ประวัติและวัตถุมงคลของหลวงพ่อทัย (พระครูวชิรคุณารักษ์) วัดไทรย้อย เพชรบุรี ศิษย์หลวงพ่อนาค วัดหัวหิน
หลวงพ่อทัย วัดไทรย้อย เพชรบุรี |
หลวงพ่อทัย วัดไทรย้อย หรือ พระครูวชิรคุณารักษ์(ทัย) วัดไทรย้อย อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี พื้นเพเป็นชาวบ้านทับใต้ ปัจจุบันอยู่ในพื้นที่อำเภอหัวหิน (ห้วยมงคลในปัจจุบัน) จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ท่านมีนามเดิมว่า พริกไทย หมื่นชำนาญป่า เกิดเมื่อวันที่ ๒๐ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๓๙ โยมบิดาชื่อนายหนูมุ้ย หมื่นชำนาญป่า และโยมมารดาชื่อนางเทศ หมื่นชำนาญป่า มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน ๘ คน โดยท่านเป็นบุตรคนที่ื ๗
หลวงพ่อทัย ท่านเป็นพี่ชายของหลวงพ่อปลั่ง วัดห้วยมงคล เจ้าอาวาสองค์แรกผู้สร้างวัด ในวัยเด็กท่านได้เรียนหนังสือกับพระอธิการเปี่ยม วัดนาห้อย จนสามารถอ่านออกเขียนได้
ปี พ.ศ. ๒๔๕๘ หลวงพ่อท่านมีอายุได้ ๑๙ ปี ได้ถูกเกณฑ์ไปรับราชการเป็นตำรวจอยู่ได้ ๒ ปี จนพ้นเกณฑ์
ปี พ.ศ. ๒๔๖๑ หลวงพ่อทัย ท่านมีอายุได้ ๒๑ ปีบริบูรณ์ ท่านจึงเข้ารับการอุปสมบทเป็นพระภิกษุ ณ พัทธสีมาวัดอัมพาราม (หัวหิน) ตำบลหัวหิน อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เมื่อวันที่ ๙ กรกฏาคม พ.ศ. ๒๔๖๑ ได้รับฉายาว่า "ญาณธมฺโม" โดยมี
พระครูวิริยาธิการี (นาค) วัดอัมพาราม (หัวหิน) เป็นพระอุปัชฌาย์
พระครูธรรมโสภิต วัดนาห้วย เป็นพระกรรมวาจาจารย์
พระอาจารย์เล็ก วัดบางควาย(ไทรย้อย) เป็นพระอนุสาวนาจารย์
หลังจากอุปสมบทแล้วท่านได้อยู่จำพรรษาที่วัดอัมพาราม(หัวหิน) เพื่อเรียนพระธรรามวินัยและพระคาถาอาคมกับหลวงพ่อนาค พระอุปัชฌาย์ของท่าน
หนังสืองานศพหลวงพ่อทัย วัดไทรย้อย เพชรบุรี |
ปี พ.ศ. ๒๔๖๒ พระอาจารย์เล็ก เจ้าอาวาสวัดบางควาย(ไทรย้อย) เกิดอาพาธหนัก พระครูวิริยาธิการี (นาค) วัดอัมพาราม (หัวหิน) ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งเจ้าคณะจังหวัด จึงมีคำสั่งให้หลวงพ่อทัย ย้ายมาจำพรรษาที่วัดไทรย้อยเพื่อช่วยพระอาจารย์เล็ก
ปี พ.ศ. ๒๔๖๓ ท่านได้ร่วมกับพระสงฆ์จัดหาท่อนซุงมาสร้างวัด โดยมีชาวบ้านช่วยหาเสบียงอาหาร จนสามารถปลูกกุฏิได้ ๒ หลัง และสร้างเพิ่มเติมมาเรื่อยๆ
ปี พ.ศ. ๒๔๖๙ สมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิ์ศจี พระวรชายาในรัชกาลที่ ๖ และคุณหญิงสุธรรมมนตรี (กิมไล้) ได้เสด็จมาประทับที่พระราชวิเวศน์มฤคทายวัน มีพระราชศรัทธาพระราชทานทุนทรัพย์สร้างพระอุโบสถ เป็นอาคารไม้มุงกระเบื้อง มีเฉลียงทั้ง ๔ ด้าน
ปี พ.ศ. ๒๔๗๐ วัดจึงได้จัดพิธีผูกพัทธสีมาพระอุโบสถ และสร้างศาลาการเปรียญ ในปีนั้นพระอาจารย์เล็กได้มรณภาพลงพอดี ทางคณะสงฆ์ตลอดจนชาวบ้าน ผู้อุปถัมป์วัดจึงพร้อมใจกันนิมนต์พระทัย ขึ้นเป็นเจ้าอาวาสปกครองวัดทดแทนตำแหน่งที่ว่างลง
ปี พ.ศ. ๒๔๗๑ ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเจ้าอาวาส
หลวงพ่อทัย วัดไทรย้อย เพชรบุรี |
วัดไทรย้อย เป็นวัดราษฏร์ สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย วัดตั้งอยู่เลขที่ ๑๐๕๖ บ้านบางไทรย้อย ตำบลชะอำ อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี ที่ดินตั้งวัดมีเนื้อที่ ๓๔ ไร่ ๒ งาน ๘๐ ตารางวา
วัดไทรย้อย มีชื่อเดิมว่าวัดบางควาย วัดตั้งเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๕๒ โดยนางกลุ นางแหยม มิตรดี ได้บริจาคที่ดินให้แก่หลวงพ่อนาค วัดหัวหินเพื่อให้สร้างวัด โดยมีหลวงพ่อเล็ก ชาวสมุทรสงครามมาเป็นประธานฝ่ายสงฆ์มาดำเนินการจัดสร้าง
ในปี พ.ศ. ๒๕๐๖ พระบามสมเด็จพระเจ้าอยู่ และสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จมาที่พระอุโบสถแห่งนี้ ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อวันที่ ๑๖ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๒๘ เขตวิสุงสีมา กว้าง ๘ เมตร ยาว ๓๕ เมตร มีเจ้าอาวาสปกครองวัดดังนี้
๑. พระอาจารย์เล็ก อินทวัณโณ พ.ศ. ๒๔๕๗ - ๒๔๗๐
๒. พระครูวชิรคุณารักษ์ (ทัย ญาณธมฺโม) พ.ศ. ๒๔๗๑ - ๒๕๑๙
๓. พระอธิการทองเจือ ปัญญาสิริ พ.ศ. ๒๕๑๙ - ๒๕๒๒
๔. พระอธิการบุญธม นิรโต พ.ศ. ๒๕๒๓ - ๒๕๒๕
๕. พระครูวชิรคุณารักษ์ พ.ศ. ๒๕๒๗ - ปัจจุบัน
หลังจากหลวงพ่อทัยได้ขึ้นเป็นเจ้าอาวาสวัด ท่านได้พัฒนาวัดอย่างสุดความสามารถ ทั้งการสร้างเสนาสนะต่างๆ และสร้างถาวรวัตถุต่างๆ ภายในวัด จนวัดเจริญขึ้นตามลำดับ
ปี พ.ศ. ๒๔๘๒ หลวงพ่อทัย ท่านได้สร้างโรงเรียนพระปริยัติธรรมแผนกธรรมสำหรับพระเณร
ปี พ.ศ. ๒๔๙๔ ท่านได้สร้างอาคาร ญาณธรรมสำฤทธิ์ เพื่อใช้เป็นอาคารเรียนของโรงเรียนประชาบาลวัดบางควาย และได้รับตำแหน่งรักษาการเจ้าคณะหมวดชะอำ ตำบลชะอำ เพชรบุรี
ปี พ.ศ. ๒๔๙๗ ท่านได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเจ้าคณะหมวดชะอำ (เจ้าคณะตำบล)
ปี พ.ศ. ๒๕๐๓ หลังจากที่หลวงพ่อทัย ได้พัฒนาวัดจนเจริญรุ่งเรืองขึ้นเป็นอย่างมาก ท่านจึงได้รับพระราชทานเป็นพระครูชั้นสัญญาบัตรชั้นตรี ที่ พระครูวชิรคุณารักษ์
ปี พ.ศ. ๒๕๐๖ ท่านได้รับการแต่งตั้งให้เป็นพระอุปัชฌาย์
ปี พ.ศ. ๒๕๑๔ หลวงพ่อทัย ได้สร้างพระอุโบสถเป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก ทดแทนหลังเดิมที่เป็นไม้
หลวงพ่อทัย วัดไทรย้อย เพชรบุรี |
ในด้านวิชาอาคมหลวงพ่อทัย ท่านเป็นผู้ที่ขวนขวายแสวงหาความรู้อยู่เสมอ โดยเล่าเรียนวาอาคมกับพระอาจารย์หลายท่านอาทิ ศึกษาวิชาตำรายากับหมอเทียน ครูแหยม บ้านทับใต้ ศึกษาวิทยาคมกับพระครูวิริยาธิการี(นาค) วัดหัวหิน
ศึกษาวิชาสร้างวัตถุมงคลกับครูยก ชาวใต้ ศึกษาวิชาลงปลัดขิกกับพระอาจารย์ปุ้ย วัดโคก และอาจารย์คง บ้านสวนกล้วย กรุงเทพฯ และยังเดินทางไปเรียนวิชาลงปลัดขิกกับพระครูวชิรธรรมโสภิต(สี) วัดปากคลอง
หลายคนบอกว่าปลัดขิกของท่านขลังนักมักจะวิ่งอยู่ในบาตร ใครจับได้จับเอา มักทำตัวเล็กๆจิ๋วๆ ทำจากไม้กัลปังหงา สีดำ แต่ตัวใหญ่ ยาวๆ นั้น โดยมากก็จะเหลากันมาเอง แล้วหลวงพ่อจะลงอักขระให้
ทุกวันนี้ยังมีภาพหลวงพ่อจารปลัดขิกขณะอยู่ในมุ้งด้วย ภาพนี้เทศบาลเมืองชะอำได้นำไปทำปฏิทินแจกชาวบ้านมาหลายปีแล้ว ไม่พอแจก ยังมีภาพนี้ปรากฏให้ชมอยู่ที่วัด
เรื่องประสบการณ์เด่นที่แคล้วคลาด เมตตามหานิยม ไม่ค่อยได้ยินเรื่องมหาอุดหยุดลูกปืน มีแต่รถพังยับตายยกคันแต่คนที่มีปลัดไม่ตาย
ในช่วงหลังปี พ.ศ. ๒๕๐๕ มีทหารเรือจากสัตหีบและบางนามาเป็นลูกศิษย์กันมาก บางคนว่าหลวงพ่ออี๋ในมาหาดู ประมาณว่าหลวงพ่ออี๋บอกยกย่องไว้ก่อนมรณภาพ
หลวงพ่อทัย ปกครองวัดเรื่อยมาจนถึงแก่มรณภาพลงด้วยโรคตับแข็งในวันศุกร์ที่ ๒๓ เมษายน พ.ศ. ๒๕๑๙ นับรวมสิริอายุได้ ๘๐ ปี ๕๙ พรรษา และมีงานพระราชทานเพลิงศพวันที่ ๕ เมษายน พ.ศ. ๒๕๒๒
วัตถุมงคลของหลวงพ่อทัย วัดไทรย้อย
เหรียญหลวงพ่อทัย วัดไทรย้อย รุ่นแรก
สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๐๔ เพื่อแจกเป็นที่ระลึกในคราวฉลองสมณศักดิ์ของหลวงพ่อ ลักษณะเป็นเหรียญรูปไข่แบบมีหูในตัว มีการสร้างด้วยเนื้อทองแดงเพียงชนิดเดียวเท่านั้น จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้ แต่คาดว่าไม่น่าเกิน ๒,๐๐๐ เหรียญ
เหรียญหลวงพ่อทัย วัดไทรย้อย เพชรบุรี รุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๕๐๔ เนื้อทองแดงกระไหล่เงิน |
เหรียญหลวงพ่อทัย วัดไทรย้อย เพชรบุรี รุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๕๐๔ เนื้อทองแดงกระไหล่เงิน |
ด้านหน้า จำลองเป็นรูปหลวงพ่อทัยครึ่งองค์ห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฏิ ที่ริ้วจีวรมีอักขระยันต์ตัว "เฑาะห์" ใต้รูปหลวงพ่อมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "พระครูวชิรคุณารักษ์"
ด้านหลัง เป็นอักขระยันต์พระเจ้าห้าพระองค์อ่านได้ว่า "นะ โม พุท ธา ยะ" ใต้อักขรยันต์มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "วัดไทรย้อย จ. เพชรบุรี ๒๕ เมษายน ๒๕๐๔" ซึ่งคือปีที่สร้างเหรียญ
เหรียญหล่อหลวงพ่อทัย วัดไทรย้อย รุ่น ๒ (ฉลุลายไทย)
สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๑๙ เพื่อแจกเป็นที่ระลึกในคราวฉลองอายุครบ ๘๑ ปีของหลวงพ่อ ในวันที่ ๗ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๑๙ แต่หลวงพ่อมรณภาพลงเสียก่อน ลักษณะเป็นเหรียญหล่อฉลุรูปหยดน้ำ มีการสร้างด้วยเนื้อเงินสร้าง ๙๙ เหรียญ และเนื้อนวโลหะสร้าง ๙๙๙ เหรียญ
เหรียญหล่อหลวงพ่อทัย วัดไทรย้อย เพชรบุรี รุ่น ๒ (ฉลุลายไทย) ปี พ.ศ. ๒๕๑๙ เนื้อเงิน |
ด้านหน้า จำลองเป็นรูปหลวงพ่อทัยครึ่งองค์ห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฏิ เหนือรูปหลวงพ่อมีอักขระเลขไทย "๑" ใต้รูปหลวงพ่อมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "พ่อไท"
ด้านหลัง เป็นอักขระยันต์พระเจ้าห้าพระองค์อ่านได้ว่า "นะ โม พุท ธา ยะ" ใต้อักขรยันต์มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "อายุ ๘๐ ปี"
เสือมหาอำนาจหลวงพ่อทัย วัดไทรย้อย
สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๑๙ เพื่อแจกเป็นที่ระลึกในคราวฉลองอายุครบ ๘๐ ปีของหลวงพ่อ ในวันที่ ๗ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๑๙ แต่หลวงพ่อมรณภาพลงเสียก่อน ลักษณะเป็นเสือหล่อ มีการสร้างด้วยเนื้อเงิน และเนื้อนวโลหะเพียงเท่านั้น จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้
เสือมหาอำนาจหลวงพ่อทัย วัดไทรย้อย เพชรบุรี ปี พ.ศ. ๒๕๑๙ เนื้อนวะโลหะ |
ด้านซ้าย จำลองเป็นรูปเสือมหาอำนาจ อ้าปากแย่งเขี้ยวน่าเกรงขาม ที่ข้างรูปเสือมีอักขรยันต์อ่านได้ว่า "นะ มะ"
ด้านขวา มีอักขรยันต์อ่านได้ว่า "พะ ทะ" ที่ใต้ท้องตอกโค้ด "อุ"
สิงห์มหาอำนาจหลวงพ่อทัย วัดไทรย้อย
สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๑๙ เพื่อแจกเป็นที่ระลึกในคราวฉลองอายุครบ ๘๐ ปีของหลวงพ่อ ในวันที่ ๗ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๑๙ แต่หลวงพ่อมรณภาพลงเสียก่อน ลักษณะเป็นสิงห์หล่อด้วยเนื้อโลหะทองเหลือง จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้
สิงห์มหาอำนาจหลวงพ่อทัย วัดไทรย้อย เพชรบุรี ปี พ.ศ. ๒๕๑๙ เนื้อทองเหลือง |
ด้านซ้าย จำลองเป็นรูปสิงห์มหาอำนาจ แต่ไม่ปรากฏอักขระยันต์ใดๆ
ด้านขวา จำลองเป็นรูปสิงห์มหาอำนาจ ยกขาขวาน่าเกรงขาม ที่ตรงกลางตัวสิงห์มีอักขรภาษาไทยเขียนว่า "ทัย"
โดย : สารานุกรมพระเกจิแห่งแดนสยาม
บทความที่เกี่ยวข้อง
***-[เป็นกำลังใจและสนับสนุนให้เราเขียนบทความดีๆ ด้วยการกดดูโฆษณาด้านล่างนะคะ]-***
ไม่มีความคิดเห็น