โฆษณาแนวนอน728*90

บทความใหม่

ประวัติและวัตถุมงคลหลวงพ่อเข็ม วัดข่อย เจ้าของเหรียญหายากเมืองอ่างทอง

ภาพถ่ายหลวงพ่อเข็ม วัดข่อย อ่างทอง
หลวงพ่อเข็ม วัดข่อย อ่างทอง

         หลวงพ่อเข็ม วัดข่อย หรือ พระครูสุกิจวิชาน(เข็ม) อดีตเจ้าอาวาสวัดข่อย ตำบลโพธิ์รังนก อำเภอโพธิ์ทอง จังหวัดอ่างทอง เจ้าของเหรียญเก่าหายากของเมืองอ่างทอง

          หลวงพ่อเข็ม นั้นประวัติของท่านก็ไม่ได้มีการบันทึกไว้ มีแต่คำบอกเล่าสืบต่อกันมาว่า ท่านเป็นพระเกจิอาจารย์ผู้เข้มขลังในวิทยาคม และมีอาวุโสมากกว่าหลวงพ่อพัก วัดโบสถ์ หลวงพ่อนุ่ม วัดนางใน หลวงพ่อคำ วัดโพธิ์ปล้ำ หรือแม้กระทั่ง หลวงพ่อซำ วัดตลาดใหม่ 

         ว่ากันว่า หลวงพ่อเข็มเป็นที่เคารพนับถือของพระเกจิ อาจารย์สายเมืองอ่างทองมาก โดยเฉพาะเมืองวิเศษชัยชาญ 

          หลวงพ่อเข็ม ท่านเกิดในปีชวด ตรงกับปี พ.ศ. ๒๓๙๕ โดยไม่ปรากฏหลักฐานว่าเกิดที่ใดใครเป็นโยมบิดาและโยมมารดาของท่าน

        ปี พ.ศ. ๒๔๑๖  หลวงพ่อเข็ม ท่านมีอายุได้ ๒๑ ปี จึงได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุ โดยไม่ปรากฏสถานที่บวช และไม่ปรากฏชื่อพระอุปัชฌาย์ของท่าน

         ต่อมาตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดข่อยได้ว่างลง ทางคณะสงฆ์จึงพร้อมใจกันนิมนต์ หลวงพ่อเข็มขึ้นเป็นเจ้าอาวาสทดแทนตำแหน่งที่ว่างลง

         วัดข่อย เป็นวัดราษฎร์ สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ตั้งอยู่ที่ตำบลโพธิ์รังนก อำเภอโพธิ์ทอง จังหวัดอ่างทอง

         วัดข่อย ตั้งวัดเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๐๔ บริเวณที่ตั้งวัดแต่เดิมนั้นมีต้นข่อยมากมาย ได้มีแม่ค้าเป็นชาวมอญมาจับจองที่ดินทำการค้าขายจนร่ำรวยและได้จัดสร้างวัดขึ้น และได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อวันที่ ๒๖ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๓๕ เขตวิสุงคามสีมากว้าง ๑๘ เมตร ยาว ๓๐ เมตร

         ภายในวัดมีศาลาการเปรียญ สร้างด้วยไม้ทรงไทยโบราณ ส่วนมากสร้างจากไม้สัก เป็นเสาเหลี่ยม ๘ เหลี่ยม มณฑป วิหาร เจดีย์ อุโบสถ กุฏิ หอสวดมนต์ บริเวณวัดยังมีวังปลา

         โบราณวัตถุภายในวัดได้แก่ ตะเกียงจากกรุงวอชิงตัน เป็นตะเกียงโบราณ นาฬิกาโบราณจากปารีส และตู้พระไตรปิฎกทำด้วยไม้สักจากประเทศจีน

         ซึ่งมีในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เรือซึ่งเป็นพาหนะที่ใช้ในการเดินทางมีแทบทุกชนิดได้แก่ เรือบด เรือแจว เรือสำปั้น และเรือประทุน เปลกล่อมลูกในสมัยโบราณ 

         มรดกชาวนาซึ่งได้รวบรวมเครื่องมือ เครื่องใช้ อุปกรณ์ในการทำนา ได้แก่ เกวียน ล้อ คันไถ อุปกรณ์เครื่องมือการจับสัตว์น้ำ ไซดักปลา เป็นต้น 

         หลังจากที่ หลวงพ่อเข็มได้ขึ้นเป็นเจ้าอาวาส ท่านได้พัฒนาวัดอย่างสุดความสามารถ ทั้งการสร้างเสลาสนะและถาวรวัตถุต่างๆ จนวัดเจริญรุ่งเรืองขึ้นตามลำดับ

         ด้วยคุณงามความดีที่ท่านได้พํฒนาวัดจนเจริญรุ่งเรืองขึ้นเป็นอันมาก ท่านจึงได้รับการแต่งตั้งให้เป็นพระครูชั้นสัญญาบัตรที่พระครูสุกิจวิชาน ดำรงตำแหน่งเจ้าคณะแขวงวิเศษไชยชาญ

         หลวงพ่อเข็ม ปกครองวัดเรื่อยมาจนถึงแก่มรณภาพลงด้วยโรคชราเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๗๗ นับรวมสิริอายุได้ ๘๒ ปี ๖๑ พรรษา.

วัตถุมงคลของหลวงพ่อเข็ม วัดข่อย

         เหรียญหลวงพ่อเข็ม วัดข่อย รุ่นแรก

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๗๗ เพื่อแจกในงานศพของหลวงพ่อโดยทางวัดได้นิมนต์พระเกจิคณาจารย์แห่งเมืองวิเศษฯในสมัยนั้นมาร่วมปลุกเสกในพิธี อาทิเช่น หลวงพ่อพัก วัดโบสถ์ หลวงพ่อนุ่ม วัดนางใน หลวงพ่อคำ วัดโพธิ์ปล้ำ ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มข้างเลื่อยรูปเสมาแบบมีหูในตัว มีการสร้างด้วยเนื้อเงิน และเนื้อทองแดงเพียงเท่านั้น จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

เหรียญหลวงพ่อเข็ม วัดข่อย อ่างทอง รุ่นแรก 2477 เงิน
เหรียญหลวงพ่อเข็ม วัดข่อย อ่างทอง รุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๔๗๗ เนื้อเงิน ของคุณมิว ปากน้ำ

เหรียญหลวงพ่อเข็ม วัดข่อย อ่างทอง รุ่นแรก 2477 ทองแดงกระไหล่ทอง
เหรียญหลวงพ่อเข็ม วัดข่อย อ่างทอง รุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๔๗๗ เนื้อทองแดงกระไหล่ทอง

         ด้านหน้า จำลองเป็นรูปหลวงพ่อเข็มนั่งมารวิชัยเต็มองค์ องค์หลวงพ่อห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฏิ ใต้รูปหลวงพ่อมีรูปหนู​ คือ​ ปี​ ชวด​ อันเป็น​ปีเกิด​ของท่าน ที่ขอบเหรียญมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "พระครูสุกิจวิชาน อายุ ๘๒ ปี พรรษา ๖๑ พรรษา" 

         ด้านหลัง มีอักขระยันต์ตรีนิสิงเห มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "ที่ระฤกในงานศพ พ.ศ. ๒๔๗๗" 

         เหรียญหลวงพ่อเข็ม วัดข่อย รุ่นสอง

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๐๕ เพื่อแจกให้กับผู้ที่บริจาคทรัพย์ให้กับทางวัด ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มรูปเสมาแบบมีหูในตัว มีการสร้างด้วยเนื้อทองแดงเพียงชนิดเดียวเท่านั้น จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

เหรียญหลวงพ่อเข็ม วัดข่อย อ่างทอง รุ่น 2 2505 ทองแดงกระไหล่ทอง
เหรียญหลวงพ่อเข็ม วัดข่อย อ่างทอง รุ่น ๒ ปี พ.ศ. ๒๕๐๕ เนื้อทองแดงกระไหล่ทอง

         ด้านหน้า จำลองเป็นรูปหลวงพ่อเข็มนั่งมารวิชัยเต็มองค์ องค์หลวงพ่อห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฏิ ใต้รูปหลวงพ่อมีรูปหนู​ คือ​ ปี​ ชวด​ อันเป็น​ปีเกิด​ของท่าน ที่ขอบเหรียญมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "พระครูสุกิจวิชาน อายุ ๘๒ ปี พรรษา ๖๑ พรรษา" 

         ด้านหลัง มีอักขระยันต์ตรีนิสิงเห มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "ที่ระลึก รุ่น ๒ พ.ศ. ๒๕๐๕" 



โดย : สารานุกรมพระเกจิแห่งแดนสยาม

บทความที่เกี่ยวข้อง

ไม่มีความคิดเห็น