ประวัติและวัตถุมงคลหลวงพ่ออุปัชฌาย์หลง วัดค้างคาว หรือ วัดธรรมมิการาม ลพบุรี
พระอุปัชฌาย์หลง วัดธรรมมิการาม ลพบุรี |
หลวงปู่หลง วัดค้างคาว หรือ พระอุปัชฌาย์หลง วัดธรรมมิการาม ตำบลบางขาม อำเภอบ้านหมี่ จังหวัดลพบุรี
พระอุปัชฌาย์หลง ตามประวัติของท่านนั้น ไม่มีบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรเท่าใดนัก เนื่องจากขาดการจดบันทึกไว้ชัดเจน เพราะคนสมัยนั้นไม่นิยมการจดบันทึก ทราบเพียงจากผู้เฒ่าเก่าแก่หรือลูกศิษย์เล่าสืบต่อกันมาเท่านั้น
หลวงปู่หลง ท่านเป็นพระเถระผู้ทรงวิทยาคมสูง เป็นพระที่มีวาจาศักดิ์สิทธิ์ ด้วยเหตุนี้เองในสมัยนั้นชาวพุทธที่เห็นว่าสัตว์เลี้ยง ไม่ว่าวัวหรือหมู ที่ลักษณะประหลาด ก็มักจะนำไปถวายวัดค้างคาว
เพราะเชื่อว่าบารมีหลวงปู่หลง จะทำให้สัตว์เหล่านี้ ปลอดภัยนี้เอง ในยุคนั้นก็จะมีวัววัด ที่หลวงปู่หลงผูกผ้าเหลืองไว้เป็นสัญญลักษณ์เดินเลมหญ้าอยู่ในบริเวณวัดเป็นจำนวนมาก
วันหนึ่งก็ได้มีชาวบ้านอยู่กลุ่มหนึ่ง จับวัวของวัดไปฆ่ากินกันในหมู่ของตนราว ๖-๗ หลังคาเรือน เมื่อหลวงปู่ทราบเรื่อง ท่านก็กล่าวเปรยๆว่า "มันทำกันอย่างไรก็ได้อย่างนั้นแหละ"
ไม่กี่วันหลังจากนั้น ผู้ที่ลักวัวไปฆ่ากินทั้งกลุ่ม ก็มีเหตุบาดเจ็บ ล้มตายกัน เป็นใบไม้ล่วงทั้ง ๖-๗ หลังคาเรือน ที่เหลืออยู่บ้าง ก็ต้องโยกย้ายไปจากหมู่บ้านนั้น ที่นั้นจึงเป็นที่รกร้างมาเป็นระยะเวลาหนึ่ง
และเป็นที่ทราบกันดีของชาวบ้านในลุ่มน้ำนั้นเป็นอย่างดีว่า ไม่ว่าค้างคาวแม่ไก่ หรือปลาที่บริเวณหน้าวัด (ปลาหนีมาอยู่หน้าวัด) ก็ไม่มีใครกล้าแตะต้องเลย ด้วยเกรงบารมีของหลวงปู่
พระอุปัชฌาย์หลง วัดธรรมมิการาม ลพบุรี |
วัดธรรมิการาม หรือ วัดค้างคาว เป็นวัดราษฏร์ สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย วัดตั้งอยู่ริมแม่น้ำบางขามฝั่งตะวันตก ตำบลบางขาม อำเภอบ้านหมี่ จังหวัดลพบุรี สร้างในสมัยกรุงศรีอยุธยา
สาเหตุที่ชื่อวัดค้างคาวเพราะว่าเดิมมีค้างคาวอาศัยอยู่มาก(ปัจจุบันไม่มีแล้ว) และได้เปลี่ยนชื่อใหม่ว่า วัดธรรมิการาม วัดนี้เป็นวัดเก่าแก่อยู่ริมฝั่งคลองในหมู่ไม้ร่มรื่น และในปัจจุบันยังเป็นสถานที่ฝึกและปฏิบัติอบรมพระพุทธศาสนาแก่นักเรียนและนักศึกษา
ภายในวัดมีพระอุโบสถหลังเก่าที่มีประวัติการสร้างมาตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ดังปรากฏให้เห็นภายในพระอุโบสถ นั่นคือภาพจิตรกรรมฝาผนังที่มีความงดงามยิ่ง สิ่งที่น่าสนใจของวัดนี้ คือ มีภาพเขียนที่ผนังโบสถ์ ซึ่งเป็นภาพเขียนเรื่องพุทธประวัติทั้ง ๔ ด้าน
วิหารมีภาพวาดจิตรกรรมบนฝาผนังเช่นกัน เรื่องทศชาติ โดยมีชื่อแต่ละพระชาติกำกับคือ (เตมียชาดก), (มหาชนกชาดก), (สุวรรณสามชาดก), (เนมิราชชาดก), (มโหสถชาดก), (ภูมริทัตชาดก), (จันทกุมารชาดก), (พระพรหมนารทชาดก), (พระวิธูรชาดก), และ (พระเวสสันดรชาดก)
ที่ผนังด้านตรงข้ามกับพระประธาน มีข้อความเขียนไว้ว่า เขียนเดือน ๑๑ ขึ้น ๘ ค่ำ ปีกุน สำเร็จแล้วปีชวด พ.ศ.๒๔๖๗ ราคา ๙๔ บาท (ช่างเพง) เป็นผู้เขียนไว้ในพระพุทธศาสนา
หลวงพ่อหลง วัดค้างคาว ลพบุรี |
หลังจากที่หลวงปู่หลงได้ขึ้นเป็นเจ้าอาวาส ท่านได้พัฒนาวัดอย่างสุดความสามารถทั้งการสร้างเสนาสนะและถาวรวัตถุต่างๆ จนวัดเจริญรุ่งเรืองขึ้นตามลำดับ
พระอุปัชฌาย์หลง ท่านเป็นพระยุคเดียวกับพระอุปัชฌาย์ก๋ง วัดเขาสมอคอน หลวงพ่อแช่ม วัดบ้านดาบ และหลวงปู่ศุข วัดปากคลองมะขามเฒ่า ชัยนาท เสียดายที่หลวงพ่อมีอายุยังไม่ถึง ๖๐ ปี ท่านก็มามรณะภาพลงเสียก่อน
หลวงปู่หลง ปกครองวัดเรื่อยมาจนถึงแก่มรณะภาพลงเมื่อเดือน ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๖๔ อันเป็นเหตุให้เป็นงานประจำปีของวัดธรรมมิการาม(ค้างคาว) วันสารท มีการแข่งเรือที่มโหฬาร และสมัยต่อมามีการทำบุญครบรอบวันมรณะภาพท่าน ได้นำรูปหล่อของท่านมาสรงน้ำทำบุญ เป็นประเพณีมาจนกระทั่งทุกวันนี้
วัตถุมงคลของหลวงพ่อหลง วัดค้างคาว
เหรียญหลวงพ่อหลง วัดค้าวคาว รุ่นแรก
สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๙๖ เพื่อแจกให้กับผู้ที่บริจาคทรัพย์ให้กับทางวัด ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มรูปดอกจิกแบบมีหูในตัว มีการจัดสร้างด้วยเนื้อทองแดงเพียงชนิดเดียวเท่านั้น จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้
เหรียญหลวงพ่อหลง วัดค้างคาว ลพบุรี รุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๔๙๕ เนื้อทองแดงกระไหล่ทอง |
ด้านหน้า เป็นรูปจำลองของหลวงพ่อหลงนั่งสมาธิเต็มองค์ องค์หลวงพ่อห่มจีวรลดไหล่ พาดผ้าสังฆาฏิรัดประคต ใต้รูปหลวงพ่อมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "หลวงพ่ออุปัชฌาย์หลง อินธสระ"
ด้านหลัง มีอักขระยันต์
โดย : สารานุกรมพระเกจิแห่งแดนสยาม
บทความที่เกี่ยวข้อง
ไม่มีความคิดเห็น