โฆษณาแนวนอน728*90

บทความใหม่

ประวัติและวัตถุมงคลหลวงพ่อมา วัดทุ่งน้อย จังหวัดนครปฐม

ภาพถ่ายหลวงพ่อมา วัดทุ่งน้อย นครปฐม
หลวงพ่อมา วัดทุ่งน้อย นครปฐม

         หลวงพ่อมา วัดทุ่งน้อย หรือ พระอธิการมา อดีตเจ้าอาวาสวัดทุ่งน้อย ตำบลเเหลมบัว อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม ท่านถือเป็นพระเกจิชื่อดังอีกรูปหนึ่งของจังหวัดนครปฐม

         หลวงพ่อมา ท่านมีนามเดิมว่า มา ปรางทิพย์ พื้นเพท่านเป็นชาวบ้านทุ่งน้อย ตำบลเเหลมบัว อำเภอ จังหวัดนครปฐม เกิดเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๒๔ โดยไม่ปรากฏชื่อโยมบิดาและโยมมารดาของท่าน

         หลวงพ่อมา ขณะที่ยังไม่บวชนั้น ท่านเป็นแกนนำในการก่อสร้างวัด ไม่วาจะเป็นกุฏิ ตลอดจนสร้างพระอุโปสถกลางนํ้าที่เรียกว่า อุทกะอุโปสถ ได้ทำการอุทิศแรงกายแรงใจและฝีมือในเชิงช่างไม้ ร่วมกับชาวบ้านทุ่งน้อยและพื้นที่ใกล้เคียงสร้างวัดขึ้น

         ปี พ.ศ. ๒๔๔๕ หลังจากสร้างโบสถเสร็จ หลวงพ่อมาซึ่งขณะนั้นท่านมีอายุได้ ๒๑ ปี ท่านจึงได้เข้าอุปสมบทเป็นพระภิกษุ ณ พัทธสีมาวัดทุ่งน้อย ตำบลเเหลมบัว อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม ได้รับฉายาว่า "ปทุมรตฺน" โดยมี

         พระอธิการทอง อินทสุวณฺโณ วัดละมุด เป็นพระอุปัชฌาย์ 

         พระครูปุริมานุรักษ์ (นวม ธมฺมสราจาโร) วัดธรรมศาลา เป็นพระกรรมวาจาจารย์

         พระสมุห์เเสง อินทฺโชติ วัดใหม่สุคนธาราม เป็นพระอนุสาวนาจารย์

         หลังจากอุปสมบทแล้ว ท่านได้อยู่จำพรรษาที่วัดทุ่งน้อยเรื่อยมา เพื่อศึกษาพระธรรมวินัยบทสวดมนต์ และเดินทางไปศึกษาวิชาอาคมหลวงพ่อทอง จนสำเร็จวิชามากมาย

         นอกจากนี้ท่านยังได้เดินทางไปร่ำเรียนวิชากับพระอาจารย์ชื่อดังของจังหวัดนครปฐมอีกด้วย ท่านจึงเป็นศิษย์ร่วมสำนักเดียวกันกับ  หลวงพ่อเบี้ยว (ประทุมรตฺน) วัดใหม่สุคนธาราม หลวงพ่อน้อย (อินทสโร) วัดธรรมศาลา หลวงพ่อหิ่ม (อินทโชโต) วัดบางพระ และหลวงพ่อย้อย (อินทโร) วัดใหม่สุคนธาราม

         ปี พ.ศ. ๒๔๔๗ หลังจากที่หลวงพ่อมาบวชได้ ๓ พรรษา ชาวบ้านจึงทำการนิมนต์หลวงพ่อมา ไปเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในการย้ายวัดและปกครองสงฆ์ขึ้นเป็นเจ้าอาวาสรูปแรกของวัดอีกด้วย

         วัดทุ่งน้อย เป็นวัดราษฎร์ สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย ตั้งอยู่ในตำบลแหลมบัว อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม

         วัดทุ่งน้อย เริ่มก่อสร้างขึ้นในที่ดินรกร้างว่างเปล่า จำนวน ๒๓ ไร่ เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๔๗ โดยย้ายมาจากวัดคอกช้าง ซึ่งอยู่ห่างกันประมาณ ๑ กิโลเมตร และเป็นวัดที่สร้างมาในสมัยใดไม่ปรากฏหลักฐานชัดเจน วัดได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ ๒๙ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๐

         ภา่ยในวัดมีอาคารเสนาสนะที่สำคัญ ได้แก่ อุโบสถยังไม่มีการปรากฏปีศักราชที่สร้างแน่ชัด แต่เป็นการสร้างด้วยศิลปะรัตนโกสินทร์แบบประยุกต์ มีการตกแต่งประตูและหน้าบันด้วยการลงรักปิดทอง หลังคามุงด้วยกระเบื้องเคลือบสีแดง

         วิหารหลวงพ่อดำ ภายในประดิษฐานรูปปั้นของอดีตเจ้าอาวาสวัดทุ่งน้อย คือ หลวงพ่อมา ปทุมฺรตฺน มีข้อความจารึกที่ฐานว่า "เมื่อวันที่ ๑๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๑๖" และมีรูปปั้นของหลวงพ่อเจ้าพระคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พฺรหฺมรํสี)

         โบราณวัตถุที่สำคัญ คือ พระพุทธรูปศิลาแลง ประทับนั่งขัดสมาธิราบ ปางมารวิชัย หน้าตัก ๓ ศอก สมัยอยุธยาตอนปลาย ลงรักปิดทองทั้งองค์ มีพระนามว่า พระพุทธศิลามนต์ แต่ชาวบ้านทั่วไปนิยมเรียกว่า หลวงพ่อดำ องค์พระประดิษฐานอยู่ในวิหาร

         พระพุทธรูปศิลาแลง ประทับนั่งขัดสมาธิราบปางสมาธิ หน้าตัก ๓ ศอก สมัยอยุธยาตอนปลาย ลงชาดทั้งองค์ มีพระนามว่า หลวงพ่อทอง ประดิษฐานอยู่ในอุโบสถ วัดมีรายนามเจ้าอาวาสปกครองวัดดังนี้

         ๑. พระอธิการมา (ปทุมฺรตฺน) พ.ศ.๒๔๔๙ - ๒๕๐๖

         ๒. พระอธิการสุวิทย์ (บุญช่วย) เกสโร พ.ศ.๒๕๑๓ - ๒๕๒๒

         ๓. พระครูจนฺเขมคุณ (เกษม แซ่เฮง) พ.ศ.๒๕๒๒ - ปัจจุบัน

         หลังจากที่หลวงพ่อมาได้ขึ้นเป็นเจ้าอาวาส ท่านก็ได้พัฒนาวัดอย่างสุดความสามารถทั้งการสร้างเสนาสนะและถาวรวัตถุต่างๆ จนวัดเจริญรุ่งเรืองขึ้นตามลำดับ

         ท่านได้อันเชิญหลวงพ่อดำ และหลวงพ่อทอง พระพุทธรูปสมัยอยุธยามาจากอุโบสถเก่า ตำบลวัดละมุด อำเภอนครชัยศรี จังวหัดนครปฐม ซึ่งเป็นวัดร้างอยู่ห่างจากวัดทุ่งน้อยไปประมาณ ๔ กิโลเมตร โดยท่านได้อัญเชิญมาทางเรือมาขึ้นที่วัดทุ่งน้อย 

         ปี พ.ศ. ๒๔๘๐ ท่านได้ดำเนินการสร้างพระพุทธรูปปูนปั้นปางไสยาสน์ ศิลปะสุโขทัย ประทับหงายพระองค์ พระหัตถ์ทั้งสองเหยียดประสานกันบนพระนาภี (สะดือ) 

         องค์พระมีขนาดยาว ๕.๗๐ เมตร กว้าง ๑.๕๐ เมตร ซึ่งถือว่าใหญ่ที่สุดในโลก โดยมีหลวงพ่อช้าง วัดทอง คลองบางกอกน้อย ธนบุรี เป็นช่างปั้น และตั้งพระนามว่า หลวงพ่อสนอง (บูรณะใหม่ในเมื่อ ปี พ.ศ. ๒๕๔๓)

         ต่อมาหลวงพ่อมา ท่านได้เป็นพระอุปัชฌาย์ ท่านจึงได้อุปสมบทกุลบุตรของชาวบ้านนับไม่ถ้วน ลูกศิษย์ของท่านได้เเก่ พระครูสุพจน์วราภรณ์ วัดละมุด ,พระอธิการเกษม หลวงปู่อั๊บ เขมจาโร วัดท้องไทร ,พระครูมงคลนนทเขต วัดไทรใหญ่ นนทบุรี เป็นต้น

         ในสมัยที่ท่านยังมีชิวิตอยู่นั้น ท่านได้สร้างเหรียญรูปว่าว ตะกรุดพิศมร ผ้าประเจียด เเละท่านยังเป็นอาจารย์สักยันต์ตรีนิสิงเห ยันต์หมวกเหล็ก ที่มีชื่อเสียงของจังวหัดนครปฐมอีกด้วย

         หลวงพ่อมา ปกครองวัดเรื่อยมาจนถึงแก่มรณภาพลงด้วยโรคชราเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๖ นับรวมสิริอายุได้ ๘๒ ปี ๖๑ พรรษา.

วัตถุมงคลของหลวงพ่อมา วัดทุ่งน้อย

         เหรียญหลวงพ่อมา วัดทุ่งน้อย รุ่นแรก

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ.๒๕๐๕ เพื่อแจกให้กับผู้ที่บริจาคทรัพย์ให้กับทางวัด ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มรูปดอกจิกหรือว่าวแบบมีหูในตัว มีการสร้างด้วยเนื้อทองแดงเพียงเท่านั้น จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

เหรียญหลวงพ่อมา วัดทุ่งน้อย นครปฐม รุ่นแรก 2505 ทองแดง
เหรียญหลวงพ่อมา วัดทุ่งน้อย นครปฐม รุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๕๐๕ เนื้อทองแดง

เหรียญหลวงพ่อมา วัดทุ่งน้อย นครปฐม รุ่นแรก 2505 ทองแดง
เหรียญหลวงพ่อมา วัดทุ่งน้อย นครปฐม รุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๕๐๕ เนื้อทองแดง

         ด้านหน้า จำลองเป็นรูปหลวงพ่อมาครึ่งองค์ห่มจีวรลดไหล่ พาดผ้าสังฆาฏิ ใต้รูปหลวงพ่อมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "หลวงพ่อมา วัดทุ่งน้อย" 

         ด้านหลัง มีอักขระยันต์มงกุฏพระพุทธเจ้า ใต้อักขระยันต์มีอักขระเลขไทยเขียนว่า "๒๕๐๕" 

         เหรียญหลวงพ่อมา วัดทุ่งน้อย รุ่นสอง

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ.๒๕๑๕ ในสมัยที่หลวงพ่อบุญช่วยเป็นเจ้าอาวาส เพื่อแจกให้กับผู้บริจาคทรัพย์สร้างรูปหล่อหลวงพ่อมาเท่าองค์จริง ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มรูปดอกจิกแบบมีหูในตัว มีการสร้างด้วยเนื้ออัลปาก้า และเนื้อทองแดงเพียงเท่านั้น จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

เหรียญหลวงพ่อมา วัดทุ่งน้อย นครปฐม รุ่น 2 2515 อัลปาก้า
เหรียญหลวงพ่อมา วัดทุ่งน้อย นครปฐม รุ่น ๒ ปี พ.ศ. ๒๕๑๕ เนื้ออัลปาก้า

         ด้านหน้า จำลองเป็นรูปหลวงพ่อมาครึ่งองค์ห่มจีวรลดไหล่ พาดผ้าสังฆาฏิ ใต้รูปหลวงพ่อมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "หลวงพ่อมา วัดทุ่งน้อย" 

         ด้านหลัง มีอักขระยันต์มงกุฏพระพุทธเจ้า ใต้อักขระยันต์มีอักขระเลขไทยเขียนว่า "๒๕๐๕ ๒" 


โดย : สารานุกรมพระเกจิแห่งแดนสยาม

บทความที่เกี่ยวข้อง

***-[เป็นกำลังใจและสนับสนุน​ให้เราเขียนบทความดีๆ ด้วยการกดดูโฆษณาด้านล่างนะคะ]-***

ไม่มีความคิดเห็น