ประวัติและวัตถุมงคลหลวงพ่อเชย อินทโชโต (สินธุ์สังข์) วัดบางกระสอบ สมุทรปราการ
หลวงพ่อเชย อินทโชโต วัดบางกระสอบ สมุทรปราการ |
หลวงพ่อเชย อินทโชโต วัดบางกระสอบ หรือ พระอธิการเชย (อินทโชโต) อดีตเจ้าอาวาสวัดบางกระสอบ ตำบลบางกระสอบ อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ ชาวบ้านมักเรียกท่านว่า หลวงพ่อเชย2
หลวงพ่อเชย อินทโชโต ท่านมีนามเดิมว่า เชย สินธุ์สังข์ พื้นเพเป็นชาวบ้านตําบลบางน้ําผึ้ง อําเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ เกิดเมื่อวันพุธ เดือน ๑๐ ปีวอก พ.ศ. ๒๕๓๙ โยมบิดาชื่อนายทัต สินธุ์สังข์ โยมมารดาชื่อนางภู สินธุ์สังข์ มีพี่น้องรวมกัน ๘ คนคือ
๑. น.ส. พันธ์ สินธุ์สังข์
๒. หลวงพ่อดำ สินธุ์สังข์
๓. นายสุข สินธุ์สังข์
๔. นางเพียร สินธุ์สังข์
๕. นายชม สินธุ์สังข์
๖. หลวงพ่อเชย สินธุ์สังข์
๗. นายฉิน สินธุ์สังข์
๘. นายเชื่อม สินธุ์สังข์
การศึกษาสมัยเยาว์วัย โยมบิดาเป็นผู้สอนพออ่านออกเขียนได้ อายุประมาณ ๑๖ ปี โยมมารดาไปฝากผู้รู้จักคุ้นเคยเป็นเด็กในวังเทเวศ ได้รับการฝึกสอนดนตรีจนมีความสามารถออกวงได้
มีความสามารถเล่นซออู้และซอด้วง จนอายุครบเกณฑ์ทหารจึงออกจากวัง เพราะถูกเกณฑ์เป็นทหารเรือประจําการอยู่ที่พระประแดง ๒ ปี
ปี พ.ศ. ๒๔๖๓ หลวงพ่อเชย ท่านพ้นจากราชการทหาร จึงได้อุปสมบท ณ พัทธสีมาวัดบางกระสอบ ตำบลบางกระสอบ อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ โดยมี
เจ้าคุณอุดมวิจารณ์ วัดทรงธรรม เป็นพระอุปัชฌาย์
หลวงพ่อปลั่ง ธมฺสร วัดบางกระสอบ เป็นพระกรรมวาจาจารย์
หลวงพ่อเชย ดิสฺสร วัดบางกระสอบ เป็นพระอนุสาวนาจารย์
ซึ่งต่อมาหลวงพ่อปลั่ง ธมฺสร ย้ายไปเป็นเจ้าอาวาสปกครองวัดหนามแดง อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ
หลังจากอุปสมบทแล้ว ท่านได้อยู่จำพรรษาที่วัดบางกระสอบเรื่อยมาเพื่อศึกษาพระธรรมวินัยและคาถาอาคมกับหลวงพ่อเชยและหลวงพ่อปลั่งจนมีความรู้มากมาย
หลวงพ่อเชย (ติสสโร) วัดบางกระสอบ สมุทรปราการ พระอาจารย์ของหลวงพ่อเชย อินทโชโต |
ปี พ.ศ. ๒๔๗๓ หลังจากที่หลวงพ่อเชยอยู่ในสมณเพศ ๑๐ พรรษา จึงลาสิกขาบทเพื่อช่วยมารดาประกอบอาชีพ เพราะบรรดาพี่น้องต่างมีครอบครัว และแยกย้ายกันไปประกอบอาชีพ
หลังจากลาสิกขาบท ได้ประมาณ ๑ ปี ก็เริ่มป่วยกระเสาะกระแสะ อาการของโรคไม่ปรากฏชัด มารดาและญาติจึงช่วยกันบํารุงรักษาทั้งยาแผนโบราณ และทางไสยศาสตร์ แต่อาการมีทรงกับทรุดเป็นส่วนมาก จน กระทั่งสลบไป
เมื่อฟื้นจากสลบและมีสติแจ่มใส จึงให้ญาติจุด ธูปเทียนให้และอธิษฐานในใจว่า "การลาสิกขาบทครั้งนี้เพื่อจะได้ ช่วยมารดาประกอบอาชีพ แต่เป็นการสร้างความลําบากให้มารดาและญาติต้องพลอยได้รับความกังวล เดือดร้อนเพราะการป่วยไข้ ขอให้อาการป่วยที่เป็นอยู่นี้จงหายเป็นปกติ เมื่อหายแล้วจะอุปสมบทและขอสิ้นชีวิตในสมณเพศ"
ตั้งแต่นั้นมาการป่วยจึงทุเลา และหายเป็นปกติ ระยะเวลาระหว่างการลาสิกขาบทออกมาเป็น คฤหัสประมาณ ๕ ปี
ปี พ.ศ. ๒๔๗๗ หลวงพ่อเชยท่านหายจากอาการป่วยกลับมาแข็งแรงดังเดิมแล้ว จึงอุปสมบทใหม่อีกครั้งหนึ่ง ณ พัทธสีมาวัดบางกระสอบ ตำบลบางกระสอบ อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ เมื่อวันที่ ๒๒ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๗๗ ได้รับฉายาว่า "อินทโชโต" โดยมี
พระอุปัชฌาย์ฉ่ำ คงคสุวณโณ วัดท้องคุ้ง เป็นพระอุปัชฌาย์
หลวงพ่อดิษ ดิสสโร วัดป่าเกด เป็นพระกรรมวาจาจารย์
พระอาจารย์วอน บุญญสิริ วัดสําโรง เป็นพระอนุสาวนาจารย์
หลังจากอุปสมบทแล้ว ท่านได้อยู่จำพรรษาที่วัดบางกระสอบเรื่อยมา ซึ่งในช่วงเวลานั้นมีหลวงพ่อดำซึ่งเป็นพี่ชายของท่านดํารงตําแหน่งเจ้าอาวาส ต่อจากหลวงพ่อเชย ดิสสร
ปี พ.ศ. ๒๔๘๓ หลวงพ่อดํา ปัญญาย เจ้าอาวาส ได้มรณภาพเมื่อวันที่ ๒๖ ตุลาคม ๒๔๘๓ ชาวบ้านและคณะสงฆ์จึงพร้อมใจกันนิมนต์หลวงพ่อเชยขึ้นเป็นเจ้าอาวาสทดแทนตำแหน่งที่ว่างลง
วัดบางกระสอบ เป็นวัดราษฎร์สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย ตั้งอยู่ในหมู่ที่ ๑๐ บ้านบางกระสอบ ตำบลบางกระสอบ อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ
วัดสร้างขึ้นเมื่อประมาณปี พ.ศ. ๒๓๘๗ ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว นายดวงและนางทรัพย์ สองสามีภรรยา ได้บริจาคทรัพย์สินสร้างวัดขึ้น
เพราะวันหนึ่งได้ไปขุดค้นที่สะพานท้ายวัด จอบได้ฟันกระทบปากโอ่ง และขุดลงไปก็พบเงินพดด้วงจำนวนมาก ประมาณ ๔๐–๕๐ ปีบ โอ่งนี้มีอายุกว่า ๗๐๐ ปี จึงนำเงินที่ได้ไปทำบุญสร้างวัด
เมื่อสร้างวัดเสร็จจึงได้ตั้งชื่อวัดว่า วัดใหม่ตาดวงยายทรัพย์ และต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นทางการว่า "วัดบางกระสอบ" ตามชื่อของตำบล
ภายในวัดมีโบราณวัตถุอื่นคือ พระพุทธรูปประธานปางมารวิชัยในวิหาร (พระรัตนโภคะ) เป็นปูนปั้นติดที่เคลื่อนย้ายไม่ได้ อายุราวปี พ.ศ. ๒๐๐๐ ร่วมสมัยโคลงกำสรวลสมุทร ในอดีตวัดบางกระสอบเป็นชุมทางคมนาคมยุคต้นอยุธยา อยู่ฝั่งตรงข้าม เยื้องคลองสำโรง วัดมีรายนามเจ้าอาวาสดังนี้
๑. หลวงพ่อปาน พ.ศ. ๒๓๘๗ - ๒๔๔๓
๒. พระอธิการเชย ติสสโร พ.ศ. ๒๔๔๔ - ๒๔๗๕
๓. พระอธิการดำ ปญฺญาย พ.ศ. ๒๔๗๖ - ๒๔๘๓
๔. พระอธิการเชย อินทโชโต พ.ศ. ๒๔๘๔ - ๒๕๑๕
๕. พระอธิการจำรูญ นันทิโย พ.ศ. ๒๕๑๖ - ปัจจุบัน
หลังจากที่หลวงพ่อเชยได้ขึ้นเป็นเจ้าอาวาส ท่านได้พัฒนาวัดอย่างสุดความสามารถทั้งการสร้างเสนาสนะต่างๆ และถาวรวัตถุต่างๆภายในวัด จนวัดเจริญรุ่งเรืองขึ้นตามลำดับ
ท่านได้พัฒนาวัดและปกครองพระภิกษุสงฆ์ สามเณรและศิษย์ สร้างถาวรวัตถุ ปฏิสังขรณ์เสนาสนะให้เจริญรุ่งเรือง และเป็นระเบียบเรียบร้อย จึงมีคนนับถือศรัทธาเคารพเลื่อมใสเป็นอันมาก
รวมทั้งท่านยังใส่ใจในการศึกษาของบุตร-ธิดาชาวบ้าน โดยการขยายที่เรียนเพื่อให้ได้รับนักเรียนเพิ่มขึ้นหลังจากสงครามโลกครั้งที่ ๒ สงบลง
โดยให้ใช้ศาลาหอฉัน และใต้ถุนกุฏิ เป็นที่เรียนหนังสือของเด็กนักเรียนประชาบาล (ที่ให้เรียนใต้ถุน กุฏิ เพราะถาวรวัตถุ เช่น ศาลาและกุฏิมีน้อย ไม่เหมือนปัจจุบัน)
ปี พ.ศ. ๒๔๘๙ ท่านเป็นประธานชักชวนบรรดาผู้มีกุศลศรัทธาหล่อหลวงพ่อพุทธโสธรจําลอง และจัดให้มีการสมโภชในวันขึ้น ๑๕ ค่ํา เดือน ๑๒ เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๘๙ เป็นต้นมา ซึ่งรายได้จากการจําหน่ายทอง และผู้บริจาครวมทั้งทุนทรัพย์ส่วนตัว ร่วมปฏิสังขรณ์ ศาลาการเปรียญ กุฏิ และถนน เป็นลําดับจนถึง ปัจจุบัน
ปี พ.ศ. ๒๔๙๐ ท่านได้รับแต่งตั้งเป็นพระกรรมวาจาจารย์ เมื่อวันที่ ๘ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๙๐ โดยตราตั้งจากพระเทพสุธี เจ้าคณะจังหวัดสมุทรปราการ
ปี พ.ศ. ๒๔๙๑ - ๒๔๙๔ ท่านได้รื้อศาลาการเปรียญ (ศาลาห้าห้อง) ซึ่งชํารุด สร้างใหม่ในระหว่างศาลาดิน และพระปรางค์ เป็นศาลายกพื้นสูงที่เห็นปัจจุบัน
ปี พ.ศ. ๒๔๙๕ ท่านได้สร้างถนนจากศาลาท่าน้ำถึงหน้าพระอุโบสถ
ปี พ.ศ. ๒๔๙๖ ท่านได้ติดต่อขอตั้งโรงเรียนพระปริยัติธรรม เพื่อสอนพระนวกขึ้น โดยใช้ศาลาหลังสูงเป็นที่เรียน (ซึ่งต่อมาได้เลิก ไปเพราะขาดครูสอน)
ปี พ.ศ. ๒๔๙๘ ท่านได้สร้างศาลาสามัคคีเป็นกระดานยกพื้น และย้ายหอระฆังหลังเก่าซึ่งชํารุด สร้างขึ้นใหม่
ปี พ.ศ. ๒๕๐๑ ท่านได้รวบรวมและเรี่ยไรเงินจํานวนหนึ่ง สร้างโรงเรียนประชาบาลขึ้นเป็นเอกเทศ โดยตั้งชื่อโรงเรียนว่า โรงเรียนประชาบาลวัดบางกระสอบ (เชยบุญปลูกราษฎร์อุปถัมภ์)
ปี พ.ศ. ๒๕๐๕ ท่านได้รื้อศาลาดินหลังเก่า และสร้างเป็นศาลายกพื้นสําเร็จในปี พ.ศ. ๒๕๐๗
ปี พ.ศ. ๒๕๑๐ ท่านได้รื้อศาลาสามัคคี แล้วสร้างใหม่เป็นศาลาพื้นคอนกรีต และได้ทําพระผงแจกท่านที่ร่วมบริจาคเงินสร้างศาลานี้ศาลานี้ด้วย (ปรากฏว่าพระรุ่นนี้หมด)
ปี พ.ศ. ๒๕๑๑ ท่านได้ใช้ทุนทรัพย์ส่วนตัวสร้างพระไตรปิฎกชนิดใบลาน เพื่อเป็นศาสนสมบัติในวัด
ปี พ.ศ. ๒๕๑๕ ท่านได้เป็นประธานดําเนินการหาทุนทรัพย์ เพื่อสร้างพระอุโบสถหลังใหม่ ขอพระราชทานวิสุงคามสีมา กําหนดวางศิลาฤกษ์พระอุโบสถ เมื่อวันขึ้น ๑๕ ค่ํา เดือน ๓ ตรงกับ วันที่ ๑๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๑๕
หนังสือที่ระลึกในงานฌาปนกิจศพพระอธิการเชย อินทโชโต วัดบางกระสอบ สมุทรปราการ |
หลวงพ่อเชย ท่านได้เล่าให้นายเกษมสุข (สละ) เกตุเภา ศิษย์ใกล้ชิดของท่านว่า การอุปสมบทในครั้งแรก หลวงพ่อได้รับการศึกษาอักขระขอมเพิ่มเติมและปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานจากหลวงพ่อเชย ติสฺสร
ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญและเป็นที่เคารพนับถือว่าเป็นเกจิอาจารย์ที่เรื่องกฤตยาองค์หนึ่งในจังหวัดสมุทรปราการ จนเป็นที่เลื่องลือโจษขานกันจนปัจจุบัน
หลวงพ่อเคยเล่าให้ฟังว่า ผู้ที่มีความประสงค์จะปฏิบัติ วิปัสสนากรรมฐาน (ซึ่งเป็นภิกษุ) ต้องมีศรัทธาอย่างแน่วแน่แท้จริง และต้องสามารถตอบปัญหาธรรมที่เรียกว่า "แก้ศรัทธา" ได้ถูกต้องตรงคําตอบเสียก่อน เช่น ปัญหาถามว่า "มีศรัทธาเท่าไหร่" คำตอบที่ถูกคือ "ศรัทธาจนสิ้นชีวิต" หรือคําตอบอื่นที่มีความหมายนัยเดียวกันนี้
จึงได้ชื่อว่าเป็นผู้เป็นผู้ที่แก้ศรัทธาตก ผู้ที่แก้ศรัทธาไม่ตกมักจะแก้เป็นอย่างอื่น เช่นถามว่า "มีศรัทธาเท่าไหร่" ตอบ "ศรัทธาสวนขนัดหนึ่ง" เป็นต้น
เมื่อมีผู้ที่แก้ศรัทธาตกแล้ว จะต้องทําการไหว้ครู มีธูป เทียน ข้าวตอก ดอกไม้ และอาบน้ํามนต์ ซึ่งต้องปฏิบัติในอุโบสถเสียก่อน จึงได้รับคาถาภาวนาเพื่อให้จิตเป็นสมาธิ
ซึ่งแล้วแต่วาสนาบารมีของแต่ละคนที่ได้สั่งสมอบรมมาแต่ปุเรกชาติ เมื่อจิตมีสมาธิดีแล้ว จึงได้อบรมในวิปัสสนา ซึ่งหลวงพ่อเชย ดิสฺสรใช้การกําหนดลมหายใจเข้าออกเป็นอารมณ์วิปัสสนา "อานาปานสติวิปัสสนากัมมฐาน"
ความจําเป็นที่ต้องลาสิกขาบทของหลวงพ่อในครั้งแรกนั้น ยังความอาลัยอาวรณ์ในความเป็นบรรพชิตเป็นอย่างยิ่ง แต่ด้วยความจําเป็น จึงต้องตัดสินใจไปเป็นคฤหัส ดังกล่าวมาแล้ว
การอุปสมบทครั้งหลังท่านได้ออกธุดงค์วัตรเช่นเดียวกับครั้งแรก เพื่อหาสถานที่สงัดปฏิบัติสมณธรรมเช่น ภิกษุทั้งหลายปฏิบัตืกัน และยังเคยไปศึกษาแนวทางปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานที่สํานักวัดปากน้ําภาษีเจริญระยะหนึ่งด้วย
ปรากฏภายหลังจากที่หลวงพ่อเชยเป็นเจ้าอาวาสแล้ว ท่านได้รับรักษาโรคฝีในท้อง (วัณโรค) ซึ่งเป็นโรคติดต่อร้ายแรง และเป็นที่รังเกียจของสังคม (อาจารย์ท่านใดประสิทธิ์ประสาทให้จําไม่ได้)
การที่ท่านรับรักษาโรคนี้ เพราะในสมัยนั้นยาแผนปัจจุบันมีราคาแพงและไม่แพร่หลายเช่นปัจจุบัน ผู้ป่วยซึ่งมีฐานะยากจนมาขอให้ท่านรักษาให้
การรักษาของหลวงพ่อจะให้ผู้ป่วยที่เป็นโรค คือ ไอออกมาเป็นโลหิต ผอมแห้งและมีอาการหอบ บางรายต้องหามมา อาบน้ํามนต์สามวันแล้วเอาน้ํามนต์ซึ่งเสกด้วยปูนแดง (ปูนกินกับหมาก) ละลายไปกินก่อนนอนทุกวัน
ผู้ที่มาให้ท่านรักษาส่วนมากหายขาดเป็นปกติ คืออ้วนท้วนแข็งแรงเป็นส่วนมาก นอกจากบางรายที่ไม่ยอมงดอาหารแสลงที่ท่านห้าม เช่น หน่อไม้ ท่านห้ามขาดไม่ให้รับประทาน
ผู้ป่วยบางรายไร้ญาติขาดที่พึ่ง หลวงพ่อก็ให้พักอาศัยในวัด และจัดอาหารให้ตามสมควร โดยมิได้มีความรังเกียจแม้แต่น้อย
ซึ่งแสดงถึงความเป็นผู้มีเมตตากรุณา ต่อมวลมนุษย์อย่างแท้จริง จนกระทั่งในระยะหลังยาแผนปัจจุบัน มีประสิทธิภาพ และราคาถูกลงหลวงพ่อจึงงดการรักษา (ค่าบูชา ครูในการรักษา ๓ บาท)
การปฏิบัติสมณกิจ หลวงพ่อใช้เวลาระหว่างเข้าพรรษาลงทําวัตร และฟังพระปาติโมกข์มิได้ขาด เมื่อออกพรรษาแล้วภิกษุ ที่บวชระหว่างเข้าพรรษาลาสิกขาบทหมด เหลือแต่พระที่มีอายุมาก ซึ่งล้วนเป็นพระชรา จึงงดการทําวัตรในพระอุโบสถ
การปกครองภิกษุในปกครอง ท่านถือหลักธรรมดาเป็นบรรทัดฐาน คือนับถือตามอาวุโสมากน้อยตามลําดับ เพราะท่านถือว่าภิกษุในธรรมวินัยของพุทธศาสนานี้มีศีลเสมอกัน
สําหรับภิกษุที่เป็นลูกศิษย์ในท่านท่านจะให้คําแนะนําพร่ำสอนตามควรแก่สมณเพศ จึงเป็นที่ประจักษ์ชัดในระหว่างที่หลวงพ่อดํารงตําแหน่ง เจ้าอาวาสเป็นต้นมา จึงมีความสงบเรียบร้อยโดยตลอด
ตามธรรมดาหลวงพ่อเป็นผู้ที่มีร่างกายแข็งแรง จึงไม่ปรากฏว่าอาพาธบ่อยนัก เท่าที่จําได้หลวงพ่ออาพาธด้วยโรคริดสีดวงทวาร โรคเบาหวาน และได้รับการรักษาจนหายขาด
เคยได้รับการรักษาที่โรงพยาบาลสงฆ์ ประมาณ ๑ เดือน ด้วยโรคปอดอักเสบ เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๘ จนกระทั่งในปี พ.ศ. ๒๕๑๕ หลวงพ่อมีอาการกระเสาะกระแสะเรื่อยมาด้วยโรคนิ่ว ได้เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลตํารวจ
ซึ่งอาการมีแต่ทรงกับทรุด ด้วยอายุขัยของหลวงพ่อได้สร้างสมอบรมมาเพียงเท่านี้ถึงแก่มรณภาพที่โรงพยาบาลตํารวจ
หลวงพ่อเชย อินทโชโต ปกครองวัดเรื่อยมาจนถึงแก่มรณภาพลงเมื่อวันที่ ๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๑๕ เวลา ประมาณ ๑๙.๓๐ น. นับรวมสิริอายุได้ ๗๗ ปี ๓๘ พรรษา.
วัตถุมงคลของหลวงพ่อเชย2 อินทโชโต วัดบางกระสอบ
พระปิดตาหลวงพ่อเชย2 วัดบางกระสอบ พิมพ์หลังพลาสติก
สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๑๐ เพื่อแจกให้กับศิษยานุศิษย์ของหลวงพ่อในคราวฉลองศาลา ลักษณะเป็นพระปิดตาเนื้อผงคลุกรัก สร้างจากเนื้อผงวิเศษที่ได้ตกทอดมาจากหลวงพ่อเชย ติสสฺโร เจ้าอาวาสองค์เก่า และผงที่หลวงพ่อเขียนและลบด้วยพระคาถา อันได้แก่ผงอิทธิเจ ซึ่งมีอานุภาพทางเสน่ห์มหานิยมอย่างประเสริฐ นอกจากนี้ยังมีว่าน ๑๐๘ ประกอบด้วย ว่านดอกทอง ว่านเสน่ห์จันทน์ขาวว่านเสน่ห์จันทน์แดง และเกสรดอกไม้ต่างๆ รวมทั้งต้นดีเหนียว ต้นระงับพิษ และต้นหงอนไก่ กับวัสดุมงคลและอาถรรพณ์ต่างๆ จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้
พระปิดตาหลวงพ่อเชย2 วัดบางกระสอบ สมุทรปราการ พิมพ์หลังพลาสติก ปี พ.ศ. ๒๕๑๐ เนื้อผงคลุกรัก |
ด้านหน้า เป็นรูปจำลองพระปิดตาภควัมบดี องค์พระนั่งขัดสมาธิเพชร ช่วงแขนขององค์พระหักศอก จึงเป็นที่มาของชื่อพิมพ์
ด้านหลัง เรียบ มีแผ่นพลาสติกที่ด้านหลังองค์พระ
พระปิดตาหลวงพ่อเชย2 วัดบางกระสอบ พิมพ์หลังพลาสติก
สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๑๐ เพื่อแจกให้กับศิษยานุศิษย์ของหลวงพ่อ ลักษณะเป็นพระปิดตาเนื้อผงคลุกรัก สร้างจากเนื้อผงวิเศษที่ได้ตกทอดมาจากหลวงพ่อเชย ติสสฺโร เจ้าอาวาสองค์เก่า และผงที่หลวงพ่อเขียนและลบด้วยพระคาถา อันได้แก่ผงอิทธิเจ ซึ่งมีอานุภาพทางเสน่ห์มหานิยมอย่างประเสริฐ นอกจากนี้ยังมีว่าน ๑๐๘ ประกอบด้วย ว่านดอกทอง ว่านเสน่ห์จันทน์ขาวว่านเสน่ห์จันทน์แดง และเกสรดอกไม้ต่างๆ รวมทั้งต้นดีเหนียว ต้นระงับพิษ และต้นหงอนไก่ กับวัสดุมงคลและอาถรรพณ์ต่างๆ จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้
พระปิดตาหลวงพ่อเชย2 วัดบางกระสอบ สมุทรปราการ พิมพ์หลังเลข ๑ ปี พ.ศ. ๒๕๑๐ เนื้อผงคลุกรัก |
ด้านหน้า เป็นรูปจำลองพระปิดตาภควัมบดี องค์พระนั่งขัดสมาธิเพชร ช่วงแขนขององค์พระหักศอก จึงเป็นที่มาของชื่อพิมพ์
ด้านหลัง เรียบ มีเลขไทยเขียนว่า "๑"
พระปิดตาหลวงพ่อเชย2 วัดบางกระสอบ พิมพ์หลังขัดมัน
สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๑๐ เพื่อแจกให้กับศิษยานุศิษย์ของหลวงพ่อ ลักษณะเป็นพระปิดตาเนื้อผงคลุกรัก สร้างจากเนื้อผงวิเศษที่ได้ตกทอดมาจากหลวงพ่อเชย ติสสฺโร เจ้าอาวาสองค์เก่า และผงที่หลวงพ่อเขียนและลบด้วยพระคาถา อันได้แก่ผงอิทธิเจ ซึ่งมีอานุภาพทางเสน่ห์มหานิยมอย่างประเสริฐ นอกจากนี้ยังมีว่าน ๑๐๘ ประกอบด้วย ว่านดอกทอง ว่านเสน่ห์จันทน์ขาวว่านเสน่ห์จันทน์แดง และเกสรดอกไม้ต่างๆ รวมทั้งต้นดีเหนียว ต้นระงับพิษ และต้นหงอนไก่ กับวัสดุมงคลและอาถรรพณ์ต่างๆ จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้
พระปิดตาหลวงพ่อเชย2 วัดบางกระสอบ สมุทรปราการ พิมพ์หลังขัดมัน ปี พ.ศ. ๒๕๑๐ เนื้อผงคลุกรัก |
ด้านหน้า เป็นรูปจำลองพระปิดตาภควัมบดี องค์พระนั่งขัดสมาธิเพชร ช่วงแขนขององค์พระโค้งมน
ด้านหลัง โค้งมน ไม่ปรากฏอักขระใดๆ
เหรียญหลวงพ่อโสธร วัดบางกระสอบ รุ่นแรก
สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๙๔ ในสมัยที่พระอธิการเชย อินทโชโตเป็นเจ้าอาวาส เพื่อแจกให้กับผู้ที่บริจาคทรัพย์ให้กับทางวัด ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มรูปเสมาแบบมีหูในตัว มีการสร้างด้วยเนื้อทองแดงกระไหล่ทองเพียงเท่านั้น จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้
เหรียญหลวงพ่อโสธร วัดบางกระสอบ สมุทรปราการ รุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๔๙๔ เนื้อทองแดงกระไหล่ทอง |
เหรียญหลวงพ่อโสธร วัดบางกระสอบ สมุทรปราการ รุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๔๙๔ เนื้อทองแดงกระไหล่ทอง |
ด้านหน้า เป็นรูปจำลองหลวงพ่อโสธร องค์พระห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฏิ ข้างรูปหลวงพ่อมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "หลวงพ่อโสธร วัดบางกระสอบ พระประแดง สมุทรปราการ" ใต้รูปหลวงพ่อมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "พ.ศ. ๒๔๙๔"
ด้านหลัง มีอักขระยันต์พระเจ้าห้าพระองค์
เหรียญหลวงพ่อเชย อินทโชโต วัดบางกระสอบ รุ่นแรก
สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๑๗ ในสมัยที่พระอธิการจำรูญเป็นเจ้าอาวาส เพื่อแจกให้กับผู้ที่บริจาคทรัพย์ให้กับทางวัด ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มรูปไข่แบบมีหูในตัว มีการสร้างด้วยเนื้อเงิน และเนื้อทองแดงเพียงเท่านั้น จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้
เหรียญหลวงพ่อเชย อินทโชโต วัดบางกระสอบ สมุทรปราการ รุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๕๑๗ เนื้อเงิน |
ด้านหน้า เป็นรูปจำลองหลวงพ่อเชยครึ่งองค์ห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฏิ ใต้รูปหลวงพ่อมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "หลวงพ่อเชย อินทโชโต"
ด้านหลัง มีอักขระยันต์พระเจ้าห้าพระองค์ ที่ขอบเหรียญมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "วัดบางกระสอบ ๒๕๑๗"
โดย : สารานุกรมพระเกจิแห่งแดนสยาม
บทความที่เกี่ยวข้อง
***-[เป็นกำลังใจและสนับสนุนให้เราเขียนบทความดีๆ ด้วยการกดดูโฆษณาด้านล่างนะคะ]-***
ไม่มีความคิดเห็น