถ์ ซ่อนหา 2489 ขันลงหิน
เหรียญหล่อพระพุทธ หลวงพ่อบุญใหญ๋ วัดเจดีย์คีรีวิหาร อุตรดิตถ์ พิมพ์ซ่อนหา ปี พ.ศ. ๒๔๘๙ เนื้อขันลงหิน

         ด้านหน้า จำลองเป็นรูปพระพุทธรูปปางปฐมเทศนาประทับนั่งขัดสมาธิเพชรบนฐาน ๓ ชั้น เหนือองค์พระมีปรกโพธิ์คล้ายพระปางซ่อนหาของวัดอนงค์ รอบองค์พระมีกรอบโค้ง ๒ กรอบซ้อนกัน  

         ด้านหลัง เรียบไม่ปรากฏอักขระใดๆ

         เหรียญหล่อพระพุทธหลวงพ่อบุญใหญ่ วัดเจดีย์คีรีวิหาร พิมพ์ปรกโพธิ์

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ.๒๔๘๙ เพื่อแจกในงานฉลองพระอุโบสถของวัดและแจกให้กับผู้ที่บริจาคทรัพย์ให้กับทางวัด ลักษณะเป็นเหรียญหล่อสี่เหลี่ยม สร้างด้วยเนื้อขันลงหิน จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

เหรียญหล่อพระพุทธ หลวงพ่อบุญใหญ๋ วัดเจดีย์คีรีวิหาร อุตรดิตถ์ ปรกโพธิ์ 2489 ขันลงหิน
เหรียญหล่อพระพุทธ หลวงพ่อบุญใหญ๋ วัดเจดีย์คีรีวิหาร อุตรดิตถ์ พิมพ์ปรกโพธิ์ ปี พ.ศ. ๒๔๘๙ เนื้อขันลงหิน

         ด้านหน้า จำลองเป็นรูปพระพุทธรูปปางสมาธิประทับนั่งขัดสมาธิเพชร บนฐานชุกชี มีกรอบเป็นเส้นนูนสี่เหลี่ยมล้อมรอบ ภายในมีปรกโพธิ์เหนือองค์พระ ๒ ข้าง

         ด้านหลัง เรียบไม่ปรากฏอักขระใดๆ



หมายเหตุ : นอกจากนี้ท่านยังได้สร้างพระประจำวันขึ้นอีก ๒ รุ่น คือ ๑. หลังมียันต์พุทธสังมิ ๒. หลังเรียบ

โดย : สารานุกรมพระเกจิแห่งแดนสยาม

บทความที่เกี่ยวข้อง

    ***-[เป็นกำลังใจและสนับสนุน​ให้เราเขียนบทความดีๆ ด้วยการกดดูโฆษณาด้านล่างนะคะ]-***

    ไม่มีความคิดเห็น