ประวัติและวัตถุมงคลพระครูสุนทรธรรมวงศ์ (เดช) วัดสนามพราหมณ์ พระนักพัฒนาของเพชรบุรี
หลวงพ่อเดช วัดสนามพราหมณ์ เพชรบุรี |
หลวงพ่อเดช วัดสนามพราหมณ์ หรือ พระครูสุนทรธรรมวงศ์ วัดสนามพราหมณ์ ตำบลท่าราบ อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบุรี ท่านมีนามเดิมว่า เดช นิวาศะบุตร พื้นเพท่านเป็นชาวบ้านตำบลบ้านกุ่ม อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบุรี ท่านเกิดเมื่อวันที่ ๑๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๑๐ โดยไม่ปรากฏชื่อโยมบิดาและโยมมารดาของท่าน
ปี พ.ศ. ๒๔๓๐ หลวงพ่อเดช ท่านมีอายุได้ ๒๐ ปีบริบูรณ์ ท่านได้เข้ารับการอุปสมบท ณ พัทธสีมาวัดบรมนิวาส แขวงรองเมือง เขตประทุมวัน กรุงเทพมหานคร ได้รับฉายาว่า "สุนทโร" โดยมี
พระพรหมมุนี (เหมือน สุมิตฺโต) เจ้าอาวาสวัดบรมนิวาส เป็นพระอุปัชฌาย์
หลังจากอุปสมบทแล้ว ท่านได้อยู่จำพรรษาที่วัดบรมนิวาส เพื่อศึกษาพระธรรมวินัยและศึกษาวิชาอาคมต่างๆ จนเชี่ยวชาญ
ภายหลังท่านได้เดินทางกลับมายังถิ่นเกิด และอยู่จำพรรษาที่วัดมหาสมณาราม(เขาวัง) ตำบลคลองกระแชง อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบุรี เพื่อร่ำเรียนวิชาและปฏิบัติธรรม
ปี พ.ศ. ๒๔๕๔ พระอธิการรอด เจ้าอาวาสวัดสนามพราหมณ์ได้ลาออกจากตำแหน่ง และลาสิกขามาเป็นอุบาสก พวกโยมอุปฏฐากวัดสนามพราหมณ์ นำโดยนายเฉลียง ตาละลักษณ์ และนายเอม เณราธึก ได้ประชุมพิจารณาหาพระภิกษุที่มีจริยวัตรงดงามมาเป็นเจ้าอาวาส
เห็นพ้องต้องกันว่า พระเดช สุนทโร ซึ่งขณะนั้นจำพรรษาอยู่ที่วัดมหาสมณาราม (เขาวัง) มีศีลาจารวัตรเรียบร้อย เหมาะสมที่จะดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดสนามพราหมณ์สืบต่อ
จึงได้พร้อมใจกันไปขออนุญาตจากเจ้าคุณพระมหาสมณวงศ์ (แท่น) เจ้าอาวาสวัดเขาวัง ในขณะนั้น ท่านก็มิได้ขัดข้องแต่ประการใด หลวงพ่อเดชจึงได้มาปกครองวัดสนามพราหมณ์นับแต่นั้น โดยท่านถือเป็นเจ้าอาวาสรูปที่ ๗ ของทางวัด
วัดสนามพราหมณ์ เป็นวัดราษฎร์สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายธรรมยุติกนิกาย ตั้งอยู่ในตำบลท่าราบ อำเภอเมืองเพชรบุรี จังหวัดเพชรบุรี
วัดสนามพราหมณ์ ไม่ทราบแน่ชัดว่าสร้างขึ้นเมื่อใด แต่ได้รับการบูรณะมาโดยตลอด การบูรณะครั้งใหญ่ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และใช้ชื่อวัดว่า วัดสามพราหมณ์ปุกมิตตาราม ภายหลังเปลี่ยนชื่อมาเป็น "วัดสนามพราหมณ์" ตั้งวัดเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๑๒
อาคารเสนาสนะที่สำคัญได้แก่ อุโบสถก่ออิฐถือปูน ศิลปะไทยผสมศิลปะตะวันออก ด้านหลังทำเป็นมุขขวาง หลังคาชั้นเดียวมีปีกนกยื่นออกมาทั้งสี่ด้านรองรับด้วยเสา ระหว่างเสาเป็นช่องโค้ง ช่อฟ้าและหางหงส์เป็นรูปหัวนาค หน้าบันตกแต่งด้วยปูนปั้นรูปสัตว์ เช่น สิงโตจีน และนก
ใบเสมาเป็นเสมาทรงสี่เหลี่ยมที่ได้รับความนิยมในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กุฏิสงฆ์มีสองลักษณะ แบบแรกเป็นกุฏิตึกแฝดสองชั้น เป็นเครื่องก่อ ได้รับอิทธิพลศิลปะตะวันตก ชายคาตกแต่งด้วยไม้ฉลุขนมปังขิง
อีกแบบเป็นกุฏิเรือนไทยฝาสำหรวด ปูชนียวัตถุมีพระพุทธรูปปางมารวิชัยในศาลา วัดได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อวันที่ ๘ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๒๖
หลังจากหลวงพ่อเดชได้ขึ้นเป็นเจ้าอาวาสวัด ท่านได้พัฒนาวัดอย่างสุดความสามารถ ทั้งการสร้างเสนาสนะต่างๆ และสร้างถาวรวัตถุต่างๆ ภายในวัด จนวัดเจริญขึ้นตามลำดับ
ด้วยคุณงามความดีของท่านในการพัฒนาวัดจนเจริญรุ่งเรือง ท่านจึงได้รับตำแหน่งพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตรที่ พระครูสุนทรธรรมวงศ์
ในสมัยหลวงพ่อเดชนั้นไม่ปรากฏหลักฐานการบันทึกว่า ท่านได้สร้างวัตถุไว้เป็นรูปแบบใด ทราบแต่เพียงว่าสมัยที่ท่านเป็นเจ้าอาวาสมีการพัฒนาปรับปรุงเสนาสนะต่างๆ หลายอย่าง อาทิ นิมิตเสนากำแพงวัด เรือนครัว เพื่อใช้ประกอบการหุงหาอาหารสำหรับถวายภิกษุสามเณร และสนามชี ฯลฯ
หลวงพ่อเดช ปกครองวัดเรื่อยมาจนถึงแก่มรณภาพลงด้วยอาการอันสงบ เมื่อวันที่ ๒๙ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๙๔ นับรวมสิริอายุได้ ๘๓ ปี ๖๒ พรรษา ท่านดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดสนามพราหมณ์ยาวนานถึง ๔๐ ปี
วัตถุมงคลของหลวงพ่อเดช วัดสนามพราหมณ์
เหรียญหลวงพ่อเดช วัดสนามพราหมณ์ รุ่นแรก
สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๙๕ เพื่อแจกเป็นที่ระลึกในงานศพของท่าน ลักษณะเป็นเหรียญรูปวงกลมแบบมีหูในตัว เหรียญนี้แม้จะไม่ทันท่านแต่ก็เป็นเหรียญยอดนิยมของเมืองเพชรบุรีด้วยมีพระเกจิชื่อดังในสมัยนั้นร่วมกันปลุกเสกมากมาย เหรียญมีการสร้างด้วยเนื้อทองแดงเพียงชนิดเดียวเท่านั้น จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้
เหรียญหลวงพ่อเดช วัดสนามพราหมณ์ เพชรบุรี รุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๔๙๕ เนื้อทองแดงรมดำ |
เหรียญหลวงพ่อเดช วัดสนามพราหมณ์ เพชรบุรี รุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๔๙๕ เนื้อทองแดง |
ด้านหน้า จำลองเป็นรูปหลวงพ่อเดชครึ่งองค์ห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฏิ ขอบเหรียญมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "พระครูสุนทรธรรมวงศ์"
ด้านหลัง เป็นอักขระยันต์อ่านว่า "อะ อุ มะ" ใต้อักขระยันต์มีอักขระเลขไทยเขียนว่า "๒๔๙๕" ซึ่งคือปีที่สร้างเหรียญ
โดย : สารานุกรมพระเกจิแห่งแดนสยาม
บทความที่เกี่ยวข้อง
- ประวัติและวัตถุมงคลของหลวงพ่อทัย (พระครูวชิรคุณารักษ์) วัดไทรย้อย เพชรบุรี ศิษย์หลวงพ่อนาค วัดหัวหิน
***-[เป็นกำลังใจและสนับสนุนให้เราเขียนบทความดีๆ ด้วยการกดดูโฆษณาด้านล่างนะคะ]-***
ไม่มีความคิดเห็น